เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

สอนลูกเองก็ได้...ง่ายจัง4 : ความอยากรู้...สำคัญกว่าความรู้...จริงๆนะ

ณ ยอดดอยอินทนนท์ ในยามเช้าอันแสนหนาวเหน็บ

ฉิก : สวัสดีครับ หนาวจังเลยนะครับช่วงนี้ (แล้วยังจะมาเที่ยวที่มันหนาวสุดๆแบบนี้ทำไมล่ะเนี่ย...ไม่เข้าใจจริงๆ ) หลังจากแอบไปสัมภาษณ์คุณป้อม และ คุณจอมมาแล้ว ผมมาทบทวนดูรู้สึกว่ามันยังห้วนๆ ขาดๆเกินๆยังไงชอบกล

ผมก็เลยอยากลองให้คุณพ่อคุณแม่น้องพลอยให้ความเห็นเกี่ยวกับการสอนลูกโดยเป็นในรูปแบบการเล่าแบบยาวๆโดยที่ผมไม่ต้องคอยยิงคำถามที่ผมอยากรู้ แต่ให้เป็นมุมมองจากทั้งสองคนเองโดยตรงเลย น่าจะทำให้เราได้รายละเอียดที่มากขึ้นนะครับ

วันนี้ผมขอยกให้คุณป้อมเล่าให้พวกเราฟังเองก่อน ครั้งหน้าค่อยสลับไปให้คุณนายเล่าบ้าง เอาเลยครับ วันนี้ผมยกให้ เต็มที่เลยนะครับ

ป้อม : ขอบคุณครับ คือแบบว่า...จริงๆน่าจะคิดได้ตั้งนานแล้วนะครับ

คืองี้ครับ ผมเองสงสัยมานานแล้วว่า การเรียนตามระบบปกติภาคบังคับที่ผ่านๆมานี่ เราได้อะไรกันมากน้อยแค่ไหนจากในห้องเรียน

อย่างแรกเลย เด็กๆเราแต่ละคนมีความเป็นปัจเจก(individual) มีลักษณะเฉพาะตัว มีเอกลักษณ์(identity)ของตนเองมาตั้งแต่เกิด แต่ละคนมีลักษณะทางกายภาพ นิสัยใจคอ อารมณ์ความรู้สึก รสนิยม รวมไปถึงการรับรู้เข้าใจโลก(sense of perception) ที่ไม่เหมือนกันเลย แม้จะเป็นพี่น้องกัน หรือ ฝาแฝดแท้เองก็ยังแตกต่างกันมากมาย ทั้งหมดนี้จึงทำให้แต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้เรื่องต่างๆไม่เหมือนกัน

ดังนั้น การจะให้เด็กทุกคนมาเรียนรวมๆกันในห้องเรียนครั้งละ 10-50 คน แล้วคาดหวังให้เด็กทุกคนรับรู้และเข้าใจในทุกสิ่งที่ครูสอนเนี่ย...มันเป็นไปไม่ได้เลยครับ

ที่เราควรทำมากกว่า คือ การสอนเด็กแต่ละคนแบบปัจเจก(individual learning) ตามลักษณะที่เฉพาะของเด็กแต่ละคน ซึ่งสิ่งนี้คงคาดหวังจากคุณครูไม่ได้หรอกครับ เป็นหน้าที่ของพ่อๆแม่ๆเรานี่แหล่ะ ที่จะต้องเป็นคนจัดการเรื่องนี้ เพราะ เราเองน่าจะเป็นคนที่รู้จักลูกเราดีที่สุด และ มีเวลาติดตามเด็กอย่างต่อเนื่องที่สุด อย่างน้อย ในแต่ละสัปดาห์ ส่วนใหญ่เด็กก็ใช้เวลาอยู่บ้าน อยู่กับพ่อแม่ มากกว่าอยู่กับครูที่รร. อยู่แล้ว (เอ...แต่บางทีมันก็ไม่แน่เสมอไปนะ )

ประเด็นต่อมา การศึกษาที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจัดให้เด็ก มักมีประเด็นซ่อนเร้นในสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่าดีต่อการพัฒนาชาติบ้านเมือง บนฐานความคิดแบบ mass production คือมันเริ่มกันตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เน้นพัฒนาความเจริญทางวัตถุ แต่ละเลยในเรื่องจิตใจ และ คุณภาพชีวิต ระบบการศึกษาที่คับแคบทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในการเรียนของเด็ก ที่มีผลต่อมาในเรื่องความทุกข์ในการทำงานของผู้ใหญ่ จนนำไปสู่ความทุกข์ของสังคมอย่างที่เห็นๆกันอยู่ทุกวันนี้

ถ้าเรารู้เท่าทันตรงจุดนี้ เราควรพัฒนาครอบครัวเราให้เข้มแข็ง โดยการร่วมรับผิดชอบในการเรียนรู้ของเด็กให้มีความสุข สนุกสนานในการเรียนรู้ มากกว่า ไหลไปตามกระแสอันเชี่ยวกรากของสังคม

เปรียบกับการเดินทางท่องเที่ยวจากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดหมาย หากคนส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้นั่งเรือลำใหญ่แล้วปล่อยให้เรือลอยล่องไปตามกระแสน้ำ โดยเข้าใจว่ามันจะไปถึงจุดหมายได้ในที่สุด และ ดูเหมือนจะปลอดภัยที่สุด

วันดีคืนดี ดันมีคนที่คิดแตกต่าง ไม่ยอมนั่งเรือลำนั้น แต่ลุกขึ้นมาแล้วว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง แล้วใช้วิธีเดินทางอย่างอื่น เช่น การเดิน ขี่จักรยาน ขับรถยนต์ หรือแม้แต่ขึ้นเครื่องบิน เขาเหล่านั้นก็มีโอกาสไปถึงจุดหมายได้เช่นกัน โดยที่อาจได้สัมผัสกับความสุขระหว่างทางมากกว่า เป็นอิสระมากกว่า แม้แต่เรื่องเวลาที่อาจจะไปถึงจุดหมายเร็วกว่า

แต่ก็นั่นแหล่ะ การเดินทางด้วยวิธีอื่นก็อาจมีอุปสรรคมากกว่า และ อาจเถลไถลออกนอกเส้นทางไปบ้าง จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเลือกกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การเดินทางตามกระแสหลักจะทำให้ถึงจุดหมายโดยปลอดภัยเสมอไป!!!! และ มันคงน่าเบื่อสิ้นดี ถ้าทุกคนคิดจะทำอะไรๆที่เหมือนๆกันไปหมด





สุดท้าย ทุกวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กๆส่วนใหญ่ในระบบการศึกษาเราเป็นอย่างไรกันนะ?

โลกของเด็กก่อนเข้ารร.เป็นโลกที่แปลกใหม่ สดใส สนุกสนาน สวยงาม มหัศจรรย์ น่าตื่นเต้น ชวนให้ค้นหาในทุกๆวัน เป็นโลกแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง และ เป็นการเรียนรู้ที่มีชีวิตและมีพลังอย่างสูง

แล้วเกิดอะไรขึ้น เมื่อเด็กๆเริ่มเข้าสู่ระบบรร. จากเด็กที่ตื่นตัว เรียนรู้อย่างไม่มีวันเหน็ดเหนื่อย พอมาเจอ"ความรู้"ที่ผู้ใหญ่เราต้องการยัดเยียดให้เด็กรับรู้อย่างมากมายมหาศาล โดยที่เด็กเองไม่ได้อยากรู้เลย ก็กลับกลายเป็นเด็กที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยหน่ายต่อการเรียน เห็นการแสวงหาความรู้เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง

หากเรายังมองว่า"ความรู้"เป็นสาระที่สำคัญที่สุดของการศึกษา ดังที่เรามักถูกสอนกันว่า "knowledge is power" เราก็คงยังต้องหลงทางในวังวนของการเปลี่ยนหลักสูตร และ กระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ตามทัน"ความรู้"ที่มันเปลี่ยนแปลงและมากมายมหาศาลขึ้นทุกวัน

ที่แท้จริง หัวใจของการศึกษาไม่ใช่ตัว"ความรู้"ทั้งหมด แต่หากเป็น"ความสงสัยใคร่รู้" หรือ "ความอยากรู้" ของเด็กต่างหาก

ซึ่งการจะส่งเสริม"ความอยากรู้" ที่สำคัญคือ ต้องไม่ไปทำลาย"ความอยากรู้"ของเด็กอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยระบบการศึกษาของเรา แต่ต้องส่งเสริม lifelong learning คือ การศึกษาแบบองค์รวม(holistic education)ไปตลอดชีวิต โดยที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่

ตรงจุดนี้แหล่ะครับที่การสอนลูกเราจะได้เปรียบกว่าการฝากภาระทั้งหมดให้กับคุณครูแต่เพียงฝ่ายเดียว

อย่างลูกสาวผมเนี่ย ผมตัดสินใจที่จะเลือกรร.ที่มีสิ่งแวดล้อมดีๆ มีกิจกรรมที่หลากหลาย โดยที่ไม่ได้เน้นเรื่องวิชาการ เพราะ อยากให้ลูกได้ไปรร. เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตวัยเรียนอย่างมีความสุข สนุกสนานกับเพื่อนๆ และ เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคม มากกว่าที่จะไปคร่ำเคร่งแต่เรื่องการเรียนวิชาการเพียงอย่างเดียว

แต่ในขณะเดียวกัน ผมถือว่าเป็นหน้าที่ของผมและคุณแม่เขาในการเตรียมความพร้อมทางวิชาการเพื่อให้เขาพร้อมที่จะไปสอบแข่งขันในสนามสอบต่างๆ โดยที่ไม่ยึดติดกับ"กรอบ"ของหลักสูตรที่คับแคบ ผลที่ได้รับก็น่าชื่นใจมากที่ได้เห็นลูกมีความสุขในการเรียน มีเพื่อนมากมาย ไม่ถูกกดดันจากการแข่งขันในรร. แถมยังมีเวลามากมายในการทำกิจกรรมที่เขาชื่นชอบ ที่สำคัญ พอถึงเวลาสอบแข่งขันเขาก็ยังทำในส่วนนั้นได้ดีอีกด้วย

โอ้ว! เราพร่ำรำพันอะไรมาตั้งมากมายล่ะเนี่ย หวังว่าคงจะยังไม่เบื่อกันก่อนนะครับ ไว้คราวหน้าลองไปฟังความเห็นจากคุณนายผมบ้าง น่าจะสนุกกว่านี้ครับ ผมขอตัวไปถ่ายรูปกับจุดสูงสุดแดนสยามก่อนนะครับ ไว้ค่อยเจอกันใหม่ สวัสดีครับ






pomjom.bloggang.com
Create Date : 19 มกราคม 2552

Views: 91

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service