เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

เขียนไป...ตามใจฉัน...ตอน การศึกษาของประชาชนคนเยอรมัน

วันนี้แม่พลอยชมพูมาแบบทันสมัย เพราะเห็นคุณบิ๊กกำลังทำโพลสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาแบบทางเลือกใหม่ Home School อยู่ เลยอยากมาเล่าอะไรให้ฟังเกี่ยวกับกาศึกษาในประเทศเยอรมนี อยากให้เพื่อนๆ (คนที่ยังไม่รู้) ได้รู้ว่าบ้านอื่นเมืองอื่น เขาจัดระบบการศึกษาให้ประชาชนของเขายังไง ประชาชนของเขาส่วนใหญ่ถึงได้มีคุณภาพ และพัฒนาประเทศได้ดีในหลายๆ ด้าน


(ข้อความข้างล่างนี้อ้างอิงมาจากเว็บชาวไทย http://www.schau-thai.de/forum/index.php?topic=5054.0
เขียนแบบสังเขปโดยพี่สาวใจดี พี่แก๋งโฮ๊ะ หรือครูต้อม ที่เป็นทั้งล่าม และครูสอนภาษาอยู่เยอรมนีมากว่า 20 ปี)


การศึกษาภาคบังคับของเยอรมนี เริ่มเมื่อเด็กมีอายุ 6 ปีเป็นต้นไป และสิ้นสุดที่อายุ 16 ปี คือเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 ปี ถึง 16 ปี กฎหมายบังคับให้เข้าโรงเรียน หากไม่เข้าเรียน ก็อาจจะมีการเอาโทษกับผู้ปกครองได้ การศึกษาและโรงเรียนในเยอรมนีอาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละรัฐ แต่โดยทั่วไปอาจแบ่งได้ดังนี้

1. การศึกษาในวัยก่อนเข้าโรงเรียน
คือ ในโรงเรียนอนุบาล ที่เรียกว่า คินแดร์การ์เท็น (Kindergarten) จะรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจนถึง 6 ปี การเรียนในระดับนี้ไม่ใช่ภาคบังคับ จะให้เด็กเข้าเรียนก็ได้ ไม่ให้เข้าเรียนก็ไม่เป็นไร ที่นี่เด็กจะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทั้งทางร่างกายและทางสมอง โดยจะเรียนรู้สิ่งต่างๆจากการเล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน เป็นการฝึกฝนการใช้ชีวิตในสังคม การใช้สมาธิตามเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมของแต่ละวัน เป็นการปรับตัวและเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อการเข้าเรียนในโรงเรียนประถม ต่อไป


2. การศึกษาระดับประถม
เป็นการเริ่มต้นการศึกษาภาค บังคับ เด็กที่อายุครบ 6 ปี จะต้องเข้าเรียนในชั้นประถม ในเยอรมนีเด็กจะต้องเข้าโรงเรียนในเขตที่ตัวเองพำนักอยู่ โรงเรียนประถมเรียกว่า กรุนชูเล (Grundschule) การศึกษาชั้นประถมจะมี 4 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 ถึง ชั้นที่ 4 แต่ในบางรัฐอาจจะรวมเอาชั้น ที่ 5 และ 6 อยู่ในระดับประถมด้วยในโรงเรียนประถมจะเน้นการปูพื้นฐานการเรียนเป็นหลัก เด็กจะได้รับการฝึกการเขียนและอ่านภาษาเยอรมัน คณิตศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นอาจจะมีวิชาเสริม เช่น ดนตรี หัตถ-ศึกษา ศาสนา กีฬา เป็นต้น


3. การศึกษาระดับมัธยม
โรงเรียนในระดับมัธยมของเยอรมนีจะมีอยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน คือ

3.1 เฮาพ์ชูเล (Hauptschule) เป็นโรงเรียนมัธยมที่สอนเน้นความรู้ทั่วไป เช่น ภาษาเยอรมัน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาต่างประเทศ
มี ตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง 9 เมื่อจบชั้นปีที่ 9 จะได้รับประกาศนียบัตรมัธยมตอนต้น เฮาพ์ชูลอับชลุส (Hauptschulabschluss) สามารถเข้าเรียนต่อด้านอาชีพประเภทช่างหรืออาจจะเรียนต่อชั้นที่ 10 ต่อไปก็ได้ เพราะการเรียนสายอาชีพบางสาขาจะต้องจบชั้นที่ 10

3.2 เรอาลชูเล (Realschule) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเช่นกัน แต่จะมีตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 10 วิชาที่เรียนจะมากกว่าโรงเรียนมัธยมแบบเฮาพ์-ชูเล เมื่อจบชั้นที่ 10 จะได้ประกาศนียบัตรที่เรียกว่า มิทท์เลเร ไรเฟ(Mittlere Reife) และสามารถเรียนต่อสายอาชีพทุกสาขาได้ทันที

3.3 กึมนาซิอุม (Gymnasium ) เป็นโรงเรียนมัธยม จะมีทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เซคุนดาร์ ชทูเฟ อายส์ (Sekundar Stufe I) และระดับเตรียมอุดมศึกษาที่เรียกว่า เซคุนดาร์ ชทูเฟ ซวาย (Sekundar Stufe II) หรือ

โอแบร์ชทูเฟ(Oberstufe) ระดับมัธยมตอนต้นเรียนตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง ชั้นที่ 10 ในระดับมัธยมตอนปลายเริ่มจากชั้นที่ 11 ถึง 13 การเรียนจะเน้นทางด้านวิชาการมากกว่า ดังนั้นเด็กที่จะเรียนกึมนาซิอุมควรเป็นเด็กที่เรียนดีพอสมควร เมื่อสำเร็จการ ศึกษา ก็จะได้ประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียกว่า
อบิทัวร์ (Abitur ) และสามารถเข้าเรียนต่อในขั้นอุดมศึกษาได้

3.4 เกซัมท์ชูเล (Gesamtschule) เป็นโรงเรียนมัธยมประสม คือนำเอารูปแบบโรงเรียนมัธยมทั้งสามแบบที่กล่าวไปแล้วมารวมอยู่ด้วยกัน จะเปิดสอนตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึง ชั้นที่ 13 เด็กที่เข้าเรียนที่นี่สามารถที่จะเลือกเรียนชั้นมัธยมรูปแบบหนึ่งในสามแบบ จากที่นี่ เมื่อเรียนไปแล้วเห็นว่าไม่เหมาะกับความสามารถของตน ก็อาจที่จะย้ายไปเรียนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เหมาะกับตัวได้


4. การเรียนสายอาชีพ
เรียก ว่า เบรุฟเอาส์บลิวดุง(Berufsausbildung) การเรียนสายอาชีพนี้ ผู้ที่จะเข้าเรียนได้ต้องมีความรู้จบประกาศนียบัตรมัธยมตอนต้น(Hauptschul- abschluss) ซึ่งแล้วแต่สาขาอาชีพที่ต้องการจะเรียน การเรียนแบบนี้เป็นการเรียนควบคือเรียนในโรงเรียนอาชีวะ ที่เรียกว่า เบรูฟชูเล (Berufschule) ซึ่งจะสอนวิชาการและวิชาเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ และเรียนภาคปฏิบัติ คือ ฝึกงานในบริษัท ห้างร้าน โรงงานที่รับเป็นผู้ฝึกอบรม การเรียนในสายนี้ผู้เรียนจะได้รับเงินเดือนจากบริษัทหรือห้างร้านที่ไปฝึก งาน การเรียนสายอาชีพนี้จะใช้เวลานาน ระหว่าง 2 ถึง 3 ปี ครึ่ง

5. การเรียนระดับอุดมศึกษา ผู้ที่จบ Abitur สามารถที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีการสอบคัดเลือก นอกจากบางสาขาวิชาที่มีคนต้อง
การเรียนมาก เช่น แพทย์ศาสตร์ ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อสามารถที่จะเลือกสมัครสาขาวิชาที่ต้องการเรียนได้ ปัจจุบัน การศึกษาในบางรัฐต้องจ่ายเล่าเรียนเทอมละ 500 ยูโร

………………………………………………………………………………………….....................................................



พลอยชมพู ได้เข้าเรียนระดับอนุบาล (Kindergarten) ตอนอายุ 3 ขวบเต็ม เริ่ม 8 โมงเช้า-เที่ยง ไปส่งลูกสายได้ไม่เกิน 9 โมงเช้า ส่วนพ่อแม่ที่ต้องทำงานช่วงบ่ายไม่สามารถดูแลลูกได้ ก็จะให้ลูกทานอาหารกลางวัน และอยุ่ที่ ร.ร. จนถึงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น เรื่องค่าใช้จ่าย ครอบครัวเราเป็นชนชั้นที่มีรายได้ปานกลาง เราจึงเสียปรกติคือเดือนละ 150 ยูโร หากครอบครัวไหนมีรายได้น้อยจะไม่เสียอะไรเลย (ได้เงิน 150 ยูโรจากรัฐบาลเป็นค่าขนมลูก แต่เอามาจ่ายค่าร.ร.แทน)

ที่ ร.ร. จะมีเด็กราว 50-60 คน มี 3 ห้องเท่านั้นเอง แต่ละห้องจะจัดเด็กๆ ต่างวัยคละรวมกัน เพราะเด็กที่โตกว่าจะได้เรียนรู้การช่วยเหลือเพื่อนที่ตัวเล็กกว่า และเด็กเล็กจะได้มีพัฒนาตามเด็กโต

ที่เมืองเล็กๆ ที่เราอยู่นั้น อยากให้ลองจินตนาการดูว่าพลเมืองราว 2 หมื่นคน จะมี ร.ร. อนุบาลกระจายอยู่แทบทุกถนน แต่ละ ร.ร. ก็จะมีขนาดประมาณเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็น ร.ร. ของโบสถ์คริสต์แทบทั้งหมด

ร.ร. จะอยู่ในหมู่บ้าน จะไม่มีการเรียนข้ามเขต เราสองแม่ลูกเดินเท้าไป ร.ร. ด้วยกันทุกเช้า เราอยากบอกว่าเรามีความสุขกับความทรงจำเล็กๆ นี้มาก ระหว่างทางที่เราได้สนทนากับลูก ได้รู้จักลูกมากขึ้นในทุกๆ วัน จากการเดินเท้า 1 ก.ม. จนกระทั่งอายุ 5 ขวบ พลอยชมพูก็ขี่จักรยานเองได้ เราจึงไป ร.ร. ด้วยจักรยานทุกวัน ยกเว้นวันที่ฝนตกฟ้าร้อง เราจะขับรถส่วนตัวไปส่งและรับลูก

ที่นี่ไม่มีการสอนหนังสือเด็กให้อ่านออกเขียนได้เลย ตลอด 3 ปี! อ้าว...แล้วจะส่งลูกไปเรียนหาพระแสงง้าวอะไรฮ่วย! แหมๆๆ...อย่าเพิ่งด่วนสรุปนะคะ ว่าตลอด 3 ปี ส่งลูกไป ร.ร. เพื่ออะไร เราอยากบอกว่าที่ ร.ร. เน้นการพัฒนาทักษะของเด็ก เรียนรู้แบบธรรมชาติ การปรับตัวของเด็กที่ต้องอยู่ร่วมคนอื่นในสังคม ใน 3 ปี แค่เขียนชื่อนามสกุลของตนเองได้ และอ่าน A-Z ได้ ก็เพียงพอแล้วกับวัยนี้

เราเองก็อยากรู้ว่าวันๆ คุณครูสอนอะไรบ้าง จะว่าไปเวลาแค่ 3 -4 ชั่วโมง มันเป็นเวลาสั้นๆ เท่านั้นเอง แต่ละวันลูกคงได้อะไรจาก ร.ร.ไม่มากนัก หากครูปล่อยให้เด็กเล่น ก็กินเวลาไปครึ่งหนึ่งแล้ว

เกือบทุกวัน พลอยชมพูจะกลับมาพร้อมกับสิ่งของบางอย่างจาก ร.ร. เอามาอวดพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ วาดรูป, ปั้นดินน้ำมัน, งานประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ บางทีก็ร้องเพลงใหม่ๆ ให้แม่ฟัง ก็จะเป็นแบบนี้อยู่ตลอด

ที่ ร.ร. จะมีการจัดทัศนะศึกษาปีละครั้ง พาเด็กๆ ไปฟาร์ม หรือ ไปเดินป่า ตรงส่วนนี้เราชอบนะคะ เพราะเห็นลูกสนุกทุกครั้งที่มีกิจกรรมแบบนี้

เราเคยบ่นกับสามี ว่าเด็กที่เมืองไทยอายุ 5-6 ขวบ อ่านออกเขียนได้ก่อนขึ้นชั้นประถมฯ กันทั้งนั้น แต่ที่เยอรมนีทำไมไม่ทำแบบนั้นมั่ง 3 ปี เขียนได้แค่ชื่อและนามสกุล ไม่เห็นจะได้เรียนอะไรเลย แต่กลับให้เด็กเล่นซะมากกว่า แต่เมื่อ ณ วันที่ พลอยชมพูโตขึ้นเข้าชั้นประถมศึกษา เรากลับมีความคิดใหม่ กลับชมเชยการศึกษาระดับอนุบาลว่าเป็นการดี ที่ให้เด็กเรียนแบบไม่เครียด ไม่ยัดเยียดเด็กจนเกินไป เอาเวลาไปบริหารทักษะอื่นๆ ของเด็กให้มีพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งจะมีผลในการเรียนรู้ในขั้นต่อไปในอนาคตของเด็ก

แต่ละเทอมจะมีการประชุมผู้ปกครอง เราเองก็ต้องแปลกใจ เวลาเขาประชุมผู้ปกครองมันไม่เหมือนที่เมืองไทยเลย ที่พ่อแม่ของเด็กๆ ต้องไปนั่งรวมกับที่หอประชุม และจะมีอาจารย์มาพูดๆๆๆๆๆๆ แต่ที่ ร.ร. นี้ จะเรียกผู้ปกครองเด็กเข้าไปในห้องทีละครอบครัว จะรายงานผลตัวต่อตัว ว่าลูกของคุณเป็นอย่างไรเมื่อเขาอยู่ที่ ร.ร. ไม่ว่าจะติ หรือ ชม ก็จะพูดกันซึ่งๆ หน้า พร้อมชี้แนวทางว่า เมื่อเด็กเข้าระดับสูงขึ้นไปนั้น ควรจะให้เด็กเรียนไปทางสายไหน ส่วนพลอยชมพูนั้น เธอต้องไปเรียนต่อสายศิลป์ เพราะแววการช่างคิด ช่างทำ ช่างประดิษฐ์มันฉายออกมาแล้ว การประชุมผู้ปกครองนี้ น่าจะเรียกว่า “การประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก” มากกว่า


(บทความยาวมากค่ะ ขอคั่นด้วยภาพนะคะ จะได้ไม่ตาลาย พลอยชมพูตอนเรียนอนุบาล กับผลงานวาดภาพ)




ผลงานตอนเพิ่งจบป. 2 เข้าป.3 เดือนแรก ปัจจุบันมีเยอะกว่านี้



(ภาพวาดตอนปิดเทอมป.2 ขึ้นป.3 ได้ไปเรียนวาดรูปสีน้ำมัน)




หลังจากผ่านวัยอนุบาลมาแล้ว ก็ถึงวัยประถมศึกษา เราเลือกโรงเรียนให้ลูกอยู่ห่างจากบ้านราวๆ 3 ก.ม. มีอยู่ทั้งหมด 4 ชั้น คือชั้นประถมฯ 1 -4 โดยแต่ละชั้นมีเพียง 2 ห้อง (ห้องเอ และบี) แต่ละห้องมีนักเรียนไม่เกิน 20 คน ครูประจำชั้น 1 คน และครูผู้ช่วย 1 คน

ระดับประถม 1 และ 2 มีวิชาว่ายน้ำถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรด้วย ซึ่งเราเองไม่รู้ว่าเป็นแบบนี้ทุกเมืองหรือเปล่า แต่หากใช่ เด็กทุกคนในประเทศเยอรมนี เมื่อจบ ป.2 แล้วต้องว่ายน้ำเป็นทุกคน อันนี้เราถูกใจมากๆ เขาคิดได้ไงเนี่ย วิชานี้มันช่วยชีวิตเด็กมามากต่อมากแล้ว เรียนไปได้ใช้จนตายเลยนะเนี่ย

เรื่องเนื้อหาตารางเรียนตอนประถม 1 นั้นมีไม่มาก ไม่ซีเรียส พลอยชมพูเริ่มหัดอ่าน หัดเขียนเยอรมันก็ตอนประถม 1 นี่แหละ ไปโรงเรียนด้วยรถประจำทางแบบไม่ต้องจ่ายเงิน งานนี้ของหลวง โรงเรียนก็ของหลวงไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น แม้แต่หนังสือเรียนก็มีให้ยืม แต่ละเทอมเราซื้อหนังสือเรียนให้ลูกแบบที่ต้องใช้ส่วนตัวเพียงไม่กี่ยูโรเท่านั้น คนที่หมู่บ้านเรา ไม่ว่าร๊วยรวย หรือจ๊นจน ก็อยู่โรงเรียนเดียวกันมีชีวิตในวัยเรียนเหมือนๆ กันทั้งหมด ไม่ต้องแยกระดับโรงเรียนไฮโซ หรือโรงเรียนโลโซ เพราะทุกโรงเรียนล้วนเป็นของหลวงมีมาตราฐานเดียวกันหมด


เมื่อขึ้นประถม 5 เมื่อไหร่จะมีการแยกเด็กจากความสามารถและความเฉลียวฉลาด เช่น เด็กเอ หัวดีมาก ก็จะได้ไปโรงเรียนระดับหัวกระทิของจังหวัด มีสิทธิ์เรียนต่อมหาวิทยาลัย เด็กบี ฉลาดปานกลางก็ไปเรียนที่ร.ร.ระดับกลางๆ แต่หากเรียนดีขึ้นก็สามารถย้ายไปต่อที่ ร.ร.หัวกระทิได้ ส่วนเด็กสมองทึบก็มี ร.ร. แยกออกไปอีกต่างหาก ที่นี่หากพูดว่าลูกชั้นเรียนอยู่ที่ ร.ร. กึมนาซิอูม (Gymnasium ) คุณยืดยกพูดได้เลย เพราะเด็กจำนวนไม่มากที่สามารถเรียนต่อจนจบจากที่นี่ได้ การเรียนการสอนค่อนข้างเข้มข้น เด็กต้องมีสติปัญญาในระดับดี และมีความตั้งใจเรียนด้วย ไม่งั้น...ไม่จบ ลูกเลี้ยงของเราสองคนก็เรียนที่นี่ แต่จบไปได้และต่อมหาวิทยาลัยเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนอีกคนต้องลดชั้นไปเรียนที่ เบรุฟเอาส์บลิวดุง(Berufsausbildung) แทน (เรียนวิชาชีพ)

สำหรับร.ร.เอกชน ที่จังหวัดเราไม่มี รวมทั้งสถาบันติวเตอร์ใดๆ ไม่มีทั้งสิ้น การแข่งขันในการศึกษาไม่สูง เด็กทุกคนเรียนอย่างมีความสุข ไม่เครียด ไม่กดดัน

ช่วงประถมฯ 1 พลอยชมพูเลิกเรียน 11.45 น. ทุกวัน
ช่วงประถมฯ 2 เลิกเรียน 11.30 น. เหมือนเดิม แต่จะมี 1 วันในสัปดาห์ที่เลิก 12.30 น.
ช่วงประถมฯ 3 เลิกเรียน 12.30 น. ทุกวัน แต่จะมี 1 วันในสัปดาห์ที่เลิก 13.20 น.
ช่วงประถมฯ 4 เลิกเรียน 12.30 น. เกือบทุกวัน จะมี 2 วันในสัปดาห์ที่เลิก 13.20 น.

เกิดเป็นเด็กในประเทศเยอรมนี ช่างมีความสุขแท้ๆ เพราะไม่ถูกยัดเยียดให้เรียนหนักๆ ไม่ต้องเรียนพิเศษในตอนเย็น หรือวันหยุด แต่เอ...เรียนน้อยๆ แบบนี้เด็กๆ ที่นี่เขาจะฉลาดเหรอ เขาเอาเวลาช่วงบ่ายไปทำอะไร เล่นทั้งวันเลยเหรอ?????

ตรงนี้คืออีกจุดหนึ่งที่เราชอบม๊ากกกกกก ที่เขาให้เด็กๆ กลับบ้านเร็วๆ รัฐบาลบรรจุวิชาที่จำเป็นที่เด็กต้องเรียนรู้ ที่เรียกวิชาบังคับนะแหละ เช่นวิชา ภาษาเยอรมัน, เลขคณิต, อังกฤษ, สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต, ศาสนา, กีฬา, ศิลปะ (นับในตารางสอนของลูกไม่ถึง 10 วิชาเลยง่ะ) ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน พัก 2 ครั้ง เด็กจะห่ออาหารเช้าไปทานที่ ร.ร. กับเพื่อนๆ ตอนเบรกแรก ซึ่งจริงๆ แล้ว จะทานจากที่บ้านพอรองท้องไปนิดหน่อย พอเบรกที่สองจะเป็นเบรกใหญ่ให้เด็กๆ เล่นตามอัธยาศัย เรื่องเงินทองลูกก็ไม่เคยพกเงินไป ร.ร. เพราะที่ ร.ร. ไม่มีโรงอาหาร หรือ ร้านขายของใดๆ ทั้งสิ้น พลอยชมพูไม่เคยใช้เงิน มีเงินเมื่อไหร่เอาเก็บใส่ธนาคารหมด (แอบงกอีกต่างหาก)

เรามีความสุขมากที่เห็นลูกกลับบ้านช่วงหลังเที่ยง มาทานข้าวบ้านทุกวัน ช่วงบ่ายนี้แหละเป็นเวลาทองสำหรับเด็กๆ ที่เมืองของเราจะมีสถาบันสอนดนตรี, เต้น, ศิลปะ, กีฬาต่างๆ เช่นขี่ม้า, ว่ายน้ำ, ศิลปะ, ดนตรี, ยูโด, ไอซ์สเก็ต ฯลฯ กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ลูกสนใจ เราก็จะพาลูกไปเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มช่วงบ่ายจนถึง 1 ทุ่ม งานนี้ต้องควักกระเป๋าเองทุกอย่าง เรามีความสุขที่ได้ให้ลูกทำกิจกรรมที่เขาสนใจและชอบ เรามองย้อนกลับไปตอนที่เรียนมัธยมต้น เราเกลียดวิชาฟันดาบ, เรียนแตะตะกร้อ, เรียนเขย่าอังกะลุง และอีกหลายวิชาที่ผู้ใหญ่จัดห้ายยย นอกจากบังคับเด็กให้เรียนแล้วแถมโตขึ้นมาก็หาได้มีประโยชน์กับชีวิตเราไม่ (เห่อๆๆ พูดประโยคโบราณยังกะละครนางทาสงั้นแหละ) เราดีใจที่ทุกวันมีค่าสำหรับลูก ได้เรียนอะไรที่ชอบและมีประโยชน์กับตนเองในอนาคต และที่สำคัญ ทั้งเรียนและการทำกิจกรรม ไม่ได้เบียดเวลาสำหรับครอบครัวเลย เพราะวันเสาร์-อาทิตย์ เราสามคน พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันทั้งวัน ขับรถไปเที่ยวกันบ้าง ไปเยี่ยมญาติ หรือเพื่อนบ้าง มีความสุขจริงๆ

เรามานั่งทบทวน เมื่อตอนเราอายุ 9 ขวบ เราทำอะไรเป็นบ้าง เปรียบเทียบกับลูกพลอยชมพู มันเทียบกันไม่ได้เลยสักกระผีก การศึกษาของที่นี่ มีส่วนให้พลอยชมพูเก่งกว่าวัยที่ควรจะเป็น เพราะ “เวลา” เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด เมื่อมีเวลาช่วงบ่ายมาก เราก็สามารถจัดการเรียนการสอนให้ลูกเพิ่มเติมได้ ลูกไม่ต้องเรียนหรือทำกิจกรรมบ้าๆ บอๆ ไร้สาระที่ผู้ใหญ่จัดให้โดยไม่เต็มใจ (ไม่เหมือนเราที่ต้องจำใจเรียนหลายวิชาในสมัยเด็กๆ)


อีกเรื่องที่เราชอบใจ คือ “ครูประจำชั้น” ตั้งแต่ ประถมฯ 1 ถึง ประถมฯ 4 ก็เป็นครูคนเดียวกันมาตลอด ครูรู้จักเด็กทุกคนในห้องแบบลึกซึ้งทีเดียว และครูก็เห็นการพัฒนาในทุกๆ ด้านของเด็กตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน จนถึงวันจบประถมฯ 4 การรายงานประเมินการเรียนรู้ของเด็กก็เหมือนเดิม คือส่งจดหมายให้ผู้ปกครอบเลือกเวลามาประชุม เมื่อถึงเวลาก็เข้าไปทีละครอบครัว (พ่อกับแม่ หรือใครคนใดคนหนึ่ง) ครูก็จะเริ่มรายงานความประพฤติ และการเรียนรู้ของเด็กว่าดี หรือแย่ อะไรที่ต้องปรับปรุง ก็จะชี้แจงแบบตัวต่อตัว


พอเรียนใกล้จบประถมฯ 4 ครูก็จะเรียกไปประชุมอีก และเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับเด็กให้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ครูแนะนำให้ไปเข้าเรียนที่ไหน พ่อแม่มักจะทำตามแต่โดยดี เป้าหมายของพ่อแม่ในเยอรมนีอยากให้ลูกไปเรียนที่ ร.ร. กึมนาซิอูม (Gymnasium) กันทั้งนั้น เพราะดีกรีดีกว่าที่อื่นๆ เข้าได้เฉพาะเด็กหัวดีมีความสามารถสูง แต่หากลูกสมองไม่ถึงระดับ ครูให้ไปเรียนที่อื่นก็ต้องยอมรับ เพราะดันทุรังไปก็ไม่มีประโยชน์ หากรั้นไปเข้า ร.ร. ที่เกินความสามารถของเด็ก สุดท้ายก็ต้องซ้ำชั้นและโดนเปลี่ยนโรงเรียนในภายหลัง มันเสียเวลาเปล่าๆ

ที่เยอรมนีแปลกตาลปัดจากไทยในเรื่องการออกเกรดให้เด็ก เกรด 1 หมายถึง “ดีมาก” ไล่ไปจนถึงเกรด 4 ที่หมายถึง “ไม่ดีนัก” จริงๆ มันก็ถูกของเขานะ เกรด 1 หมายถึง ที่ 1 หมายถึงอะไรๆ คืออันดับ 1 และคือสุดยอด แล้วมันจะเป็นเกรดที่หมายถึงแย่ หมายถึง "ไม่ดี" ในการออกเกรดให้เด็กของร.ร.ไทย ได้ไงเนี่ย งง ....


จะว่าไปดูเหมือนว่าการศึกษาของประชาชนเยอรมันระดับอนุบาลและประถมยืดหยุ่นดี รัฐบาลจัดการศึกษาให้เด็กครึ่งวัน และพ่อแม่จัดการศึกษาให้ลูกเองอีกครึ่งวัน นี่แหละจุดเด่น ที่ทำให้เด็กๆ มีความสามารถสูง ด้านวิชาการก็ได้เต็มที่ ด้านกิจกรรมความสามารถพิเศษก็ได้เต็มทีเช่นกัน ผิดกับการศึกษาแบบไทยๆ ที่จัดให้เด็กๆ ทำกิจกรรมหลายๆ อย่างโดยไม่คำนึงถึงว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความชอบ หรือความถนัด แต่ต้องมาจำใจเรียนในสิ่งเดียวกัน....

อยากเล่าต่ออีกนิดถึงเด็กที่เรียนระดับมัธยมปลาย ซึ่งลูกเลี้ยงของเราทั้งสองได้ผ่านมาแล้ว ซึงการเรียนใน ร.ร. กึมนาซิอูม (Gymnasium) จะเน้นวิชาการมาก เพราะสายนี้จะมุ่งตรงเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย เด็กทุกคนได้เรียนฟรี แต่เสียเงินซื้อหนังสือนิดหน่อย เวลาไปเรียนก็คล้ายๆ ระดับประถม เลิกเรียนช้าสุด 13.20น. กว่าลูกชายจะปั่นจักรยานกลับมาถึงบ้านก็ราวบ่าย 2 โมง ถึงได้ทานอาหารกลางวัน ช่วงบ่ายเป็นช่วงสบายๆ ของลูกชายทั้งสอง ส่วนตอนเย็นเขาก็ไปเข้ากลุ่มว่ายน้ำ ว่ายแข่งขันได้ชัยชนะมาพอประมาณทั้งสองคน เราว่าชีวิตวัยเด็กของพวกเขามีความสุขกับการเรียนและเล่นมากๆ

(คั่นด้วยภาพถ้วยรางวัลของลูกชายทั้งสอง มีเหรียญรางวัลอีกถุงใหญ่)


ตอนนี้ลูกเลี้ยงคนโตเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในเยอรมนี เขาเรียนเก่งจนได้รับทุนจากมหาวิทยาลัย เราส่งเสียค่ากินและที่พัก เขาจะออกค่าเทอมของเขาเอง อีกราวๆ 2 ปี จะจบปริญญาโท (ที่เยอรมนีไม่มีปริญญาตรี) เห็นลูกชายเล่าว่าที่ชั้นเรียนของเขา ตอนนี้นักเรียนหายไปครึ่งห้องแล้ว เพราะเรียนไม่ไหว ยากมาก การเรียนระดับมหาวิทยาลัยของเด็กที่นี่ เรียนหนักมาก คือเราเห็นแต่เขาอ่านหนังสือ และช่วยงานในมหาวิทยาลัย ไม่ได้ออกไปเที่ยวเลยมา 3 ปีแล้ว เราบอกเขาว่าหน้าร้อนปีหน้า 2010 ไปเยี่ยมแม่ที่ไทยพร้อมเรามั้ย เขาก็บอกไม่มีเวลา รอเรียนจบทีเดียวเลย (แม่เขาเป็นคนไทย)

จริงๆ แล้ว การเรียนระดับมหาวิทยาลัย หากผู้ปกครองไม่สามารถส่งเสียได้ ก็สามารถขอยืมเงินรัฐบาลเรียนได้ แต่จะได้เฉพาะพ่อแม่ที่มีรายได้น้อยเท่านั้น สามีเราผ่านจุดนี้มาแล้ว หากเขาไม่ได้ไปเป็นทหาร 1 ปี เขาก็คงไม่เสียเงินเรียน เขาเลยได้เป็นรุ่นแรกของประเทศที่ใช้กฎหมายใหม่ คือ เด็กรุ่นใหม่จะไม่ได้เรียนฟรีอีกแล้ว ต้องเรียนแล้วใช้หนี้รัฐบาลในภายหลังเท่านั้น

(คั่นบทความด้วยรูปค่ะ รูปบรรดาลูกๆ ของเราพ่อเดียวกัน แต่ต่างแม่)


ส่วนลูกเลี้ยงคนเล็กเรียนวิชาชีพปีหน้าเรียนจบ หากจบก็คงเทียบเท่า ป.ว.ช. เสียเวลาถึง 3 ปี เรียนย้อนใหม่เพราะไม่ตั้งใจเรียน จริงๆ เรื่องการศึกษาของเยอรมันจะซับซ้อนกว่าของไทย แต่เราคงเล่าให้ฟังได้เพียงเท่านี้ค่ะ

ป.ล. ลูกเราก็มีอีกคน เป็นลูกแท้ๆ อายุ 19 ปี ไม่มีอะไรจะเล่า ไม่มีอะไรจะอวดเลย เพราะไม่ยอมเรียนหนังสือ เกเรเอาการ ไม่ได้อยู่ด้วยกันตั้งแต่เขาอายุ 2 ขวบ ไม่ได้เลี้ยงเขา เขาจึงเป็นอะไรที่ไม่ได้ดังใจแม่เลยสักนิด แต่ว่าตอนนี้เขากำลังกลับตัวกลับใจ เริ่มไปเรียนแล้ว เอาไว้มีเรื่องเด็ดๆ แล้วจะมาเล่าเปิดตัวลูกชายคนเดียวของเราค่ะ


จบแล้วจ้า ยาวมั๊กๆๆๆๆๆ

แม่หน่อย ของพลอยชมพู

Views: 5094

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

Comment by รุ่งนภา เรืองสรณะรัตน์ on November 3, 2010 at 12:11pm
สวัสดีค่ะ แม่หน่อย
ตอนนี้ลูกสาวน้องการ์ตูน อายุ 3 ขวบ 3 เดือนค่ะ เข้าร.ร อนุบาลแล้วแต่เป็นชั้น pk ค่ะ ที่ร.ร อนุบาลต้นกล้าในเชียงใหม่ค่ะ แนวความคิด การสอนของที่นี่ก็มีส่วนคล้ายกับที่คุณแม่หน่อยเล่ามาค่ะ อ๋อลืมเล่าไปค่ะ ร.ร นี้เป็น ร.ร ทางเลือกค่ะ จะไม่เหมือนร.ร ทั่ว ๆ ไป เค้าจะเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับการเล่น มีความสุขกับการไป ร.ร ไม่เน้นอ่านเขียนเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปในกรุงเทพ มีร.ร แบบนี้หลายแห่งค่ะแต่เชียงใหม่เพิ่งจะมีสองที่ ๆ เลือกที่นี่เพราะสถานที่ค่ะ มีที่ให้เด็ก ๆ ได้วิ่งเล่นเต็มที่ อากาศก็ดี ในห้องเรียนไม่มีแอร์ค่ะ เห็นระบบการศึกษาไทยแล้วตัวเองก็เคยเจอมากับตัว ไม่อยากเห็นลูกต้องเครียด เด็ก ๆ เรียนพิเศษกันตั้งแต่เด็กเหนื่อยแทนเลยค่ะ ที่ร.ร นี้เค้าเน้นให้เป็นเด็กดี ก่อนจะฉลาด ก็หวังว่าคงจะเลือกให้ลูกไม่ผิดค่ะ
Comment by โกเมศ กุลอุดมโภคากุล on October 27, 2010 at 9:56am
อยากเห็นระบบการศึกษาเมืองไทยแบบนี้หรือใกล้เคียงแบบนี้ อีกนานมั๊ย..
Comment by Suwasa Prapaipichit on October 27, 2010 at 9:56am
เห็นด้วยมากกกกเลยคะ อย่โน้นเรื่องเรียนมีความสุขน่าดูคะ ดูน้องมีความสุขมากเลย
ขอบคุณที่เอามมาแชร์นะคะ อ่านตามแล้วเพลินคะ แม้จะยาวแต่ชอบ
ส่วนตัว เราชอบการศึกษาแบบไม่ยัดเยียด แต่เมือ่เราอย่เมืองไทย เราก็คงต้องให้ลูกไปตามระบบแข่งขันเค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะไม่ยัดเยียดลูกมากไปคะ
Comment by แม่น้องอองตอง on September 14, 2010 at 12:50pm
อ่านแล้วอยากเป็นเด็กที่นั่นจังเลยค่ะ
Comment by wanthanee chanthong on August 4, 2010 at 9:56pm
ต้องขอขอบคุณ ผู้ใหญ่บิ๊ก ที่เเนะนำให้มาพบกับบทความที่ดีเเบบนี้ เเละขอขอบคุณ คุณเเม่ของน้องพลอยชมพู ที่เเนะเเนวทางให้ อ่านดูเเล้วดีมากๆ เลยคะ
Comment by amornrat meepat on June 3, 2010 at 11:54pm
ขอบคุณมากสำหรับ บทความนี้แม้ยาวไปนิดแต่ก็ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาในประเทศเยอรมันกันเป็นอย่างดี ฟังแล้วก็รู้สึกว่าการศึกษาที่นั้นน่าสนุกจริงๆ นะคะ แต่ก็แอบคิดถึงคนไทยอยู่บ้างเหมือนกันว่า หากช่วงบ่ายให้พ่อแม่จัดการศึกษาให้เด็ก จะเกิดความเลื่อมล้ำสูงแน่ๆ เพราะพ่อแม่คนไทยไม่ได้มีความเข้าใจไปเสียทุกคน อันนี้หากเมืองไทยจะเอามาใช้ก็อาจจะได้แต่ให้เป็นแนวทางหนึ่งสำหรับพ่อแม่ที่สามารถจัดการศึกษาให้ลูกๆ ได้ และกฎหมายเมืองไทยเกี่ยวกับการศึกษาก็ควรจะเปิดกว้าง มีให้เลือกได้หลายแบบก็ได้ หรือจะจัดโซน ก็ได้นะ เรื่องนี้พูดไปก็คงยาวนะคะ เอาเป็นว่าบทความนี้ทำให้เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับการจัดการศึกษาได้นะคะ ชอบค่ะ
Comment by แม่น้องคีน on March 5, 2010 at 2:20pm
สามีชอบบ่นเมืองไทย (ทำเหมือนเคยเป็นต่างชาติมาก่อน หุหุ) แต่เรื่องจริงคือ การศึกษาไทยเป็นระบบที่ทำให้ประเทศไม่พัฒนาค่ะ น่าเสียดายที่โอกาสมีให้เฉพาะคนรวย ที่มีเงินจ่าย ส่วนประชาชนส่วนมากและเด็กส่วนใหญของประเทศไม่มีโอกาส
Comment by panatdakitamura(Line ID) on December 7, 2009 at 2:03am
ดีจังเลยค่ะ อยากให้มีโรงเรียนแบบนี้ในเมืองไทยมั่งจัง
Comment by ปรินทิตา on November 7, 2009 at 12:56am
ขอบคุณ คุณพลอยชมพูนะคะ ที่ตอบข้อสงสัยค่ะ
ตอนนี้คิดว่าตัดสินใจเรื่องโรงเรียนของลูกสาวได้แล้วค่ะ และคงจะเป็นแนวทางให้ลูกชายด้วยอีกคนค่ะ (อยู่ในท้อง 7 เดือนค่ะ)
Comment by พลอยชมพู on November 6, 2009 at 7:38pm
แว๊บมาดู เพิ่งเห็นว่าตนเองเขียนตกคำว่า "มะม่วง" แฮะๆๆๆ เมื่อคืนมึนๆ ง่วงๆมานั่งหน้าคอม

วันนี้รู้สึกสบายดีแล้ว หลังจากไปเล่นสเก็ตน้ำแข็งหงายหลังหัวกระแทกพื้น อายชาวบ้านชาวช่องมากๆๆๆๆๆ ไม่ยอมใส่หมวกกันน๊อกทั้งๆ ที่เ่ลนไม่เก่ง สมน้ำหน้า หัวโนปูดๆ ดีนะที่เลือดไม่ออกในสมอง ไม่งั้นก็ไม่ได้มานั่งหน้าจอแบบนี้อีก แก่แล้วไม่เจียมบอดี้เลยตู เหอๆๆๆๆ

ยินดีที่ได้รู้จักคนบ้านใกล้เรือนเคียงนะคะคุณ Nawamon นามสกุล Schulz อีกด้วย เป็นดองกันรึเปล่าเนี่ย น้องสาวสามีก็นามสกุลนี้ (นามสกุลสามีเธอ)

เรื่องที่เด็กต้องเลือกเรียนตามระดับสมองเมื่อขึ้นป.5 นั้น ส่วนตัวดิฉันรู้สึกว่ามันเร็วไปนิดนึงในการที่จะตัดสินว่าเด็กคนนั้นควรจะ อยู่โรงเรียนระดับไหน อันนี้ตัดสินจากคนใกล้ตัวนะคะ อย่างสามีของดิฉัน เป็นเด็กฉลาดมากๆ แต่ตอนเด็กๆซนและไม่ค่อยสนใจเรียน แต่ผลการเรียนก็ดีมาตลอด แม่เลยจับไปอยู่รีอัลชูเลอะ ส่วนครูประจำชั้นอยากให้ไปกิมนาเซียม สุดท้ายก็ไปรีอัลชูเลอะค่ะ เรียนเอาวส์บิวดุงจบมาทำงานหลายปีแล้ว ปัจจุบันเขาก็ยังบ่นเสียดายที่ตัวเองไม่ได้เข้ากิมนาเซียม เพราะสมัยนี้งานส่วนมากจะขอวุฒิในระดับปริญญาทั้งนั้น แต่จะให้กลับไปเรียนมหาลัยก็คงไม่ทันแล้ว เพราะมีครอบครัวต้องรับผิดชอบ


เราขอตอบแบบจริงๆ ของคนวงในเนื่องจาก น้องสาวของสามี 2 คนมีอาชีพครู ครอบครัวเราสนิทกันมากเหมือนครอบครัวคนไทยเลย เธอทั้งสอง (คนหนึ่งนามสกุลเดียวกันคุณ)เป็นครูตั้งแต่จบป.โท จนตอนนี้จะเกษียณแล้วค่ะ (ครอบครัวของสามีเป็นข้าราชการทั้งบ้าน) ข้อมูลที่เราจะบอกคุณคือ หากครูจัดเด็กไปเรียนที่ Realschule หรือแม้แต่ โรงเรียนรวมๆ อย่าง Gesamtschule หากเด็กเรียน ป.5 -ป.6 เด็กเรียนดีขึ้นสามารถย้ายไปอยู่โรงเรียน Gymnasium ได้ตลอดค่ะ เขาเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองแล้วกลับไปเข้าสายของมหาวิทยาลัยได้ค่ะ

ยกตัวอย่างค่ะ ลูกชายสามีคนที่สอง หลังจากจบป.4 ก็ไปเข้า ร.ร.Gymnasium หลังจากนั้น 2 ปี การเรียนตก โดนลดระดับให้ไปเรียน Realschule (ร.ร.ที่ป้าเขาเป็นครูอยู่) และซ้ำชั้นเดิมอีก 1 ปีด้วย หลังจากนั้น 2 ปี เขาเรียนดีขึ้น ก็ได้เพิ่มระดับอีกครั้ง ครูเสนอชื่อให้เขาไปเรียนใน ร.ร.Gymnasium อีกครั้ง แต่คราวนี้เรียนได้จนถึงชั้น 12 เหลืออีก 1 ปี จะจบแล้วไม่รู้เขาไปเกเรอะไร เนื่องจากอายุ 18 แล้ว ทางโรงเรียนไม่แจ้งกับพ่อแม่ถึงสาเหตุใดๆ คราวนี้ไม่ได้โดนย้ายร.ร.เหมือนครั้งก่อน แต่โดนไล่ออกเลย เราก็อยากรู้อยากเห็น แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่รุ้เลยว่าเขาทำไรผิด เลยย้ายไปเรียน ร.ร.วิชาชีพแทน ไปเรียนร่วมกับเด็กๆ อายุ 16 สมน้ำหน้ามัน น่าอายที่สุด....เฮ้อ..

ร.ร.Gymnasium เรียนดีก็ได้เข้า แต่เข้าไปแล้วเกรดไม่กระเตื้อง ก็โดนย้ายออกเหมือนกัน ส่วนร.ร.อื่นๆ เกรอรองลงมา หากเด็กพัฒนาตนเอง ก็ได้เลื่อนขึ้นไปเรียน ร.ร.Gymnasium ได้เหมือนกันค่ะ

ตอนนี้คุณท้องแก่แล้วนะ รักษาสุขภาพค่ะ จะคลอดลูกยังไงปรึกษาหมอดีๆ นะคะ เขาทำไม่เหมือนของไทย บางร.พ. (ตามชนบท) ไม่บอกให้กรีดช่องคลอดเขาก็ไม่กรีดนะ ให้เบ่งออกเองตอนหลังก็เย็บไม่ได้ เพราะแผลมันรุยๆ น่ะ เรามีเรื่องเยอะแยะเกี่ยวกับเยอรมนีที่แปลกๆ บ๊องๆ อย่างเรื่องคลอดลูกนี่แหละ เล่าทีไรเพื่อนๆ ก็ฮาได้ฮาดี หมอตลกที่สุด ไว้ว่างค่อยมาเขียนเล่า จะเห็นว่าไม่ว่าที่ไหน ก็มีเรื่องดี และไม่ดี หรือบ๊องๆ มีอยู่ทุกประเทศ หุ หุ

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2025   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service