เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย
เรื่องที่ 1 ความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูลูก
คนเรามักจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว
จะย้อมสีอะไรลงไปก็ติดง่ายทั้งนั้น คำเปรียบเทียบดังกล่าว ชี้
ให้เห็นว่า การอบรมสั่งสอนคนในวัยเด็กย่อมเกิดผลดีกว่าทำ
เมื่อเด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ในทำนองเดียวกัน ถ้าแต่ละครอบครัวได้อบรมเลี้ยงดูลูก
ตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะทำให้ลูกเติบโตขึ้นพร้อมกับรู้ว่าอะไรดี
อะไรไม่ดีหรืออะไรควรทำและไม่ควรทำ
ส่วนครอบครัวที่ไม่เห็นความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูลูก
โดยคิดว่าให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียน แล้วนิสัยไม่ดีบางอย่าง
อาจจะติดตัวเด็กอย่างถาวรก็ได้ ทั้งนี้เพราะช่วงแรกเกิดจนถึง
อายุ 3 ปี จะเป็นระยะที่เด็กมีความรู้สึกนึกคิด มีนิสัยต่าง ๆ
เกิดขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่ออนาคตของลูกมาก พ่อแม่ควรได้
ได้ตระหนักเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องที่ 2 การเลี้ยงดูลูกแบบเผด็จการ
ในการเลี้ยงดูลูกพ่อแม่แต่ละรายจะมีวิธีการเลี้ยงดูลูกแตกต่าง กันออกไปตามแต่ที่ตนเองจะเห็นว่าเป็นการเลี้ยงดูที่ดีที่สุด
บางครอบครัวมีความคิดเห็นว่า ลูก ๆ ควรเชื่อฟังผู้ใหญ่อย่าง
สิ้นเชิง ไม่ควรโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ สิ่งที่ผู้ใหญ่
หรือพ่อแม่สั่งให้ทำต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ลูก ๆ มีหน้าที่
รับคำสั่งและทำตามคำสั่งเท่านั้น
เมื่อใดลูกทำผิดในสายตาของพ่อแม่แล้ว ก็จะได้รับการดุด่า
ว่ากล่าว และถูกลงโทษทันที การตัดสินว่าลูกทำถูกหรือผิดเป็น
ความคิดเห็นของพ่อแม่แต่เพียงฝ่ายเดียว
การเลี้ยงลูกตามแบบอย่างที่กล่าว เกิดขึ้นเพราะพ่อแม่มีความ
เชื่อว่าตนเองอาบน้ำร้อนมาก่อนลูก ย่อมรู้อะไรดี-ชั่วมากว่าลูก ๆ
จึงต้องทำตามที่ตนเองสั่งเท่านั้น และเชื่อว่าการเลี้ยงลูกเช่นนี้จะ
ทำให้ลูกมีระเบียบวินัย ว่านอนสอนง่ายและเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่
การเลี้ยงลูกแบบนี้ เรียกได้ว่า เป็นการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ
จากการศึกษาของผู้รู้ต่าง ๆ พบว่า การเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันทั้งนี้เพราะไม่ว่าเด็กหรือ ผู้ใหญ่ต่างมีความคิดและเหตุผลเป็นของตนเองทุกคนย่อมไม่ต้อง
การ ให้ผู้อื่นมาบังคับหรือสั่งให้ปฏิบัติตามที่ผู้อื่นต้องการทุกกรณี นอกจากนี้ยังไม่เป็นการสร้างเสริมความคิด ในการเป็นพลเมือง
ของชาติตามระบอบประชาธิปไตย
สำหรับผลที่เกิดขึ้นโดยตรงกับลูก ที่พ่อแม่เลี้ยงดูตามแบบ
เผด็จการพบว่า เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วอาจจะมีนิสัยที่ไม่
สมควรเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น
* อาจจะเป็นคนก้าวร้าว เผด็จการเหมือนพ่อแม่
* อาจจะเป็นคนที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องคอยรับฟัง
คำสั่งจากผู้อื่นก่อน
* อาจจะเป็นคนที่ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
นิสัยเหล่านี้ จะบั่นทอนความก้าวหน้าในอนาคตของเด็กได้
เรื่องที่ 3 การเลี้ยงดูลูกแบบปล่อยปละละเลย
เราจะพบว่า บางครอบครัวเลี้ยงลูกแบบเข้มงวดกวดขันหรือ
แบบเผด็จการ แต่บางครอบครัวอาจจะมีการเลี้ยงดูในแบบที่มี
ลักษณะตรงกันข้าม คือปล่อยให้ลูกมีอิสระเสรีภาพ ที่จะทำ
อะไร ๆ ตามใจตัวเอง ลูกจะทำผิดหรือทำถูกพ่อแม่ก็ไม่สนใจ
สั่งสอนอบรม เราอาจเรียกการเลี้ยงดูแบบนี้ว่า การเลี้ยงลูกแบบ
ปล่อยปละละเลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพ่อแม่บางคนมีภารกิจใน
การทำมาหาเลี้ยงชีพรัดตัวเกินไป จนไม่มีเวลาพอที่จะเอาใจใส่
ลูกอย่างใกล้ชิดได้ ลักษณะเช่นนี้อาจจะเกิดกับครอบครัวที่ร่ำรวย
หรือยากจนก็ได้
บางครั้งพ่อแม่อาจจะชดเชยการขาดความเอาใจใส่ต่อลูกโดย
การให้เงินลูกใช้ตามความพอใจ คบเพื่อนได้ตามสะดวก และ
ดำเนินชีวิตตามความต้องการของตนเอง
การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลยนั้น ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน
แล้ว บางคนอาจคิดว่าเป็นวิธีการที่ดี เพราะคนเราน่าจะมีอิสระ
เสรีภาพในตัวเองที่จะทำอะไร ๆ ตามที่ตนต้องการ
แต่ความเป็นจริงนั้น การเลี้ยงดูลูกแบบนี้ก่อให้เกิดผลร้ายต่อ
ตัวเด็กเอง และต่อสังคม มากกว่าเกิดผลดี ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า
คนเรากว่าจะเติบโตเป็นคนดี รู้จักสิ่งที่ถูกและผิด รู้จักสิ่งที่ควร
และไม่ควรนั้น ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ในแบบ
อย่างที่ถูกที่ควร
ครอบครัวที่เลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย จะส่งผลให้เด็กเกิด
นิสัยไม่ดีหลายประการ เช่น การเอาแต่ใจตนเอง ขาดระเบียบ
วินัยขาดความมีสัมมาคารวะ ขาดความรับผิดชอบเป็นต้นและถ้า
ครอบครัวใดให้เงินลูกไว้จับจ่ายตามความพอใจด้วยแล้ว ลูกมัก
จะไม่เห็นคุณค่าของเงิน
นอกจากนี้ ผลกระทบอาจจะเกิดขึ้นตามมาอีก เช่น การคบ
เพื่อนที่ไม่ดี การไปมั่วสุมในสถานที่ไม่สมควรต่าง ๆ ตลอดจน
อาจเป็นสาเหตุของการติดยาเสพติดได้
เรื่องที่ 4 การเลี้ยงดูลูกแบบคุ้มครองเกินไป
เป็นธรรมดาที่พ่อแม่ทุกคนย่อมมีความรักและห่วงใยลูกของ
ตน แต่พ่อแม่บางคนอาจจะทุ่มเทความรัก ความเอาใจใส่เป็น
พิเศษ แก่ลูกบางคนหรือบางกรณี เช่น การมีลูกคนเดียว ลูก
คนแรก ลูกคนสุดท้อง หรือลูกที่มีเพศอย่างที่ตนรอคอยมานาน
การเลี้ยงดูลูกแบบนี้ พ่อแม่จะดูแลเอาใจใส่ลูกทุกย่างก้าว
ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน หรือการกระทำใด ๆ จะอยู่ใน
สายตาของพ่อแม่เสมอ พ่อแม่จะเห็นลูกเป็นเด็กเล็ก ๆ ที่ต้องดู
แลตลอดเวลา และไม่ยอมให้ลูกพบกับความยากลำบากไม่ว่า
กรณีใด ๆ
การเลี้ยงดูลูกตามแบบนี้เรียกว่า แบบคุ้มครองเกินไป หรือ
ชาวบ้านเรียกกันว่าแบบไข่ในหิน คือต้องดูแลประคับประคอง
ทุกฝีก้าวนั่นเอง
การเลี้ยงดูลูกแบบคุ้มครองเกินไปนั้น จะเห็นว่ายังไม่ค่อย
เหมาะสมนักทั้งนี้เพราะมนุษย์มีธรรมชาติที่ต้องการเป็นตัวของ
ตัวเอง ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวายกับชีวิตของตนเองมากเกินไป
แม้ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นพ่อแม่ หรือมีความรัก ความห่วงใยต่อ
ตนมากเพียงไรก็ตาม
เป็นความจริงที่ว่าพ่อแม่ทุกคนรักและห่วงใยลูก แต่การแสดง
ออกของความรัก และความห่วงใยควรอยู่ในขอบเขตของความ
พอดี
การเลี้ยงดูลูกแบบคุ้มครองเกินไปนั้นในช่วงแรก ๆ ลูกอาจจะ
มีความพอใจ อบอุ่นที่พ่อแม่รักและเอาใจใส่ตนเองแต่ต่อมาลูก อาจจะรู้สึกอึดอัดที่พ่อแม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตเขาทุกฝีก้าว
การเลี้ยงดูลูกแบบนี้จะส่งผลเสียแก่เด็กหลายประการ เช่น
เด็กจะกลายเป็นคนขาด ความมั่นใจในตนเองไม่อดทนต่อความ
ยากลำบาก ไม่ต่อสู้ชีวิต ไม่กล้าตัดสินใจ จิตใจอ่อนแอ คอยแต่
จะพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา การเลี้ยงลูกแบบนี้เรียกว่า เป็นการเลี้ยง
แบบไม่รู้จักโต
เรื่องที่ 5 การเลี้ยงดูลูกแบบประชาธิปไตย
การเลี้ยงดูลูกแบบประชาธิปไตยนั้น พ่อแม่จะต้องเป็นคนใจ
กว้าง มีเหตุผล ถ้าลูกทำผิดก็จะอบรมสั่งสอน หรือแม้จะมีการ
ลงโทษก็จะชี้แจงความผิดก่อน และไม่ลงโทษด้วยอารมณ์พร้อม ทั้งให้โอกาสลูกที่จะชี้แจงเหตุผลของตนด้วย
การเลี้ยงดูลูกแบบนี้พ่อแม่จะไม่เข้มงวดเกินไป และขณะ
เดียวกันก็ไม่ปล่อยลูกจนเกินไป ถ้าครอบครัวหรือสมาชิกมี
ปัญหาอะไรก็จะช่วยกันแก้ปัญหา พ่อแม่จะไม่ถือว่าลูกเป็นเด็ก
เล็ก ๆ ตลอดเวลา แต่จะให้ลูกมีโอกาสแสดงความสามารถและ
ยอมรับในเหตุผลของลูก ถ้าเห็นว่า เป็นเหตุผลที่ดี
การเลี้ยงดูลูกแบบนี้ก่อให้เกิดผลดีหลายประการ เช่น เด็กจะ
มีสุขภาพจิตดี มีวินัยใน ตนเอง มีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าตัด
สินใจ กล้าจะกระทำในสิ่งที่ถูกที่ควร รับฟังเหตุผลของผู้อื่นและ
ทำตามระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม
© 2024 Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก. Powered by
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้