เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

สอนให้ลูกอ่านหนังสือออก

เริ่มจากที่เคยรู้มาว่า เราสามารถสอนให้เด็กอ่านหนังสือออกได้ตั้งแต่ยังเล็ก และเป็นการสอนด้วยบัตรคำ จากที่เคยสอนให้น้องอชิอ่านflash card ก็เรียกได้ว่า เป็นการสอนแบบไม่มีความรู้เท่าไหร่ ก็เลยลอง search หาใน google ดู ว่าเค้าสอนกันยังไง ก็พบบทความนี้ ซึ่งคิดว่า น่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ ในหมู่บ้านนี้ ก็เลยเอามาแนะนำให้ค่ะ ตอนแรกก็มีแว๊บๆ คิดเหมือนกันว่า เราจะยัดเยียดลูกมากเกินไปหรือเปล่า แต่พอได้อ่านบทความนี้แล้ว ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่า ไม่ใช่เป็นการยัดเยียด แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถจะให้ลูกได้ ในช่วงเวลานี้ (แรกเกิด - 6 ขวบ) เพราะเราไม่อยากรู้สึกทีหลังว่า เราพลาดโอกาสทองนี้ไปน่ะค่ะ

สอนให้ลูกอ่านหนังสือออก

Doman แนะนำให้คุณแม่ทั้งหลายในประเทศของเขา สอนให้เด็กแรกเกิด ถึง 6 ปี อ่านหนังสือออกมาตั้งแต่ พ.ศ.2507 ซึ่งวิธีการสอนคล้ายกับการสอนสารานุกรมให้เด็กที่เคยเสนอในฉบับที่แล้ว ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไรยิ่งดี คุณแม่เหล่านั้นตอบจดหมายกลับมาเล่าถึงความปลื้มใจที่สอนให้ลูกอ่านหนังสือได้ ในขณะที่คุณแม่อีกหลายคนผิดหวังที่ไม่สามารถทำให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง

Doman ไม่สอนเด็กให้อ่านหนังสืออกตามตัวอักษร เพราะตัวอักษรเป็นนามธรรมที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ ถ้าเด็กถามว่า ทำไมตัวอักษรมีรูปร่างกายเขียนแบบนี้ คุณอาจตอบว่า เพราะตัว ก.กอ ก็คือ ตัว ก.กอ มีการประดิษฐ์ตัวอักษรให้มีรูปร่างอย่างนี้ ซึ่งเป็นคำตอบที่กว้างมาก อาจถึงกับต้องเล่าประวัติศาสตร์การประดิษฐ์ตัวอักษรกันเลย ในขณะที่การสอนให้เด็กรู้จักคำว่า “ไก่” “กุ้ง” “เกี๊ยว” ฯลฯ เป็นคำคุ้นหู ชินตา ได้ลิ้มรสมาตั้งแต่เล็ก จึงมีพลังที่จะทำให้เด็กเกิดความต้องการเรียนรู้มากกว่า หาปากกาเมจิกหัวใหญ่สีแดง มาเขียนคำด้วยตัวบรรจงลงบนกระดาษขาวเท่าที่ตัดเป็นบัตรคำขนาด 4x24 นิ้ว เลือกคำที่ใกล้ตัวเด็กและเข้าใจกับสิ่งนั้นอยู่แล้ว คำที่เขียนควรสูง 3 นิ้ว เพื่อให้สมองของเด็กแปลความหมายของคำที่เขียนได้ไม่ผิดพลาด เมื่อสอนไปแล้ว 1-2 เดือน อาจเขียนให้ตัวอักษรเล็กลงจะกระตุ้นสมองของเด็กให้กระตือรือร้น อยากจะเรียนมากขึ้น ช่องไฟระหว่างแต่ละอักษรควรเว้นพอควร เพื่อเวลาที่คุณชูบัตรคำให้เด็กดู นิ้วของคุณจะได้ไม่บัง ช่วยให้เด็กเห็นชัดและเข้าใจง่ายขึ้น กรณีที่คุณจะสอนเป็นภาษาอังกฤษ ให้เขียนเป็นตัวพิมพ์เล็กยกเว้นชื่อเฉพาะ เช่น ชื่อของลูก ชื่อของสัตว์เลี้ยง ควรเขียนตัวพิมพ์ใหญ่ ทั้งนี้เพราะหนังสือภาษาอังกฤษทุกเล่มพิมพ์โดยใช้หลักการนี้

ถ้าคุณแม่อยากเขียนหรือระบายสีบนตัวอักษรให้สวยแปลกตาก็ทำได้ แต่จะได้ผลดีกว่าถ้าคำเขียนมีลักษณะไม่ต่างจากตัวอักษรในหนังสือทั่วไป Doman แนะว่าควรเตรียมทำบัตรคำล่วงหน้า 200 ใบ เพื่อให้มีบัตรคำเพียงพอที่จะนำมาสอนอย่างน้อยล่วงหน้าให้ได้จำนวน 1 เดือน ไม่เช่นนั้น ถ้าเด็กเคยดูบัตรคำนั้น 2 ครั้งแล้ว และยังจะให้เขาดูคำเดิมซ้ำอีก เขาก็จะเดาล่วงหน้าได้ ทำให้เด็กเริ่มไม่สนุก ไม่อยากเรียน ทำลายหลักสูตรสอนลูกให้อ่านหนังสือออกทั้งหลักสูตรคุณจึงควรใช้เวลาส่วนใหญ่ ทำชุดบัตรคำมากกว่าประดิษฐ์ตัวอักษรให้สวย อาจให้คุณพ่อช่วยตัดบัตรคำ หรือหาซื้อสำเร็จรูปมาจะไม่เสียเวลา

บรรยากาศการสอนควรเป็น 1 ต่อ 1 ปราศจากเสียงรบกวนจากวิทยุ โทรทัศน์ เครื่องมือสื่อสารต่างๆ จัดมุมพิเศษในบ้าน เพื่อให้ลูกรับรู้การสอนจากคุณได้ดีที่สุด และจงเชื่อมั่นในตัวลูก มีนักวิชาการและจิตแพทย์บางคนว่า การสอนความรู้แก่เด็กเล็กเป็นการฝืนเด็ก แต่ประสบการณ์ของ Doman บอกเขาว่า เด็กมีความสุขที่ได้เรียน เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เด็กรู้สึกตื่นเต้นกับการได้เล่นเกมนี้ คุณแม่เองก็พบสิ่งใหม่พร้อมๆ กับลูก จึงเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความสนุกสนานร่วมกัน การเรียนจึงเป็นเหมือนรางวัล ไม่ใช่การลงโทษที่ทำให้คุณแม่และลูกรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการเรียน หรือเป็นสิ่งฟ้าสาปมาให้จำต้องทำ

คุณแม่จึงควรอ่านใจของลูกด้วยว่า เด็กชอบช่วงเวลาเรียนรู้นี้ไหม ? ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองสนุกกับการสอน แต่ลูกกลับไม่สนุก ไม่สนใจหรือป่วย จงหยุดให้เขาดูบัตรคำและยกเลิกการสอนทันที เพื่อหาความผิดพลาดและแก้ไขให้เรียบร้อย ก่อนจะกลับมาสอนลูกใหม่ หรือถ้าสอนเด็กในขณะที่ใจของคุณไม่ชอบสอน ลูกก็จะรู้สึกได้ทันที เขาจะรู้สึกอึดอัดไม่ชอบช่วงเวลาการเรียนนี้เหมือนคุณ จงยกเลิกงานนี้แล้วยกหน้าที่ให้คนอื่น

คำที่เอามาให้ลูกดูในการสอนวันแรก 5 ใบ ควรเป็นคำที่ใกล้ตัวลูกมากที่สุด เช่น คำบ่งบอกสถานภาพของสมาชิกในครอบครัว ชนิดสัตว์เลี้ยงที่เห็นบ่อย อาหาร เครื่องใช้ในบ้านที่เห็นเป็นประจำ ชูให้เด็กดูอย่างชัดเจน บอกว่านี่อ่านว่า “แม่” แล้วเปลี่ยนบัตรคำแผ่นหลังสุดขึ้นมาหน้าสุด นี่อ่านว่า “พ่อ” ควรเปลี่ยนบัตรด้วยจังหวะเร่งเร้า เพราะธรรมชาติของสมองเด็กเรียนรู้ค่อนข้างเร็ว ถ้าหยุดนานจะผิดจังหวะการเรียนรู้ของสมอง ฉุดให้เด็กเบื่อ ไม่อยากเรียน ถึงแม้ลูกจะทักถามบัตรคำนั้นขึ้นมา ก็ขอให้ตอบเพื่อยุติความสงสัยของเขาโดยเร็ว แล้วสับบัตรใหม่ให้เขาดูคำว่า “พี่” “น้อง” หรือเป็นชื่อเฉพาะก็ได้ การสับบัตร ช่วงแรกอาจติดขัดบ้าง แต่จะคล่องขึ้นถ้าได้ซ้อมทุกครั้งก่อนสอน แล้วถามสามีว่าจังหวะและน้ำเสียงของคุณน่าสนุกหรือยัง ? จงควบคุมสติของคุณมุ่งที่การสอน อย่าเตลิดสอนนอกเรื่องหรือยืดยาด เพราะจะทำลายความกระตือรือร้นของเด็ก และไม่ต้องให้ลูกอ่านออกเสียงตาม เพราะจะทำให้มันไม่สนุก เมื่อคุณสอนลูกไปเรื่อยๆ สมองของลูกจะนำบัตรคำชุดแรกนี้ ไปจับคู่ผสมกับคำอื่นที่คุณสอน เพื่อแตกความคิดออกไป การสอนคำชุดแรกจึงเป็นข้อมูลชีวิตในการแปลความหมายของคำ ที่จะเข้ามาสู่สมองของเขาในวันข้างหน้า

บัตร 5 คำ กินเวลาสอนประมาณ 1 นาที เพื่อยุติการสอนก่อนที่เด็กจะรู้สึกเบื่อ เมื่อสอนจบให้คุณกอดจูบ ชื่นชมในตัวลูกว่า “เก่งมาก” ทั้งหมดในการสอนครั้งแรกมีเป้าหมายเพียงจุดประกายความอยากรู้ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณของสมองเด็ก ที่ปรารถนาอยากรู้อยู่แล้ว ไม่ควรให้รางวัลเป็นขนม หรือของเล่นที่เป็นวัตถุเพราะนานวัน รางวัลที่เป็นรูปธรรมจะเป็นสิ่งของที่แห้งแล้งต่อจิตใจ การชื่นชมด้วยความจริงใจจากคุณ คือรางวัลที่ลูกสมควรได้ที่สุด จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีค่า มีเกียรติมากกว่าเดิม คุณควรสอนซ้ำอีกครั้งห่างจากครั้งแรกมากกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยเรียงตามลำดับบัตรคำเหมือนครั้งแรก สอนให้ได้ 3 ครั้งต่อวัน ไม่มากกว่านี้ เพราจะฉุดให้เด็กหมดความกระหายในการเรียน เป็นการทำลายมากกว่าส่งเสริมวันที่ 2 ให้เด็กดูบัตรคำชุดเดิม แต่สลับตำแหน่งของบัตรให้ไม่เหมือนกับวันแรก เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องที่สอนสดใหม่ขึ้น ด้วยประสิทธิภาพสมองของเขา คำที่ผ่านสายตาของเด็ก 6 ครั้ง เขาจะจำได้แล้ว ในวันที่ 3 เด็กเริ่มชินกับระบบการสอนวันละ 3 ครั้ง ให้คุณเปลี่ยนคำเก่าออก 3 ใบ เพิ่ม 3 ใบใหม่เข้ามา บัตรคำเก่าในมือคุณ จะเป็นสะพานเชื่อมต่อให้ลูกมั่นใจในความรู้เดิม และก้าวต่อไปในบัตรทำแผ่นใหม่ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นบัตรใหม่ทั้ง 6 ใบเลย สมองของเด็กจะรับข้อมูลไม่ต่อเนื่องกัน วันที่ 4 คุณเอาบัตรคำเก่าออก 3 ใบ และเพิ่มบัตรใหม่ 3 ใบ เท่ากับว่าบัตรคำวันแรกเปลี่ยนออกไปหมดแล้ว วันที่ 5 และ 6 ก็นำบัตรคำใหม่เข้าไปเปลี่ยนกับบัตรคำเก่า ด้วยวิธีการเดิม การสอนครั้งที่ 2 และ 3 ของวัน ก็ให้สลับตำแหน่งบัตรคำด้วย ทำวิธีอย่างเดียวกันนี้เหมือนเป็นระบบ

สัปดาห์ที่ 2 เพิ่มบัตรคำเป็น 10 ใบ เริ่มมีบัตรคำกิริยา เช่น “กิน” ซึ่งเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ปนเข้าไปด้วย สัปดาห์ที่ 3 เริ่มให้เด็กดูบัตรคำกลางๆ ที่มีความหมายกว้างๆ ไม่เว้นแม้แต่คำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะเมื่อเด็กโตขึ้น เขาจะค้นหาความหมายของคำเหล่านั้นอย่างหิวกระหายใคร่รู้ ไม่ควรเอาบัตรคำเก่า มาให้เด็กดูซ้ำหลายครั้งพร่ำเพรื่อ หรือเพื่อสอบความจำเด็กเด็ดขาด เพราะทุกครั้งที่เขาเห็นบัตรใบเก่า เขาจะรู้สึกต่อต้านบัตรคำใบนั้น กลายเป็นความเบื่อ ท้อแท้ ไม่อยากเรียน ถ้าเป็นเพราะทำบัตรคำใหม่ไม่ทัน หยุดสอน 1 วัน หรือ 1 สัปดาห์ จนกว่าจะทำบัตรคำชุดใหม่มากเพียงพอแล้ว จึงค่อยสอนต่อไป

การเรียนที่ไม่ผ่านตัวอักษร ลูกจะได้รับจากพ่อแม่เท่านั้น แต่การเรียนผ่านตัวอักษร ที่ลูกได้เรียนรู้ผ่านบัตรคำข้างต้น จะช่วยปล่อยความคิดของมนุษย์ผู้ให้เป็นอิสระคือ สามารถอ่านหนังสือที่เป็นความรู้จากหลายภาษาก็ได้ คราวต่อไปดิฉันจะนำวิธีการสอนให้ลูก นำคำที่รู้จักของ Doman มาผสมเป็นคำใหม่หรือประโยคค่ะ

สอนลูกให้อ่านหนังสือออก ตอนที่ 2
ตลอดเวลามนุษย์เผชิญกับสถานการณ์ที่ดีและร้าย ถ้าเด็กขาดข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ปัญหาเฉพาะหน้า เขาก็จะไม่ฉลาด แม้ความฉลาดจะมาจากพันธุกรรม แต่อีกส่วนได้จากการเปิดโอกาสให้สมองคิดบ่อยๆ ด้วยคำอธิบายง่ายๆ ตรงไปตรงมา และข้อมูลที่มากพอเด็กจะพบวิธีควบคุมจัดการความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นธรรมชาติของสมองเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ โดยเฉพาะช่วงแรกเกิดสมองสร้างเซลล์ ถึงเศษหนึ่งส่วนสี่ล้านเซลล์ใน 1 นาที

ดิฉันมีข้อมูลที่ Doman สอนหนังสือให้เด็กคิดอยู่ 3 แบบ คือ
1. สอนให้เด็กมีความรู้รอบตัว
2. สอนให้เด็กอ่านหนังสือออก
3. สอนให้เด็กคิดเลขเป็น

โดยครั้งนี้ขอเสนอการสอนแบบแรก ที่สร้างวิธีคิดให้เด็ก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ง่าย เมื่อเข้าใจวิธีนี้แล้ว ก็จะเข้าใจการสอนให้ลูกอ่านหนังสือออกในบทต่อไปได้ง่ายขึ้น
คุณพ่อคุณแม่หารูปภาพขนาดใหญ่พอประมาณ ที่มีลักษณะจำเพาะ เจาะจง (หาซื้อภาพได้จากร้านไทยวัฒนาพาณิช) มาตัดพื้นหลังและส่วนเกินต่างๆ ออก แล้วติดบนกระดาษขาวเทา ขนาด 11 คูณ 11 นิ้ว จัดเก็บภาพให้เป็นชุด ชุดละ 10 ภาพ เช่น
10 ภาพบัตรชุดที่ 1 ชุดนก อาจประกอบด้วยภาพ นกกระจาบ อีกา พิราบ กระยาง กระจอกเทศ เอี้ยง นกยูง นกแก้ว กาเหว่า หงษ์หยก เป็นต้น
10 ภาพบัตรชุดที่ 2 ในวันที่ 2 อาจเป็นชุดอวัยวะของร่างกายประกอบด้วย ตา หู จมูก ปาก แขน ขา นิ้ว ไหล่ ผม คิ้ว เป็นต้น
10 ภาพบัตรชุดที่ 3 ในวันที่ 3 อาจเป็นชุดสุนัข ประกอบด้วย หลังอาน (สุนัขที่คุณเลี้ยงอยู่) บางแก้ว ชิสุ เชาเชา ดัชชุน คอสลิน เยอรมัน แชฟเฟิด บ๊อกเซอร์ โดเบอแมน ปักกิ่ง เป็นต้น และชุดต่อไป เช่น ชุดต้นไม้ ดอกไม้ เครื่องใช้ในบ้าน ฯลฯ ให้ดูวันต่อๆ ไป

แต่ละชุดเป็นภาพสู่โลกกว้างๆ เท่าที่จะกว้างได้ และมีความต่อเนื่องหรือสัมพันธ์กับชุดที่เคยเสนอไป ในเวลาและจำนวนครั้งที่เท่ากันคือวันละ 1 ชุด ให้ดูทีละภาพสับจากภาพแผ่นหลังสุดขึ้นมาไว้ข้างหน้า เป็นลำดับ ชุดละ 3 เวลา หลังอาหารเช้า บ่าย 4 โมง และหลังอาหารค่ำ ครั้งละ 10 วินาที เรียกชื่อภาพ พร้อมอธิบายภาพสั้นๆ ด้วยประโยคเดียวกันทั้ง 3 เวลา ตัวอย่างภาพอีกาอธิบายสั้นๆ ว่า นกตัวใหญ่สีดำร้องกากา เขาจะจำและรับรู้สิ่งที่คุณพูดทั้งหมดได้ทั้ง 10 ภาพ อย่างง่ายดาย ถ้าคุณแม่เตรียมตัวมาดี และเข้าใจถึงลักษณะสมองของเขาที่จะแตกความคิดได้ถึง 3,628,800 เรื่อง เพราะสมองมีช่องบรรจุหน่วยความจำถึง 125,500,000,000 เรื่อง นั่นหมายถึง ยิ่งเด็กรับรู้ภาพในโลกกว้างมากเท่าไร สมองก็จะพัฒนาเป็นความรอบรู้มากขึ้น
วันใหม่ควรใช้ภาพชุดใหม่ เอาชุดที่สอนเมื่อวานไปเก็บไว้อย่างน้อย 10 วัน ค่อยนำออกมาสอนใหม่ เพื่อไม่ลากเรื่องในการสอน การสอนซ้ำๆ บอกย้ำๆ จะทำให้การสอนไม่ได้ผล เพราะเด็กจะเบื่อ ท้อแท้ ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่เชื่อมั่นว่าเขาจะจำได้ เทคนิคการสอนจึงควรใช้น้ำเสียงที่น่าตื่นเต้น เพื่อให้จดจำได้ในครั้งเดียว
การวางแผนการสอนล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคุณตั้งใจทำบัตรภาพดีมากเท่าไร มันก็จะมีประสิทธิภาพจับใจเด็ก ในการมองและจดจำง่ายขึ้น ความไม่เคยชินเป็นปัญหาหลักที่เกิดกับคุณแม่ที่เริ่มสอนลูกใหม่ๆ ทำให้สอนลูกตะกุกตะกัก ไม่น่าสนุก ดังนั้นก่อนสอนลูกจึงควรฝึกซ้อมกับคุณพ่อ หรือหน้ากระจกจนคล่องแคล่ว และเตรียมภาพชุดใหม่ไว้ล่วงหน้า

ก่อนสอนจริงควรปิดวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ และไม่ให้ผู้ใดเข้ามารบกวน มีเพียงคุณและลูก 2 ต่อ 2 นั่ง ในท่าสบายห่างกันประมาณฟุตครึ่ง เพื่อให้เด็กจดจ่อ ใช้สมองคิด เอาภาพไปผสมกัน หรือแยกแยะ แจกแจงเรื่องออกไปอย่างกว้างขวาง หรือจับคู่สลับข้ามกันไปมา ซึ่งเป็นธรรมชาติการเจริญเติบโตของสมอง จำเป็นมากที่คุณควรอธิบายภาพตามความจริงสั้นๆ เพิ่มเติมให้เด็กเข้าใจเรื่องมากขึ้น จึงไม่ควรอธิบายภาพตามความรู้สึกของคุณเองว่าคุณรู้ แต่ควรค้นหาความจริงจากหนังสือเฉพาะเรื่องนั้น เพื่อให้ความรู้ที่จะเติมเข้าไปในสมองของลูกเป็นจริง แต่ปรับเปลี่ยนนำมาอธิบายใหม่ให้ง่ายที่สุดในแบบของคุณเอง โดยเขียนคำอธิบายไว้ด้านหลังของภาพ
เมื่อคุณนำภาพเก่าที่เก็บไว้ มาสอนเป็นครั้งที่ 2 คุณจะประหลาดใจว่า บางภาพเด็กซึมซับจดจำได้หมดทุกถ้อยคำ และเมื่อคุณสอนลูกไปมากกว่า 10 ชุด จึงค่อยเพิ่มภาพที่เคยสอนมาแล้ว โดยเป็น 10 ภาพในชุดเดิม แต่เปลี่ยนคำอธิบายจากเดิมที่เคยบอกไว้ บวกกับ 10 ภาพในชุดใหม่ พร้อมกับคำอธิบายสั้นๆ หรือถ้าคุณไม่ได้เปลี่ยนคำอธิบายในภาพเก่า อาจใช้วิธีสลับตำแหน่งของภาพเก่าให้ต่างจากการสอนในครั้งที่แล้ว จะทำให้เด็กรู้สึกว่าการสอนสดใหม่ แต่อย่าสลับบัตรภาพข้ามชุดเก่ากับชุดใหม่ เพราะจะทำให้เด็กสับสน และเข้าใจผิด ธรรมชาติของสมองจะรับการสอนได้ไม่เกินครั้งละ 30 ภาพ หรือ 3 ชุด โดยเป็นภาพเก่า 2 ชุด สลับตำแหน่งภาพ แต่เรียงชุด ภาพใหม่ 1 ชุด เรียงภาพไปตามลำดับ

ตัวอย่างวิธีอธิบายภาพอีกา (อธิบาย 3 เวลาต่อวัน คิดเป็นการอธิบายครั้งหนึ่งๆ)
อธิบายภาพการสอนครั้งที่ 1 นกตัวใหญ่สีดำร้องกากา (ควรร้องเสียงดัง ฟังหนวกหู ตามบุคลิกของอีกา)
อธิบายภาพการสอนครั้งที่ 2 กาชอบทำรังบนกิ่งไม้สูงบนต้นไม้ เป็นต้นไม้ที่อยู่ใกล้ทุ่งกว้าง เช่น ทุ่งนา
อธิบายภาพการสอนครั้งที่ 3 กาทำรังด้วยกิ่งไม้แห้ง และเศษหญ้าแห้ง
อธิบายภาพการสอนครั้งที่ 4 กากินแมลง เมล็ดพืช ผลไม้ เมล็ดถั่วเป็นอาหาร
อธิบายภาพการสอนครั้งที่ 5 กาจะออกไข่เพียงปีละ 1 ครั้ง
อธิบายภาพการสอนครั้งที่ 6 บางครั้งกากินซากสัตว์ตาย ไข่แตก เศษปลา เศษอาหารกองขยะ
อธิบายภาพการสอนครั้งที่ 7 กาเป็นนกในทุ่งนา จึงไม่อาศัยริมทะเล

ลูกอาจเห็นว่าคุณกำลังอ่านคำอธิบายจากหลังภาพก็ได้ ไม่ใช่เรื่องต้องปิดบัง ถ้าเขาสนใจอาจชวนให้อ่านพร้อมกับคุณในอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการอ่านหนังสือออกด้วย คุณจึงควรเขียนคำอธิบายหลังภาพไว้ชัดเจน และตัวใหญ่พอควร
การสอนเหมือนชวนให้ลูกสนุก จึงอาจเลยเวลาสอนใน 10 วินาทีได้ แต่ไม่ควรหาเวลาสอนบ่อยขึ้นกว่าเดิม ถ้าเด็กไม่พร้อมจะรับรู้ควรหยุดสอนดีกว่าสอนต่อไปจนเด็กเห็นภาพชุดใหม่หมดชุด เพราะจะทำให้เด็กเบื่อ เมื่อคุณนำมาให้เขาดูเมื่อเขาพร้อมในคราวหน้า ส่วนคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้าน ไม่ควรจะเครียด เพราะจะทำให้ไม่ได้ผลในการสอน แต่ควรใช้เวลาที่มีน้อยอย่างมีคุณภาพ ก็จะได้ผลเช่นกัน
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจวิธีการสอนนี้ถูกต้องคือ ไม่แช่ภาพ 1 ภาพ พร้อมบอกย้ำๆ ซ้ำๆ ในการสอนแต่ละครั้ง แต่สอนด้วยเสียงน่าสนุกที่ได้ผลกว่า คราวที่จะสอนให้ลูกอ่านหนังสือออก ก็ใช้หลักการสอนเดียวกัน ถ้าอ่านวิธีการสอนลูกให้มีความรู้รอบตัวด้วยภาพ และเริ่มสอนลูกไปบ้างแล้ว ก็จะเข้าใจว่า เราจะไม่เริ่มสอนให้ลูกอ่านหนังสือ ด้วยการไล่ด้วยตัวอักษร ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก แต่คิดออกว่าควรสอนในลักษณะใด ถ้าไม่แน่ใจ ฉบับหน้าจะนำวิธีมาเฉลยค่ะ



สอนลูกให้รู้จักอ่านคำผสม ตอนที่ 3

หากคุณแม่เริ่มลงมือสอนบัตรคำ เพื่อให้ลูกวัย 0-6 ปี อ่านหนังสือออก แต่สอนได้ไม่สนุกเท่าที่ควร ก็ถือว่าได้เปรียบกว่าคุณแม่ที่ไม่คิดเริ่มต้น เพราะ ไม่ว่าคุณจะสอนลูกได้เก่งหรือไม่ คุณสมบัติของสมองในการเรียนรู้ของเด็กอายุยิ่งน้อยยิ่งซึมซับการสอน รวดเร็วง่ายดาย โดยสามารถรับความรู้ได้จำนวนมาก ยิ่งได้รับความรู้มากเท่าไร ยิ่งจดจำมากขึ้นเท่านั้น เหมือนมีเรี่ยวแรงเรียนรู้ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งนี่เกิดจากสัญชาตญาณที่ปรารถนาในการเรียนรู้ เพื่อให้มีชีวิตรอด โดยเฉพาะถ้าการสอนนั้นสนุก เป็นความจริง ตรงไปตรงมา

ตัวอย่างชุดบัตรคำเดี่ยว (ควรเขียนคำด้วยปากกาเมจิกหัวใหญ่สีแดง)
ของใช้ส่วนตัว : แปรงสีฟัน หมอน ขวดนม รองเท้า ลูกบอล ผ้าห่ม ถ้วย ช้อน เสื้อนอน ฯลฯ
อาหาร : นม ส้ม ข้าว น้ำ แครอท ไข่ แอปเปิ้ล กล้วย มะละกอ ฯลฯ
ชุดคำกิริยา : ดื่ม นอน อ่าน กิน เดิน วิ่ง กระโดด ว่ายน้ำ ปีน ซ่อนแอบ ฯลฯ
การสอนชุดคำกิริยา คุณแม่ควรสอนด้วยการแสดงท่าทาง พร้อมกับอ่านออกเสียง เช่น พูดว่า “แม่กำลังกระโดด” “หนูกำลังกระโดด” “เรากระโดดพร้อมกัน” ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเรียนด้วยการทำกิริยา
บ่อยครั้งเด็กไปได้ยินคำบางคำ จากชีวิตประจำวันที่ไหนซักแห่งกลางทาง คำนั้นคงจับใจเขา จนต้องการหาคำอธิบายเพิ่มเติม เช่น วันหนึ่งเด็กอาจถามว่า “คุณแม่ครับ แรดนี่ตัวมันเป็นอย่างไรครับ” คุณควรรีบค้นหาเรื่องของแรด แล้วรีบทำบัตรคำคำนั้นมาให้เขาดูโดยด่วน จะทำให้เขาปลื้มใจมาก ที่ได้เรียนคำที่เขาเป็นผู้เสนอเอง
เมื่อเด็กเรียนบัตรคำเดี่ยว สมองจะแปลคลื่นที่มากระทบสมอง และจะไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น แต่พร้อมจับคู่คำๆ นั้นผสมกับบัตรคำอื่น หากคุณแม่ควบคุมการสอนลูกได้ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน น่าสนุก ปราศจากเสียงหรือสิ่งใดๆ ภายนอกมารบกวน พลิกบัตรคำเป็นจังหวะเร็วๆ ไม่แช่บัตร หรือทดสอบเด็ก สมองก็จะแบ่งเป็น 5 ขั้นการเรียนรู้คือ 1) เรียนรู้คำเดี่ยว 2) เรียนรู้คำหลายพยางค์ 3) เรียนรู้วลี 4) เรียนรู้ประโยค 5) อ่านหนังสือทั้งเล่ม
เมื่อเด็กเรียนบัตรคำมาหลายเดือน ก็พร้อมผสมคำให้เป็นวลี และให้เป็นประโยค คำที่น่าจะเอามาผสมกับคำอื่น ควรเป็นคำที่เข้าใจง่าย จำพวกคำคุณศัพท์ที่ขยายคำนาม ตัวอย่าง ชุดบัตรคำสีต่างๆ เช่น แดง ม่วง น้ำเงิน ส้ม ดำ ชมพู เหลือง ฯลฯ ด้านหลังของบัตรคำควรระบายสีๆ นั้นอยู่เต็มกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อคุณแม่จะได้พลิกให้เด็กด้านหลังบัตรคำ เมื่ออ่านบัตรคำนั้นให้ลูกฟังแล้ว คุณจะแปลกใจที่เด็กจำสีต่างๆ ได้รวดเร็ว เมื่อสมองของเด็กรู้จักสีพื้นฐานแล้ว ก็จะสังเกตละเอียดถึงสีแปลกๆ ด้วย เช่น สีทอง สีเงิน สีทองแดง
นำเอาบัตรคำเดี่ยว จากที่เคยเอาให้เด็กดูมาก่อนหน้านี้ 2 ใบมาผสมกัน เด็กที่เคยเห็นคำเดี่ยวคำนั้นมาก่อนจะรู้สึกมั่นใจ และตื่นเต้นที่เมื่อนำบัตรคำเดี่ยว 2 คำ มาผสมกัน เกิดมีความหมายเพิ่มเติม เช่น ชุดขยายคำนามด้วนสี เช่น น้ำส้ม รถบรรทุกสีแดง ผมสีดำ กล้วยสีเหลือง ฯลฯ

ตัวอย่างชุดบัตรคำขยายคำคุณศัพท์
ชุดบัตรคำตรงกันข้าม : ใหญ่-เล็ก ยาว-สั้น อ้วน-ผอม ขวา-ซ้าย มืด-สว่าง สวย-น่าเกลียด ฯลฯ
เด็กบางคนเข้าใจชุดขยายคำนามคำตรงข้ามนี้ทันที เพราะพี่ของเขาตัวโตกว่าเขา และเห็นน้องของเขาตัวเล็กกว่า คุณอาจทำภาพอธิบายความหมายติดไว้หลังบัตรคำ ซึ่งบางคำจะช่วยให้เข้าใจความหมายได้ดี
ชุดบัตรคำผสมที่ขยายคำนามในลักษณะคำตรงกันข้าม : แก้วน้ำว่าง-แก้วน้ำเต็ม เก้าอี้ใหญ่-เก้าอี้เล็ก แม่ดีใจ-แม่เสียใจ ผมยาว-ผมสั้น เสื้อสะอาด-เสื้อสกปรก มือขวา-มื้อซ้าย ฯลฯ
การเรียนบัตรคำขั้นต่อไปคือ ผสมบัตรคำ 3 บัตรคำ แบบที่มีคำกิริยา นำเอาบัตรคำ 3 คำ มาให้เด็กดู แล้วนำมาต่อกัน โดยมีคำว่า “กำลัง” คั่นตรงกลาง
คุณแม่ กำลัง กระโดด
แล้วบอกให้เด็กเลือกเปลี่ยนเฉพาะคำหน้าเปลี่ยนเข้ามาใหม่
คุณพ่อ กำลัง กระโดด
ทำหลายๆ ครั้งด้วยการเปลี่ยนเฉพาะคำหน้า อธิบายให้เด็กเข้าใจทุกครั้งด้วยว่า ความหมายเปลี่ยนแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร ทำหลายๆ ครั้ง จนมั่นใจว่าเด็กเข้าใจแน่นอนแล้ว จึงลองเปลี่ยน เฉพาะคำหลังบ้าง จนมั่นใจว่าเด็กเข้าใจ จึงเริ่มเปลี่ยนคำหน้าบ้างคำหลังบ้าง สลับกัน
เกมจำวลี : เขียนคำเดี่ยว 3 คำ ลงในบัตรคำเดียวกัน เป็นชุดบัตรคำ เอาให้เด็กดูวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน วันที่ 3 เปลี่ยนเอาบัตรคำใหม่เข้ามา แล้วเปลี่ยนเอาบัตรคำใบเก่าบางใบออกไป 2 ใบ วันที่ 5 ยังเปลี่ยนบัตรคำเก่าออก 3 ใบ ใส่บัตรคำใหม่ 2 ใบ
วิธีเล่นเกม : นำเอาบัตรคำที่เลือกออกไปแล้วบางแผ่นเข้ามา ถามเด็กว่าน่าจะอ่านว่าอะไร คุณแม่จะแปลกใจ ที่เด็กสามารถจำวลีนั้นได้

การผสมบัตรคำ 5 ใบให้กลายเป็นประโยค
เมื่อเด็กเข้าใจเรื่องของวลีที่ผสมคำ 3 คำแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการสอนประโยคที่ประกอบด้วยคำเดี่ยว 5 คำ การผสมคำจะมีคำกิริยาที่นำเข้ามาผสม เพื่อขยายคำนาม เขาจะรู้สึกสนุกสนานท้าทาย กล้าที่จะนำคำหลายคำมาผสมกัน เช่น
แม่ กำลัง กิน
แม่ กำลัง กิน กล้วย เหลือง
คุณแม่ไม่ควรกังวลกับเรื่องการสอน เพราะคิดมากไปว่า เด็กจะไม่เข้าใจ ขอให้สอนโดยคิดไปตามสัญชาตญาณของมนุษย์ว่า สมองนั้นมหัศจรรย์ในการแปลความหมายของคลื่น ที่เข้ามากระทบโดยผ่านการมองเห็น
บัตรคำ 5 ใบ มาเรียงเป็นประโยคให้เด็กดูหลายครั้ง เปลี่ยนบัตรคำใหม่เข้า เปลี่ยนบัตรคำเก่าออก แล้วก็เอาบัตรคำเก่าเข้ามาทาย ถามว่าเขาจำได้หรือไม่ว่ามันอ่านว่าอย่างไร ประสิทธิภาพของสมองจะจำบัตรคำจนอ่านเป็นประโยคได้
เกม : ให้เด็กเปลี่ยนเฉพาะคำหน้า เมื่อเด็กเข้าใจดีแล้ว ก็ให้เด็กเปลี่ยนเฉพาะคำที่ 3 เท่านั้น จนเด็กเข้าใจแล้ว จึงนำบัตรคำที่สอนไปแล้วมารวมกันให้เด็กเล่นเกมผสมคำด้วยตัวเอง จะพบว่าเด็กที่ชอบสนุกมักจะลองผสมคำตลกๆ แผลงๆ ที่ไม่มีความหมาย เช่น
ช้าง กำลังดื่ม ซุบ ชามใหญ่
พ่อ กำลัง กอด สตอเบอรี่ เหลือง
น่าเศร้าหากคุณแม่เข้าใจว่า การเรียนไม่ควรผสมคำอะไรที่แผลงๆ ทำอะไรแผลงๆ ที่ทำให้รู้สึกขำขัน แต่การเรียนที่ดีที่ได้ผลกว่าคือ สร้างเรื่องตลกหรือเรื่องขำขึ้นระหว่างเรียน เพราะเด็กมักจะจำเรื่องที่สอนตรงนี้ได้แม่นยำ และอาจนานไปชั่วชีวิตของเขา อีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้มีในการสอนคือ การให้เด็กได้แสดงท่าทางของคำๆ นั้นด้วยตัวของเขาเอง เพื่อให้เขาได้สัมผัสกับคำๆ นั้น

ถือว่า เอามาเป็นไอเดียในการสอนลูกก็แล้วกันนะคะ

ขอบคุณ ข้อมูลจากเว็บ http://www.elib-online.com

Views: 11172

Reply to This

Replies to This Discussion

พี่เม่ย เก่งสุดๆ เดี๋ยวแบดจะค่อยๆกระดึ๊บๆตามอ่านใหม่ละเอียดๆอีกที จะค่อยๆสอนคริสบ้าง ขอบคุณสำหรับบทความดีๆมีประโยชน์นะคะ (แม่ขี้เกียจจัง ทำไงดีเนี่ย)
ตอบขอบคุณข้อมูลมากเลยนะค่ะ จะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อลูกค่ะ
แม่แอมไม่ทราบหลักการมาก่อนพอคุณเม่ยเอารายละเอียดมาน่าจะลองสักตั้ง น่าสนใจมากคะ
ขอบคุณที่นำสิ่งดีๆมาแชร์คะ
เก่งจังคุณเม่ย เดี๋ยวจะลองเอามาสอนน้องจี้เฟินบ้าง
ดีมั๊กมักเลยค่ะคุณเม่ย ขอบคุณที่เอามาแชร์น่ะค่ะ ^_^
เนื้อหาดีมากเลยค่ะ

รักเลยค่ะบทวามนี้

กำลังมึนเลยค่ะว่าจะสอนลูกอ่านยังไงให้มีเขาความสุข

ทุกวันนี้ไม่สนุกเลยทั้งคนเรียนและคนสอน

ขอบคุณนะคะ

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service