ลูกกลัว 'อาหาร' โรคใหม่ท้าทายพ่อแม่
รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์
ในช่วงวัย 2 - 6 ขวบ เด็กเล็กอาจมีพฤติกรรมทานอาหารยาก ทานน้อย หรือไม่ก็เลือกรับประทานเฉพาะอาหารที่ตนเองถูกใจ ขณะเดียวกันก็มีพฤติกรรมต่อต้านพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการป้อนอาหารที่เด็กไม่ชอบจนอาจนำมาซึ่งการกระทบกระทั่ง ผิดใจกันระหว่างคนสองวัย และยังทำให้เกิดความหงุดหงิด เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ทั้งในพ่อแม่และเด็ก ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว อาจส่งผลให้เด็กเป็นโรค "กลัวอาหาร" (Food Phobia) ติดตัวเด็กไปจนโตได้
ประเด็นการกลัวอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่ “รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์” หัวหน้าหน่วยโภชนาการกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานสัมมนา
“พฤติกรรมกินยากในเด็กเล็ก” โดยระบุว่า เด็กที่เกลียดหรือไม่อยากกินอาหาร จนกลายเป็นโรคกลัวอาหาร (Food Phobia) นั้น
ส่วนใหญ่เกิดจากการกดดันของคุณแม่ ที่บังคับจนมีผลทำให้ลูกเกลียด และกลัวอาหารชนิดนั้นในตอนโต
"คุณแม่อาจไม่เข้าใจพัฒนาการ และธรรมชาติการกินของลูก เนื่องจากความต้องการอาหารของเด็กวัย 2-6 ขวบจะลดลงกว่าตอนขวบปีแรก สังเกตได้จาก น้ำหนักของเด็กวัย 2 ขวบขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 2 กิโลกรัม ในขณะที่ช่วงขวบปีแรกจะเพิ่มขึ้นถึง 7 กิโลกรัม ด้านความสูง เด็กแรกเกิด - 1 ขวบจะสูงขึ้นปีละ 25 เซนติเมตร
แต่พออายุ 2 ขวบจะมีความสูงเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 6 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเจริญเติบโตของเด็กในวัยนี้ จะเริ่มช้าลงกว่าช่วง 1 ขวบ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขาก็จะรับประทานอาหารน้อยลงด้วย คุณแม่ไม่ควรดุหรือยัดเยียดอาหารให้กับลูก"
"อย่างไรก็ดี เด็กในวัยนี้จะมีความสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยากทำอะไรด้วยตนเองมากขึ้น การขู่บังคับเคี่ยวเข็ญให้ทานอาหารจึงอาจส่งผลให้เด็กเกิดพฤติกรรมต่อต้านได้ ดังนั้น คุณแม่ต้องแก้ปัญหาให้ถูกวิธี มิเช่นนั้นจะเกิดพฤติกรรมสะสมเรื้อรัง จนกลายเป็นโรคกลัวอาหารในที่สุด"
***อย่าเป็นคุณแม่ 7 วัน***
คุณหมอสะท้อนให้ฟังต่อว่า คุณแม่ยุคใหม่ ส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ โดยทำเมนูที่มีสารอาหารอย่างครบถ้วน แต่เก็บใส่กล่อง แช่แข็งไว้ในตู้เย็น พอถึงเวลาจะรับประทานค่อยนำออกมาอุ่น อาหารบางชนิดอาจถูกแช่เก็บไว้ถึง 1 สัปดาห์ การกระทำเช่นนี้ ส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกเบื่อ และไม่อยากกินอาหารได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังพบอีกด้วยว่า การได้พบอาหารใหม่ ๆ วางตรงหน้าจะทำให้เด็กเกิดความเครียด และกลัวอาหารชนิดนั้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็ก สามารถแก้ไขได้โดยการวางเฉยของพ่อแม่ แทนการคอยจ้องว่าลูกจะกินหรือไม่ เมื่อนั้นความเครียดของเด็กจะค่อยๆ ลดลง จนเกิดความเคยชินกับอาหารใหม่ในที่สุด
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่ดี ต้องเข้าใจพัฒนาการของลูก ไม่ดุ ขู่เข็ญ หรือติดสินบนให้ลูกต้องกิน เพราะจะทำให้เกิดพฤติกรรมเรื้อรังที่เรียกว่า “Food Phobia หรือโรคกลัวอาหาร” ในตอนโตได้
ทางที่ดีต้องรู้ว่าลูกชอบอะไร รสชาติแบบไหน หน้าตาแบบไหน แล้วจึงออกแบบอาหารชนิดนั้นๆ ให้เข้ากับสิ่งที่ลูกชอบ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกกินง่าย เวลาป้อนข้าวลูกจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข และไม่มีนิสัยงอแง หรือสร้างปัญหาให้กับคุณแม่ หรือคุณพ่ออีกต่อไป
*** กฎเหล็กควรเลี่ยงขณะลูกกินข้าว***
1. คุณแม่ต้องเข้าใจว่า เด็กวัยนี้กำลังอยากรู้อยากเห็น จึงไม่ควรมีสิ่งใดมาเร้าเด็กขณะทานข้าว เช่น ทีวี ของเล่น ทำให้เวลากินกลายเป็นเวลาดู-เล่น จนไม่อยากที่จะกินข้าว
2. เมื่อหมดเวลากิน แต่ลูกไม่กิน ให้เก็บเข้าตู้กับข้าวทันที เด็กจะเรียนรู้ได้ว่า เขาต้องกินข้าว ถ้าไม่กินข้าว เขาจะหิว วิธีนี้คุณแม่ต้องใจแข็ง ถึงจะประสบผลสำเร็จ
3. เมื่อถึงเวลากินอาหารของลูก แต่ลูกยังไม่ยอมกิน คุณแม่ไม่ควรเอาขนมมาชดเชยแทนมื้ออาหาร เพราะจะทำให้เด็กเรียนรู้ว่า เมื่อเขาไม่กินข้าว เขาจะได้รางวัลเป็นขนม ถ้าถูกฝึกแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เด็กเคยตัว และจะงอแงเวลาคุณแม่ป้อนข้าว กลายเป็นพฤติกรรมกินยากในที่สุด
4. การติดสินบนเป็นเรื่องใหญ่ที่คุณแม่ต้องระวัง เช่น “ถ้ากินหมดแม่จะซื้อของเล่นให้นะ” เพราะถ้ามีครั้งที่หนึ่ง ก็ต้องมีครั้งต่อไปทางที่ดีควรเปลี่ยนเป็นให้กำลังใจเด็กจะดีกว่า เช่น “ถ้ากินหมด แม่จะปรบมือดังๆ ให้ 1 ที” เป็นต้น
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
Aug 5, '09 3:08 AM
credit: LukZ® for group clickkids
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้