เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

"หนังสือนิทาน" พี่เลี้ยงเด็ก-ช่วยพ่อแม่บำบัดลูก"

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 เมษายน 2552 09:16 น.

“การอ่านหนังสือ” ถือเป็นเครื่องลับปัญญาให้ฉลาดอย่างมีคุณภาพ เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สร้างทักษะการพูด การอ่าน และการเขียนให้กับเด็ก ไม่ต่างจากหนังสือนิทานภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่มีภาพ และตัวอักษรที่แสนสนุกเท่านั้น หนังสือนิทานยังเป็นพี่เลี้ยง และทำหน้าที่บำบัดพฤติกรรมของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี

ทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ได้จัดเสวนา “การบำบัดลูกด้วยหนังสือ” ภายใต้งาน "ร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 5 เมษายน 2552 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้ครอบครัวเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือนิทาน ที่นอกจากจะอ่านเพื่อสนุกแล้ว ยังสามารถช่วยผ่อนแรงในการเลี้ยงลูก และช่วยแก้ไขพฤติกรรมของลูกได้อย่างเห็นผล

"พี่ตุ๊บปอง" หรือ "คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป" กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก นิตยสาร Mother&Care ได้พูดถึงความสำคัญของนิทานว่า เด็กจะเป็นอย่างไร นิทานจะกำหนดให้เด็กเป็นอย่างนั้น เช่น พ่อแม่อยากจะปลูกฝังให้ลูกเป็นคนดี มีน้ำใจ หนังสือ หรือวรรณกรรม ล้วนมีต้นแบบที่ดีในการแสดงน้ำใจ เมื่อพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง เด็กจะรับไว้เป็นพฤติกรรมส่วนตัวได้อย่างแยบยล และเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นโดยปริยาย

"ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง ราชสีห์กับหมู ถ้าวิเคราะห์ให้ดี จะให้แง่คิดด้านคุณธรรมหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการให้อภัย การช่วยเหลือตอบแทนกัน ดังนั้นนิทานเรื่องเดียว จึงเป็นจินตนาการที่แฝงคำสอน เสริมสร้างทักษะชีวิตโดยอัตโนมัติได้อย่างครบถ้วน" พี่ปองเล่า

นอกจากนี้ ยังสะท้อนมุมมองต่อตลาดหนังสือเด็กในปัจจุบันด้วยว่า ตลาดหนังสือเด็กขยายตัว และเพิ่มมากขึ้น โดยเพราะหนังสือสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เนื่องจากมีแรงกระตุ้นตลอด 3-5 ปีก่อน ถึงภาพรวมการอ่านหนังสือของเด็ก รวมไปถึงพ่อแม่ ครูอาจารย์ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือมากขึ้น เมื่อการผลิต และการซื้อขายถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดหนังสือเด็กจึงขยายตัวตามไปด้วย

ด้าน “ครูต้อย” หรือ “อ.สุวรรณา ชีวพฤกษ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ Active Learning และการจัดการศึกษาแนววอลดอล์ฟ ร.ร.เพลินพัฒนา ให้มุมมองว่า นิทานเป็นตัวข้อมูลหรือตัวคุณธรรม ที่ผู้ใหญ่พยายามสื่อเรื่องราวให้ถึงผู้คน เป็นเรื่องจริง แต่ดูเหมือนสร้างให้เหมือนโลกจินตนาการ ซึ่งมีตัวละคร เหตุการณ์ พฤติกรรม หรือคุณธรรมที่หลากหลาย ไม่ได้ชี้กันตรงๆ แต่นิทานจะดำเนินเรื่องของมันไปเอง จนนำไปสู่ทางออกของปัญหา นั่นจึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า นิทานช่วยบำบัดพฤติกรรมให้กับลูกได้จริง

"นิทานจะช่วยปรับ หรือพัฒนาพฤติกรรมของเด็กให้ไปในทางที่เหมาะสมขึ้น เช่น เมื่อลูกไม่ชอบแปรงฟัน พ่อแม่หลายคนมักจะพูดซ้ำอยู่หลายครั้งเพื่อให้ลูกไปแปรงฟัน แต่ถ้านำนิทานที่เกี่ยวกับการแปรงฟันมาเล่าให้ลูกฟัง ยกตัวอย่างเช่น "คุณฟอง นักแปรงฟัน" ของคุณชีวัน วิสาสะ เชื่อได้ว่า เด็กจะได้เรียนรู้ และสนุกกับการแปรงฟันไปด้วย หรือถ้าลูกไม่ยอมกินผัก ก็เอานิทานที่เกี่ยวกับผักมาให้มาเล่าให้ลูกฟัง เช่น น้องหมีหม่ำหม่ำ" อาจารย์อธิบาย

สอดรับกับ "ป้ากุล" หรือ "รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์" อาจารย์ประจำสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (มศว.) นักเล่า และเขียนหนังสือเด็ก เผยเคล็ดลับการอ่านนิทานว่า ถ้ามีลูก พยายามอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เล็ก หาหนังสือที่เน้นคำคล้องจองให้มาก มีภาพประกอบสวยงาม เพราะจะช่วยสร้างเซลล์สมองของเด็ก ให้เกิดทักษะการใช้ภาษาไทยที่ดี

นอกจากนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ต้องเล่าให้สนุก อ่านให้ครบตัวหนังสือ และเล่าด้วยภาพ จากนั้นเสริมท่าทาง และจินตนาการเข้าไป ที่สำคัญก่อนพ่อแม่จะเล่านิทาน หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง ต้องเข้าใจเรื่องดังกล่าวทั้งหมดก่อน แล้วค่อยออกแบบการเล่าว่า จะใส่ท่าทาง หรืออารมณ์แบบใดที่ทำให้ลูกไม่เบื่อ แล้วนิทานจะช่วยปลูกฝังลูกได้เอง แต่ทั้งนี้ต้องผสมผสานให้เข้ากับชีวิตจริงในสังคมด้วย

"เด็กสมัยนี้เป็นโรคสมาธิสั้นกันเยอะ เพราะพ่อแม่ไม่ได้ปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ปล่อยให้ลูกอยู่กับโทรทัศน์ ทางที่ดีควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เด็กติดหนังสือ แล้วจะเกิดสมาธิ พอเด็กมีสมาธิ สติมันจะกลับมา พอสติกลับมาปัญญาก็จะเกิด" ป้ากุลให้มุมมอง

“ป้ากุล” ได้บอกถึงอุปสรรคการทำหนังสือเด็กด้วยว่า สำนักพิมพ์บางแห่งไม่ใส่ใจกับการทำหนังสือเด็ก เพราะเคยประสบกับตัวเองที่เคยส่งหนังสือไปพิมพ์ แต่ผู้จัดพิมพ์ค้างหนังสือไว้นานมาก หรือไม่มีคนวาดภาพประกอบให้ ที่ร้ายไปกว่านี้ ถ้าผู้แต่งไม่มีชื่อเสียง จะทำให้หาสำนักพิมพ์ได้ยาก ขณะเดียวกันคนไทยไม่มีนิสัยซื้อหนังสือ อ้างว่าราคาแพง แต่ไม่เข้าใจว่า กว่าจะได้หนังสือมา 1 เล่มนั้น ต้องใช้เวลานานมาก

“ป้าว่า เด็กชอบหนังสือนะ แต่ผู้ใหญ่มองว่า เป็นของฟุ่มเฟือย เอาหลักเศรษฐศาสตร์ไปวัดหนังสือเด็ก จริงๆ แล้วคุ้มมากๆ เด็กไม่ต้องการมากเล่ม เขาชอบการอ่านซ้ำๆ และชอบให้พ่อแม่อ่านให้ฟัง ซึ่งบางคนหาว่าแพง แต่รู้ไหมว่า กว่าคนเขียนจะคิดให้ตรงกับพัฒนาการเด็ก บวกกับภาพที่เด็กชอบ มันไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าพ่อแม่ลงทุนกับเด็กด้วยหนังสือ รับรองได้ว่า เด็กจะไม่เหลวไหล มีเหตุผล และคุณธรรม แต่ต้องเลือกหนังสือที่ดีมีประโยชน์ด้วยนะ" ป้ากุลบอก

สุดท้ายนี้ ทั้ง 3 ท่าน ได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า หนังสือนอกจากจะเป็นตัวบำบัด-แก้ไขพฤติกรรมของเด็กในบางเรื่องแล้ว ยังเสริมสร้างระดับมันสมองให้มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นความฉลาดทางอารมณ์ (EQ), ความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญา (IQ) หรือ ความฉลาดทางด้านคุณธรรม-จริยธรรม ซึ่งเด็กจะได้จากการอ่านนิทานแค่เพียงเล่มเดียว เพราะเด็กเกิดความสุขจากการอ่าน และสุขที่ได้อยู่กับครอบครัว

"นิทานจะแฝงปมปัญหา และทางออกให้อยู่แล้ว นั่นคือกุศโลบายของผู้เขียน เมื่อเด็กอ่าน เขาจะจำไว้ในคลังสมอง พอเจอปัญหาแบบในนิทาน เด็กจะรู้วิธี และรู้ตัวเองว่า ควรจะใช้วิธีไหนแก้ปัญหา รวมไปการกิน การอยู่ ทั้งหมดแฝงอยู่ในนิทานหมด ฉะนั้นนิทานจึงช่วยบำบัด และช่วยคุณพ่อ คุณแม่ แก้ไขพฤติกรรมลูกได้เป็นอย่างดี แต่ต้องเลือกนิทานที่ลูกชอบ และมีสาระ เหมาะสมกับลูกนะ ไม่ใช่ผู้ปกครองชอบ แล้วเลือกซื้อให้ลูกอ่าน แล้วนิทานจะมีประโยชน์ต่อเด็กมาก" พี่ปองสรุปทิ้งท้าย

Views: 45

Reply to This

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service