เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

สายน้ำ..ลำยอ..กอไผ่..เตาไฟ

Photobucket

ได้ยินคำ 4 คำที่เป็นชื่อเรื่องนี้ครั้งแรกก็อาจจะงงๆ แต่รู้ไหมคะ ที่จริงแล้วคือ 4 หลักเลี้ยงลูกที่เป็นภูมิปัญญาของชาวเหนือแล้ว 4 อย่างนี้จะเกี่ยวข้องกันอย่างไรต้องติดตามค่ะ

เรื่องการเลี้ยงลูกนี่เองเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่มีความกังวลอย่างมาก เพราะต่างก็ต้องการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีทั้งนั้น ในขณะที่สังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วจนตั้งรับไม่ค่อยทัน อย่างไรก็ดีชาวบ้านของหลายพื้นที่ในโครงการครอบครัวเข้มแข็งมีความรู้ ภูมิปัญญาในการเลี้ยงลูกที่ชาญฉลาดและไม่ล้าสมัย การให้ครอบครัวได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่ครอบครัวสามารถเดินไปถึงปลายทางครอบครัวเข้มแข็งได้ และภูมิปัญญาที่น่าสนใจตัวหนึ่งที่เราได้เรียนรู้คือ ภูมิปัญญาการเลี้ยงลูกของชาวเหนือ ที่อธิบายวิธีการเลี้ยงลูก ด้วยคำเพียง 4 คำคือ “สายน้ำ ลำยอ กอไผ่ เตาไฟ” ซึ่งชาวเหนือถ่ายทอดวิถีการเลี้ยงลูกได้ง่าย กระชับ ด้วยคำสั้นๆ แต่เปี่ยมล้นด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง

“สายน้ำ” ในการเลี้ยงลูกให้คิดถึงความเย็นของสายน้ำที่ไหลเอื่อยๆ พอให้ความรู้สึกเย็นสบายอารมณ์ของพ่อแม่ก็ควรเป็นเช่นนั้น การใช้อารมณ์ที่เกรี้ยวกราด หรือรุนแรง ไม่ได้ส่งผลดีใดๆ ต่อลูกรังแต่จะเพิ่มความเครียด เก็บกดให้กับลูก และเด็กยังอาจเรียนรู้การใช้ความรุนแรงจากพ่อแม่ได้ ในทางตรงข้าม หากเราไม่ได้เลี้ยงดูด้วยความรัก ด้วยเหตุผล มีอะไรก็ค่อยๆ พูดอธิบายให้ลูกฟัง เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความมั่นคงทางจิตใจ และเป็นเด็กที่มีความสุข การเลี้ยงลูกพ่อแม่จึงเป็นดั่งสายน้ำที่ไหลเอื่อยให้ความสุขสบายและสงบกับลูกๆ คงไม่มีลูกคนไหนที่อยากกระโจนลงไปในน้ำที่กำลังเกรี้ยวกราดและดุดันเป็นแน่

“ลำยอ” หากแปลงตรงตัว ลำนั้นคือสาย เหมือนสายน้ำที่เป็นลำ จึงเป็นลำธาร และลำยอ คือคำยอหรือคำชื่นชม ที่หลั่งไหลมาเป็นสาย ความหมายก็คือ ในการเลี้ยงลูกนั้น กาสรชื่นชมลูกก็เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม หากว่าลูกสามารถทำอะไรได้สำเร็จ พ่อแม่ส่วนใหญ่กลัวว่าลูกจะเหลิง จึงไม่ค่อยชื่นชมลูกเท่าไรนัก แต่เราลืมคิดถึงใจเด็ก ซึ่งต้องการใครมาร่วมชื่นชมกับความสำเร็จที่เขาสามารถทำได้ โดยเฉพาะคนที่มีความหมายสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา คือพ่อแม่ ซึ่งคำชมเพียงเล็กน้อยของพ่อแม่ก็สามารถทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำน่ะมันช่างยิ่งใหญ่นัก ซึ่งจะทำให้เขาเรียนรู้ และค่อยๆ เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นใจไปพร้อมกับลำยอของพ่อแม่ที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย

“กอไผ่” หมายถึงความรัก ความสามัคคีในครอบครัว หากเคยลองสังเกตต้นไผ่จะเห็นว่าต้นไผ่นั้นไม่เคยขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่จะขึ้นเป็นกออยู่เสมอ และแม้ว่าลมพายุจะแรงสักแค่ไหน ก็ไม่สามารถโค่นแต่ละกอได้ กอไผ่จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความรัก สามัคคีที่เหนียวแน่น ในครอบครัวและการเลี้ยงลูกก็เช่นกัน จะต้องเน้นที่ความรัก ความสามัคคีระหว่างพี่น้อง ที่จะหล่อหลอมครอบครัวให้แข็งแกร่ง ไม่เกรงกลัวต่อสถานการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ เช่นเดียวกับที่พายุไม่สามารถทำอะไรกอไผ่แม้แต่น้อย
“เตาไฟ” หินสามก้อนที่เรียกว่าก้อนเส้านี้ คือเตาไฟ ซึ่งจะต้องทนทานต่อความร้อนของไฟที่เผาผลาญตลอดเวลา และแม้จะร้อนอย่างไรก้อนเส้าก็ยังคงสภาพอยู่ได้ เตาไฟจึงเปรียบดั่งความอดทนที่พ่อแม่จะต้องมีในการเลี้ยงลูก แน่นอนว่าหลายครั้งลูกอาจทำอะไรพลั้งผิด ขาดการยั้งคิด หรือไตร่ตรองให้รอบคอบ เนื่องจากประสบการณ์ที่อ่อนด้อยของเขา และเกิดความเสียหายขึ้นมา ความอดทนของพ่อแม่จะมีคุณค่าอย่างมากที่จะตั้งรับ และพาสถานการณ์เลวร้ายเหล่านั้นให้ผ่านมาได้ ความอดทนเยี่ยงเตาไฟจึงเป็นอีกคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่

ภูมิปัญญาที่ถูกทำให้เข้าใจง่าย ด้วยการเปรียบเทียบกับธรรมชาติที่แวดล้อม จึงทำให้วิธีการเลี้ยงลูกถูกถ่ายทอดต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเป็นแนวทางที่ทำให้พ่อแม่ได้อุ่นใจว่า การเลี้ยงลูกท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนั้นไม่ยากเกินกว่าที่พ่อแม่จะทำได้ หากเราเปิดใจยอมรับและเรียนรู้ เอว่าสายน้ำ ลำยอ กอไผ่ และเตาไฟ คงเป็นบทเรียนให้อีกหลายครอบครัวได้อย่างดีทีเดียว.

Views: 429

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

Comment by สุภาพร(แม่ปั้น฿แป้ง) on January 10, 2010 at 11:28am
ดีจังค่ะ ไม่เคยได้ยินซักแบบเลย เรา
Comment by จักรกฤช (โอ๊ต) และ น้องกาย on January 10, 2010 at 6:14am
บ่อน้ำ ลูกยอ กอไผ่

อีกแบบครับ

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service