เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

'ป้าเเนทเอามาฝาก' (อีกละ) - เซลล์กระจกเงา กับการเรียนรู้แบบเลียนแบบ (ตอน2)

เซลล์กระจกเงา กับการเรียนรู้แบบเลียนแบบ
เขียนโดย นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร
อาทิตย์, 17 สิงหาคม 2008

เซลล์กระจกเงา กับการเรียนรู้แบบเลียนแบบ (Mirror Neuron and Imitation Learning)

สมาชิก “ครอบครัวตัวต่อ” คงได้อ่านข่าววัยรุ่นเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ GTA แล้วเกิดความคิดอยากทำตามอย่างในเกมบ้าง ก็เลยไปปล้นแท็กซี่ สุดท้ายกลายเป็นผู้ร้ายไปอย่างน่าสงสาร
แถมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองทำอะไรผิด รู้เพียงแต่ว่าในเกมมันไม่ผิด
(เหตุเกิดวันที่ 3 ส.ค.นี้ อ่านข่าวต่อ คลิกเว็บไซต์กระปุก )

นี่คือผลงานของเซลล์กระจกเงา
หน้าที่อย่างหนึ่งของเซลล์กระจกเงาคือการเลียนแบบ ในคดีนี้วัยรุ่นคนดังกล่าวได้เลียนแบบพฤติกรรมในเกม GTA และแสดงออกจนกลายเป็นคดีอาชญากรรมไปในที่สุด

เกม GTA คือเกมที่ให้คนเล่นได้เข้าไปมีบทบาทในเกมโดยการทำตัวเป็นโจร พูดง่ายๆ มันคือเกมสอนทักษะของความเป็นโจรนั่นเอง ใครเล่นเกมนี้จะต้องทำตัวเป็นโจรให้สุดๆ ถึงจะได้แต้มปล้นแท็กซี่ ฆ่าตำรวจ ข่มขืนผู้หญิง ได้แต้มหมด ก็เพียงแค่การได้เห็นบทบาทโจรที่เกมวางไว้สำหรับให้ผู้เล่นเข้าไปสวม เซลล์กระจกเงามันก็ทำการลอกเลียนแบบของมันแล้ว แต่นี่ผู้เล่นต้องเข้าไปแสดงบทบาทโจรอย่างแข็งขันด้วย แล้วมันจะไม่ทำให้คนเล่นเกิดการลอกเลียนบทบาทโจรได้อย่างไร เด็กคนนี้เล่นเกม GTA อย่างชนิดที่เรียกว่าเสพติด เซลล์กระจกเงาได้ทำงานอย่างเต็มที่ บทบาทโจรในเกมเป็นอย่างไรมันจึงสามารถลอกเลียนเอาไว้ได้หมด

ต้องเรียนว่าธรรมชาติเซลล์กระจกเงานั้น มันจะเลียนแบบพฤติกรรมทุกอย่าง มันไม่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตัวมันเอง โดยเฉพาะในคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ที่สมองส่วนยับยั้งชั่งใจ หรือ Prefrontal Cortex ยังโตไม่เต็มที่ ดังนั้นการได้สัมผัสหรือได้เห็นแบบอย่างการกระทำไม่ว่าดี หรือไม่ดี เด็กจึงซึมซับหรือลอกแบบเอาหมด แต่ในผู้ใหญ่อย่างเราๆ สมองส่วนยับยั้งชั่งใจโตแล้ว เราก็เลยเลือกที่จะเลียนแบบเฉพาะสิ่งเราชอบใจ

เซลล์กระจกเงามันทำงานอย่างไร


พฤติกรรมที่ผู้อื่นแสดงออก ให้เราเห็นจะถูกบันทึกเข้ามาในสมองของเรา จากนั้นเซลล์กระจกเงาจะทำหน้าที่ควบคุมเซลล์ต่างๆ ในสมองของเราให้ “ลองทำตาม” ต้นแบบนั้นๆดู เป็นการ “ลองทำตาม” ในระดับการทำงานของเซลล์ ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายภายนอกให้เห็น ไม่ใช่การ “ลองทำตาม” ที่แสดงออกเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย เเละการที่เซลล์กระจกเงา “ลองทำตาม” พฤติกรรมที่เรามองเห็นนี้เป็นเพราะว่าจริงๆ แล้วมันมีหน้าที่ ทำความเข้าใจท่าทาง ท่าที และเจตนาของผู้อื่นที่แสดงออกต่อเรา การ “ลองทำตาม” ภายในสมองของเราจะทำให้เราเข้าใจเจตนาของการกระทำนั้นๆ ได้ เมื่อเราเข้าใจท่าทีและเจตนาของผู้อื่น มันก็จะมีผลต่อการกำหนดท่าทีตอบสนองของเรา เขาแสดงออกมาอย่างนี้ เราอ่านว่าเขามีเจตนาแบบนี้ (ผ่านการทำงานของเซลล์กระจกเงา) เราก็เลยแสดงท่าทางตอบสนองแบบนี้ นี่คือการทำงานของเซลล์กระจกเงา หรือการทำความเข้าใจคนอื่นโดยการลองทำบทบาทเหมือนคนอื่น การลองไปอยู่ในสถานการณ์แบบคนอื่น หรือที่เราชอบพูดกันว่า ใจเขา ใจเรา เอาใจเขา มาใส่ใจเรา ด้วยกระบวนการเช่นนี้ เราจึง เข้าใจ คนอื่น

ฉะนั้น หากพิจารณาให้ดีเซลล์กระจกเงาก็คือกลไกที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์เรานั่นเอง เซลล์กระจกเงาช่วยให้เราเข้าใจ เจตนาของผู้อื่น นำมาสู่การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เซลล์กระจกเงาช่วยให้เราเลียนแบบผู้อื่นเพื่อที่จะมีพฤติกรรมบางอย่างที่เหมือนกับผู้อื่น


ที่สำคัญการทำงานของเซลล์กระจกเงาทำให้เรารับรู้ว่า การเลียนแบบ คือวิธีการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ ภาษา วัฒนธรรม คุณธรรม กฎเกณฑ์ทางสังคม ค่านิยม บรรทัดฐาน ประเพณี ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เป็นทักษะและต้องลงมือปฏิบัติ มนุษย์ล้วนเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ ผ่านการทำงานของเซลล์กระจกเงาทั้งสิ้น เช่นเราเรียนขับรถ เราเรียนมารยาทในสังคม คุณธรรมในสังคม เราเรียนทำกับข้าว เราเรียนภาษา ทั้งหมดนี้เราเรียนรู้โดยการเลียนแบบ (Imitation Learning) โดยการทำงานของเซลล์กระจกเงาทั้งสิ้น

“การเลียนแบบ” จึงเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม จะโชคไม่ดีหน่อยก็ตรงที่มัน “เลียนแบบ” สิ่งที่ไม่ดีด้วย

ความรู้ในเรื่องเซลล์กระจกเงาช่วยอะไรเราบ้างในเรื่องการเลี้ยงลูก
คนโบราณสอนไว้ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น อยากให้ลูกเป็นอย่างไร เราต้องทำตัวแบบนั้น มันคือคำสอนที่สอดคล้องกับการทำงานของเซลล์กระจกเงามาก แบบอย่างที่ดี จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูกของเรา และตัวเรานั่นแหละคือคนที่จะต้องสร้าง แบบอย่างที่ดี ที่ว่านี้ ลองทำแบบนี้ดูครับ
• อ่านหนังสือ ค้นคว้าหาความรู้ให้ลูกเห็น หากอยากให้ลูกรักการอ่าน รักการแสวงหาความรู้
• ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ หากอยากให้ลูกห่างจากสิ่งเหล่านี้
• แสดงกริยาอ่อนน้อมต่อคนอื่น หากอยากให้ลูกเป็นคนอ่อนน้อม
• พูดเพราะกับลูก หากอยากให้ลูกเป็นคนพูดเพราะ
• แสดงความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ให้ลูกเห็น หากต้องการให้ลูกเป็นคนมีสัมมาคารวะ
• พาลูกทำกับข้าว ทำกับข้าวให้ลูกดู หากต้องการสอนการบ้านการครัวให้ลูก
• พาลูกประดิษฐ์ของเล่นเอง หากอยากให้ลูกเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์
• พาลูกออกกำลังกาย เล่นกีฬา หากต้องการให้ลูกแข็งแรง ฯลฯ


อย่างไรก็ตามเหรียญมีสองด้านเสมอ อย่างที่บอกไปแล้วว่าสิ่งที่ไม่ดีเซลล์กระจกเงามันก็เลียนแบบมาเหมือนกัน ดังนั้นการกันลูกของเราออกจากแบบอย่างที่ไม่ดีก็เป็นสิ่งจำเป็น ยิ่งตอนนี้แบบอย่างไม่ดีมันมีมากเหลือเกิน ทั้งในโทรทัศน์ ในหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต แถมเพิ่มทางมือถือขึ้นมาอีกด้วย เรียกว่ารอบทิศเลยทีเดียว ลำพังเฉพาะตัวเราคนเดียวคงสู้ไม่ไหวแน่ การร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้ละมือของคนที่เป็นพ่อแม่ทั้งหลายจึงเป็นทางออกที่ดีและมีพลังมากกว่า ข้อสำคัญในขณะที่เราพ่อแม่ทั้งหลายกำลังจับกลุ่มกันช่วยกันคนละไม้ละมือทำสิ่งดีๆ อยู่นั้น เซลล์กระจกเงาในสมองของลูกเรามันก็เฝ้ามองอยู่
ในที่สุดนอกจากเราจะช่วยกันป้องกันลูกของเราออกจากสิ่งที่ไม่ดีแล้ว ลูกของเราก็จะกลายเป็นคนที่เอื้อเฟื้อต่อคนอื่น เป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมไปในที่สุด

ที่มา: http://www.tuator.net/content/view/215/76/

Views: 156

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

Comment by Monrudee Loha on August 13, 2009 at 3:10pm

ขอบคุณป้าแนทค่ะ สำหรับบทความดีๆๆ

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2025   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service