เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจโรงเรียน Blingual school เป็นคอลัมส์เก่าแล้วแต่ก็ยังได้ประโยชน์

ตามอ่าน link เก่าได้ที่
โรงเรียนสองภาษา Bilingual School


ปัจจุบันในโลกยุคไร้พรมแดน ใครเก่งภาษา ย่อมมีภาษี... เพราะจะสามารสื่อสารได้กว้างขวางในระดับนานาชาติ ในสังคมไทยวันนี้จึงเกิดความนิยมเรียนภาษาที่สอง ที่สาม ที่สี่... แล้วแต่โอกาสของแต่ละคนจะอำนวย แต่ที่แน่ๆ ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ของเราได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เด็กไทยยุคใหม่จะต้องสามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ในการแข่งขัน และเจรจาต่อรองในเวทีระดับนานาชาติ และประกาศนโยบายที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

การเรียนภาษาอังกฤษจึงไม่ใช่แค่ภาษาทางเลือกอีกต่อไป ขณะนี้กลายเป็นภาษาหลักในการสื่อสารอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งควรต้องสื่อสารได้ดีทั้งการอ่าน การเขียน การฟัง และการพูด การเรียนภาษาอังกฤษของเด็กๆ ในวันนี้ จึงไม่ใช่แค่กิจกรรมเสริมที่พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนกวดวิชาตามสถาบันต่างๆ แต่พ่อแม่กำลังมองหาโรงเรียนที่สามารถให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ วิชาการอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายทางเลือกให้พิจารณา ตั้งแต่... จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศดีมั้ย หรือจะให้เข้าโรงเรียนนานาชาติ แล้ว...โรงเรียนสองภาษาล่ะ ? !!

สองทางแรกนั้นก่อนหน้านี้เคยห่วงกันว่า แม้จะช่วยให้ลูกฟุดฟิดฟอไฟได้ปร๋อ... แต่เด็กจะขาดการเรียนรู้รากเหง้าและวัฒนธรรมไทย เกรงกันว่าลูกโตขึ้นแล้วจะพูดกับพ่อแม่ไม่รู้เรื่อง ปฏิเสธคุณค่าแบบไทยๆ เพราะลูกไปรับค่านิยมตะวันตกมาเต็มที่

โรงเรียนสองภาษา (Bilingual School) จึงเป็นทางเลือกใหม่ ที่พ่อแม่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ มีแนวทางพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับการปลูกฝังความเป็นไทยด้วย ซึ่งปัจจุบันถูกจัดให้เป็น 1 ใน 5 ของโครงการโรงเรียนรูปแบบใหม่ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (โรงเรียนในกำกับของรัฐ โรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนต้นแบบการใช้ ICT โรงเรียนส่งเสริมความสามารถพิเศษ) มีทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน

โรงเรียนสองภาษากำลังเป็นกระแสที่ผู้ปกครองตื่นตัวส่งลูกเข้าเรียนกันมาก แต่เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการการศึกษาในบ้านเรา จึงเกิดข้อกังขาว่า การเรียนการสอนแนวนี้จะสามารถพัฒนาลูกได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ หรือเป็นเพียงกระแสที่มาแรงตามยุคสมัยเท่านั้น

เรื่องพิเศษ ฉบับนี้ จึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนสองภาษาในหลายๆ ด้าน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองที่สนใจได้มีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกเส้นทางการศึกษา ให้ลูกหลานได้อย่างรอบคอบ

แบบไหนเรียกโรงเรียนสองภาษา

กระทรวงศึกษาธิการได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับโรงเรียนสองภาษา ซึ่งถือเป็นมาตรฐานกำหนดแนวทางการเรียนการสอนของโรงเรียนประเภทนี้ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ว่า...
เป็นโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ความสามารถ และทักษะทางภาษาของผู้เรียน และในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต้องคำนึงถึงความสามารถพื้นฐานในการใช้ภาษาของผู้เรียน การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมอันดีงาม ตลอดจนการเรียนการสอนในบริบทของความผสมผสานเป็นสากล...

ที่ผ่านมามีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
English Program (EP) จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และสังคมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย กฎหมายไทย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย
Mini English Program (MEP) จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่เกิน 50% ของชั่วโมงสอนทั้งหมดต่อสัปดาห์
แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
ระดับก่อนประถม (อนุบาล) จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่เกิน 50% ของเวลาที่จัดกิจกรรม รับนักเรียนไม่เกินห้องละ 25 คน

ระดับประถมศึกษา จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และพลศึกษา โดยคำนึงถึงความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาวิชานั้นควบคู่กับภาษาอังกฤษ รับนักเรียนไม่เกินห้องละ 30 คน

ระดับมัธยมศึกษา จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ทุกวิชา ยกเว้นภาษาไทย และสังคมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย กฎหมายไทย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย รับนักเรียนไม่เกินห้องละ 30 คน
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายอดิศัย โพธารามิก รมว. กระทรวงศึกษาธิการได้ให้นโยบายระงับการเปิดแบบ MEP แต่เน้นเป็นโรงเรียนสองภาษาเต็มรูปแบบ ที่จัดการสอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา ยกเว้นวิชาภาษาไทยเท่านั้น และมีการประเมินความพร้อมของโรงเรียนที่ขออนุมัติเป็นโรงเรียนสองภาษาอย่างเข้มงวดขึ้นด้วย หากไม่พร้อมก็ไม่ควรเปิด และตั้งมาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนนานาชาติ


ค่าเล่าเรียนแพงกว่าเท่าไร

โรงเรียนสองภาษาของรัฐบาล อนุญาตให้เก็บค่าเล่าเรียนในระดับ ม.ปลายไม่เกิน 40,000 บาทต่อภาคการศึกษา และม.ต้นไม่เกิน 35,000 บาทต่อภาคการศึกษา ส่วนในโรงเรียนเอกชนจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนเอง ภายใต้ข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาฯ เช่น โรงเรียนสองภาษาของกรุงเทพคริสเตียน กำหนดไว้ 70,000 บาทต่อภาคการศึกษา

นอกจากนี้บางแห่งอาจมีค่าใช้จ่ายในส่วนของกิจกรรมต่างๆ หรือจัดให้นักเรียนสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษ ทั้ง TOEFL, IELTS ซึ่งอาจใช้จ่ายเพิ่มเติม

เมื่อคำนวณแล้วจะสูงกว่าการเรียนภาคปกติ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนนานาชาติ และการไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็ถือว่าถูกกว่า


ใช้หลักสูตร และตำราเรียนแบบไหน

เนื่องจากหลักสูตรมาตรฐานฉบับภาษาอังกฤษของโรงเรียนสองภาษาโดยตรงที่กระทรวงศึกษาฯ กำลังทำอยู่นั้น ยังไม่มีกำหนดแล้วเสร็จที่แน่นอน ที่ผ่านมาแต่ละโรงเรียนจึงใช้หลักสูตรและตำราเรียนที่หลากหลาย แต่ถ้าเป็นโรงเรียนของรัฐบาลก็จะปรับใช้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 เป็นหลัก พอจะสรุปได้ว่า
1. ใช้ตำราเรียนจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชนที่ใช้หลักสูตรของต่างประเทศมาสอน ทั้งจากอังกฤษและสิงคโปร์ ซึ่งเนื้อหาบางส่วนอาจไม่สอดคล้องกับสังคมไทย
2. แปลตำราภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยพื้นฐานหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯแบบ content by content ซึ่งอาจทำให้ดูไม่ต่างจากการเรียนในภาคภาษาไทยปกติมากนัก
3. แปลตำราภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยยึดจุดประสงค์สาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ มาประยุกต์เข้ากับกิจกรรมการสอน
4. ครูผู้สอนคัดเลือกจากหลักสูตรไทยและต่างประเทศควบคู่กัน เน้นเนื้อหาให้ตรงกับจุประสงค์การเรียนรู้แล้วทำเป็นรูปเล่มตำราใหม่
ทั้งนี้แต่ละโรงเรียนอาจประยุกต์หลายแบบมารวมกันได้ ซึ่งในเรื่องของหลักสูตรจะเห็นได้ว่าขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนดำเนินการเอง ยังขาดความเป็นมาตรฐานกลาง จึงอาจส่งผลถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน เมื่อต้องเข้าสู่ระบบการแข่งขันกับนักเรียนในภาคปกติที่ข้อสอบเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ที่จะมีศัพท์เทคนิค และมีรายละเอียดของการทดลองมาเป็นข้อจำกัด ไม่สามารถลงลึกในหลักวิชาเหมือนในภาคปกติได้ ซึ่งเป็นจุดบกพร่องที่พบและหลายแห่งพยายามแก้ไข


เรียนสองภาษาดีแน่หรือ

เมื่อโรงเรียนสองภาษาเริ่มมีบทบาทในวงการศึกษามากขึ้น และเป็นกระแสที่พ่อแม่สนใจ ส่งผลให้เกิดงานวิจัยโดยคุณปานจิต รัตนพล และคณะศึกษาปริญญาโท คณะครุศาสตร์จุฬาฯ เลือกกรณีศึกษาแบบเจาะจงโรงเรียน 4 แห่ง พอจะทำให้เห็นภาพความเคลื่อนไหว สภาพการณ์และปัญหาของการจัดการศึกษาในโรงเรียนสองภาษาในเวลานี้ชัดขึ้น
  • ด้านครูผู้สอน

    ในหนึ่งห้องเรียนจะมีครูชาวต่างชาติ และครูไทยร่วมกันจัดการเรียนการสอน โดยวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ จะเป็นครูต่างชาติสอน ส่วนในด้านวิชาที่ต้องคงความเป็นไทย เช่น ศาสนา ภาษาไทย สังคมไทย อาจารย์คนไทยจะสอนประกอบกัน

    ด้วยจำนวนนักเรียนน้อยจึงดูแลได้ทั่วถึง เอื้อให้ครูรับทราบปัญหาของนักเรียนได้เป็นรายบุคคล โดยมีข้อกำหนดว่าครูไทยที่สอนร่วมต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษดี ได้คะแนนโทเฟล 550 คะแนนขึ้นไป

    ปัญหา
    ด้วยเหตุที่มีการเปิดการเรียนระบบสองภาษามากขึ้นในโรงเรียนต่างๆ ทำให้ขาดแคลนครูต่างชาติ และบางแห่งครูไทยก็ได้คะแนนโทเฟลไม่ถึง 550

    ปัญหาครูต่างชาติเจ้าของภาษาสร้างความยุ่งยากให้ทางโรงเรียนมากที่สุด ซึ่งมีอยู่หลายๆ สาเหตุด้วยกัน เช่น
    • ครูต่างชาติบางคนแม้จะมีวุฒิหรือความรู้ทางวิชาการด้านที่ต้องการ แต่ไม่ได้จบด้านการสอนด้วย ทำให้ถ่ายทอดความรู้ได้ไม่ดี
    • ครูต่างชาติอยู่สอนไม่นาน อาจเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักศึกษาที่เพิ่งจบมาท่องเที่ยวหาประสบการณ์ชีวิต ทำให้เกิดภาวะขาดครูบ่อยๆ และขาดความต่อเนื่องในการสอน
    • ครูขาดคุณภาพ ไม่มีทักษะในการถ่ายทอดและสื่อความหมายเท่าที่ควร ไม่เข้าใจจิตวิทยาเด็ก คุมห้องเรียนไม่ได้ กระทั่งทำใบปริญญาปลอม
    ทางกระทรวงศึกษาฯ ได้ช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้นด้วยการจัดตั้งศูนย์รับครู ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และประสานงานกับสถานทูต สถาบันการศึกษาในต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนครูมาสอน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน

  • ด้านการจัดการเรียนการสอน

    เนื่องด้วยจำนวนนักเรียนต่อห้องน้อย ส่วนใหญ่จึงสามารถจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ ใช้การเล่นเกม กิจกรรมมาเป็นสื่อการสอน มากกว่าการสอนด้วยการบรรยาย และมีสื่อการเรียนการสอนทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ หนังสือประกอบการเรียนจากต่างประเทศที่มักมีรูปเล่มสวยงาม กระตุ้นให้อยากเปิดอ่าน

    บางแห่งมีการจัดการสอนเสริมวิชาต่างๆ เป็นภาษาไทย โดยครูไทยในช่วงเย็นหลักเลิกเรียน ในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเด็กไทยบางคนที่เข้าเรียนโปรแกรมนี้ อาจยังไม่ชินสำเนียงภาษา หรือไม่เข้าใจศัพท์

    ปัญหา
    เด็กที่ไม่ได้เรียนสองภาษามาตั้งแต่ต้น หรือไม่มีทักษะทางด้านภาษามาก่อน ต้องใช้ความพยายามในการเรียนมากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะหากเข้ามาเรียนในช่วงชั้นที่สูง วิชาการต่างๆ ยากขึ้น ผู้ปกครองต้องเข้ามาช่วยเหลือลูกมากขึ้น และยังมีปัญหาอื่นๆ ที่พบในการเรียนการสอนดังนี้
    • เด็กไม่คุ้นกับระบบการเรียนที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ในการทำกิจกรรมร่วมกับครูและเพื่อน จะมีปัญหาการปรับตัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเมื่อครูถาม โดยเฉพาะในช่วงชั้นแรกที่เปลี่ยนจากระบบธรรมดามาเรียนในระบบสองภาษา
    • การย้ายเข้าระหว่างปีการศึกษา เช่นจาก ป.4 มาเข้าสองภาษาตอน ป.5 ในขณะที่เพื่อนๆ เรียนมาตั้งแต่ ป.1 ก็จะมีปัญหาตามเพื่อนไม่ทัน เข้ากับระบบไม่ได้ เกิดความเครียดกังวล
    • การเรียนเสริมทำให้เด็กค่อนข้างเครียด และขาดเวลาสำหรับการพัฒนาด้านอื่นๆ
  • ด้านสภาพแวดล้อม

    การเก็บค่าเล่าเรียนที่แพงกว่าการเรียนระบบปกติ เอื้อให้สภาพแวดล้อมของโรงเรียน ห้องเรียน อุปกรณ์ในการเรียนการสอนดีกว่า ซึ่งจะเห็นความแตกต่างได้ชัดในโรงเรียนที่มีทั้งสองระบบในโรงเรียนเดียวกัน รวมทั้งบางแห่งอาจใช้สัญลักษณ์หรือเครื่องแบบแตกต่าง อาหารและกิจกรรมที่พิเศษกว่านักเรียนภาคภาษาไทย ซึ่งทางโรงเรียนบอกว่า ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของผู้ปกครองที่เรียกร้องว่าเสียค่าเล่าเรียนแพงก็อยากได้รับการปฏิบัติที่พิเศษ

    ความแตกต่างนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำ ซึ่งบางแห่งที่เห็นจุดเปราะบางตรงนี้ก็ได้พยายามที่จะแก้ปัญหา โดยเอื้อเครื่องมืออุปกรณ์ สื่อการสอนต่างๆ ครูต่างชาติ ของนักเรียนสองภาษามาให้ภาคปกติได้ใช้ร่วมกันด้วย หรือให้นักเรียนภาคปกติจับคู่ติวแลกเปลี่ยนระหว่างสาระวิชาและภาษาอังกฤษกับนักเรียนโปรแกรมสองภาษา

เด็กเรียนโปรแกรมภาษาอังกฤษจะเอ็นทรานซ์ได้ไหม

ปัจจุบันมีตัวอย่างเด็กโปรแกรมภาษาอังกฤษสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศได้ โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐบาลที่ใช้หลักสูตรพื้นฐานเดียวกันไม่น่าจะมีปัญหา

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากโรงเรียนโยธินบูรณะ และกรุงเทพคริสเตียน ที่ได้มีการประเมินคุณภาพนักเรียน ด้วยการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในเชิงเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนในโครงการกับภาคปกติ ผลปรากฏว่าวิชาการต่างๆ ไม่แตกต่างกัน ยกเว้นวิทยาศาสตร์ คะแนนกลางจะไม่สูงมาก ส่วนภาษาอังกฤษนั้นแน่นอนว่าสูงกว่าภาคปกติ

นอกจากนี้ยังมีความกังวลในการทำข้อสอบระดับประเทศ (National Test) ที่เป็นภาษาไทย เด็กอาจสับสนเพราะเรียนเป็นภาษาอังกฤษแต่ต้องมาทำข้อสอบภาษาไทย จึงต้องมีการเตรียมตัวมากขึ้น โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ที่มีศัพท์เทคนิคมาก จึงอาจแก้ไขด้วยการทำดรรชนีคำศัพท์ให้

โรงเรียนหลายแห่งมีการประสานกับสถาบันภาษาจากทั้งภาครัฐบาลและเอกชน มาทำการทดสอบประเมินผลทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารของนักเรียนแต่ละช่วงชั้น เพื่อตรวจสอบคุณภาพการเรียนการสอนด้วย

นักวิชาการหลายท่านมองว่า ในอนาคตควรวางยุทธศาสตร์การใช้หลักสูตรโรงเรียนสองภาษา เป็นฐานสร้างความเข้มแข็งให้กับการสอนภาษาอังกฤษโดยรวม และต้องคอยทบทวนว่าโรงเรียนสองภาษา ได้สนองตอบต่อนโยบายที่มุ่งเน้นพัฒนาเด็กไทยให้มีความสามารถในการสื่อสาร เจรจาต่อรองในเวทีโลกได้อย่างแท้จริงหรือไม่

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง อยากให้ใคร่ครวญกันก่อนว่า ทางเลือกทางการศึกษาทางนี้ ใช่ทางที่นำไปสู่ชีวิตที่สมดุล และความสำเร็จที่แท้จริงตามเป้าหมายที่ครอบครัวของเราวางไว้หรือไม่



เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้
1. ข้อมูล ต้องหาข้อมูลให้ครบถ้วนตามสภาพจริงที่มีในโรงเรียน ทั้งด้านดีและด้านที่เป็นปัญหาอยู่ เพื่อประเมินสถานการณ์ หากตัดสินใจจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น ครูผู้สอน รูปแบบการสอน หลักสูตรที่ใช้ การประเมินผลและแนวทางการศึกษาต่อ เป็นต้น ดูว่าโรงเรียนมีความพร้อมในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ โดยอาจหาข้อมูลเบื้องต้นจากเว็บไซต์ สอบถามทางโรงเรียนโดยตรง หรือผ่านผู้ปกครองและนักเรียนที่เรียนอยู่ เพื่อนำมาเปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจ ถ้าเป็นไปได้น่าจะเลือกโรงเรียนที่มีประสบการณ์พอสมควร ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว เพื่อลูกของเราจะได้ไม่กลายเป็นหนูทดลอง

2. ความพร้อม ก่อนอื่นต้องถามความสมัครใจของลูกก่อนว่าเขาอยากเรียนโปรแกรมภาษาอังกฤษหรือเปล่า จากนั้นเตรียมพร้อมรับว่าจะเจอปัญหาอะไร ที่ต้องเจอแน่ๆ คือ ความเครียดทั้งในเรื่องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ไปพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจสาระวิชาต่างๆ ดังนั้นผู้ปกครองต้องพร้อมถ้าลูกมาปรึกษา น่าจะช่วยสอนได้ อย่างน้อยๆ ไม่เข้าใจศัพท์ พ่อแม่ต้องพอชี้ได้ รวมทั้งความพร้อมทางด้านจิตใจที่จะช่วยสนับสนุนให้กำลังใจลูกด้วย

3. ประเมิน มีความจำเป็นอย่างไร แล้วเหมาะสมหรือไม่ มีตัวชี้วัดปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นแนวทาง ให้ตัดสินใจได้ว่าระหว่างโปรแกรมภาษาไทยปกติกับโปรแกรมภาษาอังกฤษควรจะเลือกอะไร เปรียบเทียบข้อดีข้อด้อย ที่สำคัญคือการประเมินความสามารถทางทุนทรัพย์ สำหรับบางครอบครัวที่ต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักขึ้น คุณแม่ต้องออกมาทำงานนอกบ้านอีกคน อาจทำให้ไม่มีเวลาให้ลูกและครอบครัวเท่าที่ควร ลองประเมินว่าสิ่งที่ได้มากับเสียไปนั้นสมดุลกันหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง

หรือการที่ลูกต้องเรียนเสริมเป็นภาษาไทยเพื่อให้เข้าใจสาระการเรียนเท่ากับภาคปกตินั้น จะทำให้เด็กใช้เวลาไปกับการเรียนมากเกินความจำเป็นหรือไม่ และจะขาดโอกาสในการเรียนรู้ทักษะทางด้านอื่นๆ อย่างดนตรี กีฬา ศิลปะ หรือกิจกรรมที่เขาสนใจหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องลองประเมินดูก่อนตัดสินใจ

4. วางแผน เมื่อตัดสินใจให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนสองภาษาแล้ว จะให้ดีควรเริ่มตั้งแต่ ป.1 เพื่อจะได้ปรับตัวง่าย ไม่สับสนกับโปรแกรมภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ หรือวางแผนช่วยลูกปรับตัว อาจเข้าคอร์สภาษาอังกฤษเตรียมพื้นฐานล่วงหน้าก่อน ต่อไปก็ต้องวางแผนการศึกษาต่อเมื่อจบในแต่ละช่วงชั้น จากประถมต่อมัธยม จากมัธยมไปต่อมหาวิทยาลัย จะไปในทิศทางไหนบ้าง ควรให้สอดคล้องกัน เพื่อลูกจะได้ไม่สับสน

หากเป้าหมายที่แท้จริงคืออยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีก เช่น เข้าร่วมกิจกรรมแคมป์นานาชาติ ที่มีทั้งของรัฐบาลและเอกชน สอบชิงทุนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปต่างประเทศระยะสั้นๆ หรือสนับสนุนให้ลูก มีเพื่อนต่างชาติจากการ chat ในอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันสามารถเห็นหน้าและพูดคุยด้วยคำพูดได้ (ควรอยู่ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่ด้วย) หรือพ่อแม่พูดคุยกับลูกเป็นภาษาอังกฤษในการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อฝึกทักษะในการฟังและการพูดภาษาอังกฤษ


(update 28 กรกฎาคม 2004)
[ ที่มา.. life&family (kids&family) ปีที่ 9 ฉบับที่ 99 มิถุนายน 2547 ]

Views: 2541

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

Comment by awasada on November 13, 2013 at 2:10pm

โรงเรียนสองภาษา จ. พระนครศรีอยุธยา www.panitandekdee.com สอนแบบไม่แปลค่ะ โดยครูฟิลิปปินส์ ครูไทยเป็นครูพี่เลี้ยงค่ะ (สอนเฉพาะวิชาภาษาไทยและวัฒนธรรม) ใครอยู่แถว อยุธยา และกำลังมองหาโรงเรียนสองภาษาให้ลูก ลองแวะไปดูค่ะ

Comment by คุณแม่น้องน้ำหวาน on October 19, 2010 at 11:43am
มีโรงเรียนสองภาษาอยู่ที่ลาดพร้าว 126 ชื่อโรงเรียนสองภาษาลาดพร้าว เปิดมาประมาณ 8 ปี มีตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 สอนภาษาอังกฤษและภาษาไทย เตรียมอนุบาล-อนุบาล3 มีครูประจำชั้น 3 คน ส่วนประถม 2 คน
Comment by พี่ฟ้าใส น้องไออุ่น on August 20, 2010 at 2:01pm
ขอบคุณมากค่ะ มีประโยชน์มากๆ
Comment by แม่น้องนู๋ยิ้ม on August 18, 2010 at 3:21pm
It is very useful. Thanks.
Comment by ริวโค on August 17, 2010 at 7:33am
ขอบคุณนะคะ สำหรับข้อมูลที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจ ตอนนี้ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะให้คนเล็กเรียนEPดีไหม เพราะคนโตก็เรียนภาคไทยแล้ว(แต่ก็มีเรียนเลขกับวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษอยู่ซึ่งทางโรงเรียนเริ่มเป็นปีแรก) จะได้คุ้มกับค่าเทอมที่สุดค่ะ :)
Comment by แม่ขวัญ on August 14, 2010 at 12:06pm
ขอบคุณมากค่ะ
Comment by ยศภัด มีเดช on August 13, 2010 at 12:54pm
ขอบคุณค่ะ
Comment by YuhKha on August 13, 2010 at 7:27am
thanks a lot
Comment by พ่อพี่เน็กซ์ กะน้องเนม on August 12, 2010 at 12:46pm

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service