เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5118

Reply to This

Replies to This Discussion

ส่วนเรื่องปัญหาสังคมที่พ่อแม่หลายคนกังวลนั้น อยากให้พิจารณาอีกสักนิดว่าปัญหาทั้งหลายนั้นพื้นฐานมาจากการขาดการเอาใจใส่จากครอบครัวเป็นหลัก ถ้าพ่อแม่รับผิดชอบ ดูแลเอาใจใส่ลูกของตนเองให้ดี สอนให้เขารู้จักแยกแยะ รู้จักคิด รู้จักพิจารณาเหตุผลและรู้จักหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธ ปัญหาสังคมก็ไม่น่ากลัวเท่าไหร่หรอกค่ะ แต่เพราะว่ามีพ่อแม่บางคน ทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำต่างหาก สำหรับตัวเองนะคะ มองประเด็นโฮมสคูลเป็นการเสริม เพิ่มเติม ให้ลูกมากกว่า หมายความว่า ให้ลูกเข้าเรียนตามระบบโรงเรียนนั่นแหละ แต่ในช่วงเย็นหรือเสาร์อาทิตย์ หรือช่วงที่แม่ปิดเทอม (แม่เป็นครูเนอะ มีปิดเทอมด้วย) ก็จัดการเสริมสร้างความรู้ให้ลูกโดยใช้แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อ ให้ลูกเรียนรู้จากสิ่งรอบๆ ตัว ไม่ใช่ส่งลูกไปเรียนกวดวิชาจนทำให้การเรียนน่าเบื่อ เพราะต้องยอมรับความจริงอย่างนึงว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงาน การทำโฮมสคูลต้องใช้เวลามาก ขาดรายได้แน่นอนค่ะ ส่วนเรื่องว่าเด็กแต่ละคนมีความชอบ ความถนัดต่างกันนั้น เรื่องจริงค่ะ แต่ถ้าเราให้เขาเรียนเหมือนเด็กคนอื่น แล้วเราไปสนับสนุน ส่งเสริมเพิ่มเติม หรือต่อยอดความชอบ ความถนัดเหล่านั้น มันก็จะมีความพิเศษเกิดขึ้น ตรงที่ลูกเราได้ความรู้ไม่ด้อยกว่าเด็กคนอื่น รู้ในสิ่งที่คนอื่นรู้ แถมรู้ว่าตัวเองถนัดอะไรด้วย ไม่ดีกว่าเหรอคะ
เห็นด้วยกับความคิดของคุณลัดดาวรรณค่ะ ดิฉันได้ลองปรึกษากับสามีเรื่องโฮมสคูลรู้ไหมคะว่าเขาตอบเหมือนคุณลัดดาวรรณเลยเขาบอกว่าเขาเห็นด้วยเป็นบางเรื่อง เช่น การได้ใกล้ชิดและให้ความอบอุ่นกับลูกแต่สิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละครอบครัวว่าจะเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้เขาได้ความรักความอบอุ่นไม่จำเป็นว่าพ่อแม่จะต้องอยู่กับลูกตลอดเวลาบางครั้งพ่อแม่อยู่กับลูกทั้งวันแต่ไม่ได้ใส่ใจถามว่าเรื่องความรักความอบอุ่นมันจะเกิดขึ้นไหมเขามองว่าการทำโฮมสคูลส่วนดีมันน้อยกว่าส่วนเสียโยเฉพาะการต่อยอด การปรับตัวเข้ากับสังคม วิสัยทัศน์ที่ลูกมี และสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่เขาก็ยอมรับกันและสถาบันการศึกษาของไทยก็สร้างคนเก่ง,คนดัง,คนดี มาก็มีมากมายไม่ต้องดูไกลตัวหรอกค่ะดูจากตัวเราเองก็ได้เราก็เริ่มอ่านออกเขียนได้ มีงานที่ดีทำ มีเงินเดือนดีๆ ก็จบการศึกษาจากเมืองไทยนี่แหละค่ะ เราควรใช้เวลาที่เรามีหลังเลิกงานหรือเสาร์-อาทิตย์ ช่วยส่งเสริมให้ลูกคงจะดีกว่าค่ะ
เป็นหลักการที่ดีน่าสนใจค่ะ แต่โดยส่วนตัวยังขาดความรู้ ความเข้าใจในระบบ ข้อดี ผลกระทบต่างๆ และยังไม่มีความพร้อมที่จะจัดการศึกษาแบบ โฮมสคูลได้เต็มรูปแบบ อีกทั้งในปัจจุบัน โรงเรียนแต่ละแห่งก็มีรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลายขึ้น มีจุดเน้นที่แตกต่างกันไป ซึ่งผู้ปกครองสามารถเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวคิดที่ต้องการได้ กระบวนการเรียนรู้มีอยู่และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผู้ปกครองสามารถเสริมเติมเต็มได้ในส่วนที่ระบบโรงเรียนยังขาดตกบกพร่อง จากแหล่งความรู้ขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้ง่าย สะดวก อย่างอินเทอร์เนต การทำกิจวัตรประจำวัน การสร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคม ชุมชน เพื่อนบ้าน คิดว่าสิ่งที่จะหล่อหลอมให้เด็กเติบโต มีคุณภาพ แบบไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับ ตัวเด็กเอง พ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียน และสิ่งแวดล้อมค่ะ
เห็นด้วยเพราะ เด็กจะได้มีความคิดและพูดความคิดนั้นออกมา เนื่องจากในปัจจุบันเด็กไม่พูด ไม่อ่าน ไม่เขียน แต่คิดอะไรในใจซึ่งผู้ใหญ่ไม่รู้ มีแต่การคาดเดาว่า เด็กคงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ และจัดบริการให้เด็กตามที่ตนคาดเดาเอาไว้ ถูกต้องไหมคะ
เห็นด้วยนะค่ะ แต่คิดว่าครอบครัวเราคงยังไม่พร้อมที่จะทำค่ะ เพราะพ่อต้องไปทำงานต่างประเทศ นานๆ ถึงจะกลับมาที แม่ก็มีงานประจำ เวลาที่จะอยู่กับลูกก็มีจำกัดค่ะ แต่ยังอยากจะเห็นครอบครัวที่พร้อมและเริ่มทำตรงนี้ เป็นกำลังใจให้ค่ะ
มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ถ้าพ่อแม่ไม่มีข้อจำกัดนี้ก็ทำได้

ตามที่ตั้งกระทู้ขึ้นมา โรงเรียนมักจะอ้ำอึ้ง ถ้าโรงเรียนไม่อ้ำอึ้งและยินดีรับฟังความคิดเห็น น่าจะทำให้ดีขึ้น ระบบโรงเรียนปัจจุบันถ้าให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม ก็จะดีมาก ไม่ใช่ว่าจะขอเงินอย่างเดียว
ก้อเป็นแนวคิดที่ดี แต่บางครั้งพ่อ-แม่ไม่มีเวลาสอนและอบรมลูกค่ะ
ตอบว่าไม่แน่นอน เพราะ 1. มีลูกคนเดียวลูกไม่มีเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนเล่นที่อยู่ในวัยเดียวกัน ขณะนี้ลูก 2 ขวบ 7 เดือน ยังไม่เข้าโรงเรียน
เวลาเจอเด็กรุ่นเดียวกันจะดีใจมาก และบอกอยากไปโรงเรียน คิดว่าเด็กมีความจำเป็นต้องเข้าสังคม ต้องเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมของคนอื่น ในปัจจุบันสังคมมีความหลากหลายเด็กได้รับการเลี้ยงดูแตกต่างกัน พฤติกรรมต่างกัน การที่ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้ และเข้าใจคนที่กว้างขึ้นจะช่วยให้เขาปรับตัวได้ง่ายขึ้น
2. ระบบการศึกษาปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองการเรียนรู้ที่สร้างให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการศึกษาในระบบ
ดังนั้นจึงคิดว่า จะไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง แต่จะใช้การผสมผสานการเรียนรู้ โดยในฐานะพ่อ แม่ต้อง ให้การศึกษาลูกอย่างเต็มที่ตามที่เห็นว่าเหมาะกับลูกของตัวเอง เนื่องจากพ่อ แม่รู้ดีที่สุดว่าลูกเรามีจุดเด่น จุดด้อย ตรงใหน ถนัด ด้านใหน มีความชอบอะไร เราจึงสามารถส่งเสริมศักยภาพลูกได้อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสังคมของลูก
เห็นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระทรวงศึกษาของประเทศไทยจะต้องยอมรับด้วยเด็กที่เรียนที่บ้านแล้วไปสอบเที่ยบได้

คิดว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยไม่สามารถที่จะนำลูกไปสอบเที่ยบตาม รร.ต่างที่มีมาตรฐานการรับรองของรัฐบาลไทยได้ ถ้าจำไม่ผิดเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วมีคุณหมอท่านหนึ่ง (ไม่สามารถเอ๋ยนามได้) เคยสอนลูกชายและลูกสาวที่บ้าน และท่านไปปรึกษากับเจ้าหน้าทีทางกระทรวงศึกษาธิการว่าจะขอนำลูกสอบในที่สุดทางคุณหมอก็ต้องถูกปฏิเสธ และในที่สุดลูกๆ ก็เลยต้องมาสอบเข้า รร.นานาชาติซึ่งผลปรากฏว่าลูกชายก็เป็นหมออยู่ที่สหรัฐอเมริกา..

บางครอบครัวก็อาจจะสอบลูกๆ ตัวเองได้เพราะมีเวลาและก็พื้นฐานและความรู้ที่จะสอน แต่บางครอบครัวก็ไม่สามารถที่จะทำได้เพราะสาเหตุปัจจัยหลายๆ ด้านเช่นพื้นฐานด้านการศึกษา และ ต้องทำงานทั้งสองคน

ที่สหรัฐอเมริกาที่พ่อแม่เด็กสอนที่บ้านก็เป็นเพราะว่าหลายสาเหตุอย่างที่หลายๆ ท่านกล่าวมาแต่อีกแง่หนึ่งคือที่ประเทศนี้เราจะหาพี่เลี้ยงเด็กมาดูแลราคา..แพงมาก ฉะนั้นพ่อแม่ก็จะเป็นคนสอนเอง...และที่สำคัญอุปกรณ์การสอนและก็หนังสือที่วางขายมีมาตรฐานมาก..และห้องสมุดของเกือบทุกรัฐ(คิดว่า) เพราะรัฐที่ดิฉันอาศัยอยู่ก็มีหนังสือ และวีดีโอ ของเด็กๆ และผู้ใหญ่หลากหลายชนิดให้ยืม และมีกิจกรรมหลายอย่างที่ส่งเสริมให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรม
ปัจจุบันโรงเรียนในสหรัฐจะมีเครื่องมือในการตรวจสอบอาวุธก่อนเข้า รร. (บาง รร) และที่สำคัญคือในตัวอาคารเรียนทุกอาคารจะมีกล้องวงจรปิด เพื่อบันทึกภาพไว้ตลอดเวลา ปัญหาก็คิดว่าน้อยลงกว่าที่ผ่านๆมา
เห็นด้วยค่ะ อยากทำแต่ติดที่เวลา และข้อมูลที่เราจะหามาสอนลูกต้องหาเองหรือว่าถ้ามีเซ็นเตอร์ก็ดี แล้วแนวทางการสอบวัดระดับในบ้านเราก็ยังไม่แน่ใจหรือได้รับการยอมรับน้อย
การทำโฮมสคูลได้ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น พ่อหรือแม่ต้องเลี้ยงลูกแบบ full time พ่อหรือแม่ต้องมีความรู้เพียงพอที่จะสอนลูกได้ ต้องติดตามข่าวสารต่างๆเพื่อป้อนให้ลูก วิธีการสอน และอีกหลายๆอย่าง ถ้ามีความมั่นใจว่าทำได้การทำโฮมสคูลก็ไม่ได้เสียหายอะไร กลับดีด้วยซ้ำ ทำให้พ่อแม่ลูกได้ใกล้ชิดกันเมื่อเขายังเด็ก แต่ถ้ายังขาดความมั่นใจก็ไม่ควรทำ ควรเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับครอบครัวเราแล้วส่งไปเรียนดีกว่าครับ แล้วพยายามสอนเพิ่มหรืออบรมที่บ้านเพิ่มเติม
เป็นการสอนที่ดีมาก เหมาะสำหรับพ่อหรือแม่อยู่กับลูกเต็มเวลา อยากทำค่ะ++ ติดที่ต้องทำงาน อยากให้มีหลักสูตรที่ชัดเจน
++สำหรับพ่อหรือแม่อยู่กับลูกเต็มเวลา
++สำหรับพ่อแม่ที่ทำงานมีเวลาว่างพอสมควร
++สำหรับพ่อหรือแม่ไม่ค่อยมีเวลา

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service