สำหรับท่านที่มีลูกเล็กๆและอยากให้ลูกน้อยเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ไม่รูวิธีการจำทำอย่างไร ลองมาฟังผู้ช่วนศษสตราจารย์ ดร.ภคพล จักรพันธ์ อนุฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโท วิทยาศาสตร์การจัดการ มหาวิทยาลัยชินวัตร และพิธีกรภาคสนามรายการ English Breakfast ทางทีวีไทยที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวดีๆในบทบาทคุณพ่ออารมณ์ดี พร้อมคุณชญาภา คุณแม่แสนอบอุ่นของน้องลลดา หรือ น้องปันดี ลูกสาววัย 11 เดือน ด้วยเทคนิคการสื่อสาร 2 ภาษาให้แก่ลูกสาวได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติและน่าทึ่ง...
จุดเริ่มในการใช้ภาษาอังกฤษกับลูก
ถือว่าโชคดีที่ผมได้มีโอกาสไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่จบ ม.6 ตอนนั้นอายุได้ 17 ปี ผมอยู่นั่น 14 ปีเต็ม เรียนจบปริญญาตรี โท และเอก ได้ปริญญามา 5 ใบ ตอนไปเรียนก็อยากได้ภาษาอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้หวังว่าจะต้องเก่งมากมายอะไร แค่เพื่ออยากเอาความรู้ด้านปริญญาเท่านั้น แต่พอกลับมาเมืองไทย คนเขาชอบเวลาเราพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากจุดแข็งของเราคือ การวิเคราะห์ด้านการจัดการแล้ว เรายังใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานอย่างอื่นมาโดยตลอด พอมีน้องปันดีก็คิดว่า ในเมื่อเราพูดภาษาอังกฤษได้ดีอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช้ภาษาอังกฤษคุยกับลูก หรือสอนให้เขาได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเล็กๆ ก็น่าเสียดายมาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงพยายามพูดคุยกับลูกเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่อยู่ในท้อง
สื่อสารกับน้องปันดีตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ผมเปิดเพลง Bach ให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้องเลย เหตุผลที่เลือกเพลงของ Bach เพราะมีจังหวะสนุกสนาน ทำนองเพลงฟังแล้วคึกคักกว่าเพลงของ Mozart ในความคิดผมนะ และผมก็คุยกับลูกเป็นภาษาอังกฤษตอนเขาอยู่ในท้องด้วย คุณภคพลหันไปยิ้มและสบตากับภรรยาที่นั่งยิ้มหวานอยู่ตรงข้าม ก่อนคุณชญาภาเล่าเสริมว่า คุณเอ็กซ์ทำงานเหนือยๆกลับมาบ้าน ยังต้องมาพูดคุยกับลูกใกล้ๆ ตอนดิฉันตั้งครรภ์ได้ 2 เดือนค่ะ
ลูกเรียนรู้สองภาษาในชีวิตประจำวัน
ผมพูดคุยกับลูกเป็นภาษาอังกฤษตลอด แม้ตอนคลอดแล้วก็ตาม จนถึงทุกวันนี้น้องปันดีอายุ 11 เดือน ผมจะสื่อสารกับเขาด้วยสูตรที่ว่า OPOL ย่อมาจาก One Parent/Person One Language คือ ให้คนในครอบครัวคนนึงพูดภาษาอังกฤษและอีกคนพูดภาษาไทยไปพร้อมกัน โดยวิธีการพูดคุยกับลูกคือ ผมจะคุยกับเขาเป็นภาษาอังกฤษ และทำท่าให้ดูว่าเวลาเราพูดคำนี้แล้วทำท่าแบบนี้หมายถึงอะไร เช่น ผมจะพูดกับน้องปันดีว่า "Pundee, where's the bird?, where is the ant? แล้วเราก็มองหานก มองหามดให้เขาดู บางครั้งจะบอกลูกว่า Pundee Look! เราก็เรียกให้เขาดูนั่นหรือดูนี่ "Pundee, clap your hands" น้องปันดีก็จะตบมือตามที่เราคุยกับเขา ผมจะพูดประโยคแบบนี้ซ้ำๆกันหลายครั้งในชีวิตประจำวันและเพิ่มศัพท์เข้าไปรูปประโยคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณแม่ก็จะพูดภาษาไทยกำกับตามไปด้วย ลูกจะเริ่มเข้าใจทั้งสองภาษาได้อย่างรวดเร็วว่าเราต้องการสื่อสารอะไรกับเขา สำหรับภาษาไทยเราก็ให้ความสำคัญกับกับการออกเสียง ร เรือ หรือคำควบกล้ำอบ่างชัดเจนและถูกต้อง ที่สำคัญผมจะใช้น้ำเสียงพูดคุยกับเขาเป็ฯธรรมชาติเหมือนผู้ใหญ่คุยกัน พูดในชีวิตประจำวันให้เขาคุ้นชินกับน้ำเสียงแบบนี้ไปเลย ซึ่งจะเห็นว่าลูกมีพัฒนาการตอบสนองกับสิ่งที่เราพยายามพูดคุยกับเขาดีขึ้นเรื่อยๆ
แนวคิดในการเลี้ยงลูก
ผมอยากเลี้ยงลูกให้เขามีความสุข ไม่ต้องสอบได้ที่หนึ่ง หรือต้องเก่งหรอกครับ แต่ขอให้เขามีความสุขเอาตัวรอดได้ในสังคม เป็นเด็กอารมณ์ดี รู้จักแก้ปัญหาได้ ผมจึงเน้นด้าน EQ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เขารู้จักใช้ชีวิตให้มีความสุขเมื่อโตขึ้น อีกอย่างจะปลูกฝังด้าน MQ หรือ Moral Quotient คือ ศีลธรรม ความดีงามให้แก่ลูกด้วย พอลูกมีพื้นฐานที่ดี มีความสุข เดี๋ยวไอคิวด้านเรียนเก่งมันจะตามมาเองครับ
จากเรื่องราวดีๆของสองครอบครัวที่นำมาร่วมแบ่งปันแนวคิดในการเลี้ยงดูลูก เนื่องในโอกาสพิเศษวันพ่อแห่งชาติด้วยสไตล์ที่แตกต่าง หากแต่นำไปสู่จุดหมายเดียวกัน นั่นคือ การปลูกฝังสิ่งดีงาม และการแนะนำให้ลูกใช้ชีวิตที่มีความสุข เป็ฯคนดีของสังคมด้วยความรัก เอาใจใส่ที่ได้จากครอบครัวเป็นสำคัญนี่เอง