ชีวิตของวัยคิดส์ ถ้าจะให้สนุก มีความสุขกับการเรียนรู้ในรั้วโรงเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักตอบคำถามต่อไปนี้ด้วยค่ะ ซึ่งไม่ธรรมดานะคะ เพราะสามารถส่งผลให้การเรียนรู้ของวัยเยาว์นี้เปี่ยมสุขหรือทุกข์ได้ทีเดียว
5 คำถาม...ต้องห้าม!
5 คำถามต่อไปนี้ จริงๆ แล้วไม่ควรถามลูกเลยค่ะ เพราะส่งผลต่อจิตใจลูกสุดๆ แต่กระก็พบว่าเจ้าหนูวัยเริ่มต้นเรียนกลับถูกถามบ่อย
1. ทำไมลูกไม่ได้ดาวเหมือนเพื่อน
เป็นคำถามเปรียบเทียบที่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ เพราะทำร้ายจิตใจลูกสุดๆ เลยค่ะ
สิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้ คือพัฒนาการของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน และไม่มีเด็กคนไหนอยากทำได้ไม่ดีหรอก ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องคิดถึงจิตใจลูกเป็นสำคัญ
และควรสอนลูกให้รู้ว่าการทำดีก็เพราะนั่นคือสิ่งดี ไม่ใช่ทำเพื่อต้องการคำชื่นชม หรือได้รางวัล หรือสอนให้ลูกตั้งใจเรียนเพื่อจะมีความรู้ ไม่ใช่ตั้งใจเรียนเพื่อได้คะแนนดีๆ หรือดาวหลายๆ ดวง หรือถ้าจะเปรียบเทียบก็ต้องเปรียบเทียบกับตัวเอง ว่าทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า ไม่ใช่ทำเพื่อแข่งขันกับคนอื่นอยู่เสมอ
2. ทำไมลูกไม่ทำการบ้านให้เสร็จก่อนแล้วค่อยดูทีวี
คำถามแบบนี้เสมือนว่าพ่อแม่ให้ลูกมีสิทธิ์ในการเลือก ว่าจะดูทีวีก่อนหรือทำการบ้านก่อน ซึ่งจริงๆ พ่อแม่ต้องการให้ลูกทำบ้าน ฉะนั้น ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่ลูกต้องทำก็ไม่ต้องถาม แต่ควรปิดทีวี แล้วบอกลูกว่า "ได้เวลาทำการบ้านแล้วจ้ะ" ด้วยคำพูดที่ไม่ดุว่าลูก
และเพื่อให้ได้ผลระยะยาว พ่อแม่ต้องสร้างกรอบให้ลูกรู้ว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ และบอกลูกให้ชัดเจน เช่น "อันนี้เป็นกฎของบ้าน เมื่อลูกกลับมาถึงบ้านก็ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนทำอย่างอื่น" การให้ลูกปฏิบัติเช่นนี้สม่ำเสมอ ไม่นานลูกก็จะรู้หน้าที่ของเขาค่ะ
3. ทำไมลูกทำอะไรช้าจังเลย หรือทำไมลูกทำเสื้อสกปรกอย่างนี้
การที่พ่อแม่บอกลูกบ่อยๆ ว่าเขาเป็นยังไง เขาก็จะเป็นอย่างนั้นค่ะ ซึ่งเป็นการตีตราลูกไปโดยปริยาย เช่น เราพูดกับลูกว่า "ทำไมหนูโง่อย่างนี้ ทำไมหนูดื้ออย่างนี้" มันเป็นการบอกลูกกลายๆ ว่าเขาเป็นยังไง และถ้าลูกได้ยินคำเหล่านี้บ่อยๆ ลูกก็จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ
พ่อแม่อยากให้ลูกทำอะไรเร็วก็ต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจน เช่น "วันนี้เราไม่มีเวลามากนะลูก หนูมีเวลากินข้าว 20 นาที" ตั้งนาฬิกาให้ลูกดูว่าถึงตรงนี้เราต้องไปกัน ลูกจะอิ่มหรือไม่อิ่มเราก็ต้องหยุดกิน เพื่อลูกจะได้รู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร รู้จัดจัดการกับตัวเองได้
4. ทำไมลูกไม่แบ่งขนม-ของเล่นให้เพื่อน
หวงขนมหรือของเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กค่ะ ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกรู้จักแบ่งปัน ก็ต้องสอนลูก เพราะเด็กทุกคนควรมีสิทธิ์ในของๆ เขา เหมือนผู้ใหญ่ที่ไม่ได้แบ่งของทุกอย่างให้คนอื่น แต่เรากลับไปบังคับให้เด็กแบ่ง เขาก็ยิ่งไม่อยากแบ่งและหวงมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าถูกแย่งของไปจากมือ ก็จะสร้างความไม่พอใจให้ลูกได้ค่ะ
ถ้าพ่อแม่อยากให้รู้จักแบ่งปันก็ต้องเตรียมของเหล่านั้นเผื่อไว้ แล้วบอกลูกว่า "ชิ้นนี้ของหนู ส่วนชิ้นนี้สำหรับแบ่งให้เพื่อน" แต่ไม่ใช่ทำให้เด็กรู้สึกว่า หนูกินยังไม่พอเลยจะแบ่งให้คนอื่นได้ยังไง
5. ทำไมลูกพูดไม่เพราะเลย
เด็กจะไม่รู้ว่าคำพูดไหนเพราะหรือไม่เพราะ เช่น คำว่า"เยี่ยว" หรือเวลาพูดไม่มีคะ-ครับ ซึ่งบางครั้งเด็กก็ลืม ไม่รู้ว่าคำไหนที่ควรพูด ไม่ควรพูด
ดังนั้น ถ้าได้ยินลูกพูดไม่เพราะ พ่อแม่ควรบอกลูกทันทีว่าคำนี้ไม่เพราะ ไม่ควรพูด แต่ควรพูดคำนี้ เช่น "คำว่าเยี่ยวเราจะไม่พูดนะลูก แต่เราจะพูดคำว่าปัสสาวะ หรือว่าฉี่" หรือ "อย่าลืมค่ะ-ครับ" ควรพูดกับลูกให้ชัดเจน พูดบ่อยๆ เพื่อให้ลูกเข้าใจคำที่ถูกต้องค่ะ
.....................................
5 คำตอบ...ต้องพูด !
นี่คือคำถามที่ลูกมักถามบ่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค้างคาใจลูกมาจากโรงเรียน และต้องการคำตอบจากพ่อแม่เพื่อความกระจ่างค่ะ
1. ทำไมหนูถูกคุณครูดุ
คำตอบที่ดีที่สุด ต้องไม่โกหกลูกค่ะ พ่อแม่ต้องมีสติและไม่ตอบคำถามด้วยอารมณ์ เพราะการที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับลูกที่โรงเรียนก็จะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกบ้าง
ดังนั้นควรพูดคุยกับลูก เช่น "เล่าให้แม่ฟังซิ ครูพูดว่าอะไร" เพื่อให้ลูกค่อยๆ ขยายความว่าเพราะอะไร แต่ไม่ใช่ตั้งคำถามเชิงว่าลูกไปทำผิดมา หรือไม่สนใจหาเหตุผล มุ่งมองว่าเป็นความผิดของครูอย่างเดียว เช่น "แล้วหนูไปทำอะไรผิดมาล่ะ" หรือ "ไหนครูว่าอะไรบอกแม่มาซิ แม่จะไปจัดการให้"
ถ้าคิดว่าครูพูดแรงไปก็ควรคุยกันอย่างสงบและมีสติ กับคุณครูด้วยว่าลูกรู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่ครูพูด ไม่ควรต่อว่าครูต่อหน้าลูก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับคุณครู
2. ทำไมรองเท้าหนูไม่สวยเหมือนเพื่อน-ทำไมเพื่อนมีของเล่นเยอะกว่า
คำถามแบบนี้เป็นการเปรียบเทียบของเด็กค่ะ คุณแม่อาจบอกลูกว่า " เรามาช่วยกันแต่งรองเท้าหนูให้สวยขึ้นด้วยกันไหมคะ" หรือ "หนูจำได้มั้ย ว่าเราต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่า รองเท้าคู่นี้ใช้ได้อยู่ ถ้าคู่นี้พังแล้วค่อยซื้อคู่ที่หนูอยากได้ แต่หนูต้องช่วยแม่เก็บเงินด้วยนะ" หรือ "แต่ละครอบครัวมีเงินไม่เท่ากันแล้วก็ใช้เงินไม่เหมือนกัน แม่ต้องเก็บเงินเอาไว้ให้หนูเรียนหนังสือ" ซึ่งพ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกรู้สถานะการเงินของครอบครัวอย่างมีเหตุผล แต่ไม่ควรใช้คำพูดประเภท "ซื้อของเยอะแยะทำไม บ้านเราไม่มีเงินนะ"
ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องทำให้ลูกรู้ว่าเราต้องไม่เอาตัวเองเปรียบเทียบกันคนอื่น และพ่อแม่ก็ต้องไม่เอาลูกไปเทียบกันคนอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องเป็นตัวอย่าง ทำให้ลูกพอใจในสิ่งที่มีอยู่ และไม่ปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ ให้กับลูกด้วยค่ะ
3. ทำไมหนูไม่ได้รางวัลเหมือนเพื่อน
เด็กๆ ส่วนใหญ่มักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าสิ่งสำคัญในการเรียนหนังสือไม่ใช่ของรางวัลที่ลูกได้รับ แต่อยู่ที่ความภูมิใจของพ่อแม่ เช่น "คนอื่นว่ารูปหนูไม่สวยไม่เป็นไร แต่แม่ว่ารูปนี้สวยมาก เรามาช่วยกันทำกรอบนะ"
แม้ว่าบางครั้งรางวัลจะทำให้เด็กตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่ผลร้ายที่ตามมาอาจทำให้ลูกยึดติดกับวัตถุ จนไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าแท้จริงที่เขาได้รับค่ะ
4. ทำไมหนูถูกเพื่อรังแก-เพื่อนแย่งของเล่น
เมื่อเจอคำถามแบบนี้ พ่อแม่ต้องใจเย็นและสงบสติอารมณ์ตัวเองแล้วค่อยถามลูก "เกิดอะไรขึ้น เล่าให้แม่ฟังซิ...แล้วหนูรู้สึกอย่างไร...มาช่วยกันคิดสิว่าจะทำยังไงไม่ให้เพื่อนแย่งของเล่น หรือรังแกเราอีก"
ซึ่งคุณอาจบอกลูกว่า "ถ้าเป็นของเล่นที่โรงเรียนหนูก็ต้องแบ่งให้เพื่อนเล่นด้วย เพราะทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน" หรือเราจะมีวิธีการบอกเพื่อนอย่างไร เช่น "คอยแป๊บนึงนะ เดี๋ยวเล่นเสร็จแล้วจะให้" หรือบอกเพื่อนให้เอาของเล่นชิ้นอื่นมาแลกก็ได้
แต่ไม่ใช่พูดกับลูกโดยไม่ทันคิด เช่น "เพื่อนชกเรามาเราก็ต้องชกเพื่อนไปเลย ใครแย่งของเล่นหนูๆ ก็ไปแย่งคืน" คำตอบโดยไม่ได้กลั่นกรองแบบนี้อาจทำให้ลูกไม่มีเพื่อน และไม่รู้จักการเข้าสังคมได้ค่ะ
5. ทำไมหนูทำไม่ได้เหมือนเพื่อน
ถ้าลูกตั้งคำถามนี้ พ่อแม่ต้องดูว่าลูกทำอะไรไม่ได้ และให้กำลังใจลูกพร้อมช่วยหาทางออก เช่น "คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำอะไรได้ไม่พร้อมกัน ถ้าหนูอยากทำ....เป็นเรามาฝึกด้วยกันดีไหมจ๊ะ" สิ่งสำคัญคือไม่นำลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ลูกก็จะเปรียบเทียบกับคนอื่นน้อยลงค่ะ
ที่สำคัญ เมื่อลูกทำอะไรได้ไม่ควรชมมากเกินไป เช่น "โอ้โห...ลูกแม่เก่งที่สุด เก่งกว่าใครๆ เลย" แต่ควรชมให้เฉพาะเจาะจงในสิ่งที่เป็นจริง เน้นที่ความพยายาม ความตั้งใจ ความอดทน เช่น "ภาพของลูกมีรายละเอียดเยอะมาก ลูกตั้งใจวาดมากเลยนะจ๊ะ"
พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นผู้รู้ในทุกเรื่อง...ถามลูกบ้าง ตอบลูกบ้าง หรือบางเรื่องก็ช่วยกันคิด ค้นหาคำตอบร่วมกัน อย่าใจร้อน ก็สามารถช่วยให้ลูกแฮปปี้ที่โรงเรียนได้ค่ะ
-------------------------------------------------
ก่อนพูด ต้องพิจารณา...
1. ถ้าเป็นคำถามที่รู้ว่าลูกจะโกหก ห้ามถามเด็ดขาดนะคะ เพราะมันเป็นการสร้างโอกาสให้ลูกโกหก และเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับลูก
2. พ่อแม่ไม่ควรถามลูกทุกเรื่อง ถ้าไม่ต้องการคำตอบอย่างจริงจัง เรารู้คำตอบอยู่แล้วหรือเป็นคำถามที่ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ควรถาม แต่ควรใช้วิธีการอื่นบอกลูกจะดีกว่า
3. ถ้าเป็นคำถามที่จะทำให้ลูกรู้สึกแย่ รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า หมดความเชื่อมั่นในตัวเอง หมดความภาคภูมิใจในตัวเอง ก็ไม่ควรถามเช่นกันค่ะ
**ขอบคุณผปค.ท่านนึงที่นำมาโพสต์ให้อ่านกันในเวปร.ร. เลยลอกมาแชร์เพื่อนในนี้ด้วยค่ะ**