เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5119

Reply to This

Replies to This Discussion

ขออนุญาตนะค่ะ อาจถูกใจไม่ถูกใจ แค่คิดว่าแบ่งปันในสิ่งที่คิดต่างออกไปค่ะ

เป็นแนวคิดที่ดีนะค่ะเพราะว่าสร้างความใกล้ชิดและการดูแลเอาใจใส่จาะครอบครัว ซึ่งเปป็นสังคมที่มอบความรักอย่างบริสุทธิ์ให้แก่กัน
แต่คิดว่า การไปโรงเรียนก็จะได้ประโยชน์ในการเข้าสังคมและการสื่อสารกับคนหลายๆ กลุ่มหลายประเภท การปรับตัว การแยกแยะเร่ืองต่างๆ ซึ่งเค้าต้องใช้ในการทำงานและการดำรงชีวิตต่อไป แต่ว่าเราก็ต้องคอยบอกคอยแนะนำในเรื่องต่างๆ แยกแยะสิ่งดี ไม่ดีให้ชัดเจนเพื่อให้เค้าได้เลือกอย่างรอบคอบ เพราะส่วนตัว คิดว่า ธรรมชาติของคนเราน่าจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการปรับตัวและการอยู่รอด เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันค่ะ
แต่เราก็สามารถ เป็นครูให้ลูกได้เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องไปเรียนพิเศษเพราะส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเรียนพิเศษมากมายเหมือนเช่นทุกวันนี้อยู่แล้วค่ะ มีเพื่อนสมัยมัทยมหลายคนที่ไม่ได้เรียพิเศษเลยแต่ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เป็นหมอ พยาล วิศว ตรงกันข้ามบางคนเรียนแทบตายแต่ก็สอบเข้าไม่ได้ แต่ในที่สุดทุกคนก็สามารถหาเลี้ยงชีพได้และให้ความสุขกับครอบครัวได้เช่นกัน เพราะงั้นไม่อยากให้ซีเรียสกับการใช้ชีวิตมากมายค่ะ
สรุปแล้วเห็นด้วยบางส่วนค่ะ
เป็นไปได้ไหมครับที่ผู้ใหญ่บิ๊กจะก่อตั้งหมู่บ้านโฮมสคูลขึ้นอีกสักแห่งหนึ่่ง(ตั้งชื่อภาษาไทยกันเอาเองนะครับ) เป็นแบบหมู่บ้านภูมปัญญาร่วมเหมือนหมู่บ้าน2ภาษา เพราะค่อนข้างชัวร์แบบไม่มั่วนิ่มแน่นอนว่าการศึกษาในประเทศไทยพึ่งพาได้ยากจริงๆ นักวิชาการระดับสูง ระดับล่าง อาจารย์ ครูผู้สอน รวมทั้งผม(ผู้ปกครอง) มีความคิดความเข้าใจในจุดหมายเรื่องการศึกษาของเด็กๆไปคนละที่ละทาง นโยบายระดับชาติเปลี่ยนไปมาได้ง่ายๆเหมือนทำสนุกๆพอเพลินๆ เงินเดือนครูต่ำพอๆกับรายได้กรรมกรก็แน่นอนว่ามีความสำคัญพอๆกันเงินก็ต้องไล่ๆกัน ดูๆแล้วผมเองไม่อยากให้ลูกๆผมไปร่วมสนุกด้วยเลย แต่คงไม่รอดเพราะทางเลือกมีน้อยเหลือเกิน
สนใจแนวคิดนี้มากๆค่ะ ขนาดคุณยายซันซันซึ่งเป็นคุณครูก็เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ เพราะปัญหาเรื่องสื่อลามก(รวมทั้งสื่อ TV แมกกาซีน) มีอิทธิพลต่อความอยากรู้อยากเห็นของเด็กมาก ที่โรงเรียนของคุณยายซันซันพบปัญหาเด็กแอบดูสื่อลามกและเข้าใจเรื่องเพศ(แบบเกินตัว) ตั้งแต่ ประถม 3 นี่ยังไม่นับรวมปัญหาการเอาอย่างที่เด็กๆทำตามเพื่อน ทำตามทีวีอีกสารพัด ซึ่งนับวันจะหนักข้อขึ้น อีกหน่อยเราอาจจะเป็นอย่าง อเจนติน่า(เขียนถูกไหมนี่) ที่เด็กสาวคลั่งการทำศัลยกรรม และพบเด็กอายุเพียงสามขวบเป็นโรคบูลิเมีย(กินแล้วล้วงคออาเจียน) ซึ่งทางเลือกการทำ home school จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับประเทศด้อยพัฒนาอย่างเรา ที่ควบคุมสื่ออันทรงอิธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่ได้
ดังนั้นโดยส่วนตัวจึงอยากทำ home school แต่ปัญหาของ home school คือต้องทำร่วมกันหลายครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะนอกจากการเรียนรู้ทางวิชาการแล้ว การเรียนรู้ทางสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เด็กควรจะได้มีเพื่อนเล่น ควรมีเวลาที่พ่อแม่พาลูกมาเจอกัน ถ้าไม่สามารถหาเพื่อนร่วมแนวคิดได้ คิดว่า home school ยังห่างไกลกับความเป็นจริงนัก
ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ของลูกด้วยว่ามีเวลาให้ลูกมากแค่ไหน ถ้าทำไม่ต่อเนื่องก็จะเป็นผลเสียต่อเด็ก ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้อยกว่าเด็กที่มีครูสอนอยู่ที่โรงเรียน เหมือนเป็นดาปสองคมคะ ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียคะ เพราะระบบการเรียนการสอนของไทยยังไม่พัฒนาเท่าเทียมกับต่างประเทศคะ เพราะการเรียนการสอนของไทยยังเป็นระบบถ่องจำอยู่ ลองคิดดูเล่นๆนะคะหากเด็กที่เรียนอยู่ที่บ้านไปเข้าโรงเรียนเพื่อต่อชั้นประถม ระบบการเรียนการสอนก็ต่างกันทีนี่ละ กว่าเด็กจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับระบบที่โรงเรียนก็อาจจะทำให้ช้ากว่าเด็กที่เรียนอยู่ในระบบอยู่แล้ว ฮิๆ แชร์ความคิดเห็นเท่านั้นนะคะ
เรื่องhomeschoolนี่ยังก็น่าสนใจมากอยู่ดีในสภาวะของการศึกษาไทยที่เป็นcomercial มากๆอย่างทุกวันนี้ และดูๆแล้วก็ยังไม่ค่อยมีความชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ในรูปแบบของการเป็นมนุษย์ซักเท่าไหร่ โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่อง life skill ผมว่าการศึกษายังชุลมุนวุ่นวายอยู่กับการแยกเป็นวิชาๆไป ส่วนใหญ่ก็เป็นวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ แต่ไม่ได้มองผลรวมของทุกวิชา และไม่ได้คิดภาพรวมของผลที่เด็กๆจะได้รับจากกิจกรรมทางการศึกษาและกิจกรรมต่างๆภายในโรงเรียนบวกกับสิ่งแวดลัอมต่างๆที่เด็กได้พบเจอ(คูณด้วยเวลาที่เด็กเรียนในโรงเรียนกี่ปีๆก็แล้วแต่)ว่าให้ผลผลิตออกมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน และที่แย่หรือพูดง่ายๆว่าเลวร้ายมากกว่านั้นก็คือ การกำหนดภารกิจ วัตถุประสงต์ เป้าหมาย ปรัชญญาการศึกษา รวมทั้งเข็มมุ่งอะไรก็แล้วแต่ขององค์กรการศึกษาหลายแห่งทำติดไว้ที่ฝาผนังโรงเรียนเพื่อเป็น prop ประกอบงานศิลปะประเภทInstallation โดยมีครู นักเรียน ต้นไม้ อาคารเรียนต่างๆเป็นส่วนประกอบงานศิลป์โดยใช้ชื่อนำหน้างานศิลปะชึ้นนี้ว่า"โรงเรียน"เท่านั้น ไม่ได้นำภารกิจที่กำหนดไว้มาใช้เลยพูดง่ายๆว่ากำหนดไว้ให้ดูดี เวลามีนักเรียนมาสมัครเรียนก็จะง่ายต่อการแนะนำโรงเรียน( ที่เป็นแค่งานศิลป์ประเภทInstallationแบบไร้รสนิยม) เวลามีการตรวจประเมินคุณภาพโรงเรียนก็ทำเอกสารให้ดีถูกต้องตรงกับมาตรฐานก็เรียบร้อย ผ่านมาตรฐานแบบไทยๆ พูดมากไปก็ไม่มีประโยชน์สู้มาทำMindmapเรื่องHomeschoolเพื่อหาทางช่วยลูกๆด้วยตัวเองดีกว่า ลองได้ดูมานานพอสมควรแล้วก็พอจะเห็นลางๆว่าน่าจะทำได้ ติดแต่ว่าการทำhomeschoolต้องการการสนับสนุนเรื่องEducation knowledgeเป็นเรื่องหลักๆส่วนความเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละครอบครัวนั้นก็ตัวใครตัวมันได้อยู่แล้ว และเรื่องsocialization ที่กังวล อยู่เมืองไทยไม่ค่อยกังวลเท่าไร หาที่ๆมีกิจกรรมให้ลูกไปเกี่ยวข้องได้ง่ายอยู่แล้ว จะเป็นการจัดร่วมกันหรือว่าแค่ไปแจมๆก็ไม่ยากเท่าไหร่เพราะว่าที่นี่เมืองไทยความเอื้ออาทรแบบคนคนไทยยังไงๆก็ยังมีอยู่ ขอเข้าเรื่องเลยนะครับคือlesson plan หรือการจัดรูปแบบการศึกษาและแผนการสอนที่ใช้กับการจัดการศึกษาแบบHomeschool ดีๆส่วนใหญ่อยู่ในwebต่างประเทศและเป็นภาษาอังกฤษ เคยเข้าไปดูการรเรียนการสอนในInternational school เห็นlesson plan เมื่อมาเทียบๆกับที่หาได้ในWebsiteการศึกษาต่างๆก็พอจะทำไ้คัคล้ายกัน ติดอยู่แต่ว่าเป็นภาษาอังกฤษหากมีใครช่วยเหลือเลือกนำไปแปลเป็นบางวิชาแล้วมาแบ่งปันกันเป็นรายวิชาด็จะทำให้การจัดการHomeschoolของลูกน้อยเราก็ง่ายขึ้นมากครับ สุดท้ายผมว่าการส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่เน้นภาษาอังกฤษแต่ถ้าที่บ้านไม่พูดยังๆก็ไม่ค่อยworkครับ ก็อาจมีบ้างที่สำเร็จแต่เชื่อว่าน้อยครับ ความจริงที่เราติดตามผู้ใหญ่บิ๊กอยู่นี่ก็ทำใหประหยัดตังค์เรื่องการเรียนภาษาของลูกๆไปเยอะ หากผู้ใหญ่บิ๊กจะใจดีสนับสนุนกิจการHomeschoolซักนิดหน่อยก็คงจะดีนะครับ "ร่วมมือร่วมใจสร้างเด็กไทยพันธ์ใหม่กับผู้ใหญ่บิ๊ก" อันนี้ตั้งใจคิดมาเลยนะครับไม่ได้แค่คิดเล่นๆ
สังคมบ้านเราระบบการศึกษาเน้นที่การแข่งขันแต่เรื่องเรียนมากเกินไป แค่เห็นลูกมีการบ้านเพียบตั้งแตอยู่อนุบาล๑ ก็ได้แต่มองตาปริบๆ กล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงก็ต้องหัดเขียนหนังสือเสียแล้ว ความรีบเร่งเกินวุฒิภาวะ ประกอบกับการแข่งขันของโรงเรียน ทำให้ทุกวันนี้ เด็กไม่มีความสุข ไม่ได้ชื่นชมกับการเล่นและเรียนรู้ธรรมชาติรอบๆตัว ความรู้ที่ทุกอัดเข้ามาจึงไม่ใช่ความรู้ที่ยั่งยืน เพียงเพื่อที่จะเรียนจบมาหางานทำให้ได้เงินเยอะ จุดประสงค์เพียงเท่านี้ โลกการเรียนรู้วันนี้มันกว้างขึ้น ไม่ใช่ในห้องเรียนสี่เหลียม อินเตอรเน็ต สามารถหาข้อมูลการเรียนรู้ได้เหมือนกับการนั่งเรียนในห้อง แต่ประสบการณ์โดยตรงของเด็กที่ได้สัมผัสคือความรู้ที่ยั่งยืนกว่า ไม่จำเป็นที่พ่อแม่จะสอนได้ทุกวิชา เพราะมันเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน เด็กอาจจะสอนเรา หรือการที่มีครอบครัวโฮมสคูลนำเด็กมาเข้ากลุ่มกัน แลกเปลี่ยนความคิดและการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน
ขอยืมคำพูดของ แม่ส้ม สมพร พึ่งอุดม ที่ว่าทุกวันนี้เราให้ความสำคัญแต่ผลผลิต เราไม่ค่อยสนใจใส่ใจในกระบวนการผลิต การศึกษาบ้านเราเป็นเช่นนั้น ทุกวันนี้มีพ่อแม่ที่รวมกลุ่มกันทำโฮมสคูลเยอะขึ้น เป็นทางเลือกอีกทางให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้ชีวิตจริง.
"ร่วมมือร่วมใจสร้างเด็กไทยพันธ์ใหม่กับผู้ใหญ่บิ๊ก"....ขอลุยก่อนละ่ครับบบ...
ผมเห็นด้วยว่าการศึกษาในโรงเรียนปัจจุบัน เป็นสถานที่สร้างปัญหาหลายๆด้าน ความแตกต่างของฐานะทางสังคม ได้แบ่งแยกเด็กออกจากธรรมชาติที่เค้าควรจะเป็น ผมเชื่อว่าเด็กรับรู้เรื่องนี้ได้ เพราะตอนนี้ผมสอนพิเศษเด็ก ป.2 อยู่ 1 คน เค้าจะแต่งตัวในชุดเจ้าหญิงเพื่อไปเรียนเต้นรำต่อ หลังจากเรียนกับผมเสร็จ

วันหนึ่งเมื่อหนู ป.2 มาถึงบ้าน ลูกสาวผมวัย 1 ขวบ 7 เดือน วิ่งไปหาเค้าจับชุดเจ้าหญิงแสนสวย แล้วก็จับชุดเสื้อกล้ามของตัวเองและก้มดู แกสนใจความแตกต่างของเสื้อผ้าเป็นอย่างมาก

สำหรับเด็กที่โตกว่านั้นหละ มีนาฬิการาคาแพง กระเป๋าราคาแพง รองเท้า หรือ มีเงินไปเที่ยวต่างประเทศ สิ่งนี้จะทำให้เด็กในวัยที่ห้อมล้อมด้วยเพื่อนฝูงมีโอกาสเกิดจุดที่ทำให้เค้ารู้สึกด้อย แต่ถ้าคนที่อยู่เคียงข้างเค้าคือพ่อและแม่ ผลที่ออกมาจะแตกต่างกันอย่างมาก เพราะเราย่อมมีเหตุผล ทั้งทางโลก และทางธรรมที่ดี เสนอเป็นข้อคิดให้กับเค้า ให้เค้าแยกวัตถุ ออกจากคุณค่าของชีวิตได้อย่างเด่นชัด

นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยังมีปัญหาความผูกพันทางครอบครัวอีก การเรียนรู้แบบ Home School อาจแก้ปัญหานี้ได้ ถ้าการเดินทางไปหา ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช รวมถึงงานศพ กลับกลายเป็นการเรียนรู้หละ โดยมีการดำเนินการสอนร่วมกัน เกิดความร่วมมือระหว่างคนในครอบครัว โดยพ่อ แม่ได้วางบท และเตรียมเนื้อหาไว้ล่วงหน้า ผมขอเล่าเรื่องการแกล้งเล่นส่อนแอบของน้าผม กับลูกผม

ทุกวันเสาร์ตอนเย็นน้าผมจะมาที่บ้านทานอาหารเย็นด้วยกัน ลูกสาวผมชอบเล่นกับเค้ามาก ลูกสาวผมคงจะจำวิธีเล่นส่อนแอบ จากแม่เค้า หรือกับผมก็ไม่ทราบได้ แต่วันหนึ่งเมื่อลูกสาวคนเดิม( 1 ขวบ 7 เดือน) ได้ยินเสียงมอเตอร์ไซด์จอดหน้าบ้าน เค้ารีบจูงมือแม่เค้าไปหลบในห้อง แม่ถามเค้าว่าจะเล่นส่อนแอบหรือ เค้ามองหน้าแม่ ผมก็ใช้โอกาสนี้ทำปากจุ ๆ แล้วรีบเดีนไปดักหน้าน้าผม แล้วเริ่มบอกบทว่าให้คุณน้าแกล้งทำตกใจ เดียวลูกสาวผมเค้าจะแอบมาจะเอ๋ แล้วผมก็ทำสัญญาณมือให้น้าเดินมาทางที่ลูกสาวจะเล่นจ๊ะเอ๋ได้

ลูกผมก็แค่เดินออกมากอดหัวเข่าน้า ส่งเสียง เอ๋ เอ๋ เอ๋ และ น้าผมก็แกล้งทำตกใจโดยเอามือปิดหน้า

ความร่วมมือกันเกิดขึ้น น้าผมกับตัวผม และ แม่เค้ากับลูกสาว นอกจากนั้นสิ่งนี้ยังได้สร้างความอบอุ่นผูกผันกันในครอบครัวเกิดขึ้นครับ

สิ่งเดียวที่ยังขาดอยู่ตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้ Home School มีมาตรฐาน หรือมีการสอบวัดผลเพื่อเทียบเคียงกับเด็กในโรงเรียนปัจจุบัน เพื่อให้เค้าใช้อ้างอิงความสามารถของเค้าว่าอยู่ในระดับไหน ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนทางนโยบายจากรัฐบาล และกระทรวงศึกษาด้วย
ถ้าเกิดสมาชิก2pasaทั้งหมดทำโฮม สคูลพร้อมๆกัน....โหหหห ผู้ใหญ่บิ๊กได้เป็นพระเอกหนัง กวน มึน โฮ แน่ๆเลยยย.
เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ค่ะ....แต่ไม่มั่นใจว่าจะเป็นไปได้รึเปล่า
เนื่องจากทั้งพ่อและแม่ทำงานนอกบ้าน
ถ้าเป็น Home School เต็มตัว >>> ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะเราไม่มีความพร้อมและไม่ขยันพอ อีกอย่างค่อนข้างกังวลหากทำ Home School ไปแล้ว กลับไม่ได้ไปไม่ถึง รวมถึงการเทียบวุฒิ และอะไรจิปาถะที่จะตามมา เรายังอยากให้ลูกมีสังคม อยากให้ลูกไปเจอเด็กในวัยเดียวกัน ได้มีโอกาสเรียนรู้กฎกติกาสังคมต่าง ๆ ที่ลูกต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องรู้จักปรับตัว ฯลฯ ต้องอยู่ได้ คิดเป็น กล้าตัดสินใจ เวลาที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น (หรือเรียกง่าย ๆ ว่ากล้าเผชิญปัญหาและได้ทดลองแก้โดยที่ไม่มีเรา)

แต่ถ้าหากว่าไม่ส่งลูกไปเรียนพิเศษ แล้วเอาเวลานั้นมาเป็นเวลา Home School แบบ OTOL (เลียนแบบทฤษฎีเด็กสองภาษา 555+) ก็พอไหว ซึ่งนำวิชาที่มีที่โรงเรียน มาประยุกต์บูรณาการในแบบของเราเอง ซึ่งก็มีทำบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ เสริมบทเรียนที่โรงเรียน :D

เราเคยอ่านบทความนึง รู้สึกไม่ดีเลย ที่พ่อทำ Home School ให้ลูก พอ ม.ปลายเข้าเรียนในระบบโรงเรียน แล้วลูกไม่สามารถปรับตัว ลูกไม่สามารถเผชิญหรือยอมรับกับผลการเรียนที่ต้องแข่งขันกับเพื่อน (ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็คือเรื่องปกติธรรมดา แต่ลูกไม่เคยเจอสภาพนี้ และพ่อเองก็ไม่มีเทคนิคอธิบายให้ลูกเข้าใจ แล้วเวลาจะสอบเข้ามหาลัย จะเผชิญกะสิ่งต่าง ๆ ที่กดดันรอบตัวได้ยังงัย .. เราไม่เข้าใจ) ในบทความนั้น พ่อทุกข์มากที่ลูกกดดัน ผลการเรียนตก จึงให้ลูกออกจากระบบโรงเรียน พ่อทำ Home School ให้ต่อ พร้อม ๆ กะลูกสอบ กศน. .............

พูดจริง ๆ ว่าเราไม่อยากให้เกิดสภาพแบบนี้กับน้องเจ และเราเชื่ออย่างนึงว่าพ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักลำบาก อดทน กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา รู้จักปรับตัว รู้จักคิด วิเคราะห์และตัดสินใจเป็น เราจึงว่า Home School เต็มตัว ยังไม่เหมาะกะเราและน้องเจ อีกอย่างเรายังปลื้มกับโรงเรียนที่น้องเจเรียนอยู่ และไปในทิศทางที่เรารับได้ น้องเจก็มีความสุขดีที่ได้ไปเจอครู เจอเพื่อน รู้จักมารยาทสังคมมากขึ้น :)
เคยทราบมานานแล้วว่ามีผู้ปกครองหลายครอบครัวทำแล้วในประเทศไทย โดยส่วนตัวชอบและเห็นด้วยเพราะคงไม่มีใครรักและเป็นห่วงลูกมากกว่าพ่อแม่ แต่ที่บ้านไม่เห็นด้วยที่จะทำ เพราะเราต้องทำงานและกลัวว่าลูกจะกลายเป็นเด็กไม่มีเพื่อน (ลูกคนเดียว) เลยตั้งใจที่จะสอนลูกเองจนเข้า อ.๓ แล้วเข้าประถม๑ไปเลย เพราะเมืองไทยการเรียนภาตบังคับเริ่มจากประถม๑

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2025   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service