เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

ศัพท์และวลีที่น่าสนใจ

Excuse, excuse me, forgive, I am sorry, I apologize, I beg your pardon, pardon, pardon me, please accept my apology, please forgive me, regret, regrets only

ในภาษาอังกฤษคำว่ายกโทษหรือให้อภัยนั้นมีอยู่หลายคำคือ to excuse, to forgive และ to pardon และในกรณีทั่วๆ ไป ก็อาจใช้แทนกันได้ เช่น

Please excuse (หรือ forgive หรือ pardon) me for coming so late. โปรดให้อภัยด้วยที่มาช้า

แต่คำ to forgive และ to pardon นั้นมีความหมายหนักแน่นกว่า คือแสดงว่าผู้กล่าวคำขอโทษมีความรู้สึกผิดลึกซึ้ง หรือความผิดนั้นอยู่ในลักษณะร้ายแรง เช่น

I have lost the book you lent me. I can only hope you will forgive (หรือ pardon) me. ฉันทำหนังสือที่ท่านให้ยืมหาย ได้แต่หวังว่าท่านจะยกโทษให้

Jail-breaking is a serious offence. So the prisoner will not be forgiven (หรือ pardoned). การแหกคุกเป็นความผิดสถานหนัก ฉะนั้นจะไม่มีการอภัยโทษให้นักโทษ

ในตัวอย่างข้างบนนี้ถ้าใช้ to excuse ก็จะอ่อนไป อย่างไรก็ตาม ในภาษาพูดธรรมดาชาวอังกฤษมักใช้กริยาทั้งสามคำนี้แทนกันโดยสะดวกปาก

แต่มีข้อสังเกตอยู่ว่ามีกรณีที่คำทั้งสามคำนี้มีความหมายแตกต่างกันคือ บางกรณีต้องใช้ excuse me เท่านั้นหรือต้องใช้ I beg you pardon. หรือ pardon me เท่านั้น ใช้อย่างอื่นจะฟังดูแปร่งหูหรือทำให้ไม่เข้าใจทีเดียว ดังจะกล่าวต่อไปนี้

excuse me ใช้ในเมื่อจะพูดสอดที่เรียกว่าทะลุกลางปล้อง หรือจะทำอะไรพรวดพราดออกมาโดยอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ตัว เช่น

Excuse me, but I don't think that's true.
Excuse me for interrupting, but you are wanted on the phone.
Excuse me, can you tell me the way to the zoo?

นอกจากนั้นคำว่า excuse ยังแปลว่ายกเว้นให้โดยไม่ต้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น Can you excuse me from attending your party? ผมขอตัวไม่ไปในงานคุณได้ไหมครับ? หรือใช้เป็นกริยา reflexive เช่น I should like to excuse myself. ผมอยากจะขอตัวนะครับ ในกรณีเช่นนี้ อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจอนุญาติให้โดยพูดว่า You are excused. เมื่อเป็นนาม excuse จึงแปลว่าข้อแก้ตัวหรือคำขอตัว

I beg your pardon. แปลว่าขอโทษหรือขออภัยใช้ในเมื่อทำสิ่งที่คิดว่าอาจทำให้ผู้อื่นโกรธเคืองหรือเสียหายไปแล้ว ต่างกับ excuse me ซึ่งใช้ก่อนที่จะทำสิ่งที่อาจถือว่าไม่สุภาพ ตัวอย่างเช่นเมื่อเราไปเหยียบเท้า หรือเอาข้อศอกไปกระตุ้น หรือทำน้ำหกรดคนอื่นเข้า อย่างนี้จะใช้ excuse me ไม่ได้ ต้องรีบ I beg your pardon. ทันที สมมติว่าเผลอไปพูดว่า excuse me เข้าผู้ที่รับเคราะห์จะตาเขียวปัดทีเดียว เพราะคล้ายๆ กับว่าจะขอทำซ้ำเติมอีกให้หนักขึ้นโดยขออย่าให้ถือโทษเลย

นอกจากใช้ในกรณีนี้แล้ว I beg your pardon. ยังเป็นคำขอร้องให้พูดใหม่อีกที เพราะได้ยินไม่ถนัด ในกรณีนี้ จะต้องออกเสียงคำว่า pardon สูงเล็กน้อยคล้ายๆ กับเป็นคำถามว่าพูดว่ากระไรนะ? แต่ I beg your pardon. เป็นประโยคค่อนข้างยาวเวลาพูดเร็วๆ จึงต้องกลืนคำเสียบ้าง ได้ยินเป็น beg pardon หรือบางทีก็ได้ยินแค่ pardon เฉยๆ ข้อนี้ตามมารยาทสังคมเขาว่าไม่ควรกลืนเสียงให้เหลือแค่ pardon คำเดียว

อนึ่ง I beg your pardon. ยังมีที่ใช้อีกอย่างหนึ่งคือแสดงความไม่เห็นด้วยหรือคัดค้าน เช่น I beg your pardon. I think you are blaming the wrong man. ขอโทษทีผมคิดว่าคุณโทษคนผิดเสียแล้ว

pardon me ใช้ในการทักท้วง เมื่อเห็นมีผู้เข้าใจผิด เช่น Pardon me, this is my hat, not yours. ขอโทษครับนี่หมวกผม ไม่ใช่ของท่าน

please forgive me โปรดให้อภัยด้วย คำนี้มักไม่ใช้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และเป็นคำที่ไม่น่าพูดทันทีทันใด มักใช้เมื่อได้ใคร่ครวญแล้วว่าได้ทำความเดือนร้อนหรือรำคาญให้แก่ผู้อื่น คือไม่ใช่คำพูดติดปาก

นอกจาก excuse me, I beg your pardon, pardon me และ forgive me แล้ว คำขอโทษในภาษาอังกฤษยังมีอีกหลายคำ การแสดงความเสียใจก็เป็นการขอโทษในตัว เช่น I am sorry. หรือ I am so sorry. เพราะฉะนั้นแทนที่จะกล่าวคำขอโทษ อาจแสดงความเสียใจก็ได้ เรื่องการแสดงความเสียใจในภาษาอังกฤษเป็นเรื่องน่าสนใจมากอยู่เหมือนกัน ถ้าเราคบค้ากับชาวอังกฤษหรือไปอยู่เมืองอังกฤษจะได้ยินคำว่า I am sorry. วันละหลายสิบครั้ง เขาจะแสดงความเสียใจกันไม่เฉพาะแต่ในเรื่องทุกข์โศกเท่านั้น หากในเรื่องที่ต้องทำให้อีกฝ่ายหนึ่งผิดหวังหรือขุ่นเคือง เรื่องเช่นนี้เราก็พอเข้าใจ แต่ในบางกรณีคนไทยก็รู้สึกว่าแปลกและไม่จำเป็น เช่น ตีบิลเลียดลูกฟลุกลงหลุมไป หรือตีเทนนิสไต่ตาข่ายไปตกอีกข้างหนึ่งซึ่งคู่แข่งขันไม่มีทางรับได้ อย่างนี้ก็ถือเป็นมารยาทที่จะต้องกล่าวว่า I am sorry. ถึงแม้ในใจรู้สึกยินดี

ตัวอย่างวิธีใช้ I am sorry.

I am sorry. I am late. ขอโทษที่มาสาย
(I am) sorry. But I can't lend you any money. ขอโทษที่ทำให้ผิดหวัง แต่ดิฉันไม่อาจให้คุณขอยืมเงินได้
I am sorry. That was a fluke. ขอโทษด้วย นั่นเป็นเหตุบังเอิญ
ส่วนคำว่า I am so sorry. นั้นเป็นคำขอโทษที่ทำความผิดพลาดอย่างหนัก เช่น เหยียบเท้าหรือชนล้ม คำนี้ใช้แทน I beg your pardon. ได้

คำที่แปลว่าเสียใจนั้นนอกจาก to be sorry ยังมีอีกคำหนึ่งคือ to regret แต่คำนี้ออกจะเป็นภาษาหนังสือไปสักหน่อย เช่น เขียนในจดหมายปฏิเสธคำเชิญว่า I regret to be unable to come. คำนาม regrets นั้นแปลว่าความเสียใจที่ไปตามที่เชิญไม่ได้ และในบัตรเชิญมักพิมพ์ไว้ที่มุมล่างว่า regrets only พร้อมทั้งเลขหมายโทรศัพท์ หมายความว่าถ้าไปไม่ได้จึงขอให้โทรศัพท์ไป ถ้าไปได้ก็ไม่ต้องแจ้งไป

คำขออภัยยังมีอีกคำหนึ่งคือ I apologize. หรือ Please accept my apology. ซึ่งเป็นการขอโทษกันอย่างเป็นทางการจริงๆ และไม่ใช้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น I apologize for my son's bad behavior. ฉันขอโทษที่ลูกชายแสดงมารยาทเลวทรามด้วย

การขอโทษยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือในกรณีที่ขอร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งงดเว้นการกระทำที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ แต่เป็นการขอร้องอย่างเกรงใจจึงคล้ายๆ เป็นการขอโทษที่พูดเรื่องนี้ เช่น กำลังทำงานมีคนผิวปากหนวกหู หรือเปิดวิทยุดังลั่น หรือสูบบุหรี่ไม่เป็นแต่มีคนสูบซิการ์พ่นใส่หน้าอยู่เรื่อย อย่างนี้ในภาษาอังกฤษมีคำว่า Would you mind stopping whistling? Would you mind turning off the radio? หรือถ้าไม่ต้องการพูดให้หมดเปลือกก็ใช้เพียงว่า Would you mind? แต่ก็ต้องทำเสียงและทำหน้าตาประกอบให้รู้ว่าเรื่องอะไรกันด้วย

หนังสืออ้างอิง: ภาษาอังกฤษน่ารู้ โดย วิทย์ ศิวะศริยานนท์ หน้า 252-256 พิมพ์ครั้งที่ 5

สมัยที่ผมเรียนตอนมัธยมอาจารย์เค้าให้จำว่า
Excuse me --> ใช้ในกรณีที่เรากำลังจะสร้างความยุ่งยากให้เกิดขึ้น เช่น ลุกออกจากที่นั่งในโรงหนังที่ต้องเดินผ่านที่นั่งอื่น ๆ ที่มีคนนั่งอยู่
Sorry --> ใช้ในกรณีที่เราได้กระทำสิ่งนั้น ๆ ไปแล้ว จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น เดินเหยียบเท้าคนอื่น หรือ เดินชน อันนี้ต้อง Sorry เลยนะครับ so อู้ หรือ so ด้วงก็ไม่ได้เช่นกัน (มุขจะแป๊กหรือเปล่าน่ะ)

Views: 787

Replies to This Discussion

ได้ประโยชน์มากเลยค่ะ คุณพ่อน้องเบลส

เรียนตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาลัย...อ่านหนังสือเข้าใจ ตอนสอบตอบได้...แต่เวลาใช้จริงลืม อิอิ ไม่รู้คนอื่นจะเป็นเหมือนโน้ตอะเปล่าเนี้ย
ขอบคุณค่ะ เอาเรื่องดีๆ มาฝากกันอีกแล้ว ^^
ขอบคุณค่ะ คุณพ่อน้องเบลส แล้วอยากถามว่า---ที่คุณครุสอนสมัยเรียนมัธยม ถูกต้องหรือเปล่าคะ (อ่านแต่สรุปเลยน่ะค่ะ)
ถูกต้องครับ ใช้ได้กับที่สรุปให้เลยครับ
รบกวนถามต่อนะคะ
Would you mind stopping whistling? คุณจะว่าอะไรไหมถ้าจะขอให้หยุดผิวปาก
Would you mind turning off the radio? คุณจะว่าอะไรไหม ถ้าจะขอให้ปิดวิทยุ แปลถูกเป่าไม่รู้คะ
แล้วเวลาตอบจะตอบยังไงคะ
เป็นคำถามที่ดีเลยครับ ผมก็ลืมนึกไปเลยว่าจะต้องตอบยังไง ตอบเพิ่มตามนี้ครับ

Would you mind turning off the radio? เมื่อผู้ถามนั้นสู้อุตส่าห์ถามด้วยสำนวนการใช้ภาษาที่สุดภาพขั้นเทพว่า “จะเป็นการรังเกียจมั้ยครับถ้าผมจะขออนุญาตปิดวิทยุ” แต่ผู้ตอบนั้นกลับตอบอย่างไร้มิตรภาพกลับมาหน้าตาเฉยว่า “Yes” หรือ “รังเกียจสิ” ซึ่งในกรณีนี้ถ้าคุณยินดีกับคำขอร้องว่า Would you mind if …..? คุณสามารถตอบว่า No, certainly not. (ไม่เป็นไรครับ ไม่รังเกียจเลย) หรือ No, go ahead. (ไม่เป็นไรค่ะ ตามสบายเลยครับ)

“เอ้า! แล้วถ้าฉันรังเกียจล่ะ” จะตอบอย่างไรดี เช่น การที่หัวหน้าฝรั่งของเธอขอสูบบุหรี่ในห้องประชุมโดยการพูดว่า “Would you mind if I smoke?” เหตุการณ์นี้ทำให้เธอกระอักกระอ่วนใจ เพราะเธอต้องการจะตอบในความหมายว่า “คงไม่ได้หรอกค่ะ” มากกว่าที่จะสื่อสารไปในความหมายว่า “รังเกียจค่ะ” ในกรณีเช่นนี้ขอแนะนำให้ตอบว่า “I’m sorry.” หรือ “I’m afraid not.” เป็นคำตอบที่ผ่อนรับผ่อนสู้ที่สุด และมีมารยาทพอที่จะทำให้ผู้ถามเกรงใจเราได้ครับ
โอโฮ้สุดยอด กระเทียมเจียว ขอบคุณมากมากคะ เข้าใจแล้วคะ ดีจังเลยอะ พอไม่รู้ก็มีคุณครูมาช่วยตอบให้แบบเคลียร์เคลียร์ไปเลย สมัยเรียน ไม่เข้าใจก็ไม่กล้าถามเลยไม่รู้มาจนทุกวันนี้เพิ่งรู้เดียวนี้นี่เองคะ ขอบคุณนะคะ น้องคิงส์ ขอแอบสนิทเป็นพี่เป็นน้องเลยดีก่า
โอ้โห โปรมากเลยค่ะได้ความรู้เยอะจริง ๆค่ะ
ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ
ขอบคุณมากเลยคะ ถ้าสมมุตเจ้าตัวเล็กชอบเล่นแรงๆกับปะป๊า เช่น เอามือไปตีหน้า เอามือไปข่วนหน้า ต้องสอนให้เขาพูดว่า " I am sorry" ทุกครั้งคะพร้อมยกมือไหว้ด้วย ต้องฝึกนิสัยหน่อย

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service