สร้างเวลาคุณภาพให้ลูกวัยอนุบาล (Kids and School)
จากหนูน้อยหัดตั้งไข่วัยแบเบาะ...สู่วัยเตาะแตะต้วมเตี้ยม...ขยับเข้าวัยเตรียมพร้อมก้าวสู่ชั้น อ.1 ทุกนาทีที่ผันผ่านคือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์อันหลากหลาย “เวลา” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ สามารถนำมาใช้...ถ่ายทอดทั้งความรักและการเรียนรู้ สร้างช่วงเวลาคุณภาพ...เติมเต็มพัฒนาการตามวัยของเจ้าตัวน้อยได้ค่ะ
Quality Time for Family is ... ช่วงเวลาที่ทุกคนในครอบครัวได้ถ่ายทอดความรักและความใส่ใจให้กันและกันผ่านสัมผัสอันอบอุ่น ถ้อยคำอันเอื้ออาทร ท่าทีที่สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติต่อกันด้วยความปรารถนาดี ซึ่งนอกจากจะ “เติม” คุณภาพให้ช่วงเวลาในวิถีชีวิตประจำวัน ยังสามารถ “สร้าง” เวลาคุณภาพ พัฒนาการเรียนรู้ของหนูๆ อย่างตรงตาม Window of Opportunities ช่วงเวลาที่ทักษะการเรียนรู้ด้านใดด้านหนึ่งพัฒนาได้สูงสุดด้วยค่ะ
1 st Time เวลาแห่งความอบอุ่นและความสุข
วัยเตาะแตะจนถึงวัย 3-4 ปี ยังผูกพันกับอะไรๆ ใกล้ตัวแต่ “ของเล่น” ถาวรที่พร้อมจะส่งรอยยิ้มกว้างๆ ร้องเรียกให้เขาเข้ามาขลุกเล่นด้วยทุกวี่วันก็คือ คุณพ่อคุณแม่ จะเห็นว่าวัยนี้ไม่ต้องการอุปกรณ์มาเพลินเล่น แต่ที่ปรารถนาคือช่วยเวลาอันอบอุ่นที่ได้แลกเปลี่ยนสัมผัสกับคนรอบข้างต่างหาก ซึ่งน่าอัศจรรย์ทีเดียวที่หลายคนอาจพบว่าตั้งแต่ลูกยังตัวเล็กๆ ถ้าคุณกอดเขาในเวลาที่คุณเบื่อหน่าย เหนื่อย หรือไม่มีอารมณ์เจ๊าะแจ๊ะกับลูก ลูกจะผละหนีห่างจากอ้อมอกของคุณแทบจะทันที นั่นเพราะเด็กยิ่งเล็กจะมีสัญชาตญาณรับรู้ว่าขณะที่คุณอยู่ใกล้ชิดกับเขานั้น จิตใจของคุณกำลังจดจ่อกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เขาได้ Real Time tricks อย่ามองข้ามการสื่อสาร
เริ่มที่การสื่อสารพื้นฐานผ่านอวัจนภาษา ท่าทางบ่งความนึกคิดเกี่ยวก้อย หรือจับมือน้อยๆ ขึ้นมาหอม ขอแนะนำกิจกรรมสะสมกอดยามที่ใครเผลอ ให้หาจังหวะโผเข้ากอดให้เต็มรัก หากสำเร็จหนูจะได้แต้ม 1 กอด ถ้าใครครอบครองแต้มสะสมกอดมากที่สุด จะพิชิตรางวัลที่อยากได้ 1 อย่าง เชื่อเถอะค่ะว่ายิ่งกอดยิ่งรักกันแน่นหนีบ
จะน้องเล็ก อ.1 หรือพี่ใหญ่ อ.3 การพูดคุยด้วยวัจนภาษาก็ช่วยเชื่อมรักและเข้าใจได้ดีเยี่ยม เช่น คำพูดจ๊ะจ๋า สนทนาไต่ถามความรู้สึกทบทวนกิจวัตรที่เคยทำสม่ำเสมอ สะท้อนความใส่ใจ แค่ “หิวหรือยังจ๊ะลูก” “ง่วงนอนหรือยังคะ” ถ้อยคำสั้นๆ สูญเสียเวลาไม่ถึง 5 วินาที ปลุกรอยยิ้มเจ้าตัวเล็กได้ทั้งวัน
2 nd Time เวลาแห่งการเล่นเผาผลาญพลังงาน
ขยับมาศึกษาพัฒนาการของลูกที่จะยกระดับความสูง-เพิ่มพิกัดน้ำหนักในวัย อ.1-อ.3 ซึ่งต้องการช่วงเวลาคุณภาพในการพัฒนาการทรงตัว การเคลื่อนไหว การทำงานประสานกันของอวัยวะอย่างเป็นองค์รวม เช่น แขน ขา คอ สายตา แค่ช่วงเวลา “เล่น” ระหว่างวันก็เป็นช่วงเวลาที่เขาได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกแห่งการเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างเต็มที่ วัยนี้จึงต้องการเวลาเล่น เพื่อเผาผลาญพลังงานในร่างกายตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาฝึกฝนการคิดและจินตนาการรวมถึงการผูกมิตร สร้างสายสัมพันธ์ที่มากกว่าสิ่งของด้วย Real Time tricks เล่น...พัฒนาร่างกาย+จิตใจ
หาเวลาเอ็กเซอร์ไซส์ยามเช้า พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ วัย อ.1 อาจเปิดเพลงสนุกๆ ชวนโยกตามจังหวะ (ในชุดนอนเลยก็ประหยัดเวลาดีนะคะ) หรือลองชวนพี่ อ.2-อ.3 หาดัมเบลขนาดย่อมแบบเติมน้ำ อย่าลืมว่าร่างกายของลูกพัฒนาอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมท้าทายกล้ามเนื้อจึงต้องยากขึ้นเป็นลำดับ โดยอาจทำชาร์ตบอกปริมาณน้ำในคัมเบลที่เขายกได้เพิ่มขึ้นทุก 3 เดือน ให้เขาได้ภูมิใจกับกล้ามแขน
จากนั้นมาเจาะลึกพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก คอนเฟิร์มค่ะว่าวัยนี้ยังไม่จำเป็นต้องเร่งคัดเขียน เพราะวัย อ.1-อ.2 สามารถใช้เวลาฝึกฝนทีละนิดผ่านกิจกรรม เช่น ปั้นดินน้ำมัน ต่อบล็อกหรือเลโก้ รอช่วง อ.3 ตอนปลาย ค่อยๆ ฝึกเขาขีด+เขียนก็ยังไม่สาย เพราะถ้าเตรียมพร้อมกล้ามเนื้อมัดเล็กไว้ก่อนหน้า การหัดเขียนย่อมไร้ปัญหา
3 rd Time เวลาแห่งการสำรวจพัฒนาตนเอง
ยังยืนยันค่ะว่าวัยอนุบาลเปรียบเหมือนฟองน้ำที่ซึมซับได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งมีทฤษฎีเซลล์กระเงา (Mirror Neurons) ที่บ่งว่าเด็กๆ เรียนรู้จากต้นแบบรอบตัว วัยนี้จึงต้องการเวลาในการตรวจสอบและฝึกฝนวินัย โดยปัจจัยสำคัญคือสภาพแวดล้อมที่หนูๆ เติบโตและเรียนรู้ เช่น น้องหนูวัย 3-4 ปี อาจยังงอแงหากจับเขามาอยู่ในกรอบ (ที่เขามองว่าแสนจะคับแคบ) อย่าง “อย่ากินข้าวหกนะลูก” เพราะวัยนี้ต้องการเวลาที่จะฝึกฝนตนเองให้เก่งรอบด้าน หากคุณเร่งรัดมากจนเกินไป เวลาที่เขาจะได้พัฒนาตนเองอาจกลับกลายเป็นเวลาแห่งความทุกข์ระทม เพราะรู้สึกว่าถูกพ่อแม่บังคับตลอด Real Time tricks ชวนพ่อแม่สวมบทครูสอนวินัยให้ลูก
วัย 3-4 ปี วินัยที่ควรหัดเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันค่ะ เช่น สอนเขาว่าการตี ทุบ ทึ้งผมคุณแม่เป็นพฤติกรรมไม่น่ารัก ขณะเดียวกันให้คุณเอ่ยชมเมื่อเขาทำตัวแสนดี เช่น “ชอบใจมากจ้ะที่ช่วยหยิบหวีให้แม่”
เมื่อขยับเป็นวัน อ.2-อ.3 ค่อยสวมบทเฮี้ยบขึ้นอีกนิด เพื่อให้เขารู้ว่าคุณใส่ใจวินัยอย่างจริงจัง วัยกำลังซนต้องการเวลาที่คุณพ่อคุณแม่อธิบายในพฤติกรรมที่เขาเผลอทำไปอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเขาจะได้สัมผัสความอ่อนโยนของคุณที่ให้โอกาสเขาได้แก้ไข อ้อมกอดอุ่นๆ ให้กำลังใจ ใช้เวลาร่วมกันปรึกษา แล้วทุกวินาทีของลูกก็จะปฏิบัติตามวินัยที่เขายินยอม
4 th Time เวลาแหงการเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
นอกจากช่วงเวลาในการซึมซับข้อมูลสารพัน วัยอนุบาลมีช่วงเวลาที่คิดการณ์ไกลอยากกลั่นความคิดสร้างสรรค์ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก บ่อยครั้งค่ะที่เราจะเห็นเด็กๆ วัย 3 ปี สนุกกับการจุ่มมือในชามสี ปั๊มเป็นภาพที่เรานิยามได้คำเดียวว่า “เละเทะ!” แต่เจ้าตัวยืดอกเหมือนได้สวมวิญญาณปิกัสโซ่ตั้งครึ่งวัน ช่วงเวลาที่ความคิดสร้างสรรค์ฉายแสงนี่ล่ะค่ะเป็นช่วงเวลาอันแสนมีค่า เพราะข้อมูลที่วัยนี้จดจำยังปะปนกันระหว่างความจริงและความฝัน ทำให้ไอเดียของพวกเขาทั้งน่าทึ่ง ทั้งน่าพิศวง ซึ่งคุณอาจไม่พบมันอีกเมื่อพวกเขาโตขึ้น Real Time tricks Freestyle…ท้าทายการเรียนรู้
บางทีเด็กๆ เขารู้สึกเบื่อหน่ายกฎ ทั้งที่เขาอาจไม่รู้ว่า “การไม่มีกฎ” เป็นเรื่องท้ายทายยิ่งกว่า ลองตั้งคำถามว่าลูกจะเล่นอย่างไรเมื่อไม่มีของเล่นหรือสนามเด็กเล่น ทีนี้วิธีเล่นจะพรั่งพรูออกมาร้อยพันรูปแบบ เช่น ห้องนอนเป็นป่า โต๊ะเป็นภูเขา มู่ลี่หน้าต่างเป็นใบไม้ หมอนข้างกลายเป็นท่อนซุง
เปิดโอกาสให้ลูกทำ “อะไรก็ได้” ที่อยากทำที่สุดใน 1 วันเต็ม โดยคุณพ่อคุณแม่สวมบทผู้สังเกตการณ์ (ตราบใดที่หนูไม่ก่อความเสียหายต่อตัวหนูเอง ผู้อื่น และทรัพย์สินในบ้าน) เวลาแห่งอิสระ+ความไว้ใจจากคุณจะเป็นตัวแปรสำคัญ หนุนให้ความคิดสร้างสรรค์ของลูกทำงานเต็มประสิทธิภาพ
ลูกน้อยกำลังเติบโตขึ้นทุกวินาทีที่เขาเคลื่อนไหว...ปลดปล่อยความนึกคิดไปตามอารมณ์และความรู้สึก...ในหลากหลายบรรยากาศที่ได้สัมผัส...ไปพร้อมกับสารพ้นรูปแบบข้อมูลที่เขาสงสัยใคร่เรียนรู้ อย่าปล่อยให้เวลาสูญไปอย่างไร้ค่าเลยค่ะ เริ่ม “สร้าง” เวลาคุณภาพตั้งแต่วินาทีนี้กันเลยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Kapook.com
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้