เทคนิคในการช่วยให้ลูกอ่านหนังสือเป็นได้เร็วขึ้น
เขียนโดย ทีมงาน
Sunday, 13 June 2004
คุณpop ส่งมาให้อ่านค่ะ ทดลองมาลงที่นี่ให้อ่านกัน
Pop ได้เขียนเรื่องจากประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อให้พี่พิจารณาว่าจะลงในส่วนของ "เทคนิคต่าง ๆ" ได้หรือไม่ ลองอ่านดูนะคะ
เทคนิดในการช่วยให้ลูกอ่านหนังสือเป็นได้เร็วขึ้น
เชื่อหรือไม่ว่าการเขียนบันทึกช่วยให้ลูกอ่านหนังสือออกได้เร็วขี้น ถึงแม้ว่าลูกยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่ถ้าเริ่มรู้จักและอ่านพยัญชนะ ก-ฮ ได้ ก็สามารถเขียนบันทึกได้ โดยความช่วยเหลือจากพ่อแม่
ดิฉันขอเล่าจากประสบการณ์ที่เกิดขี้นกับลูกดังต่อไปนี้ "ตอนที่ลูกสาวเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 ทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมให้เด็กปลูกต้นผักบุ้งที่บ้านและให้คอยดูแลและบันทึกการเจริญเติบโตด้วยการสังเกตและวัดส่วนสูงของต้นผักบุ้ง และวันที่ออกดอก เป็นระยะเวลา 3 เดือน
ดิฉันเองรู้สึกว่าไหน ๆ ก็ได้ลงมือปลูกแล้ว ก็น่าจะใลกได้เรียนรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากคอยวัดแต่ส่วนสูง และการออกดอกเท่านั้น จึงให้ลูกได้รู้จักการเขียนบันทึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ลูกสังเกตเห็นในแต่ละวัน โดยมีวิธีดังนี้ - ให้ลูกคอยรดน้ำต้นผักบุ้งทุกวัน และสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- ให้ลูกเล่าถึงสิ่งที่ตนสังเกตเห็น และดิฉันจะคอยสะกดคำตามคำบอกเล่าของลูก และให้ลูกเขียนเอง พร้อมทั้งวาดภาพประกอบ (ถ้าลูกอยากวาด)
- ดิฉันจะอ่านสิ่งที่ลูกเขียนอย่างช้า ๆ พร้อมกับชี้ตามตัวหนังสือที่อ่านไปด้วย และให้ลูกอ่านตาม
- เขียนบันทึกให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลังจบการทำกิจกรรมผักบุ้งซึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน ลูกสามารถสะกดและเขียนคำว่า "รดน้ำ" "ผักบุ้ง" "ใบไม้" ได้ และภายใน 1 เดือนหลังจากนั้น ลูกก็สามารถอ่านหนังสือนิทานซึ่งเขียนเป็นประโยคยาว ๆ (ไม่ได้ตัดเป็นคำ ๆ เหมือนในแบบเรียน) และเริ่มหยิบหนังสือที่ตัวเองสนใจมาอ่านเอง โดยจะคอยถามเฉพาะคำที่ยาก ๆ เท่านั้น ซึ่งทำให้ดิฉันประหลาดใจมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ ดิฉันจะต้องทะเลาะกับลูกและอารมณ์เสียแทบทุกครั้งที่สอนลูกอ่านแบบเรียนภาษาไทยของโรงเรียน ซึ่งเป็นคำง่าย ๆ และเขียนตัดเป็นคำ ๆ เพราะลูกจะอ่านแบบท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง พอลองชี้คำสลับกลับไปกลับมา ลูกจะอ่านไม่ได้ ทำให้เครียดมากทั้งแม่และลูก
ดิฉันได้เล่าเรื่องนี้ให้กับผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาของเด็กเล็กฟัง ท่านได้บอกว่าที่เด็กอ่านได้หลังจากทำกิจกรรมผักบุ้งและการทำบันทึก เป็นการเรียนรู้ภาษาแบบ whole language คือเด็กได้ลงมือทำ ได้เห็น ได้เล่า ได้ลงมือเขียน และอ่านในสิ่งที่ตนเขียนเอง เช่นการที่เด็กจะอ่านคำว่า "รดน้ำ" เด็กต้องผ่านมาตั้งแต่การลงมือรดน้ำ จำสิ่งที่ตัวเองทำและเล่าออกมาเป็นคำพูด แล้วจึงเขียน ทั้งหมดต้องผ่าน 4 ขั้นตอนกว่าจะมาอ่านคำว่า "รดน้ำ" ฉะนั้นเด็กจะเข้าใจว่าการรดน้ำคืออะไรและจำได้ ซึ่งดีกว่าการท่องจำ และเมื่อเด็กไปเห็นคำที่เขียนโดยใช้สระแบบนี้ เด็กก็จะเริ่มทำการนำคำเหล่านั้นไป match กับคำที่ตัวเองเคยเขียนเคยอ่านผ่านมา ทำให้เด็กอ่านหนังสือเป็นได้เร็วขึ้น
ลูกสาวของดิฉันสามารถอ่านหนังสือเป็นเรื่องยาวได้ตั้งแต่อายุ 4ขวบครึ่ง และอ่านหนังสือพิมพ์ตั้งแต่อายุ 5ขวบ
ขณะนี้ ดิฉันกำลังทดลองทำกิจกรรมนี้กับลูกสาวคนที่ 2 ซึ่งอายุ 4 ขวบเศษ เช่นกัน และเริ่มเห็นผลดังเช่นที่เกิดกับลูกสาวคนโต จึงอยากให้ท่านผู้ปกครองที่กำลังมีปัญหากับการอ่านของลูกลองพิจารณานำไปปฏิบัติดู
ด้วยวิธีการเช่นนี้จะทำให้ลูกอ่านหนังสือเป็นเร็วขึ้น ได้รู้จักการทำบันทึกและรู้สึกสนุกไปกับการปลูกต้นไม้ และตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นการเติบโตของต้นไม้ (ขอแนะนำให้เลือกพืชที่เริ่มจากการเพาะเมล็ด โตง่ายและเห็นผลเร็ว เพื่อเด็กจำได้ไม่เบื่อและภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง)
นับได้ว่ายิงกระสุนนัดเดียว (ที่จริงก็หลายนัดนะ เพราะต้องให้เวลาและใจเย็นพอสมควรกับการคอยกระตุ้นให้ลูกลงมือทำ เล่าเรื่อง และต้องคอยสะกดคำให้ลูกเขียนบันทึกทีละตัว) ได้นกเพียบเลย (แต่ปลอดหวัดนกนะคะ)"..... Pop
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้