เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

ภาษาธรรมชาติ

ภาษาธรรมชาติ หรือ Whole Language ซึ่งหัวใจของการสอนภาษาธรรมชาติก็คือ การปลูกฝังความคิดเชิงบวกให้กับเด็กๆ ตั้งแต่วัยเริ่มอนุบาล ให้รู้จักรักและเกิดอยากเรียนรู้ว่าภาษาและความคิดนั้น สัมพันธุ์กันอย่างไร เมื่อผ่านกระบวนการสื่อสารของภาษาทั้ง 5 อย่างคือ การฟัง การพูด การคิด การอ่าน การเขียน

คุณครูให้เริ่ม workshop ด้วยการคัดลายมือ เขียนตัว “ฐ” ตามเส้นประประมาณเกือบ 100 ตัว โดยมีข้อแม้ว่า ให้ใช้มือข้างที่เราไม่ถนัด และต้องเขียนให้หมดภายในเวลา 10 นาที เมื่อเวลาผ่านไปครบ 10 นาที ไม่มีพ่อแม่คนไหนเลยที่สามารถเขียนได้ครบทุกตัว และเขียนออกมาได้อย่างสวยงาม ในระหว่างที่ทำ คุณแม่คนข้างๆ มุกเอง เธอก็อดจะบ่นไม่ได้ว่า เมื่อยแล้วนะเนี่ยะ แล้วก็ยังไม่สวยอีก เลยได้บทสรุปทั้งห้องว่า เมื่อตัวเราถูกบังคับให้ขีดเขียนด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ความรู้สึกที่ได้รับก็คือ ฝืน เกร็ง เจ็บมือ ไม่สนุก เบื่อ รู้สึกว่างานไม่สวย ไม่อยากทำต่อ ซึ่งทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้ เป็นความรู้สึกของเด็กเล็กๆ เมื่อต้องถูกบังคับให้คัดลายมือ ซึ่งถ้าให้สังเกตุดีๆ งานของเด็กในช่วงวัยเล็กๆ หรืออนุบาล ความตั้งใจในการคัดลายมือแทบจะไม่มีเลย ก็เพราะมันไม่เกิดความรู้สึกอยากจะทำตั้งแต่แรกๆ แล้ว และจริงๆ การเริ่มขีดเขียนหรือการอ่าน ก็สามารถเริ่มแบบจริงจังได้ในวัยขึ้นประถม ซึ่งเด็กจะมีความพร้อมมากกว่า ทั้งด้านจิตใจและร่างกาย(กล้ามเนื้อมัดเล็กจะแข็งแรงมากพอที่จะจับดินสอได้อย่างถูกต้อง)


ภาษาธรรมชาติ สามารถทำเองได้ตั้งแต่ที่บ้าน ปูพื้นฐานกันมาตั้งแต่เล็กๆ ได้เลย โดยผ่านการเรียนรู้ในแบบต่างๆ ซึ่งก็สามารถจัดจำแนกได้ตามนี้ค่ะ

การเล่านิทาน:

เป็นสิ่งนึงที่ง่ายที่สุด และก็คงจะทำกันเกือบทุกบ้าน การเล่านิทานเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภาษา เด็กๆ จะเริ่มต้นจากการฟัง จำ คิดตาม จนไปถึงจินตนาการและถ่ายทอดความรู้สึกกลับมา การเล่านิทานเป็นการกระตุ้นการสื่อสารที่เห็นผลมากๆ ยิ่งพ่อหรือแม่สามารถใช้นิทานกระตุ้นความนึกคิด ความรู้สึกของเด็กๆ จนสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาในรูบแบบต่างๆ ได้เยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มทักษะทางภาษาของเด็กๆ ได้มากเท่านั้น การเล่านิทานจริงๆ แล้วสามารถทำได้หลายแบบ คุณครูสรุปให้ฟังว่า มีตั้ง 6 วิธีแหนะ

1. ผ่านการเล่าแบบปากเปล่า ซึ่งพ่อแม่จะต้องสื่อสารโดยใช้ท่าทางและน้ำเสียงเป็นส่วนประกอบ เช่นเวลาเล่าว่า หมาป่าตัวใหญ่ ก็ต้องวาดมือในอากาศให้ดูใหญ่ๆ ซึ่งจะสื่อให้เด็กเล็กๆ เข้าใจได้ง่ายเลยว่า ใหญ่กับเล็กต่างกันอย่างไร หรือถ้าตัวละครที่เล่ามีอารมณ์โกรธ น้ำเสียงเราก็ต้องสอดคล้องไปด้วย ลูกก็จะแยกแยะได้ว่า น้ำเสียงอย่างนี้ เช่น ใหญ่ ห้วน ดัง หมายถึงว่ากำลังโกรธอยู่
2. ผ่านหนังสือนิทาน เวลาอ่านให้อ่านตามคำที่เขียนไว้ ชี้ให้ลูกดูเป็นคำๆ ยิ่งถ้าเป็นนิทานที่มีคำซ้ำๆ กัน เช่นชื่อตัวละคร เด็กๆ จะค่อยๆ ซึมซับและจดจำคำๆ นั้นได้ และก็จะเป็นการจำที่ถาวรซึ่งถ้าเค้าไปเจอคำๆ นั้นในหนังสือเล่มอื่นๆ หรือแม้แต่ป้ายบอกทาง พ่อหรือแม่ก็สามารถชี้ชวนให้ลูกดูตามได้ว่า เหมือนที่หนูอ่านในหนังสือเล่มนั้นไง เมื่อทำบ่อยๆ เด็กจะสามารถจดจำไปได้เองและอาจจะกลับมาเป็นคนบอกเราด้วยซ้ำไปว่า คำนี้เหมือนคำนี้ใช่หรือไม่ ซึ่งตรงจุดนี้ก็จะช่วยพัฒนาทักษะในการอ่านของเค้าในอนาคตได้ด้วย

3. ผ่านภาพประกอบ อย่างบางครั้งเรามีพวกภาพชุดสวยๆ เราก็เอามาเล่าเป็นเรื่องได้ ซึ่งนอกจากเด็กจะได้รับความสุขแล้ว ตัวเราเองก็ได้แสดงจิตนาการอย่างเต็มที่ เพราะไม่มีบทละครให้อ่านตาม ดังนั้นคำพูดที่ออกมา เราสามารถที่จะเสริมเติมแต่งเข้าไปเองได้ และอาจจะสามารถเล่าได้ไม่ซ้ำแบบ ถึงแม้ว่าจะใช้ภาพชุดเดิมๆ ด้วย

4. ผ่านสื่อธรรมชาติ หรือสิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัว อาจจะเป็น รูปภาพที่อยู่ในแม็กกาซีนต่างๆ ตัดเอามาเล่าเป็นเรื่องราว หรืออาจจะประยุกต์เอาเศษวัสดุรอบๆ บ้านมาทำเป็นโมเดลต่างๆ เพื่อเล่าเป็นเรื่องราวก็ได้ ตรงนี้นอกจากจะสนุก เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า นิทานบางครั้งก็ประดิษฐ์เองได้ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหามาอย่างเดียว

5. ผ่านศิลปะ ตรงนี้อาจจะยากสักหน่อยสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่วาดรูปไม่เก่ง เพราะต้องอาศัยทักษะการวาดภาพที่ชัดเจน คือเริ่มเล่าเรื่องจากกระดาษเปล่า ค่อยๆ เพิ่มตัวละครเข้าไปทีละตัว เมื่อถึงเนื้อหาที่เล่าไปแล้ว เด็กๆ จะรู้สึกสนุกและตื่นเต้นที่จะเห็นตัวละครตัวต่อๆ ไป ในกระดาษเปล่าๆ นั้น

6. การผลัดกันเล่า อันนี้อาจจะเหมาะสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อย คือสามารถใช้ประโยคซับซ้อนได้เยอะ พูดเก่งมากๆ แล้ว โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะเป็นคนเริ่มต้นให้ก่อน เช่น มีบ้านอยู่หลังนึง มีพ่อแม่ลูกอาศัยอยู่ในป่า ..................แล้วก็ลองสลับให้ลูกเล่าต่อไป โดยให้เนื้อหานั้นปะติดปะต่อกัน นอกจากสนุกแล้วเด็กๆ จะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรนิทานของเค้าเอง ได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่เลยค่ะ

ยังมีสิ่งที่ควรจะทำหลังการอ่านด้วยนะคะ
1. อ่านจบปุ๊บ เราต้องสรุปเนื้อหาให้ลูกฟังด้วย เช่น เรื่องนี้สอนให้ลูกรู้ว่า......................อะไร

2. ถ้าโตมาหน่อย ก็ลองผลัดให้ลูกเป็นคนสรุปให้เราฟังบ้างว่า เรื่องนี้ลูกได้เรียนรู้อะไรบ้าง ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ เราอาจจะใช้คำถามเปิดง่ายๆ เช่น หนูชอบตัวละครตัวไหน หรือหนูอยากเป็นตัวละครตัวไหน เพราะอะไร หรือ หนูคิดว่า กระต่ายในเรื่องนี้นิสัยเป็นอย่างไร เป็นต้นค่ะ

3. ถ้าน้องเป็นคนที่สื่อสารได้เก่ง อาจจะลองให้เค้าเล่าเรื่องเมื่อกี้ กลับมาให้คุณพ่อคุณแม่ฟังบ้างก็ได้ ซึ่งเราจะได้รู้เลยว่า ลูกสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลได้มากแค่ไหน อาจจะลองใช้เล่มโปรดของเค้าดู เพราะจะง่ายและทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะเล่า

สิ่งที่สำคัญจริงๆ เลยคือ ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ลูกจะเข้าใจเรื่องราว หรือถ่ายทอดออกมาได้ในระดับไหนก็แล้วแต่ คำชื่นชมและกำลังใจเป็นสิ่งที่ต้องทำเสมอ และถ้าบางครั้งลูกเกิดบอกผิด เช่นชี้ที่ตัวเจ้าชายแล้วบอกว่าเป็นเจ้าหญิง เราก็เพียงแต่ชี้นำและแก้ไขว่า ดูนี่สิ ทำไมเป็นเจ้าหญิงแล้วผมสั้นหละ ทำไมใส่กางเกง อุ้ย....มีดาบด้วย จริงๆ แล้วเค้าเป็นเจ้าชายจ้ะลูก ถ้าเราแก้ไขแบบนี้ เด็กๆ ก็จะไม่ต่อต้านและค่อยๆ ซึบซับความเข้าใจใหม่ได้ไม่ยากค่ะ

การวาดรูป:

เป็นพื้นฐานของการเขียนที่ดีค่ะ ยิ่งเด็กๆ ได้วาดรูปเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งปลูกฝังการอยากขีดอยากเขียนให้เค้ามากเท่านั้น ในยุคก่อนๆ เด็กเล็กๆ จะเริ่มต้นการเขียนด้วยการเขียน เส้นตรง ผ่านรอยประแบบต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนพัฒนาไปเป็นตัวอักษร ซึ่งมันก็มีข้อดีที่เห็นได้ชัดคือ ตัวอักษรสวยมากๆ แต่จุดสำคัญที่เราไม่ได้ปลูกฝังเลยคือ เขียนไปทำไม เขียนไปเพื่ออะไร ยิ่งให้เริ่มด้วยการคัดลายมือ ก.ไก่ ข.ไข่ มันก็คือการการะทำตามหน้าที่ๆ ถูกสั่งมาอีกที แต่มันไม่ได้มีความหมายต่อตัวตนของเค้า เพราะฉะนั้นเด็กๆ หลายๆ คนเลยไม่ค่อยปลื้มวิชาคัดลายมือสักเท่าไหร่

จริงๆ ถ้าจะเริ่ม ก็สามารถเริ่มตัวชื่อของเด็กเลยก็ได้ ถึงแม้ว่าตัวอักษรที่ออกมา มันจะผิด กลับหัวเข้าหัวออก เส้นไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยๆ ที่สุด นั่นก็คือชื่อของเค้า งานเขียนของเค้ามีความหมายสำหรับเค้า เพราะเค้าเขียนชื่อของตัวเค้าเอง ไม่ใช่ตัวอักษรอื่นๆ

สำหรับเด็กเล็กๆ การวาดรูปควรทำอย่างอิสระ ไร้กรอบ รวมไปถึงการระบายสี ก็ไม่จำเป็นต้องระบายในรูปสำเร็จที่มีอยู่แล้ว คือให้เค้าวาดรูปและลงสีได้เองตามแต่ที่เค้าจะต้องการ เราอาจจะตั้งโจทย์ง่ายๆ เลยก็ได้ว่า เช้านี้หนูตื่นมาด้วยอารมณ์แบบไหน และถ้าจะให้ดี พ่อแม่ควรบันทึกด้วยว่า ลูกอารมณ์เป็นอย่างไร เมื่อทำบ่อยๆ เข้า แล้วลองเอาผลงานมาเปรียบเทียบดู จะได้ภาพสะท้อนที่ออกมาในแต่ละชิ้นได้ค่ะ เช่นเด็กบางคนมีทักษะเรื่องสีที่ดี ถ้าวันนี้อารมณ์ดี สีที่ออกมาอาจจะสดใส ภาพคมชัด แต่ถ้าในทางตรงกันข้ามกัน สีอาจจะหม่นๆ ภาพยึกๆ ยือๆ แต่อย่างน้อยที่สุด ลูกก็ได้ถ่ายทอดความรู้สึกของเค้าออกมา



เมื่อวาดไปได้สักพัก เด็กๆ จะมีพัฒนาการขึ้นทั้งรูปลักษณ์ของสิ่งที่วาด จะเริ่มดูออกว่าเป็นอะไร และมันจะค่อยๆ ทำให้เด็กรู้สึกอยากเริ่มการเขียนไปเองโดยอัตโนมัติ ยิ่งถ้าเรากระตุ้นด้วยการ ให้เค้าลงชื่อเค้าไว้ใต้ภาพด้วยก็จะยิ่งดีค่ะ

มีข้อสังเกตุง่ายๆ ว่าเด็กจะมีความพร้อมที่จะเขียนเมื่อไหร่ ผ่านศิลปะที่เด็กได้ทำขึ้น คือถ้าองค์ประกอบของรูปเริ่มชัดเจน ยกตัวอย่างรูปคน ถ้าออกมาแล้วเห็นได้ชัดว่า นี่คือคน ไม่ใช่มนุษย์ประหลาดเช่น แขนงอกออกจากหัว เส้นผมไปอยู่ที่เท้า แต่รูปสามารถไล่ได้ว่า หัวอยู่บน แขนอยู่ด้านข้าง มีขาอยู่ข้างล่าง ใบหน้ามี ตา หู จมูก ปาก ครบ บนหัวมีเส้นผม เมื่อไหร่ที่เด็กๆ สามารถลงรายละเอียดได้เยอะแล้ว ก็คือเริ่มตัวอักษรได้เลยค่ะ



นอกจากการเล่านิทานและการวาดรูปที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสอนภาษาธรรมชาติแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้การละเล่นบางอย่างมาบูรณาการเองได้ที่บ้าน เช่น การจัดบทบาทสมมติ ซึ่งเป็นการเล่นที่เด็กๆ จะได้ร่วมทำกับพ่อและแม่ นอกจากสร้างความสัมพันธุ์ที่ดีแล้ว ลูกๆ จะได้พัฒนาในเรื่องภาษาหลายๆ ด้านพร้อมกัน เช่น การสื่อสารบทละคร การคิดเชิงสร้างสรรค์ การจินตนาการเหตุการ์ณสมมติต่างๆ เราอาจจะทำหัวข้อง่ายๆ เช่นเล่นเป็นคุณหมอกับคนไข้กัน อาจจะเอาผ้าปิดปาก(ที่กำลังฮิตอยู่) ให้ลูกใส่เป็นคุณหมอ ให้คุณแม่เป็นพญายม เอ้ย นางพยาบาล โดยทำหมวกจากกระดาษขาว มีสมุดไว้จดคำสั่ง ให้คุณพ่อเป็นคนไข้ เอาสำลีมาวาง เอาขวดยาเก่าใส่น้ำเปล่า สละไซริงค์สักอัน รับรองได้ว่า สนุกเป็นครึ่งชั่วโมงเลยค่ะ

หรืออาจจะจัดมุมตลาดสด เอาผัก ผลไม้ หรือของกิน ขนมก็ได้ มาวางๆ ใส่ถาดไว้ เอาถุงก๊อบแก๊บที่ไม่ใช้แล้วมาวางไว้ให้ลูกซึ่งเล่นเป็นพ่อค้าแม่ค้าไว้ใส่ของขาย พ่อแม่เล่นเป็นลูกค้ามาซื้อของ อย่างนี้นอกจากสนุก เด็กๆ จะได้เรียนรู้ชื่อสิ่งของต่างๆ ไปด้วย หรือแม้แต่เราจะสอดแทรกทักษะทางคณิตสาสตร์ เช่น ของกี่บาท เอาสตางค์ให้กี่บาท ต้องทอนกี่บาท ถึงแม้ทำแรกๆ เค้าจะยังไม่เข้าใจ แต่เค้าก็จะเรียนรู้คณิตง่ายๆ ว่าเอาจำนวนเยอะ ไปซื้อจำนวนน้อย ต้องมีคืนกลับมา รับรองว่าต้องสนุกกว่าการเอาโจทย์การบ้านคิดเลขมาให้เค้านั่งทำบนโต๊ะแน่ๆ ค่ะ

นอกจากการเล่นบทบาทสมมติ การสอนลูกแบบ Active Learning หรือ การเรียนรู้แบบจับต้องได้ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยคือ สมัยก่อน เด็กๆ รู้จักวงกลมจาก การเขียนตามเส้นประ หรือตามรูปภาพในแบบฝึกหัด แต่จริงๆ แล้วสามารถสอนให้ลูกรู้จักวงกลมผ่านสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ เช่น ส้ม แตงโม แอ๊บเปิ้ล ล้วนแต่มีความเป็น ทรงกลม ป้ายจราจร สัญญาณไฟ ก็เป็นวงกลม แม้แต่รูจมูกเราก็เป็นวงกลม แบบนี้แล้วน้องจะได้ความรู้เพิ่มเติมได้เยอะ และจะกลายเป็นคนช่างสังเกตุไปด้วยในตัวค่ะ

Views: 382

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

Comment by อนุภาพ ทินโชติเมธี on December 3, 2009 at 12:34am
เข้าท่ามากครับผมอยากให้ลูกได้เก่งและไม่เขินอายเวลาพูด
Comment by เจี๊ยบ on October 6, 2009 at 7:21pm
เยี่ยมไปเลย
Comment by อรนัย รักในหลวง on September 28, 2009 at 12:36am
อ่านเพลินแถมมีประโยชน์ด้วยค่ะ ขอบคุณมากคะ
Comment by กาหนาฉ่าย on September 22, 2009 at 12:11am
เืนื้อหาดีมากค่ะ ช่วยเตือนสติตัวเองเหมือนกันในบางเรื่อง บางกิจกรรมสามารถทำได้เลย ขอบคูณค่ะ
Comment by MK-MungKorn on September 21, 2009 at 10:47pm
เป็นบทความที่อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากอ่านอีกหลายๆครั้งคะ :)
Comment by แม่น้องเนย on September 20, 2009 at 2:32pm
ขอบคุณมากนะคะ

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service