เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย
แม่ของก้าวก็เหมือนพ่อแม่อีกกว่า 16,000 ครอบครัวในหมู่บ้านแห่งนี้ที่อยากให้ลูกเป็นเด็กสองภาษา (หรือหลายภาษา) เพราะเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้มากกว่าหนึ่งภาษาตั้งแต่ยังเล็กเป็นสิ่งที่ดีทั้งในด้านพัฒนาการทางสมอง การเติบโตทั้งกายและใจ รวมทั้งโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตด้วย
เมื่อก้าวเกิดมา แม่จึงพยายามทำทุกอย่างที่จะทำให้ก้าวเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่สภาพแวดล้อมภายในบ้านของเราจะเอื้ออำนวย ไม่เว้นแม้แต่ภาษาลาวซึ่งเป็นภาษาของพี่เลี้ยงของลูก พ่อแม่และครอบครัวเราทุกคนพูดภาษาไทยกับลูกเพื่อให้มั่นใจว่า ภาษาไทยของลูกจะต้องแข็งแรงพอก่อนที่ลูกจะรับรู้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาของเรา แม่ให้พี่เลี้ยงพูดกับก้าวเป็นภาษาลาวแบบจัดเต็มตั้งแต่ลูกเกิด ทุกวันนี้แม้ลูกจะพูดภาษาลาวแบบติดสำเนียงไทยนิด ๆ แต่แม่ก็ภูมิใจมากเมื่อพาลูกไปเที่ยวเวียงจันทน์ คนลาวงงว่าทำไมลูกฟังออกทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาพูดกัน ส่วนภาษาอังกฤษนั้น แม่เห็นว่ากำลังจะเป็นภาษาของคนทั้งโลกที่ใช้สื่อสารกัน ครอบครัวของเราจึงยอมกินข้าวคลุกน้ำปลา (และเคล้าน้ำตา) เพื่อส่งให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ
แม่ดีใจมากที่เห็นก้าวเป็นเด็กดี การที่ก้าวได้เห็นสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้แม่มั่นใจว่า ลูกจะเติบโตขึ้นมาโดยสามารถยอมรับสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา ไม่ดูถูกคนชาติอื่นที่ด้อยกว่าเรา รวมทั้งไม่รู้สึกอับอายหากคนชาติอื่นเขาจะมีอะไร ๆ มากกว่าเรา ก้าวชอบประเทศลาวพอ ๆ กับที่ก้าวชอบออสเตรเลีย แม่เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ลูกได้เรียนรู้หลายภาษาตั้งแต่เล็ก ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษที่ทุกคนอยากเรียน แต่ก้าวยังชอบภาษาลาวและอาหารลาวอีกด้วย ก้าวมีเพื่อนทั้งคนลาว (ลูกเพื่อนแม่) ไทย จีน แขก ฝรั่ง แม่มองว่าในอนาคตสังคมจะเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นพหุสังคมไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย โลกทั้งโลกแคบลงจากพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และเราก็จะเจอะเจอผู้คนหลายชาติหลายภาษามากขึ้น การที่ก้าวพูดได้หลายภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษก็จะทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจคนอื่นได้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมความเป็นไทยและชาติกำเนิดของเรา
ดิฉันได้รับความรู้จากคุณพ่อคุณแม่ในหมู่บ้านแห่งนี้เป็นเวลานานแล้ว เลยคิดว่าถึงวันนี้เราควรจะแบ่งปันประสบการณ์บ้างเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ขอบคุณผู้ใหญ่บิ๊กสำหรับแหล่งเรียนรู้ดี ๆ แห่งนี้ด้วยค่ะ
Comment
ขอบคุณค่ะแม่น้องก้าว และก็ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่พ่อแม่ควรรู้ในแง่มุมต่างๆ ที่แม่น้องก้าวนำมาฝากด้วยค่ะ
สวัสดีค่ะคุณศรีเพชร ขอบคุณที่เข้ามาอ่านบล็อคนะคะ เรียกดิฉันว่าแม่น้องก้าวก็ได้ค่ะ ;-) พอดีว่าดิฉันเลือกให้ลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ตั้งแต่สองขวบครึ่ง แกจึงพูดภาษาอังกฤษได้จากที่โรงเรียนค่ะ ในกรณีของครอบครัวเรา ดิฉันจึงตัดสินใจไม่พูดภาษาอังกฤษกับลูกเลยเพราะเมื่อคำนวณดูช่วงเวลาที่เขาพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษกับภาษาไทยแล้ว มันค่อนข้างเท่า ๆ กัน คือเขาอยู่โรงเรียนประมาณ 6-7 ชม. (ภาษาัอังกฤษ) เขาอยู่บ้านกับเราอีก 6 ชม.โดยประมาณ (ไม่นับช่วงเข้านอน) ดังนั้นหากครอบครัวเราพูดอังกฤษกับลูกเข้าไปอีก ภาษาไทยเขาจะมีปัญหาแน่นอน ทั้งบ้านก็เลยพูดไทยกับเขาหมดค่ะ ไม่เว้นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และในเวลาที่เขาเล่นกับแม่บ้านซึ่งเป็นคนลาว แม่บ้านจะเว้าภาษาลาวแบบเต็ม ๆ กับเขา จนถึงขณะนี้การพูดของเขาจะใช้การได้ดีทั้งไทยและอังกฤษ แต่ภาษาลาวยังพูดช้า ๆ เสียงก็เพี้ยนบ้างปนไทยบ้าง การฟังของเขาก็จะทำได้ดีทั้งสามภาษา การอ่านเขียนภาษาไทยเค้าจะช้ากว่าเด็กไทยรุ่นเดียวกัน (ป.1) ดิฉันก็๋จะเสริมตรงนี้ให้ เราจะอ่านหนังสือภาษาไทยกันทุกคืนก่อนนอน เคสของดิฉันจึงต่างไปจากแนวทางที่คุณบิ๊กแนะนำออกไปเพราะบริบทการใช้ภาษาต่างกัน
แต่ดิฉันคิดว่าถ้าลูกอยู่รร.ไทย ก็คงจะเลือกใช้ระบบ OTOP เพราะดิฉันคงอดทนพูดภาษาอังกฤษ 24 ชม. ไม่ไหวแน่ ดิฉันพูดภาษาญี่ปุ่นได้บ้างในระดับสนทนา ก็ลองพูดกับลูกดู รู้สึกว่าได้ผลนะคะ ดิํฉันใช้แนวทางของคุณบิ๊กในการแนะนำภาษาญี่ปุ่นให้แก่ลูก ก็คือประโยคไหนที่พูดได้และมั่นใจ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะกล่าวก็จะกล่าวแบบนี้ซ้ำ ๆ ๆ ทุกวันจนเขาจำได้ เช่น ในภาษาญี่ปุ่น good night คือคำว่า oyasuminasai ก็จะพูดกับเขาก่อนนอน จนจำได้ แล้วเราก็ทำท่าตลก ๆ อะไรใส่เข้าไป เขาก็ชอบค่ะ
ไม่ทราบว่าเป็นคำตอบที่ตรงคำถามของคุณศรีเพชรหรือไม่ แต่ดิฉันยืนยันว่าแนวทางที่คุณบิ๊กได้เสนอไว้ให้สังคมไทยนั้นมาถูกต้องแล้วค่ะ แต่ละครอบครัวมีพื้นฐานรายละเอียดที่ต่างกัน เราต้องมาออกแบบเอาเองว่าเราจะช่วยลูกในการเรียนรู้ภาษาที่สอง (ภาษาอังกฤษ) ยังไงบ้าง จะใช้ระบบ OPOL หรือ OTOL ดี และเราจะจัดการกับความกดดันจากคนรอบข้างยังไง ดิฉันก็เขียนอีเมลคุยกับคุณบิ๊กบ่อยๆ ว่าหากคุณพ่อคุณแม่ทำตามที่คุณบิ๊กแนะนำอย่างเคร่งครัด ไม่มีปัญหาแน่นอนค่ะ มีแต่ความสนุกค่ะ
ขออนุญาติ เรียนถามอาจารย์นะคะ ว่าอาจารย์เริ่มพูดภาษาอังกฤษกับลูกตอนอายุกี่ขวบ
ภาษาถิ่นต้องอนุรักษ์ค่ะ
ดีจัง ที่อนุรักษ์ภาษาถิ่น เห็นบางครอบครัวเป็นคนภาคอีสาน ใต้ เหนือ แต่ลูกพูดภาษาพ่อแม่ไม่ได้น่าเสียดายมากมาย
@ คุณ Clamp ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะคะ
@ คุณ Puangpayom ชื่นชมในจุดยืนของคุณแม่นะคะ ดิฉันรู้จักเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นคนอีสานเยอะ เขาไม่อยากพูดภาษาอีสานกันแล้ว ดิฉันเป็นคนกรุงเทพฯ แท้ๆ แต่ยังอดอิจฉาคนต่างจังหวัดไม่ได้ เขาไม่รู้ตัวเลยว่าการที่เขาพูดภาษาถิ่นได้มากกว่า ๑ ภาษาเป็นความได้เปรียบอย่างยิ่ง ถ้าคนอีสานทุกคนคิดแบบคุณพวงพยอมแล้วเราก็คงจะได้เห็นชุมชนอีสานที่เข้มแข็งนะคะ
@ คุณสุภาพร ดีค่ะน้องได้ทั้งไทย-อีสาน-อังกฤษ มีแต่ได้กับได้นะคะ :-)
ดีจังเลยค่ะ ได้อ่านเรื่องแบบนี้แล้วรู้สึกยิ้มได้มากค่ะที่มีคุณพ่อคุณแม่ที่คิดเหมือนเราอยู่รอบๆตัว ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป
© 2024 Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก. Powered by
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้