เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

แนวโน้มทั่วโลกไปทิศโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา

ปีที่ 2 ฉบับที่ 089 กรกฏาคม 2551
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
---------

แนวโน้มทั่วโลกไปทิศโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การศึกษาไทยมุ่งมั่นพัฒนาภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษให้เด็กไทย เพื่อเป็นทักษะสำคัญในการก้าวความเป็นสากล แต่ดูเหมือนว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ดังจะเห็นได้ว่า เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษนับสิบปี กลับไม่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้ดีเท่าที่ควร ยิ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องติดต่อสื่อสารกับหลายประเทศ ซึ่งการใช้ภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เด็กไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอีกหลายภาษา อาทิ ภาษาจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อด้านธุรกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา และการสร้างความสัมพันธ์อันดีด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ

กรุงเทพฯ เป็นเหมือนประตูบานแรกของประเทศไทย ที่เปิดต้อนรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจ เข้ามาท่องเที่ยว และเข้ามาเพื่อศึกษาหาความรู้ ดังนั้น การเตรียมคนกรุงเทพฯ ให้มีความรู้ภาษาต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งต้องเริ่มที่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ โดยพัฒนาเป็นโรงเรียน 2 ภาษา หรือ 3 ภาษา ยกระดับคุณภาพเด็กกรุงเทพฯ ให้มีทักษะการพูด อ่าน และเขียนภาษาต่างประเทศ ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น เพื่อเป็นสื่อกลางการติดต่อสื่อสาร การเรียนรู้ และการประกอบอาชีพ

หลายประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญและมีโครงการพัฒนาโรงเรียน 2 ภาษา และ 3 ภาษามานานแล้ว ซึ่งเป็นการดีที่กรุงเทพฯ จะเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ จึงขอยกตัวอย่างประเทศในแถบยุโรป ที่หลายประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา

ประเทศเยอรมัน: 2 ภาษา ภาษาเยอรมันและอังกฤษ


เยอรมัน ปกครองระบบสหพันธรัฐ ประกอบไปด้วย 16 รัฐ แต่ละมลรัฐมีระบบการศึกษาเป็นของตัวเอง โดยปกติ การวางพื้นฐานภาษาต่างประเทศในเยอรมันเริ่มต้นที่เกรด 5 และ 6 (อายุ 10 และ 11 ปี) ผู้เรียนเกรด 5 ต้องเรียนภาษาอังกฤษ 5 บทหลัก ๆ และเพิ่มเติมพิเศษอีก 1 บทเรียน แต่ในเกรด 6 จะลดลงเหลือเพียง 4 บทเรียน โดยการเรียน 2 ภาษาเต็มรูปแบบ (Mainstream Bilingual Education: MBE) จะเริ่มต้นที่เกรด 7 หรือระดับมัธยมศึกษา โดยวิชาที่โรงเรียนต่าง ๆ นำมาสอน 2 ภาษา ได้แก่ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี การเมือง ชีววิทยา ศิลปะ หรือกีฬา โดยครูที่สอน MBE ต้องมีความรู้ความสามารถทั้ง 2 ภาษา พร้อมกับมีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน

ตัวอย่างโรงเรียน 2 ภาษาในเยอรมัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ โรงเรียนมัธยม Karolina-Burger-Realschule เมืองลุดวิกส์ฮาเฟ่น (Ludwigshafen)


การเรียน 2 ภาษาในโรงเรียนแห่งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น ในวิชาภูมิศาสตร์และสังคมศึกษา โดยสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด สาเหตุที่เลือกวิชาภูมิศาสตร์ เพราะเนื้อหาและคำศัพท์ มีความเหมาะสมและเป็นรูปธรรมเพียงพอสำหรับการเรียนรู้ และเหตุที่เลือกวิชาสังคมศึกษา เพราะเนื้อหาและคำศัพท์ก่อให้เกิดความชำนาญในการใช้ภาษาและทักษะการสื่อสาร ซึ่งผู้เรียนที่ได้รับเลือกให้เข้าเรียน 2 ภาษาได้นั้น ต้องมีทักษะการสนทนาภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานในระดับดี มีผลการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในระดับที่ดี และผลการเรียนวิชาภูมิศาสตร์และสังคมศึกษาต้องไม่น้อยกว่า 3

ในเกรด 7 เรียนวิชาภูมิศาสตร์ 2 บทเรียนต่อสัปดาห์ โดยจะสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ในครึ่งปีแรกของเกรด 8 ตารางการเรียนยังเป็นเหมือนเกรด 7 และจะแทนที่ด้วยวิชาสังคมศึกษาในครึ่งปีหลัง ซึ่งสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเช่นกัน โดยสอน 2 บทเรียนต่อสัปดาห์ ในเกรด 9 ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งระหว่างวิชาภูมิศาสตร์และสังคม ศึกษา หรือเลือกเรียนทั้ง 2 วิชาก็ได้ โดยเรียน 4 บทเรียนต่อสัปดาห์ ผู้เรียนที่ใกล้จบระดับชั้นมัธยมศึกษา หรือเข้าสู่มัธยมปลาย ผู้เรียนจะเรียนเพียง 1 บทเรียนต่อสัปดาห์ เช่น การสอน 2 ภาษาในครึ่งปีแรกของเกรด 10 เรียนวิชาภูมิศาสตร์ 1 บทเรียน และวิชาสังคมศึกษา 2 บทเรียนต่อสัปดาห์ และในครึ่งปีหลังจะเรียนวิชาโคลง ฉัน กาพย์ กลอน เป็นต้น

ประเทศลักเซมเบิร์ก: 3 ภาษา ภาษาลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และเยอรมัน

ลัก เซมเบิร์ก (Luxembourg) มีพรมแดนติดประเทศฝรั่งเศสและเยอรมัน ภาษาราชการมี 3 ภาษาคือ ภาษาลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งออกกฎหมายตั้งแต่ ค.ศ.1984 สาเหตุที่นโยบายการสอน 3 ภาษาในลักเซมเบิร์กประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากผู้เรียนอยู่ในบริบทการพูด 3 ภาษา ทั้งที่โรงเรียนและบ้าน

การเรียนการสอน 3 ภาษา ในระดับอนุบาลจะสอนเป็นภาษาลักเซมเบิร์กเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษา ผู้เรียนเกรด 1 จะเริ่มเรียนเป็นภาษาเยอรมันพร้อมกับภาษาลักเซมเบิร์ก ส่วนภาษาฝรั่งเศสจะเริ่มเรียนในเกรด 3 ไปจนถึงเกรด 6 ในระดับมัธยมศึกษา ทั้งประเภทสามัญและอาชีวศึกษา ใน 3 ปีแรก (อายุ 12-15 ปี) หรือมัธยมต้นจะเรียนเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด และเรียนเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 เป็นต้นไป (อายุ 15-19 ปี) หรือมัธยมปลาย แต่บางโรงเรียนยังสอนเป็นภาษาเยอรมัน สำหรับผู้เรียนต่างชาติที่ย้ายถิ่นเข้ามาเรียนในลักเซมเบิร์ก กระทรวงศึกษาธิการของลักเซมเบิร์ก ให้โรงเรียนจัดห้องเรียนพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อสอนภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส หลังจากนั้น 1 ปี จึงเรียนในหลักสูตรปกติ

เยอรมันเป็นตัวอย่างการสอน 2 ภาษา ที่เลือกบางวิชามาสอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งประเมินแล้วว่าวิชาภูมิศาสตร์และสังคมศึกษาสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังเข้มงวดกับการคัดเลือกผู้เรียนที่สามารถเรียนหลักสูตร 2 ภาษาได้จริง ๆ ส่วนลักเซมเบิร์ก เป็นตัวอย่างการสอน 3 ภาษาที่ประสบความสำเร็จได้ โดยที่ผู้เรียนอยู่ภายใต้บริบทการพูดภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันจริง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การสอน 2 ภาษา หรือ 3 ภาษาอาจประสบปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน อย่างในเยอรมัน ครูสอน 2 ภาษาขาดแคลน เนื่องจากรัฐต่าง ๆ ยังขาดหลักสูตรฝึกอบรมครูสอน 2 ภาษา

การสอน 2 ภาษา และ 3 ภาษาในประเทศไทย

ประเด็น แนวคิดเรื่องโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา ผมได้นำเสนอในเวทีวิชาการมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2539 ก่อนการปฏิรูปการศึกษาว่า ควรให้โรงเรียนในไทยเป็นโรงเรียน 2 ภาษา และค่อย ๆ ปรับให้เป็นโรงเรียนสองภาษาจนครบทุกแห่ง แต่เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อโลกเชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยีที่สะดวก รวดเร็วและต้นทุนการเชื่อมต่อกันไม่สูงนัก จำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีโรงเรียนสามภาษา เน้นภาษาหลักเพิ่มอีก 1 ภาษาโดยเฉพาะภาษาจีน อันเป็นการเพิ่มศักยภาพความสามารถของบุคคลและการแข่งขันในระดับประเทศ

ต่อ มาช่วงปฏิรูปการศึกษาในปี พ.ศ.2540 กระทรวงศึกษาธิการเริ่มเล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งโรงเรียนสองภาษา ดังที่ผมเคยเสนอไว้แล้ว โดยเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการเรียนหลักสูตร 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ยกเว้นภาษาไทยและสังคมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย กฎหมาย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการเรียน 2 ภาษาในประเทศไทย ยังประสบปัญหา โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนครูที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศและวิชาที่สอน อาทิ ครูต่างชาติบางคนไม่มีวุฒิทางการศึกษา หรือแม้มีวุฒิหรือความรู้วิชาการด้านที่ต้องการ แต่ไม่จบด้านการสอน ทำให้ไม่มีคุณภาพในการถ่ายทอดความรู้และทักษะในการสื่อความหมาย ครูต่างชาติจึงสอนเนื้อหาง่าย ๆ ให้เกรดเด็กในระดับดี และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ปกครอง ทั้งยังมีปัญหาการขาดความต่อเนื่องในการสอน เนื่องจากครูต่างชาติมักเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักศึกษาเพิ่งจบ ต้องการหาประสบการณ์ชีวิต นอกจากนี้ การสอน 2 ภาษายังมีปัญหาการคัดเลือกผู้เรียน ที่ไม่คำนึงถึงพื้นฐานและความพร้อม แม้โรงเรียนสองภาษาจะกำหนดเกณฑ์การคัดเลือก แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เข้มงวดมากนัก

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้การพัฒนาโรงเรียน 2 และ 3 ภาษา ประสบความสำเร็จได้นั้น คือ ปัจจัยด้านครูที่มีคุณภาพ โดยจำเป็นต้องจัดหาครูที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ปัจจัยเตรียมความพร้อมผู้เรียน โดยมีระบบวางพื้นฐานภาษาต่างประเทศให้เด็ก เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเรียนหลักสูตร 2 ภาษา หรือ 3 ภาษา และปัจจัยด้านการคัดเลือกผู้เรียนที่สามารถเรียนหลักสูตร 2 ภาษาได้จริง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาออกกลางคัน

การพัฒนาโรงเรียน 2 และ 3 ภาษานั้น ผมว่า โรงเรียนในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมีศักยภาพความพร้อมกว่าโรงเรียนในพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาหลักสูตร การหาครูต่างชาติที่มีคุณภาพ การเตรียมและพัฒนาความพร้อมของผู้เรียน ฯลฯ ผมเสนอให้โรงเรียน กทม. พัฒนาเป็นโรงเรียน 2 ภาษาทุกโรง เพื่อเป็นตัวแบบสู่โรงเรียนอื่นทั่วประเทศ และค่อยพัฒนาสู่ขยายเป็นโรงเรียน 3 ภาษา เพื่อเตรียมพร้อมรับกับสภาพโลกาภิวัตน์ และเตรียมพร้อมการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะอย่างไรไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงโลกาภิวัตน์ได้ ต้องติดต่อสื่อสารและทำงานกับคนทั่วโลกที่ใช้ภาษาสากล ประเด็นโรงเรียนสองภาษานี้ ผมนำเสนอไว้ 12 ปีที่แล้ว และเมื่อ พ.ศ.2548 ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้นำนโยบายนี้ไปใช้พัฒนาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ นำร่องสอน 2 ภาษา ในหลักสูตรภาษาอังกฤษ และหลักสูตรภาษาจีนในบางโรงเรียนบางแห่ง แต่ไม่เพียงพอ ผมเสนอว่าต้องให้โรงเรียน กทม. ทุกแห่งเป็นโรงเรียนสองภาษาที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ในการพัฒนาเป็นโรงเรียนสองภาษาที่ได้มาตรฐาน

Views: 409

Reply to This

Replies to This Discussion

ดีจังเลยค่ะ ได้อ่านบทความนี้แล้วก็สบายใจ ตรงทีว่าเราทุกคนในเวปนี้ได้เริ่มภาษาที่2ของลูกเราที่ไว้ที่บ้านแล้ว ซึ่งโอกาสที่จะประสบผลก็น่าจะมีไม่น้อยไปกว่ารอการเรียนการสอนจากโรงเรียน

นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีเลยค่ะ
รู้สึกดีจริงๆ ที่ได้เริ่มสอนภาษาที่ 2 ให้ลูกสาวอย่างไม่ลังเลใจ
กลุ่มใจ อีกหน่อย 2 ภาษาท่าจะไม่พอแล้ว
ได้อ่านข้อมูลแบบนี้ก็ดีค่ะ รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว เราเริ่มต้นแล้วที่บ้าน
แต่อ่านไปก็รู้สึกหนักใจเหมือนกันนะคะเนี่ย ภาษาอังกฤษไม่พอแล้วสำหรับโลกยุคหน้านี้
นึกถึง ดร.แดนค่ะ
ตอนนั้นไปเลือกไว้ด้วยนะคะ

ดูท่าว่าดร.คงผิดหวังกับการเมืองไทยมาก
เลยไม่ได้ลงสมัครตอนเลือกตั้งซ่อม

โลกอนาคตการสื่อสารจะแคบลงๆทุกวัน
การรู้หลายๆภาษาเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก

ถึงแม้ว่าในอนาคตจะมีวิทยาการและเทคโนโลยีที่ช่วยทุ่นแรงเกี่ยวกับภาษาอีกมาก
แต่ตราบใดที่ยังไม่มีเครื่องมือที่สามารถเข้าไปแทรกแซงคลื่นสมองให้จำภาษาโดยอัตโนมัติ
หรือวุ้นแปลภาษาของโดราเอมอน

การปลูกฝังภาษาต่างประเทศตั้งแต่แรกเกิดก็เป็นสิ่งสำคัญมาก
ทั้งหมดทั้งปวง ต้องขอบคุณ น้องเพ่ย เพ่ย ครับ ที่ทำให้เกิดหนังสือ และเวบเด็กสองภาษา แห่งนี้
จริงมั้ยล่ะครับ...คุณพ่อมือใหม่
ขอบคุณครับ
เห็นด้วยกับคุณแพ๊ท ถ้ามองในแง่บวก ประเทศไทยจะได้พัฒนา
แต่ถ้ามองในอีกด้าน สงสารเด็กๆ ที่ต้องรับมือหนักกับการร่ำเรียน
ต้องแข่งขันกันอีกหลายเท่า ทุกวันนี้ก็แข่งขันกันเยอะมาก จนโรงเรียนกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หาเงินได้มากมาย
แต่ถ้ารัฐบาลหันมาสอนเด็กๆ โดยไม่กดดัน น่าจะไปได้สวย...
แต่ปัญหาของโรงเรียนสองภาษาที่เห็นชัดมาก คือ วิชาสามัญก็ไม่แข็งแรง ภาษาอังกฤษ เด็กก็พูดไม่ได้อยู่ดี เพราะเมืองไทยเน้น
grammar มากกว่า การพูด เด็กไทยไม่ค่อยกล้าโต้ตอบกับครู ครูถาม Do you understand ? ตอบ Yes ทุกที (สั้นดี) ทำไมไม่มีโรงเรียนไหน สอนให้เด็กพูดได้ก่อน เมื่อ สอน grammar ก่อน เด็กกลัวเรียงประโยดผิด เลยไม่กล้าที่จะพูด แต่ถ้าเขียนไม่แน่
เคยส่งลูกไปเรียนโรงเรียนสอนภาษาตามห้างหวังให้ลูกพูดได้ สุดท้ายก็เน้น grammar อยู่ดี เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ส่งลูกมาเรียนหวังให้ grade ในชั้นเรียนของเด็กเพิ่ม ถ้ามุ่งเน้นให้พูด grade ในห้องอาจตก
ปีหน้าลูกจะสอบเข้าชั้น ม.1 เห็นข้อมูลข้างบนแล้ว ไม่รู้ว่าโรงเรียนนำร่องภาคภาษาอังกฤษ ของรัฐบาลจะดีมั๊ย เท่าที่สอบถาม
มามีโรงเรียน วัดในโรง และ โพธิสาร ที่ขึ้นชื่อ ไม่ทราบว่ามีผู้ปกครองท่านใดให้คำแนะนำได้บ้างค่ะ หรือมีความคิดเห็นว่าไม่ควร
เรียนภาคภาษาอังกฤษ ก็ฝากแนะนำด้วยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ
ดิฉันมีโอกาสเรียนภาษาที่ 3 (ภาษาดัชต์) ในการเรียน(การอ่าน การพูด) ไม่สามารถสู้ เพื่อนๆ ชาติอื่น เช่น โปรแลนด์ ออสเตรเลีย ไนจีเลีย แคนาดา อียิปต์ ได้เลย ทั้งๆ ที่ก็ตั้งใจเรียน และมีพื้นฐานการเรียนค่อนข้างดี (ในประเทศไทย) และประสบการณ์ในการทำงานที่ต้องติดต่อกับชาวต่างประเทศบ่อย

มานั่งคิดย้อนหลัง อาจเป็นเพราะหลักสูตรการเรียนการสอนบ้านเรา (ในสมัยที่ดิฉันเรียนประถมและมัธยม) เน้นวิธีการท่องจำ และเน้นการเขียน มากเกินไปรึเปล่า และการเรียนค่อนข้างกดดันกับเด็ก ต้องเรียนพิเศษตลอด..ถ้าไม่เรียนก็ไม่ทันเพื่อนๆ

จึงเกิดการเรียนการสอนที่อาจจะเน้นไปในทิศทางธุรกิจมากเกินไป และตัวผู้ปกครองเองก็ต้องเตรียมเงินไว้พอสมควร..เพื่อให้ลูกเราได้มีโอกาส เหมือนลูกคนอื่น

ดิฉันเองอยากให้ประเทศเราพัฒนา และเด็กยุคใหม่ ต้องพูดได้อย่างน้อย 3 ภาษา และสิ่งที่ดิฉันสามารถได้ทำตอนนี้ก็คือปลูกฝังลูกและหลานๆ ให้มีทัศนคติเรื่อง "การสื่อสารอย่างน้อยต้อง 2-3 ภาษา" แล้วจะมีโอกาสและอนาคตที่ดี ตามมา เพราะ ตอนนี้เป็นโลกไร้พรมแดน แล้วค่ะ ..
เห็นด้วยกับผู้เขียนว่าประเทศไทยควรเริ่มพัฒนาความรู้ภาษาอังกฤษและภาษาที่สาม (จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ) ให้เด็กๆโดยเร็วที่สุด อาจค่อยเป็นค่อยไปโดยทดลองกับรร.ในเครือกทม.บางพื้นที่ก่อน เพราะพื้นฐานของผู้ปกครองไม่เหมือนกัน ช่วงแรกคงขลุกขลักบ้าง

ได้ข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ามาเลเซียหันกลับไปสอนเลขและวิทย์เป็นภาษา Bahasa จากเดิมที่เริ่มบังคับให้รร.ทั่วไปสอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนๆในกลุ่ม (ทั้งคนมาเลเซียและคนสิงคโปร์) ยังเสียดายว่า รัฐบาลมาเลเซียไม่น่ากลับลำตอนนี้เลย หลังจากลองผิดลองถูกและผ่านความลำบากนานับประการมา แต่ท้ายสุด ก็กลับมาสอนเป็นภาษาท้องถิ่น เพราะประชากรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำตามได้

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2025   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service