เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5058

Reply to This

Replies to This Discussion

ลูกชายอายุ 4 ขวบ กำลังทดลองทำบ้านให้เป็นโรงเรียน เริ่มมาปีกว่า ๆ แล้ว แรก ๆก็ล้มลุกคลุกคลานกันทั้งแม่และลูก
ตอนนี้ก็โอเคนะคะ สำหรับแนวทางก็ศึกษาจากข้อมูลหลายแหล่ง แต่ไม่ยึดติดกับทฤษฎีไหน เพราะเวลาปฏิบัติจริง ๆ
มันไม่เหมาะกับเรา ในด้านวิชาการไม่ต้องห่วงเลย เพราะเราสอนลูกเอง จุดอ่อนจุดแข็งของเค้าเราจะรู้และสามารถเติม
ให้เค้าได้เลย ด้านสังคมเราก็เติมให้เค้าได้ลูกไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย แต่เนื่องจากประเทศไทยเรื่องนี้ยังไม่แพร่หลาย
พ่อแม่ก็อาจจะลำบากหน่อยในหลาย ๆ เรื่อง ตอนนี้ก็พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆค่ะ และอยากมีเพื่อนร่วม
ทางที่เข้าใจแนวทางเดียวกันมาก ๆ
เห็นด้วยกับคุณจรรยงค่ะ พ่อแม่ต้องพร้อม สังคมต้องพร้อมยอมรับค่ะ
ชอบแนวการสอนแบบนี้ค่ะ แต่ไม่แน่ใจว่าสำหรับเมืองไทยนั้นจะได้ผลหรือเปล่า
โดยส่วนตัว(รวมทั้งครอบครัว) เห็นด้วยกับแนวคิดโฮมสคูล ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวเรามีลูกคนโตเรียนอยู่ระดับอนุบาล และเราอาศัยอยู่ในอำเภอเล็กๆที่ไม่มีโรงเรียนให้เลือกเรียนมาก อาศัยว่าคุณพ่อและคุณแม่เป็นคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาระดับบัณฑิตทั้งคู่ เราก็เลยให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกมาเป็นอันดับแรกพร้อมๆกับการดูแลเรื่องสุขภาพของเขาด้วย เราได้แรงบันดาลใจมาจากคุณย่าของเขาที่เป็นคุณครูระดับประถมคุณย่าบอกว่ามีเด็กอนุบาลสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้คล่องมาก เราก็เลยทดลองเริ่มตั้งแต่หัดเขาเขียนหนังสือตั้งแต่อยู่ศูนย์เด็กเล็ก(พยัญชนะ) เพื่อให้เขาสามารถรู้และจำตัวอักษรต่างๆได้ ต่อมาก็เริ่มหาหนังสือหัดอ่านมาให้เขาหัดอ่านเริ่มผสมสระอย่างง่ายๆ รวมถึงสระลดรูปต่างๆ ทุกวันนี้เขาเรียนอยู่อนุบาลสอง เขาสามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ในระดับดีมาก คณิตศาสตร์ก็ทำได้ระดับป.3 ทุกอย่างคือผลผลิตของโฮมสคูลทั้งนั้นครับ
ข้อดีของโฮมสคูลก็คือ เราสามารถให้ทุกอย่างกับเขาได้ เราสามารถประเมินเขาได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอการสอบปลายภาค เสริมเขาได้ในส่วนที่ขาดที่เขาต้องการ หนังสือแบบเรียนก็ไม่ต้องมีจำกัดหนังสือไหนดีก็เลือกซื้อมาให้เขาได้เลย เราสามารถประยุกต์ใช้สิ่งรอบตัวได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ ก้อนหินเอย เมล็ดยางพารา ปั้นดินเล่นก็นำมาประยุกต์ใช้ได้ ทั้งบวก ลบ คูณ หาร เราสามารถให้เขาได้ในส่วนที่โรงเรียนให้ไม่ได้ โดยเฉพาะในหลักสูตรปัจจุบัน และการประเมินครูโดยอาศัยกระดาษแบบปัจจุบันที่ครูมัวแต่นั่งทำกระดาษเอาเงินประจำตำแหน่งจนไม่สนใจลูกศิษย์ว่าจะได้อะไรบ้าง ผลสอบNT เด็กไทยก็เลยไม่ได้เรื่อง
ข้อจำกัดก็คือ เราต้องวางแผนและต้องประยุกต์การสอนให้ดี มองและเรียนรู้เขาไปตลอดเวลา (เขาเป็นครูของเราในเรื่องการสอน เราเป็นครูของเขาในเรื่องการเรียน) ต้องเสาะแสวงหาหนังสือใหม่ๆตลอดเวลา ที่จำเป็นที่สุดคือ ความต่อเนื่อง
แต่สุดท้ายก็คือ ของดีไม่ลองไม่รู้ ถ้ามัวแต่นั่งคิดถึงอุปสรรค ความสำเร็จจะเกิดได้อย่างไร จริงไหมครับ(คุณรักลูกคุณจริงหรือเปล่า?)
เห็นด้วยค่ะแล้วก็มีโอกาศคลุกคลีกับครอบครัวที่สอนลูกเองที่บ้าน น้อง-น้องมีพัฒนาการที่ดีน่ะค่ะ แต่มีข้อเสียตรงที่ว่าน้องไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเท่าไหร่ และ มีหนังสือดี-ดีมาแนะนำค่ะ ชื่อหนังสือ คุณคือครูคนแรกของลูก หน้าปกสีฟ้า ราคา 199 บาท เค้าบอกว่า ครูคนแรกมีความสำคัญที่สุด ฝนตกลงมาครั้งแรก แล้วไหลไปก่อให้เกิดร่องรอยอะไรไว้ ฝนตกครั้งต่อ ๆ ไป น้ำก็จะไหลไปตามรอยเดิม และอีกเล่มนึงชื่อ ฝึกให้หนูลงมือทำกิจกรรมตามแนวคิดมอนเตสซอรี เป็นหนังสือที่ฝึกให้ลูกใช้ทักษะชีวิต ประสาทสัมผัส ภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ราคา 295 บาท ลองไปดูน่ะค่ะ หนังสือดีมาก ๆ เข้ากับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังอยากสอนลูกเองที่บ้าน
สนใจมานานแล้ว เคยดูในทีวี ตอนนั้นยังเรียนอยู่และคิดว่าถ้ามีลูกก็จะลองดู ตอนนี้ก็ตัดสินใจมาเป็นแม่บ้านอย่างเดียวเพื่อสอนเค้าในเรื่องต่างๆ และมีหนังสือที่ชอบมากคือ ก๊วนชวนเที่ยว อ่าน เล่น เป็นของครอบครัวตัวต่อ แนวความคิดการสอนของเค้าดีมากค่ะ
ไม่แน่ใจค่ะ สนใจแนวคิดนะคะ แต่อยากรู้และเข้าใจระบบมากกว่านี้ ขอเวลาไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนแล้วจะมาโหวตใหม่นะคะ
เห็นด้วยกับระบบ home school ค่ะ แต่ต้องมีความพร้อมด้าน ทุนทรัพย์ พอสมควร ด้านอารมณ์ และจิตใจต้องพร้อมค่ะ
สงสัยคะว่าจะสามารถสอบวัดระดับกันที่ไหนอย่างไรคะ แล้วสามารถต่อยอดไปเรียนต่อสายไหนอะไรบ้างคะ ถ้าเรียนที่โรงเรียนจะมีสายวิทย์คณิต ศิลป์ภาษา ถ้าเป็นHOME SCHOOL ก็คงจะดูผู้เรียนเป็นหลักใช่ไหมคะ จะเรียนถึงเมื่อไหร่คะแล้วสามารถสอบต่อไปถึงปริญญาได้ไหมคะ สงสัยมานานแล้วคะอยากทราบรายละเอียดให้มากกว่านี้คะ จะทราบข้อมูลได้ที่ไหนคะ
หากไปศึกษาในเวบไซต์บ้านเรียน เขามีวิธีการสอบเทียบค่ะ เท่าที่จำได้ในเมืองไทยมีสองทาง คือการฝากชื่อกับ โรงเรียนมูลนิธิหมู่บ้านเด็ก รับตั้งแต่ประถมหนึ่ง ไม่ต้องไปโรงเรียน แต่ต้องพาไปสอบและดูพัฒนาการของเด็กเป็นระยะ อาจจะประมาณ ทุกๆหนึ่ง ถึง สองปี อีกวิธี คือ สอนเอง ไปถึงประถมหก แล้วไปสอบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน) ซึ่งจะมี ประถมหก มัธยมปีที่ ๓ และมัธยมปีที่ ๖ แต่เท่าที่ดู ไม่คิดว่า วุฒิจากกศน. จะสามารถเข้ามหาวิทยาลัยปิดได้หลายแห่ง

ในระบบมหาวิทยาลัยปิด การเข้านั้นดูผล O-net และดูผลการเรียนชั้นมัธยมปลายเป็นเกณฑ์ด้วย หากให้ลูกเรียนโฮมสคูล ก็มีทางเลือกค่ะ คือ เรียนมหาวิทยาลัยเปิด เช่น รามคำแหง สุโขทัยธรรมาธิราช ไปเลย หรือ จะเรียนออนไลน์ของตปท.ก็ได้ค่ะ มีจนจบปริญญาเอก หรือจะส่งไปเรียนตปท.ในระดับมหาวิทยาลัย

โดยที่การเีรียนในตปท.ระดับมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ หรือ เรียนในมหาวิทยาลัย เด็กๆจะต้องลงเรียนออนไลน์ในระดับวิทยาลัยไปด้วย ซึ่งจะมีการตรวจเวลาเข้าเนตและเรียนไปกี่ Topics (ซึ่งเท่าที่ดูในเนตมีเยอะเหมือนกัน แต่ไม่รู้อันไหนดี) เมื่อเรียนครบเวลาที่กำหนด ทางโรงเรียนจะออก Transcript ให้ว่าแต่ละวิชา ครบหัวข้อกี่ชม. ตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด ก็จะมีสิทธิ์เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หลักสูตรปริญญาตรีได้

หากจะเรียนในมหาวิทยาลัย (ไม่ใช่เรียนออนไลน์) เด็กจะต้องไปสมัครสอบ SAT ด้วย และหากเป็นเด็กที่ไม่ใช่ Native Speaker ก็ต้องสอบพวก TOEFL หรือ พวก IELTS ด้วยค่ะ หากคะแนนไำด้ตามที่กำหนด มีใบพวกนี้ ก็จะมีสิทธิ์สมัครเรียนต่อได้ แต่อาจจะไม่ทุกคณะ แล้วแต่ที่มหาวิทยาลัยจะกำหนดไว้

หากเรียนมหาวิทยาลัยออนไลน์ จะมีให้เลือกไม่กี่คณะ พวกคณะที่ต้องค้นคว้า เช่น สาขาชีววิทยา การเงิน ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยที่มีให้เรียนแบบนี้ นี่คือ ข้อจำกัดค่ะ ต้องคิดดีๆ วางแผนยาวๆเลย

ลองศึกษาดูเรื่องรายละเอียดอีกทีนะคะ
เห็นด้วยมากค่ะกับแนวคิด แต่ในทางปฎิบัติของสังคมไทย ยังต้องfightอีกเยอะ แต่ว่าการสนับสนุนและความเข้าใจจากคนใกล้ตัวมีผลกับตัวเองมาก ถ้าเข้าใจว่าทุกอย่างทำได้ แล้วมีปัญหาแล้วมาโทษ คนที่ทุ่มเททำจะรู้สึกผิด ท้อแท้ โดดเดี่ยว จะเกิดผลเสียค่ะ เด็กก็จะรับผล เราเองจะกลับเข้าไปทำงานอีก อาจจะไม่เหมาะแล้ว เพราะการทำโฮมสคูล คนสอนต้องเตรียมมาก จูงใจเด็กเยอะ อดทน และตั้งใจทำยาว และบางบ้านก็มีปัญหาด้านเศรษฐกิจเข้ามาร่วมด้วย เรารู้สึกว่า home school เป็นอะไรที่พอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าบางบ้านทำงานทั้งสองคนก็ยังไม่พอเลย โฮมสคูลไม่ต้องพูดถึง อาจจะโดนแขวะได้ 5555 การมองเห็นร่วมกันในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญสุดค่ะ ชื่นชมมากๆกับคนที่ทำได้ และเป็นกำลังใจให้ด้วยค่ะ อยากทำแต่ใจไม่ถึง
โดยส่วนตัวชอบแนวคิด Home school ีค่ะ เพียงแต่หันมามองดูรอบตัวหาความพร้อมของแต่ละครอบครัว(โดยเฉพาะไทยเรา)เพื่อปฏิบัตินั้นดูเหมือนจะน้อยครอบครัว(คิดว่านะ) แต่หากครอบครัวใดมีความพร้อมในทุกด้านก็ถือว่าเหมาะสมกับ Home school มากกว่าส่งเข้าโรงเรียน และเห็นๆเลยว่าี้คุณภาพการสอนของหลายโรงเรียนทำให้ศักยภาพของเด็กถดถอยไม่ด้านใดก็ด้านนึง..แต่จะก้าวไปยัง Home school แทน ส่วนใหญ่ครอบครัวทั่วไปจะมีข้อจำกัดหลายข้อที่ทำได้ยาก
- ทำงานนอกบ้าน
- ทักษะในการสอน การสื่อสารใ้ห้เข้าใจเนื้่อหาให้ลูกเอง ไม่ชำนาญพอ
- วิชายาก ไม่ถนัด อาจทำได้ไม่ดี (่แม้จ้างครูมาสอนเฉพาะได้ แต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจแต่ละครอบครัวอีก)
- พฤติกรรมของพ่อแม่หากเป็นต้นแบบไม่ดี ก็อาจจะซึมซับติดแน่นเชียวล่ะ แต่ต้นแบบดีก็เยี่ยมไป--ต้นไม้หล่นไม่ใกลต้นจะชัดเจนเลย--- ความอดทน ใจเย็นของพ่อแม่ก็คงต้องมีสูงเช่นกัน..
- พ่อแม่ต้องขยันค้นคว้า ความคิดสร้างสรรค์พอสมควร ไม่งั้นถึงทางตันได้ และคงต้องเหนื่อยน่าดู
ฯลฯ
ส่วนตัวแล้วหากมีความพร้อมเยี่ยงบางครอบครัวก็อยากใช้ระบบ Home school แต่ชีวิตจริงติดขัดหลายประการ..Can not เลยล่ะค่ะ ก็คงได้แต่ยินดีและให้กำลังใจด้วยคนหากครอบครัวใดสามารถใช้แนวคิดนี้และปฏิบัติได้จริง...

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service