ใครๆ ก็อยากเรียนเก่ง อยากฉลาด อยากพูดโน้มน้าวใจคนเก่งอย่างนักขายมืออาชีพ อยากเป็นพิธีกรที่พูดได้คล่องแคล่ว ไม่ติดขัด ซึ่งทุกคนฝึกฝนได้และทำได้ ขอแค่จัดระเบียบความคิดให้เป็นระบบก็พอ พูดง่าย แต่ทำให้ได้ต้องฝึกฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่เคยฝึกจัดลำดับการทำงานเลย วันนี้จึงอยากนำเสนออุปกรณ์ที่ช่วยจัดระเบียบชีวิตให้กับทุกคน อุปกรณ์นั้นคือ Mind Map
ดำเกิง ไรวา วิทยากรจากบริษัท บูซาน ประเทศไทย จำกัด แนะเทคนิคเริ่มต้นฝึกฝนกระบวนการ "สร้างแผนที่ความคิด" ด้วยเกมง่ายๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เล่นกันในครอบครัว พี่น้องได้ เหมือนกับรายการเกมโชว์ทางทีวี เครื่องมือไม่มีอะไรมาก แค่กระดาษเปล่าหนึ่งแผ่น ดินสอหนึ่งแท่ง เผื่อยางลบไว้ด้วยก็ดี ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มวาดแผนที่ความคิดกันเลย!
ลองสมมุติสถานที่เที่ยวขึ้นมาสักแห่งจะเป็นหัวหิน ดอยอินทนนท์ หรือวางแผนกางเต็นท์เขาใหญ่ก็ได้ จากนั้นให้ทุกคนที่ร่วมเล่นเกมช่วยกันคิดว่าควรจะเอาของอะไรติดตัวไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเต็นท์ เสื้อกันหนาว รองเท้าผ้าใบ ไฟฉาย จนกระทั่งได้สิ่งของทั้งหมดกว่า 30 ชิ้น จดลงบนกระดาษ แล้วคว่ำกระดาษลงบนโต๊ะให้ทายสิ่งของทั้ง 30 ชิ้นตามลำดับ
การฝึกคิดแบบมายด์แมพให้เริ่มถกกันตั้งแต่สถานที่เที่ยว และของที่จะนำไปเป็นชิ้นแรก เรียงลำดับมาจนถึงชิ้นสุดท้าย และแทนที่จะเขียนชื่อสิ่งของให้วาดเป็นรูปสัญลักษณ์แทนสิ่งของลงบนกระดาษเปล่าไม่มีเส้น
ดำเกิง ไรวา "เด็กไทยส่วนใหญ่ถูกสอนมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ให้จดบันทึกข้อมูลทั้งหมดเรียงตามลำดับ สิ่งที่ได้คือข้อมูลที่ครบถ้วน แต่จำยาก ยิ่งจดไม่เป็นหมวดหมู่ยิ่งหายาก"
เครื่องมือจัดระเบียบความคิดที่เรียกว่า "มายด์แมพ" จึงช่วยจำ ช่วยฝึกคิดได้ตลอดเวลา และยังสนุกกับการคิด สนุกกับการจำ ยิ่งสนุกยิ่งอยากจำ อยากคิด
มายด์แมพเป็นผลงานของนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ชื่อ โทนี บูซาน เขาให้ความหมายของ Mind Map ไว้เมื่อปี 2517 ว่า คือแผนที่เส้นทางอัจฉริยะ เปรียบเสมือนลายแทงที่นำไปสู่การจดจำและการเรียบเรียง จัดระเบียบข้อมูลตามธรรมชาติการทำงานของสมองตั้งแต่ต้น หากสร้างแผนที่ความคิดได้การจำและการฟื้นความจำเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว หรือเรียกข้อมูลกลับมาในภายหลังทำได้ง่าย ถูกต้องแม่นยำมากกว่าการใช้เทคนิคการจดบันทึกแบบเดิม หรือท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง
"เคยนึกอะไรออกเวลาอาบน้ำ หรือระหว่างขับรถ คิดว่าจำได้ แต่พอไม่ได้จด มานึกอีกทีก็ลืมคิดไม่ออก แต่พอลองนึกออกมาเป็นภาพ ช่วยให้นึกได้เร็วขึ้น"
ดำเกิงเริ่มทำความรู้จักกับมายด์แมพจริงจังตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ โดยคิดหาวิธีทำอย่างไรให้เรียนเก่ง จดจำเนื้อหาในหนังสือได้อย่างแม่นยำ เริ่มต้นจากหนังสือของ อาจารย์ธัญญา ผลอนันต์ ผู้ที่นำเทคนิคมายด์แมพจากประเทศอังกฤษเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นคนแรก จากนั้นก็ใช้มายด์แมพมาตลอด 8 ปี กระทั่งปัจจุบัน พบว่าตนมีทักษะพูดโน้มน้าวใจคน โดยใช้เวลาไม่กี่นาที สามารถจำคนจำนวนมาก ได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการฝึกฝน
"คนที่คิดแบบมายด์แมพจะมีความคิดที่แตกแขนงไปได้มากกว่า จำได้ สื่อสารเรียนรู้ได้เร็วกว่า มายด์แมพเป็นเครื่องมือช่วยฝึกสมองความจำได้อย่างดี"
แผนที่ความคิดไม่ได้ใช้เพื่อฝึกจดจำตำราได้เท่านั้น แต่ยังนำไปประยุกต์ใช้กับงานได้หลายด้าน การพูด นำเสนองาน หากจัดลำดับความคิดเป็นมายด์แมพ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ทำให้ระบบงานแข็งแรงขึ้น วางแผน เป้าหมาย สื่อสารกันเองในองค์กร นำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมการพูด เจรจาต่อรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ผมว่าคนหันมาเขียนมายด์แมพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคของข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเราต้องการจัดการกับข้อมูลเยอะในเวลาที่มีอยู่จำกัด" เขากล่าว และว่า มายด์แมพช่วยได้จิปาถะไม่ติดขัดอายุอานาม
ดำเกิงบอกว่า มายด์แมพสามารถประยุกต์ใช้ได้ร้อยแปดพันประการไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการจำระบบการทำงาน วางแผน ตั้งเป้าหมาย การสื่อสาร การนำเสนอ ระดมสมอง ตัดสินใจ เจรจาต่อรอง การบริหารโครงการ ตลอดแก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กร เป็นต้น
"ผมคิดว่าสิ่งที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวันสามารถนำมาเขียนเป็นมายด์แมพได้หมด" วิทยากรมายด์แมพ กล่าว
ถึงแม้ว่าเทคนิคมายด์แมพสามารถหาอ่าน และเรียนรู้ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ แม้แต่คลิปวิดีโอบนยูทูป เพียงพิมพ์คำค้นว่า Mind map ลงไป คลิปตัวอย่างฝึกมายด์แมพออกมามากมาย แต่ก็ใช่ว่าดูคลิป หรือเข้าคอร์สแล้วจะทำได้เชี่ยวชาญกันข้ามชั่วโมง การเขียนแผนที่ความคิดเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนกันอยู่เสมอจนเป็นไปตามธรรมชาติ
สำหรับคนเริ่มต้นอาจใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มายด์แมพช่วยเรียนรู้กระบวนการได้ง่าย สะดวก และเป็นระเบียบ ข้อมูลมีหลายมิติ สามารถโยกย้าย แก้ไขข้อผิดพลาด ส่งต่อเป็นไฟล์ผ่านอีเมลได้อย่างรวดเร็ว
เทคนิคสำคัญสำหรับการเขียนมายด์แมพ ดำเกิง มองว่าผู้ใช้ต้องฝึกจินตนาการ ฝึกเชื่อมโยงภาพกับข้อมูล การเขียนมายด์แมพโดยใช้ภาพสื่อสารแทนข้อความ จะช่วยให้การจดจำแม่นยำยิ่งขึ้น
เริ่มต้นจากวางกระดาษในแนวนอนให้กวาดสายตาดูได้อย่างสะดวก วาดโลโก้ของตัวเองไว้ตรงกึ่งกลางของกระดาษ จากนั้นค่อยๆ ลากเส้นเชื่อมโยงความคิดจากตัวเองออกมาเป็นเส้นรัศมี สำหรับคำที่ใช้ ควรเป็นคำที่สั้น ได้ใจความ ไม่เยิ่นเย้อ เพราะพื้นที่บนหน้ากระดาษของมายด์แมพมีค่ามหาศาล เพราะสามารถย่อยข้อมูลที่มีหลายหน้าให้อยู่ในหน้าเดียว วิธีการอ่านมายด์แมพให้อ่านจากด้านในไปด้านนอก
"มายด์แมพเปรียบได้กับมีดพก Swiss Army ที่มีอุปกรณ์เล็กๆ ซ้อนอยู่ โดยหลายคนใช้มายด์แมพเป็นเครื่องมือสำคัญระดมสมอง แม้ความคิดแรกๆ มักจะฟังดูไม่เข้าท่า แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเพราะความคิดแรกๆ มันต่อยอดไปสู่ไอเดียอื่นที่เป็นเป้าหมายในที่สุด" นักสร้างแผนที่ความคิด กล่าว
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้