เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย
วันแรกที่ครูหม่อม, ครูใหม่ ได้รับหน้าที่เป็นคุณครูปฐมวัยที่สหรัฐฯ ดร. เคอซีย์ ได้ยื่นโหลใสว่างเปล่าคล้ายอ่างเลี้ยงปลาให้เราคนละใบพร้อมกับก้อนกรวดสีดำที่บรรจุอยู่ในถุงอีกคนละถุง ตอนแรกเราสองคนคิดว่า ดร.เคอซีย์ เอามาให้เราไว้ประดับห้อง
ถามไถ่ไปมา ดร.เคอซีย์? บอกว่า "มันดียิ่งกว่าประดับห้องอีกนะ"
หลังจากนั้นก็มอบหมายให้เราสังเกตพฤติกรรมของกันและกันว่า ในวันหนึ่งๆ เราพูดคำว่า "No" ซึ่งแปลว่าไม่ และคำว่า "Don't do that" ซึ่งแปลว่าอย่าทำอย่างนั้น! กับเด็กๆทั้งหมดกี่ครั้ง โดยที่ทุกครั้งที่ได้ยินให้อีกคนหนึ่งนำก้อนกรวดสีดำไปใส่ไว้ในขวดโหลของผู้ที่พูด แทบไม่น่าเชื่อว่าพอหมดวันโหลของเราสองคนเต็มไปด้วยก้อนกรวดสีดำ
เมื่อ ดร.เคอซีย์ เดินมาเห็นท่านถึงกับอุทานว่า "โห! เธอสองคนใช้ก้อนกรวดสีดำฟุ่มเฟือยจังเลย ดูสิ!? สมองใสๆ ของเด็กมืดหม่นหมดแล้ว" ดร.เคอซีย์ อธิบายว่าการที่เราห้ามเด็กบ่อยๆ ว่า "ไม่" หรือ? " อย่า" นั้นเป็นการทำลายธรรมชาติความอยากรู้อยากเห็นที่ติดเขามาแต่กำเนิด และท้ายที่สุดก็จะเป็นการทำลายความสามารถ และความมั่นใจของเด็กไปโดยปริยาย!!!
ที่สำคัญเราจะต้องคอยตามห้ามเด็กๆ ต่อไป เพราะ คำว่า "ไม่" หรือ "อย่า" เป็นแค่การหยุดพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการแค่นั้น แต่ไม่ได้สอนทักษะใดๆ ให้กับเด็กๆ เลย จึงทำให้พวกเขาไม่รู้ว่าพฤติกรรมที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นนั้นคืออะไร พวกเขาจึงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นซ้ำๆ อีก
และ เมื่อถูกห้ามบ่อยๆ ก็จะเกิดความกลัว และขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งๆ ที่สมองเขาทั้งใสและว่างเปล่า พร้อมที่จะเรียนรู้ แต่เราเองกลับไปใส่ประสบการณ์ที่ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ของเขา ดั่งใส่ก้อนกรวดลงในโหลใสจนทำให้โหลใสดูหมองหม่น
ครูหม่อม, ครู ใหม่ เริ่มนำวิธีการสร้างวินัยเชิงบวกของ ดร.เคอซีย์ มาใช้อย่างจริงจังมากขึ้น แล้วสังเกตพบว่าพฤติกรรมการตอบสนองของลูกศิษย์เรานั้นพัฒนาดีขึ้นมากเพียงแค่เราเปลี่ยนวิธีการสอนนิดหน่อยเท่านั้น
เช่นวันหนึ่ง ครูหม่อมเคยบอกลูกศิษย์วัย 2 ขวบครึ่ง ที่กำลังนั่งยองๆ บนเก้าอี้ว่า
" อย่านั่งอย่างนั้นนะคะ...เดี๋ยวตกเก้าอี้" เมื่อสิ้นเสียงครูหม่อม หนูน้อยคนนั้นก็รีบเปลี่ยนท่าจากนั่งยองๆ ไปนั่งบนพนักเก้าอี้ทันทีทำให้ครูหม่อมตกใจ แล้วพูดคำว่า "อย่านั่งอย่างนั้น!!!" เสียงดังกว่าเดิมจนหนูน้อยคนนั้นตกใจ จนตกเก้าอี้ไปเลย!!!!
เห็นไหมคะว่าหนูน้อยพยายามทำตามที่เราบอกว่าอย่านั่งอย่างนั้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องนั่งอย่างไรให้เหมาะสม
ครูหม่อมจึงนำหลักการทำให้เป็นเรื่องง่าย (Keep It Simple Principle) มาใช้หลักการนี้ก็คือ การอธิบายกับเด็กแบบเรียบง่ายว่า พฤติกรรมที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นคืออะไร? และให้เวลากับเด็กได้แก้ไขพฤติกรรมของตัวเอง เช่น "วิธีนั่งเก้าอี้ในห้องครูหม่อม คือ ก้นติดเก้าอี้? หลังติดพนัก เท้าติดพื้นค่ะ"
ทุกครั้งที่พูด เด็กๆ จะทำตามทันที และครูหม่อมก็สามารถเริ่มต้นทำกิจกรรมกับเด็กๆ ได้เลย โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาการสอนทำให้เด็กๆ ได้เรียนเต็มที่ และก็ไม่มีใครตกเก้าอี้อีกด้วย!
และมีอีกหลายโอกาสที่ใช้หลักการนี้บ่อยๆ เช่น "ดินสอมีไว้เขียนค่ะ"
แทนการพูดว่า "อย่าเคาะดินสอ!" "เราเดินในห้องค่ะ"
แทนการพูดว่า "อย่าวิ่ง!" "ปากมีไว้พูดค่ะ" แทนการพูดว่า "อย่ากัด!"
วันที่ครูใหม่เคยได้ก้อนกรวดสีดำมากมายเป็นวันที่ครูใหม่คอยระแวดระวังหนูน้อยคนหนึ่งไม่ให้กัดเพื่อน ครูใหม่พูดคำว่า
"อย่าค่ะ!"
"ไม่กัดเพื่อนค่ะ!" ทั้งวัน? บางครั้งครูใหม่ยืนอยู่ไกลจึงเข้าไปแยกหนูน้อยคนนั้นไม่ให้กัดเพื่อนไม่ทัน
ครูใหม่จึงนำหลักการเบี่ยงเบนกิจกรรม (Incompatible Alternative Principle) ไปใช้หลักการนี้คือ การที่เราเสนอกิจกรรมอย่างหนึ่งให้เด็กทำแทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อที่เด็กจะได้ไม่สามารถทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นต่อไปได้
เวลาที่ครูใหม่ยืนอยู่ไกล และว่าเห็นหนูน้อยคนนี้กำลังจะอ้าปากกัดเพื่อน ครูใหม่ก็จะรีบเรียกชื่อหนูน้อยคนนั้น แล้วพูดว่า "ส่งจูบให้ครูใหม่หน่อยค่ะ" หนูน้อยหันมาส่งจูบแล้วลืมที่จะกัดเพื่อนไปเลย? และระหว่างที่หนูน้อยหันมาส่งจูบ ครูใหม่ก็มีเวลาพอที่จะรีบเดินไปกอดหนูน้อยไว้ไม่ให้หันไปกัดเพื่อนได้อีกด้วย? จะเห็นได้ว่าหนูน้อยคนนั้นไม่สามารถส่งจูบ และกัดเพื่อนได้ในเวลาเดียวกัน
พี่ๆ เรานำหลักการนี้ไปใช้กับลูกๆ แล้วได้ผลเช่นกัน เช่น ให้ลูกป้อนขนมปัง แทนการตักอาหารใส่แก้วน้ำ ให้ลูกนั่งระบายสีระหว่างที่ทำความสะอาดเศษแก้วเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเดินไปบริเวณที่มีแก้วแตก เป็นต้น
หลังจากนั้นไม่นาน ดร.เคอซีย์ กลับมาขอโหลใสกลับคืนไป พร้อมกับบอกว่าเราสองคนคงไม่ต้องการโหลใสอีกแล้ว เพราะเขาเห็นโหลใสๆ นั่งเล่นอยู่เต็มห้องนี้เต็มเลย ก่อนเดินจากไปยังแอบเตือนพวกเราอีกว่า เขาดีใจที่เราจะไม่ใช้ก้อนกรวดสีดำฟุ่มเฟือยอีกต่อไป
คำของ ดร.เคอซีย์ คอยเตือนสติพวกเราจนทุกวันนี้ว่า "อย่า ห้ามเด็ก ฟุ่มเฟือย!"
Comment
© 2024 Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก. Powered by
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้