การศึกษาของสิงคโปร์กำหนดให้เด็กทุกคนต้องอยู่ในระบบโรงเรียนอย่างต่ำ 10 ปี กล่าวคือ ประถมศึกษา 6 ปี และมัธยมศึกษา 4 ปี ส่วนการศึกษา หลังมัธยมนั้น มีการจัดการศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย การศึกษาทางด้านเทคนิคและ อาชีวศึกษา และการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย การจัดการศึกษา แบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ ดังนี้
การศึกษาก่อนประถมศึกษา
หรือการศึกษาก่อนวัยเรียน ไม่เป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่โดยทั่วไปผู้ปกครองได้ให้เด็กเข้ารับการศึกษาระดับนี้ ดังนั้น เด็กร้อยละ 99 จึงเข้ารับการศึกษาก่อนวัยเรียน เพื่อเตรียมความพร้อม 1-3 ปี แม้ว่าการศึกษาระดับนี้เอกชนเป็นผู้จัด แต่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดแนวทาง และควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีกระทรวงพัฒนาชุมชน (Ministry of Community Development : MCD) ดูแลรับผิดชอบศูนย์เด็กปฐมวัย (Childcare Center) และกระทรวงศึกษาธิการดูแลรับผิดชอบโรงเรียนอนุบาล (Kindergarten) ในปี 2535 มีศูนย์เด็กปฐมวัยอยู่ 345 ศูนย์ ศูนย์บางแห่งตั้งอยู่ที่ทำงาน เพื่อให้มารดาทำงานได้แบบเต็มวัน สำหรับ งบประมาณค่าใช้จ่าย กระทรวงพัฒนาชุมชนให้เงินอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายต่อปีแก่เด็กแต่ละคน 130 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 80 เหรียญสหรัฐ ในการเรียนการสอนแก่เด็กก่อนวัยเรียนมุ่งเน้นการเรียนภาษา 2 ภาษา และกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านสุนทรียภาพและพลานามัย
ระดับประถมศึกษา
แบ่งออกเป็นประถมศึกษาตอนต้น 4 ปี (ประถม 1-4) และประถมศึกษาตอนปลาย 2 ปี (ประถม 5-6)
ประถมศึกษาตอนต้น
มีจุดมุ่งหมายให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และคำนวณได้ ร้อยละ 80 ของเวลาทั้งหมดของหลักสูตร มุ่งเน้นให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาแม่ และคณิตศาสตร์ เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ 4 จะมีการสอบวัดผลโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อศึกษาต่อในสายต่าง ๆ ในระดับประถมศึกษาตอนปลาย
ประถมศึกษาตอนปลาย (ประถม 5-6)
แบ่งออกเป็น 3 สาย เพื่อเรียน ภาษาอังกฤษ ภาษาแม่ และคณิตศาสตร์ ซึ่งแต่ละสายจะมีความยากง่ายต่างกัน แล้วแต่ความสามารถของเด็ก
เมื่อจบประถมศึกษาตอนปลาย (ป. 6) แล้ว เด็กทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบระดับชาติที่เรียกว่า PSLE (Primary School Leaving Examination) เพื่อศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาในสายต่าง ๆ ตามความสามารถ
ระดับมัธยมศึกษา
แบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร ตามผลการสอบ PSLE ในระดับประถมศึกษา
Spe
cial Course
สำหรับผู้ที่สอบได้คะแนนดีเยี่ยม ใช้เวลาเรียน 4 ปี ในปีสุดท้ายนักเรียนจะต้องสอบ GCE (General Certificate of Education) "O" level
Express Course สำหรับผู้ที่ได้คะแนนดี ใช้เวลาเรียน 4 ปี ปีสุดท้ายต้องสอบ GCE "O" เช่นกัน
Normal Course
สำหรับผู้ที่ได้คะแนนไม่ค่อยดี ใช้เวลาเรียน 4-5 ปี ในชั้นปีที่ 4 ต้องสอบ GCE "N" level ถ้าผ่านจะได้เรียนในชั้นปีที่ 5 เพื่อเตรียมสอบ GCE "O" level ต่อไป
(ในปี 2539 สิงคโปร์มีโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมด 192 โรง มัธยม 144 โรง รวม "โรงเรียนเอกเทศ" หรือ "autonomous school" 18 โรง และ "โรงเรียนอิสระ" หรือ "Independent school" 8 โรง)
รัฐบาลได้ลงทุนทางการศึกษา เพื่อให้ความเท่าเทียมกันในการเข้ารับการศึกษานับแต่เริ่มแรก โดยมีแผนที่เรียกว่า "Edusave Scheme" ในการนี้รัฐบาลจัดสรรเงินทุนส่วนหนึ่งให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 6-16 ปี ไว้ในบัญชีเพื่อการศึกษา (Edusave Account) ของเด็กทุกคน เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในแต่ละปี เด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่เสียค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพียงเล็กน้อย ในระดับมัธยมศึกษาและหลังมัธยมศึกษา ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าเล่าเรียนและค่า ใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างไรก็ดี โรงเรียนต่าง ๆ จะมีทุนการศึกษาอยู่ทุกระดับ
การศึกษาหลังระดับมัธยมศึกษา (Post-Secondary Education)
นักเรียนที่สำเร็จมัธยมศึกษาแล้ว จะต้องสอบ GCE "O" level ได้คะแนนดี จึงจะเข้า "junior college" หลักสูตร 2 ปี ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย (pre-university) โดยจะต้องสอบ GCE "A" level ให้ได้ในปีสุดท้ายจึงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ (ในปัจจุบันมี junior college 14 แห่ง)
ส่วนผู้ที่สนใจทางด้านช่างเทคนิคและพาณิชยการ สามารถเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยโพลีเทคนิค หลักสูตร 3 ปี โดยจะต้องผ่านการสอบ GCE "O" level เช่นกัน เมื่อสำเร็จแล้วสามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังมีวิทยาลัยเทคนิคต่าง ๆ ภายใต้ "Institute of Technical Education : ITE" ซึ่งเป็นหลักสูตรทางเทคนิคและอาชีวศึกษา โดยจะต้องผ่านการสอบ GCE "O" level ผู้ที่ได้คะแนนดีจะสามารถเข้าศึกษาต่อวิทยาลัยโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัย
สถาบันการศึกษาเทคนิค (Institute of Technical Education : ITE) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 เพื่อจัดฝึกอบรมการศึกษาทางเทคนิคและอาชีวศึกษาให้แก่ผู้สำเร็จมัธยมศึกษา เพื่อเตรียมตัวสำหรับการทำงาน นอกจากนั้นยังจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่ทำงานแล้ว เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ในปัจจุบัน ITE มีเครือข่าย 11 สถาบัน
วิทยาลัยโพลีเทคนิค เป็นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนระดับกลาง ให้สนองความต้องการด้านอุตสาหกรรม วิทยาลัยโพลีเทคนิคเปิดสอนหลักสูตรต่าง ๆ ด้านบริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และการเดินเรือ นอกจากนั้นยังจัดสูตรระยะสั้นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาวิชาชีพ วิทยาลัยโพลีเทคนิค มี 4 แห่ง ได้แก่ Singapore Polytechnic Ngee Ann Polytechnic Temasek Polytechnic และ Nanyang Polytechnic
การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (University Education)
สิงคโปร์มีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ได้แก่
1. มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS)
เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย และวิทยาศาสตร์ ระดับบัณฑิตศึกษาเปิดสอนในสาขาบริหารธุรกิจ แพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์
2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University : NTU)
เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา NTU มี 2 campus คือที่ Yunnan Garden Campus เปิดสอนสาขาการบัญชีและบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และที่ NIE (National Institute of Education) ซึ่งเปิดสอนด้านการฝึกหัดครู ศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเปิด (Open University)
จัดตั้งในปี 2537 ดำเนินการโดยเอกชนซึ่งมี SIM (Singapore Institute of Management) จัดหลักสูตรต่าง ๆ โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเปิดของอังกฤษ เปิดสอนปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ การรับสมัครเป็นการจำกัดรับ และ United Kingdom Open University เป็นผู้ประสาทปริญญาบัตร
ที่มา
http://www.onec.go.th/publication/4210045/appen1.htm