ป้าเเนทหายหน้า หายตาจาก 2pasa ไปนานเลยค่ะ .... ตอนนี้กลับมาเเล้ว เเละก็จะเอาข้อมูลดีๆมาฝากเช่นเดิมนะคะ
by LukZ® for group clickkids
คงจะน่าตกใจไม่น้อย ถ้าหากวันหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกกลับมาจากโรงเรียนพร้อมกับเสื้อผ้าชำรุด ร่างกายมีบาดแผลฟกช้ำ สมุดหนังสือเสียหาย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่า ลูกกำลังเผชิญกับปัญหาการรังแกกันในโรงเรียน
ปัญหาการรังแกกันของเด็ก ๆ ในโรงเรียน หรือในละแวกบ้านใกล้เคียงมีมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นการรังแกทางร่างกาย เช่น การชกต่อย หรือการรังแกทางคำพูด ด้วยการล้อเลียน การแซว หรือการประชดประชันในหมู่เด็กผู้หญิง
จากผลการสำรวจนักเรียนในชั้นประถมและมัธยมประมาณ 3,000 คนทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2549 พบว่า มีการรังแกกันในโรงเรียนสูงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ เด็กผู้ชายจะถูกรังแกมากกว่าเด็กผู้หญิง และเด็กส่วนใหญ่จะไม่อยากเล่าให้ครู หรือผู้ปกครองฟัง ส่วนหนึ่งเพราะเด็กไม่อยากถูกมองว่าขี้ฟ้อง
ดังนั้นผู้ปกครองควรเป็นคนช่างสังเกตและหมั่นใส่ใจในพฤติกรรมของลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเช่น มีเพื่อนน้อย มีท่าทางเศร้า หดหู่ กลัวการไปโรงเรียน ไม่อยากทานอาหาร เพราะเด็กที่โดนรังแกจากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนมักจะมีปัญหาทางด้านจิตใจตามมา เช่น รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า เพื่อน ๆ ไม่คบ มีความน้อยเนื้อต่ำใจ เหงา และทำให้ผลการเรียนตกต่ำในที่สุด
แนวทางแก้ไข
1. เริ่มต้นจากคุยกับลูก โดยอาจใช้การตั้งคำถาม เช่น พ่อแม่เป็นห่วงลูกนะ มีใครที่โรงเรียนรังแกลูกหรือเปล่า, ลูกมีเพื่อนสนิทที่โรงเรียนบ้างไหม เขาเป็นใครเหรอ, มีใครที่โรงเรียนที่ลูกไม่ชอบบ้าง ทำไมถึงไม่ชอบเขา เขารังแกหนูหรือเปล่า
2. คุยกับคุณครู โดยอาจจะสอบถามถึงความสัมพันธ์ของลูกกับเพื่อน ๆ ในห้อง หรือการใช้เวลาว่างของลูก ซึ่งถ้าสอบถามจากคุณครูแล้วไม่สงสัยว่าลูกถูกรังแก ก็ต้องเล่าความไม่สบายใจของท่านให้คุณครูฟังด้วย เผื่อคุณครูจะช่วยสอดส่องให้เพิ่มเติม
สิ่งที่ควรทำถ้าแน่ใจว่าลูกถูกรังแก
- แสดงความเห็นอกเห็นใจลูก เพราะเด็กเองนั้นกว่าจะกล้าเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังก็ต้องรวบรวมความกล้ามากแล้ว
(เพราะตัวเขาไม่ต้องการถูกมองเป็นคนขี้ฟ้อง) ดังนั้นเมื่อลูกเล่าปัญหาการรังแกให้ฟัง ควรจะบอกให้ลูกรู้ว่า คุณดีใจที่เขาเล่าให้ฟัง และอย่าตำหนิ หรือวิจารณ์วิธีที่ลูกใช้เมื่อถูกรังแก
- อย่าสนับสนุนให้ลูกตอบโต้ด้วยการใช้กำลัง รวมถึงต้องรู้จักระงับอารมณ์ ตรึกตรองให้ถี่ถ้วนว่าจะทำอย่างไรต่อไป
- ติดต่อกับทางโรงเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ อาจจะเป็นครูประจำชั้น หรือครูใหญ่ ให้ข้อเท็จจริงโดยไม่ใส่อารมณ์
ถ้าต้องการติดต่อผู้ปกครองของอีกฝ่ายควรให้โรงเรียนเป็นผู้ประสานงาน ไม่ควรติดต่อไปเอง เพราะเหตุการณ์อาจรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เติมความมั่นใจให้ลูก
- สำหรับเด็กที่ถูกรังแก พ่อแม่สามารถช่วยได้ด้วยการมองหาความสามารถพิเศษ หรือสิ่งที่ลูกถนัดและส่งเสริมให้เต็มที่ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่ออยู่ท่ามกลางหมู่เพื่อน และเด็กที่มั่นใจในตัวเองจะมีท่าทางที่ทำให้เด็กคนอื่นไม่อยาก หรือไม่กล้ารังแก
- ให้ลูกมีโอกาสพบปะกับเพื่อนใหม่ ๆ ที่เป็นมิตร ทั้งในและนอกห้องเรียน หรืออาจจะหากิจกรรมวันหยุดเสาร์อาทิตย์ทำ เพื่อเปิดโลกทัศน์
อ้างอิงข้อมูลจากโครงการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองสุขภาพและสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้