เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

เครื่องมือที่ดีที่สุดที่ช่วยพัฒนาความฉลาดให้ลูกน้อยคือ "ปฏิสัมพันธ์" ระหว่างพ่อแม่ลูกนั่นเองค่ะ นอกจากดีที่สุดแล้วยังง่ายที่สุด เพราะลงทุนเพียงความรักและเวลาจากคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับลูก ร้องเพลง อ่านหนังสือ เล่น หรือหัวเราะไปกับลูก ล้วนกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์

เรามีไอเดียดีๆ ในการ “เล่นและมีปฏิสัมพันธ์” กับลูกเตรียมไว้ให้คุณพ่อคุณแม่หยิบไปใช้ได้เลยค่ะ

1. ขวดนมหรรษา
สำหรับหนูน้อยที่กินนมจากขวด คุณแม่ลองหาผ้ายืดสะอาดๆ สีสันสดใสมาเย็บเป็นถุงขนาดเท่าขวดนม สูงประมาณ 2 ใน 3 ของความสูงของขวด นำถุงผ้ามาหุ้มขวดนมเวลาที่จะป้อนนมให้ลูก สีของถุงใส่ขวดนมที่เปลี่ยนไป และผิวสัมผัสของผ้าจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกน้อยได้ดีมาก

2. แก้วน้ำพุ
หลังจากให้ลูกดื่มน้ำจากแก้วเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ใช้หลอดดูดเป่าลงไปในน้ำ น้ำที่กระเพื่อมเป็นเสียงดังปุดๆ เหมือนน้ำพุสร้างเสียงหัวเราะให้ลูกน้อยได้ดีนักล่ะค่ะ

3. บันไดสู้ๆ
เปิดโอกาสให้ลูกน้อยวัยเกาะยืนได้คลานขึ้นบันไดด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่คอยประคองข้างหลัง และให้กำลังใจลูกด้วยนะคะ วิธีนี้ลูกน้อยจะได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ และปลูกฝังความเป็นนักสู้ให้ลูก

4. กำแพงหมอน
เอาหมอนใบใหญ่มาวางซ้อนกันจนสูงท่วมหัวลูก จับมือลูกปัดหมอนที่วางซ้อนกันให้พังทลายลงมา หนูน้อยได้พัฒนากล้ามเนื้อ และได้เรียนรู้เรื่องเหตุและผลด้วย ลูกได้รู้ว่าเมื่อเอามือไปปัด หมอนจะล้มลง ลองสังเกตดูได้เลยว่า เมื่อหนูเข้าใจเหตุและผลของการกระทำนี้แล้ว ลูกจะทำซ้ำๆ คุณพ่อคุณแม่ควรนำลูกหัวเราะอย่างสนุกสนานเมื่อหมอนล้มลงด้วยนะคะ

5. ของเล่นบินไปบินมา
ถือสิ่งของที่มีสีสันสดใส หรือของเล่นชิ้นโปรดให้อยู่ในระดับสายตาของลูก ห่างจากใบหน้าลูกประมาณ 8 นิ้ว พอเห็นว่าลูกเริ่มสนใจของชิ้นนั้น ทำท่าอยากไขว่คว้าเอาของเล่น คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ เคลื่อนสิ่งของไปทางด้านซ้ายและขวาของลูก หากเป็นเด็กวัยแบเบาะลูกน้อยจะพยายามมองตามลูกบอล แต่ถ้าเป็นวัยไขว่คว้า ลูกจะยื่นมือพยายามไขว่คว้าของเล่น แต่อย่าให้ลูกผิดหวังนานนะคะ ให้ของเล่นบินไปมาอยู่สัก 2-3 รอบ ก็ตบรางวัลด้วยการมอบของเล่นชิ้นนั้นให้ลูกไปเลยค่ะ

6. สบตาปิ๊งๆ
ทุกครั้งที่ลูกน้อยตื่นนอน ก่อนอุ้มลูกขึ้น คุณพ่อคุณแม่ลองสบสายตากับหนูน้อยสักครู่ เพื่อให้สมองของลูกน้อยจดจำใบหน้าของพ่อแม่ประทับไว้ในใจ

7. หน้าตาตลก
ว่างๆ ก็ทำหน้าตาตลกใส่ลูก ลองแลบลิ้น ยิ้ม ทำหน้าแหย อ้าปาก แล้วรอดูปฏิกิริยาของลูกนะคะ เพราะเด็กทารกอายุแค่ 2 วันก็สามารถเลียนแบบสีหน้าท่าทางของพ่อแม่ได้แล้วนะคะ

8. อะไรอยู่ในผ้าห่ม
ง่ายแสนง่ายแต่ลูกน้อยชอบที่สุดเลยล่ะค่ะ นำตุ๊กตาตัวโปรดของลูกไปใส่ไว้ใต้ผ้าห่ม ทำต่อหน้าลูก แล้วคุณพ่อคุณแม่ช่วยกันกับลูกน้อยเปิดผ้าห่มเข้าไปช่วยเจ้าตุ๊กตาออกมาจากใต้ผ้าห่ม

9. ปีนเขา
นำหมอนข้างมากองรวมกันเป็นภูเขา หาของเล่นมาล่อให้ลูกปีนข้ามภูเขามาหาคุณพ่อคุณแม่ การเล่นแบบนี้เหมาะกับลูกน้อยวัยคลานให้ได้ฝึกฝนการคลานและปีนให้คล่องแคล่ว

10. นักดนตรีน้อย
วัยนี้ชอบนักล่ะที่จะได้เคาะช้อนกับถ้วย แก้วหรือจาน คุณพ่อคุณแม่ลองหากาละมังสังกะสี หม้อ หรือกระทะ แล้วให้ลูกใช้ไม้เล็กๆ หรือช้อนเคาะสิ่งของต่างๆ ให้เกิดเสียงดัง คุณพ่อคุณแม่เคาะไปพร้อมกับลูกด้วยนะคะ เสียงดังที่เกิดขึ้นจากการเคาะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ถึงพลังความสามารถของตัวเอง ที่ส่งผลให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นมา

11. ไชโย! ของตกพื้นแล้ว
เด็กน้อยวัยขวบแรกชอบปล่อยของที่กำลังถือตกลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องห้ามลูกนะคะ ปล่อยให้ลูกได้ทดลองไปเรื่อยๆ จนแน่ใจว่าปล่อยมือแล้วของหล่นลงพื้นทุกครั้ง หนูก็จะค่อยๆ เบื่อไปเอง ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ควรหาของเล่นที่ตกไม่แตก เช่น ลูกบอลผ้านิ่ม หรือตุ๊กตาตัวเล็กๆ ให้ลูกถือเล่น หากสังเกตว่าลูกเล่นปล่อยของลงพื้น คุณพ่อคุณแม่ตบมือ และร้องไชโย! ทำท่าทางสนุกสนานไปกับลูกด้วย จะช่วยให้ลูกผ่านช่วงเวลาทดลองเรื่องแรงโน้มถ่วงนี้ไปอย่างมีความสุข

12. ใครอยู่ในกระจก
หนูน้อยวัยทารกสนุกที่ได้เห็นเงาตัวเองในกระจก หนูยังไม่รู้ว่าเงาในกระจกคือตัวเอง คิดว่าเงาที่เห็นเป็นเด็กคนอื่น ลูกจึงสนุกมากที่เห็นว่าอีกคนหนึ่งในกระจก โบกมือทักทาย หรือยิ้มแย้มหัวเราะตอบออกมาทุกครั้ง

13. เล่นยอดฮิต “จั๊กจี้”
กลับมาสู่การเล่นสุดแสนคลาสสิค จั๊กจี้ไปทั่วตัวลูก ตั้งแต่ใต้คอไปจนถึงปลายเท้า และเริ่มเล่นอีกครั้งจากเท้าขึ้นไปถึงคอ เล่นจั๊กจี้ด้วยท่าทางและน้ำเสียง ที่สร้างบรรยากาศสนุกสนาน

14. ร้อนหรือเย็น
ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกด้วยการให้ลูกได้สัมผัสสิ่งของที่มีอุญหภูมิต่างกัน เช่น แก้วน้ำอุ่น แก้วน้ำเย็น หรือจับสิ่งของที่เพิ่งเอาออกมาจากตู้เย็น บรรยายความรู้สึกให้ลูกฟังไปด้วยว่า ร้อนไหมลูก อุ่นไช่ไหม เย็นหรือเปล่าลูก เพื่อให้ลูกเข้าใจคำศัพท์ต่างๆ เหล่านี้ไปด้วยค่ะ

15. ผิวสัมผัสที่แตกต่าง
หาสิ่งของที่มีผิวสัมผัสหยาบละเอียด อ่อนนุ่ม หรือแข็งแตกต่างกัน เช่น ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ไม้ หรือผ้าฝ้าย นำพื้นผิวแต่ละอย่างไปสัมผัสแก้ม เท้า หรือท้องของลูกเบาๆ ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็คุยกับลูกไปด้วย อาจเล่าถึงเรื่องราวของสิ่งของนั้น เช่น เสื้อของแม่นุ่มไหมคะลูก หรือไม้แข็งๆ อันนี้เป็นช้อนไม้ของแม่นะคะ เป็นต้น

16. ฮัลโหลคุณตาคุณยาย
เพื่อให้ลูกน้อยมีโอกาสได้ยินเสียงที่แปลกแตกต่างออกไป เวลามีญาติๆ หรือคุณตาคุณยายโทรศัพท์มาหา เอาหูโทรศัพท์ให้ลูกได้ฟังเสียงในสายด้วยสิคะ แต่แนะนำว่าต้องเป็นโทรศัพท์บ้านนะคะ เพราะยังไม่ควรให้ลูกน้อยวัยทารก สัมผัสกับคลื่นโทรศัพท์มือถือ

17. ชวนชมนกชมไม้
พาลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน และบรรยายสิ่งแวดล้อมที่เห็นให้ลูกฟัง ชวนลูกคุยถึงสิ่งต่างๆ เช่น ดอกไม้นี้สวยจังเลย ต้นไม้นี้มีนกเกาะอยู่เต็มไปหมด การพาลูกออกไปสัมผัสสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ อยู่เสมอจะช่วยกระตุ้นให้สมองของลูกตื่นตัวได้ดีทีเดียวค่ะ

18. เอ๊ะ! นั่นเสียงอะไร
ทำเสียงประหลาดๆ ให้ลูกฟัง เช่น กุ๊กกุ๊กกู๋ โอ๊ะโอ หรือทำเสียงเล็กเสียงน้อยเพื่อเรียกร้องความสนใจของลูก ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะสับสนในตัวพ่อแม่นะคะ เพราะหูของเด็กเล็กๆ นั้นสามารถปรับการฟังเสียงต่างๆ ได้ดีมาก

19. มีเสียงเพลงในกิจวัตร
มีเพลงประจำสำหรับกิจวัตรประจำวัน เช่น ร้องเพลง ช้างๆ หนูเคยเห็นช้างหรือเปล่า เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม ร้องเพลงเต่ากับกระต่ายเวลาอาบน้ำ การมีเพลงประจำสำหรับกิจวัตรประจำวันจะกระตุ้นให้สมองน้อยๆ ของลูกจดจำเชื่อมโยงกิจวัตรนั้นกับท่วงทำนองเพลง ทำเบบนี้ซ้ำๆ สัก 1 เดือน หรือจนกว่าจะเห็นปฏิกิริยาของลูกเมื่อได้ยินเสียงเพลง แล้วลองเปลี่ยนเพลงใหม่ๆ สำหรับกิจวัตรนั้นๆ ทำจนกว่าลูกจะจำเพลงใหม่ได้ เป็นการกระตุ้นสมองให้เกิดความจำใหม่ๆ

20. เต้นรำไปด้วยกัน
ยามที่อุ้มลูกน้อยในอ้อมแขน ร้องเพลงและพาลูกเดินหรือเต้นรำไปรอบๆ ด้วยสิคะ การเคลื่อนไหวเป็นจังหวะโยกย้ายไปมาและเสียงเพลงจะทำให้ลูกรู้สึกเพลิดเพลิน และผ่อนคลายจากอารมณ์หงุดหงิดงอแงได้

21. อาบน้ำป๋อมแป๋ม
เด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบเล่นน้ำ สังเกตไหมว่าลูกน้อยชอบเอามือตีน้ำเล่น นั่นเพราะเมื่อเอามือตีน้ำ น้ำเกิดกระเพื่อมและเกิดเสียงดัง คุณแม่ลองหาอุปกรณ์ๆ ใหม่ให้ลูกใช้ตีน้ำ เช่น ขวดพลาสติกเล็กๆ หรือไม้ตีแมลงพลาสติกแบบแบนๆ เสียงตีน้ำที่ดังขึ้นเมื่อได้ใช้อุปกรณ์แปลกใหม่ทำให้ลูกสนุกสนานในการอาบน้ำมากขึ้น

22. เป่าผิวลูก
เป่าลมเบาๆ ไปตามใบหน้า มือ แขน หรือท้องของลูก บางครั้งอาจเอาหน้าเข้าไปชิดผิวลูกแล้วทำเสียงเป่าดังๆ หาจังหวะการเป่าช้าบ้าง เร็วบ้าง หรือทำเสียงแปลกๆ ระหว่างการเป่าลมที่ผิวลูกไปด้วย แรกๆ หนูอาจทำหน้าแปลกใจ แต่สุดท้ายลูกจะชอบค่ะ เพราะทั้งตลก สนุก และจั๊กจี้ผิวดี แถมยังช่วยกระตุ้นการทำงานของประสาทสัมผัสของลูกได้อีกด้วย

23. ทิชชู่สุดสนุก
หากลูกน้อยชอบดึงกระดาษทิชชูออกจากกล่อง เสียสละกระดาษม้วนนั้นให้ลูกเถอะค่ะ ให้หนูได้ดึงๆ ขยำๆ กิจกรรมนี้ช่วยให้หนูน้อยได้ฝึกกล้ามเนื้อมือไปพร้อมกับความสนุก

24. อ่านนิทานให้ลูกฟัง
การอ่านหนังสือให้ลูกฟังช่วยเสริมสร้างทักษะด้านภาษาให้กับลูกน้อย เด็กวัยขวบแรกสามารถเรียนรู้ที่จะจดจำการเรียงลำดับคำในประโยคที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังซ้ำ 2-3 ครั้งได้ คุณพ่อคุณแม่หานิทานสั้นๆ มาอ่านให้ลูกฟัง อ่านช้าๆ ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ลูกจะนิ่งฟังและจดจำคำพูดเหล่านั้นไว้ในความทรงจำ

25. ตุ๊กตาจ๊ะเอ๋
แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกแบบเดิมๆ ลองให้เจ้าตุ๊กตาตัวโปรดมาเล่นจ๊ะเอ๋แทนดีกว่า ให้ตุ๊กตาซ่อนอยู่ใต้โต๊ะ แล้วโผล่ขึ้นมาจ๊ะเอ๋ ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องการมีอยู่และหายไปเหมือนการเล่นจ๊ะเอ๋กับพ่อแม่ แต่หนูจะตลกและขำกลิ้งไปเลยเมื่อเจ้าตุ๊กตามาเล่นจ๊ะเอ๋ด้วยอีกตัว

26. ให้ลูกได้สัมผัสอาหาร
เมื่อป้อนอาหารลูกเสร็จแล้ว เตรียมวัตถุดิบต่างๆ ที่เหลือจากมื้ออาหาร เช่น เส้นมักกะโรนี สปาเก็ตตี้ ข้าวสวยทั้งที่สุกแล้วและยังไม่สุก แครอทหั่นเป็นชิ้น นำมาใส่รวมกันในถ้วยที่คล้ายกับถ้วยอาหารที่เพิ่งใช้ป้อนลูกไป ให้ลูกได้ลองจับอาหารเหล่านั้นเล่นๆ มื้อนี้อาจต้องยอมให้ลูกเปรอะเปื้อนบ้างเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัสอาหารที่มีผิวสัมผัสหลากหลาย การให้ลูกสัมผัสอาหารหลังจากที่เพิ่งรับประทานอาหารนั้นๆ เสร็จ ลูกจะสามารถเชื่อมโยงการสัมผัสอันสนุกนี้กับอาหารที่รับประทาน ช่วยให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อการรับประทานอาหารได้อีกด้วยค่ะ

27. กล่องลับสมอง
ลับสมองลูกด้วยการซ่อนของเล่นชิ้นโปรดของหนูไว้ในกล่อง หากล่องกระดาษที่เหมือนกันมาสักสามหรือสี่อัน ซ่อนของเล่นของลูกไว้ในกล่องใบใดใบหนึ่ง หนูจะพลิกกล่องไปทีละใบจนพบของเล่น หนูน้อยดีใจที่พบของเล่น และในเกมนี้ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องเหตุและผล รวมถึงได้เรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของวัตถุด้วยค่ะ

28. เล่นเป็นเงาของลูก
เลียนแบบกิริยาท่าทางของลูก ลูกหาวก็หาวตาม ลูกยิ้มก็ยิ้มตาม ลูกหันซ้ายหันขวา หรือส่งเสียงอ้อแอ้ก็ทำตาม ตอนแรกลูกอาจยังไม่ทันสังเกตว่าเราเลียนแบบเขาอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเห็นว่าเราทำตามเขาทุกอย่าง หนูน้อยจะเริ่มทดลองจนแน่ใจว่าเราเลียนแบบลูกอยู่ทุกอิริยาบถ นี่คือจุดเริ่มต้นในการฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้กับตัวลูกค่ะ เพราะลูกเริ่มคิดแล้วว่า จะทำกิริยาอะไรต่อไปดี เพื่อจะได้เห็นว่าพ่อแม่เลียนแบบหนูอยู่

29. แรลลี่คลาน
เมื่อลูกถึงวัยคลาน คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกฝึกคลานด้วยการคลานแข่งกับลูก อาจหาของเล่นล่อใจไปวางไว้ตามจุดต่างๆ คลานพาลูกไปเล่นของเล่นนั้น และสำรวจจุดต่างๆ ในบ้าน เชื่อไหมว่า การคลานไปกับลูกเป็นสิ่งที่ได้ใจลูกน้อยมากเลยค่ะ หนูจะรู้สึกว่าพ่อแม่คือ เพื่อนที่รู้ใจคนสำคัญ

30. วางกับดักลูกน้อย
เพื่อให้ลูกฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหา และกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ระหว่างที่ลูกคลานไปสำรวจรอบบ้าน คุณพ่อคุณแม่นำหมอนข้าง กล่อง หรือเบาะไปวางบนพื้นเพื่อกีดขวางเส้นทางคลานของลูก แล้วปล่อยให้ลูกได้พยายามข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ด้วยตนเอง ลูกอาจพยายามปีนข้าม หรือคลานหลบอ้อมสิ่งของนั้นไปก็ได้ทั้งนั้นค่ะ

ช่วงวัยนี้เป็นช่วงเวลาทองที่ลูกน้อยกำลังเรียนรู้โลกอันเต็มไปด้วยสิ่งแปลกใหม่สำหรับหนู คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ช่วงเวลาดีๆ เหล่านี้ผ่านเลยไปนะคะ ทุกวินาที ทุกกิจวัตรประจำวัน ทุกการกระทำของคุณพ่อคุณแม่ที่ตอบสนองลูก ล้วนช่วยให้หนูๆ เรียนรู้โลกได้อย่างมีความสุขและสนุกมากขึ้นค่ะ

Views: 44

Reply to This

Replies to This Discussion

ไอเดียแจ่มมากค่ะ แถมเด็กได้เรียนรู้และพัฒนาการไปในตัวด้วย

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service