เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5058

Reply to This

Replies to This Discussion

ตามจริงเห็นด้วยกับแนวคิดนี้นะคะ แต่นั่นต้องหมายถึงพ่อแม่ที่มีเวลาให้กับลูกเต็มที่ เพราะถ้าทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ กลับจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่า ซึ่งในปัจจุบัน พ่อแม่ยังต้องทำงานหาเงินค่ะ
เป็นความคิดที่ดีมากเลยค่ะเพราะเคยทำงานในโรงเรียนเตรียมอนุบาลมาก่อนก็มีความคิดนี้เหมือนกันตอนนี้ไม่ได้ทำงานแล้วก็สอนลูกเองก็ได้บ้างไม่ได้บ้างแต่ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยเราก็ได้สอนให้เขาได้รู้จักกับสิ่งต่างๆรอบตัว และกล้าแสดงออกเช่นชวนร้องเพลง เต้นออกกำลังกาย
สอนให้ใช้ความคิดแบบเด็กๆให้ระบายสี และให้หัดขีดเขียนใส่กระดาษเปล่าแล้วถามเขาว่าวาดรูปอะไรเขาจะมีจินตนาการของเขาเองแล้วเราก็ช่วยเสริมจินตนาการของเขาด้วย
ไม่มั่นใจกับระบบการศึกษาของประเทศไทยว่าจะยอมรับ Home School มากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันยังใช้ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยตามเนื้อหาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ไม่เหมือนต่างประเทศที่สามารถสอบเทียบตามระดับได้ตามความสามารถของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเห็นได้จากบางประเทศมีเด็กอายุสิบกว่าขวบสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ หรือจบด๊อกเตอร์ได้ แต่ของไทยทำอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่แน่ใจ
เห็นด้วยคะ แต่โดย่วนตัวติดที่ไม่ได้จบทางด้านการศึกษาหรือจิตวิทยาเด็กมา เลยยังไม่มั่นใจว่าเราสามารถให้การศึกษาลูกได้ครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่ จึงอยากให้มีหน่วยงานฝึกอบรม ประมาณว่าเป็นวิทยาลัยครูสำหรับพ่อแม่ อีกย่างอยากให้ได้รับการสนับสนุนจากสื่อ เพื่อให้สังคมเข้าใจและยอมรับมากขึ้น
จะมีโฮมสคูลที่แข็งแรง ต้องมีโรงเรียนสอนพ่อแม่ค่ะ ที่ตปท.นั้น ในหลักสูตรโฮมสคูลเช่น ของ Charlotte Meson หรือ ของ Potter ก็จะต้องมีการเดินสายของวิทยากรค่ะ เดินสายไปเปิดการอบรมสัมมนาในเมืองต่างๆ (เขาจะดูว่า สมาชิกของหลักสูตรโฮมสคูลส่วนมากจะอยู่กันแถวไหน แ่ล้วเปิดอบรมสัมมนาให้พ่อแม่ อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจวิธีทำโฮมสคูลให้ลูก และการใช้หลักสูตร หรือ สื่อออนไลน์ ดีวีดีของเขาในการสอนลูกในวิชาต่างๆ และเป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้มี Network กัน หากอยู่ใกล้กัน จะได้ให้ลูกทำ Group Project ร่วมกัน

จะทำโฮมสคูลนี่ พ่อแม่ต้องเข้าโรงเรียนสอนพ่อแม่ที่ทำโฮมสคูลค่ะ ไม่งั้นจะสำเร็จยากมาก
โดยส่วนตัวยอมรับว่า ยังยึดติดอยู่กับระบบการศึกษาในโรงเรียนอยู่ ถึงแม้จะเห็นด้วยกับระบบโฮมสคูลแต่ก็ยังขาดความรู้ในเรื่องการทำโฮมสคูลอยู่มาก จึงคิดว่าน่าจะเป็นการยากที่จะทำโฮมสคูลแบบเต็มตัวได้ แต่การมอบหมายความรับผิดชอบให้กับโรงเรียนทั้งหมด ก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่คาดหวังเกินไป เนื่องจากโรงเรียนในปัจจุบันจะเน้นในเรื่องธุรกิจมาก จึงคิดว่า ทางเลือกที่ดีน่าจะเป็นการทำโฮมสคูลร่วมกับการศึกษาระบบปกติ พ่อแม่ให้เวลากับลูกเต็มที่ในการให้ความรู้ในด้านต่างๆ นอกเหนือจากในระบบโรงเรียน แบบนี้น่าจะทำให้ลูกมีความสุขในการเรียนรู้มากขึ้น

ขอบคุณ คุณแม่น้องพลอยชมพู และ คุณพ่อมือใหม่ที่ร่วมกันเปิดประเด็นในเรื่องนี้ค่ะ
เห็นด้วยกับแนวคิดแบบ Home School เพราะพ่อแม่ทุกคนพร้อมและตั้งใจที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกอยู่แล้วค่ะ แต่ในสังคมเราปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่มีภาระหน้าที่ต่างๆ กันไป อีกทั้งต้องทำงานนอกบ้านยิ่งทำให้ไม่มีเวลาเต็มที่ หากว่ามีแนวทาง วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมก็น่าจะทำได้ดีกว่าระบบการเรียนในปัจจุบัน ทุกวันนี้ก่อนจะให้ลูกเข้าโรงเรียนต้องหาข้อมูลว่าโรงเรียนไหนดี คุณครูดูแลดีไหม จำนวนเด็กในห้องเหมาะสมกับจำนวนครูไหม ฯลฯ ถ้าระบบ Home School สามารถทำได้จริงอย่างมีกฎระเบียบต่างๆ รองรับก็น่าจะดี แต่ก็ควรจะมีแนวทางที่ชัดเจนหรือมีตัวอย่างให้ศึกษา สำหรับผู้ที่สนใจ หรือลองทำเป็น 2 ระบบร่วมกันแบบคุณ babyashi ก็น่าจะดีค่ะ โดยปกติพ่อแม่ก็มักจะสอนสิ่งต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะลูกกันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว
เห็นด้วยค่ะ ถ้าทำได้เพราะพ่อแม่ก็ต้องมีศักยภาพ ความรู้ความสามารถมากพอที่จะพัฒนาลูกได้
เราเองก็เคยคิด แต่ไม่มีความรู้ความสามารถมากพอค่ะ
ได้แต่ตามอ่านข้อมูลและชื่นชมพ่อแม่หลายๆ ท่านที่สามารถทำได้และทำได้ดีด้วยค่ะ
ขอเอาใจช่วยท่านอื่นๆ ต่อไปที่คิดจะทำ home school ให้ลูกค่ะ
เห็นด้วยอย่างมากกกกค่ะ เพราะโดยส่วนตัวแล้วตูนคิดว่าเด็กทุกคนถูกสร้างมาอย่างพิเศษ ไม่มีเด็กคนไหนในโลกนี้ที่เหมือนกัน
เด็กทุกคนพิเศษแตกต่างกันทั้งนั้นค่ะ ดังนั้นการที่เราจะเอาลูกของเราไปยัดไว้กับการสอนที่ assume ว่าเด็กทุกคนเหมือนกันนี่อาจจะเป็นการทำรายความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาการของลูกเราค่ะ ถ้าเราได้สอนเอง ได้สังเกตุความชอบของลูกเราเอง ความพิเศษที่อยู่ในตัวลูกเราน่าจะถูกดึงออกมาได้ดีกว่าค่ะ
โดยส่วนตัวแล้วไม่มีความเชื่อมันในระบบการศึกษาของประเทศไทยเลยค่ะ ไม่แม้แต่น้อย หลักสูตรที่ไม่เคยถูกปัดผุ่นมาเป็น 10 10 ปี จะมีประโยชน์อะไรกับลูกเราค่ะ? มีแต่ทำให้ลูกเราล้าหลัง ไม่มีความมั่นใจ
เห็นด้วยกับแนวคิดค่ะแต่ในทางปฏิบัติที่เมืองไทยยังไม่ยอมรับเท่าที่ควร แล้วปัญหาที่ตามมาก็มากมาย เช่น เด็กไม่มีเพื่อนในวัยเรียน เมื่อออกไปสู่โลกภายนอกทำให้เกิดการปัญหาการปรับตัว และอื่นๆอีกค่ะ แต่มันก็มีข้อดีที่พ่อแม่สามารถยอมรับได้และใช้ควบคุ๋กันไปกับการเรียนในระบบค่ะ
ในฐานะที่รับราชการครูและเป็นแม่ลูกแฝดนะคะ
ในการทำโฮมสคูลนั้น บ้านเรายังนับว่าทำได้ยากค่ะ ถึงแม้จะมีการเปิดโอกาสให้ทำก็ตาม เพราะปัจจัยหลักอยู่ที่พ่อแม่ และหลักสูตรที่พ่อแม่กำหนดขึ้น (อาจจะเขียนหรือไม่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้) ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่ที่ทำโฮมสคูล ต้องมีความรู้ขั้นต่ำอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป ต้องมีเวลาและต้องทราบถึงระดับความรู้หรือเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยของลูก ต้องมีการประเมินผลที่สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ที่สำคัญในการทำโฮมสคูลนั้นเด็กส่วนใหญ่จะ(ค่อนข้าง)ขาดทักษะทางสังคม การเข้ากลุ่มกับเพื่อน การทำงานกลุ่ม เนื่องจากส่วนใหญ่พ่อแม่ที่ทำโฮมสคูลมักจะสอนลูกตัวเองอยู่ที่บ้าน มีบ้างที่ออกไปยังแหล่งเรียนรู้นอกบ้าน แต่เด็กจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ร่วมกันวางแผนกับเพื่อนวัยเดียวกัน เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล เมื่อเด็กจบในแต่ละช่วงชั้นแล้วจะต้องพาเด็กมาสอบวัดความรู้ระดับมาตรฐาน ทำไมต้องมีการวัดระดับความรู้ เพื่อตรวจสอบว่าการเรียนรู้ที่เกิดจากโฮมสคูลนั้นสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้เท่าเทียมกับเด็กที่เรียนในระบบหรือไม่ และอีกประเด็นที่อยากฝากให้คุณพ่อคุณแม่ที่ทำโฮมสคูลคิดก็คือการต่อยอดการเรียนรู้ของลูก ถ้าทำโฮมสคูลในระดับเด็กปฐมวัย หรือประถมศึกษาตอนต้น ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ค่ะ แต่ถ้าในระดับประถมศึกษาตอนปลาย หรือมัธยมศึกษามักจะมีปัญหา เพราะบ้านเราการต่อยอดการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นยังไม่ยอมรับระบบโฮมสคูลเท่าที่ควร อีกทั้งในการเรียนระดับสูงขึ้นไปนั้นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เยอะมาก (โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์) และก็มักจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยทำโฮมสคูลกันค่ะ
อันนี้ดูเหมือนจะจริงค่ะ เพราะในระบบมหาวิทยาลัยปิด การเข้านั้นดูผล O-net และดูผลการเรียนชั้นมัธยมปลายเป็นเกณฑ์ด้วย หากให้ลูกเรียนโฮมสคูล ก็มีทางเลือกค่ะ คือ เรียนมหาวิทยาลัยเปิด เช่น รามคำแหง สุโขทัยธรรมาธิราช ไปเลย หรือ จะเรียนออนไลน์ของตปท.ก็ได้ค่ะ มีจนจบปริญญาเอก หรือจะส่งไปเรียนตปท.ในระดับมหาวิทยาลัย

โดยที่การเีรียนในตปท.ระดับมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ หรือ เรียนในมหาวิทยาลัย เด็กๆจะต้องลงเรียนออนไลน์ในระดับวิทยาลัยไปด้วย ซึ่งจะมีการตรวจเวลาเข้าเนตและเรียนไปกี่ Topics (ซึ่งเท่าที่ดูในเนตมีเยอะเหมือนกัน แต่ไม่รู้อันไหนดี) เมื่อเรียนครบเวลาที่กำหนด ทางโรงเรียนจะออก Transcript ให้ว่าแต่ละวิชา ครบหัวข้อกี่ชม. ตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด ก็จะมีสิทธิ์เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หลักสูตรปริญญาตรีได้

หากจะเรียนในมหาวิทยาลัย (ไม่ใช่เรียนออนไลน์) เด็กจะต้องไปสมัครสอบ SAT ด้วย และหากเป็นเด็กที่ไม่ใช่ Native Speaker ก็ต้องสอบพวก TOEFL หรือ พวก IELTS ด้วยค่ะ หากคะแนนไำด้ตามที่กำหนด มีใบพวกนี้ ก็จะมีสิทธิ์สมัครเรียนต่อได้ แต่อาจจะไม่ทุกคณะ แล้วแต่ที่มหาวิทยาลัยจะกำหนดไว้

หากเรียนมหาวิทยาลัยออนไลน์ จะมีให้เลือกไม่กี่คณะ พวกคณะที่ต้องค้นคว้า เช่น สาขาชีววิทยา การเงิน ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยที่มีให้เรียนแบบนี้ นี่คือ ข้อจำกัดค่ะ ต้องคิดดีๆ วางแผนยาวๆเลย

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service