โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2552 11:46 น.
http://manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000139664
------------
เป็นคุณพ่อมากความสามารถท่านหนึ่งเลย ก็ว่าได้กับคุณพงษ์ระพี เตชพาหพงษ์ เจ้าของหนังสือ "เด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้" ที่หาหนทางสร้างแรงบันดาลใจแก่พ่อแม่ที่อยากให้ลูกพูดได้มากกว่า 1 ภาษา แต่ในวันนี้ นอกจากบทบาทของคุณพ่อคนดังแล้ว เขายังมีอีกหนึ่งความสามารถที่น้อยคนจะได้ล่วงรู้ นั่นก็คือการเป็นผู้จัดและวิทยากรสอนการถ่ายภาพแก่บรรดาตากล้องทั้งหลาย ดังจะเห็นได้จากฝีไม้ลายมือในการถ่ายภาพลูกสาว "น้องเพ่ย-เพ่ย" ที่ไม่ธรรมดา และวันนี้เขาก็พร้อมที่จะแย้มเทคนิคดี ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ผู้ยังไม่มีประสบการณ์ด้านการใช้กล้องถ่ายภาพให้สามารถถ่ายภาพลูกงาม ๆ เก็บไว้ในความทรงจำด้วยค่ะ
"จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน พ่อแม่ทุกคนอยากจะบันทึกภาพแห่งความทรงจำของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในอดีต เงื่อนไขการถ่ายภาพนั้นยาก และมีต้นทุนค่อนข้างแพง ขอให้นึกถึงการซื้อฟิล์มใส่ในกล้อง ไม่มีจอแอลซีดีให้มองภาพ ถ่ายภาพออกมาจะดีหรือไม่ก็ยังไม่ทราบจนกว่าจะนำภาพไปล้าง ยิ่งวิดีโอไม่ต้องพูดถึง แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย" คุณพ่อบิ๊กเท้าความถึงในอดีต
"แต่พอมาถึงยุคนี้ ความต้องการที่จะบันทึกภาพลูกยังมีอยู่ บวกกับเทคโนโลยีของการถ่ายภาพที่พัฒนาขึ้นไปอย่างรวดเร็ว และต้นทุนต่อการได้ภาพมันต่ำลง การบันทึกความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่ง่ายมากขึ้นครับ อย่างไรก็ดี การถ่ายภาพมันมีมากกว่าการแค่กดลงไปโดยไม่รู้เรื่องเลย เหมือนกับขับรถ ต่อให้รถอัตโนมัติอย่างไร คนก็ต้องขับเป็น ซึ่งการขับเป็นมันส่งผลให้การขับนั้น ๆ นุ่มสบายมากขึ้น ขับได้ปลอดภัยมากขึ้น"
ถ่ายภาพลูกให้สวยด้วยกล้องคอมแพค
สำหรับเทคนิคดี ๆ ในกรณีที่พ่อแม่ไม่มีพื้นฐานด้านการถ่ายภาพเลย คุณบิ๊กแนะนำว่า
1. การถ่ายภาพเด็กหรือถ่ายภาพคน พ่อแม่จำนวนมากไม่ทราบว่าจะโฟกัสไปที่จุดไหน ยกกล้องขึ้นมาก็โฟกัสไปรอบ ๆ เห็นจุดไหนพอได้ก็กด จริง ๆ แล้วการถ่ายภาพคน จุดที่ต้องโฟกัสเลยคือดวงตา คำว่าชัดของภาพคนคือตาต้องชัด
2. เวลายกกล้องขึ้นวัดแสง มันจะมีข้อกำหนดขั้นต่ำอยู่อันหนึ่ง คือความเร็วชัดเตอร์ สมมติพ่อแม่ไปถ่ายรูปลูกที่บ้าน ซึ่งมีแสงค่อนข้างน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพจะเบลอ ในกรณีนี้ แนะนำให้พาลูกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงมากขึ้น ใกล้หน้าต่าง หรือใกล้ประตู หรือเอาม่านโปร่งแสงสีขาวบังแดดเอาไว้ ให้แดดส่องผ่านม่าน ก็จะเกิดแสงที่มีคุณภาพมากทีเดียว หรือพาลูกออกไปนอกบ้าน ก็จะได้แสงที่ดีเช่นกัน
3. การใช้แฟลชนั้นหลีกเลี่ยงใช้แฟลชป็อปอัปที่ติดมากับกล้อง ขนาดมันเล็กไปแสงจะแข็ง ถ้ามีแฟลชนอกให้เสียบที่ฮอตชูแล้วให้หัวแฟลชยิงเพดานให้แสงสะท้อนลงมา แต่ถ้าไม่มีแฟลชนอก แนะนำให้ให้หาพื้นที่ที่มีแสงเพียงพอ แล้วลองปรับค่า ISO ให้สูงๆขึ้นหน่อยเช่น ISO800 ตั้งค่า f ให้กว้างสุดเท่าที่กล้องจะเอื้ออำนวย (ตัวเลข f น้อยๆจะกว้าง กินแสงน้อย)
เตรียมแบบ (เจ้าหนู) อย่างไรให้มีความพร้อม
- ในกรณีนี้ ถ้าเป็นเด็กเล็กช่วงแรกเกิด - 1 ขวบ จะถ่ายภาพได้ง่ายเพราะยังเคลื่อนไหวได้ไม่เร็วนัก การถ่ายก็อาจถ่ายแบบโคลสอัพได้ แต่ไม่ควรยิงแฟลชตรง ๆ ที่เด็ก
- กรณีที่เป็นเด็กที่โตขึ้นมาอีกนิด จะเริ่มยากมากขึ้น เพราะเขาไม่ยืนให้ถ่าย สิ่งที่ทำได้คือพ่อแม่อาจปล่อยให้เด็กนั่งเล่น หรือวิ่งเล่นในบริเวณที่ไม่กว้างมากนัก จากนั้นตากล้องจำเป็นก็คอยนั่งใกล้ ๆ แล้วก็ถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ โดยอาจหาผู้ช่วย 1 คน เช่นภรรยา คอยเล่นกับลูก ก็จะทำให้เด็กเพลิน ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าใครมีเลนซ์ซูมด้วย ก็จะง่ายหน่อย ยืนทิ้งระยะออกมาหน่อย แล้วซูมถ่ายภาพเด็กไปเรื่อยๆ ก็จะได้ภาพที่มีความรู้สึกธรรมชาติ
"สื่อดิจิตอล" ไอเท็มใหม่ของคลังภาพลูก
ไม่เพียงแต่เป็นคุณพ่อสองภาษา แต่ในอดีต คุณพ่อท่านนี้ยังเป็นหนึ่งในทีมบรรณาธิการนิตยสารไอทีชื่อดัง และปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในแวดวงดังกล่าว จึงไม่แปลกหากจะมีความสามารถ และความสนใจในแวดวงไอทีไม่ใช่น้อย ซึ่งในแง่ของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลให้เกิดประโยชน์สูงสุดและง่ายดายที่สุดนั้น คุณบิ๊กแนะนำว่า สื่อที่เขาสนใจเป็นอันดับแรกคือ "ดีวีดี" ค่ะ
"นึกถึงในอดีต ถ่ายรูปลูกเสร็จก็นำไปปรินท์ออกมา จากนั้นก็ไปซื้ออัลบั้มหนัก ๆ แล้วก็มาเรียงภาพลูก แต่ทำไประยะหนึ่งก็พบว่า มันหนักมาก และเยอะมากจนถึงจุดที่เรารู้สึกว่าไม่ไหว ทั้งค่าใช้จ่าย ทั้งสถานที่เก็บ และหากว่ามีญาติอยากดูเราก็ต้องขนอัลบั้มไป ต่อมาเลยไม่ปรินท์ภาพแล้ว แต่ใช้วิธีไรท์ลงดีวีดี "
โดยในกรณีนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีหัวใจศิลป์ ยังสามารถตัดต่อภาพทำเป็นมิวสิกวิดีโอ ด้วยการนำภาพมาเรียง เข้าด้วยกัน แล้วเลือกเพลงที่ชอบใส่ลงไป จากนั้นก็ไรท์ลงแผ่น แจกจ่ายให้ญาติไปดูได้เลย แถมถ้าใส่ภาพดี ๆ เพลงเพราะ ๆ มิวสิกวิดีโอชิ้นนี้อาจ "เกิด" ได้อีกด้วย
"กระบวนการทำมันไม่ยาก หาโปรแกรมมา (บางโปรแกรมก็แถมมาพร้อมกับกล้องดิจิตอล หรือกล้องวิดีโอดิจิตอลแล้ว) เอาภาพมาเรียง ๆ กัน ใส่เพลงที่ชอบ ญาติอยากได้ก็ไรท์ให้ชุดหนึ่ง การรับชมแบบนี้ บางทีมีความน่าดึงดูดใจมากกว่า เพราะเปิดผ่านทีวีได้ ครอบครัวหลายครอบครัวก็เริ่มหันมาซื้อทีวีจอแบนกันแล้ว ด้วยขนาดจอที่กว้างมากขึ้น ทำให้เราสามารถรับชมได้พร้อม ๆ กัน ไม่เหมือนอัลบั้มที่ดูได้ครั้งละไม่กี่คน ต้องผลัดกันดู อีกทั้งยังประหยัดเงิน ไม่ต้องไปอัดภาพ - ซื้ออัลบั้มด้วย" คุณบิ๊กกล่าว
นอกจากนี้ในกรณีที่มีญาติอยู่แดนไกล ไม่สามารถมาร่วมรับชมพร้อมกันได้ การอัปโหลดภาพขึ้นบนเว็บ แล้วจัดทำเป็นอัลบั้ม ก่อนจะส่งเพียงแค่ลิงค์ URLให้ญาติจากแดนไกลได้ร่วมชื่นชมก็กลายเป็นเรื่องง่ายเสียยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก
เป็นอีกหนึ่งไอเดียการจัดการเทคโนโลยีรอบตัวให้ง่ายและสะดวกใช่ไหมคะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่ถนัดไอทีก็คงพอจะได้ไอเดียดี ๆ กันไปบ้างแล้ว หากนำไปลองทำดู ได้ผลอย่างไร สามารถกลับมาร่วมแชร์ประสบการณ์กันได้ค่ะ ทีมงานขอน้อมรับทุกความเห็นด้วยความขอบคุณค่ะ