เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

อย่าเขย่าลูก! (Never Shake the Baby!) ตอนที่ 2

บันทึกรักกำเนิดสุข ตอนจบ ความรัก กำลังใจ และความศรัทธา

เขียนโดย: บุษบรรณ (สินธุเสก) นพวงศ์ ณ อยุธยา (บิ๋ม)

พริมลูกรักของแม่ 

ผลการวินิจฉัยทางการแพทย์สรุปออกมาแล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวหนูไม่ใช่ความบกพร่องทางสมองที่อาจเป็นกันได้โดยกำเนิด  หากแต่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับหนู เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการที่หนูถูกเขย่าอย่างรุนแรง หรือที่เรียกกันว่า Shaken Baby Syndrome (SBS)

แม่ไม่อยากเชื่อเลยว่าลูกของแม่จะถูกเขย่าอยากรุนแรงจนเลือดออกในเยื่อหุ้มสมองและแก้วตาข้างขวา  ใครนะช่างใจร้ายทำหนูได้ถึงเพียงนี้  แม่ปวดแปลบเข้าไปที่หัวใจอีกครั้งหนึ่ง  มันเป็นความรู้สึกเจ็บปวด  ในขณะนั้นแม่ไม่รู้ว่าลูกจะเป็นอย่างไรต่อไป ทุกครั้งที่พ่อกับแม่พูดกันถึงเรื่องของหนู  แม่ร้องให้ทุกครั้งซึ่งคุณพ่อของหนูก็พยายามให้กำลังใจแม่ตลอดเวลา  พริมจ้ะ  แม่กลัวเหลือเกิน  แม่ไม่อยากให้หนูเป็นอะไรเลย  แม่ได้แต่ภาวนาขอให้หนูกลับมาเป็นปรกติทุกอย่างดังเดิม

หนูมีอาการดีขึ้นจนกระทั่งคุณหมออนุญาตให้หนูออกจากห้อง NICU ได้แล้วจ้ะ  อย่างไรก็ดี  หนูยังต้องพักในโรงพยาบาลกับแม่อีกระยะหนึ่งจนกว่าจะแข็งแรงขึ้นนะจ๊ะ  ช่วงนี้ทีมแพทย์ได้เข้ามาดูอาการของหนูอย่างใกล้ชิด  พ่อกับแม่ได้สอบถามคุณหมอว่าเหตุใดทีมแพทย์จึงสรุปอาการของหนูออกมาว่าเป็นการถูกเขย่าอย่างรุนแรง  คุณหมอได้ให้คำอธิบายว่า อาการถูกเขย่าอย่างรุนแรง  หรือ  Shaken Baby Syndrome (SBS)  คืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยการเขย่าตัวเด็ก  ทำให้คอและศรีษะของเด็กเล็กถูกแรงเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาข้างหน้าและข้างหลังอย่างแรง  การที่ลำคอของเด็กเล็กซึ่งยังไม่แข็งแรงนักและศรีษะของเด็กเล็กมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัวถูกแรงเหวี่ยงไปๆมาๆอย่างแรงและเร็วเพียงเวลาไม่นานนัก  ก็สามารถทำให้เส้นเลือดในบริเวณเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด  รวมทั้งส่งผลไปถึงเส้นเลือดในจอตา (Retina) ฉีกขาดอีกด้วย  อาการสองอย่างนี้เป็นสาเหตุหลักในการสรุปผลการวินิจฉัยอาการ Shaken Baby Syndrome (SBS) 

หนูอยู่โรงพยาบาลประมาณ 2 อาทิตย์  ในที่สุดคุณหมอก็อนุญาตให้กลับบ้านได้จ้ะ ช่วงแรกๆ เวลาอุ้มหนูแม่ต้องคอยช้อนคอไว้เหมือนเด็กทารกแรกเกิดประมาณ 2-3 เดือน ทั้งๆที่ตอนนั้นหนูอายุได้ 5 เดือนแล้ว  หนูเริ่มคอแข็งขึ้นและร่างกายแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้แม่มีกำลังใจมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกันจ้ะ  เวลาหนูอยู่ในอ้อมอกและดูดนมแม่เป็นช่วงที่มีความสุขมาก แม่ได้กอดหนูไว้นานๆให้หนูได้ฟังเสียงหัวใจแม่เต้นและรู้ว่าแม่รักหนูมากแค่ไหน  แม่เชื่อว่าพลังแห่งความรักที่พ่อกับแม่ส่งให้หนูเนี่ยแหล่ะเป็นยาขนาดดีที่สุดในการรักษา  เกือบทุกครั้งที่หนูอยู่ในอ้อมอกแม่  แม่จะนั่งสมาธิอธิฐานจิตถึงเจ้ากรรมนายเวรของหนูเพื่อขออโหสิกรรมในสิ่งใดก็ตามที่อาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับหนู   พริมจ้ะ  มีคนแนะนำให้หนูเปลี่ยนชื่อเป็นตัว ม.ม้า นะจ๊ะ  พ่อกับแม่เลือกชื่อให้หนูใหม่แล้ว ส่วนชื่อเล่นเราเปลี่ยนให้หนูด้วยเป็น “มิ” นะจ๊ะ (น่าเสียดาย  แม่กับพี่ปราง ชอบชื่อพริมมากๆเลย) 

แม่ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการ Shaken Baby Syndrome (SBS)  แม่ถึงกับช็อคเมื่อรู้ว่าหากเด็กถูกเขย่าอย่างรุนแรงมากและไม่ได้รับการรักษาอย่างทันถ่วงที  เด็กก็มีโอกาสเสียชีวิตได้  หรือถ้ารอดชีวิต  เด็กเหล่านั้นอาจมีความบกพร่องทางสมองหรือทางพัฒนาการด้านต่างๆ  รวมทั้งอาจทำให้เด็กพิการหรือตาบอดไปเลยก็ได้   ในหลายๆประเทศได้มีเด็กที่ถูกทำร้ายเช่นนี้อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย  สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำชั่ววูบเพราะความโมโหหรืออ่อนเพลียจากการเลี้ยงลูก  โดยมักจะเกิดขึ้นในเด็กที่ร้องให้กวนใจมากๆ  แม่พบว่าหลายๆรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญในการรณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องนี้กันพอสมควร  แม่เชื่อว่ายังมีพ่อแม่อีกหลายๆครอบครัวเลยนะจ๊ะที่ไม่เคยรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการเขย่าเด็กทารก

แม่มาย้อนคิดถึงเหตุการณ์ตอนที่พ่อกับแม่ต้องเครียดต้องลุ้นอยู่หน้าห้องผ่าตัด  แม่เข้าใจความรู้สึกของคนเป็นพ่อเป็นแม่ของเด็กเล็กๆที่ป่วยหนักทุกคนเลยว่าจะมีความรู้สึกทุกข์ใจเพียงใดในวินาทีที่ต้องเฝ้าลูกหน้าห้องผ่าตัดเพื่อรอฟังผลของลูกน้อย  แม่ปรึกษาคุณพ่อว่าแม่อยากมีโอกาสได้ช่วยเด็กเหล่านี้  ในที่สุดเราเลยคิดที่จะก่อตั้งมูลนิธิขึ้น  แม่ตั้งชื่อย่อว่า HAP ซึ่งมีความหมายว่า “Fortunate or Goodluck”  และใช้ชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษว่า  “Humanity And Peaceful (HAP) Foundation of Thailand”   ส่วนชื่อภาษาไทยนั้นแม่ตั้งชื่อว่า “มูลนิธิกำเนิดสุชแห่งประเทศไทย”

มิมิจ๋า  แม่เชื่อเสมอว่าหนูจะต้องกลับมาเป็นเหมือนเดิมจ้ะ  พ่อกับแม่เชื่ออย่างนั้นจ้ะ  แม่คอยสังเกตพัฒนาการของหนูในแต่ละเดือน   แม่เชื่อว่าหนูจะสามารถผ่านพัฒนาการในช่วงสำคัญๆของเด็กๆได้เหมือนกับเด็กคนอื่นๆแน่นอนจ้ะ  แต่เพื่อไม่ให้เป็นการกดดันตัวเองจนเกินไปนัก  แม่มักจะแอบตั้งเป้าไว้ช้ากว่าเกณฑ์มาตรฐานนิดหน่อย  อันนี้ก็แล้วแต่ความยากง่ายของพัฒนาการด้วยนะจ๊ะ  และในแต่ละครั้งที่หนูสามารถทำได้  พ่อกับแม่ดีใจมากๆเลยจ้ะ  แม่ยังจำได้ถึงช่วงเวลาสำคัญๆ เช่น การนอนพลิกคว่ำพลิกหงายได้เอง  อันนี้คุณหมอพัฒนาการสั่งให้มาฝึกท่าพลิกตัวกันเลยทีเดียว  กว่าหนูจะทำได้เองโดยไม่มีใครช่วย  เล่นเอาแม่เหนื่อยไปเลย  แม่เริ่มมีกำลังใจมากขึ้นในทุกๆวันที่เห็นหนูมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจ้ะ 

พ่อกับแม่พาหนูไปโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ  หนูต้องพบสารพัดคุณหมอเพื่อติดตามดูอาการของหนู  ไม่ว่าจะเป็นกุมารแพทย์ด้านระบบประสาท กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการ  จักษุแพทย์ หรือแม้กระทั่งกุมารแพทย์ด้านกระดูกสันหลัง   ในช่วง 1-2 ปีแรก  การติดตามอาการด้านระบบประสาทของหนูดูเหมือนจะดีขึ้นตามลำดับ  ภายหลังการตรวจคลื่นสมองในครั้งหลังสุดดูไม่มีอาการที่น่าเป็นห่วง  คุณหมอจึงสั่งเลิกทานยากันชัก เช่นเดียวกับด้านพัฒนาการกล้ามเนื้อของหนูก็ค่อยๆดีขึ้น  จะช้ามากน้อยขึ้นอยู่กับความยากง่ายของพัฒนาการ  แม่จำได้ว่ากว่าหนูจะเดินได้ก็ประมาณ 1 ขวบ 6 เดือน ตอนนั้นแม่แอบกลุ้มอยู่หลายเดือนเชียว  ช่วงนั้นดูเหมือนทุกอย่างเริ่มไปได้ดี  เมื่อหนูอายุได้ขวบกว่าๆ หนูเริ่มพูดเป็นคำๆได้บ้าง  คุณหมอขอให้พยายามกระตุ้นพัฒนาการพูดต่อไป  จะมีที่น่าเป็นห่วงก็เรื่องอาการเลือดออกในจอตาข้างขวาเนี่ยแหล่ะจ้ะ  ไม่น่าเชื่อเลยว่ากว่าเลือดจะออกจากจอตาหมดนี่ใช้เวลาเป็นปี  เลยทำให้ตาข้างขวาหนูเป็นตาขี้เกียจ (Lazy Eye) เพราะแทบจะเรียกได้ว่าหนูไม่ค่อยได้ใช้ตาข้างขวามาตั้งแต่หนูอายุได้ 5 เดือนแล้วนี่จ๊ะ  คุณหมอพยายามรักษาหลายวิธีมาก ไม่ว่าจะให้หนูปิดตาข้างที่ดีเพื่อฝึกตาข้างที่ขี้เกียจ  หนูก็กระชากออกทุกครั้ง  ให้ใส่แว่นตา  หนูก็ดึงออก  คุณหมอบอกว่าอาการตาขี้เกียจสามารถรักษาได้แต่ไม่ควรทิ้งไว้เกินอายุ 6-7 ปี  มิมิจ๋า หนูช่วยให้ความร่วมมือหน่อยได้มั๊ยจ๊ะ  ไม่อย่างนั้น  คุณหมออาจต้องผ่าตาหนูด้วยนะ  (อันนี้แม่ไม่ชอบเลย)

หนูเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลเมื่ออายุได้ 2 ปี 2 เดือน  ในช่วงแรกของการไปเรียน หนูมักจะร้องให้มากเนื่องจากต้องปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนมากมาย แม่ไปอยู่กับหนูที่โรงเรียนด้วยเป็นเดือน  มีอยู่ครั้งหนึ่งทางโรงเรียนแจ้งแม่ว่าจะขอให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษมาดูเด็กๆที่โรงเรียน  ซึ่งทางโรงเรียนจะขอดูหนูด้วย  ผลการประเมินออกมาก็ไม่ได้น่าเป็นห่วงอะไร นอกจากจะแนะนำให้หนูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง  อย่างไรก็ดี แม่เริ่มกังวลและหาข้อมูลอย่างหนักอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าพัฒนาการบางอย่างของหนูที่ล่าช้านี้เกิดจากอุบัติเหตุกระทบกระทือนทางสมองในครั้งนั้น  มิใช่เกิดจากอาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  แม่เริ่มกังวลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หนูซนมากๆ อีกทั้งยังเจ้าอารมณ์ชอบร้องกรี๊ด  รวมทั้งการที่หนูพูดช้าไม่สมวัย โชคดีที่แม่ได้พบกับกลุ่มเรนโบว์ที่ก่อตั้งโดยรุ่นพี่มาแตร์ของแม่  แม่ได้รับข้อมูลดีๆ  จากป้าโรส ป้าติ๊ก และรู้จักคนดีๆอีกมากมาย  นอกจากนั้นแม่ยังพาหนูไปหานักบำบัดการพูดอยู่ช่วงหนึ่ง  รวมทั้งกลับไปหาคุณหมอด้านระบบประสาทและคุณหมอพัฒนาการเด็กเพื่อเช็คอาการต่างๆ  คุณหมอบอกว่าหนูไม่ได้มีลักษณะอาการแบบเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  ช่วงนั้นแม่ศึกษาข้อมูลรวมทั้งพาหนูไปหาหมอและนักบำบัดอยู่พักใหญ่ๆ และทุกครั้งที่แม่พูดกับคุณพ่อ  เราจะต้องหงุดหงิดกันทุกครั้ง  หลายครั้งที่แม่ร้องให้  แม่พยายามอธิบายให้คุณพ่อหนูฟังว่าแม่เพียงแค่ต้องการเช็คดูในหลายๆด้านให้มั่นใจว่าลูกเราเป็นอะไร  เพื่อที่เราจะได้คอยสนับสนุนเขาให้ถูกวิธี

ตลอดช่วงอายุ 2-3 ปีของหนู  แม่พยายามฝึกหนูเองโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายๆอย่างของหนู โดยเฉพาะอาการเอาแต่ใจตัวเอง  ก็อย่างที่คุณหมอเคยเตือนพ่อกับแม่ไว้นั่นแหล่ะว่าไม่ให้ตามใจหนูมากจนเกินไปเพราะโดยมากพ่อกับแม่มักจะสงสารและตามใจเด็กที่เคยมีปัญหาตอนเล็กๆ จนทำให้เด็กเสียนิสัย  แม่เชื่อว่าหนูคงจะเป็นแบบนั้นนั่นแหล่ะ  หลังจากหนูไปโรงเรียนได้ 1 ปีครึ่ง ครูที่โรงเรียนเอ่ยปากชมหนูเสมอๆว่าหนูมีพัฒนาการด้านการพูดดีขึ้นมาก รวมทั้งทักษะการเข้าสังคม หนูร่าเริงและเป็นที่รักของเพื่อนๆและคุณครู  มิมิจ๋า พ่อกับแม่ภูมิใจในตัวหนูมากๆเลยรู้มั๊ยจ๊ะ 

 

บทสรุปต่อท้าย

ปัจจุบันน้องมิมิอายุ 4 ปี กำลังพูดได้คล่องขึ้นเรื่อยๆ มิมิเป็นเด็กที่ฉลาด สนุกสนานร่าเริง อารมณ์ดีและเป็นที่รักของทุกๆคน  จะเหลือเรื่องที่พ่อกับแม่ต้องคอยแก้ไขคือเรื่องของตาข้างขวาที่จะเขออกเป็นบางครั้งเมื่อมองระยะไกล

ในส่วนของมูลนิธิ  ปัจจุบันมูลนิธิกำเนิดสุขแห่งประเทศไทยได้ริเริ่มแคมเปญ “Never Shake The Baby” เพื่อรณรงค์เรื่องการไม่เขย่าเด็กเล็กอย่างรุนแรง  โดยมุ่งหวังให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงอันตรายที่จะตามมา สร้างความรู้ความเข้าใจ เป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการเขย่าเด็กเล็ก  นอกจากนี้  มูลนิธิกำเนิดสุขฯยังวางแผนที่จะช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางสมองและพัฒนาการ  รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างความรักความผูกพันในครอบครัว  การแบ่งปันทัศนคติการเลี้ยงดูเด็กใม่จำกัดประเภทอีกด้วย  สนใจรับข้อมูลข่าวสารหรือกิจกรรมดีๆ ได้ที่ Facebook  ค้นคำว่า  HAP Foundation  หรือ http://www.hap.or.th

Views: 1374

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service