เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5119

Reply to This

Replies to This Discussion

โดนจริงๆ ค่ะ เป็นแนวทางที่ดี ที่แน่ๆ ลูก ๆ จะได้ใกล้ชิดกับพ่อแม่เรียนรู้ภายใต้ธรรมชาติ + ใช้บ้านเป็นโรงเรียน ดีค่ะ
เห็นด้วยอย่างมากคะ เพราะพ่อแม่ย่อมมีความเป็นห่วงลูกอย่างจริงใจ และ เวลาสอนลูกก็อยากจะให้ลูกของตนเองนั้นเข้าใจจริง ผิดกับครูที่โรงเรียน จะดูแลเด็กไม่ทั่วถึง บางครั้งอันไหนที่เด็กไม่เข้าใจ ครูอาจจะปล่อยผ่านไปดังนั้นเด็กก็จะไม่รู้ต่อไป ซึ่งในปัจจุบัน หลายโรงเรียนเป็นแบบนี้คะ
เห็นด้วยกันแนวความคิดนี้ อยากทำนะค่ะ แต่ยังติดปัญหาในหลายๆด้าน
ประเด็นสำคัญไม่มีเวลา เพราะทั้ง พ่อ - แม่ เพราะต้องทำงาน แล้วยังไม่มีความพร้อมทางด้านฐานะมางการเงิน ส่วนพ่อ-แม่ยังไม่มีความพร้อมทางด้านความรู้ กลัวว่าสอนไปแล้วจะเกิดความผิดพลาดได้ ดั้งนั้น การที่จะต้องให้ลูกต้องไปพึงโรงเรียนยังต้องเป็นทางเลือกหลักอยู่ดีค่ะ
เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนและอยากทำ HS ให้ลูก แต่ติดที่ว่าทั้งพ่อและแม่ทำงานนอกบ้านทุกวัน

จะเป็นไปได้มั้ยคะ หากเกิดการร่วมกลุ่มกันจริงๆ แล้ว บรรดาแม่ๆ ที่สละเวลาทำงานทิ้งไป แล้วมาสอนลูกแทนนั้น
สามารถสร้างรายได้ส่วนตัวและสอนลูกไปด้วยพร้อมๆ กัน

แค่...เอ จะทำอะไรดีที่เกิดรายได้ ..........จะทำเป็นกลุ่มหรือส่วนตัวคนเดียว .....อันนี้ต้องช่วยกันคิด

อย่างตัวเราเองไม่ยอมออกไปทำงานนอกบ้านทั้งๆ ที่ลูกโตช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็ตาม
เพราะอยากดูแลและสอนลูกต่อไปจนกว่าเขาจะสิบขวบ เลยทำธุรกิจส่วนตัวอยู่กับบ้าน

เราแปลหนังสือข้อสอบขับขี่รถยนต์ เยอรมัน-ไทย พิมพ์ขายเองเลยบนอินเตอร์เน็ต และขายดีมากด้วย
(ขายคนไทยในเยอรมนี) ทั้งๆ ที่เมื่อ 6 ปีที่แล้วเราไม่เก่งภาษาเยอรมัน แต่เรามีเทคนิคการทำงาน
หนังสือจึงออกมาขายได้อย่างมีคุณภาพ ทุกวันนี้ก็ยังขายอยู่เข้าปีที่ 7 แล้ว

นอกจากนี้เมื่อปี2007 เรายังเปิดร้านนวดไทยในบ้านอีกด้วย เราจะทำงานเมื่อว่างจากงานบ้านและว่าง
จากการสอนลูกเท่านั้น

งาน 2 อย่างนี้ ทำให้เรามีรายได้ส่วนตัวมากเกินใช้เลยหละ หนังสือของเราราคาเล่มละเกือบ 7 พันบาท
งานนวดของเราราคาชั่วโมงละ 1,600 บาท

เราเล่าไม่อายเลยค่ะ เพราะเราทำอาชีพสุจริต แม้จะดูต่ำต้อย แต่ว่าเพื่อที่จะได้อยู่กับลูกทั้งวัน
ในต่างแดนมันมีอาชีพให้เลือกทำอยู่กับบ้านไม่มากนัก อาชีพที่ไม่เคยใฝ่ฝันจะทำเลย
แต่ก็ต้องทำมันให้ได้เพื่อความอยู่รอด

เราภูมิใจที่สุดที่ลูกค้าเราคือ "เจ้าหญิง" มานวดกับเราถึงบ้าน และเป็นลูกค้าประจำด้วย
เราเดินไปไหนในตัวเมืองที่เราอยู่ มีแต่คนมาทักทายยิ้มกับเรา ไปไหนมีแต่คนรู้จักเรา
เพราะลูกค้าเราทั้งนั้น เราก็มีความสุข ที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองแต่ก็รู้สึกอบอุ่น
ที่ได้รับมิตรไมตรีจากคนรอบข้าง

สิ่งที่เล่าให้ฟัง ก็หวังว่าเพื่อนๆ ที่อยากอยู่บ้านดูแลและสอนลูกเองได้อ่านเรื่องของเราเป็นแนวคิด
เป็นทางออกอีกทาง นำเอาไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับความสามารถของตนเอง เราเชื่อว่าทุกๆ คนมี
ความสามารถพิเศษแตกต่างกันไป ค้นพบความสามารถของคุณแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์...

อยู่บ้านเลี้ยงลูก...ก็มีรายได้..ได้ค่ะ
พี่หน่อย เป็นผู้หญิงเก่ง อีกคนนะคะเนี่ย ชื่นชมทั้งคุรแม่คุณลูกเลยค่ะ
ตามติดนะคุณหน่อย
มาตามหาแรงบัลดาลใจ
ตกลงตอนนี้คุณหน่อยอยู่เมืองไทยใช่ไม๊เนี่ย อยากคุยด้วยจัง
สุดยอดเลยพี่หน่อย นี่แหละอย่างที่ฝันเลย "อยู่บ้านเลี้ยงลูก ก็มีรายได้ค่ะ"
เหมือนสโลแกนมิสทีนเลยนะคะ อิอิ ถ้าทุกคนสามารถหารายได้อย่างพี่หน่อยได้ก็ดี
ค่อยๆคิด ค่อยๆหาเนอะ เวลา โอกาส มาถึง ก็คว้าไปได้เลย
ว่าแต่...เราจะทำอะไรดีน๊อ...
ใช่เลยครับ หลายครอบครัว คิดแต่หาเงิน ใช้เงินจ่ายให้โรงเรียน อบรมลูกโตมา EQ ต่ำกันทั้งนั้น เข้าสังคมวางตัวกันไม่เป็นเลย ช่วยๆ กันสร้างกระแสครับ
ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยนะคะ แต่ว่าเรื่องของความพร้อมของผู้ปกครองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป็นพ่อบ้านแม่บ้านก็ ok แต่ถ้าต้องทำงานนอกบ้านก้เป็นไปไม่ได้เลย
และเรื่อง group support ก็สำคัญเพราะยังไม่แพร่หลายในบ้านเรา พ่อแม่ต้องเข้าใจในหลักการและรุปแบบไห้ดีพอ และที่สำคัญตัวอย่างค่ะสำคํยมากมันจะสร้างความมั่นใจและช่วยให้เห็นภาพพมากขึ้นค่ะ
ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับพวกอัดวิชาการอยู่แล้ว แต่ว่าก็มีงานประจำทำจำเป็นต้องช่วยเหลือครอบครัวด้วยมันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ก็พยายามทำช่วงก่อนอนุบาลค่ะ จัดกิจกรรมให้ลูกทำตามหัวข้อพัฒนาการตามวัยในวันที่แม่ว่างน่ะค่ะ
เฮ้อถ้าเป็นแม่บ้านเฉยๆก็คงดี
เห็นด้วยมากๆ แต่ครอบครัวที่จะทำต้องมีความพร้อมทั้งเรื่องเวลาข้อมูลความรู้ที่จะมาบริหารจัดการให้บรรลุจุดมุ่งหมายได้ รวมถึงความมานะอดทนของผู้ปกครองก็เป็นส่วนสำคัญ
เมื่อวานไปบ้านเพื่อนมา สามีเค้าเป็นชาวจีนที่มาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ลูกเค้าเกิด ตอนนี้ลูกเค้า 2 ขวบ 11 เดือน อ่อนกว่าลูกเรา 3 เดือน เค้าให้ลูกเรียน Home school ตอนแรกก็งงไม่เข้าใจ พอได้คุยกันสักพักก็พอจะเข้าใจ เห็นพัฒนาการของลูกเค้าอึ้งไปเลยเหมือนกันค่ะ เก่งมากๆ หยิบบัตรคำมากี่ใบก็ใบ ตอบได้หมด ถามเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ หรือจีน ตอบได้หมด คุยกันเป็นภาษาจีน และภาษาอังกฤษ เค้าให้สอนให้ลูกพูดจีนกับอังกฤาเท่านั้นตั้งแต่เกิด และเพิ่งเริ่มให้พูดไทยบ้างแต่ไม่ให้เรียนภาษาไทย และเค้ายังทำตารางสอน จ.-อ.ให้ลูกเรียนอะไร เค้าให้เรียนทั้งหมด 7 ภาษา รวมภาษาไทยด้วยเป็น 8 ภาษา เค้าทำได้จริงๆ ก็เลยกลับมาคิดว่าแล้วลูกเราหล่ะ เรากำลังปล่อยเวลาในแต่ละวันที่ผ่านไป โดยไม่เริ่มอะไรเลย เพียงแค่ส่งลูกเข้า ร.ร. อนุบาลที่คิดว่าดีที่สุดในจังหวัดเท่านั้นหรือ แล้วคิดว่าเป็นหน้าที่ของคุณครู แล้วเราค่อยมาเพิ่มเติมที่บ้านบ้างเล็กน้อย แต่พอกลับบ้านมาเริ่มคิดหนัก ว่าเราคิดถูกหรือป่าวหรือเพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่กรอบกำหนดว่าพอถึงวัยของเค้าแล้วต้องส่งเค้า ร.ร. เพียงเพราะเราไม่มีความสามารถพอที่จะสอบเค้าได้ดีเท่าครู
ดีครับโตมาเด็กจาได้มีปัญญามากกว่าความรู้แบบท่องจำ

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service