โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 มิถุนายน 2552 10:06 น.
อาจกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากภาษาไทยแล้ว ภาษาที่สองและภาษาที่สาม สี่ ห้า ฯลฯ กำลังเป็นภาษาที่หลายๆคนมักให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น หรืภาษาเกาหลีก็ตาม ซึ่งพ่อแม่หลายท่านอาจวางแผนระยะยาวในเรื่องนี้สำหรับลูกๆไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อที่ว่าภาษาของลูกจะได้ไม่เป็นสองรองใคร
โดยวิธีการที่พ่อแม่ส่วนใหญ่นิยมทำกันนั้นอาจเริ่มต้นตั้งแต่ลูกอยู่ ในครรภ์เลยก็ว่าได้เช่น การให้ลูกฟังเพลงสากลตั้งแต่เขายังไม่ลืมตาดูโลก การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ดูหนัง ฟังเพลง และอีกสารพัดวิธีที่พ่อและแม่สามารถให้ลูกได้
และเมื่อเขาโตพอที่จะเรียนรู้ บางครอบครัวที่ไม่ติดขัดเรื่องการงานก็อาจส่งลูกไปเรียนต่างแดนเพื่อภาษาที่ แข็งแรงมากขึ้น ในขณะที่ครอบครัวอื่นๆก็เลือกโรงเรียนสองภาษา โรงเรียนนานาชาติ ในบ้านเราเพื่อลดต้นทุนและความปลอดภัยของลูกที่พ่อแม่สามารถดูแลได้ไม่ห่าง
นีน่า-กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์
ทั้งนี้ ทุกวิถีทางที่พ่อแม่หลายคนพยายามขวนขวายเพื่อให้ลูกมีดีในเรื่องของภาษานั้น ในความเป็นจริงแล้วเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเสียเงินก้อนโตในการเรียนของลูก เสมอไป เมื่อคุณนีน่า-กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการ English on tour และพิธีกรชื่อดังและคุณเต้-สุผจญ กลิ่นสุวรรณ ผู้ประกาศข่าว พิธีกรและผู้ดำเนินรายการ English breakfast สองกูรูด้านภาษาอังกฤษขวัญใจวัยเด็ก ได้แนะเคล็ดลับดีๆที่คนในครอบครัวก็ทำได้มาฝากกันค่ะ
คุณนีน่า-กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้ที่มักบอกใครๆว่าเธอไม่ใช่กูรูด้านภาษาอังกฤษ เพียงแต่เป็นผู้ที่ชื่นชอบในภาษาแนะว่า พ่อแม่ควรปลูกฝังลูกตั้งแต่เล็กๆ แต่ไม่ควรยัดเยียด ไม่ควรบังคับเขา เพราะการที่เด็กถูกบังคับจะทำให้เขาไม่รักที่จะเรียนและไม่เปิดใจที่จะทำ ความรู้จักกับภาษานั้นๆ
“พ่อ แม่ควรจะทำให้เรื่องการเรียนภาษาของลูกเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะอย่าลืมว่า เด็กกับวิชาการไม่ใช่ของที่เข้ากันอย่างสนิทชิดเชื้อในทันที หากวิชาการที่เขาเรียน ขาดสีสันและแรงจูงใจ มันก็คงยากพอสมควรที่จะให้เขาเรียนอย่างมีความสุข ดังนั้นพ่อแม่ควรจำทำให้ลูกสนุกกับภาษา สนุกกับการเรียน”
ทั้งนี้วิธีการเรียนที่จะทำให้มีความสุขและสนุกในแบบของนีน่านั้น เธอเผยว่า พ่อแม่อาจจะหาหนังสือนิทานภาษาอังกฤษมาให้ลูก โดยที่เราอาจจะอ่านให้เขาฟังก่อนในช่วงแรกๆ โดยหนังสือนิทานนั้นควรจะมีสีสันสวยงาม ภาพเยอะๆ ตัวหนังสือน้อยๆ เพื่อที่จะทำให้เขารักการอ่านเป็นอันดับแรก หรืออาจจะซื้อการ์ตูน ภาพยนตร์ต่างๆมาให้ลูกดูก็ได้
“มี คนเคยถามว่า ถ้าดูหนังฝรั่ง แล้วจำเป็นต้องอ่านบทบรรยายภาษาอังกฤษมั้ย ก็อยากบอกว่าอันนี้แล้วแต่คนชอบ บางคนอยากอ่าน บางคนไม่อยากอ่านก็ไม่ว่ากัน เพราะอย่างน้อยที่สุดการที่เราได้ดูหนังภาคภาษาอังกฤษ นั่นหมายถึงว่าเราได้ซึมซับสำเนียงจากเจ้าของภาษาแล้ว แต่ในความเป็นจริงหากฟังมาก อ่านมาก ก็ย่อมได้มากเป็นธรรมดาค่ะ”
อย่างไรก็ดี เธอได้ฝากถึงสิ่งสำคัญในเรื่องของภาษากับเด็กๆที่มีพ่อแม่เป็นผู้สนับสนุน ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องไม่บังคับลูกให้ทรมานใจกับการเรียนเด็ดขาด อีกทั้งยังควรพูดภาษาอังกฤษกับลูกด้วยเพื่อสร้างความเคยชิน
“เรื่อง ของสำเนียง เป็นเรื่องที่หลายคนกังวล ซึ่งจริงๆแล้วคนไทยพูดอังกฤษสำเนียงไทยมันก็ไม่ได้ผิดอะไร แค่ฟังรู้เรื่อง สื่อสารได้ก็ถือว่าเก่งแล้ว”
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ดำเนินรายการภาษาอังกฤษคนนี้ยังได้แนะทิ้งท้ายไว้อีกว่า โดยส่วนตัวแล้ว ชอบฟังเพลงสากล แล้วแกะเนื้อเพลงตามเพลงนั้นๆ ค่อยๆแกะไปเรื่อยๆ มันก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ฝึกทักษะได้ดีทีเดียว ซึ่งการที่เราฟังเยอะ เขียนเยอะ เราก็จะร้องเพลงนั้นได้ด้วยค่ะ
“ส่วน เด็กๆที่อยากจะเก่งภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอะไรก็ตาม ควรคำนึงอยู่เสมอว่า ถ้าอยากอ่านเก่ง ต้องอ่านเยอะๆ ถ้าอยากเขียนเก่ง ต้องอ่านและเขียนเยอะๆ และอยากพูดเก่งต้องอ่านและฟังเยอะๆ...เราได้ยินเจ้าของภาษาพูดมายังไง ให้เราเลียนแบบสำเนียงอย่างนั้นค่ะ”
เต้-สุผจญ กลิ่นสุวรรณ
ขณะที่คุณเต้-สุผจญ กลิ่นสุวรรณ อีกหนึ่งกูรูได้ให้แนวคิดกับพ่อแม่ทุกคนว่า แม้ว่า ‘ภาษา’ จะเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่ง หลายๆครอบครัวมักนิยมส่งลูกไปเรียนเมืองนอก โกอินเตอร์กันนับไม่ถ้วน แต่อยากให้ทุกคนคำนึงถึงวัตถุประสงค์และกำลังของครอบครัวด้วยว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องส่งลูกไปเรียนเมืองนอกหรือไม่
“พ่อแม่ต้องตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่า อยากให้ลูกโตเป็นอะไร เรามีกิจการที่ต้องการให้เขามารับช่วงต่อมั้ย เช่นมีกิจการร้านทอง แม้ว่าจะมีกำลังส่งเสียลูกไปต่างประเทศ แต่เขาจำเป็นที่จะต้องห่างจากครอบครัวเพื่อไปเรียนภาษาหรือไม่ โอกาสที่เขาจะได้ใช้ในชีวิตประจำวันมีมากน้อยแค่ไหน ลูกเราจำเป็นต้องเป็นเหมือนเจ้าของภาษาหรือไม่”
“ดังนั้นในบางครั้ง การเรียนภาษาให้แตกฉานบางทีก็ไม่จำเป็น แค่สื่อสารรู้เรื่องก็น่าจะพอแล้ว เว้นเสียว่าธุรกิจทางบ้านต้องติดต่อกับต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง อันนั้นก็อีกเรื่องนึงนะครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมอยากให้มองเรื่องความอบอุ่นในครอบครัวที่มันจะหายไปช่วงเวลาหนึ่ง หากลูกต้องไปอยู่ต่างถิ่นด้วย”
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่คุณแม่มักจะพกดิกชันนารีไว้ข้างกายเสมอ เพื่อตอบคำถามและคอยให้คำปรึกษามาตั้งแต่เด็กๆแล้ว เต้ยังมีเคล็ดลับดีๆที่เขาใช้จนได้ผลมาเปิดเผยอีกว่า การจำเป็นภาพต่างๆและความรู้สึกจะทำให้เราเข้าใจและจำในสิ่งที่เรียนได้นาน ขึ้น
“เด็กๆ ต้องเรียนแต่อย่าให้เหมือนเรียน หมายความว่า การเรียนไม่ใช่เรื่องที่เคร่งเครียดอีกต่อไป เราต้องสนุกและเปิดใจที่จะเรียนรู้ ส่วนดูหนัง ฟังเพลงนั้น ได้ผลแน่นอน”
“สำหรับ พ่อแม่นั้น ก็คงเฉกเช่นเดียวกับที่พี่นีน่าแนะไปว่า พ่อแม่ต้องพูดคุยกับลูกด้วย เพราะอย่างทุกวันนี้ลูกชายของผมอายุเพียงสองขวบ เขาก็เริ่มเรียนรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไปพร้อมๆกัน เพราะผมพูดกับลูก รู้มากรู้น้อยไม่สำคัญ เพราะในที่สุดเขาก็รู้ ดังนั้นเราต้องเอาประสบการณ์ตรงมาอยู่ในชีวิตของเราด้วย”
ทั้ง นี้ กูรูทั้งสองท่านต่างลงความเห็นตรงกันว่า ภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นไม่ว่าในอนาคตลูกของคุณจะได้ใช้มันหรือไม่ก็ตาม แต่การเตรียมพร้อมเรื่องภาษา ปูพื้นฐานให้เขาก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม และ แม้ว่าการไปเรียนภาษากับเจ้าของภาษาจะช่วยให้พัฒนาการของเราดีขึ้นก็จริง แต่คนจะเก่งภาษากลับไม่จะเป็นต้องไปเมืองนอกเสมอไป เพราะถ้าเรารู้จักขวนขวาย เรียนรู้ พ่อแม่คอยเอาใจใส่และสนับสนุน เราก็เก่งได้เช่นกัน