เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย
แพทย์ไทยวิจัยพบ เด็กเล็กดูโทรทัศน์วันละ 1-2 ชั่วโมง ช่วยลดความเสี่ยงพัฒนาทางภาษาล่าช้า เพิ่มระดับไอคิว อีคิว เสนอรัฐบาลเพิ่มเวลารายการสำหรับเด็ก แพทย์ชี้เด็กเล็กดูทีวีวันละ 1-2 ชั่วโมง ช่วยลดความเสี่ยงพัฒนาการทางภาษาล่าช้า เพิ่มระดับไอคิวและอีคิวมากกว่าเด็กที่ไม่ดูโทรทัศน์ เน้นรายการให้สาระความรู้ เสนอรัฐบาลเพิ่มเวลารายการสำหรับเด็กมากขึ้น แต่ผู้ปกครองต้องควบคุมไม่ให้เด็กดูเกินวันละ 2 ชั่วโมง
ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องการดูโทรทัศน์กับพัฒนาการทางภาษา สังคมและอารมณ์ของเด็กอายุ 1-3 ปี โดยฝ่ายโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมวิชาการประจำปีเมื่อเร็วๆ นี้ ผลวิจัยพบว่า การให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางภาษาล่าช้า และลดความเสี่ยงต่อภาวะด้อยสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ ในขณะเดียวกันจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น
ศ.นพ.วีระศักดิ์กล่าวว่า ระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทยในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ ซึ่งถือเป็นปัญหาทางด้านสุขภาวะของประชาชน ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีนักวิจัยไทยพยายามค้นหาเหตุปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กทารกอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่สมองกำลังมีพัฒนาการทางด้านภาษาสูงสุด เด็กจะเริ่มหัดฟัง เรียนรู้ที่จะพูดและต้องการการตอบรับจากคนรอบข้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านภาษา ในขณะที่ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแนะนำไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีดูโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนถึงผลเสียข้อนี้ อีกทั้งงานวิจัยต่างประเทศไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเด็กไทยได้ เพราะมีความแตกต่างกันในด้านโครงสร้างภาษา ค่านิยม แบบแผนการเลี้ยงดูและรายการโทรทัศน์ ทำให้ผลการศึกษามีความแตกต่างกัน
การทำงานวิจัยครั้งนี้ใช้เวลา 10 ปี เป็นการร่วมมือกันของนักวิจัยหลายสถาบัน เริ่มตั้งแต่ปี 2543-2553 เป็นโครงการระยะยาวที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเด็กและครอบครัวที่อาศัยในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ จ.น่าน 760 คน, อ.กระนวน จ.ขอนแก่น 852 คน, อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี 774 คน, อ.เทพา จ.สงขลา 1,061 คน และกรุงเทพฯ บริเวณพื้นที่รอบโรงพยาบาลรามาธิบดี 710 คน รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 4,157 คน แบ่งเป็นชาย 2,074 และหญิง 2,083 คน
ศ.นพ.วีระศักดิ์กล่าวว่า การเก็บข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูหลักเมื่อเด็กแต่ละคนมีอายุ 1 ปี, 2 ปี, 2.5 ปี และ 3 ปี สำรวจระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการดูโทรทัศน์ต่อวัน รายการที่เด็กดูประจำและประเมินพัฒนาการทางภาษา โดยใช้คำถามจากแบบคัดกรองพัฒนาการสำหรับเด็กอายุ 1-2 ปี แบบประเมินการพูดและภาษาของเด็กไทยที่อายุ 2.5-3 ปี ส่วนสมรรถนะด้านสังคมและอารมณ์ วัดสองครั้งโดยใช้เครื่องมือวัดพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม จริยธรรม เมื่ออายุ 1 ปี และ 3 ปี
ผลการวิเคราะห์ พบว่า การดูโทรทัศน์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าได้ร้อยละ 21-31 และลดความเสี่ยงของการด้อยสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ได้ถึงร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์" นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติเผย
ศ.นพ.วีระศักดิ์กล่าวอีกว่า การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เด็กที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์จะมีพัฒนาการทางภาษา สังคมและอารมณ์ล่าช้ากว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยถ้าหากดูรายการที่ให้สาระความรู้ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางไอคิวดีขึ้น 23% และมีระดับความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวเพิ่มขึ้น 37% เช่น สามารถรับฟังกติกาพ่อแม่ดีขึ้น แต่การดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 2 ชั่วโมงไม่ทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า การเลี้ยงดูโดยให้แรงเสริมทางบวก เช่น การชมเชยเมื่อเด็กทำสิ่งที่ถูกต้อง และการเสริมประสบการณ์นอกบ้าน ช่วยพัฒนาสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ได้ดีอีกด้วย
ด้าน ผศ.พญ.อัจฉรีย์ อินทุโสมา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ นักวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ต่างกับคำแนะนำของผู้เชี่ยว ชาญต่างประเทศที่ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีดูโทรทัศน์ เนื่องจากงานวิจัยในวิทยานิพนธ์นี้มีขนาดตัวอย่างจำนวนมาก ครอบคลุมทั่วประเทศ ติดตามเด็กอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญและต่อเนื่องระยะยาว ใช้สถิติในการวิเคราะห์ที่เหมาะสม ทำให้ผลวิจัยมีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดียังต้องติดตามผลระยะยาวในเด็กกลุ่มนี้ต่อไป ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่า ปัจจุบันเด็กทารกและวัยเตาะแตะดูโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่ อาจไม่จำเป็นต้องส่งเสริมให้ดูมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำคือ รัฐบาลและสถานีโทรทัศน์จะต้องเพิ่มรายการที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กเล็ก และยังควรจำกัดการดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง
ผศ.พญ.อัจฉรีย์กล่าวว่า การเก็บข้อมูลเด็กดูรายการโทรทัศน์แบ่งเป็น 7 ประเภทคือ การ์ตูน สารคดี รายการเด็ก ข่าว โฆษณา กีฬาและรายการเพื่อความบันเทิง โดยรายการโทรทัศน์ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางไอคิวและอีคิวได้ดีที่สุดคือ รายการเด็กที่ให้ความรู้ เช่น เจ้าขุนทอง หนูดีมีเรื่องเล่า และสารคดีชีวิตสัตว์โลก ส่วนการ์ตูนและรายการประเภทอื่นๆ ไม่มีประโยชน์สำหรับเด็ก ส่วนค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการดูโทรทัศน์จะเพิ่มขึ้นตามวัยคือ เด็กอายุ 1 ปีดูวันละ 10 นาที, อายุ 2 ปีดูวันละ 40 นาที และอายุ 3 ปีดูวันละ 1 ชั่วโมง โดยเด็กเล็ก 11-15% ที่ดูรายการให้ความรู้และมีพัฒนาการทางภาษา สังคมและอารมณ์ดีกว่าเด็กที่ดูรายการประเภทอื่น.
ยูทูเบบี้ u2baby
ที่มา : วันอังคารที่ 05 เมษายน 2011 เวลา 09:01 น.
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2554
ที่มา : สกว.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2554 จาก http://pr.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&a...
|
Comment
ได้อ่านบทความนี้ค่อยทำให้คลายกังวลหน่อยค่ะ เพราะลูกร้องแต่จะดูทีวี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการ์ตูน Caliou กับ Disney Junior ซึ่งเป็นช่องที่สอนอะไรหลายอย่างได้เยอะเลยค่ะ (ในความเห็นส่วนตัวนะคะ) เช่น มีสำนวนหรือประโยคหลายประโยคที่เราไม่เคยสอน แต่เค้าสามารถนำมาพูดมาใช้ได้อย่างเป็นดี
ได้ความรู้เพิ่ม ขอบคุณค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ
© 2025 Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก. Powered by
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้