เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย
ท่ามกลางสังคมยุค ใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ภาษาที่สอง"
เป็นหน้าต่างของโอกาสที่หากใครมีพื้นฐานดี ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาเสริมคุณค่าให้คนมีศักยภาพเพิ่มขึ้น จึงทำให้หลายครอบครัวเล็งเห็นความสำคัญของภาษาที่สอง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพื่อให้ลูกยืนในโลกแห่งอนาคตได้อย่างมั่นใจ แต่การจะสอนภาษาที่สองให้ลูกนั้น พ่อแม่หลายคนยังคงติดอยู่กับความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า สอนสองภาษาแล้วลูกจะสับสน พูดช้า พูดไม่ชัด หรือถ้าไม่มีความรู้ก็จะสอนไม่ได้ ซึ่งเป็นคำถามที่ทุกครอบครัวต้องการคำตอบ และวันนี้ ทีมงาน Life and Family มีแนวคิด และแนวทางจากเวทีเสวนาในงาน Kids’ Learning Expo 2010 มาส่งต่อเพื่อตอบคำถามในเรื่องเหล่านี้กัน ผศ.พญ.บานชื่น เบญจสุวรรณเทพ รองหัวหน้าภาควิชา กุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดประเด็นว่า การเรียนรู้ภาษาขึ้นอยู่กับพัฒนาการ และสมองของเด็กว่าพร้อมหรือไม่ ถ้าไม่พร้อม เด็กจะหมดสนุก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เช่นเดียวกับการสอนภาษาที่สองให้เด็ก ถ้าสอนในขณะที่เด็กยังไม่พร้อม ทั้งตัวเด็ก และพ่อแม่จะล้มเหลวด้วยกันทั้งคู่ โดยความเข้าใจภาษาของเด็ก แบ่งได้ตามช่วงวัยดังนี้ คือ 12-15 เดือนจะเริ่มเลียนแบบเสียง พูดตาม เข้าใจคำสั่ง 1 ขั้น พูดคำเดี่ยวๆ ได้ 4-6 คำ เรียกพ่อแม่ได้ ชี้อวัยวะบางอย่างได้ จากนั้น 2-3 ขวบ เด็กเริ่มเข้าใจคำสั่ง 2 ขั้น เช่น หยิบเสื้อผ้า ไปใส่ตะกร้า พูดประโยคสั้นๆ ได้ 3-4 พยางค์ แต่จะฟังเข้าใจได้เพียง 50-75 เปอร์เซ็นต์ พอ 3-4 ขวบ เด็กจะพูดเป็นประโยคสั้นๆ ได้ และ 4-5 ขวบ เริ่มเข้าใจความหมายของเวลา เช่น วันนี้ พรุ่งนี้ คืออะไร ทั้งยังใช้ประโยคที่ซับซ้อน และเล่าเรื่องง่ายๆ ได้ดี ดังนั้นการฝึกภาษาที่สอง พ่อแม่ต้องค่อยๆ สอนเด็กไปตามพัฒนาการ ทำให้กลมกลืน เป็นธรรมชาติ เพราะเด็กที่ฟัง และถูกพูดสองภาษามาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นสมองจะสลับคำให้อัตโนมัติ ต่างกับเด็กอีกกลุ่ม ที่ไม่เคยชินกับการพูด และสื่อสารด้วยภาษาที่ 2 เมื่อมาฝึกตอนเข้าเรียน เด็กจะสับสน และกลัวพูดผิด แต่ถ้าเริ่มเข้าใจและเริ่มฝึกฝนที่จะพูด เด็กก็จะพูดได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่ตัวเด็กแต่ละคนด้วย |
"ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บอกว่า การเรียน 2 ภาษา จะทำให้ภาษาแรกของเด็กแย่ลง
เพราะฉะนั้นสำเนียงไม่ดี ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่จะสอนลูกไม่ได้ แต่การเรียนรู้ และค้นคว้าสิ่งที่ถูกต้องไปพร้อมกันกับลูกเป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น ไม่รู้ว่าคำนี้ออกเสียงว่าอย่างไร ในฐานะพ่อแม่ผู้มีศักยภาพในการค้นคว้า ขอให้ใช้ตัวช่วยจากเทคโนโยลีต่างๆ มาสอนและฟังไปพร้อมๆ กับลูก" ด้าน ดร.บงกช เศวตามร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และ พัฒนาการเด็ก หัวหน้าช่วงชั้นระดับมัธยมโรงเรียนเพลินพัฒนา ให้มุมมองว่า ภาษาที่สองเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก ทั้งในเรื่องของการสะสมคำเสียง และคำศัพท์ เมื่อเด็กโตขึ้นจะช่วยให้เชื่อมโยง และสื่อสารออกมาได้ง่าย แต่ต้องไม่ลืมว่า ทักษะด้านอื่นๆ ก็จำเป็น และสำคัญเช่นกัน สำหรับปัญหาในการสอนภาษาที่ 2 ให้ลูก ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาท่านนี้ เผยว่า พ่อแม่หลายคนมักให้ลูกท่องคำศัพท์ ซึ่งนอกจากจะอันตรายแล้ว ยังทำให้ลูกเบื่อ และไม่อยากเรียน ดังนั้นพ่อแม่ทุกคนทั้งที่มี หรือไม่มีความรู้สามารถใช้ภาษาพัฒนาลูกได้ โดยค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต หรือสื่ออื่น ๆ |
ครอบครัวสองภาษา หันมาคุยกับ คุณพงษ์ระพี เตชพาหพงษ์ ผู้เขียน หนังสือเด็กสองภาษาพ่อแม่สร้างได้ และคุณพ่อที่นำระบบ "หนึ่งคนหนึ่งภาษา" (OPOL) มาใช้กับลูกที่บ้าน บอกว่า สังคมในยุคหน้า โลกจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นคนต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ โดย ภาษา เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ ถือเป็นความสามารถพื้นฐานที่ทุกคนควรสื่อสารได้ จึงจำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่มาก "ระบบการสอนบ้านเรา พยายามใช้ในสิ่งที่เด็กไม่คุ้นเคยในการเรียนรู้ เช่น เด็กยังกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง แต่พยายามให้เด็กเขียนให้ได้ เช่นกัน กับภาษาอังกฤษ เด็กพยายามเรียนรู้ภาษา แต่พยายามไปใช้เหตุกับภาษา นั่นคือการเรียนแบบไวยากรณ์ ซึ่งเด็กไม่เข้าใจ เมื่อนำไปใช้ จึงคิดมาก และเกิดความกลัวที่จะพูด" สำหรับพ่อแม่ที่ภาษาอังกฤษไม่เก่ง หรือไม่เป็นเลย คุณพ่อท่านนี้บอกว่า ไม่ใช่ปัญหา แต่เรื่องใดที่ไม่รู้ ควรจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก เริ่มจากจุดที่เหมาะสมกับตัวเองก่อน เช่น คำใกล้ตัว เมื่อใช้บ่อยๆ เด็กจะค่อยๆ สะสม ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอนไวยากรณ์ ท่องศัพท์ หรือกริยา 3 ช่อง เพราะจะถูกสร้างขึ้นเองจากความรู้สึกโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็ก "ผมเรียนในระบบโรงเรียนมา 12 ปี จริงๆ แล้วภาษาดีขึ้น แต่ผมไม่ได้บอกว่า ผมเก่งภาษาอังกฤษนะ แต่ดีขึ้นเพราะมีโอกาสได้ฝึกกับคนที่เราไม่รู้สึกเขิน นั่นก็คือ ลูก แต่ก็ต้องทำการบ้านมาพอสมควร ผมพูดภาษาอังกฤษกับลูกตั้งแต่เกิด ตอนนี้ 5 ขวบก็ยังพูดอยู่ โดยพูดอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นวิถีชีวิต ส่วนเวลาอยู่กับแม่ก็จะพูดภาษาไทย โดยไม่มีการท่องศัพท์ เหมือนกับลูกครึ่ง เช่น จีนแต้จิ๋ว ซึ่งไม่มีการมาบอกหรอกว่า อาหมวย เดี๋ยวเอาคัมภีร์แต้จิ๋วไปอ่าน แต่เป็นการสื่อสารโดยใช้ความเคยชิน" ส่วนเรื่องสำเนียงนั้น บางคนกลัวว่าถ้าพูดไปแล้ว ลูกจะได้สำเนียงที่ผิดๆ ไป ในเรื่องนี้ คุณพ่อพงษ์ระพี อธิบายให้ฟังว่า ภาษาอังกฤษมีหลายสำเนียงมาก จึงไม่ต้องไปกังวล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การพูดกับลูกให้ชัดเจน เพราะภาษาอังกฤษไม่มีวรรณยุกต์ พ่อแม่ต้องออกเสียงให้ชัดเจนโดยศึกษาจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ เช่น อินเทอร์เน็ต จากนั้นพูดให้ลูกฟังโดยไม่ต้องต่อท้ายด้วยคำแปล เพราะยิ่งทำให้เด็กออกเสียงไม่ชัด "พ่อแม่ต้องออกเสียงให้เข้าใจ ชัดเจน เรียนพร้อมลูก สอนให้น้อยที่สุดเมื่อรู้สึกมั่นใจโดยไม่ต้องใช้เหตุผล เช่น หยิบหนังสือขึ้นมา อ่านว่า บุ๊ก แค่นี้จบ ไม่ต้องบอกว่า บุ๊ก แปลว่า หนังสือ เพราะเด็กเข้าใจอยู่แล้ว" คุณพงษ์ระพีทิ้งท้ายด้วยหลักการง่ายๆ ในการสอนภาษาที่สองให้ลูก |
Tags:
© 2025 Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก. Powered by