เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5058

Reply to This

Replies to This Discussion

ตามความคิดเห็นของผม ผมเห็นด้วยนะครับ แต่ยังไม่สนับสนุนให้ยึดเป็นหลักการที่ น่าจะปฏิบัติตาม 100 % เนื่องจากตามความเป็นจริงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ โดยทั่วไป ยังไม่มีความพร้อมในการเป็นครู ย้ำครับว่าในการเป็นครู คือ โอเคว่าเราต้องการสอนลูก แต่ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราสอนนั้น มันถูกต้อง อย่าลืมว่า IQ + EQ น่าจะมาพร้อมๆ กัน แต่จริง ๆ แล้วค่อนข้างยาก มักจะมีค่าใดค่าหนึ่ง มากกว่ากันแบบ ทิ้งห่าง หรือแปรผกผัน กันนั่นเอง แล้วถ้าถามว่าตัวชี้วัดคืออะไร เอาอะไรเป็นบรรทัดฐาน (Reference) ถ้าไม่มี มันจะเกิด มาตรฐานที่แตกต่างกันหรือ หลายมาตรฐาน คนที่มีปัญหาคือลูก ๆ ของเราเองนะครับ เมื่อมีหลายมาตรฐาน ถ้า เด็กต้องมาเจอกัน แล้วเขาจะทำตัวอย่างไร จริงครับที่ว่า บรรยากาศในการเรียน ต้องมีความสุขแน่ๆ แต่บรรยากาศเมื่อเรียนจบแล้ว จะต้องออกมาผจญภัยกับโลกข้างงนอกนี่สิ น่าคิด เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราอาจจะสอนเขาได้เฉพาะตอนอายุไม่กี่ขวบเท่านั้น เมื่อลูกโตขึ้นต้องเข้าเรียนตามระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่มีเราอยู่ข้าง ๆ
สนใจทำ Home School เหมือนกันครับ จะได้ทำให้เราได้ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น รู้ถึงนิสัยใจคอเค้ามากขึ้นด้วยว่าอะไรที่เหมาะสมกับเค้าบ้าง ถ้าเค้ามีแววด้านไหนก็ส่งเสริมด้านนั้น ๆ ไปเลย แต่ยังหากลุ่มที่มีแนวคิดเหมือนกันได้น้อยอยู่ ถ้าเพื่อน ๆ สมาชิกในนี้รวมตัวกันได้มาก ๆ ก็ดีเลยครับจะได้มีที่แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ความตั้งใจครั้งแรกคิดอยู่ว่าถ้าลูกโตขึ้นจะให้เรียนอะไรดีระหว่าง Home school กับโรงเรียนทางเลือกซึ่งอย่างหลังนี่ก็มีดี ๆ หลายที่เหมือนกัน ตอนนี้ก็ตั้งใจทำงานเก็บเงินสักก้อนเพื่อออกมาเลี้ยงลูกเองอยู่อ่ะครับ เคยมีความคิดเลยเทอดไปกระทั่งคิดเปิดโรงเรียนให้ลูกเองด้วยเหมือนกัน เพราะเข้าใจธรรมชาติว่าไม่มีใครจะดูแลลูกเราได้ดีเท่าเรา
เห็นด้วยค่ะ และกำลังศึกษาเรื่อง Home school อยู่ค่ะ เพราะคิดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว แต่จะเริ่มทำเฉพาะช่วงอนุบาลก่อน
เนื่องจากได้ประสานงานไปที่เขตการศึกษา 1 ของจังหวัดนครราชสีมาแล้ว ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่เคยทำเรื่องนี้เลย พอเราถามถึงเกณฑ์การป่ระเมินก็ใช้นิเทศ ชุดเดี่ยวกับที่ประเมินในระบบ (เจ้าหน้าที่ก็ยอมรับว่ายังไม่มีเกณฑ์สำหรับ Home school)
จึงยังไม่แน่ใจเรื่องการนิเทศ เพราะเค้าต้องมานิเทศเราที่บ้าน

แต่ที่ได้ประสานงานกับ "บ้านเรียน" ปรากฎว่า ในกรุงเทพฯ มีคนทำเยอะแล้ว

ประทุมทิพย์ บุญยะแต่ง pratumtip_b@hotmail.com
เป็นความคิดที่ดีมากค่ะ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทุ่มเทเวลา และใช้จิตวิทยาและความอดทน
เด็กต้องการสังคม ต้องการเพื่อน และความหลากหลาย เพื่อที่จะเรียนรู้ และแยกแยะ พ่อแม่สามารถช่วยให้ความกระจ่างลูกได้ถ้าลูกต้องการ แต่ว่าพ่อแม่เองก็ไม่ได้มีความรู้ที่ชัดเจนขนาดจะสอนเองได้ในบางวิชาที่ยาก ๆ อาจจะทำให้เด็กขาดบางส่วนไป เพื่อน ๆ จะช่วยได้มากตอนเรียน ช่วยกันเรียน แข่งกันเรียน สนุกดี ถ้าอยู่บ้านก็ไม่รู้จะแข่งกับใคร อาจจะขาดความหลากหลายได้ คิดว่าอย่างนั้นนะคะ ลูกสาวอยู่อนุบาล 1 พอปิดเทอม ก็บ่นทุกวันว่าอยากไปโรงเรียน คิดถึงเพื่อน คิดถึงคุณครู
ความคิดเห็นเหมือนกันค่ะถ้าเรารักลูกเราต้องสอนให้เขาเข้มแข็ง ปล่อยให้เขารู้จักสังคมโลกภายนอก เพื่อที่จะสามารถอยู่ในสังคมอันที่ว่าโหดร้ายนี้ได้ดูแลตัวเขาได้ เพราะการที่จะสอนเด็กได้ไม่ใช่ถึงเวลาก็สอน ถ้าให้ไปโรงเรียนคุณครูเขาเรียนมาเขาจะว่าเด็กวัยไหนจะต้องสอนอย่างไร โดยเฉพาะเด็กเขาจะมีการเริ่มต้นเข้าสู่บทเรียนก่อนจึงจะเริ่มสอน ครูเขาเรียนวิชาครูมาสอนเรายังไม่ไว้ใจแล้วจะเอาอะไรกับเราที่ไม่มีพื้นฐานการสอนแล้วเราจะสอนได้ดีไปกว่าครูเหรอ...สิ่งที่พ่อแม่ควรทำดิฉันคิดว่าควรสอนให้ลูกเป็นเด็กดี เข้มแข็ง อ่อนโยนแต่ไม่ใช้อ่อนแอนะคะ สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำและอื่นๆ ส่วนเรื่องวิชาการก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ รร.ไป เราก็สอนเสริมได้ เช่น การบ้านและทบทวนวิชาที่เราเรีนมา ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการที่ว่าจ้างครูมาสอนพิเศษในวิชาที่เราสอนไม่ได้แล้วการเรียนพิเศษราคาก็ต้องพิเศษแล้วถ้าพ่อแม่ไม่มีเงินจะทำอย่างไร
การทำhome school เป็นเรื่องที่น่าสนใจค่ะ แต่โดยส่วนตัวไม่ค่อยแน่ใจ ต้องศึกษาหาข้อมูล วิธีการ เพิ่มเติม และตอนนี้ตัวเองก็พยายามจะ concentrate กับลูกในเรื่องของเด็กสองภาษาอยู่ค่ะ
home school เป็นทางเลือกที่ดีนะคะ สำหรับพ่อแม่ที่มีเวลาอยู่กับลูก
โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับแนวคิดของการที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะเป็นครูคนแรกของเด็ก และต้องเป็นครูที่ดีมากๆด้วย(ก็ลูกเราเองนี่นา) แต่อยากให้การศึกษาไทยได้มีการเสนอแนวคิดที่ชัดเจนกว่านี้ และมีการขยายแนวคิดออกไปให้กว้างกว่านี้ค่ะ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดก็คือความพร้อมของผู้ที่จะเป็นครูคนแรกนั่นแหละค่ะ
อยากให้มีแนวคิด เกี่ยวกับหลักสูตรที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการสอนลูกได้ อีกปัญหาคือลูกไม่ค่อยเชื่อพ่อแม่ แต่จะเชื่อครูที่โรงเรียนมากกว่า แต่ก็อยากทำ home school นะคะ แต่กลัวความรู้ไม่แน่นพอ ทั้งคนสอนและคนเรียนน่ะค่ะ
โดยส่วนตัวยังไม่เห็นด้วยกับระบบ Home School เพราะดิฉันคิดว่าถ้าจะทำระบบนี้ได้พ่อแม่ต้องมีความพร้อมๆ จริงในหลายๆ ด้านและตัวเราเองก็ไม่ได้รู้ไปหมดทุกอย่างถ้าจะไปจ้างครูมาสอนพิเศษก็คงจะหลายวิชาและราคาก็คงจะพิเศษไปด้วยเหมือนกันแต่ถ้าให้ไป รร. เราไปหา รร. ที่เหมาะสมกับลูกเราได้ง่ายกว่าว่าเราต้องการแบบไหน แบบเน้นวิชาการก็ไปหา รร.เอกชนก็มีเยอะหรือชอบแบบสบาบๆ ก็ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเพราะไม่เร่งรัดเด็กจนเกินปและการเรียนตามเวลาของ รร.ดิฉันมองว่ามันทำให้ลูกเรารู้จักระบบและมีระเบียบมากกว่าและลูกก็ได้เรียนรู้การเข้าสังคม จริงอยู่สิ่งเหล่านี้พ่อแม่สอนได้มันก็คือทฤษฎีแต่ถ้าเขาไป รร.เขาจะได้ประสบการณ์จริงว่าการอยู่ร่วมกับคนหลากหลายไปยังไงและเขาก็จะมีเพื่อนที่สนิทดูจากตัวเราเองก็ได้ค่ะว่าสมัยเราเป็นเด็กไปเรียนหนังสือเราจะมีเพื่อนที่สนิทและรักมากแล้วถ้าเราเรียนอยู่กับบ้านกับพ่อแม่ถ้าอยากให้ลูกมีสังคมก็ต้องพาไปออกพบปะกันแต่ก็คงไม่ได้ไปทุกวันเพราะฉะนั้นเพื่อนสนิทเขาจะไม่ค่อยมี ส่วนเรื่องอันตรายในสังคม เช่น ยาเสพติด ยาบ้า หรือ เรื่องอื่นๆ มากมาย ในสังคมมันคงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงได้ยากไม่ใช่ว่าเราทำโฮมสคูลแล้วจะไม่เจอสิ่งเหล่าตรงกันข้ามเด็กที่ไป รร.จะดูแลตัวเองได้ดีกว่า ในความคิดดิฉันถ้าเรารักลูกเราต้องสอนให้ลูกรู้จักดูแลตัวเองให้ได้ สอนให้เขารู้ว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ เพื่อนคนนี้ควรคบหรือควรหลีกเลี่ยงถ้าเกิดลูกไปเจอเพื่อนแบบนี้ลูกจะต้องทำตัวอย่างไร เราต้องสอนให้ลูกเข้มแข็งยิ่งสังคมน่ากลัวเราก็ยิ่งต้องสอนให้เขาเอาตัวรอดไม่ใช่ให้เขาอยู่แต่ในบ้านพอเจอเหตุการณ์จริงๆ เข้าเขาจะทำอย่างไร เราไม่สามารถดูแลเขาได้ตลอดชีวิตแต่เราต้องสอนให้เขาดูแลชีวิตเขาได้ถ้าไม่มีเรา whatever will be will be อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดเพราะเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายนะคะแต่เป็นการมองแบบป้องกันก่อนที่จะเกิดเพื่อที่ลูกเราจะอยู่ในสังคมได้ถ้าไม่มีเราและไม่เป็นภาระของคนที่จะดูแลเขาต่อไปและที่สำคัญดิฉันจะถามลูกเสมอว่าถ้าทำ>แบบนี้ลูกชอบไหมไม่ใช่เราคิดว่าดีเราก็ทำแต่ลูกไม่ชอบเดี๋ยวจะเป็นปัญหาตอนปลายถ้าลูกบอกว่าก็เพราะพ่อแม่ทำแบบนี้กับลูก ลูกจึงต้องเป็นแบบนี้ ดิฉันเข้าใจนะคะว่าพ่อแม่ทุกคนรักและเป็นห่วงใยลูกและตัวดิฉันเองก็รักและห่วงใยลูกมากเหมือนกันแต่ดิฉันจะเลือกวิธีให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองเผชิญปัญหากับตัวเขาเองเขาจะได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาโดยมีเราคอยให้กำลังใจและเป็นที่ปรึกษา เรื่องของความรักความอบอุ่นมันไม่มีลดลงหรอกค่ะเพราะเขาอยู่กับเราทุกวันเหมือนกับเรากับครอบครัวของเราสมัยเป็นเด็กเราก็ไป รร.ก็มีความรักความอบุ่นกับพ่อแม่เราได้เหมือนกัน ลูกไป รร. ก็เหมือนกับเราไปทำงานสังคมการทำงานกับการอยู่บ้านเป็นแม่บ้านมันก็แตกต่างกันอย่างเราทำงานเราก็ได้รู้จักผู้คนหลากหลาย บางคนก็มีข่าวเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีทั้งดีไม่ดีมาเล่าแชร์ประสบการณ์ให้กันฟังเรื่องไหนดีเราก็นำมาปฏิบัติเรื่องไหนไม่ดีก็ฟังหูไว้หูเป็นการเรียนรู้ข่าวสังคมแบบธรรมชาติเพราะเราไม่สามารถที่จะไปหาข้อมูลข่าวสารได้ทุกวันเหมือนกับการรู้จัก เวป 2 ภาษาก็ได้รู้จักจากการแนะนำของเพื่อนๆ ที่ทำงานร่วมกัน
ชอบวิธีนี้ของท่านนี้ค่ะชื่นชม

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service