เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม


แม่น้องพลอยชมพูได้เคยเปิดประเด็น Home School ในห้องโรงเรียนของลูก ผมคิดว่าแนวคิด Home School เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ ตราบใดที่โรงเรียนยังประเมินนักเรียนฝ่ายเดียว แต่อ้ำอึ้งที่จะให้ผู้ปกครองประเมินโรงเรียนกลับบ้าง ไม่ว่าสาเหตุของการอ้ำอึ้งนี้มาจากขยะใต้พรมหรือเหตุอื่นก็ตาม ผมคิดว่าทางเลือกในการให้การศึกษา ควรจะมีหลายๆทางเลือก


ผมอยากจะหยั่งเสียงความคิดเห็นเรื่องนี้หน่อยครับ อยากให้สมาชิกคลิกโหวต แล้วให้เหตุผลต่อท้ายกระทู้ตรง "ตอบกลับกระทู้นี้" ด้วยครับ



บทความ Home School
อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html
" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของ ตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็น ราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูก ออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียง พอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมี ลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็น ไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

Views: 5118

Reply to This

Replies to This Discussion

เคยดูรายการทีวี ที่มีครอบครัวนึง(ในประเทศไทย) ทำโฮมสคูลให้ลูก นานมาแล้วนะคะ เห็นแล้วก็ชอบ อยากทำได้บ้าง แต่ไม่มีข้อมูล อะไรเลยค่ะ(ขนาดสองภาษายังมาเจอช้าเลยเนี่ยเรา) ถ้ามีแนวทาง หรือมีผู้ชี้นำทางให้ได้ ก็อยาก ทำค่ะ
เห็นด้วยค่ะ แต่ระบบการศึกษาบ้านเรา ยังไงก็ยังต้องผ่านโรงเรียนของกระทรวง อีกทั้งความจำเป็นทางเศรษฐกิจทำให้ผู้ปกครองต้องทำงาน
แต่ดิฉันเองก็ตั้งใจค่ะ ว่าจะทำบ้านให้เหมือนโรงเรียน ให้น้องได้มีการเรียนรู้ หลากหลาย ปัจจุบันการศึกษาเพียงแค่ไปโรงเรียนเรายังไม่ควรวางใจ เพราะจากประสบการณ์ตัวเอง เรียนแบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่ได้สร้างให้เด็กเกิดความคิด ร่วมสร้าง ร่วมผลิตลงมือปฏิบัติจริง
เลยวางแผนไว้ว่าจะพยายามให้ลูกมีส่วนร่วมในกิจกรรมและแสดงความคิดเห็นทั้งในบ้านและนอกสถานที่ สัมผัสจริงจะได้เกิดกระบวนการความคิดกับเด็ก เช่น จะชวนลูกทำไข่เจียว ก็จะอธิบายก่อน ว่าไข่ไก่เกิดมาจากอะไร และมีไข่แดงและไข่ขาวมีคุณค่าอาหารอย่างไร และไก่มีทั้งไก่เนื้อไก่ไข่หรือไข่ไก่ทำอาหารอะไรได้บ้าง อีกมากมายค่ะ และสามารถสอนคณิตได้ว่ามื้อนี้จะทำกี่ฟองเพื่อคนกี่คน ให้น้องได้ร่วมสนุกค่ะ
ตั้งใจไว้ค่ะ จะพยายามปฏิบัติให้ได้มากสุด ตอนนี้ น้องเพิ่ง 6 เดือน 25 วัน ค่ะ

คุณพ่อพยายามคุยภาษาอังกฤษกับลูกและคุณแม่คุยภาษาจีน แต่ระหว่างพ่อแม่คุยภาษาไทยเลยไม่รู้ว่าลูกจะงงหรือไม่
เห็นด้วยจริง ๆ ค่ะ มีความเห็นเรื่องนี้ตั้งแต่ยังไม่มีลูกเลยค่ะ เคยพูดกับแฟนว่าถ้ามีลูกจะสอนลูกเองไม่เห็นจำเป็นต้องเอาไปเข้าเตรียมอนุบาล
เข้าอนุบาลเลย เราสอนลูกเองก็ได้ ตอนนี้เราสองคนมีความคิดตรงกันคือจะไม่เอาลูกไปเข้าเตรียมอนุบาลตอนนี้ก็สอนลูกเองที่บ้าน ตอนนี้น้องตั้ง 1 ขวบ 10 เดือน สามารถต่อจิ๊กซอร์ตัวภาษาอังกฤษ ได้ทั้งหมด 26 ตัว สามารถเขียน ตัว B กับ W ได้แล้วค่ะ ไม่มีใครดูแลลูกเราได้ดีเท่ากับพ่อแม่หรอกนะคะ
ไม่แน่ใจกับแนวความคิดนี้เพราะปัจจุบันพ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่ หากมีใครคนหนึ่งคนใดทำงานนอกบ้านอีกคนอยู่บ้านกับลูกคงพอจะได้แนวคิดนี้ได้ อีกอย่างปัจจุบันคนเรายังยึดติดอยู่กับสถาบันการศึกษา คิดแต่ว่าคงจะสอนลูกไม่ได้ เพราะไม่รู้หลักเกณฑ์ว่าเด็กวัยไหนควรสอนอะไรบ้าง จึงไม่กล้าที่จะเริ่มต้น
เห็นด้วยนะคะ การศึกษาตอนนี่ ครูขาดการเอาใจใส่เด็ก เรื่องธุรกิจมาเป็น เรื่องแรก ยิ่งโรงเรียนดัง ก็เพิ่มปริมาณนักเรียน การเรียนรู้ก็เลยไม่ทั่วถึง แต่ พ่อ แม่ ก็ต้องมีเวลาให้กับลูก เพราะถ้าไม่ให้ลูกไปโรงเรียน แต่ ปล่อยให้เล่น เกมส์ ดู ทีวี เด็กก็จะแย่ นะคะ
ไม่แน่ใจว่าจะดีหรือไม่ค่ะ เพราะยังไม่ค่อยเข้าใจระบบนี้เท่าไหร่ และยังมีความกังวลว่า หากลูกโตกว่านี้ หากต้องขึ้นชั้นมัธยม สอบเข้ามหาลัย หลักสูตรมันจะเข้ากันได้มั้ยกับที่เราสอนลูก ลูกจะเข้ากับเพื่อนได้มั้ย จะเรียนทันเพื่อนมั้ย เพราะเดี๋ยวนี้การเรียนการสอนมันไปไกลมาก ๆ แล้ว
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ นอกจากต้องมีเวลาทั้งวันให้กับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องวางแผนระยะยาวอีกด้วย ถ้าทำไปสักพักแล้วเลิกก่อนจะเป็นผลเสียกับเด็ก ต้องวาแผนว่าจะเริ่มทำเมื่อไร ใช้เวลาจนถึงเมื่อไร และเรื่องวิชาการที่ต้องรื้อฟื้นอย่างมาก ( ถ้าเป็นมัธยมปลาย)
ไม่แน่ใจค่ะ ด้านความพร้อมของพ่อแม่แต่ละครอบครัว เอาง่าย ๆ ครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ ต้องออกทำงานหากินแต่ละวัน คงไม่มีเวลาที่จะได้มาสอนให้กับลูก ถ้าสอนก็คงเป็นการใช้ชีวิตแบบพ่อแม่ที่เป็นอยู่ คงไม่ได้มาสอนให้อ่านออกเขียนได้ อีกเรื่องก็น่าจะเป็นการเข้าสังคม ดิฉันคิดว่า การที่เด็กได้ไปโรงเรียนเป็นการฝึกให้เขาได้เข้าสังคม ได้รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ถ้าอยู่กับครอบครัวก็เป็นเพียงสังคมเล็ก ๆ เท่านั้นค่ะ
ถ้าในรูปแบบการเรียนที่ 1 ห้อง ต่อเด็ก 40-45 คน กับครู 1 คน การดูแลเอาใจใส่ให้ทั่วถึงครบทุกคนคงเป็นไปได้ยาก
ถ้าครอบครัวที่พร้อมก็ดีค่ะ ได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด
จิ๊ว่าเป็นหลักการที่ดีและน่าสนใจมากค่ะ แต่ว่าโดยส่วนตัวยังไม่ค่อยเข้าใจในระบบนี้เท่าไหร่ จากบทความที่อ่านมา ไม่แน่ใจว่า เราสามารถสอนลูกด้วยระบบนี้ไปจนโต หรือถึงระดับไหนค่ะ แต่สิ่งที่ตรงกับใจมาก ๆ คือ ไม่เคยคิดว่าปริญญาจะระบบการศึกษาปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตลูก ทุกวันที่ที่เริ่ม OPOL ก็เพราะคิดว่าทักษะส่วนใหญ่แม่สอนลูกคงดีกว่ารอให้ลูกเรียนที่โรงเรียน

ถ้ามีการรวมกลุ่มเรื่องโฮมสคูล ถกกันเรื่องแนวคิด จิ๊ว่าน่าสนใจค่ะ เพราะการจะเริ่มต้น คงต้องมีแนวร่วมกันพอสมควร

จากประสบการณ์ที่สัมภาษณ์พนักงานเข้าทำงานกับบริษัท จิ๊พบว่า ปริญญา และเกียรตินิยม รวมถึงเกรดต่าง ๆ ไม่ได้บ่งชี้ว่าเด็กคนนั้นจะทำงานได้ และจะทำได้ดี แต่สิ่งที่บ่งชี้ความสำเร็จของเค้า คือบุคลิกภาพ และ ทักษะต่าง ๆ ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การอยู่ร่วมกับผู้อืน การทำงานเป็นทีม ความเป็นผู้นำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่มีโรงเรียนที่ไหนสอน จิ๊จึงมองว่า "โฮมสคูล" อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ขาดแค่ความรู้ ความเข้าใจในระบบค่ะ จึงขอตอบว่า "ไม่แน่ใจ"
จริงๆ อยากตอบว่าเห็นด้วยนะคะ เพราะเห็นด้วยกับหลักการค่ะ แต่ตอนนี้ต้องขอตอบว่าไม่แน่ใจไว้ก่อน
นั่นก็เพราะตัวเองยังไม่ได้ศึกษาเรื่องโฮมสคูลอย่างจริงจัง ยังไม่ได้ศึกษาวิธีการปฏิบัติ ข้อดี ข้อเสีย
ยังต้องทำงานทั้งพ่อแม่ อีกทั้งยังไม่มั่นใจในถึงระเบียบวินัยของตัวเองมากพอค่ะ อิอิ
แต่ตอนนี้ก็พยายามทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ไปก่อนค่ะ
แนวคิดนี้เป็นไปได้แต่เนื่องจากพ่อแม่ต้องทำงาน ทำให้เวลาที่มีให้ลูกน้อยลง เด็กจะเรียนรู้ได้ไม่ต่อเนื่อง
การทำ Home School ไม่ใช่เรื่องยากอันดับแรกคือหัวใจของพ่อแม่ต้องพร้อมแล้วรวมกลุ่มไม่ควรเกิน10 คนแล้วแบ่งกันสอนพ่อหรือแม่ทำงานประจำ1คนก็ได้ครับ คนที่ทำงานประจำก็ใช้วันหยุดในบางครั้งทำกิจกรรมพิเศษเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม
เพราะพ่อแม่คือครูคนแรกและตลอดชีวิตของพ่อแม่
ผลที่ได้รับ
สามารถเลือกกลุ่มที่จะทำความดีร่วมกันได้
เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การแบ่งปันในกลุ่มและเผื่อแผ่สู่คนรอบข้าง

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service