เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5118

Reply to This

Replies to This Discussion

ถ้าคิดว่า Home school คือการเรียนอยู่ที่บ้านอย่างเดียว เด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้การเข้าสังคม แต่ถ้าคิดว่า Home school คือการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง อยู่ที่ไหนๆก็สามารถเป็นโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ อันนั้นดีค่ะ แล้วที่สำคัญ ถึงแม้พ่อแม่จะไม่ได้มีความรู้วิชาการจ๋า ลึกซึ้งเหมือนครูที่โรงเรียน แต่พ่อแม่ก็สามารถปรับตัวและเรียนรู้ไปพร้อมๆกับลูกได้ เหมือนอย่างที่พวกเราทำครอบครัวสองภาษานี่ไงคะ^^
เห็นด้วย และอยากทำให้ลูกตัวเองด้วย แต่เวลาเป็นเหตุหรือข้ออ้าง

อยากให้ผู้ใหญ่บิ๊กลองวางแนวทางหน่อยสิครับ
อ่านทุกความคิดเห็นของทุกๆ คน โดยรวมสรุปได้ว่า พ่อแม่ต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูก สิ่งใดที่ว่าดี พยายามขวนขวายหามามอบให้ ทั้งที่บางอย่างก็ยากเกินกำลังแต่ก็ปรารถนาจะเพิ่มเติมให้ลูกหลาน ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคก็ยังมีไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ กว่าคนๆ หนึ่งจะเติบโตมาพร้อมสมบูรณ์ในอ้อมกอดแห่งการดูแล ต้องเรียนรู้ต้องฝ่าฟัน กว่าจะได้ชื่นชมอิ่มเอม หนทางช่างยาวไกลและดูไม่สิ้นสุด แต่พ่อแม่ก็ยังมีกำลังใจและความตั้งใจ กำลังใจนั้นสำคัญ จะทำอะไรสักอย่างต้องตั้งใจ ขอให้ทุกครอบครัวเดินไปบนเส้นทางที่เหมาะกับรูปแบบชีวิตของตัวเอง แอบหวังเห็นเด็กไทยในอนาคตจะเป็นเด็กที่มีความสุขและพอใจกับชีวิตตัวเอง
สำหรับตัวเอง ศึกษามาตั้งแต่คลอดลูกคะ พบว่าการทำ home school ให้ลูก ส่วนมากจะคิดเรื่องทรัพย์ก่อน แต่ที่จริงไม่จำเป็นคะ ไม่ใช่ว่าเข้าโรงเรียนจะประหยัดกว่าคะ
ตอนนี้เลยตั้งใจแน่วแน่เลยคะว่าจะทำให้ลูก ถ้าใครสนใจอยากอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำ ขอแนะนำ หนังสือเรื่อง Home made school ของ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู คะ จะมีสองเล่ม เล่ม 2 นี่จะเป็นเรื่องที่ลูกชาย เด็กที่ถูกเลี้ยงแบบโฮมสคูลมาเขียน (ได้อ่านทั้งสองเล่ม ทำให้เข้าใจเยอะจริงๆ คะ )
ส่วนมากผู้หลักผู้ใหญ่ หรือคนที่ห่วงใย ก็มักจะบอกว่าเป็นเรื่องของสังคมที่ลูกขาดคะ แต่พอได้พาลูกไปเล่นสนามเด็กเล่น เจอเพื่อน หรือญาติพี่น้อง นี่ก็เป็นการเข้าสังคมคะ พวกนี้ในหนังสือที่บอกข้างต้นจะมีคำตอบทั้งหมดคะ
แต่ดิฉันเองก็ยังต้องการกลุ่มเพื่อมาแชร์ประสบการณ์ วิธีการ ต่าง ๆ แล้วก็อยากมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เพื่อจะคิดหาทางออกในปัญหาที่เราคิดว่าจะเจอสำหรับการทำโฮมสคูลคะ
สุดท้าย รู้สึกดีใจที่มีคน คิดที่จะทำเยอะ ยังไงมาแชร์กันนะคะ พูดคุยติดต่อกันได้ตลอดเวลาคะ ผ่านทางอีเมลล์หรือข้อความก็ได้นะคะ จะยินดีมากคะ
อันนี้จริงค่ะ เท่าที่อ่านดูมีผปค.หลายท่านกังวลเรื่องการขาดทักษะทางสังคม ลูกไม่ได้เข้าสังคม อันที่จริงแล้วมีวิธีจัดการเรื่องนี้ไม่ยาก ในสังคมมิชชันนารีฝรั่ง ที่พ่อแม่ต้องเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาในประเทศต่างๆ พ่อแม่จะหอบหิ้วลูกไปด้วย รายได้ของมิชชันนารีก็ไม่สูงมาก ในขณะที่การเีรียนแบบอินเตอร์ของคนต่างชาตินั้นแพงมาก พ่อแม่เหล่านี้ใช้วิธีโฮมสคูลกับลูก โดยมีหลักสูตรสนับสนุนออนไลน์ เคยมีเพื่อนเล่าว่า พวกมิชชันนารี เขาเรียนหลักสูตร ของ Potter แต่ไม่มีเครดิตนะคะ แต่มีหลักสูตร สื่อ และการเรียนออนลน์ตั้งแต่ประถม ถึงมัธยมหก ค่าเรียนก็ถูกมาก

เรื่องสังคมเขาจะเอาลูกไปโบสถ์ด้วย ทำกิจกรรมที่โบสถ์ และฝึกลูกเรื่องงานบริการ เช่น ดูแลเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของคนมาโบสถ์ สอนน้องๆทำกิจกรรม สอนภาษาอังกฤษ ทำหน้าที่ต้อนรับให้ข้อมูล และอื่นๆ เวลาไปค่ายอาสาสมัคร ก็พาลูกไปด้วย ดิฉันเห็นเด็กๆที่เติบโตมาแบบนี้หลายคน มีบางคนกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยที่บ้านแล้ว เก่งมากและนิสัยดีมาก มี Service Mind และเอื้อเฟื้อมากๆ เวลาเด็กๆ อยากซื้อคอมพิวเตอร์ เขาก็จะทำขนม ทำสมุด หรืองานประดิาฐ์มาขาย เพื่อรวบรวมเงินซื้อของที่เขาต้องการ บางทีก็ขายออนไลน์ เรียกว่า สร้างโปรเจคเอง ลงมือทำ เก่งมากเลย
ส่วนใหญ่จะพูดถึงผลที่จะได้รับจากการทำโฮมสคูลว่าดีกว่าเรียนในโรงเรียนหรือไม่ อะไรดีกว่ากัน ส่วนผมเองมีความเห็นว่าน่าจะให้ความสำคัญกับหัวข้อ การจัดการและบริหารการศึกษารูปแบบโฮมสคูลว่า ในชีวิตจริงแล้วโฮมสคูลต้องการในการจัดการบ้าง เช่น เวลาและความรู้ของผู้ปกครอง แนวทางและความเชื่อในด้านปรัญญาการศึกษาที่เป็นเหมือนแผนที่เดินทางให้เรารวมทั้งแผนการศึกษาที่เป็นตัวหนังสือเรียบร้อยแล้วในรายละเอียดต่างๆซึ่งจะสามารถสร้างความชัดเจนได้ว่าในระยะเวลาที่ทำโฮมสคูลอยู่นั้นลูกเราจะถูกหล่อแบบออกมาเป็นแบบไหน เมื่อจบตามระดับชั้นตามแผนของเราแล้วลูกเราจะอยู่ในโลกใบไหน และที่ยากสำหรับความคิดผมคือ เริ่มแล้วถ้าเลิกจะให้ลูกไปยังไหนไปยังไงต่อ ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยเหมือนกันหมดนะครับ การศึกษาในประเทศล้มเหลวพอคิดจะจัดการศึกษากันเองในบ้านก็ไม่แน่ใจ หากคนในหมู่บ้านเราพูดคุยในเรื่องนี้กันบ่อยๆบางทีรูปแบบโฮมสคูลก็อาจจะชัดเจนขึ้นและสามารถเผื่อแผ่กันได้ครับ
"๓ สค.๒๕๕๓ ประชุมผู้ที่สนใจบ้านเรียน เขตภาคเหนือตอนบน สมาคมบ้านเรียนไทย ( Thai Homeschool Association ) จัดประชุม โดยนายกสมาคมฯจะไปเข้าร่วมประชุมฯ หารือกับครอบครัวบ้านเรียนในเขตภาคเหนือตอนบนและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ที่ จ.เชียงใหม่ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย เรียนเชิญทุกครอบครัวที่่สนใจ เข้าร่วมประชุมฯกันให้มากๆโดยสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ คุณอิ่มเอมอุ่นหล้า กรรมการของสมาคมฯประจำภาคเหนือ โทร. 082-180-8067 ค่ะ"
ก็ว่าจะลองไปฟังดูนะครับ พอดีเจอข่าวประชาสัมพันธ์ของทางสมาคมบ้านเรียนไทยเข้าเลยตัดเอามาแปะให้อ่านกันเล่นๆ
ดิฉันกำลังศึกษาเอกปฐมวัยภาค กศพป อยู่ อาจารย์เคยพาวิทยากรมาบรรยายความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวโฮมสคูล ก็เป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็ต้องมีปัจจัยหลายๆ พ่อแม่ที่จัดโฮมสคูลให้กับลูกต้องมีเวลาพอสมควรและต้องมีความรู้ รวทั้งวิธีการจัดกิจกรรมให้กับลูก พ่อแม่ต้องศึกษาวิธีการจัดและแนวให้เข้าใจเสียก่อน ถ้าใครสนใจลองหาข้อมูลได้ที่โรงเรียน บ้านทอฝันสมุทรสาครผู้อำนวยการเขาจัดการศึกษาเเฮมสคูลให้กับลูก ลองหาข้อมูลดูนะคะ
สนใจ Home School มานานแล้วครับ

รู้มาว่า Thomas Edison คือหนึ่งในผลผลิตของ Home School


นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างนึงของผลผลิตที่บ้าน น่าสนใจจริงๆ


จ่อเข้าเคมบริดจ์ อัจฉริยะ14 อายุน้อยรอบ230ปี

ชาวผู้ดี ตื่น ด.ช.ยอดอัจฉริยะ วัย 14 ปี จ่อได้เข้าเรียน ใน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยหากทำสำเร็จจะถือเป็นคนที่มีอายุน้อยที่สุดของประเทศ ที่เข้าเรียนในสถาบันชื่อดังแห่งนี้ ในรอบ 230 ปี...

สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพี รายงานเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2553 ว่า ด.ช.อาร์รัน เฟอร์นันเดซ วัย 14 ขวบ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตเซอร์เรย์ เคานตี้ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ อาจได้มีโอกาสเข้าเรียนในวิทยาลัยฟิตซ์วิลเลีียม เมืองอุดมศึกษาเคมบริดจ์ ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 80 กม. และจะกลายเป็นหนูน้อยยอดอัจฉริยะที่สามารถเข้าเรียนสถาบันการศึกษาที่มีอายุน้อยสุดของประเทศในรอบเกือบ 230 ปี

หากสอบผ่านวิชาฟิสิกส์ ระดับเอ ซึ่งเป็นวิชามาตรฐานสำหรับนักเรียนปกติวัย 18 ปี หลังสอบเอ็นทรานซ์ผ่านทุกวิชาของทางมหาวิทยาลัย ทั้งคณิตศาสตร์และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องเมื่อภาคฤดูร้อนปีกลาย นายนีล เฟอร์นันเดซ พ่อของอาร์รัน เผยว่า ลูกเรียนหนังสือที่บ้านมาตลอด และจะกลายเป็นเด็กฉลาดสุดคนแรก นับแต่วิลเลียม พิตต์ เดอะ ยังเกอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งก็เคยเป็นเด็กปัญญาแหลมเข้าเรียนที่สถาบันเดียวกันเมื่อปี 2316

ขณะที่ ศ.เดวิด คาร์ดเวลล์ อาจารย์ที่จะเป็นผู้สอนอาร์รัน กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ ตัดสินใจรับเข้าเป็นนักศึกษาน้องใหม่ในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อพัฒนาความสามารถให้ย่ิงขึ้น หลังพิจารณาคุณสมบัติอย่างรอบคอบ

ด้านหนูน้อยเจ้าปัญญา กล่าวว่า ตนเองชอบวิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่จำความได้ และโตขึ้นอยากเป็นนักคณิตศาสตร์วิจัย ทั้งนี้ อาร์รัน เร่ิมเป็นที่สนใจของสื่อทั่วอังกฤษเมื่อปี 2544 ซึ่งสามารถสอบวิชาเลข GCSE เทียบเท่าความรู้ของนักเรียนวัย 16 ปี ด้วยวัยเพียง 5 ขวบ

ที่มา: ไทยรัฐ

เลยอยากรู้ว่าในบ้านเราต้องทำยังไง?

...รัฐบาลให้การสนับสนุนแค่ไหน?
เห็นด้วยในระยะนึงค่ะ คือช่วงปฐมวัย ช่วงที่สมองมีศักยภาพและการพัฒนามากที่สุดหน่ะคะ
ของแสดงความคิดเห็นเฉพาะในส่วนที่เห็นด้วยนะคะ (ช่วงเด็กเล็ก)
เห็นด้วยใน homeschool ที่เป็นกลุ่มค่ะ เพื่อตัดปัญหาลูกไม่มีสังคม ตัดปัญหาแม่ไม่มั่นใจ (หาพวกเข้าไว้ จะได้ช่วยๆกัน)
ลูกมีครูหลายๆคน จะได้กบฎน้อยลงหน่อย (อยู่กะแม่อย่างเดียวอาจจะต้องรบกันมากไป)
เรื่องทุนทรัพย์นี่การทำ homeschool น่าจะถูกกว่าโรงเรียนดีๆดังๆ หรือนานาชาติ แน่ๆ
จ้างอาจารย์พิเศษเฉพาะทางมาเข้ากลุ่มสำหรับบางวิชาที่เหลื่อบ่ากว่าแรงจริงๆ ก็ยังจะถูกกว่า
การเรียนการสอนแบบนี้จริงๆน่าจะเรียกว่า outside school นะคะ เพราะแม่ๆที่ทำ homeschool อยู่น่าจะรู้ว่า
แค่เราไม่ได้ไปโรงเรียนเอง แต่เราไปสารพัดที่เลย ทั้งสวนสาธารณะ ทั้งตลาด พิพิธภัณท์ตามแต่จะไปกัน (คอนเสริ์ตด้วย)
ไม่ต้องรอทัศนศึกษา
อีกอันที่ต่างประเทศมี ไม่รู้เมืองไทยมีรึเปล่า ที่เค้ารับเด็ก homeschool ไปจอยในโรงเรียนได้ อาทิตย์ละครั้ง
หรือเป็น playgrop ต่างๆที่เกิดขึ้นก็วางตารางไปจอยกะเค้า (ปล่อยคนอื่นสอนมั่ง)

ตอนนี้ขอศึกษาและหาแนวร่วมไปพลางๆก่อนนะคะ
เป็นอะไรที่ไม่แน่ใจ .. แต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจค่ะ

สำหรับตัวเองแล้ว Home School เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากเพราะติดขัดเรื่อง "เวลา" "สังคม" "สื่อ" และ "ความสามารถของผู้สอนคือตัวเอง" ค่ะ แต่ถ้าทำ Home School บางช่วงเวลาที่ต่อยอดจากที่โรงเรียน ก็น่าจะพอทำได้ค่ะ เพราะพยายามทำอยู่โดยศึกษาจากสมุดสื่อสารและแนวการสอนของโรงเรียนที่แจ้งว่าแต่ละสัปดาห์เด็ก ๆ จะต้องเรียนอะไร คุณครูประเมินพัฒนาการน้องเจในสัปดาห์นั้นเป็นยังงัย ต้องเสริม ต้องเพิ่ม อะไรบ้าง เราก็จะเอาตรงนี้มาดูว่าต่อยอดอะไรได้บ้าง แล้วก็สอนเพิ่มควบคู่กับการทำ OTOL ค่ะ >>> นี่คือสิ่งที่ทำอยู่ค่ะ

โรงเรียนที่น้องเจเรียนอยู่ค่อนข้างโอเค เพราะทุกเทอมจะมีให้ผู้ปกครองประเมินครูและโรงเรียน รวมถึงหากมีอะไรเพิ่มเข้ามาก็จะมีแบบสอบถามความคิดเห็นถึงผู้ปกครองสม่ำเสมอค่ะ :)
เห็นด้วยในดับประถมศึกษานะค่ะ หลักสูตรพื้นฐานพ่อแม่สามารถสอนลูกได้ แต่ถ้าเป็นมัธยมยิ่งมัธยมปลายที่ต้องมีการแข่งขันสูงคิดว่าคงไม่พอ แล้วยังไม่มีสถานที่หรือหน่วยงานไหนที่จะรับรองเกรด ความสามารถของเด็ก home school เลย ถ้าเวลาสมัครงานแล้วเค้าถามลูกคุณว่า ...."จบจากไหนมา"......."ผมจบจาก home school ".....คนสัมภาษณ์งานเค้าจะงงไหมครับ หรือแม้แต่จะ ข้ามชั้นไปเรียนตามมหาลัยเค้าจะยอมรับมั้ย ส่วนตัวคิดว่าทำได้ยากมากในสังคมไทยที่มีพ่อแม่ทำงานทั้งสองคน

แต่กลับกัน หากเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง หลายครอบครัวสามารถทำได้อย่างมีคุณภาพ สังคมไทยจะน่าอยู่กว่านี้มากเลย ปัญหารักในวัยเรียน ปัญหาทำแท้ง ก็คงลดน้อยลง ลูกกตัญญูและผูกพันพ่อแม่มากยิ่งขึ้น

เอาใจช่วยสุดๆๆ ค่ะ

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service