เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5058

Reply to This

Replies to This Discussion

ไม่แน่ใจนัก เพราะพ่อแม่น่าจะต้องเตรียมความพร้อม และ คอยอัพเดทข้อมูลทางการศึกษา อยู่เสมอ
คิดว่าสภาวะทางครอบครัวไทยส่วนใหญ่น่าจะยังทำไม่ได้ อาจจะด้วยความที่ไม่มีเวลา
และพ่อแม่บางครอบครัวไม่สามารถทุ่มเทตัวเองเพื่อลูกได้ขนาดนั้น
เห็นด้วยค่ะ ไม่มีใคร ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกของเรา เท่ากับ เรา
เด็กโฮมสคูลที่เคยรู้จัก และได้ติดตามข่าวเป็นเด็กที่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้เร็ว และสามารถเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบได้ดีมาก ไอคิวดีมาก และยังมีความสามารถพิเศษของตัวเองที่แม่ค้นพบ(แม่ลาออกจากงานมาสอนลูก) อัจฉริยะระดับประเทศทีเดียว ตอนนี้เด็กเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ
สิ่งสำคัญคือการรวมกลุ่มพ่อแม่ให้ได้ และขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะการได้รับการสนับสนุนด้านการประเมินเพื่อให้เด็กได้เข้าสู่การศึกษาในระบบเมื่อพร้อม คิดว่าหลักสูตรนี้เจ๋งค่ะ
คุณพูดถูกเลยหละ เราเชื่อมั่นว่าเด็กที่เรียนนอกระบบ หรือเรียนที่บ้าน-เรียนด้วยตนเอง สามารถปรับตัวได้ดี มี EQ ดีด้วย

เราอยากเ่ล่าเรื่องราวเราตอนเด็กๆ ให้ฟัง ว่าเราออกจากระบบเรียนปรกติตั้งแต่อายุ 15 ปี ออกมาหาความรู้นอกโรงเรียนและทำงาน ส่วนพื่อนคนอื่นๆ ได้เรียนต่อจนจบมหาวิทยลัย

แล้วจากนั้นเราได้มาพบกันอีกครั้ง..........อยากจะเปรียบว่าความคิดและความสามารถของเราเหมือนกับต้นมะม่วงที่โตเต็มที่และออกผลแล้ว แต่เพื่อนเหมือนต้นมะม่วงที่เพิ่งเจริญเต็มวัยต้องรอสักพักถึงจะให้ดอกและออกผลต่อไป เรื่องการปรับตัว การเข้าสังคม การตัดสินใจ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเด็กที่เรียนนอกระบบหรือทางเลือก ทำได้ดีกว่ามาก
ปัญหาอันดับแรก คือ เรื่องปากเรื่องท้อง ทั้งพ่อทั้งแม่ต้องทำงานหาเงินตัวเป็นเกลียว ก่อนมีลูก ทำงานแค่คนเดียวก็อยู่ได้ แต่พอมีลูกก็ต้องกลับไปทำงานกันทั้ง 2 คน มองไม่เห็นเวลาที่จะเอามาจัดสรรทำ home school เลยค่ะ แต่สำหรับครอบครัวที่ฐานะดี
ก็สนับสนุนนะคะ

ถ้ามองในเรื่องหลักสูตรวิชาการ คิดว่าคงไม่เป็นปัญหา เพราะสื่อสมัยนี้มีเยอะ พ่อแม่สามารถแสวงหาความรู้มาป้อนให้ลูกได้อย่างแน่นอน
แต่ไม่ค่อยมั่นใจในเรื่องการเข้าสังคม การเข้าโรงเรียนปกติ มันมีอันตรายมีภัยแฝงอยู่ก็จริง แต่มันก็เหมือนกับเป็นการสร้างเกราะคุ้มภัยให้ลูก เหมือนสร้างภูมิต้านทานไงคะ ไม่ใช่ไม่ห่วงลูกนะคะ เพราะดิฉันเป็นคนมีบุตรยาก ต้องพึ่งคุณหมอถึงจะสามารถมีลูกได้ แต่เราก็ไม่ได้อยู่ดูแลปกป้องเค้าได้ตลอดไป วันหนึ่งเราก็ต้องจากไปก่อน การที่ลูกจะเติบโตขึ้นมาอยู่ในสังคมได้ ต้องผ่านด่านทดสอบจิตใจมาก่อน การทีลูกอยู่กับครอบครัวเกือบจะตลอดเวลา จนเค้าโต (ไม่แน่ใจว่าสอน home school ถึงกี่ขวบ) สังคมที่พ่อแม่พาไปทำความรู้จักย่อมเป็นสังคมที่ดีแน่นอน แล้วเค้าจะขาดเซ้นส์ในการเอาตัวรอดมั้ย จะปรับตัวได้มั้ย เมื่อตกอยู่ในสภาวะที่ไม่คุ้นเคย (เหมือนตอนเราย้ายร.ร.หรือเปลี่ยนห้อง ) แล้วเรื่องจุกจิก เล็กๆน้อยๆ อย่างเรื่องการอิจฉา ชิงดีชิงเด่น ทะเลาะเบาะแว้ง กันล่ะ แล้วอย่างเรื่องที่จะทำให้ภาคภูมิใจ อย่างเช่น ถ้าลูกเราเก่ง ได้รางวัลเรียนดี ได้รางวัลกิจกรรมเด่น ได้เป็นนักกีฬาประจำโรงเรียน ได้ถ้วย ได้เหรียญ อะไรประมาณเนี้ย ความภาคภูมิใจในตัวตนของเค้า เราจะหาอะไรมาแทนได้

...สรุปว่ายังลังเลใจ ใจหนึ่งถ้าครอบครัวมีรายได้ดีอยู่สบาย ก็อยากลองทำดู เพราะมั่นใจในเรื่องการสอนด้านวิชาการของตัวเองอยู่แล้วแต่ก็นั่นแหละ ยังติดบางเรื่องอยู่อย่างที่บอกไว้อ่ะค่ะ
อ่านความคิดเห็นของคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านแล้ว...
ืยอมรับว่า ทำงานหนักและเหนื่อยเช่นกัน เรื่องทำ Home school ที่สำคัญนอกเหนื่อจากผู้ปกครองจะต้องมีเวลาและเอาใจใส่ลูกๆแล้ว
ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ กลุ่มร่วมค่ะ....อย่างครอบครัวนุ้ย เวลาและการเอาใจใส่ 100% เสมอ ขาดแต่กลุ่มร่วมค่ะ
ถามว่าตั้งแต่ทำตั้งแต่สอนลูกเองนี่ได้ผลดีแค่ไหน ตอบว่าได้ผลดีเป็นอย่างมาก
เรื่องการเข้าสังคม ลูกสาวปรับตัวได้ดี การช่วยเหลือตัวเองเบื่องต้นก็ทำได้ดี
กล้าแสดงออกไม๊ ลูกสาวเป็นเด็กกล้าแสดงออกค่่ะ นุ้ยจะทำมีทติ้งกับแม่ๆในเวปไซด์ ที่คุยกันมานานกว่าสองปี
เราจะพบปะกัน เด็กๆได้เ่ล่นได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สังเกตุว่าเค้าจะปรับตัวได้ดี ถามว่า อ่าน ABC หรือก.ไก่ได้หรือยัง
ตอบแบบภาคภูมิใจว่า ไม่ค่ะ ไม่ได้เน้นเรื่องการสอนแบบนี้ มีสอนบ้างแต่ไม่เน้น เวลาลูกไม่สนใจที่จะเรียนก็ไม่สอนค่ะ
พยายามเรียนรู้ว่า เด็กวัยนี้ต้องการอะไร ก็จะทำตามความต้องการของเด็กวัยนี้ไป พยายามให้เป็นธรรมชาติของเขามากที่สุดค่ะ
การอยู่กับลูกตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ยากเลยนะคะ ค่อยๆสอนไป พยายามไม่หวังอะไรมาก เพราะจะเป็นการทำให้เราเครียดมากกว่า
แต่ในเมื่อเกือบสามปีที่ผ่านมา อยู่กับูลูกตลอดไม่ว่าจะเป็นตัวแม่เองหรือคุณพ่อ เรามีเวลาให้ลูกตลอด
ถึงเวลาแล้วที่ลูกต้องการการเรียนรู้มากกว่านี้ เลยจำเป็นต้องให้ลูกได้ไปเีรียนรู้พร้อมเพื่อนเรียนในชั้นเรียน
ถึงแม้เราจะไม่ค่อยเห็นด้วยก็ตาม แต่ก็ยังคงจะให้เวลาลูก สอนลูกอยู่ แต่จะให้ลูกไปรับความรู้อื่นๆเพิ่มเติม
เมื่อไหร่ลูกไม่มีความสุข เราคงต้องคิดกันใหม่อีกทีค่ะ บางครั้งการที่เราวางแผนไว้ล่วงหน้า ก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามแผนนั้น

อย่างไรก็ดี การให้ลูกเรียนโรงเรียน หรือทำ Home school ก็มีส่วนด้อยส่วนดี แตกต่างกันไป ตามแต่มุมมองของผู้ปกครองมองเห็น
แต่อย่างไรก็ดี ทุกอย่างที่ผู้ปกครองทำ ล้วนแต่ให้สิ่งดีๆกับลูกทั้งนั้น แต่เป็นการดีที่เรามีหัวข้อได้ถกเถียง
การที่เรามีกระจกไว้สะท้อนมองดูตัวเราเอง เราจะได้เห็นข้อแตกต่าง ข้อดีข้อเสีย สามารถกลับไปปรับปรุงตัวได้

อย่างคุณแม่ท่านหนึ่งข้างบนทำ Home school ให้ลูกช่วงวันหยุด ก็เป็นการดีไม่น้อยเลยค่ะ นุ้ยเห็นด้วยค่ะ...
โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการทำโฮมสคูลค่ะ ตัวเองสนใจและหาหนังสือมาอ่านเยอะค่ะ
ได้เอามาปรับใช้กับลูกด้วย แต่ก็ไม่สามารถถือว่าตัวเองทำโฮมสคูลค่ะ เพราะว่าเราขาด

1.ความมีวินัย เรื่องเวลาเรามีให้ลูกเต็มที่ค่ะ แต่บางครั้ง
1.1 ตัวเราเองต่างหากที่รู้สึกอยากขอเวลานอก
1.2 หรือบางทีลูกไม่ให้ความร่วมมือ
1.3 เคยกำหนดโปรแกรมไว้คร่าวๆ พอถึงเวลาจริงๆไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามที่ต้องการได้
1.4 บางโปรแกรมลูกใช้เวลาทำนิดเดียว (ไม่ค่อยมีสมาธิ) ก็เบื่อแล้ว
ยังนั่งคิดอยู่ว่า ถ้ามีกลุ่มเด็กเล็กๆมารวมกันเล่นต้องสนุกกว่านี้แน่นอน

2.โปรแกรมที่บรรจุ ในแต่ละวัน ความเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน ยังต้องศึกษาหาความรู้อีกเยอะ

3.เรื่องวิชาการ ซึ่งเราคิดว่า ถ้าจะทำจริงๆคงต้องศึกษาเยอะกว่านี้มาก
เช่นภาษาไทย เราคิดว่ามันยากนะที่จะทำให้เด็กอ่านออก ซึ่งตรงนี้
นับถือคุณหน่อย (แม่น้องพลอยชมพู) มากๆ ที่สามารถสอนน้องพลอยชมพูเอง
จนอ่านออกเขียนได้ขนาดนี้

4.ความไม่พร้อมของสถานที่ ด้วยที่บ้านตัวเองเป็นร้านขายของ
บางครั้งสอนๆลูกไป อ่านหนังสือไป ก็ต้องลุกขึ้นมาขายของ
เป็นการขัดจังหวะ และทำลายสมาธิเด็กเหมือนกัน

5.ความไม่แน่ใจ ในระบบการเทียบโอนในอนาคต

สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ คือใช้เวลาที่ลูกอยู่กับเราให้มีค่าที่สุด
โดยการสอดแทรกความรู้ไปในทุกวินาทีที่เราเล่นด้วยกันค่ะ
เห็นด้วยค่ะ เพราะว่าพ่อแม่จะได้ใกล้ชิดลูก และสามารถประเมินได้ว่าลูกเรามีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ไปถึงไหนแล้ว การไปโรงเรียนใช่ว่าลูกจะเรียนรู้ได้ทุกอย่าง แต่ต้องมาคิดถึงเวลาที่จะต้องมานั่งสอนลูกเพราะว่าทุกวันนี้ส่วนใหญ่ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานนอกบ้าน ถ้าจะทำขึ้นจริงๆ จะต้องมีพ่อหรือแม่ที่ต้องเป็นหลักคนหนึ่ง
ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับแนวคิดการสอนแบบโฮมสคูล ผมได้เริ่มการสอนแบบกึ่งโฮมสคูลให้กับลูกชายคนโต ตั้งแต่ก่อน 3 ขวบ แรงบันดาลใจคือเราอยู่ในอำเภอเล็กๆ ลูกเราจะส่งเรียนที่อื่นได้ไหม ไปโรงเรียนประจำดังๆ ก็สงสารลูกยังเล็ก อีกอย่างเชื่อมั่นว่าไม่มีใครเลี้ยงลูกเราได้ดีเท่าเราเอง หลังจากที่ตกลงกับศรีภริยาก็ตัดสินใจได้ว่า สอนกันเอง หาหนังสือเองเลือกหนังสือเอง
กลางวันเขาก็ไปโรงเรียนตามปกติ เรียนกับเพื่อนตามปกติ ช่วงเย็นหลังทำการบ้านเสร็จ ก็จะเป็นหลักสูตรของครอบครัว ผลัดกันสอน แม่บ้าง พ่อบ้าง ปัจจุบันเขาเรียนอยู่ชั้นอนุบาล ๒ โรงเรียนอนุบาลอำเภอ เขาอ่านหนังสือภาษาไทยได้ในระดับที่คล่อง รู้สระทุกตัว คณิตศาสตร์ ทำเลขระดับ ป. ๓ ได้ ภาษาอังกฤษก็อยู่ในเกณฑ์ดี ขาดแต่สนทนายังไม่คล่อง แม้เราไม่ได้จบเอกครูแต่เราก็สามารถทำได้ในระดับที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับหลานวัยเดียวกันที่ต้องนั่งรถไปเรียนเอกชนที่ตัวจังหวัด ไกลถึง 44 กม. ของเรายังเหนือกว่าทุกด้าน ปัจจุบันเขาเลยกลายเป็นผู้ช่วยครูช่วยสอนเพื่อนๆ ในวิชาต่างๆไปแล้ว และลูกยังมีเวลาได้เล่นได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
การเรียนแบบโฮมสคูลเป็นการเรียนที่ดีที่สุด ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีแบบแผน สามารถประเมินผลลูกของเราได้ตลอดเวลา ส่วนไหนเขาขาดเราก็สามารถเสริมใหกับเขาได้ตลอด อาจจะลำบากบ้างในครั้งแรกๆ แต่ถ้าลองพยายามดูแล้วจะรู้ว่าผลที่ได้มันยอดเยี่ยมจริงๆ เข้าเรียนอนุบาลใหม่ๆ ก็เจอปัญหากับครูเหมือนกัน ครูบอกว่าอย่าสอนล้ำหน้าครู ก็ต้องคุยกันอยู่พักใหญ่ กว่าครูจะยอมรับ อยู่โรงเรียนก็เป็นนักเรียนของครู อยู่บ้านก็เป็นนักเรียนของพ่อแม่ เชื่อเถอะครับ ว่าไม่มีใครเป็นครูสอนลูกไดดีเท่ากับพ่อแม่อีกแล้ว......
เห็นด้วยในหลักการค่ะ
แต่กังวลเรื่องการวางแผนการสอน เพราะไม่รู้ว่าต้องสอนอะไรหรือไม่สอนอะไรยังไง ถ้ามีการจัดแผนให้ก็น่าจะสามารถทำตามได้ไม่ยาก และน่าจะดีกว่าการเรียนในโรงเรียนเพราะเราจะสามารถดูแลเค้าได้อย่างทั่วถึงมากกว่า สามารถเติมเต็มส่วนที่เค้าไม่ได้และสนับสนุนส่วนที่เค้าได้แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ดีค่ะ อยากให้มีคนทำแบบนี้เยอะๆ จะได้มีแนวทางให้ทำตามได้ง่ายขึ้นเหมือนกับ "2ภาษาพ่อแม่สร้างได้"
สนับสนุนเต็มที่ค่ะ
แม่น้องข้าวเจ้า
Home school เท่าที่เข้าใจนั้น เป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วม เป็นการผูกสายใยครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
เพราะปัจจุบัน เด็กก้าวร้าว และ EQ ต่ำมีเยอะ สภาพแวดล้อม และสังคมเปลี่ยนแปลงไป
ครอบครัวจึงต้องเป็นสถาบันที่กล่อมเกลา เลี้ยงดูให้เด็กมีจิตใจดีมากขึ้น แต่ปัจจุบัน ครอบครัวโดยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว และทำงานมากขึ้น เวลาอยู่กับลูกเข้าใจลูกก็น้อยลง
ดังนั้น การที่สร้าง Home school ขึ้นมา ก็เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้กับครอบครัว ได้รับความรักและความเอาใจใส่จากผู้อันเป็นที่รักของเขา
การเรียนรู้ของเด็กจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียนรู้จากส่วนลึก ใช่ท่องเหมือนนกขุนทองหรือโดนบังคับให้เรียนตามระบบ....

แต่หลายครอบครัวมีความเห็นอยากทำ Home school แต่ติดที่ว่าทำงานเช้าเย็นกลับ นุ้ยคิดว่า การทำในช่วงวันหยุด หรือตอนที่กลับมาจากทำงาน การที่ลูกได้มีเวลาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ปกครอง ก็เป็นการดีระดับหนึ่ง สำหรับผู้ที่ทำงานทุกวัน
วันหยุด พาเด็กๆได้ออกไปเรียนรู้ที่นอกเหนือจากห้องเรียนได้ให้มา ให้เค้าเจอสถานที่จริง สภาพแวดล้อมจริง ก็เกิดการเรียนรู้ได้ เรียก Home school เช่นกัน แต่พ่อแม่ต้องเรียนรู้การไม่ปฏิเสธลูก เวลาลูกเกิดมีคำถาม หรือสนใจสิ่งหนึ่ง ควรรับฟังความคิดเห็น ถึงแม้จะเป็นการถูกหรือผิด การรับฟังความคิดของเด็ก เป็นการส่งเสริมให้เขารู้จักกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น...

ดังนั้นนุ้ยคิดว่า ไม่ว่าผู้ปกครองจะทำงานหรือไม่ การทำ Home school ก็สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ แต่คุณเองต้องมีความตั้งใจจริงด้วยนะคะ...
ขอให้ประสบความสำเร็จค่ะ....
อยากทำ แต่ไม่มีเวลา ตอนนี้โรงเรียนก็เหมือนที่รับเลี้ยงเด็ก แต่ก่อนเข้าเรียน ลูกเป็นเด็กดีเรียบร้อยน่ารัก เรียนไปซักพัก กลายเป็นเด็กเก๋าโจ๋ แก่น ทะโมน นี่แค่ 5 ขวบเองนะ ต้องขะนาบน่าดูเลย

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service