เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้..ก่อนใช้ "หนังสือภาพ" กับลูก

เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้..ก่อนใช้ "หนังสือภาพ" กับลูก
20 มกราคม 2554 06:33 น.
http://manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000007976

       หนังสือภาพมีความ สำคัญมากต่อพัฒนาการของลูก เปรียบได้กับอาหารมื้อหนึ่งของวันที่เป็นอาหารมื้อสำคัญ เพราะเป็นทั้งอาหารสมองและอาหารใจ แต่กับความสำคัญนี้หากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้ไม่ตรงวัย หนังสือภาพ หรือนิทานก็จะให้คุณค่ากับเด็กได้ไม่เต็มที่ วันนี้เรามีเทคนิคเลือกใช้หนังสือภาพให้ตรงวัยถูกใจลูกมาฝากทุกบ้านกันครับ
       
       เมื่อพูดถึง "หนังสือภาพ" คือ สื่อการสอนภาษาที่ดีเลิศ เด็กทุกคนควรมีโอกาสฟังนิทานก่อนนอนจากคุณพ่อคุณแม่ แต่การจะเลือกหนังสืออ่านนั้น พ่อแม่ควรเลือกอย่างระมัดระวังด้วย เนื่องจากเด็กในแต่ละวัยมีความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ทำให้การเลือกหนังสือต้องสอดรับกับช่วงวัย หรือพัฒนาการของเด็กด้วย
       
       หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 0-3 ขวบ
       
       หนังสือภาพสำหรับเด็กวัยทารก ไม่ใช่หนังสือสำหรับอ่าน แต่เด็กจะสนใจหนังสือภาพเหมือนของเล่นชิ้นหนึ่งครับ ซึ่งจะเห็นเป็นของสี่เหลี่ยมที่มีภาพติดอยู่ และเปิดได้ พอเปิดเข้าไปดูข้างในก็มีภาพต่าง ๆ หลากสีเรียงรายกันอยู่ในแต่ละหน้า เด็กจะรู้สึกสนุกกับการค้นพบสิ่งที่น่าสนใจนี้ เช่น ถ้าเปิดหน้าไหนแล้วพบภาพสิ่งที่เด็กรู้จัก เช่น แมว สุนัข รถ กล้วย ส้ม เด็กจะยิ่งสนใจมาก และส่งเสียงร้อง บื๋อ บื๋อ เมื่อเห็นภาพรถ เลียนเสียงเห่า บ๊อก บ๊อก เมื่อเห็นภาพสุนัข และใช้นิ้วจิ้มภาพเหล่านั้นด้วยความดีใจ
       
       ดังนั้นหนังสือภาพที่เหมาะสม ควรเป็นหนังสือภาพที่มีสัตว์ ผัก ผลไม้ รถชนิดต่าง ๆ สิ่งของในชีวิตประจำวัน ภาพเหล่านี้ควรเป็นภาพเหมือนจริง วาดโดยศิลปินฝีมือดี มีความสวยงาม ดูแล้วรู้สึกประทับใจ ไม่ควรเป็นภาพนามธรรม หรือภาพสีลูกกวาดที่ไม่มีความหมาย และไม่ควรมีฉากหลัง หรือส่วนประกอบภาพที่รกรุงรัง
       
       หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 2-3 ขวบ
       
       พอถึงวัย 2 ขวบ เด็กแต่ละคนจะเริ่มมีความชอบต่างกันแล้วแต่สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ทำให้การเลือกหนังสือภาพเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ดังนั้นควรเลือกหนังสือที่เด็กสนใจ ไม่บังคับให้เด็กดูแต่หนังสือภาพที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน เพราะหนังสือภาพไม่ใช่ตำราเรียน แต่มันคือความสุขของลูก
       
       อย่างไรก็ดี เด็กเล็กมีประสาทสัมผัสทางหูที่ดีมาก หากมีประสบการณ์ด้านภาษา และเสียงที่ดี เด็กจะพัฒนาศักยภาพทางภาษา และดนตรีได้ดี โดยเฉพาะในช่วงวัย 2-4 ขวบ เด็กจะสนใจฟังเสียงและภาษาที่มีจังหวะ บางคนจำหนังสือที่ชอบได้ทั้งเล่ม และอ่านได้ถูกต้องทุกหน้า ทุกตัวอักษร เหมือนอ่านหนังสือออก ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกภูมิใจมาก ดังนั้น หนังสือภาพที่มีบทกวีดี ๆ จึงเหมาะที่สุดสำหรับอ่านให้เด็กวัยนี้ฟัง เด็กจะจำได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
       
       ส่วนเด็กอายุ 3 ขวบ เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาที่รวดเร็วอย่างน่าทึ่งครับ นอกจากนี้ยังมีจินตนาการสร้างสรรค์ และมีความอยากรู้อยากเห็นมากด้วย สามารถติดตาม และเข้าใจเรื่องเล่าง่าย ๆ ได้แล้ว ชอบฟังเรื่องซ้ำไปซ้ำมา เรื่องไหนที่ชอบมากจะให้คุณพ่อคุณแม่อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้น หากลูกวัยนี้มีประสบการณ์ทางภาษาที่ดี (วรรณกรรม) และภาพที่ดี (ศิลปกรรม) จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่านในอนาคตได้


       หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 4-6 ขวบ
       
       เมื่อเข้าสู่วัย 4 ขวบ ความสามารถทางภาษาของเด็กพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ความชอบของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้การเลือกหนังสือภาพมีข้อจำกัดมากขึ้น หนังสือภาพสำหรับเด็กวัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิทาน และเรื่องเล่าที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับเด็ก
       
       เด็ก 4 ขวบ เป็นวัยสร้างพื้นฐานทางด้านจินตนาการสร้างสรรค์ เมื่อเด็กฟังนิทานทางหู และเข้าไปอยู่ในโลกของนิทาน ในหัวก็จะวาดภาพไปตามเรื่องราวที่ได้ยิน โดยภาษาเล่าเรื่องเป็นภาษาที่มองด้วยตาไม่เห็น แต่เมื่อเด็กได้ฟังนิทาน ภาพของตัวละครในนิทานจะปรากฏขึ้นอยู่ในหัว แม้ว่าตรงหน้าเด็กจะไม่มีอะไรเลย แต่พลังของเรื่องราวที่เด็กได้ยินจะทำให้เด็กวาดภาพขึ้นเองในสมองได้ อย่างไรก็ตาม ภาพของหนังสือภาพจะช่วยให้เด็กวาดภาพเหล่านั้นในสมองได้ง่ายขึ้น
       
       โดยความสามารถของเด็กในการวาดภาพขึ้นเองในสมองจากภาษาซึ่งมองด้วยตา ไม่เห็นนี้ คือ พลังจินตนาการสร้างสรรค์ ซึ่งจะกลายเป็นพลังเรียนรู้จากการอ่านหนังสือในอนาคต หากเด็กไม่มีประสบการณ์ในการฟัง รับรู้ และวาดภาพจินตนาการเอง รู้จักแต่วิธีประสมอักขระ และอ่านหนังสือออกตามตัวอักษร เด็กอ่านหนังสือออกก็จริง แต่อ่านไม่เข้าใจลึกซึ้ง และวัย 4 ขวบนี้เอง เป็นวัยสำคัญของการสร้างพื้นฐานนี้
       
       ส่วนเด็กวัย 5 ขวบนั้น พ่อแม่ควรหาหนังสือภาพที่เด็กหลงใหลให้ได้ 1 เล่ม ส่วนมากเด็กจะชอบหนังสือภาพนิทาน และเรื่องที่ยาวขึ้น แต่ไม่ควรซื้อหนังสือภาพนิทานให้มากมายจนอ่านแทบไม่ทัน เพราะบางครั้งเด็กก็อยากให้อ่านหนังสือภาพนิทานเล่มเดียวกันทุกคืน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ติดต่อกันหลายสัปดาห์ โดยการค้นหาหนังสือที่ชอบมากเป็นพิเศษนี้ มีความหมายต่อเด็กมากเปรียบเสมือการค้นพบขุมทรัพย์อันล้ำค่าทีเดียว


       แต่กระนั้น พ่อแม่บางท่านอาจรู้สึกเบื่อที่ต้องอ่านเรื่องเดียวซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ขอให้อดทนอ่านเพื่อลูกครับ เด็กบางคนจดจำคำบรรยายอันยาวเหยียดได้ทั้งเล่ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก ประสบการณ์นี้ เด็กจะไม่ได้รับในโรงเรียน แม้แต่ในชั่วโมงสอนภาษาก็สอนเด็กไม่ได้ลึกซึ้งฝังใจเหมือนภาษาของหนังสือภาพ นิทาน
       
       เมื่อถึงวัย 6 ขวบ ซึ่งลูกโตพอที่พ่อแม่สามารถอ่านนิทานเรื่องยาวให้ลูกฟังเป็นตอน ๆ ติดต่อกันทุกวันได้ หรืออ่านร่วมกันกับลูก เด็กก็จะรู้สึกสนุก และเฝ้ารอคอยฟังตอนต่อไปในวันรุ่งขึ้น โดยนิทาน หรือบทประพันธ์ ควรเป็นเรื่องราวที่ชวนให้เด็กรู้สึกสนุกกับการสร้างจินตนาการ และใช้ภาษาที่เหมาะสม เมื่อเด็กอ่านหนังสือออก เด็กจะอ่านเรื่องที่เคยฟังแล้วซ้ำอีก หรือเรื่องที่เขาชอบเป็นพิเศษ และสนุกกับมันได้ด้วยตัวเอง
       
       หลักคิดการใช้ "หนังสือภาพ" อย่างได้ผล
       
       1. หนังสือภาพเพื่อเด็กไม่ใช่หนังสือที่ให้ประโยชน์ต่อเด็กในทันทีทันใด แต่เป็นหนังสือที่ให้ "ความสุขและความสนุก" แก่เด็ก และช่วยจุดประกายความสนใจที่มีต่อหนังสือให้เกิดขึ้นในใจเด็ก
       
       2. หนังสือภาพเพื่อเด็ก ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กอ่านเอง แต่เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง เป็นสื่อกลางสร้างความสุขในครอบครัว และสร้างพื้นฐานด้านมนุษยสัมพันธ์แก่เด็ก
       
       3. หนังสือภาพที่เด็กชอบเป็นพิเศษควรอ่านให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่าที่เด็กร้อง ขอ เพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างความสามารถในการอ่านหนังสือ และพลังทางภาษาได้ดีทีเดียว
       
       4. เมื่ออ่านหนังสือภาพจบแล้ว ไม่ควรตั้งคำถามทดสอบความเข้าใจของลูกเหมือนครูในโรงเรียน นอกเสียจากลูกจะถามขึ้นเองจึงค่อยอธิบายให้ฟัง
       
       5. หนังสือภาพที่สวย น่ารัก ไม่ใช่มาตรฐานในการเลือกหนังสือภาพเพื่อเด็ก จริงอยู่ที่ภาพสีสวย สะดุดตา อาจดึงดูดความสนใจของเด็กได้ในระยะแรก แต่เป็นความสนใจอย่างผิวเผิน ไม่ใช่ความประทับใจอันลึกซึ้งยาวนาน โดยหนังสือภาพที่ดี คือ หนังสือที่ภาพ และเรื่องประสานกลมกลืนกัน หากภาพ และเรื่องไม่ประสานกัน เด็กจะไม่มีอารมณ์ร่วมกับหนังสือภาพเล่มนั้น
       
       แม้ว่าเด็กจะได้ฟังนิทานจากโรงเรียนอนุบาลทุกวัน แต่ความสุขที่เด็กได้รับก็ไม่เหมือนกับการนั่งฟังอยู่บนตักพ่อแม่ด้วยความ รัก ซึ่งห้วงเวลานี้เอง เป็นเวลาที่เด็กจะเปิดหัวใจกว้าง และพร้อมกับรับรู้ความรักของพ่อแม่อย่างเต็มเปี่ยม จึงไม่ควรละเลยเวลาอันมีค่านี้ อย่างน้อยวันละ 5-10 นาทีก็ยังดี ทีมงานเชื่อว่า คุณจะได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าในอนาคตอย่างแน่นอน

Views: 614

Reply to This

Replies to This Discussion

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะ

มีประโยชน์มากจริงๆ ค่ะ ทำให้เข้าใจและใจเย็นกับการสอนลูกมากขึ้น ขอบคุณมากมายค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ค่ะ
ขอบคุณคะ
 เมื่อก่อนก็รู้สึกว่า น่าเบื่อนะ  ก็ลูกดูจบไปแล้ว วางหนังสือลง ลูกก็หยิบขึ้นมาให้แม่อ่านอีก เปลี่ยนเรื่องใหม่ก็ไม่ยอม  ตอนนี้จะทำความเข้าใจใหม่ นั่นคือความสุข ของลูก ขอบคุณค่ะ...

ลูกชอบให้อ่านนิทานให้ฟังก่อนนอนทุกคืน ขอบคุณมากคะสำหรับข้อมูลดีๆ.....

น้องวาฬตอนนี้1.8ปีแล้ว ไม่ชอบฟังเวลาที่อ่านหนังสือ ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ชอบมาแย่งหนังสือไปจากมือคุณแม่เอาไปเปิดเองบ้าง เอาไปเหยียบเล่นบ้าง จะแก้ยังไงดีคะ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากมายค่ะ

ขอบคุณสำหรับเนื้อหาดีๆครับ

 

ปั้นสิบชอบให้อ่านหนังสือให้ฟังอยู่บ้าง แต่หลายทีชอบเปิดไปหน้าต่อไปโดยไม่รอให้จบเนื้อหาเสียก่อน คงจะอยากดูรูปในหน้าต่อไปเร็วๆ บางครั้งก็เลยใช้วิธีอ่านข้ามๆเอา หรือไม่ก็คุยกันว่าเขาเห็นรูปอะไรในหนังสือหรือรอฟังเรื่องที่เขาเล่าให้เราฟังแทนซะเลย

เป็นประโยชน์มาก. ขอบคุณคะ

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service