เชื่อว่าชั่วโมงทำการบ้านเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่เคยทำให้หลายครอบครัวเสียน้ำตา เสียอารมณ์ และเสียสุขภาพจิตกันมาแล้ว ซึ่งปัญหาอาจมาจาก ทั้งคุณพ่อคุณแม่คุณลูก หรือบางครั้งรวมถึงคุณครูและโรงเรียนที่มองเรื่องของการ "ทำการบ้าน" ไปกันคนละทิศละทาง
บางโรงเรียนเองก็อยากให้ผู้ปกครองเห็นว่าโรงเรียนนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษา จึงสั่งการบ้านกองพะเนินให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทักษะ หรือผู้ปกครองบางท่านเองก็ยังมีแนวคิดว่า การทำการบ้านมาก ๆ นั้นไม่จำเป็น เด็กควรจะมีเวลาเล่นอย่างอิสระมาก ๆ ส่วนเด็กบางคนก็รู้สึกว่า การทำการบ้านนั้นช่างเป็นช่วงเวลาที่ไม่สนุกเอาเสียเลย
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลงานวิจัยระบุว่า การมีทัศนคติที่ดีกับการบ้านนั้น จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในรั้วโรงเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตเมื่อเขาเติบโตขึ้นไปด้วย เช่น การบริหารจัดการชีวิต การแบ่งเวลา การแก้ปัญหา การฝึกสมาธิ การตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง ฯลฯ นอกเหนือจากการได้เรียนรู้ในสิ่งที่บทเรียนกำลังจะสอน
แต่เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเผชิญหน้ากับเด็ก ๆ ในชั่วโมงทำการบ้าน ดร.มิเชล บอร์บา ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวจึงได้ให้แนวทางในการจัดชั่วโมงการทำการบ้านสำหรับเด็ก ๆ เอาไว้ดังนี้
อย่าปล่อยให้ลูกมองการบ้านเป็นทางเลือก
จะไปเล่นกับเพื่อนก่อนทำการบ้านได้ไหม? คำถามชวนจี๊ดที่คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเคยเจอ แม้คำตอบก็คือ ไม่ได้ แต่ทำไมต้องตอบคำถามนี้กัน ก็เพราะว่าหลายครอบครัวยอมให้ลูกมองการบ้านเป็นหนึ่งในตัวเลือกของกิจกรรมที่เขาสามารถเลือกทำได้หลังเลิกเรียน
การวางกฎของบ้านเอาไว้ตั้งแต่แรกเลยว่า ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงจะไปเล่นได้ น่าจะเป็นทางป้องกันที่ดีไม่ให้เกิดคำถามเหล่านี้ค่ะ
พ่อแม่เป็นเพียงผู้แนะแนวทาง..เท่านั้น!
ก็เพราะมีคุณพ่อคุณแม่บางท่านนึกสนุก อยากทำการบ้านของลูกเสียเอง หรือไม่ก็แหม ขัดใจ ทำไมทำได้แค่นี้ ให้พ่อแม่ช่วยดีกว่า จะได้มีงานสวย ๆ ไปส่งครู ลูก ๆ ก็เลยสบายไป ไม่ต้องทำการบ้านเอง ทักษะที่ควรฝึกก็เลยไม่ได้ฝึกไป
ในข้อนี้ต้องอย่าลืมบทบาทของตัวเอง ว่าพ่อแม่นั้นเป็นได้แค่ผู้แนะแนวทาง และคอยดูอยู่ห่าง ๆ เท่านั้น ห้ามลงไปทำการบ้านลูกแทนเด็ดขาด หากยังนึกสนุก ก็อาจต้องเตือนตัวเองเอาไว้ด้วยประโยคที่ว่า
"ลูกกำลังฝึกทำสิ่งต่าง ๆ อยู่เพื่อ "ตัวของเขาเอง" อยู่ค่ะ
ก่อนทำการบ้าน เข้าใจจุดประสงค์ของการบ้านก่อน
ในการสั่งการบ้าน คุณครูจะมีการบอกจุดประสงค์ของการบ้านนั้น ๆ ให้ทราบว่า การสั่งงานชิ้นนี้เพื่อต้องการฝึกทักษะด้านใดให้กับเด็ก อาจจะบอกมาในสมุดจดการบ้าน หรือแม้ไม่มีสมุดจดการบ้าน ในสมุดแบบฝึกหัดเองก็จะบอกจุดประสงค์เอาไว้ให้ผู้ปกครองทราบคร่าว ๆ เช่นกัน จากนั้นก็เป็น
หน้าที่ของผู้ปกครองแล้วล่ะค่ะที่จะทำความเข้าใจ และหาหนทางที่จะช่วยให้ลูก ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ของการทำการบ้านนี้ให้ได้
แต่เพื่อให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น หรือหากคุณพ่อคุณแม่มีปัญหาสงสัยเกี่ยวกับการบ้านลูกจริง ๆ อาจขอนัดเวลากับคุณครูประจำชั้นเพื่อปรึกษาสักนิดหลังเลิกเรียนก็ได้ค่ะ เพราะเชื่อว่าปัจจุบันหลาย ๆ โรงเรียนก็ค่อนข้างเปิดกว้างให้คุณพ่อคุณแม่มีโอกาสเข้าพบคุณครูได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีตมาก ๆ
สอนลูกทำตารางเตือนความจำ "การส่งการบ้าน"
สำหรับลูกน้อยคนไหนที่เจอการบ้านกองพะเนินจากโรงเรียน
คุณแม่อาจหาบอร์ดเล็ก ๆ ให้ลูกเขียนตารางการส่งการบ้านในแต่ละสัปดาห์เอาไว้เตือนความจำ โดยสามารถหาซื้อบอร์ดเล็ก ๆ ราคาย่อมเยาได้มากมายตามร้านขายเครื่องเขียน และเพื่อไม่ให้บอร์ดนี้ดูแห้งเหี่ยวเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจหากิจกรรมสนุก ๆ ชวนลูกตกแต่งบอร์ดตามแบบที่เขาชอบ เช่น หาสติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูนที่เขาชอบมาแปะ หรือหากเป็นลูกสาวก็อาจหาตุ๊กตาน่ารัก ๆ หรือแถบผ้าสีสวยมาติดให้บอร์ดการบ้านนี้ให้มีสีสันสดใส การมีบอร์ดเตือนความจำยังช่วยฝึกให้ลูกได้อัปเดตข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการบ้าน หรืองานที่เขาต้องส่งได้เป็นอย่างดี เวลาบันทึก ลองหาปากกาหลาย ๆ สีมาใช้ก็จะช่วยให้จำได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยค่ะ
การชมเชยลูก
การเอ่ยปากชม เมื่อลูกทำการบ้านเสร็จแทบไม่ต้องเสียอะไรเลย แถมผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียก็ระบุว่า การที่พ่อแม่กล่าวชื่นชมลูกในความพยายามทำการบ้าน หรือชิ้นงานตามที่คุณครูสั่งจนเสร็จนั้น ช่วยให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียน และมีผลการเรียนที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องอย่าลืมตรวจงานของลูก และชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาด รวมถึงช่วยแก้ไขให้ถูกต้องด้วย
สอนทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียน
เด็กบางคนไม่ชอบทำการบ้านเพราะไม่มีทักษะในการทำงาน เช่น ไม่รู้จักการวางแผน เมื่อไม่มีการวางแผนก็ไม่ทราบว่าควรเริ่มจากจุดใดก่อน จากนั้นก็เลยทำให้เด็กไม่ทราบว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร และนั่งร้องไห้เมื่อถึงกำหนดส่งการบ้านแล้วไม่มีงานส่งครู
ทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้จึงประกอบไปด้วย
- การวางแผน : ลองให้เด็กออกแบบงานของเขาคร่าว ๆ ว่างานที่เสร็จสมบูรณ์ควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และในแต่ละขั้นหนูจะทำอะไรกับมัน อาจลองให้เขียนเป็นลำดับ 1 2 3
- การแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ และทำให้สำเร็จทีละส่วน : ในกรณีที่เป็นการบ้านระยะยาว เช่น การบ้านปิดเทอม คุณครูอาจสั่งให้ทำแบบฝึกหัดในหนังสือให้เสร็จ คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยลูกแบ่งการบ้านเป็นส่วน ๆ และทำวันละส่วนจนเป็นกิจวัตร เพื่อที่เด็กจะได้ไม่รู้สึกหักโหมจนเกินไป และมีเวลาเหลือไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ๆ ด้วย
- ทำส่วนที่ยากก่อน : เหตุที่การลงมือทำงานที่ยากที่สุดให้เสร็จก่อนเป็นสิ่งสำคัญนั้น ก็เพราะว่า มันอาศัยสมาธิสูงมาก รวมถึงเวลาที่นานด้วย ดังนั้น เมื่อส่วนที่ยากจบไปแล้ว งานที่เหลือก็จะดูง่ายและสนุกมากขึ้น
ชั่วโมงการทำการบ้านของลูกยังเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่จะได้สังเกตเทคนิคการเรียนรู้ของลูกด้วยว่า ลูกของคุณนั้นถนัดการเรียนรู้แบบใด เด็กบางคน อาจถนัดที่จะวาดภาพเพื่อสื่อสารในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา หรือเด็กบางคน อาจชอบเล่า หรือท่องสิ่งที่ตัวเองเรียนมาออกมาดัง ๆ เด็กบางคนก็ร้องออกมาเป็นเพลง การได้ทราบแนวทางเหล่านี้ก็จะทำให้พ่อแม่หาวิธีสอนลูกได้ตรงจุดตรงใจมากขึ้นค่ะ
ขอบคุณ: ข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซต์ ivillage.com/parenting
Date: Sep 3, '09 7:28 AM
Credit: LukZ® for group clickkids
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้