ชวนพ่อแม่ทำแบบทดสอบ "ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์"
ชวนพ่อแม่ใส่แว่นสีชมพูทำแบบทดสอบ "ความเฉลียวฉลาดทาง อารมณ์" เพื่อไม่ให้มี "คุณหนูอารมณ์ร้าย" ในบ้านค่ะ
นี่ไม่ใช่ชื่อละครหลังข่าวภาคสองต่อจากเรื่อง "คุณหนูอารมณ์ร้าย กับ ผู้ชายเย็นชา" แต่อย่างใด ถ้าจะโยงเป็นตุเป็นตะให้เป็นเรื่องก็ได้เหมือนกัน ครอบครัวไหนมีพ่อแม่อารมณ์ร้ายก็จะได้คุณลูกอารมณ์ร้ายแน่นอน ผู้เขียนก็เลยขอแนะนำวิธีจัดการอารมณ์ร้ายด้วยการ "ควบคุมอารมณ์ให้เฉลียวฉลาด" หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า E.Q. (Emotion Quotient) เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่นำไปใช้กับลูกๆ เพลาการเป็นพ่อแม่ที่คิดถึงแต่ไอ.คิว.ลูกไม่ลืมหูลืมตา กดดันเสียจนลูกๆ พากันโดดตึกตายมั่ง ผูกคอตายมั่งจนเป็นข่าวสะเทือนใจคนเป็นพ่อแม่ (อีกนั่นแหละ)
ผู้เขียนมิได้กล่าวหาว่าพ่อแม่เป็นตัวการนะคะ แต่ผลจากการสำรวจข้อมูลวัยรุ่นอายุ 12-25 ปีคิดฆ่าตัวตาย สาเหตุแรกก็จากครอบครัว ถัดมาก็เป็นเรื่องเรียน สอบไม่ได้มั่ง ได้คะแนนไม่ดีมั่ง เห็นไหมคะ มันแยกกันไม่ออกเลย เอาเหอะ...คุณพ่อคุณแม่อาจจะตบอกปฏิเสธว่า "ไม่เค้ย...ไม่เคย" ผู้เขียนเป็นแม่ของลูกด้วยค่ะ รู้ซึ้งว่าหัวใจแม่อยากให้ลูกได้ดีเพียงใด บางครั้งก็พูดจากดดันลูกแบบรู้เท่าถึงการณ์มั่งไม่ถึงการณ์มั่ง ของมันเผลอกันได้ ถ้าเผลอบ่อยก็แย่เหมือนกัน
หนังสือเรื่อง "หัวใจของการเป็นพ่อแม่" เขียนโดย ศ.จอห์น ก๊อตแมน มีเนื้อหาว่าด้วยการเรียนรู้ที่จะ "ควบคุมอารมณ์ให้เฉลียวฉลาด" (Emotional Intelligence) อันเป็นความฉลาดที่ไม่เข้าตากรรมการสักเท่าไหร่ เพราะมัวแต่ไปหาวิธีเสริมสร้างไอ.คิว.ให้ถึง 180 อย่างเดียว ไม่สนที่จะปูพื้นฐานความสัมพันธ์กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก ให้ไว้วางใจพ่อแม่เพื่อจะได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ปูพื้นสะสมตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กให้ความรู้สึกมั่นใจ ไว้วางใจของลูกซึมซ่านจนฝังเป็นความรู้สึกเชื่อมั่นและไว้วางใจ ว่า"พ่อแม่จะไม่ตำหนิติเตียนพวกเขาเมื่อทำความผิดพลาดแบบจิกด่าทำลายล้าง ซึ่งจะเป็นการทำลาย "ส่วนที่ดีงาม" ในตัวของพวกเขาให้ย่อยยับไปด้วย
"จะต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ จนซึมซ่านกลายเป็นความรู้สึกจากอารมณ์ของเด็กเอง มันจะฝังอยู่จนกระทั่งพวกเขาเติบโตเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวเกิดเป็นความเชื่อมั่นว่าพวกเขามีคุณค่าและมีความหมายต่อพ่อแม่มากมายเพียงใด" เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นมันจะกลายเป็นวิธีการดำเนินชีวิตในภายหน้า ซึ่งเขาจะต้องเผชิญกับความกดดันต่างๆ นานา ตั้งแต่ความกดดันจากเพื่อน เลี่ยงที่จะไม่นำตัวเองไปเสี่ยงกับเรื่องล่อแหลมอันตราย หรือมีอารมณ์ที่เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์รุนแรงต่างๆ อย่างมั่นใจ ต่างจากเด็กที่ไม่มีประสบการณ์เพราะถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับไอ.คิว.ด้านเดียว เราพบคนแบบนี้มากมาย จำพวก "ยอมหัก...ไม่ยอมงอ"
ทดสอบประสิทธิภาพทางอารมณ์ของพ่อแม่ผ่านสถานการณ์ง่ายๆ ต่อไปนี้เหตุการณ์ง่ายๆที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ตกม้าตายเพราะใช้ท่าทีไม่เหมาะสม ไม่เคยให้ความสนใจกับคำว่าอี.คิว.มาก่อนในชีวิต ทำนอง "วัวหายแล้วค่อยล้อมคอก" นั่นแหละ คำตอบที่เหมาะสมมิได้มีเพียงคำตอบเดียว หรือวิธีจัดการเดียว ที่นำมาเป็นเพียงวิธีพูดเหมาะๆ พอให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นแนวทางปรับ " อี.คิว." ที่ไม่ค่อยสูงให้สูงขึ้นในกรณีต่อๆไปที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตจริง ลองดูค่ะ
1. ลูกหายในห้างสรรพสินค้า แต่พนักงานขายในห้างพบตัวและนำมาส่งให้พ่อแม่อย่างปลอดภัย (เด็กรู้สึกกลัว) ส่วนพ่อแม่
ก็กลัวลูกเป็นอันตราย และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
* พูดแบบไม่มีอี.คิว. - "เด็กโง่ รู้หรือเปล่าว่าทำให้พ่อแม่จะบ้าตายอยู่แล้ว คราวหน้าไม่พามาซื้อของอีกแล้ว"
* พูดแบบมีอี.คิว. - "ลูกกลัวมากใช่ไหม พ่อกับแม่ก็กลัวลูกหาย ขอแม่กอดหน่อย เดี๋ยวเราค่อยคุยกันนะจ๊ะ"
2. ลูกกลับจากโรงเรียนแล้วบอกว่า "หนูจะไม่ไปโรงเรียนอีกแล้ว ครูตะโกนใส่หน้าหนูต่อหน้าเพื่อนๆ" (ลูกอาย) พ่อ
แม่อยากให้ลูกเรียนได้ดี และเป็นที่รักของครู
* พูดแบบไม่มีอี.คิว. - "ก็ไปทำอะไรเข้าล่ะ ครูถึงตะคอก"
* พูดแบบมีอี.คิว. - "หนูอายเพื่อนๆ แย่เลยสิคะ"
3. ขณะที่อาบน้ำให้ลูกในห้องน้ำ ลูกพูดว่า "หนูเกลียดน้องจังเลย อยากให้น้องตาย" (เด็กรู้สึกโกรธ) พ่อแม่คิดว่าพี่
น้องทะเลาะกันจะต้องเกิดขึ้นต่อไป
* พูดแบบไม่มีอี.คิว. - "หนูเกลียดน้องได้อย่างไร แย่มาก หนูต้องรักน้องอย่าพูดอย่างนี้ให้พ่อแม่ได้ยินอีกนะ"
* พูดแบบมีอี.คิว. - "แม่รู้ว่าน้องชอบกวนใจหนูจนหนูผิดหวังและอารมณ์เสีย ไหนเล่าให้ฟังซิเกิดอะไรขึ้น"
4. บนโต๊ะอาหารมื้อเย็น เด็กบอกว่า "หนูเกลียดกับข้าวนี้ที่สุด ไม่อยากกิน"(เด็กทำท่าอ้วก) พ่อแม่อยากให้ลูกกิน
อาหารมื้อนี้ให้หมด จะได้ไม่เหลือทำให้สิ้นเปลือง
* พูดแบบไม่มีอี.คิว. - "ลูกต้องกินกับข้าวที่เรามี และก็ต้องชอบกินด้วย"
* พูดแบบมีอี.คิว. - "กับข้าววันนี้ไม่ค่อยน่ากิน ลูกอยากกินอะไรล่ะพรุ่งนี้แม่จะทำให้"
5. ลูกกลับจากเล่นกับเพื่อนนอกบ้าน และพูดว่า "หนูเกลียดเด็กพวกนั้นจังพวกเขาไม่ให้หนูเล่นด้วยแล้วยังแกล้ง
หนูอีก" (เด็กเครียด) พ่อแม่รู้ว่าเด็กจะเข้ากับคนอื่นได้ดี ต้องไม่ขี้แย
* พูดแบบไม่มีอี.คิว. - "ก็ลูกขี้แยใจเสาะใครเขาจะเล่นด้วย อย่าทำ เรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่หน่อยเลย อยากเล่นก็ต้อง
อดทนสิ"
* พูดแบบมีอี.คิว. - "ไหนเล่าให้แม่ฟังซิว่าพวกเขาแกล้งลูกอย่างไร"
6. ลูกพูดว่า "คืนนี้พ่อกับแม่ไม่ต้องมาดูแลหนู หนูอยากให้ (คนนั้นคนนี้) ดูแลหนูแทนค่ะ (ลูกเศร้าสร้อย) พ่อแม่รู้ว่าลูกชื่น
ชอบและอยากใกล้ชิด (คนนั้นคนนี้) เขา/เธอ
* พูดแบบไม่มีอี.คิว. - "พูดจาน่าเกลียด ทำเป็นเด็กไม่มีหัวคิดไปได้"
* พูดแบบมีอี.คิว. - "ลูกคงจะคิดถึงพี่เขามากใช่ไหม แม่เข้าใจ แม่ก็คิดถึงพี่คนนี้ของลูกเหมือนกัน"
7. เพื่อนลูกมาเล่นที่บ้าน ลูกพูดกับเพื่อนๆ ว่า "เราไม่แบ่งของเล่นให้เธอนะ ห้ามเล่นตุ๊กตาของเราด้วย" (ลูกโกรธ
(อีกแล้ว)) พ่อแม่อยากให้ลูกรู้จักเอื้อเฟื้อและเป็นเจ้าของบ้านใจดีกับแขก
* พูดแบบไม่มีอี.คิว. - "อย่าเป็นเด็กเห็นแก่ตัวสิลูก รู้จักแบ่งของเล่นให้เพื่อนเล่นบ้าง"
* พูดแบบมีอี.คิว. - "แม่รู้ว่าบางทีก็ยากที่จะแบ่งของที่เรารักให้คนอื่นเล่น หนูเก็บตุ๊กตาตัวโปรดไว้ในห้องนะจ๊ะแล้วขนของ
เล่นที่อยากให้เพื่อนเล่นออกมา"
เป็นอย่างไรบ้างคะ บททดสอบ "ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์" ของคุณพ่อคุณแม่ สำหรับผู้เขียนเองใช้คำพูดแบบ "คุณแม่อารมณ์ร้าย" ทุกครั้งเลยถ้าไม่ยั้งคิดเสียก่อน แต่ก็มองเห็นข้อดี สมควรใช้ความพยายามค่ะ ไม่อยากมี "คุณหนูอารมณ์ร้าย" ในบ้านนี่คะ ถึงได้เตือนคุณแม่ที่ยังมีลูกเล็กๆ ทั้งหลายให้สนใจวิธี "ควบคุมอารมณ์ให้เฉลียวฉลาด" เพื่อสร้างฐานอารมณ์ของลูกให้เข้มแข็งจะได้มีชีวิตอยู่ในโลกไร้พรมแดนใบนี้อย่างมีความสุขพอสมควรส่วนผู้เขียนน่ะเป็นพวก " ไม้แก่ดัดยาก " ค่ะ ถึงต้องใส่แว่น "สีชมพู" ไงคะ
จาก: นิตยสารรักลูก
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้