เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

สอนลูกเองก็ได้...ง่ายจัง14 : เล่านิทานวันละห้านาที สมองดีตลอดชีวิต

ฉิก : หวัดดีครับ มาเจอกันอีกแล้ว วันนี้เรามาคุยกันเรื่องอะไรดีนะ

ป้อม : อืมมมมมม...เรามาเล่านิทานกันดีมั้ยครับ

ฉิก : (เอ๋...จะมามุกไหนกันล่ะเนี่ย)

คือแบบว่าเรากำลังคุยกันเรื่องสอนลูกไม่ใช่เหรอครับ แล้วจะมาเล่านิทานอะไรกันตอนนี้ล่ะ

ป้อม : คือผมจะเล่านิทานที่เกี่ยวกับนิทานให้ฟัง เป็นไงล่ะ....งงอ่ะดิ เอาน่า...ลองฟังดูก่อน





กาลครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้
ผมไปได้ยินใครบางคนบอกผมเกี่ยวกับนิทาน และ ผู้หญิงเอาไว้ว่า

เมื่อคุณอยู่กับเด็กหญิงอายุ 8 ปี คุณจะพาเธอเข้านอนและกล่อมให้เธอหลับด้วยนิทาน

เมื่อคุณอยู่กับเด็กสาวอายุ 18 ปี คุณจะเล่านิทานหลอกเด็กให้เธอฟังและพาเธอขึ้นเตียง

เมื่อคุณอยู่กับหญิงมั่นอายุ 28 ปี คุณไม่จำเป็นต้องแต่งนิทานหลอกเด็กแล้ว พาเธอขึ้นเตียงได้เลย

เมื่อคุณอยู่กับหญิงโสดอายุ 38 ปี เธอจะเล่านิทานให้คุณฟังและพาคุณขึ้นเตียงเอง

เมื่อคุณอยู่กับสาวใหญ่วัยอายุ 48 ปี คุณจะพยายามจะเล่านิทานให้เธอฟัง เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะขึ้นเตียง

เมื่อคุณอยู่กับคุณน้าอายุ 58 ปี คุณจะแกล้งนอนหลับอยู่บนเตียง เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะฟังนิทานของเธอ

และ เมื่อคุณอยู่กับคุณยายอายุ 68 ปี ถ้าคุณกล้าพาเธอขึ้นเตียง คุณก็จะกลายเป็นนิทานเรื่องใหม่แน่ๆ !!!!!!!!




ฉิก : นิทานบ้าอะไรกันเนี่ย "เสื่อม"จริงๆเลย อุบาทว์ ลามกจกเปรต รับม่ายด้ายยยยย

ว่าแต่ว่า พอฟังเรื่องเมื่อกี๊แล้ว ผมสงสัยจังว่าคุณป้อมเป็นประเภทชอบเล่า หรือ ชอบฟังนิทานกันแน่ครับ

ป้อม : ผมก็ชอบทั้งสองอย่างแหล่ะครับ อุ๊บส์!!!!!

ฉิก : ฮั่นแน่!!!!! เดี๋ยวก็ฟ้องคุณนายจอมซะหรอก

ป้อม : เฮ้ยๆๆๆๆๆ จะบ้าเหรอ มัวแต่คิด...อกุศลอยู่เรื่อย ผมหมายถึงผมชอบเล่านิทานให้ลูกๆฟัง และ บางทีก็ฟังแม่เขาเล่าให้ลูกๆฟังต่างหากล่ะ








เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า มีพ่อแม่บางคนบอกผมว่า ไม่รู้จะเริ่มต้นสอนลูกยังไงดี มันไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ผมเลยรีบบอกไปว่า ก็ลองเริ่มจากการ "เล่านิทาน" ให้ลูกฟังดูก่อนซิครับ เพราะ เป็นอะไรที่มันง่าย และ ได้ผลทันตาเห็น แถมยังช่วยเพิ่มความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวได้เป็นอย่างดีเลย

ช่วงเวลาในการเล่านิทานเนี่ย ผมถือว่าเป็นช่วงเวลาพิเศษ(Special time) ที่ทุกครอบครัวควรมีเป็นอย่างยิ่งเลยนะครับ ลูกๆผมเองก็ยังชอบให้ผมกับคุณแม่เค้าอ่านนิทานให้ฟังทุกคืน แม้กระทั่งทุกวันนี้ที่เขาอ่านหนังสือเองได้ก็ตามที ถือเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวเรามีความสุขมากครับ

คุณรู้มั้ยว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยอดนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะของโลก ยังเคยบอกไว้เลยว่า ถ้าต้องการให้เด็กฉลาด ก็ต้องเล่านิทานให้เด็กฟัง

ผมขอถามคุณดูว่า ถ้าต้องการให้เด็กฉลาดมากยิ่งขึ้น ต้องทำยังไง

ฉิก : ก็ต้องเล่านิทานให้มากๆ และ หลายๆเรื่องใช่มั้ยครับ

ป้อม : ถูกต้องนะคร้าบบบบบบ

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยข้อดีของการกล่อมลูกด้วยนิทาน ของอาจารย์ไพรัตน์ อยู่สมบูรณ์ จากโรงเรียนวัดบางปะกอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับรางวัลจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บอกไว้ว่า การที่เด็กเล็กๆได้ฟังนิทานสอนใจช่วงก่อนนอน เป็นประจำ เป็นวิธีปลูกฝังความเป็นคนดีและคนเก่งอย่างได้ผล ทั้งยังเป็น การส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เล็กๆอีกด้วย

จูน แฟคเตอร์ นักเขียนวรรณกรรมเด็กชื่อดัง บอกว่า การเล่านิทานเป็นการช่วยให้เด็กรู้จักโลกโดยไม่ต้องทรมานมากนัก เพราะชีวิตคนเรามักจะมีอุปสรรค นิทานช่วยให้เด็กมีความหวัง หวังว่าดีขึ้น มีความสุขขึ้น นิทานยังช่วยทำให้ครอบครัวได้สนิทสนมกัน เพราะการเล่านิทานต้องมีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เด็กมักจะนั่งอยู่บนตักผู้เล่า เป็นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่อบอุ่น

แคทเธอลีน กริฟฟิธ อาจารย์ด้านวรรณกรรมเด็กในมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เชื่อว่า นิทานคือการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง เพราะเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นข้อเท็จจริงทั่วๆไปเกี่ยวกับเด็กและผู้ใหญ่ทุกระดับ จะมีอะไรมหัศจรรย์เพิ่มเข้ามาบ้างก็เพื่อความสนุกขึ้น นิทานช่วยให้เด็กมีประสบการณ์เรื่องรัก เกลียด อิจฉา อาฆาต ความดี ความชั่ว ผู้ร้าย ผู้ดี เป็นต้น ขอแค่เรารู้จักเลือกเรื่องราวมาเล่าให้เด็กฟังแบบสร้างสรรค์ จะช่วยให้เด็กมีความคิดความอ่านดีขึ้น การใช้สัตว์เป็นตัวเอกจะทำให้เด็กสนใจและติดตามมากกว่าใช้อย่างอื่น

รศ.สุพัตรา สุภาพ เขียนไว้ในนิตยสารแม่และเด็ก ฉบับเดือน พฤษภาคม 2541 ว่า ใครที่ยังไม่เล่านิทานให้เด็กฟังก็ควรเล่าได้แล้ว ถ้าอยากให้เด็กรู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักอะไรถูกอะไรควร และยังทำให้แกมีความสุขสนุกสนานได้จินตนาการตาม ทั้งยังมีวีรบุรุษในดวงใจไว้เป็นแบบ เช่น อยากช่วยเหลือคนเหมือนโรบินฮู้ด อยากปราบผู้ร้ายเหมือนซูเปอร์แมนหรือมนุษย์ค้างคาว อยากเป็นอิกคิวซังที่ฉลาดและชอบช่วยคน นิทานยังสอนคุณธรรมหลายอย่าง เช่น ทำดีจะได้ดี ทำชั่วจะได้รับการลงโทษ ถ้าทำตัวไม่ดีก็จะถูกคนรังเกียจ ถ้ามีเป้าหมายก็สำเร็จได้ ตัวเล็กตัวใหญ่ไม่สำคัญ ถ้าตั้งใจอาจได้ดังได้ดังใจหมาย การยึดสิ่งดีๆเป็นแนวทางจะช่วยให้เด็กทำตัวดีได้ต่อไป






ฉิก : โอ้ววววว นิทานนี่ดีแบบที่เรา"เข็มขัดสั้น"ไปเลยนะครับ

ป้อม : อะไรของคุณเนี่ย เข็มขัดสั้น?????

ฉิก : อ้าว เข็มขัดสั้นก้อ...คาดไม่ถึงไงล่ะครับ



ป้อม : พอๆๆๆๆ จะตลกคาเฟ่ไปถึงไหนกัน

มาต่อกันดีกว่า คุณรู้มั้ยว่าเด็กได้อะไรจากการเล่านิทานอ่านหนังสือให้ฟังบ้าง นอกจากความรักความอบอุ่นที่จะเกิดขึ้นกับเด็กแล้ว เด็กจะได้รับประสบการณ์การอ่านเพิ่มขึ้นจากการฟัง และจากการใช้สายตาดูภาพ

ภาษา – หนังสือภาพเปรียบเสมือนคลังภาษาสำหรับเด็ก เด็กจะเรียนรู้ภาษาจากประสาทสัมผัสทางหู เด็กที่ฟังบ่อย ๆ จะเก็บสิ่งที่ได้ไว้ในสมอง เด็กจะมีคำศัพท์เพิ่มขึ้นกว่าเด็กปกติที่ไม่มีการอ่านหนังสือให้ฟัง ภาษาเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่เด็กนำไปใช้สื่อสารต่อไป และภาษายังเป็นเครื่องมือให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งรอบตัวมากยิ่งขึ้น

จินตนาการ – หนังสือภาพเป็นเรื่องเล่าที่สนุกให้เด็กได้จินตนาการและได้คิดตาม การได้ฟังบ่อย ๆ จะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้จินตนาการ

จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการสร้างสรรค์ทุกอย่างเกิดจากภาพจินตนาการผุดขึ้นมาก่อนนำไปสู่การคิดหาข้อเท็จจริง และ ช่วยให้เด็กฝึกคิดแก้ปัญหาต่างๆได้ง่ายขึ้นอีกด้วย นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง “ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ” ยังให้การยอมรับว่าเขาอาศัยจินตนาการในการช่วยสร้างภาพมิติต่างๆ จนเขาสามารถคิดทฤษฎีที่มีมนุษย์ไม่กี่คนในสมัยนั้นเข้าใจ ดังวาทะของเขาที่ได้รับการกล่าวอ้างเสมอ “ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ ”

สัญลักษณ์ – นักการศึกษาหลายท่านเชื่อว่าเด็กเรียนรู้จากการจดจำสัญลักษณ์ เด็กจะจดจำบางสิ่งได้จากการเห็นบ่อยๆ เช่น มะม่วง เด็กจะไม่รู้ความหมายว่าเป็นมะม่วง แต่เด็กเห็นรูปลักษณ์และได้ฟังเสียงคำว่ามะม่วง หรือเลขแปดมีลักษณะคล้ายปลา เมื่อบอกเด็กว่าแปดเหมือนปลา เด็ก ๆ ก็จะนึกภาพปลาก่อนจากนั้นก็เชื่อมโยงเป็นเลขแปด

หนังสือภาพหลายเล่มพยายามที่จะเน้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้เด็กจดจำได้ง่ายโดยเฉพาะการใช้สัญลักษณ์แทนตัวเลขและแทนอักษร จะช่วยให้เด็กเชื่อมโยงเกิดความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น







ความคิด – สมองของเด็กจะถูกกระตุ้นให้คิดและเรียนรู้ตลอดเวลาจากการที่เราอ่านหนังสือให้ฟัง จากการสัมผัสหรือจากการที่เด็ก ๆ เห็นรูปและได้ฟัง ก็จะเกิดความอยากรู้อยากเห็น เด็ก ๆ จะคิดและจินตนาการตามไปด้วย การคิดบ่อย ๆ เซลล์สมองยิ่งแตกแขนงออกไปมาก ยิ่งมากยิ่งเกิดความฉลาดกับเด็ก

สมาธิ – จากการทดลองกับเด็กในหลาย ๆ รุ่นโดยเฉพาะเด็กที่เข้าร่วมอยู่ในโครงการต่าง ๆ ของสมาคมไทสร้างสรรค์ จะพบว่าเด็กที่คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูอ่านหนังสือให้ฟังอยู่เสมอในช่วงเวลา 1 ปี จะมีสมาธิเพิ่มขึ้นกว่าเด็กปกติร้อยละ 20 ขึ้นไป กล่าวคือเด็กที่ได้ฟังการอ่านหนังสืออยู่บ่อย ๆ จะมีสมาธิทำกิจกรรมใด ๆ ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และจะมีความสนใจจดจ่อกับสิ่งนั้น เช่นนี้แล้วหนังสือภาพนอกจากจะเป็นเครื่องมือชิ้นเยี่ยมที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสติปัญญาแก่เด็กแล้ว การอ่านหนังสือภาพให้เด็กฟังยังช่วยให้เด็กเรียนรู้การอ่าน ปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของการอ่าน ที่สำคัญหนังสือภาพยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ในอ้อมกอดของพ่อแม่ที่ชี้ชวนและเล่าเรื่องราวในแต่ละหน้า เด็กได้มองภาพ ได้ฟังเสียงพ่อแม่เล่าเรื่อง เกิดการคิดและจินตนาการตาม ไม่เพียงจะกระตุ้นเซลล์สมอง หากสัมผัสแห่งการโอบกอดที่เด็กได้รับ ยังอบอวลด้วยความรัก สร้างความอบอุ่นทางใจแก่เด็กด้วยเช่นกัน








ฉิก : แล้วเราพอจะมีหลักในการเลือกนิทานให้ลูกยังไงบ้างครับ

ป้อม : หลักการเลือกนิทานที่เหมาะกับเด็กปฐมวัยมีดังนี้ครับ

• เหมาะสมกับวัย : เด็กในแต่ละวัยจะมีความสนใจฟังเรื่องราวต่างๆ แตกต่างกันไปตามความสามารถในการรับรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับ นิทานที่เหมาะสมกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรเป็นหนังสือภาพ สมุดภาพ หนังสือภาพผสมคำ นิทานที่มีบทร้อยกรอง ในขณะที่นิทานที่เหมาะกับเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ควรเป็นนิทานที่มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับธรรมชาติ นิทานเรื่องเล่าที่ให้ข้อคิด

• ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ : การเลือกหนังสือต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ ในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กด้วย เช่น สอนให้รู้จักคำเรียกชื่อสิ่งของต่างๆ เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกพัฒนาความคิด จินตนาการ ให้ความรู้สึกที่ดีต่อเด็ก มีความตลกขบขันให้ความสนุกสนาน ช่วยแก้ปัญหาให้กับตัวเด็ก เมื่อเปรียบเทียบตนเองกับตัวละคร เป็นต้น การอ่านเรื่องราว หรือเนื้อหาทั้งเล่มก่อนตัดสินใจเลือก จึงเป็นสิ่งสำคัญ

• เนื้อหาและลักษณะรูปเล่ม : นิทานหรือหนังสือที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยควรเป็นเรื่องสั้นๆง่ายๆ และไม่ซับซ้อน มีจุดเด่นของเนื่องจุดเดียว เด็กดูภาพหรือฟังเรื่องราวเข้าใจได้ และสนุกสนาน มีเนื้อเรื่องที่ชัดเจน ชวนติดตาม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเด็ก และใกล้ชิดตัวเด็ก หรือธรรมชาติแวดล้อม ไม่มีการบรรยายเนื้อเรื่อง ควรมีลักษณะเป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละคร ใช้ภาษาที่ถูกต้อง ง่ายต่อความเข้าใจของเด็ก ตัวอักษรมีขนาดใหญ่ ใช้สีเข้มอ่านได้ชัดเจน มีภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เป็นภาพที่มีสีสันสวยงามมีชีวิตชีวา ส่วนใหญ่จะเป็นภาพเขียนหรือวาดมากกว่าภาพถ่าย มีรูปเล่มที่แข็งแรงทนทาน ขนาดพอเหมาะกับมือเด็ก ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมเสมอไป และมีจำนวนหน้าประมาณ 10-20 หน้า








ฉิก : ลองยกตัวอย่างนิทานที่เหมาะกับเด็กๆให้ดูเป็นตัวอย่างมั่งสิครับ

ป้อม : ได้เลยครับ

เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
- นิทานที่เหมาะสมในวัยนี้ ควรเป็นหนังสือภาพที่เป็นภาพเหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวัน และเขียนเหมือนภาพของจริง มีสีสวยงาม ขนาดใหญ่ชัดเจน เป็นภาพเดี่ยวๆที่มีชีวิตชีวา ไม่ควรมีภาพหลัง หรือส่วนประกอบภาพที่รกรุงรัง รูปเล่มอาจทำด้วยผ้าหรือพลาสติก หนานุ่มให้เด็กหยิบเล่นได้

เวลาเด็กดูหนังสือภาพ พ่อแม่ควรชี้ชวนให้ดูด้วยความรัก เด็กจะตอบสนองความรักของพ่อแม่ด้วยการแสดงความพอใจ ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและหนังสือภาพจึงส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกด้วย





เด็กอายุ 2 - 3 ปี
- เด็กแต่ละคนจะเริ่มชอบต่างกัน แล้วแต่สภาพแวดล้อมที่ถูกเลี้ยงดู การเลือกหนังสือนิทานที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ควรเป็นหนังสือนิทาน หรือหนังสือภาพที่เด็กสนใจ ไม่ควรบังคับให้เด็กดูแต่หนังสือที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน

หนังสือที่เหมาะสมควรเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ สิ่งของ เด็กเล็กในช่วงนี้ มีประสาทสัมผัสทางหูดีมาก หากมีประสบการณ์ด้านภาษา และเสียงที่ดีในวัยนี้ เด็กจะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านภาษาและดนตรีได้ดี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2 - 4 ปี เด็กมีความสนใจเสียงและภาษาที่มีจังหวะ เด็กบางคนจำหนังสือที่ชอบได้ทั้งเล่ม จำได้ทุกหน้า ทุกตัวอักษร เหมือนอ่านหนังสือออก





เด็กอายุ 3 ปี มีจินตนาการสร้างสรรค์ อยากรู้อยากเห็น เข้าใจเรื่องเล่าง่ายๆ ชอบเรื่องซ้ำไปซ้ำมา ดังนั้น หากเด็กมีประสบการณ์ที่ดีในช่วงเวลานี้ จะเป็นพื้นฐานในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ของเด็กในอนาคต

เด็กอายุ 4 - 5 ปี เด็กวัยนี้มีจินตนาการสร้างสรรค์ อยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวเกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมว่าสิ่งนี้มาจากไหน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เริ่มเข้าใจความแตกต่างระหว่างความจริงกับเรื่องสมมุติ นิทานที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ควรเป็นนิทานที่เป็นเรื่องที่ยาวขึ้น แต่เข้าใจง่าย ส่งเสริมจินตนาการ และอิงความจริงอยู่บ้าง เนื้อเรื่องสนุกสนานน่าติดตาม มีภาพประกอบที่มีสีสันสดใสสวยงาม มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องไม่มากเกินไป และมีขนาดใหญ่พอสมควร ใช้ภาษาง่ายๆ







การอ่านนิทานให้เด็กฟัง พร้อมกับชี้ชวนให้เด็กดูภาพ ในหนังสือประกอบ จะเป็นการสร้างจินตนาการ สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของพลังเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ

หากเด็กพบว่าเด็กชอบหนังสือเล่มใดเป็นพิเศษ ก็จะให้พ่อแม่อ่านซ้ำไปมาทุกวันไม่เบื่อ ดังนั้นพ่อแม่ควรอดทนเพื่อลูก เด็กบางคนจำข้อความในหนังสือได้ทุกคำ แม้ว่าจะมีคำบรรยายยาวได้ทั้งเล่ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก







ฉิก : แล้วเราพอจะมีเทคนิคในการอ่านนิทานให้ลูกฟังยังไงบ้างครับ

ป้อม : เทคนิคการอ่านหนังสือให้เด็กฟังไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเลยครับ

1. การเล่าเรื่องปากเปล่า โดยไม่มีอุปกรณ์ เป็นการเล่านิทานด้วยการบอกเล่าด้วยน้ำเสียงและลีลาของผู้เล่าเอง

• อุ้มเด็กวางบนตัก โอบกอดเด็กขณะเล่า หรือถ้าเล่าให้เด็กหลายคนฟัง อาจจะนั่งเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสายตาเด็ก

• การขึ้นต้นเรื่องที่จะเล่า ควรดึงดูดความสนใจเด็ก โดยค่อยเริ่มเล่าด้วยเสียงชัดเจน ลีลาของการเล่าช้าๆ และเริ่มเร็วขึ้น จนเป็นการเล่าด้วยจังหวะปกติ

• เสียงที่ใช้ควรดัง และเป็นประโยคสั้นๆได้ใจความ การเล่าดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่ควรเว้นจังหวะการเล่านิทานให้นาน จะทำให้เด็กเบื่อ อีกทั้งไม่ควรมีคำถาม หรือคำพูดอื่นๆที่เป็นการขัดจังหวะ ทำให้เด็กหมดสนุก

• ควรอ่านด้วยน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ มีชีวิตชีวา เหมือนกับตัวละครมากที่สุด การดัดเสียง หากทำให้อักขระผิดเพี้ยนไปก็ไม่ควรดัดเสียง เพราะเด็กจะไม่ได้รับประโยชน์ และผู้อ่านหนังสือจะเบื่อเสียเอง การใช้น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง แสดงให้สอดคล้องกับลักษณะของตัวละคร ไม่ควรพูดเนือยๆ เรื่อยๆ เพราะทำให้ขาดความตื่นเต้น

• การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ควรอ่านให้เนื้อเรื่องติดต่อกันไปตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ควรหยุดเพื่ออธิบายหรือสอนอะไรมาก เพราะเด็กจะเกิดความเบื่อหน่าย และไม่มีสมาธิต่อเนื่อง และ ใช้เวลาในการเล่าไม่ควรเกิน 15 นาที เพราะเด็กมีความสนใจในช่วงเวลาสั้น

• ให้โอกาสเด็กซักถาม แสดงความคิดเห็น





2. การเล่าเรื่องโดยมีอุปกรณ์ช่วย อาจจะเป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เช่น วัสดุเหลือใช้อย่าง กล่องกระดาษ กิ่งไม้, ภาพ อาจจะเป็นภาพพลิก หรือภาพแผ่นเดียว , หุ่นจำลอง ทำเป็นละครหุ่นมือ, หน้ากากทำเป็นรูปละคร ,นิ้วมือประกอบการเล่าเรื่อง



ฉิก : แล้วเวลาที่เหมาะสมในการเล่านิทานล่ะครับ

ป้อม : ผมว่าช่วงก่อนนอนนี่แหล่ะ เพราะ เป็นช่วงที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้ผ่อนคลายที่สุด ไม่ต้องรีบเร่ง และ ถ้าง่วงๆก็จะได้หลับไปเลย อันนี้ยังสามารถนำไปใช้ได้กับเด็กที่นอนยากได้อีกด้วย เป็นตัวที่ได้ผลดีมาก ขนาดผมเองที่เป็นคนเล่า ยังเผลอหลับก่อนลูกทู้กกกกที







นอกจากนี้นิทานยังสามารถเอามาใช้สอนเด็กในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างได้อีกด้วย เช่น ถ้าพี่น้องทะเลาะกัน เราก็เล่านิทาน "เสือสองพี่น้อง" (สอนให้รักกัน)

ถ้ากินขนมไม่ยอมแบ่งกัน ก็ลองเล่านิทาน "แม่นกกระจาบจอมตะกละ" (สอนให้แบ่งปัน)

ถ้าลูกไม่ยอมแปรงฟังตอนเช้า ก็เล่านิทาน " เจ้านกขุนทองปากเหม็น" (สอนให้แปรงฟันตอนเช้า)

ถ้าลูกดูโทรทัศน์ไม่ยอมเลิก ให้เล่านิทาน "เจ้าอีกาตาบอด " (สอนให้ดูโทรทัศน์เป็นเวลา)

ถ้าลูกชอบกินขนมจุบจิบไม่หยุดปาก เราก็เล่านิทาน "หมูน้อยกับยักษ์" (สอนให้รับประทานเป็นเวลา) เป็นต้น



ฉิก : นิทานนี่ดีจริงๆเลยครับ ไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว ยังมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของลูกๆเรามากมายเลย คืนนี้ก็อย่าลืมนะครับ ลองกลับไปเล่านิทานให้ลูกๆของเราฟังกันซักหน่อย หวัดดีครับ






และแล้ว... เจ้าชายและเจ้าหญิงก็ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป
...and then they lived happily ever after.







pomjom.bloggang.com
Create Date : 03 มีนาคม 2552

Views: 358

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service