เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

แบ่งปันบทความดีๆ "สื่ออย่างไร...ให้ลูกรู้ว่ารัก" "หนูอยากเป็นอะไร" "ถักทอบุคลิกภาพด้วยใยรัก"

"สื่ออย่างไร...ให้ลูกรู้ว่ารัก"


ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะพูดคำว่า “ไม่มีเวลา” ควรมาทำความเข้าใจเรื่องหลักการเลี้ยงลูกเสียก่อน ซึ่งมีหลักสำคัญ 3 ประการที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเสมอ คือ         

     1.   เจตคติในการเลี้ยงดูลูก ให้อยู่ในทางที่เหมาะสมเป็นทางสายกลาง เช่น ให้ความรักลูกแต่อย่ารักมากเกินไป ห่วงลูกแต่อย่าห่วงมากเกินไป ทะนุถนอมก็อย่ามากเกินไป หรือถ้าจะโกรธก็อย่าโกรธมากเกินไป จนถึงขั้นปฏิเสธลูก ให้ดำรงทางสายกลางเอาไว้เป็นเจตคติพื้นฐานที่พ่อแม่ต้องปฏิบัติให้ได้เป็นพื้นฐานก่อน          

     2.   หลักในการปฏิบัติต่อลูก ที่สำคัญ คือ ต้องมีเวลาให้ลูก การพูดคำว่า ไม่มีเวลา เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การจะทำอะไรสักอย่าง ต้องอาสัยเวลาเสมอ จะปลูกต้นไม้ก็ต้องมีเวลา ปลูกต้นรักให้งอกงามก็ต้องมีเวลา ยิ่งเป็นเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยแล้ว ต้องมีเวลาให้ความรักความเอาใจใส่เขาอย่างเพียงพอ เปรียบได้กับร่างกายของเรา ถ้าร่างกายเราหิว เราบอกไม่มีเวลา ไม่ต้องกินข้าว เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีเวลากินจนได้ การเลี้ยงดูลูกเราต้องการอาหารใจเราจะบอกว่าไม่มีเวลาคงไม่ถูกต้อง เราควรต้องมีเวลาในการฟูมฟักพอสมควรทีเดียวเพื่อให้เด็กได้อาหารใจที่เพียงพอ          

     3.   เป็นแบบอย่างที่ดี ตามหลักทางจิตวิทยานั้น เราพบว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างไรลูกก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราก้าวร้าวลูกก็ก้าวร้าว เราซึมเศร้า ลูกก็ซึมเศร้า หรือถ้าเราพูดปด เป็นคนไม่รักษาสัญญา ลูกก็จะเป็นเช่นนั้น ไม่ต่างกัน
จะจัดการบริหารเวลาอย่างไรให้มีเวลาอยู่กับลูกและครอบครัวได้อย่างพอเหมาะ

            1. ต้องตระหนักเสมอว่า งานคืองาน บ้านคือบ้าน เมื่อมาถึงบ้านแล้วเป็นเวลาของครอบครัว คือเวลาของพ่อแม่ลูก รู้จักสละหรือวางในเรื่องของการงาน หรือความเหนื่อยล้าทิ้งไป โดยยึดหลักความจริงและความตรงต่อครอบครัว คือจริงในบทบาทของความเป็นพ่อหรือแม่ ตรงในบทบาทของหน้าที่สามีหรือภรรยา ที่สำคัญคือ ซื่อตรงในหน้าที่ที่จะดูแลลูก

            2. เมื่อมีความซื่อตรงต่อตนเอง ต่อลูก ต่อครอบครัวแล้ว สำคัญอีกอย่างคือ การบังคับใจตังเองให้ตรงอย่างสม่ำเสมอ เช่น การกลับบ้านมาดูแลลูก ควรมีความสม่ำเสมอคงเส้นคงวา บางครั้งอาจมีเหตุการณ์ที่จะดึงให้เราไม่อยากกลับบ้าน เช่น กิจกรรมสังสรรค์ต่าๆ ถ้ามีก็ต้องจัดสสรเวลาให้ดี พ่อแม่หลายคนถึงกับกำหนดเป็นวินัยเข้มงวดว่า จะต้องกลับมากินข้าวเย็นที่บ้าน ลูกอาจจะกินข้าวไปก่อนในบางครั้งก็ไม่เป็นไร แต่จะต้องกลับมากินข้าวกับภรรยาที่บ้านเป็นขวัญและกำลังใจที่ดีต่อกัน          

            3. ต้องมีความอดทน การที่เราจะต้องปฏิบัติให้ตรงต่อหน้าที่ เราต้องบังคับใจของเราให้มีความตรงอยู่เสมอ เราจะทำอย่างนั้นได้เราต้องมีความอดทน การเลี้ยงดูลูกจะปราศจากความอดทนไม่ได้เลย เพราะเป็นวาระและหน้าที่ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น            

            4. สละและสลัดสิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อลูกต่อครอบครัวที่ทิ้งไป เช่น สลัดความเกียจคร้านออกไปจากใจ สลัดความเห็นแก่ตนออกไป บางครั้งคุณพ่ออยากจะไปเอนเทอร์เทนตัวเอง อยากไปพบกับเพื่อนฝูง ไปสนุกสนานร้องเพลงคาราโอเกะ หรืออาจจะอยากนั่งอ่านหนังสือเพียงลำพัง เป็นความสุขส่วนตัว สิ่งเหล่านี้อาจต้องสละไปบ้าง ไม่ควรห่วงความสุขเฉพาะตนมากเกินไป เราควรให้เวลากับการปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเป็นความสุขร่วมกัน ซึ่งจะเป็นความสุขอันยั่งยืน

     กรณีที่ติดงานหรือธุระจริงๆหรือต้องผิดเวลากับลูก ควรสื่อสารให้ลูกรู้ว่า ขณะนี้พ่อแม่กำลังทำอะไร แต่อย่าพยายามใช้เป็นข้ออ้างของตนองที่มาไม่ได้นั้นหรือดูแลลูกได้น้อยเพราะงานยุ่ง ถ้าเราจะมีงานยุ่งเราต้องเหนื่อยเป็นสองเท่า คือต้องยุ่งกับงานด้วยและดูแลลูกด้วย เหมือนกับนิสิตนักศึกษา ผมมักจะบอกกับเขาเสมอว่า อย่าเอาข้ออ้างว่าเพราะไปทำกิจกรรมมากแล้วเลยเรียนไม่ได้ อ้างอย่างนี้ไม่ได้ คนไหนอยากทำกิจกรรม ก็ต้องยอมเหนื่อยเป็น 2 เท่า คือต้องอดหลับอดนอนที่จะอ่านตำรา ดังนั้น ในการดูแลลูก เวลาที่ดูแลลูกควรมาก่อน แล้วค่อยเอาเวลาช่วงที่ลูกหลับแล้วไปทำงานส่วนตัว

     ส่วนคำพูดที่เราจะบอกลูกกรณีติดงานหรือติดธุระจริงๆ คือบอกว่าพ่อแม่อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร ระหว่างที่เราทำงานเราคิดถึงลูกนะ แต่พ่อกับแม่จะรีบทำรีบกลับไปหาเขา คำพูดเหล่านี้จะสื่อให้ลูกรู้ว่าเราให้ความสำคัญกับเขา ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจขึ้นว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง และยังมีสายใยสื่อสัมพันธ์ถึงกันเสมอ

     นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะมีเวลาให้ลูกแล้ว พ่อกับแม่ต้องมีเวลาให้กันและกันด้วย สำหรับคุณพ่อ บางครั้งเกิดปัญหาไม่มีเวลาให้ลูกจริงๆ แต่ถ้าคุณพ่อไม่ลืมคุณแม่ กำลังใจจากตัวคุณแม่ก็สามารถชดเชยให้ลูกได้ ฉะนั้นพ่ออย่าลืมรักแม่และให้เวลากับคุณแม่ด้วยนะครับ  

         

     "หนูอยากเป็นอะไร"


     เมื่อเราถามเด็กเล็กๆที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนอนุบาลว่า โตขึ้นหนูอยากเหมือนใคร เกือบทั้งหมดของเด็กผู้ชายจะตอบว่า โตขึ้นอยากเป็นเหมือนพ่อ และเกือบทั้งหมดของเด็กผู้หญิงก็จะตอบว่า โตขึ้นอยากเป็นเหมือนแม่แต่ก็มีเหมือนกันที่เด็กผู้ชายบางคนบอกว่า อยากเป็นเหมือนแม่ และเด็กผู้หญิงบางคนอยากเป็นเหมือนพ่อเมื่อเด็กๆเหล่านี้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ความรู้สึกว่าโตขึ้นอยากจะเป็นอะไรจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีกมาก เพราะมีปัจจัยต่างๆเข้ามาเป็นองค์ประกอบอีกมากมาย เป็นต้นว่า แรงจูงใจจากสังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อิทธิพลจากเพื่อนๆอิทธิพลจากสังคมและเศรษฐกิจที่เข้าไปครอบงำความคิดของวัยรุ่น ความประทับใจต่อวิชาชีพที่วัยรุ่นมีประสบการณ์ด้วยตนเอง แบบฉบับและความคิดเห็นของ พ่อแม่ และอื่นๆอีกมากมาย ที่เข้ามาเป็นตัวแปรให้เด็กวัยรุ่น เห็น คิด และอยากดำเนินไปตามที่ตนเองรู้เห็น 

     ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของวัยรุ่น ซึ่งยังเปลี่ยนแปลงอยู่ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะพบและรู้สึกกับตนเองว่า “นี่แหละใช่” จึงเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นปกติวิสัย  แต่มีสิ่งที่น่าคิดก็คือ เด็กผู้ชายตัวเล็กๆที่เคยสนิทกับพ่อ เด็กผุ้หญิงตัวน้อยๆที่เคยสนิทกับแม่ เมื่อวันเวลาผ่านไป เขากลับสนิทกับพ่อและสนิทกับแม่น้อยลง น้อยลงจนเหมือนห่างเหินต่อกัน  บางครอบครัวพ่อแม่ลูกอาจมีความขัดแย้งต่อกัน สร้างความทุกข์ต่อกันและกันอันยาวนาน จนดูเหมือนว่า จิตใจพ่อแม่ลูกไม่มีวันจะมาบรรจบกันได้ อะไรทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น ทั้งๆที่ตอนเด็กๆก็ดูว่าดีและไม่น่าจะมีปัญหา ประโยคสั้นๆจากหนังสือจิตวิทยาครอบครัวเล่มหนึ่ง

      The house is made of brick and stone, but the home is only made of love.

     "บ้านสร้างได้ด้วยอิฐและหิน แต่ครอบครัวสร้างให้ดีด้วยความรัก" การที่ลูกอยากเป็นเหมือนใคร อยากเจริญรอยตามใครนั้น ปัจจัยสำคัญจะอยู่ที่พ่อแม่เป็นหลักว่า พ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกรักและผูกพันในตัวพ่อแม่ได้แค่ไหน ลูกประทับใจและเคารพในตัวพ่อแม่เพียงใด ลูกรู้สึกเป็นสุข สงบ สบายใจเมื่ออยู่กับพ่อแม่มากน้อยอย่างไร และลูกมีความรู้สึกว่า เป็นที่ยอมรับ มีคุณค่า เป็นที่ภาคภูมิใจในความรู้สึกของพ่อแม่อย่างไร  ประเด็นต่างๆเหล่านี้ ถ้าสร้างให้มีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานก็แน่ใจว่าลูกๆจะมีความเห็น มีความคิด มีการกระทำที่อยู่ในกรอบ ที่ไม่ไกลจากที่พ่อแม่ตั้งความหวังไว้ เรียกได้ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” 

      เราจะสร้างปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้อย่างไรพ่อแม่ควรสร้างและปรับปรุงหัวใจของตนเองให้เป็นไปตามหลักของพรหมวิหาร 4 
     ประการแรก คือ ต้องมีความเมตตา มีสัมพันธภาพอันดีกับเด็กๆ มีความรักและความปรารถนาดี ซึ่งทำได้ด้วยการมีเวลาที่จะเล่น พูดคุย  มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีอารมณ์ขัน ซึ่งจะทำให้จิตใจของเด็กแจ่มใสแช่มชื่นและเบิกบาน

     ประการที่สอง คือ มีความกรุณา มีความเข้าใจความรู้สึกของลูก พร้อมที่จะช่วยเหลือเด็กๆให้คลายทุกข์ลง และทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงทางใจ ความกรุณานี้จะทำให้เด็กรู้สึกม่นใจ รู้สึกว่ามีขุมพลังจากผู้ใหญ่ที่ช่วยเหลือเขา

     ประการที่สาม คือ มุทิตา คือแสดงความยินดี ชื่นชม นับถือ เมื่อลูกได้ทำในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่ประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งยอมรับและให้อภัยในจุดอ่อนด้วย ในความผิดพลาด มุทิตาจิตนี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง

     ประการที่สี่ คือ อุเบกขา เป็นการวางอารมณ์ให้เป็นกลาง ในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นกับลูก พ่อแม่ควรมีอารมณ์ที่นิ่งสงบ รับรู้ทางความเป็นจริงให้มากที่สุด วางอารมณ์ให้เป็นกลาง อย่าวิตกกังวล อย่าโกรธอย่าหงุดหงิดให้มากมายนัก นิ่งสงบ และปฏิบัติไปตามหน้าที่ของผู้ปกครอง พร้อมกันนั้นให้เปิดประตูและหน้าต่างใจให้ลูกรู้ว่า แม้ว่าลูกจะมีปัญหาอย่างไร พ่อกับแม่ยังคงยอมรับและเปิดประตูต้อนรับลูกตลอดเวลา

      หัวใจแห่งพรหมนี้ จะทำให้พ่อแม่เป็นพรหมของลูก ลูกก็จะรูสึกว่า พ่อแม่เป็นพรหมของเราเช่นกัน  พร้อมกันนั้นเด็กจะรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่ และวงล้อชีวิตของพ่อแม่ที่หมุนไป ก็จะทำให้วงล้อแห่งชีวิตของลูกได้หมุนตาม หมุนตามวงล้อของพ่อแม่ แม้ว่าลูกจะไม่ได้เลือกวิชาชีพเหมือนพ่อแม่ แต่ลูกก็จะเลือกการดำเนินชีวิตตามแบบฉบับของพ่อแม่ไปตามอัตโนมัติได้เอง สำหรับการเลี้ยงลูกให้มีความสุขนั้น ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด ตั้งแต่ในอดีตกาลจนถึงยุคปัจจุบันที่เรียกว่า “ยุคไอที” การเลี้ยงดูลูกย่อมมีหลักเกณฑ์ แนวคิด และการปฏิบัติที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป้าหมายของการเลี้ยงดูลูกก็ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าผู้ที่เป็นบิดามารดามีสติและมีปัญญามองตามความเป็นจริงบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ โดยพิจารณาทั้งจากตัวลูกและความรู้สึกของผู้เป็นบิดามารดาเองแล้วไม่หลงประเด็นเต้นตามกระแสสังคมที่เรียกว่า “ยุคไอที” เสียจนเกินไป การเลี้ยงดูลูกย่อมประสบความสำเร็จเสมอ

     จะขอเสนอบทความให้อ่านและพิจารณา แล้วก็จะนึกออกว่าควรเลี้ยงดูลูกอย่างไร บทความทั้ง 3 เรื่องนี้คือ ถักทอบุคลิกภาพด้วยใยรัก ไม่มีเวลา สื่ออย่างไร... ให้ลูกรู้ว่ารัก และหนูอยากเป็นอะไร

     "ถักทอบุคลิกภาพด้วยใยรัก"

     ภาพของลูกที่เป็นคนดี มีความสุข ประสบความสำเร็จ มีบุคลิกที่ดีงามและเหมาะสม เป็นภาพแห่งความหวังของพ่อแม่ทุกคน เป็นสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังจะให้ลูกทุกคนดำเนินไปสู่จุดของความสำเร็จแห่งชีวิตนั้นมีหลักความเป็นจริงตามธรรมชาติว่าทุกชีวิตไม่สามารถดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งความสำเร็จด้วยลำพังตัวของตัวเองได้ ทุกชีวิตต้องอาศัยปัจจัยต่างๆมากมายที่จะเกื้อหนุนให้มีพัฒนาการของชีวิตและจิตใจ ความจริงมนุษย์ไม่ได้ประกอบด้วยชีวิตและจิตใจเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆมากมายที่มาผสมผสาน ประมวลกัน และสังเคราะห์ออกมาเป็นบุคคล

     ในวิชาจิตวิทยาพัฒนาการได้แบ่งและมองมนุษย์ออกเป็นองค์ประกอบใหญ่ 4 ด้านคือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสติปัญญา และด้านสังคม ทั้ง 4 ด้านนี้จะผสมผสานกลมกลืนกันเป็นเนื้อเดียวกัน จนเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลที่ติดตัวไปเป็นอุปนิสัยตลอดไปและตลอดชีวิตของแต่ละคน ลักษณะเฉพาะที่ติดตัวตลอดไปนี้เราเรียกว่า บุคลิกภาพ

     การเจริญเติบโตและพัฒนาการของบุคลิกภาพนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลักๆ 3 ประการคือ

      - ปัจจัยทางด้านชีววิทยาและร่างกาย เช่น พันธุกรรม ภาวะโภชนาการ ความเข้มแข็งของร่างกายที่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น

     - ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา เช่น ความรัก ความอบอุ่นที่ได้จากการเลี้ยงดู ความรู้สึกมั่นคงในจิตใจ ความรู้สึกเป็นสุขปราศจากความตึงเครียดความวิตกกังวลจากพ่อแม่และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

     - ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น ภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ความสงบสุข และความสมดุลภายในครอบครัว สภาพสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมอันดีงาม เป็นต้น

     ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะเป็นตัวที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างมากบุคลิกภาพเป้าหมายที่พ่อแม่ สังคม และประเทศชาติอยากได้ คือ บุคลิกภาพของประชากรที่สมบูรณ์

     บุคลิกภาพที่สมบูรณ์ (healthy personality)  หมายถึง ลักษณะบุคลิกภาพที่มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม สร้างสรรค์ และมีความสุข เป็นบุคลิกภาพที่มีเอกลัษณ์ที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ผันแปรง่าย แม้จะเผชิญต่อสภาวะตึงเครียดก็ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคง นอกจากนี้ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ จะมีความสามารถในการรับรู้สภาวะต่างๆของโลกภายนอกได้ถูกต้อง แปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง และมิเพียงแต่จะมีความสามารถในการรับรู้โลกภายนอกได้ตามความเป็นจริงเท่านั้น แต่ยังจะมีความสามารถในการรับรู้ตนเองได้ถูกต้องตามสภาพของความเป็นจริงด้วย  ในศาสตร์ของจิตวิทยาพัฒนาการ มีคำที่กล่าวถึงบ่อยๆ คือ EQ ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก Emotional Quotient คำนี้หมายถึงระดับพัฒนาการทางอารมณ์ ว่ามีระดับดี ระดับไม่ดีอย่างไร ระดับสูง ระดับต่ำอย่างไร คนที่มี EQ สูงก็หมายถึงผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ คือมีคุณลักษณะที่เป็นผู้ที่แจ่มใส สดชื่น มีความคงเส้นคงวาในอารมณ์ มีความอดทน คงทน และมีความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ เผชิญต่อความตึงเครียดต่างๆด้วยการใช้ปัญญาและการมีเหตุผล เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ มีความเมตตากรุณา เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และสามารถตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง

     จากความหมายของ EQ จะเห็นว่า EQ เป็นส่วนที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของบุคลิกภาพ บุคลิกภาพจะดีจะสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ หรือมี EQ ต่ำ

     มีตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนว่า หลายคนแม้จะประสบความสำเร็จในการศึกษาระดับสูง แม้จะมาจากตระกูลที่มีเศรษฐานะและสังคมที่ดี ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีแล้ว ก็ดูจะเป็นการยากที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้

     ถ้าจะเปรียบการพัฒนาบุคลิกภาพให้เหมือนกับการทอผ้า การถักทอผ้าผืนหนึ่งให้งดงาม เนื้อแน่น ดูดี ใครเห็นใครชอบ ใครเห็นใครก็อยากซื้อนั้น ผ้าผืนนั้นก็ต้องได้รับการถักทอมาเป็นอย่างดี ผู้ทอมีความมุ่งมั่นในการถักทอ มีความตั้งใจ มีการวางแผน มีการเลือกวัสดุ และที่สำคัญคือ ต้องถักทอด้วยความรักและความอดทนที่จะถักทอ

      นั่นเป็นการถักทอผืนผ้า

      แต่ถ้าเป็นการถักทอบุคลิกภาพ ถักทอ EQหรือวุฒิภาวะทางอารมณ์นั้น ความรักและความอดทนดูจะเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นใยแห่งเส้นด้ายของความรักที่สำคัญสูงสุดปัจจัยหนึ่ง ซึ่งจะขาดไม่ได้เลย และขาดไม่ได้เป็นอันขาด ไม่ว่าเราจะพัฒนาบุคลิกภาพด้านใด ไม่ว่าเราจะพัฒนาเด็กด้านใดๆ ความรักความเมตตาจะต้องเป็นใยเสริมอยู่ทุกเวลา พัฒนาการด้านต้างๆจึงจะดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ ความรักที่เราแทรกผสมผสานเข้าไปนี้ จะเป็นตัวที่ทำให้เด็กมีความปีติ มีความปราโมทย์ มีความผ่อนคลายมีสมาธิ และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆและพัฒนาตนเอง

     ในเด็กที่ไม่ได้รับความรักเพียงพอ เด็กจะมีความทุกข์ใจจากความทุกข์ใจนี้ ทำให้เด็กต้องแบ่งปันพลังงานทางใจมาจัดการกับความทุกข์ใจนั้น ทำให้พลังทางใจในตัวเด็กต้องถูกบั่นทอนให้ลดลง โดยไม่ได้ไปพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตนได้อย่างต็มที่ ดังนั้นเด็กที่ปราศจากความรักจากผู้ใหญ่จึงไม่สามารถพัฒนาร่างกาย อารมณ์ ปัญญา และสังคมได้อย่างเต็มที่

     ยิ่งถ้าจะมุ่งเน้นไปที EQก็ต้องขอย้ำว่าEQคงจะพัฒนาไปสู่จุดของวุฒิภาวะได้ยากถ้าปราศจากสายใยของความรัก เราควรจะมาช่วยกันพัฒนาบุคลิกภาพ มาช่วยกันถักทอ EQ ด้วยความรักและความเข้าใจเด็กกันอย่างพร้อมเพรียง คงเส้นคงวาตลอดๆไป แล้วเราก็จะได้ลูกของเรา จะได้เด็กๆในสังคมของราที่มี EQ ที่ดี เพื่อเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าของสังคมประเทศชาติสืบไป

 

ข้อมูลจาก : ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณ  www.magickidschool.com  สำหรับบทความดีๆ และยังมีบทความที่น่าสนใจอีกมากมายเช่น

      เลือกโรงเรียนให้ลูก

     มาเป็นคนรู้ใจลูกกันเถอะ 

     เป็นพันธมิตรกับลูก

 ถ้าสนใจก็ตามไปอ่านกันนะคะ

Views: 428

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

Comment by สิริเกศ ศรีเฮงไพบูลย์ on June 12, 2012 at 12:04pm

ขอบคุณมากเลยค่ะที่นำบทความดีๆอย่างนี้มาให้ได้อ่านกัน

Comment by แม่น้องนะโม on February 10, 2011 at 11:55pm

โชคดีจังค่ะที่ได้มีโอกาสอ่านบทความนี้

Comment by แม่น้องกุน & น้องญาญ่า รักในหลวง on January 20, 2011 at 9:05am

ขอบคุณคะ

Comment by แม่น้องดาดา on January 15, 2011 at 1:18am
ขอบคุณด้วยคนค่ะ
Comment by กชกร ประกอบกิจ on January 13, 2011 at 1:30pm
ขอบคุณข้อมูลดีๆค่ะ จะนำไปใช้กับลูกๆค่ะ
Comment by โศรดา ประยูรหาญ on January 11, 2011 at 10:27am

ขอบคุณค่ะ..เป็นบทความที่มีค่ามากค่ะ

Comment by แม่หนูนานา on January 8, 2011 at 5:31pm

ดีจังค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

Comment by JJ on January 7, 2011 at 2:56pm

บทความดีดีๆแบบนี้ต้องลองนำมาปฏิบัติดูบ้างแล้ว.....  ขอบคุณนะคะ

Comment by Monrudee Loha on January 6, 2011 at 9:41pm

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆนะค่ะ

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service