เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5119

Reply to This

Replies to This Discussion

ตนเองก็สนใจเรื่อง Homeschool ตั้งแต่ก่อนมีลูกค่ะ พยายามค้นหาข้อมูลต่างๆ คิดว่าเป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับครอบครัวที่ต้องการดูแลลูกเต็มที่ แต่บางครอบครัวก็อาจจะติดเรื่องการทำงานนอกบ้านด้วย แหล่งข้อมูลเบื้องต้นที่แนะนำ http://www.thaihomeschool.org มีกลุ่มครอบครัวที่ทำโฮมสคูลแล้วเยอะแยะ เป็นเพื่อนและที่ปรึกษาได้ค่ะ
ผมคนหนึ่งครับที่คิดว่าระบบการศึกษาของเราไม่ดี แถมค่าใช้จ่ายก็โหดสุด แต่เราก็ยังไม่ดีทางเลือที่ดีพอ ที่สำคัญเขาจะเทียบวุฒิการศึกษากันอย่างไร ครอบครัวที่มีกิจการเป็นของตนเองรออยู่แล้วคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าต้องไปเข้าทำงานเป็นลูกจ้างเขานี้ละ
มีความคิดนี้กับสามีตั้งแต่รู้ว่ามีลูก แต่ขาดข้อมูลและแนวร่วมค่ะ อีกทั้งผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็นด้วย
ถ้าจะมีจริง สนับสนุนอย่างยิ่งและขอเข้าร่วมกลุ่มด้วยเลยค่ะ
ที่วางแผนไว้กว้างคือ ให้ลูกเข้ารร.ปกติใกล้บ้าน แต่เราจะมีช่วงเวลาสำหรับสอนวิชาการและสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันให้ลูกนะค่ะ
เท่าที่ทราบ เราสามารถไปขอหลักสูตรหรือเขียนหลักสูตรให้สอดคล้องกับของกระทรวงศึกษาที่ศึกษาจังหวัด
และต้องมีการประเมินผลจากกระทรวงค่ะ
เห็นด้วยคะกับแนวคิดนี้ แต่ก็ยากให้ทำไปพร้อมๆกับการไปโรงเรียน ดิฉันมีลูก 2 คน คนโต7 ขวบ คนเล็ก 2 ขวบ
เมื่อ 5 ปีผ่านมา ดิฉันทำ HS ที่บ้าน สำหรับลูกคนโต พอถึงวัยที่ลูกต้องเข้า โรงเรียนก็ให้ไป ลูกมีความพร้อมอย่างมาก แต่เหตุผลที่ให้ไปคือ กลัวว่าลูกจะเสียโอกาสบางอย่าง เช่น การเข้าสังคมในวัยเด็ก การทำใจ การเล่นแบบเด็กๆ การลื่อสารแบบเด็ก การทะเลาะกันแย่งของเล่นกัน และการให้อภัยกัน และอีกหลายๆอย่างที่ไม่มีที่บ้าน พอลูกมีปัญหาที่โรงเรียนก็จะสอนเพิ่มเติม ในเรื่องการแก้ปัญหา จะคล้ายๆกับว่าเราเอาโรงเรียนมาเป็นตุ๊กตาทอลองให้กับลูกแล้วก็สอนเค้าไปพร้อมๆกัน เพราะในโลกแห่งความจริงลูกไม่ได้อยู่กับเราตลอดเค้าต้องมีเพื่อน ทั้งรักและเกลียด และเฉยๆ โดนชกมาบ้าง โอเคเลย ถ้าให้เค้าอยู่บ่านก็จะไม่เจอแบบนี้ในเรื่องของการเอาตัวรอด
สำหรับลูกคนเล็กก็กำลังทำอยู่ แต่คนนี้เกเรน่าดู คงต้องระวังไม่ไห้ไปแกล้งเด็กคนอื่น ก็กำลังจัดการเข้าขบวนการอยู่คะ
เห็นด้วยอย่างมากค่ะ เรื่องความรู้และการเรียนรู้พ่อแม่จะสอนได้ดีกว่าคุณครูที่โรงเรียน เพราะว่าพ่อแม่ไม่ต้องทำแต่มีปัญหาตรงที่ว่าต้องทำงานทั้งพ่อและแม่ด้วยซิคะ เลยทำให้ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน
ความเห็นผมคิดว่า ผมไม่เห็นด้วยเพราะว่า เด็กๆก็ต้องการที่จะมีสังคม มีเพื่อน ของเขา ซึ่งอาจต้องใช้ชีวิตอยู่เป็นเพื่อนกันตลอดไป เหมือนเช่นที่พวกเราเป็น หากเรามาทำ home school เสียแล้วก็อาจเป็นไปได้ว่า เด็กมีเพื่อนน้อย มีสังคมของเขาน้อย หรือไม่มีเลย เพราะอยู่กับพ่อและแม่ตลอดเวลา คอยที่จะปกป้อง คุ้มครองให้ เหมือนหนึ่งว่า โตไม่เป็น เพราะโดยธรรมชาติของพ่อแม่ก็ต้อง คอยดูแล ให้ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเขาโตขึ้นมา น่าจะยากลำบากในการใช้ชีวิต ในสังคมร่วมกับคนอื่นๆหรือไม่ ต้องไม่ลืมนะครับว่า เราไม่ได้อยู่ดูแลเขา ตลอดไป ไม่สามารถบอกได้ว่า จะได้อยู่ดูแลเขาขนาดไหน นานเท่าไร หากเขาไม่แข็งแกร่งพอ เขาจะอยู่ต่อสู้กับโลกที่มีการแข่งขัน ตลอดเวลาได้หรือไม่ เมื่อมองย้อนกลับไป เวลาเราไปงานรุ่น เรายังรู้สึกสนุกสนาน และชอบ หากมีระบบนี้จะทำให้ลูกไม่มีรุ่นเลยนะครับ สำหรับการติดยาหรืออื่นๆ ผมก็มีความเป็นห่วงเหมือนกัน แต่ยังมีความเขื่อมั่นว่า ด้วยความรักที่เรามีให้เขา น่าจะช่วยให้ฝ่าฟันไปได้ครับ
Home School คือการเรียนอยู่กับบ้าน???


จริงๆ แล้ว Home School คือเรียนได้ในทุกๆ ที่ ทั่วโลกเลย ไม่จำกัดเฉพาะที่บ้าน หรือเรียนคนเดียว หากมีเงินและมีโอกาส พาลูกไปตะลอนนอกบ้าน ทุกๆ ที่ในโลกนี้ มีแหล่งความรู้มากมาย เพื่อนๆ สังเกตมั้ย ว่าคนที่เดินทางมารอบโลกแล้ว ได้พบได้เจออะไรมากมาย มีความคิดที่สร้างสรรค์ หลักแหลม มีอะไรใหม่ๆ ในความคิดอยู่เสมอ

อยากให้เปรียเทียบ กบในกะลา กับ กบนอกกะลา

มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ
คำตอบโดนใจเห็นด้วยเป็นอย่างมากค่ะ พี่หน่อย
โดนนนน จึ๊กเลย
เ ห็นด้วยกับการทำโฮมสคูล แต่สำหรับตัวเองแล้วตอนนี้ต้องทำงาน 5 วัน เสาร์ อาทิตย์ ก็เรียนอีก เลยไม่มีเวลาสำหรับลูก ถ้าทำแบบครึ่งๆ กลาง ๆ ก็ไม่ดี คิดจะทำตั้งแต่ลูกอายุน้อย ๆ ตอนนี้อายุ 6 ขวบ แล้ว ก็ยังคิดอยู่
ดีไร้ที่ติเลยครับ แต่ติดที่เศษฐกิจที่บ้านไม่เอื้อ
ชอบแนวความคิดนี้ แต่ก็ชอบให้ลูกมีสังคม มีเพื่อน รู้จักการแบ่งปัน การใช้ชีวิตร่วมกัน เลยไม่ค่อยแน่ใจว่าจะดีรึเปล่า

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2025   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service