เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

"เล่านิทาน" ท่าไหน...ดึงใจเด็กให้นั่งฟัง?

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 พฤษภาคม 2552 09:28 น.

คงไม่มีใคร ปฏิเสธว่า "นิทาน" เป็นสิ่งที่ผู้เขียน คิด และถ่ายทอดจินตนาการออกมาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เป็นเรื่องราวที่แฝงแง่คิด และสามารถบำบัดพฤติกรรมให้กับเด็กได้อย่างแยบยล ทำให้ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และสถาบันครอบครัว หรือหน่วยงานอื่นๆ ต่างให้ความสำคัญกับหนังสือนิทานกันมากขึ้น

แต่การจะใช้นิทาน 1 เล่ม ให้คุ้มค่า และเกิดประสิทธิผลในเด็กแต่ละคนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องเตรียมตัว และทำความเข้าใจกับเรื่องให้ชัดเจน นอกจากนี้ขณะเล่ายังต้องใช้ท่าทางประกอบให้เหมาะสมอีกด้วย เพราะมีส่วนในการตัดสินว่า เด็กสนใจหรือไม่สนใจ เบื่อหรือไม่เบื่อ และจะติดตามฟังกระทั่งนิทานจบหรือไม่

ทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ ทางทีมงาน Life and Family ได้มีโอกาสไปนั่งฟัง "อ.มู-ชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์" บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Hello Kids และนักเขียน-เล่านิทานเด็ก ในหัวข้อ "ใช้นิทานอย่างไรให้คุ้มค่า" ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด จึงได้เก็บตกสาระ และนำมาส่งต่อให้ได้อ่านกันครับ

"พี่มู-ชัยฤทธิ์" ของเด็กๆ บอกว่า นิทานมีความพิเศษ สามารถเชื่อมโยง หรือบูรณาการการสอนได้หลายแขนงวิชา ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ อาทิ สอนให้ลูกนับจำนวนตัวละครที่อยู่ในนิทาน หรือเวลาพลิกเปิดไปอีกหน้า ก็สามารถบอกลูกได้ว่า หน้านี้เป็นหน้าที่เท่าไหร่ หรือวิชาภาษาไทย เป็นการเพิ่มคำศัพท์ให้ลูก มีประโยชน์ในเรื่องการสื่อสาร หรือการเน้นคำคล้องจอง ทำให้เด็กจำคำศัพท์ และมีคลังศัพท์ไว้สื่อสารมากขึ้น

โอบลูก-เล่านิทานบนตักคุณแม่-ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

สำหรับ "ท่า" หรือ ลักษณะที่ใช้เล่านิทานที่ดี "พี่มู" ให้คำแนะนำตามประสบการณ์ว่า ท่าที่เหมาะสมสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ต้องเป็นท่าที่อุ้มลูกนั่งบนตัก เพราะลูกจะเห็นภาพเหมือนกันกับที่พ่อแม่กำลังเล่า ถ้านั่งตรงกันข้ามกับเด็ก อาจทำให้เขาเกิดความสับสนได้ว่า "เอ๊ะ ไหนแม่บอกไก่อยู่ทางขวามือ แต่หนูเห็นอยู่ทางซ้ายมือนะ" เป็นต้น

" นอกจากท่าอุ้มตักจะช่วยให้เข้าใจเรื่องได้ตรงกันแล้ว ยังเกิดความอบอุ่น และสายใยแห่งรักระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย นี่คือความมหัศจรรย์ของนิทาน" พี่มูบอกถึงประโยชน์ของนิทาน

อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกเล็กอายุใกล้เคียงกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป หรือโรงเรียนอนุบาล ที่ต้องควบคุมเด็กจำนวนมาก การใช้ท่าแบบนั่งตักในการเล่านิทานคงจะไม่สะดวกนัก "พี่มู" จึงแนะนำท่าที่เหมาะสมในการเล่านิทานตามแบบฉบับของพี่เขา ดังนี้

- ขณะเล่า ควร ตั้งนิทานให้ขนาบอยู่บนใบหน้า (แต่อย่าบังหน้า) แล้วกระจายไปให้ทั่ว เพื่อให้เด็กได้เห็นเท่าเทียมกันหมด จากนั้นชี้นิ้วตามคำไปด้วย จุดนี้มีความสำคัญมากในการจดจำคำศัพท์ของเด็ก เช่น ผู้เล่าชี้นิ้วไปที่คำว่า "โอ่ง" เด็กก็จะรู้ว่า "อ๋อ โอ่งเขียนแบบนี้" เพราะจากประสบการณ์ ผู้เล่ามักจะเล่า และอ่านให้เด็กฟังเพียงอย่างเดียว โดยไม่ชี้นิ้วตาม ทำให้เด็กเข้าใจ และจินตนาการว่านั่นคือ โอ่ง แต่จะเขียนคำว่าโอ่งไม่เป็น

- ถ้า เด็กนั่งเก้าอี้ ต้องกะระยะในการยืนให้เหมาะสม หรือถ้าเด็กนั่งพื้น ผู้เล่าต้องมีจังหวะในการเดินเข้าออกในมุมมองที่พอดี และอย่าลืมเด็กด้านซ้าย-ขวาด้วย ไม่ใช่สนใจแต่เด็กที่นั่งอยู่ตรงกลางเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น สายตาจึงสำคัญ

เด็ก ๆนั่งฟังนิทานกันอย่างตั้งใจ
*** สำหรับท่าที่ไม่ควรใช้เล่านิทาน ต่อเด็กจำนวนมาก คือ ไม่ควรชูนิทานขึ้นเหนือใบหน้ามากเกินไป เพราะเข้าใจว่าจะทำให้เด็กเห็นได้ทั่วถึง แต่นั่นอาจจะทำให้เด็กเริ่มลดความสนใจลงได้ เนื่องจากเมื่อยคอดูนิทานในมือคนเล่าแล้ว

*** ท่าที่สองคือ เอานิทานไว้ตรงท้อง นั่นจะทำให้ผู้เล่า อ่านตัวอักษรในนิทานไม่สะดวก เพราะต้องก้มลงมาอ่าน รวมถึงลดความสนใจกับเด็ก ทำให้เด็กเริ่มรู้สึกว่า พ่อแม่ หรือครูไม่สนใจเขา และการคุยนอกเรื่องของเด็กจะตามมา

ก่อนจะแยกย้ายกลับบ้าน "พี่มู" ได้ฝากเคล็ดลับ "การใช้นิทานสำหรับเด็กปฐมวัย" ให้คุ้มค่ากับทีมงาน Life and Family ไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

1. พ่อแม่หรือคุณครูต้องเตรียมอ่านนิทานมาก่อน เพื่อเข้าใจเนื้อเรื่อง และควรฝึกอ่านออกเสียงด้วยตัวเอง

2. แนะนำหนังสือ อ่านชื่อเรื่อง ผู้แต่ง ผู้แปล และผู้วาดภาพ ประกอบให้เด็กๆ รู้จัก เพื่อให้เด็กรู้จักลิขสิทธิ์ในการทำนิทาน ว่านิทานแต่ละเรื่องมีเจ้าของ ตลอดจนองค์ประกอบของหนังสือ ว่าแต่ละส่วนมีอะไรบ้าง เช่น "นี่ปกหน้านะลูก นี่สันหนังสือนะจ๊ะ" เป็นต้น

3. ใช้น้ำเสียงที่น่าฟัง ออกเสียงถูกต้อง ชัดเจนเป็นธรรมชาติ ไม่ทำเสียงสูง หรือต่ำจนเกินไป เพราะจะทำให้เหนื่อย หรือควบคุมเสียงได้ไม่เหมือนเดิม ทำให้เด็กเกิดความสับสนว่า "ตัวละครตัวไหน เป็นตัวไหนกันแน่"

4. บางครั้งระหว่างการอ่าน อาจมีการหยุดสอดแทรกคำถามด้วยจะดึงดูดเด็กได้มาก เช่น คำถามระหว่างการเล่านิทาน และคำถามหลังการเล่านิทาน การใช้คำถามต้องเป็นคำถามปลายเปิด แต่ต้องพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม

จะ เห็นได้ว่า การใช้นิทาน 1 เล่มให้คุ้มค่า นอกจากจะเตรียมตัวมาดีแล้ว คนเล่าจะต้องมีท่าในการเล่านิทานอย่างเหมาะสมด้วย จึงจะดึงความสนใจในการฟังนิทานของเด็กได้ดีขึ้นตามไปด้วย ทางทีมงานขอสนับสนุนให้ทุกครอบครัวรักการอ่านนะครับ

Views: 1607

Reply to This

Replies to This Discussion

ต่อยอดจากกระทู้ของคุณพงษ์ระพีค่ะ
http://go2pasa.ning.com/forum/topics/2456660:Topic:31355
ขอบคุณนะคะ คุณแพท ได้แนวในการเล่านิทานให้น้องเคทฟังแล้วล่ะคะ ปกติเขาไม่ค่อยนั่งนิ่งๆฟังนิทานเลย...ยากค่ะ กว่าจะเล่าจบเรื่องหนึ่ง เพราะคนฟังเดินไปก็เดินมา
ได้ประโยชน์มากค่ะ คุณแพท ขอบคุณนะคะ
ใจเย็นๆค่ะ ต้องหาหนังสือที่มีรูปภาพใหญ่ๆ เป็นตัวการ์ตูนหรือสัตว์ เค้า้แย่งไป คุณแม่ก็จับเค้ามานั่งตัก เอาหนังสือวางตรงหน้าเค้า หลายๆทีที่เค้าแย่งเพราะค้าอยากดูเอง หรือไม่อยากให้แม่สนใจหนังสือมากกว่าเค้า ค่อยๆชี้ให้เค้าดูรูปในหนังสือ ไม่ต้องใจร้อนรีบอ่านให้เค้าก็ได้ค่ะ อ่านไม่จบไม่เป็นไร แค่พยายามทำทุกวัน เค้าจะเริ่มชินไปเอง เอาใจช่วยนะค่ะ
จับนั่งตัก..พี่ท่านมุดออกใต้แขนทู้กกกกทีอ่ะค่ะ อิอิ
ขอบคุณค่ะ คุณแพท
กลับไปบ้านจะลองจับลูกนั่งบนตักบ้างค่ะ แต่น้องชมชอบแย่งหนังสือมากเลยค่ะ หนังสือเล่นนึงยังอ่านไม่เคยจบเลยค่ะ เวลาพิมอ่านเขาก็จะทำเสียงคลอไปด้วยทุกครั้งเหมือนกับว่ากำลังอ่านหนังสืออยู่
ขอบคุณมาก
ขอบคุณคุณแพทมากครับ ผมลองพยายามจะอ่านนิทานใ้ห้ลูกฟัง แต่้ก็ยังไม่สำเร็จซะที
คราวนี้จะลองตามที่คุณแพท โพสมาให้อ่านดูคร้าบ
สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่ยอมอยู่นิ่ง หรือยอมที่จะนั่งฟังเราเล่านิทาน ขอเล่าประสบการณ์ลูกชายนะคะ

ตอนเล็กๆ ประมาณขวบกว่าเราก็พยายามอ่านให้เค้าฟังด้วยทุกท่าค่ะ 555 ทั้งเล่าบางทีทำท่าประกอบด้วยเด็กก็ยังไปเล่นอย่างอื่น
ทำเอาแม่หมดกำลังใจกันไปหลายรอบ แต่ก็ยังตื๊อ โดยวิธีการต่างๆ ที่ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง
1. อ่านโดยใช้เสียงที่น่าสนใจ รอบแรกจะไม่ฟัง รอบถัดๆ มาจะเริ่มมาฟังบ้าง จนกระทั่งเค้าติดหูก็จะสนใจ เพราะเด็กวัยนี้ชอบอะไรซ้ำๆ
อ่านแล้วอ่านอีกๆ ดูแล้วดูอีกๆ ช่วงแรกๆ เราเลยอ่านเล่มสองเล่มให้น้องคุ้นหูค่ะ หนังสือจะมีตัวหนังสือน้อยหรือมากก็ได้
2. อ่านเป็นเพลง (หนังสือบางเล่มเป็นเพลง หรือกลอน น้องจะสนใจฟังสำหรับเด็กเล็กถือว่าได้ผลดีมากค่ะ)
3. ใช้ตัวช่วย พวก puppet หรือตุ๊กตาต่างๆ มาสมมติกัน
4. อ่านหนังสือให้เค้าเห็น น้องจะอยากหยิบหนังสือมาอ่านตามเรา
5. อยู่ห่างจากสิ่งเร้า หมายถึงของเล่นมากมายนี่แหละที่จะดึงความสนใจเค้าจากเราไป อาจจะต้องหามุมเงียบๆ ไม่มีของเล่น หรือเวลาก่อนนอน

พอเริ่มคุ้นหู ชินกับการอ่านหนังสือแล้ว เค้าก็จะมีความสนใจมากขึ้นๆๆ เราสังเกตว่า playgroup ที่เราพาลูกไปจะอ่านหนังสือเล่มเดิม
ทุกครั้ง เด็กเล็กๆ จะกรูกันเข้าไปดูค่ะ แต่เด็กโตๆ จะถอยออกมาเล่นอย่างอื่น เพราะเค้ารู้สึกว่าเคยฟังหลายรอบแล้ว มีอย่างอื่นน่าเล่นกว่า

ถ้าเราอ่านหนังสือให้เค้าฟังเรื่อยๆๆ ไม่หมดกำลังใจไปซะก่อน จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทีละนิดๆ ค่ะ แล้วน้องเองจะเป็นคนบอกว่าอยากอ่านหนังสือ ช่วยอ่านให้ฟังหน่อยครับ

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service