เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

เขียนไป...ตามใจฉัน ตอน..พูดอังกฤษกับลูกมากไป..ภาษาไทยของลูกอ่อนแอ..จริงหรือ?

วันนี้นึกไรไปเรื่อยเปื่อย (อีกแระ) จะเขียนบล็อกแต่ละทีสมองน้อยๆ ต้องทำงานหนักมาก เพราะต้องมาคิดคำตอบที่สมเหตุสมผลที่สุด ซึ่งมันก็ยาวววววววว .....ดังที่คุณกำลังอ่านอยู่นี่แหละค่ะ แต่ไม่รู้ว่ามันจะเก็ทสำหรับเพื่อนๆ รึเปล่า จะเก็บความคิดอยู่ในสมองน้อยๆ คนเดียวคงไม่ดี เอาออกมาให้เพื่อนๆ ได้รู้บ้างก็คงไม่เสียหาย...หากตรงใจก็นำไปใช้ ไม่ตรงใจก็กองไว้ตรงนี้ก็ได้ค่ะ หุ หุ หุ

วันนี้อยากพูดเรื่อง "พูดอังกฤษกับลูกมากไป..ภาษาไทยของลูกอ่อนแอ..จริงหรือ? "

จากประสบการณ์ 9 ปีที่เลี้ยงลูกและสอนภาษาลูกเองทั้ง 3 ภาษา (ช่วยกันสอนกับสามี) จึงอยากนำประสบการณ์จากแนวคิดส่วนตัวมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ในที่นี้ขอพูดถึง ครอบครัวที่อยู่เมืองไทย พูดถึงภาษาไทย-อังกฤษ เป็นประเด็นหลักเลยละกัน
(สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เก่งภาษาและจัดเวลาสอนภาษาให้ลูกได้อย่างลงตัวและเหมาะสมแล้ว สามารถข้ามบล็อกนี้ไปได้เลยค่ะ)

ปรกติการสื่อสารของครอบครัวคนไทยจะใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก หากคุณพ่อคุณแม่อยากพูดภาษาอังกฤษกับลูก เพื่อลูกจะได้เป็นเด็กสองภาษา มักจะมีปัญหาหนึ่งที่พบเจอบ่อยมาก คือ...

คุณพ่อ ที่มีหน้าที่พูดภาษาอังกฤษมักไม่มีเวลาให้ลูก หรือหากมี ก็มีน้อยกว่าคุณแม่ซึ่งทำหน้าที่พูดภาษาไทย ทำให้คุณพ่อและคุณแม่กังวลว่าเอ...เดี๋ยวภาษาอังกฤษของลูกจะพัฒนาช้าไม่ทันการ ซึ่งจริงๆ มันก็ช้าจริงๆ นะแหละ คงไม่ทันภาษาไทยที่คุณแม่สอนแน่ๆ หลักการแบ่งการสอนภาษาใครภาษามัน พ่อสอนภาษาหนึ่ง แม่สอนภาษาหนึ่ง ควรจะอยู่ในพื้นฐาน(เวลาและโอกาส)เดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน สองภาษาถึงจะเติบโตไปในระดับเท่าๆ กันได้ ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่อยากจะช่วยกันพูดภาษาอังกฤษกับลูก แต่ก็กลัวว่า...ภาษาไทยของลูกจะอ่อนแอ เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่มีใครพูดไทยเลย...

หรือ..บางครอบครัว...อ่อนภาษาอังกฤษทั้งคุณพ่อและคุณแม่ จึงอยากช่วยกันพูดภาษาอังกฤษกับลูกทั้งคู่ ภาษาอังกฤษของลูกจะได้พัฒนาเร็วขึ้น แต่ก็กังวลอีกว่า...ภาษาไทยของลูกจะอ่อนแอ ดิฉันอยากบอกว่า เด็กเกิดและโตในไทย มีสภาพแวดล้อมเป็นไทย โอกาสที่จะอ่อนภาษาไทยนั้น "มี" แต่ "น้อยจนแทบจะไม่เห็นโอกาสนั้นเลย" ค่ะ ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น หากคุณให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ โอกาสอ่อนภาษาไทยก็มีมาก แต่หากลูกเรียนโรงเรียนธรรมดา หรือสองภาษา เรื่องอ่อนภาษาไทยก็แทบจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลยค่ะ



แนวคิดของดิฉัน คือ...

หากครอบครัวใดคุณพ่อมีปัญหาเรื่องเวลาและโอกาสที่จะพูดภาษาอังกฤษกับลูก
...ก็ให้คุณแม่ช่วยพูดภาษาอังกฤษอีกแรง...

หรือคุณพ่อคุณแม่ที่อ่อนภาษาอังกฤษ
ก็ให้คุณพ่อคุณแม่มาช่วยกันพูดภาษาอังกฤษกับลูกทั้งสองคน....สองแรงแข็งขัน...


คุณพ่อคุณแม่พูด "อังกฤษ" กับลูก ใช้เป็นภาษาประจำบ้าน ประจำครอบครัวไปเลย

แต่คุณพ่อคุณแม่ เวลาคุยกันสองคน จะต่อหน้าลูกหรือลับหลังลูก ให้ใช้ "ภาษาไทย" ค่ะ


ลูกจะมีพัฒนาทางภาษาอังกฤษเร็วขึ้น เพราะช่วยกันตั้งสองคน ส่วนภาษาไทยลูกก็ได้ยินจากที่พ่อแม่คุยกันบ้าง ซึ่งตรงนี้อย่ากังวลนะคะ
เพราะลูกจะได้ภาษาไทยจากสภาพแวดล้อม...ช่วยอีกแรง

สภาพแวดล้อมไหนเร๊อะ ????

ลองมองดูรอบๆ ตัวเราสิคะ มีใครบ้างที่เป็นคนไทย และพูดภาษาไทย ..มี..หรือ ไม่มี...เลย

พี่-ป้า-น้า-อา-ปู่-ย่า-ตา-ยาย-เด็กรับใช้-แม่ครัว-เพื่อนบ้าน ฯลฯ คุณมีใครในจำนวนที่ดิฉันกล่าวถึง หรือยกตัวอย่างมาบ้างรึเปล่า...?

หากมีละก็ ไม่ต้องห่วงเรื่องภาษาไทยใดๆ ทั้งสิ้น

ที่น่าห่วงคือ คุณให้ลูกของคุณมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างดังที่กล่าวมาบ้างรึเปล่า? ทำบ่อย หรือมากน้อยเพียงใด?

การพาลูกไปเยี่ยมญาติ หรือให้คุณตา-คุณยายฯลฯ มาเยี่ยมเป็นครั้งคราวสักสัปดาห์ หรือสักเดือน (สลับกันมา)
การไปเดินเล่นพบปะเพื่อนบ้านตามสวนสาธารณะ
การพาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้านต่างๆ
ฯลฯ

และตัวช่วยอีกตัวคือสื่อต่างๆ เช่น ทีวี บ้านเรามีทีวีหลายๆ ช่องเป็นไทยทั้งนั้น ซึ่งใช้เป็นตัวกระตุ้นภาษาไทยในตัวลูกให้พัฒนาได้เป็นอย่างดี

สิ่งเหล่านี้จะช่วยสอนภาษาไทยให้ลูกในวัยก่อนอนุบาลเองค่ะ อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ "ขยัน" ในการนำลูกออกมาเจอสังคมคนไทยมากน้อยแค่ไหน หากทำบ่อยลูกก็ได้รับภาษาไทยมากพอสมควรที่จะสื่อสารเป็นภาษาไทย

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ช่วยกันพูดอังกฤษกับลูกช่วงก่อนวัยอนุบาล ลูกจะเก่งภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทยก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่ากังวล พออายุเข้าเกณฑ์อนุบาล ก็ให้ลูกไปเรียนโรงเรียนคนไทยทั่วๆ ไป ไม่จำเป็นต้องนานาชาติ พอถึงตอนนี้ภาษาไทยของลูกจะพัฒนาเร็วมาก อาจจะแซงโค้งภาษาอังกฤษที่พ่อแม่สอน ก็มีความเป็นไปได้สูงมากค่ะ


ที่ดิฉันมีแนวคิดแบบนี้ เพราะดิฉันอยู่เยอรมนี ตั้งแต่ลูกเกิดมา...ดิฉันพูดไทยกับลูกมาตลอด เวลา 24 ชั่วโมงที่มีให้ลูกตั้งแต่เช้าจรดเข้านอน (นอนเตียงเดียวกัน) จนลูกอายุ 3ขวบ ลูกพูดไทยได้มากกว่าภาษาเยอรมัน จนคุณแม่สามีติหนิดิฉันที่พูดไทยมากเกินไป กลัวหลานจะพูดเยอรมันไม่ได้

ดิฉันเลี้ยงลูกคนเดียวมาตลอด มีญาติ(สามี) ก็เหมือนไม่มี คือเราต้องพึ่งตัวเอง ไม่ว่าจะไปไหนจะกระเตงลูกไปด้วย ไม่เอาไปฝากญาติเลี้ยงให้เป็นภาระของพวกเขา คือเราต่างคนต่างมีความเกรงใจกันและกันมาก จะมีพบปะสังสรรค์ในหมู่ญาติเฉพาะวันสำคัญๆ เช่น วันเกิด ดังนั้น ลูกดิฉันไม่มีโอกาสเรียนภาษาเยอรมัน หรือภาษาหลักของคนที่นี่ จากญาติพี่น้องของพ่อเขาเลย

นอกจากนี้ดิฉันมีลูกเลี้ยง 2 คน ซึ่งพวกเขาก็โตแล้ว วันๆ เรามักจะไม่คุยกัน ต่างคนต่างขลุกอยู่ในถ้ำ เอ๊ย ห้อง...เราจะทานข้าวพร้อมกันเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ทั้งสองเป็นคนเงียบๆ พูดน้อยจนวันๆ ดิฉันนึกว่าอยู่บ้านคนเดียว ไม่เคยได้ยินพวกเขาคุยกันเลยด้วยซ้ำ พวกเขาไม่เคยเลี้ยงน้อง ไม่เคยเล่นด้วยเพราะมันคนละวัยห่างกันกับน้อง 11-14 ปี โอกาสที่ลูกจะได้ภาษาเยอรมันจากพี่ๆ บอกเลยว่า "ไม่มีทาง"

ส่วนสามีดิฉันออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่ตี 5 กลับมาถึงบ้านราว 4โมงเย็น งานของเขาสามารถไปตอนกี่โมงก็ได้ เขาเลือกที่จะไปแต่เช้ามืดเพราะรถไม่ติด กลับเร็วหน่อยจะได้มีเวลาให้ครอบครัว เขาจะมีเวลาช่วงเย็นและวันเสาร์อาทิตย์ ที่จะได้พูดคุยกับลูกบ้าง ลูกได้ภาษาเยอรมันจากพ่อ แต่น้อยกว่าได้ภาษาไทยจากแม่

ดิฉันไม่มีเพื่อนบ้าน คนที่นี่บ้านติดๆ กันเหมือนหมู่บ้านจัดสรรที่ไทยก็จริง แต่เขาอยู่ใครอยู่มัน ทักสวัสดีเมื่อเจอกันเท่านั้นเอง เราเป็นต่างชาติก็ไม่ค่อยกล้าไปเสนอหน้ากับเพื่อนบ้านนัก จะว่าหยิ่งก็ประมาณนั้นแหละ หุ หุ

จากที่ดิฉันเล่าให้ฟัง สภาพแวดล้อมที่ดิฉันเลี้ยงลูกมาตลอด 3 ปี นอกจากพ่อของลูกแล้ว ลูกแทบไม่มีโอกาสเจอคนอื่นที่ใช้เยอรมันเป็นภาษาหลักเลย เรามีชีวิตอยู่แต่ในบ้านกันสองคนแม่ลูก ตอนกลางวันเงียบเหงามากค่ะ

จนกระทั่งลูกอายุ 3 ขวบ วัยอนุบาล จึงส่งลูกไปเรียนเหมือนเด็กๆ คนอื่น 9โมงเช้า-เที่ยง เพียง 3 ชั่วโมงต่อวัน เพียงปีแรกภาษาเยอรมันลูกก็พัฒนาในระดับเท่ากับภาษาไทยเลยทีเดียว

ณ วันนี้ ป.4 แล้วค่ะ ภาษาหลักคือเยอรมันนั้นเกินหน้าเกินตาภาษาไทยไปหลายขุม ทั้งๆ ที่ดิฉันออกตัวก่อนตั้ง 3 ปี คิดดูสิคะดิฉันพูดไทยคนเดียวในบ้าน 3 ปีแรกลูกติดแม่เป็นแตงเม ลูกได้ไทยจากแม่เยอะมาก ส่วนสามีพูดเยอรมันวันละนิดๆ หน่อยเท่านั้นเอง แต่หลังจากเข้าอนุบาล ภาษาเยอรมันของลูกกลับแซงภาษาไทยแบบไม่เห็นฝุ่น...

อะไรละคะ ที่ทำให้ลูกพูดภาษาหลักได้เก่งเพียงนี้???

สภาพแวดล้อม ไงค่ะ คือคำตอบ...

ไม่ว่าเราจะตั้งโปรแกรมภาษาไทยในสมองของลูกมากขนาดไหน แต่ออกไปนอกบ้านลูกมีสังคมของคนเยอรมัน

โรงเรียนเยอรมัน
เพื่อนๆ เยอรมัน
ครูเยอรมัน
แถมรายการทีวีที่ชอบดู ก็ภาษาเยอรมัน
อีก แล้วลูกจะอ่อนภาษาเยอรมัน? เป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว
ลูกกลับมีภาษาเยอรมันที่แข็งแรง วิชาภาษาเยอรมันเธอสอบได้เกรดสูงสุดอีกด้วย

ดิฉันยังมานึกเล่นๆ หากสามีพูดไทยได้มันคงวิเศษไปเลย จะได้มาช่วยกันให้ลูกเก่งไทย เท่าๆ กับเก่งเยอรมัน นี่เราคนเดียว ไม่สามารถต้านอิทธิพลของสภาพแวดล้อมได้เลยจริงๆ

แถวบ้านมีชาวต่างชาติตุรกีมาอาศํยอยู่เป็นจำนวนมาก และหลายครัวครอบพูดภาษาเยอรมันแทบไม่ได้ หรือได้ก็ได้น้อย พวกเขาจึงพูดภาษาตุรกีกับลูกๆ พอเด็กๆ ไปโรงเรียน ได้ภาษาเยอรมันโดยอัตโนมัติ เวลามีประชุมผู้ปกครอง ที่ดิฉันเจอมา..แม่ มักนำลูกไปร่วมด้วย เพื่อมาช่วยแปลเยอรมันให้แม่ฟังค่ะ จะเห็นว่าขนาดคนตุรกีที่อยู่เยอรมนี พูดแต่ภาษาตุรกีกับลูกๆ พอลูกโตลูกกลับพูดเยอรมันได้ดี เพราะสิ่งแวดล้อมช่วยนั่นเอง

อยากให้ลองนึกกลับกัน หากคุณอยู่ไทย พูดอังกฤษกับลูกทั้งสองคน ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องภาษาไทยของลูกว่าจะอ่อนแอ ยิ่งเวลาผ่านไปนับจากวัยอนุบาล ลูกต้องออกไปเจอสังคมคนไทยทุกวัน มากขึ้นและมากขึ้น ลูกจะเก่งภาษาไทยแน่นอน โดยเฉพาะเลือกโรงเรียนไทยๆ ให้ลูก เห็นอย่างนี้แล้วเพื่อนๆ คงไม่กังวลว่าลูกจะอ่อนภาษาไทยแล้วใช่มั้ยคะ


หากไม่กังวลแล้ว ดิฉันขอจบเลยดีกว่า อิ อิ (เขียนมาหลายชั่วโมงเลยทีเดียว หุ หุ )
ท้ายนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะพอมีประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้าง ไม่มากก็น้อยนะคะ

ใครจะแย้งความคิดนี้ก็ยินดีมากๆ ที่จะได้รับคำแนะนำที่แตกต่าง

ก็เพราะ...ไม่ใช่นักวิเคาระห์หรือนักวิจัย...มักจะ..เขียนไป...ตามใจฉัน แบบนี้จนติดเป็นนิสัยเสียแล้วค่ะ อิ อิ อิ


แม่พลอยชมพู
เขียนเมื่อ 20.ส.ค.2552

โชว์คลิปพลอยชมพูพูดภาษาเยอรมันกับป่าป๊าบ้างค่ะ


สังคมที่โรงเรียน...เยอรมัน (โรงเรียนแบบบ้านนอกๆ นะจ๊ะ ของรัฐบาลเรียนฟรีค่ะ )


Views: 2718

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

Comment by MK-MungKorn on August 27, 2009 at 10:46pm
เพิ่งเริ่มพูดกับลูกเป็นอังกฤษได้ไม่ถึงอาทิตย์ก็สงสัยเรื่องนี้อยู่เหมือนกันว่าลูกจะอ่อนไทย
แต่พออ่านเรื่องของน้องพลอยชมพูแล้วก็ตอบโจทย์พอดี ขอบคุณมากนะคะที่เข้ามาแบ่งปันเรื่องราวคะ
เลยทำให้ต้องคิดต่อว่าถ้าลูกเข้าโรงเรียนจะต้องfight มากกว่าเดิมยังไง น่าคิดจริงๆๆๆ
Comment by BeeV on August 25, 2009 at 1:02pm
จริงๆ แล้วเด็กแต่ละคน อุปนิสัย ความชอบ ความเกลียด ความสนใจ ฯลฯ แตกต่างกันแทบทั้งสิ้น จะบอกว่าใช้วิธีไหนให้ลูกสนใจเรียนไทย ก็ไม่สามารถบอกได้ หรือบอกไปก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับเด็กทุกคน คุณแม่ต้องสังเกตลูกของตนเอง แล้วหา “จุดอ่อน” ของเขาให้ได้

สวัสดีค่ะ คุณพลอยชมพู

ขอบพระคุณมากๆที่สละเวลามาตอบให้ (ชวยคิดซะมากกว่า) ขอโทษจริงๆค่ะ ที่ไม่ได้เข้ามาตอบ เพราะมัวแต่ยุ่งกับงานและการตอบกระทู้ของตัวเองเช่นกัน อิๆ...ความจริง เข้ามาอ่านตั้งแต่เมื่อวานแล้ว...อ่านซ้ำไปซ้ำมาสองสามรอบ...แล้วก็บอกกับตัวเองว่า...ลูกสาวคุณพลอยชมพูเนี่ย...นิสัยเหมือนเจ้าแดน...เปี๊ยบ

ไม้ตายเรื่องการรักแม่...คงต้องเก็บไว้ใช้แน่นอน...ความจริงเมื่อคืน ลองเอาไปใช้แบบ "เบาะๆ"อยู่เหมือนกัน ตอนสอนเรื่องโฟนิคส์-การอ่านให้ลูก...เพราะเขามัวแต่เล่นต่อสู่กะพ่ออยู่ เลยงองแงไม่ยอมมาอ่าน...แม่เลยนั่งติดอยู่หน้ากระดานนั่นแหละ ถ้าไม่มาอ่าน...แม่จะไม่ยอมขึ้นไปนอนเช่นกัน

ปรากฏว่า ได้ผลแฮะ...แรกๆเขาทำไปอย่างแกนๆ...แต่หลังๆ พอแม่ลงมาเล่นแปลงกายด้วย แม่แกล้งแพ้ แล้วบอกให้ลูกไปช่วยอ่านคาถาวิเศษอีกรอบ...เขาก็วิ่งไปพยายามอ่านอย่างตั้งใจ...นี่แหละค่ะ ทีทำให้เราดีใจ

เห็นด้วยกับคำแนะนำของคุณพลอยฯทุกประการ และจะนำไปปรับใช้กับลูกชายด้วยค่ะ...ขอบคุณมากๆอีกครั้ง
Comment by พลอยชมพู on August 24, 2009 at 2:23pm
อ่านไปอ่านมาไม่รู้เราตอบตรงคำถามรึเปล่า เข้าใจว่าน้องแดนไม่ชอบเรียนอ่าน-เขียนไทย ถึงตอบไปแบบนั้น

จริงๆ แล้วอยากให้ลูกเก่งทักษะอ่าน-เขียน คุณแม่ก็สอนเอง ซึ่งไม่ได้ยากอะไรตอนเด็กๆ ครูสอนเรามายังไง เราก็สอนลูกไปแบบนั้น แต่ที่มันยากคือทำยังไงให้ลูกอยากเรียนไทยโดยไม่ต้องบังคับค่ะ แต่ว่า "คุณแม่ขาร้อง" จ้า
Comment by พลอยชมพู on August 23, 2009 at 1:52pm
สวัสดีค่ะ แม่น้องแดน ขอบคุณค่ะที่เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อวานพิมพ์ตอบไปตั้งเยอะ เกิดความผิดพลาดทางเทคนิค ที่พิมพ์ไว้หายหมดเลย กว่าจะตั้งสมาธิได้อีกครั้ง เลยเข้ามาตอบอีกครั้งวันนี้

เรียกเราว่าหน่อยก็ได้ค่ะ สั้นๆ ดี

คำถามที่คุณแม่น้องแดนถามมา
เลย...ตัดสินใจ(ยอม)ให้ลูกใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก...เท่ากับภาษาไทยในเรื่องฟัง-พูดค่ะ แต่เรื่องอ่าน-เขียน ถ้าเป็นรร.อินเตอร์คงหลีกเลี่ยงภาษาอังกฤษไม่ได้...คุณพลอยชมพูมีข้อแนะนำไหมคะว่า จะทำอย่างไรให้ทักษะการอ่าน-เขียนไทยอยู่ในเกณฑ์ดีแบบไม่ขี้เหร่...หรือมีความเห็นอย่างไรคะ

เราติดตามดูคลิปน้องแดนแล้ว เขาดูมีความคิด ฉลาดคล่องแคล่วพูดจาฉะฉานมาก ตอนแรกนึกว่าอายุราวๆ น้องพลอยชมพูเสียอีก พูดภาษาอังกฤษเก่งมาก จนทำให้นึกถึงผู้อยู่เบื้องหลังต้องเก่งกว่าลูกหลายเท่า

เราว่าการที่จะปรับทักษะภาษาไทยให้ลูก โดยที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นไทยไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะเดินออกจากบ้านก็จะเจอสิ่งต่างๆ เป็นไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะผู้คน หรือสิ่งของ อันนี้พูดถึงวันที่ไม่ได้ไปโรงเรียน หรือกลับจากโรงเรียนแล้วนะคะ เราคิดว่าน่าจะมีอะไรที่จะจุดประกายความอยากเรียนรู้ของลูกได้

จริงๆ แล้วเด็กแต่ละคน อุปนิสัย ความชอบ ความเกลียด ความสนใจ ฯลฯ แตกต่างกันแทบทั้งสิ้น จะบอกว่าใช้วิธีไหนให้ลูกสนใจเรียนไทย ก็ไม่สามารถบอกได้ หรือบอกไปก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับเด็กทุกคน คุณแม่ต้องสังเกตลูกของตนเอง แล้วหา “จุดอ่อน” ของเขาให้ได้

ยกตัวอย่าง...เล่าเรื่องน้องพลอยชมพูนะคะ

ปรกติเราเป็นคนเจ้าระเบียบเข้มงวดกับลูกตั้งแต่เกิดเลย ตอนเด็กๆบังคับเขาง่ายๆ เพราะยังเล็กอยู่ แต่พอเริ่มโต ก็เริ่มจะบังคับยากแล้ว เพราะเขามีความคิดเป็นของตนเอง รู้จักตัดสินใจเอง แต่สิ่งที่เราทำมาไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือการใกล้ชิดกับลูก แม้จะ 9 ขวบ แล้วเรายังจุ๊บปากลูกเหมือนตอนเขาแรกเกิด ถามว่าถ้าลูกเป็นชายละ เราก็จะจุ๊บปากแบบนี้จนลูกไม่ให้จูบละค่ะ

จุดอ่อนของลูกเราคือ “รักและห่วงความรู้สึกของแม่” มาก เนื่องจากเรานอนด้วยกันทุกคน วันไหนแม่ไม่กอดก็เหมือนขาดอะไรไป เราใช้ “จุดอ่อน”นี้ บังคับให้ลูกทำในสิ่งที่เราอยากให้เขาทำค่ะ

นานๆ เรากับลูกจะทะเลาะกันสักที ก็เรื่องเรียนทั้งนั้น เพราะถึงเวลาแล้วขี้เกียจไม่อยากเรียน ไม่มีอารมณ์จะเรียน ยิ่งโตก็ยิ่งบังคับลูกยาก ทำให้เราอารมณ์เสียมาก เมื่อปีที่แล้วเป็นการทะเลาะกับลูกครั้งสุดท้าย เราโวยวายตัดพ้อลูกแบบเสียงดังประมาณว่า “แม่เสียใจมากนะ”

ทำไมแม่ต้องเหนื่อยมาสอนลูก ถ้าไม่อยากให้ลูกเก่ง
ทำไมแม่ไม่เป็นเหมือนแม่คนอื่นๆ แถวนี้ ที่ว่างแล้วก็นั่งดูทีวี ไปสังสรรค์บ้านเพื่อน
ทำไมแม่ไม่หาความสบายใส่ตัว นั่งๆ นอนๆ กินๆ เที่ยวๆ แต่แม่กลับเอาเวลาทั้งหมดมาดูแลและสอนลูก
แม่เหนื่อยแล้ว ต่อไป แม่จะไม่สอนอะไรอีก แล้วก็ไม่ต้องมาถามอะไรทั้งสิ้น แม่จะสบายสักที จะได้กิน เที่ยว ไปไหนๆ สบาย ไม่ต้องห่วง เอาเวลาไปหาความสุขให้ตัวเองบ้าง แล้วไม่ต้องมานอนกับแม่อีก (ประมาณว่า วันนี้เราขาดกัน 555+) บลาๆๆๆ

เท่าที่นึกอะไรได้ก็พูดแบบตัดพ้อ แล้ว “งอน” ไม่พูดกับลูก ลูกก็ร้องไห้ พ่อเขาก็มาปลอบและสอน ว่าแม่อยากให้หนูเก่ง แม่ถึงต้องสอน พ่อก็ยกแม่น้ำทั้งสิบ ให้ลูกเข้าใจแม่ สุดท้ายลูกก็เดินมาขอโทษแม่ค่ะ แล้วเริ่มต้นเรียนใหม่ ไม่ขัดใจแม่อีก

นี่แหละค่ะ จุดอ่อนของลูกที่เราเอามาเล่นงานตัวเขา เวลาจะขัดใจแม่เขาจะคิดละ ไม่อยากให้แม่เสียใจ เขาจะคอนโทลตัวเอง แต่เราว่าลูกยิ่งโตจุดอ่อนของเขา ก็จะเปลี่ยนไปแน่นอน แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ วัย 0-10 ขวบ สำคัญมากในการวางรากฐาน ทั้งสมองและอุปนิสัย หากเกิน 10 ขวบไปแล้วก็ปล่อยเขา ไม่บังคับอะไรมากแล้ว เพราะรากฐานความคิดและการกระทำดีๆ ที่เราตั้งโปรแกรมไว้ในหัวลูก ไม่มีใครเอาออกไปได้ละ

นอกจากนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องสร้างแรงบันดาลใจ และเงื่อนไขตามหนังสือของคุณบิ๊ก(ขออนุญาตเรียกชื่อเล่น) ในเรื่องนี้ทุกคนคงทราบวิธีกันอยู่นะคะ ไม่ขออธิบายละกัน


อีกวิธีที่เราใช้กับลูกช่วงหลายปีที่แล้วคือ ให้เงินหยอดกระปุกทุกครั้งที่เรียนภาษาไทย 15 นาที จ่าย 1-2 ยูโร หากเรียนทุกวันก็ได้เงินทุกวัน แล้วให้เขาซื้อของที่เขาอยากได้ จริงๆ ทุกวันนี้ก็ยังให้อยู่แต่ไม่บ่อย (เดือนละ1-2ครั้ง) แต่จำนวนมากกว่าเดิมในแต่ละครั้ง ก็ไม่เป็นไรถือว่าค่าเหนื่อยลูก เขาจะซื้ออะไรให้เขาสิทธิ์เขาเต็มที่ และเราบอกลูกว่า

“วันนี้แม่ให้ลูก แต่วันหน้าลูกต้องให้แม่กลับคือมามากกว่านี้นะ” (แม่แอบงก อิ อิ)

วิธีนี้ได้ผล เพราะปรกติเราจะไม่ซื้อของเล่นให้ลูก จะซื้อแต่ช่วงเทศกาล วันเกิดและคริสต์มาสเท่านั้น ของเล่นนอกเทศกาลจะไม่ซื้อค่ะ จะซื้อให้มีกรณีเดียว คือ สอบได้เกรดสูงเป็นที่น่าพอใจ หรือเวลาแข่งว่ายน้ำชนะได้เหรียญ ดังนั้นลูกจะรู้คุณค่าของเงินทุกยูโรที่แม่ให้ เพราะมันไม่ได้จะได้มาง่ายๆ ต้องเหนื่อยยากกว่าจะได้มาทั้งนั้น

ก็เป็นเพียงตัวอย่างค่ะ ซึ่งไม่สามารถใช้ได้กับเด็กทุกคน ก็ต้องสังเกตและอ่านใจของลูกกันเองละค่ะ ว่าวิธีไหนน่าจะใช้ได้ผล

จริงๆ อยากเขียนอะไรอีกมาก แต่ด้วยเวลา วันนี้วันอาทิตย์ แต่ก็มีงานเข้า ขอตอบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ
Comment by BeeV on August 22, 2009 at 6:49am
คุณพลอยชมพูเล่าได้มันส์และให้ความรู้(จากปสก.จริง) ได้ดีมากๆค่ะ ขอปรบมือให้...และเห็นด้วยทุกประการ

ของน้องแดน...ทักษะด้านการอ่าน-เขียนภาษาไทยด้อยกว่าภาษาอังกฤษหลายขุมเลยค่ะ โดยความชอบส่วนตัวของเขาด้วย...และที่สำคัญสภาพแวดล้อม (รร.อินเตอร์) มีส่วนอย่างมาก แม่เองก็พยายามหาหนังสือนิทานไทยๆมาอ่านกับลูก แต่เขาไม่ค่อยชอบ เพราะเนื้อเรื่องไม่ค่อยโดน...หนังสือแนวที่เขาชอบ (ซุปเปอร์ฮีโร่มีลิขสิทธ์) ก็หาที่แปลเป็นภาษาไทยสำหรับเด็กวัยอนุบาลไม่ได้

ช่วงที่ส่งไปเรียนร่วมรร.อนุบาลไทยเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา...เห็นได้ชัดเลยว่า ทักษะการอ่านเขียนภาษาไทย ดีขึ้นมาก...คุณครูที่สอนภาษาไทยทั้งที่สอนพิเศษ และที่รร.อินเตอร์ชมมา...ยืนยันได้ค่ะว่า สภาพแวดล้อมมีส่วนอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาภาษาของเด็ก...ซึ่งจุดนี้ เป็นเรื่องที่ดิฉันพยายามบอกเสมอ....เด็กสองภาษาที่ฝึกจากที่บ้าน พอเข้ารร.ไทยแล้ว...ภาษาไทยจะแซงหน้าภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ เพราะเขาต้องอ่าน-เขียนไทยทุกวัน ทุกวิชาหลัก (ยกเว้นภาษาอังกฤษ)

ความท้าทายจะอยู่ที่ทำอย่างไร พ่อแม่ของเด็กสองภาษาจะ maintain ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของลูกให้เท่าเดิม..อย่างน้อยก็ไม่ drop ลงไป อย่างที่คุณพลอยชมพูบอก ยิ่งโตขึ้น...เพื่อนที่รร....ครู...สิ่งแวดล้อม จะยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เราคงไปนั่งบังคับลูกให้ดูแต่ทีวีหรือดีวีดีภาค soundtrack ล้วนๆไม่ได้อีกต่อไป...เพราะถ้าเพื่อนที่รร.คุยกันแต่เรื่องละครไทยและเกมส์โชว์ แล้วหนูรู้จักแต่ National Geography ก็คงคุยกันไม่รู้เรื่อง

ตย.นี้เห็นได้จากลูกชายอีกเช่นกัน...ตอนไปเรียนร่วมที่รร.ไทยมาเกือบสองเดือน...เขาจะมีคำศัพท์แสลงในภาษาไทยมาพูดให้แม่ฟังบ่อยๆ อาทิ มั่ว เจ๋ง ฯลฯ แล้วชื่อตัวการ์ตูนอังกฤษ ที่เอามาแปลเป็นไทย จากที่เคยสำเนียงฝรั่งอยู่ดีๆ ก็จะมีแนวไทยๆมาปนบ่อยๆ (ในภาษาอังกฤษก็ยังรู้อยู่ แต่คงพูดตามเพื่อน) เช่น "โวยวาย" (Valvine) "ฮีตบลาต" (Heatblast) "โฟ อาม" (Four Arms)....ดิฉันยังนึกอยู่ว่า นี่ถ้าไปเรียนระยะยาว คงหนักกว่านี้ เพราะถึงพ่อกับแม่จะพูดอังกฤษกับลูกที่บ้าน แต่โตไป คงโดนอิทธิพลเพื่อนกลบหมดแน่ๆ

เลย...ตัดสินใจ(ยอม)ให้ลูกใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก...เท่ากับภาษาไทยในเรื่องฟัง-พูดค่ะ แต่เรื่องอ่าน-เขียน ถ้าเป็นรร.อินเตอร์คงหลีกเลี่ยงภาษาอังกฤษไม่ได้...คุณพลอยชมพูมีข้อแนะนำไหมคะว่า จะทำอย่างไรให้ทักษะการอ่าน-เขียนไทยอยู่ในเกณฑ์ดีแบบไม่ขี้เหร่...หรือมีความเห็นอย่างไรคะ
Comment by พลอยชมพู on August 21, 2009 at 1:05pm
ขอบคุณค่ะ คุณเก๋ ที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

น้องพลอยชมพู เพิ่งเรียนภาษาอังกฤษเมื่อปีที่แล้วที่โรงเรียนค่ะ(ป.3) สอบได้คะแนนสุงสุดเหมือนกัน เขาบอกว่ามันง๊ายยยม๊ากกก น่าจะระดับป.1 ที่เมืองไทย เรียนปีแรกมันก็ง่ายเป็นธรรมดา แต่สำหรับลูกมันง่ายมากเพราะ เรากับสามีคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ (ภาษาอังกฤษเรางูๆ ปลาๆ แต่สามีพอประมาณระดับ C1) มาตลอดตั้งแต่ลูกเกิด ลูกเลยมีความผูกพันธ์กับภาษาอังกฤษมานาน แม้พ่อแม่ไม่ได้คุยกับเขาโดยตรง แต่ได้ยินทุกวัน

เมื่อก่อนไม่ยอมพูดอังกฤษ แต่ตอนหลังพอ ร.ร.เริ่มสอนอังกฤษ เขาเริ่มโชว์พาวเวอร์ค่ะ ว่ามันง่ายเกินไปสำหรับเขา พูดอวดเป็นประโยคให้พ่อแม่ฟังเฉพาะตอนอารมณ์ดีๆ บางทีก็แอบฟังพ่อแม่คุยกัน แล้วบอกว่า "หนูรู้น๊ะว่าป่าป๊าม่าม๊าคุยอะไรกัน"

หากพ่อแมแก่งภาษานะคะ จัดไปเลย พ่อ 1ภาษา แม่ 1 ภาษา พ่อและแม่คุยกันต่างหากอีก 1 ภาษา และสภาพแวดล้อมอีก 1 ภาษา

ตอนนี้ที่บ้านเราคุยกันทั้ง 3 ภาษาเลยค่ะ นึกไรได้ก็คุยไป บางทีเราพูดประโยคอังกฤษแต่ศัพท์บางคำของเยอรมันจำง่าย ออกเสียงง่าย เราก็ใส่ปนไปซะงั้น แถมแทรกภาษาไทยด้วย โดยเฉพาะกับสามี เพราะจะสอนสามีพูดไทย เพราะปีหน้าเราจะย้ายกลับไทยถาวร วันนี้สามีทำงานวันสุดท้ายแล้วค่ะ (เกษียณก่อนอายุ) เย้...ต่อไปอยู่บ้านช่วยเราเลี้ยงลูก หุ หุ หุ เราจะมีคนมาช่วยถูบ้าน ล้างส้วมแล้ว ดีใจมากเลยค่ะ อิ อิ อิ
Comment by พลอยชมพู on August 20, 2009 at 3:47pm
คุณแม่น้องปั้นน้องแป้งคะ ดูพัฒนาการของลูกนะคะ หากลูกเรียนร.ร.อินเตอร์ พัฒนาภาษาอังกฤษได้ดีอยู่แล้ว ก็ไม่น่าห่วงอะไร แต่หากน้องอ่อนภาษาไทยทักษะไหน (พูด-อ่าน-เขียน) คุณแม่ก็เสริมเพิ่มเติมที่บ้านให้ลูก เพื่อให้ 2ภาษาของลูกพัฒนาไปในระดับเดียวกันนะคะ
Comment by สุภาพร(แม่ปั้น฿แป้ง) on August 20, 2009 at 3:31pm
คุณหน่อยคะ แล้วดิฉัน ก็ดัน(อุส่าห์) ให้ลูกสาวเข้า inter ซะแล้วค่ะ แล้วลูกสาวน่าจะพูดได้ดีใช่มัยคะ เราควรจะพูดไทยกับเขามากขึ้นใช่ไหมคะ เพราะคุณพ่อเป็นคนไม่ค่อยพูดมาก ขอบคุณนะคะ
Comment by พลอยชมพู on August 20, 2009 at 2:57pm
ลืมตอบแม่น้องจันทร์เจ้า

แสดงความเห็นโดย แม่น้องจันทร์เจ้า 52 นาทีมาแล้ว ขอบคุณมากค่ะ ที่เขียนเรื่องราวให้ฟัง เมื่อเทียบกันแล้วก็คล้ายกัน แต่จะกังวลทุกครั้งไม่เสื่อมคลาย จนกระทั่งปัจจุบัน ตอนนี้ไม่ห่วงแล้วว่าลูกจะไม่ได้ภาษาไทย ต้องได้แน่นอน อาจจะได้มากกว่าด้วย แต่ต้องรอเวลาสักหน่อย คราวนั้นแม่คงต้องเร่งสปีดภาษาอังกฤษให้ทันลูกด้วยซ้ำไปเนอะ เหนื่อยแน่เลยเลย ตอนนั้น สู้ๆค่ะ

ตอบ หากลูกเข้าร.ร.ไทย ลูกเก่งไทยแน่นอนคะ อย่าห่วงเลย เรามาลุยภาษาอังกฤษให้ลูกกันดีกว่า อิ อิ สู้ๆ คะเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คน
Comment by พลอยชมพู on August 20, 2009 at 2:42pm
คุณเล็ก แม่น้องเนยคะ แม่พลอยชมพู ชื่อหน่อย เรียกง่ายๆ ก็ได้ค่ะ ยินดีที่ได้รู้จัก

เรานึกย้อนไปตอนสอนลูกพูดไทย เราเรียกชื่อลูก "น้องพลอยขา...." ลากเสียงเหมือนนางร้ายในละครเลยทีเดียว
ดูประโยคที่เราพูดกับลูกนะคะ และลูกจะตอบมาเหมือนกัน

แม่ "น้องพลอยขา..." - ลูก-"คุณแม่ขา..."
แม่-"ค่า..คุณลูก" -ลูก- "ค่า...คุณแม่"

เราพูดกับลุกยังไง ลูกจะพูดตอบกลับมาอย่างนั้น เหมือนกระจกเลยค่ะ

จริงๆ ไม่เคยพูดกับใครเพราะหวานจนเลี่ยนแบบนี้เลยค่ะ นี่ทำเพื่อลูกโดยเฉพาะ ตอนนี้สอนจนมดตอมไปหมด ลูกติดพูดคะ-ขาไปแล้ว แต่ก็มีที่ลืมพูดก็จะคอยเตือนค่ะ

จริงๆ แล้ว แม้จะพูดอังกฤษที่บ้าน เราสามารถสอดแทรกคำพูดภาษาไทยเพราะๆ เรียกลูก หรือขานรับก็ได้ คือไม่จำเป็นต้องร้อยเปอร์เซ็นต์พูดแต่อังกฤษในบ้าน สามรถใช้ภาษาไทยเมื่อจำเป็นค่ะ



คุณอ๊อบคะ สู้ๆ ค่ะ

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service