เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย
พัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็ก
คุณแม่เคยสงสัยมั้ยคะว่า การพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญ วิธีหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งมีขั้นตอนของการพัฒนาการที่แน่นอน
จากการส่งเสียงฮือฮา อ้อแอ้ของทารกมาเป็นคำเดียว ที่มีความหมายในวัย 1-2 ปี จนกระทั่งสามารถเปล่งเสียงออกมา เป็นคำพูดที่ต่อเนื่องกันเป็นประโยค เพื่อสื่อความหมาย และเล่าเรื่องได้ในเด็กอายุ 3-4 ปี
จริงๆ แล้วมนุษย์เราสามารถสื่อสารกันด้วยท่าทาง การแสดงออกของสีหน้า และการเปล่งเสียง แต่จะเห็นว่า การแสดงความต้องการหรือพยายามสื่อความหมายผ่านทางท่าทางและสีหน้า จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากในขณะที่การเปล่งเสียงเพื่อสื่อความหมายนั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วง 4 ปีแรก ของชีวิต
พัฒนาการของภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสารที่สำคัญคือ
1. การรับรู้และเข้าใจภาษา
2. การแสดงออกและการพูด
การพัฒนาของภาษาพูด ทั้งด้านการรับรู้และการแสดงออก จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย
1. ระบบการได้ยินที่ปกติ
2. ระบบการแปลข้อมูลในสมองที่ปกติ
3. ระบบการออกเสียงที่ปกติ
4. สิ่งเร้าจากภายนอกที่เหมาะสม ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เด็ก ต้องการพูดเป็นการสื่อสาร
เมื่อมีคำพูดจากบุคคลหนึ่งไปยังเด็กทารก คลื่นเสียงจากผู้พูด จะผ่านทางหูเด็กไปยังสมองแล้วเกิดการแปลงข้อมูล พร้อมกับการสั่งให้ร่างกายของเด็กทารกนั้นแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้
การตอบโต้เป็นเสียงหรือคำพูดนั้น ต้องอาศัยการประสานงาน ระหว่างกล้ามเนื้อ กระดูกและกระดูกอ่อน ที่จะช่วยให้เกิดลมพุ่งจากปอด ผ่านหลอดลม และช่วยบังคับกระแสลมผ่ายสายเสียงไปยังลำคอ เพดาน ฟัน ขากรรไกร และริมฝีปาก
การประสานงานของส่วนต่างๆ ในการเปล่งเสียงนี้ ต้องอาศัยเวลาในการช่วยให้เกิดการทำงานที่เหมาะสมและสอดคล้องกัน เด็กเองจะต้องเรียนรู้และรู้จักสังเกตเวลาโต้ตอบกับผู้อื่น จนกระทั่งสามารถใช้การพูดเป็นการสื่อความหมายกับผู้อื่นได้
พัฒนาการของภาษาและการพูดในเด็กปกติ
แรกเกิด-1 เดือน
ได้ยินเสียงดัง, ได้ยินเสียงพูดอาจหันเวลาตื่นเต็มที่ สะดุ้ง ผวา กะพริบตา หรือ หยุดฟังเริ่มทำเสียงในคอ
2 เดือน
สนใจเวลามีคนใกล้และพูดคุย สบตา ยิ้ม ส่งเสียงอ้อแอ้
3-4 เดือน
หันหาเสียงพูด (ข้างๆ) ส่งเสียงโต้ตอบ ทำเสียง "อาอือ" หัวเราะเสียงดัง
6-9 เดือน
หันหาเสียงกระดิ่งข้างๆ บนและล่าง เล่นเสียงสูงๆ ต่ำๆ เริ่มมีเสียงพยัญชนะ
10-12 เดือน
ทำตามคำสั่งง่าย ๆ โดยท่าทางประกอบคำสั่ง (One Step Command Without Gesture) เปล่งเสียงซ้ำๆ เลียนเสียงพูด พูดอย่างมีความหมาย 1 คำ
12-15 เดือน
พูดคำโดยที่มีความหมาย 3-6 คำ พูดเลียนคำท้าย
15-18 เดือน
ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ 1 ขั้น (One Step Command Without Gesture) พูดคำที่มีความหมายทีละ 1-2 คำติดกัน ชี้อวัยวะร่างกายตามบอกได้
2 ปี
เข้าใจ "บน ล่าง ข้าง ๆ " พูดเป็นวลี 2-3 คำ พูดอาจไม่ชัด และตะกุกตะกัก แต่คนในครอบครัวฟังเข้าใจประมาณครึ่งหนึ่ง
3 ปี
รู้จักเพศของตนเอง พูดเป็นประโยค 3-4 คำได้ มักใช้เฉพาะคำสำคัญที่เป็นเนื้อหา เช่น คำนาม กริยา บางคำอาจไม่ชัด แต่คนทั่วไปจะฟังเข้าใจประมาณครึ่งหนึ่ง
4 ปี
เข้าใจคำวิเศษณ์ เช่น ร้อน เย็น ใหญ่ เล็ก รู้จักสี 4 สี พูดเรียงลำดับในประโยคได้ถูก เล่าเรื่องให้คนทั่วไปฟังเข้าใจได้ คำพูดส่วนใหญ่จะชัดเจน และมีจังหวะปกติ ยกเว้นบางพยัญชนะเช่น ส, ร, ล, ช
5 ปี
เข้าใจความหมายของศัพท์ คำตรงข้าม และคำเหมือน ใช้ไวยากรณ์ได้ถูกต้อง อธิบายความหมายได้ พูดชัดเกือบทั้งหมด จังหวะปกติ
8 ปี
เข้าใจก่อน-หลังได้ดี สามารถพูดเป็นประโยค เรียบเรียงได้ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
เด็กปกติเรียนรู้ภาษาและการพูดได้อย่างไร
เด็กปกติจะมีพัฒนาการด้านภาษาและการพูดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งสามารถใช้ภาษาได้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 7 ปีขึ้นไป
การที่เด็กเล็กคนหนึ่งจะพัฒนาภาษาและการพูดขึ้นมาได้นั้น จะต้องเกิดจากการที่เด็กมีการติดต่อกับบุคคลที่อยู่แวดล้อมเช่น แม่ พ่อ พี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยในระยะแรก เด็กจะใช้การร้องไห้เพื่อบอกความต้องการของตนเอง เช่น ร้องไห้เมื่อหิวหรือไม่สบาย
ต่อมาเด็กจะเริ่มเล่นเสียงและเลียนเสียงต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ในช่วงนี้ถ้าเด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่รอบข้าง เช่น แม่มักจะอุ้มขึ้นมาเล่นและพูดคุยด้วย เมื่อได้ยินเสียงของเด็ก ก็จะเริ่มสร้างระบบของภาษาและการพูดของตนเอง โดยอาศัยแบบอย่างจากผู้ใหญ่ที่พูดคุยด้วย
เมื่อเด็กทดลองใช้ภาษาที่ตนเองสร้างขึ้นมา และได้รับแรงเสริมจากผู้ใหญ่ เด็กก็จะออกเสียงนั้นมากขึ้น จนกระทั่งสามารถเปล่งเสียงเรียกสิ่งของหรือคนที่อยู่รอบข้างเขา ได้อย่างถูกต้อง เช่น เมื่อเด็กเห็นแม่เดินมาเป็นจังหวะเดียวกับ ที่เด็กเปล่งเสียงคำว่า "ม่ะ" ออกมา ก็จะเข้ามาอุ้มชูและพูดเล่นด้วย
การที่เด็กได้รับแรงเสริมในลักษณะนี้นี่เอง จะทำให้เด็ก ค่อยๆ เรียนรู้เวลาที่เขาหิว เจ็บป่วยหรือต้องการการอุ้มชู ถ้าเขาเปิดปาก ทำเสียงเช่นนี้ บุคคลผู้นี้ก็จะเข้ามาช่วยเหลือเขา เมื่อทำบ่อยครั้งเข้า ในที่สุดเด็กจะสามารถเชื่อมโยงคำว่า "ม่ะ" "แม่" กับตัวคุณแม่ได้ กระบวนการการเรียนรู้คำศัพท์ของเด็กจะเกิดขึ้นในลักษณะนี้ และปริมาณของคำศัพท์ที่เด็กเรียนรู้และพูดได้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 1 คำ เมื่อเด็กอายุประมาณ 10-12 เดือน จนถึงสองพันกว่าคำ เมื่อเด็กอายุ 7 ปี
โดยในระยะแรก เด็กจะเริ่มพูดเป็นคำๆ ก่อนเมื่ออายุ 1-2 ปี และเริ่มพูดเป็นประโยคสั้นๆ ได้เมื่ออายุ 3 ปี พออายุ 4 ขึ้นไป เด็กก็จะสามารถใช้ประโยคเล่าเรื่องต่างๆ ที่เขาพบเห็นให้คุณพ่อคุณแม่ฟังได้ และสามารถใช้ภาษาได้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ พูดคุยโต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่ ได้อย่างเหมาะสมเป็นเรื่องเป็นราวเมื่ออายุ 7 ปีขึ้นไป
ลองสังเกตดูนะคะว่าลูกของคุณมีพัฒนาการการพูด เป็นไปตามวัยหรือไม่ถ้าเป็นไปตามนี้ คุณแม่ก็โล่งอกหายห่วงได้ค่ะ แต่ก็มีไม่น้อยที่เด็กไม่สามารถมีพัฒนาการที่ดีอย่างที่ควรจะเป็นได้
ปัญหาเรื่องของเด็กพูดช้า เป็นปัญหาที่หนักอกหนักใจของคุณแม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าหนักหนาสาหัสเกินจะเยียวยาแก้ไขนะคะ คุณแม่ต้องใจเย็นๆ แล้งลองอ่านเรื่องราวต่อไปนี้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ
เด็กพูดช้า
เด็กพูดช้าคืออะไร
เด็กพูดช้า คือเด็กที่มีพัฒนาการด้านภาษาและการพูด ไม่เป็นไปตามอายุ เช่น อายุ 2 ปี ยังพูดเป็นคำเดียว ที่มีความหมายไม่ได้ หรืออายุ 3 ปีแล้วยังพูดเป็นประโยคสั้นๆ ไม่ได้
สาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้า
อาจมีที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งเร้า คือ
- การพูดจาจากคนรอบข้างและการเปิดโอกาส ให้เด็กโต้ตอบ
- ความสามารถของสมองในการแปลงคลื่นเสียงที่ได้ยินเป็นข้อมูล และความสามารถในการเข้าใจข้อมูลพร้อมกับสั่งงาน ให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดทำงาน
- ความสามารถของอวัยวะที่เกี่ยวกับการเปล่งเสียงเป็นคำพูด ที่ทำงานสอดคล้องกัน และสนองคำสั่งจากสมองได้ดี
ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติของขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง หรือหลายขั้นตอนย่อมส่งผลถึงการพูด
สาเหตุของการพูดช้าที่สำคัญคือ
1. ขาดการกระตุ้นทางภาษาที่เหมาะสม
เช่น ผู้เลี้ยงดูเด็กไม่ค่อยพูดกับเด็ก ทำให้เด็กขาดทักษะในการเรียนรู้ เรื่องการพูด หรือไม่เปิดโอกาสให้เด็กพูด เช่น เด็กอยากได้อะไร แค่ชี้พี่เลี้ยงก็หยิบให้ โดยเด็กไม่ต้องพยายามออกเสียง เรียกสิ่งที่ต้องการเป็นต้น
2. หูตึง หูหนวก
ซึ่งอาจเกิดจากภาวะการตั้งครรภ์ผิดปกติส่งผลถึงการได้ยิน เช่น แม่เป็นโรคหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ โรคที่เกิดขึ้นหลังเด็กคลอด เช่น เป็นหูน้ำหนวกบ่อยๆ เป็นโรคสมองอักเสบ เกิดจากการได้รับสารพิษหรือยาบางตัว ซึ่งทำให้ระบบการได้ยินผิดปกติ เช่น ได้รับยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin)
3. สมองพิการ
เช่น ความผิดปกติ ในระบบการสั่งงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการพูด และความผิดปกติในส่วนการรับรู เป็นต้น
4. ภาวะปัญญาอ่อน
ซึ่งเกิดจากโรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) หรือเกิดจากภาวะการคลอด เช่น ขาดเลือดไปเลี้ยงสมองในขณะคลอด หรือเกิดจาก ภาวะโรคติดเชื้อในสมองหรือได้รับสารพิษ เป็นต้น
5. ภาวะโรคจิต โรคประสาท
เช่น เด็กมีความเครียด กังวล ซึ่งอาจเกิดจากสภาพการเลี้ยงดูในครอบครัว ทำให้ขลาดไม่กล้าพูด
6. ภาวะออทิสติก
ซึ่งเด็กจะมีสมาธิสั้น พูดช้าหรือไม่พูด หรือพูดสื่อสารอย่างมีความหมายไม่ได้ ร่วมกับไม่สามารถ สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
7. ความผิดปกติของอวัยวะเกี่ยวกับการออกเสียง
เช่น มีพังผืดยึดติดลิ้น (Tonguetic)
ความสามารถในการพูดที่ช้ากว่าวัยซึ่งถือว่าผิดปกติ จะสังเกตได้ดังนี้
6 เดือน
ไม่หันหาเสียงจากด้านหลังหรือด้านข้าง
10 เดือน
ยังไม่มีการเล่นเสียงโต้ตอบ (Vocal Play) หรือไม่เปล่งเสียงร้องตอบรับ
1 ปี
พูดได้แต่เสียงสระไม่มีเสียงพยัญชนะ
1 ปี 3 เดือน
ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "บ๊าย บาย" , "ไม่", "ขวดนม"
1 ปี 6 เดือน
พูดคำโดดได้น้อยกว่า 10 คำ
1 ปี 9 เดือน
ทำตามคำสั่งที่เกี่ยวกับทิศทางไม่ได้
2 ปี
ยังพูดเป็นประโยคสั้น ๆ ไม่ได้ หรือชี้บอกส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ได้
2 ปี 6 เดือน
ยังไม่สามารถพูดให้คนในครอบครัวฟังเข้าใจได้
3 ปี
ยังพูดไม่เป็นประโยค หรือยังไม่สามารถตั้งคำถามง่ายๆ ได้ หรือยังไม่สามารถพูดให้บุคคลอื่นเข้าใจได้
4 ปี
ยังพูดเล่าเรื่องไม่ได้ ยังใช้คำถาม "ทำไม" ไม่ได้
6 ปี
พูดออกมาแล้ว คนฟังเข้าใจไม่ถึง 80% ของเรื่องพูด
ขั้นตอนในการช่วยเหลือเด็กพูดช้า
เมื่อพบว่าลูกพูดช้า คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของการพูดช้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ในการวางแผนการช่วยเหลือให้เหมาะกับเด็กแต่ละราย
การวินิจฉัยสาเหตุการพูดช้านั้นจะประกอบด้วย
- การซักประวัติและการตรวจร่างกายเด็กอย่างละเอียดจากแพทย์
- การตรวจประเมินพัฒนาการและเชาวน์ปัญญา โดยนักจิตวิทยาคลินิกหรือกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการพัฒนาการ
- การตรวจความสามารถในการได้ยินในกรณีที่สงสัยว่า มีปัญหาหูพิการด้วย
หลังจากได้ข้อสรุปสาเหตุของการพูดช้าแล้ว จะเป็นการรักษาตามสาเหตุพร้อมกับพบผู้เชี่ยวชาญ ที่แพทย์แนะนำ เช่น กรณีที่พบว่าเด็กพูดช้าจากหูพิการ เด็กจะต้องใส่เครื่องช่วยฟัง (Hearing aid) ก่อนแล้วจึงจะฝึกพูด เมื่อมารับการฝึกพูด นักแก้ไขการพูดจะใช้เทคนิคต่างๆ ในการกระตุ้นให้เด็กเปล่งเสียง เลียนแบบเลียงและเชื่อมโยงเสียงให้เป็นคำที่มีความหมาย โดยยึดหลักการเรียนรู้และพัฒนาการทางการพูดของเด็กปกติเป็นแนวทาง
การกระตุ้นด้านการพูดจำเป็นต้องเริ่มโดยเร็วที่สุด หลังจากที่วินิจฉัยได้แล้วว่าเด็กพูดช้าจากสาเหตุใด เพราะยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไรก็จะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือ ด้านภาษาและการพูดของเด็กได้มากเท่านั้น
นอกจากจะสอนให้เด็กเปล่งเสียงต่างๆ แล้ว นักแก้ไขการพูดจะสอนให้เด็กเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ที่ต้องใช้พูด ในชีวิตประจำวัน ให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ตามความเหมาะสม กับระดับอายุของเด็ก
จากนั้นจึงสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะนำคำเหล่านั้น มาสร้างเป็นประโยคที่ถูกต้อง เรียนรู้ที่จะเรียงลำดับประโยคต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้เด็กได้ใช้การพูดของตน ในการสื่อสารกับบุคคลอื่นในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
ถ้าเด็กพูดช้าจากปัญหาการได้ยิน แนวทางปฏิบัติของพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กคือ เวลาพูดกับเด็กควรย่อเข่าหรือนั่งลง ให้เด็กได้สังเกตหน้า และปากของเราเวลาที่พูดคุยกับเขา
หันหน้าเข้าหาเด็ก ให้เด็กมองหน้าเรา และพูดด้วยน้ำเสียงปกติชัดถ้อยชัดคำ ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป และไม่พูดช้าหรือเร็วจนเกินไป
ควรฝึกให้เด็กใส่เครื่องช่วยฟังให้ได้มากที่สุด (อย่างน้อยวันละ 6 ชม.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ควรใส่ และเปิดให้เครื่องช่วยฟังทำงานในเวลาที่เราสอนและพูดคุยกับเขา
กระตุ้นให้เด็กสนใจฟังเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเด็ก เช่น เสียงกริ่งโทรศัพท์ เสียงแตรรถ โดยชี้ชวนบอก และแสดงท่าทางอธิบายให้เด็กเข้าใจด้วยทุกครั้งที่มีเสียงเหล่านี้
ฝึกให้เด็กสนใจฟังเสียงพูดของเรา โดยใช้กิจวัตรประจำวันต่างๆ ในการฝึก เช่น ฝึกให้เด็กยกมือขึ้นทุกครั้งที่เราเรียกชื่อ ฝึกให้เด็กฟังและทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น สวัสดี นั่งลง บ๊ายบาย โดยในระยะแรกต้องเสนอโดยพูดพร้อมกับจับตัวเด็ก ให้ทำตามคำสั่งได้ด้วยตัวเองทุกครั้งที่เราสั่ง
ทุกครั้งที่สอนคำศัพท์ให้กับเด็กจะต้องกระตุ้น ให้เด็กมองปากเราเสมอและต้องอดทนสอนซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง จนเด็กเข้าใจและเรียกได้ด้วยตนเอง
ในการสอนคำศัพท์ต่างๆ สิ่งของจริงจะช่วยในการสอนได้มากที่สุด ถ้าหาของจริงไม่ได้อาจใช้หุ่นจำลองหรือภาพวาดแทน
เด็กที่มีปัญหาการได้ยินจะพูดไม่ชัด ในระยะแรกของการสอนภาษา ผู้สอนต้องอดทน หมั่นสอนซ้ำๆ แต่ต้องไม่เน้นเรื่องพูดไม่ชัด ควรสอนให้เด็กเข้าใจและใช้คำศัพท์ต่างๆ ให้ได้เหมาะสม กับระดับอายุเสียก่อน จึงค่อยแก้ไขเรื่องเสียงที่ไม่ชัดต่อไป
ควรให้กำลังใจเด็กทุกครั้งที่เด็กทำตามที่เราสอนได้อย่างถูกต้อง เช่น ยิ้ม พยักหน้า ชูนิ้วหัวแม่มือ ปรบมือ พูดชมว่าเก่ง ดี หรือให้ขนมเป็นรางวัล
การสอนภาษาและการพูดกับเด็ก ไม่จำเป็นต้องนั่งโต๊ะเรียน และสอนครั้งละนานๆ เพราะเด็กจะเบื่อละยิ่งไม่อยากพูด ควรสอนช่วงสั้นๆ แทรกไปในกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่เด็กทำ แต่สอนให้บ่อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ ยิ่งสอนบ่อยมากเท่าใด โอกาสที่เด็กจะพูดได้เร็ว ก็เกิดขึ้นมากเท่านั้น
การฝึกพูดช้าจากภาวะปัญญาอ่อน
ภาวะนี้มีสติปัญญาช้ากว่าปกติและมักจะมีพัฒนาการด้านอื่นๆ ซึ่งไม่เฉพาะด้านสติปัญญา การพูดช้าเท่านั้นแต่จะมีภาวะด้านร่างกาย การใช้กล้ามเนื้อ ตา มือประสานกันจะช้า รวมถึงการช่วยเหลือตัวเอง ก็จะช้ากว่าปกติ
ถ้าเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือฝึกกันอย่างแท้จริง ภาวะปัญญาอ่อนจะไม่เจริญเท่าที่ควร แย่ลง จนที่สุดก็เป็นภาระ ของคนรอบข้างด้วย เด็กปัญญาอ่อนเราสามารถช่วยได้ แต่ไม่ได้หมายความถึงว่า จะดีปกติเหมือนเด็กทั่วๆ ไป แต่จะดีขึ้นเป็นลำดับ และเด็กสามารถเรียนรู้ได้ ในระดับความสามารถที่เขามีอยู่
การจะรู้ว่าเด็กคนไหนมีภาวะปัญญาอ่อน เราคงต้องรู้ด้วยว่า เด็กปกติเป็นอย่างไร โดยต้องนำมาเปรียบเทียบกัน
เด็กคนหนึ่งๆ จะมีพัฒนาการโดยส่วนรวม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
กล้ามเนื้อ : กล้ามเนื้อใหญ่ การทรงตัว การเคลื่อนไหวร่างกาย
กล้ามเนื้อมัดเล็ก : ซึ่งเป็นการใช้มือใช้ตาประสานงานกัน เช่น การหยิบจับของ การเขียนหนังสือ การจับช้อน วาดรูป
พัฒนาการด้านการเรียนรู้ : เด็กมีความสามารถในการรับรู้ และผลของการรับรู้นั้นเข้าใจและปฏิบัติหรือเปล่า อันนี้เป็นพัฒนาการการเรียนรู้ด้านสติปัญญา เพื่อปรับตัวเข้ากับสิ่งเร้าต่างๆ
ความเข้าใจภาษาและสื่อภาษา : ด้านนี้จะมาก่อน เมื่อเด็กๆ เข้าใจภาษาแล้ว เด็กก็จะสื่อภาษาตามมา ในขณะเดียวกันมีเด็กหลายคนที่เข้าใจหมด แต่ไม่พูด เพราะอะไร จุดนี้น่าสนใจ บางทีเพราะคุณแม่หรือครูใจร้อน ไม่ได้ปล่อยโอกาสหรือเวลาเพื่อให้เด็กมีโอกาสตอบสนองออกมา
จริงๆ แล้วเด็กอาจพูดได้แต่ชี้ปุ๊บได้ปั๊บก็สบายไม่ต้องพูดเสียเลย แต่ถ้าชี้ปุ๊บเราถามอะไรลูก เขาชี้น้ำเราก็พาเขาไปที่ๆ เขาชี้ กินน้ำหรือพูดกับลูกว่า...เอ้านี่ น้ำลูกน้ำ อย่างนี้จะทำให้เขารับรู้แล้วว่า นี่คือน้ำ ต่อไปถ้าเด็กจะกินน้ำเขาอาจออกเสียงน้ำไม่ชัด ไม่เป็นไร แต่นี่คือการรอการเปิดโอกาสให้เด็กพูดออกมาบ้าง
พัฒนาการด้านสุดท้ายคือ ด้านอารมณ์ สังคม และการช่วยเหลือตัวเอง พัฒนาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นผู้เปิดโอกาสให้เด็ก เช่น รู้จักใส่หรือถอดเสื้อผ้าเอง ช่วยคุณแม่บ้าง ตักข้าวทานเอง ทานน้ำจากแก้วเองไม่ต้องทานจากขวดแล้ว ขวบครึ่งควรจะฝึก ให้ดื่มน้ำจากแก้วได้แล้ว พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองนี้สำคัญมาก หากคุณพ่อคุณแม่ฝึกให้เด็กหัดช่วยตัวเองมาแต่ต้น เขาจะมีความภาคภูมิใจในตัวเองและอยากทำต่ออีก
เด็กมีภาวะปัญญาอ่อนหรือเด็กพูดช้าด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม โดยมากมักมีปัญหาด้านการเรียนด้วย ปกติเด็กจะมีทักษะพื้นฐาน ของการเรียนรู้อยู่ เช่น เรียนได้ไหม เป็นคนช่างสังเกตหรือเปล่า จดจำได้ไหม แต่เด็กที่ช้าจะมีปัญหาตรง 3 จุดคือ
จับจุดไม่เป็น ไม่รู้ครูพูดเรื่องอะไร ไม่ค่อยเข้าใจ ตอบไม่ได้ก็ไม่ตอบ การเรียนรู้ก็ช้าตามไปด้วย
ได้หน้าลืมหลัง เห็นชัดเลยว่าสอนไปแล้วกลับบ้านถามตอบไม่ได้ ไม่รู้หรือเรียนเรื่องนี้พิสูจน์ว่าได้แล้ว พอเราเริ่มสอนสิ่งใหม่อันเก่าลืมแล้ว เราต้องกลับมาเน้นย้ำที่เรียนไปด้วย เพื่อให้เกิดการเรียนรูที่ถาวร และคงที่หากเราไม่ได้เน้นในแง่การเรียนรู้อันเดิมเด็กก็จะลืม
เด็กช้าจะรู้สึกล้มเหลวง่าย ทำไม่ได้แล้วก็มักจะถูกดุถูกว่า เด็กพวกนี้มักจะรู้สึกล้มเหลวง่าย ไม่ค่อยเก่งอยู่แล้ว หันไปรอบข้างน้องพี่เก่งกว่า พ่อแม่ก็มักจะชมแต่น้องหรือพี่ ตัวเองทีไรไม่ได้รับการชมเชยเลย ก็ยิ่งช้าไปใหญ่
ทั้ง 3 จุดนี้พ่อแม่จะต้องมีเทคนิคในการสอนให้ดีพอ และสามารถพัฒนาเด็กปัญญาอ่อนให้มีภาวะที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จนบางครั้งถ้ามีภาวะการเรียนรู้ที่ช้าแต่ไม่ถึงปัญญาอ่อน ก็สามารถมีระดับสติปัญญาใกล้เคียงภาวะปกติหรือเด็กในวัยเดียวกันได้
สอนเด็กพูดช้าทำอย่างไร
สอนเด็กเหมือนเด็กปกติเพียงแต่สอนให้ช้าลง ก่อนที่เราจะสอน เราก็ต้องรู้ก่อนว่า เด็กคนนั้นเขารู้อะไรบ้างแล้ว ถ้าเด็ก 3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ประเมินได้จากการเล่นกับเพื่อน หรือถามพี่เลี้ยงว่า เด็กทำอะไรได้บ้างหรือไม่ เพื่อการยืนยันว่าเด็กช้าหรือไม่ เท่ากับเด็กอายุเท่าไร ความสามารถของเด็กมีเท่าไหร่ จะมีแบบประเมินพัฒนาการโดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษามาโดยเฉพาะ เวลาเราสอนการพูดเราก็สอนเรื่องอื่นด้วย และในขณะที่สอนเรื่องอื่น เราก็สอนการพูดด้วย
แนวทางการฝึกพูดสำหรับเด็กปัญญาอ่อน
การสอนพูดควรจะเริ่มให้เร็วที่สุด
ถ้าเด็กมีความล่าช้าทางด้านภาษาและการพูด ควรเริ่มสอนให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาก่อน จึงจะแก้ไขเสียงที่พูดไม่ชัดภายหลัง
สอนให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนในการรับรู้ภาษา
เวลาสอนควรใช้ภาษาเดียวกับเด็ก อย่าพูดหลายภาษา
ควรเลือกสอนคำที่เด็กใช้ในชีวิตประจำวันก่อน เช่น คำนาม ชื่อสัตว์ ชื่อคน สิ่งของ
ในระยะแรก ควรเริ่มสอนจากคำพยางค์เดียวก่อน
เมื่อพูดกับเด็ก ควรให้เด็กได้มีโอกาสพูดโต้ตอบบ้าง เพื่อให้เด็กเห็นถึงความสำคัญของการพูดในชีวิตประจำวัน
ในระยะแรก ถ้าเด็กพูดไม่ชัดอย่าเพิ่งเคี่ยวเข็ญให้เด็กพูดชัด เพราะจะทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากพูด
จัดสถานการณ์ต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้เด็กอยากพูดโต้ตอบด้วย ไม่บังคับให้เด็กออกเสียงหรือพูดตามใจผู้ใหญ่
ควรสอนช้าๆ สอนซ้ำๆ โดยอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเพื่อทำความรู้จัก และวิธีการแก้ไขเด็กพูดช้า สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่กำลังวิตกกังวลว่าลูกน้อย จะมีพัฒนาการ ด้านการพูดช้าหรือไม่ อย่างไรก็ตามขอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตติดตามพฤติกรรมพัฒนาการของลูกตลอดเวลา เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมาจะได้รีบเร่ง แก้ไขกันเสียแต่เนิ่นๆ และที่สำคัญควรพาลูกไปพบหมอหรือนักพัฒนาการเด็ก เพื่อการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป
รักคน (อุตส่าห์) อ่าน^_^
แม่ปุ่ม กะน้องปัญปัน
Tags:
© 2025 Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก. Powered by