เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

สอนลูกเองก็ได้...ง่ายจัง6 : "พ่อ"นั้นสำคัญไฉน

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ครับ
ตรุษจีนปีนี้ ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีแต่ความสุข สนุกสนาน และ มีเงินมีทองใช้กันเยอะๆนะครับ

วันก่อนได้ให้คุณจอมคุณป้อมเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับเรื่องการสอนลูกแบบยาวๆไปบ้างแล้ว มีคนบ่นว่ามันยาวเกินไป แต่ไม่ค่อยได้ใจความอะไรเท่าไหร่ เพราะมัวแต่โม้ เอ้ย! มัวแต่ใช้การบรรยายแบบพรรณาโวหารมากเกิน วันนี้ผมเลยต้องขอกลับมาเป็นผู้สัมภาษณ์ใหม่ จะได้กระชับและตรงประเด็นมากขึ้นนะครับ



ฉิก : หวัดดีปีใหม่ของจีนครับ คราวที่แล้วให้คุณนายจอมตอบจม.จากทางบ้าน สนุกดีเหมือนกันนะครับ ไว้เราลองเปลี่ยนมาตอบจม.กันบ้างดีมั้ยครับ


ป้อม : คุยกันแบบนี้น่ะดีแล้วครับ เรื่องตอบจม.นี่คงต้องยกให้"ART ตัวแม่" แบบคุณนายจอมเขาดีกว่า


ฉิก : อะไรนะครับ อ๊าตเอิ๊ตอะไรไม่เข้าใจ


ป้อม : อ้าว! ไม่เคยดูเดี่ยว7 กับ เดี่ยว7.5 ของโน้ส อุดม ล่ะสิ เชยมากกกกกกก ขอบอก

"ARTตัวแม่ " ก็คือ "คุณผู้หญิง"ของเราๆท่านๆนี่แหล่ะ
คือ ต้องใช้จินตนาการ อยู่เหนือเหตุและผล และ ไม่ต้องการคนมาเข้าใจ

พวกผู้ชายเรามักไม่ค่อยเข้าใจคุณเธอหรอกครับ
เวลาเธอมาขอความเห็นอะไรเราทีไร ตอบอะไรไปก็ไม่ถูกใจเธอซักที

และ เถียงทีไรก็ไม่เคยชนะ เพราะ คุณเธอจะมีวลีเด็ด จำพวก "ทีเมื่อก่อนนะ......." "อ๋อ...ใช่ซี้......." คือพอเธอพูดออกมาทีไร ทำไมเราถึงรู้สึกผิดทุกที ก็ต้องยอมๆเธอไปทุกทีล่ะน่า


ฉิก : (สงสัยมันคงเก็บกดจากทางบ้านมากเลยนะเนี่ย)

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับ มีคนเขาบอกให้เราช่วยบอกมาเลยว่าจะสอนลูกยังไงได้บ้าง 1 2 3 อะไรแบบเนี้ย เพราะ ตามอ่านตั้งนานยังไม่ไปถึงไหนเลย วันนี้เริ่มเลยได้มั้ยครับ แบบว่าจะเริ่มสอนลูกกันยังไง ทำได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วจะให้ทำอะไรบ้าง บอกมาให้หมด


ป้อม : โอ้ว!!!! ใจเย็นๆครับ จะรีบไปไหนๆ

คือเรื่องของเรื่องคือ ผมเองก็บอกไม่ถูกน่ะครับว่าสอนลูกต้องทำยังไง(อ้าว!) คือ จะให้ผมอธิบายแบบตำรา howto นี่ มันไม่สามารถครับ แล้วก้ออีกอย่าง พวกตำราเกี่ยวกับการสอนลูกให้เก่ง ให้เป็นอัจฉริยะอะไรทำนองนั้นตามท้องตลาดมันก็มีเยอะแยะไปหาซื้อกันเอาเองก็ได้

เอาเป็นว่า ผมใช้วิธีเล่าสู่กันฟังดีกว่า มันอาจจะดูอ้อมไปอ้อมมาซักหน่อย แต่มันก็มาจากประสบการณ์จริงนะครับ



ฉิก : ครับ แล้วจะเริ่มกันได้รึยังล่ะครับ (เริ่มมีเคือง)


ป้อม : เอ้า! ก็ได้ๆ เริ่มจากที่ผมสังเกตว่าผู้อ่านส่วนใหญ่ที่สนใจ และ คอยดูแลจัดการเรื่องเรียนของลูก เป็นคุณแม่เกือบจะทั้งนั้นเลยนะครับ

คุณพ่อๆเราบางคนคิดว่า พอลูกเริ่มโตขึ้น ตัวเองไม่จำเป็นต้องใกล้ชิดลูกเหมือนตอนที่ลูกแบเบาะอีกต่อไป เพราะ ลูกมีคุณแม่คอยดูอยู่แล้ว พอเข้ารร.ก็มีคุณครูคอยดูให้อีก คุณพ่อมีหน้าที่ทำงานปั๊มเงินให้ลูกได้เข้ารร.ดีๆก็พอแล้ว

ถ้าคุณเองก็คิดเช่นนี้ ต้องขอบอกว่า น่าเสียดายมากๆครับ!!!


ฉิก : เอ๋ ! ก็คนส่วนใหญ่เขาก็คิดและทำแบบนี้กันทั่วบ้านทั่วเมืองนี่ครับ ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลย เพราะ พ่อเราต้องเป็นผู้นำครอบครัว จะมายุ่งกับเรื่องเล็กๆหยุมๆหยิมๆแบบนี้ได้ไง


ป้อม : เรื่องเล็กบ้านคุณซี่ อุ๊ย! ขอโต้ด! เผลอหลอกด่าไปซะแล้ว

คืองี้ครับ ผมอยากให้มองว่าพ่อเรานี่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำครอบครัวอย่างเดียวหรอกครับ อยากให้มีบทบาทเป็น"ผู้ร่วมสร้างครอบครัว"ที่คอยช่วยกันเลี้ยงดูลูกกับคุณแม่มากกว่า

อย่างตัวผมเองไม่ได้มองว่าเป็น"ช้างเท้าหน้า" แล้วให้คุณนายเป็น"ช้างเท้าหลัง" นะครับ เหตุผลเนี่ยไม่ใช่เพราะว่าเรารังเกียจช้างอะไรแบบนั้น แต่ผมกลับมองว่าเราสองคนอยู่"เคียงข้าง"กันมากกว่า หรือ จะบอกว่าเป็นช้าง"เท้าซ้าย"กับ"เท้าขวา"ก็ยังพอไหว แบบว่าต้องช่วยๆกันดูแลลูกกันทั้งคู่ มากกว่าที่จะทิ้งไว้ให้เป็นหน้าที่คนใดคนนึงตามลำพังน่ะครับ

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกเราว่า พ่อที่เอาใจใส่ และให้เวลากับลูกเพียงพอ จะทำให้ลูกมี self-esteemที่ดี รู้สึกตนเองมีคุณค่า และ ถูมิใจในตัวเองสูง

ยิ่งกว่านั้น พ่อที่ให้ความสำคัญกับการศึกษากับลูกของตน เด็กก็มักจะมีผลการเรียนที่ดีกว่าเด็กที่พ่อไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้

ส่วนเด็กวัยรุ่น จะแสดงศักยภาพได้เต็มที่หากพ่อเข้ามามีบทบาทในการเป็นแบบอย่างในทางที่ดี ชี้แนะ ช่วยเหลือ ประคับประคองให้ลูกผ่านช่วงวัยเปลี่ยนผ่าน จากเด็กสู่วัยรุ่น และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้

ในมุมกลับกัน เด็กที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อของตัวเอง มีรายงานว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน ติดยาเสพติด มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นมากกว่า ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงมักจะมีปัญหาตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรมากกว่า ส่วนเด็กผู้ชายมักเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอาชญากรรม และความรุนแรงบ่อยกว่า


ฉิก : โอ้ว!!! มันน่ากลัวขนาดนั้นเลยเหรอครับ


ป้อม : ครับ ยิ่งช่วงเด็กวัยรุ่นที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิตที่สำคัญ ผมว่าพ่อๆเรานี่แหล่ะที่จะเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นโค้ชที่คอยชี้แนะ หนุนหลังให้เขาเดินไปในโลกกว้างอย่างถูกทิศถูกทาง สอนประสบการณ์ชีวิต และ สอนทักษะต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในโลกกว้าง

พ่อที่ลูกวัยนี้ต้องการ จึงต้องให้ทั้งความรักความเข้าใจ ให้เวลาใส่ใจในเรื่องการเรียน การเรียนรู้ของลูก ทำกิจกรรมร่วมกัน ส่งเสริม ให้กำลังใจ คอยดูแลเรื่องระเบียบวินัยของลูกอย่างสม่ำเสมอ

แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากพ่อไม่มี"เวลาคุณภาพ"ให้ลูก!!!!

สังเกตนะครับ ผมใช้คำว่า"เวลาคุณภาพ" คือ บางคนอาจบอกว่า"ไม่มีเวลา"
เรื่อง"ไม่มีเวลา" นี่เป็นคำตอบยอดฮิตของทุกคนเลย แต่ผมว่าจริงๆแล้ว"เวลา" มันก็มี24 ชม.ต่อ 1 วันเท่าๆกันทุกคนแหล่ะครับ
มันอยู่ที่ว่า เราจะให้ความสำคัญกับตรงนี้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า
ถึงเราจะไม่ได้มีเวลาว่างมาก แต่หากเราตั้งใจทุ่มเทให้ลูกเราเต็มที่
เวลาน้อยๆที่เป็น"เวลาคุณภาพ"นี้ก็เพียงพอแน่นอนครับ

ในทางกลับกัน ถ้าเรามีเวลาอยู่กับลูกมากมายแต่ไม่ได้ใส่ใจลูกเท่าที่ควร ปล่อยให้ลูกอยู่แต่หน้าจอโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นเกมทั้งวัน ไม่ค่อยได้พูดคุยกัน เวลาเยอะๆเหล่านั้นมันก็ไม่มีความหมายอะไรหรอกครับ




ฉิก : แล้วจริงมั้ยครับที่เขาว่ากันว่า เด็กฉลาดมักเกิดจากการที่มีพ่อฉลาดๆ


ป้อม : ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป คือพูดในแง่กรรมพันธุ์มันก็แค่ส่วนนึง แต่ที่สำคัญคือการปลูกฝังเลี้ยงดูจากพ่อแม่น่าจะมีบทบาทมากกว่า

ที่แน่ๆคือ พ่อที่ใส่ใจเรื่องการเรียนของลูก จะสร้างลูกให้เรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่พ่อไม่สนใจ ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกเก่ง พ่อไม่ควรปล่อย ให้เรื่องเรียนของลูกเป็นหน้าที่ของคุณครูหรือคุณแม่เพียงลำพัง

พ่อๆเราสามารถช่วยสอน ช่วยอธิบายวิชา หรือเรื่องเรียนที่ลูกไม่เข้าใจ เช่น ช่วยสอนคณิตศาสตร์ เพราะ ส่วนใหญ่ผู้ชายมักจะถนัดวิชาการคำนวณมากกว่าคุณผู้หญิง หรือ พ่อที่เป็นศิลปิน ลูกก็มักจะถนัดทางด้านศิลปะด้วย

มีอยู่อันนึง คือ ผมคิดว่าคุณพ่อเรามักจะสอนลูกได้สนุกกว่าคุณแม่ ตรงที่พ่อๆเรามักกล้าสอนอะไรที่ขำๆ แผลงๆ มากกว่า บางทีก็มีทะลึ่งตึงตังบ้าง ในกรณีแบบนี้ เด็กจะรู้สึกผ่อนคลาย และ เป็นกันเองกับพ่อมากกว่า


ฉิก : ถ้าผมเกิดไม่ถนัดเรื่องวิชาการอะไรแบบนั้น แล้วผมไม่แย่เหรอครับ จะสอนลูกได้ยังไงล่ะครับทีนี้


ป้อม : ก้อถ่ายทอดความรู้ที่คุณพ่อใช้ทำมาหากินนั่นแหล่ะครับ ข้อคิดต่างๆ นานาจากประสบการณ์ชีวิตของพ่อก็ล้วนเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า ที่ช่วยให้ลูกเก่งและประสบความสำเร็จได้เหมือนกันนะครับ

เป็นช่วงเวลาดีที่สุดที่พ่อจะสอนลูกในเรื่องเหล่านี้ เพราะเขารู้จักเหตุผลมากขึ้น และเป็นวัยที่ยังสั่งสอนกันได้ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ถือโอกาสนี้สอนให้ลูกรู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักแก้ปัญหา สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน ในยามที่พ่อลูกใช้เวลาร่วมกัน

กิจกรรมยามว่างที่พ่อลูกใช้เวลาด้วยกันนี่แหล่ะ ที่สร้างคนเก่งมานักต่อนักแล้ว โดยเฉพาะทางด้านกีฬา นักกีฬา หลายต่อหลายคนเก่งเป็นแชมป์ได้ ก็เพราะคลุกคลีกับคุณพ่อที่ชอบเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก อย่างภราดรคนหนึ่งละ อย่างน้อยที่สุด พ่อที่เล่นกีฬากับลูกก็ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกายให้ลูกซึ่งในช่วงนี้กล้ามเนื้อ และกระดูกกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว




ฉิก : แล้วเรื่องEQล่ะครับ พ่อเราพอจะมีส่วนสอนลูกตรงนี้ได้มั่งมั้ย


ป้อม : เยอะเลยครับ ที่ผมมองว่าสำคัญมากๆเลย คือ "การเสริมสร้างแรงจูงใจให้ลูก"(motivation)

ในขณะที่เด็กวัยนี้เริ่มก้าวสู่โลกกว้างและต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย เขาต้องการแรงใจมุ่งมั่นก้าวเดินต่อไป เรียนรู้ในสิ่งที่ยากขึ้นทั้งในบทเรียนและในการดำเนินชีวิต

พ่อที่มีส่วนร่วมกับลูก ชื่นชมลูกเสมอ จะกระตุ้นให้ลูกมีความกล้าหาญ มั่นอกมั่นใจ กระตือรือร้นที่จะแสวงหาสิ่งแปลกใหม่

ในทางตรงข้าม พ่อที่ชอบดุด่า วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของลูก แสดงความไม่พอใจในสิ่งที่ลูกทำ เปรียบเทียบลูกกับพี่น้องหรือเด็กอื่นอยู่เสมอ จะบั่นทอนความมั่นใจของลูกได้อย่างชะงัด

รวมไปถึงสิ่งที่พ่อเป็น พ่อทำ ล้วนสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกวัยนี้ อย่างเช่น พ่อมีงานอดิเรกสะสมโมเดลเครื่องบิน อาจทำให้ลูกใฝ่ฝันอยากเป็นนักบิน หรือต่อยอดความรู้ในเรื่องนั้นๆ หรือการงานอาชีพที่พ่อทำอยู่ ถ้าให้โอกาสลูกได้รู้ได้เห็น เช่น พาลูกไปที่ทำงาน ให้ช่วยทำงานเล็กๆ น้อยๆ ลูกจะซึมซับไว้ เป็นแรงบันดาลใจให้ลูกตั้งเป้าหมายในชีวิต มีจินตนาการที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ

นอกจากนี้ ด้วยความที่เด็กวัยนี้ซึมซับคำพูดได้น้อยกว่าการกระทำ และยังอยู่ในวัยที่เรียนรู้โดยการเลียนแบบ พ่อจึงเป็นต้นแบบสำคัญในเรื่องของการเป็นคนดี การทำความดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกได้เห็น

วัยนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกฝังเรื่องคุณงามความดี ถ้าพ่อใส่ใจสอนลูกก็เท่ากับสร้างพื้นฐานชีวิตที่แข็งแกร่งให้ลูก เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ลูกออกนอกลู่นอกทางเมื่อโตขึ้น




ฉิก : ผมเคยได้ยินว่าเด็กผู้ชายที่ไม่ค่อยได้เล่นกับพ่อนี่อาจจะเป็นเกย์เป็นตุ๊ดได้ เพราะ ไม่มีตัวอย่างที่ดีให้ดู อันนี้จริงอ๊ะปล่าวครับ


ป้อม : ก้อไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ ไม่งั้นพวก single mom ก็คงแย่กันหมด จริงๆแล้วมันเป็นจากกรรมพันธุ์มากกว่าสิ่งแวดล้อมซะอีก เขาถึงขนาดหาเจอด้วยว่ายีนตัวไหนที่รับผิดชอบเรื่องพวกนี้

แต่ลูกชายที่ได้เล่นกับพ่อ ใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับพ่ออยู่เสมอ จะได้เรียนรู้เรื่องความสามารถ ความเด็ดขาดความเป็นผู้ชายจากพ่อ พ่อที่ดีจะเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติตัวเป็นผู้ชายที่ดี ทั้งต่อคนในบ้านและสังคมภายนอกเป็นต้นแบบให้ลูกชายวัยนี้เรียนรู้ว่า ความเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริงไม่ได้หมายถึงการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ แต่เป็นการใส่ใจ ช่วยเหลือผู้อื่น มีทั้งความอ่อนโยนและความเข้มแข็ง

ส่วนลูกสาววัยนี้ จะเห็นพ่อเป็นบุคคลในอุดมคติ เป็นฮีโร่ หากได้รับความชื่นชมจากพ่อ ลูกสาวจะรู้สึก ตัวเองเป็นผู้หญิงที่มีคุณค่า การเป็นที่รักของพ่อ เป็นพลังอันยิ่งใหญ่หนุนให้เธอภูมิใจในตัวเอง มั่นใจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ลูกสาวจะติดอยู่กับแม่ค่อนข้างมาก และเลียนแบบแม่ ต่อเมื่อเด็กหญิงเติบโต เข้าสู่วัยพรีทีน 10-11 ปี พ่อจะลดบทบาทความเป็นฮีโร่ลง เป็นคนธรรมดามากขึ้น แต่ลูกสาวก็ยังเคารพ ยึดถือพ่อเป็นแบบอย่าง

พ่อจึงมีบทบาทต่อลูกสาวและลูกชายอย่างเท่าเทียมกันตั้งแต่เด็กจนโตทีเดียว พ่อที่ใส่ใจลูกไม่เพียงเป็นผลดีกับลูกอย่างที่เล่ามาทั้งหมด แต่เป็นผลดีกับตัวคุณพ่อเองด้วย เพราะงานวิจัยพบว่า ประสบการณ์การเป็นพ่อ ทำให้ผู้ชายเข้มแข็งขึ้น และปรับตัว ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

ที่ดีกว่านั้น เวลาที่คุณพ่ออยู่กับลูก เล่นกับลูก คุณพ่อเองก็เป็นสุข เพราะ ได้ย้อนรำลึกถึงความสุขสนุกสนานในวัยเด็กด้วย ได้ประโยชน์สองเด้งเลยครับ


ฉิก : OKครับ วันนี้ไว้แค่นี้ก่อน เห็นตอนแรกว่าจะคุยกันสั้นๆ ไหงมันลากยาวมาได้ขนาดนี้ เฮ้อ! ผมเองก็เริ่มเบลอๆแล้ว แล้วค่อยพบกันใหม่นะครับ



pomjom.bloggang.com
Create Date : 24 มกราคม 2552

Views: 57

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2025   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service