เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย
จากการคลุกคลีกับภาษาอังกฤษตลอดเวลาทำให้คุณพัชมนเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดภาษาอังกฤษให้กับลูก ๆ ประสอบการณ์ตรงกับการสอนลูกสาวคนโต-น้องเอ็นดูที่นำไปฝากคุณตาคุณยายเลี้ยงจนถึง 3 ขวบ หลังจากนำกลับมาเลี้ยงเองแล้วจึงเริ่มต้นสอนภาษาอังกฤษด้วยการสรรหาการ์ตูนสนุก ๆ เป็นภาษาอังกฤษมาให้ดูเป็นประจำ สลับกับการพูดคุยในชีวิตประจำวัน แต่การเริ่มต้นที่ค่อนข้างช้าทำให้น้องเอ็นดูชินกับภาษาไทยเกินกว่าที่จะยอมพูดภาษาอังกฤษแล้วเพราะขัดเขิน และไม่กล้าพูด ในที่สุดก็ทำให้เธอยอมเป็นคนฟังมากกว่าจะยอมโต้ตอบ แม้ว่าเธอสามารถทำข้อสอบวิชานี้ที่โรงเรียนได้คะแนนเต็มร้อยก็ตาม
เมื่อมาถึงลูกสาวคนที่สอง-น้องดีดี บทเรียนจากลูกสาวคนแรกทำให้คุณพัชมนและคุณธนิศรไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป เมื่อน้องดีดีย่างเข้าขวบปีที่สอง คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มพูดคุยกับลูกเป็นภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ สนุกสนานกับภาพยนตร์การ์ตูน หรือนิทานก่อนนอนที่คุณพ่อคุณแม่ผลัดกันเล่าเป็นภาษาอังกฤษพร้อมกับแปลเป็นภาษาไทยประโยคต่อประโยคทุกคืน จนตอนนี้น้องดีดีสามารถเข้าใจเนื้อหาในนิทานได้พร้อมกันทั้งสองภาษา สามารถหยิบยกประโยคที่ได้ยินจากในการ์ตูนมาใช้ หรือพูดคุยโต้ตอบกับคนอื่น ๆ เป็นภาษาอังกฤษประโยคยาว ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติพอ ๆ กับภาษาไทย โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยลอบสังเกตพัฒนาการของลูกอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติ จึงทำให้คุณพัชมนและคุณธนิศรตัดสินใจให้น้องดีดีเข้าเรียนที่โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ เรียนสองภาษาควบกันไปเพื่อปลูกฝังพื้นฐานด้านภาษาที่มั่นคงให้กับลูกไปจนโต
สำหรับลูกคนเล็ก-น้องไพรซ์ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเรียนรุ้จากการพูดคุยกันในครอบครัวในชีวิตประจำวัน น้องไพรซ์มีปฏิกิริยาตอบรับกับคำภาษาอังกฤษง่าย ๆ ได้บ้างแล้ว คุณพัชมนแนะนำว่าสื่อการสอนลูกที่ช่วยได้มากก็คือ หนังสือนิทาน และภาพยนตร์การ์ตูน
“ดิฉันจะเลือกการ์ตูนที่เป็นซาวด์แทร์คของวอล์ทดิสนีย์ให้ลูกดู เลือกเป็นขั้น ๆ จากเรื่องที่ใช้ภาษาง่าย ๆ ไปหายากค่ะ การ์ตูนของดิสนีย์นี้เราต้องยอมรับว่าเด็ก ๆ ดูแล้วไม่เบื่อ และภาษาที่เขาใช้ไม่ถึงกับช้า แต่สำเนียงจะชัด และเป็นภาษาผู้ดี นอกจากนี้ยังสอดแทรกธรรมเนียนกิริยามารยาทที่เด็ก ๆ ควรเรียนรู้ไว้เล็ก ๆ น้อย ให้เด็กดูบ่อย ๆ แล้วเขาจะซึมซับนำไปใช้โดยไม่รู้ตัว
ที่ทราบเพราะเราได้พบมากับตัวค่ะ มีอยู่วันนึงตอนน้องเอ็นดูยังเล็ก ๆ พาลูกไปสวนสนุกแล้วเขาเท้าเจ็บเดินไม่ได้ ก็ให้ลูกขี่คอ อยู่ดี ๆ เขาก็พูดออกมาว่า… no lady no walk today… ชัดมากทั้ง ๆ ที่เขายังเป็นเด็กอนุบาลยังไม่เรียนรู้ประโยคอะไรเลย เขาหยิบประโยคนั้นมาจากในการ์ตูน “เลดี้เอนด์เดอะแทรป์” (Lady and the Tramp) ที่ดูเป็นประจำ นำมาใช้กับสถานการณ์นั้นได้พอดีโดยที่เราไม่ต้องบอก หรือเวลาที่ตัวละครจะเดินจากไปไหน เขาจะพูดว่า Oh please… Excuse me เด็ก ๆ จะจับคำพูดแบบสุภาพนี้นำไปใช้ได้ หรืออย่างเรื่องซินเดอเรลล่าก็สอนวิธีทานซุป เด็ก ๆ จะเรียนรู้กิริยามารยาทต่าง ๆ ซึ่งพ่อแม่จะต้องช่วยสังเกตสิ่งเหล่านี้แล้วคอยสอนเขาระหว่างที่นั่งดูการ์ตูนอยู่ด้วยกันค่ะ”
“พ่อแม่ต้องเป็นคนเลือก นอกจากเลือกโรงเรียนให้เขาไปเรียนรู้แล้ว ยังต้องมาต่อที่บ้านด้วย อย่างน้องดีดีเราพยายามให้เขาชินและให้ความสำคัญของ 2 ภาษานี้เท่ากัน ไม่ให้เขารู้สึกแบ่งแยกว่าเขากำลังพูดภาษาอะไรอยู่ เรียกว่าหากเราพูดภาษาอังกฤษกับเขา เขาก็โต้ตอบมาได้ค่ะ หากว่าเขาพูดผิดตรงไหน เราก็ต้องแก้ไขให้พูดถูกทันทีเพื่อให้เขาจำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่าปล่อยไว้ หากคำไหนเขาไม่รู้เรื่องเช่นคำศัพท์ยาก ๆ ก็ต้องอยู่ที่ศิลปะในการอธิบายของเรา หากคำศัพท์ระดับนี้พูดแล้วงง ก็ลดระดับลงมา เช่น สุนัข พูดแล้วไม่เข้าใจก็เปลี่ยนเป็นหมา..นี่ ยกตัวอย่างเทียบกับภาษาไทยนะคะ
ลดระดับมาจนกว่าเขาจะเข้าใจ แล้วจูงเขากลับไปหาคำนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะก้าวหน้าไปเรื่อ ยๆ ดิฉันคิดว่าหน้าที่ของพ่อแม่ควรจะนำให้เค้าพูด คอยกระตุ้น แก้ไข และคอยกำกับให้เขาพูดได้อย่างถูกต้อง ปลูงฝังภาษาอังกฤษให้เขาอย่างเป็นธรรมชาติโดยการใช้สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีอยู่ในบ้านทุกอย่างให้เป็นประโยชน์ สร้างสภาพแวดล้อมเป็นสากลให้เขา ในบ้านเราทำให้เขาชินตากับตัวเขียน ชินตากับปกหนังสือเล่มนั้น เล่มนี้ ทำให้การพูดคุยภาษาอังกฤษเป็นเรื่องปกติธรรมชาติทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องจับมานั่งคุยเป็นพิเศษ ทำอย่างไรก็ตามที่ทำให้เขารู้สึกสนุกแล้วเขาจะรับภาษาไปโดยไม่รู้ตัวค่ะ อย่างนี้จะได้ผลดีมากกว่า”
คุณพัชมนให้ความเห็นว่า การสอนเด็กให้เริ่มต้นคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษต้องเริ่มเน้นที่การพูด สำหรับการอ่านนั้นจะประเมินจากโรงเรียนเป็นหลัก โดยสังเกตดูว่าเมื่อไหร่ที่โรงเรียนให้ลูกอ่านอะไรก็จะส่งเสริมในเรื่องนั้น ๆ “เพราะโรงเรียนจะมีทฤษฎีอยู่แล้ว เราจะดูว่าเขาเริ่มสอนลูกเราอ่านแล้วหรือยัง พอเขาเริ่มเราก็ตามค่ะ น้องดีดีตอนนี้ต้องเริ่มจากพูดก่อน เริ่มโต้ตอบเรียนรู้ศัพท์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่นเราจะบอกลูกให้ล้างมือด้วยประโยคว่า “Wash your hand” แทน
การที่เราพูดอังกฤษกับลูกบางทีเราก็เขิน แต่พอมาคิดว่าการช่วยเสริมของเรามันคุ้มค่ากับการที่เราส่งเขาไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ แทนที่จะปล่อยเวลาช่วงนี้ไปโดยเรียกกลับมาไม่ได้แล้ว ให้เขาไปเรียนรู้ตอนโตซึ่งจะไม่ได้มากเท่าเรียนตอนเล็ก ๆ อย่างนี้ บทเรียนจากลูกคนโตทำให้เราต้องมาคิดว่าบางทีเราอาจเก็บเงินไว้ได้ แต่เรามาซื้อความสามารถของเขาทดแทนในภายหลังไม่ได้อีกต่อไป เพราะมันเสียไปแล้วเราก็ต้องพยายามค่ะ”
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือการให้เด็กได้เจอกับเจ้าของภาษาจริง ๆ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะจัดหาเครื่องมือเช่น เทปเพลง หนังสือนิทาน หรือวิดีโอภาพยนตร์การ์ตูนที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มพูนประสอบการณ์ในการฟังให้กับเด็ก การพูดกับเด็กบ่อย ๆ หรือการหากลุ่มเพื่อนเล่น
แม้กระทั่งพาเด็กไปเข้าโรงเรียนที่ใช้สองภาษาตั้งแต่แรกเริ่มก็เป็นวิธีฝึกฝนลูกให้มีพื้นฐานทางภาษาต่างประเทศที่ดีไปจนโต แต่หากปัจจัยไม่เอื้ออำนวยในประการหลังนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะทดแทนด้วยการหมั่นพูดหรืออ่านภาษาอังกฤษให้ลูกฟังเสมอ ๆ ให้เขาได้คุ้นเคยและโต้ตอบ ที่สำคัญมากที่สุดคือการสนับสนุนและให้กำลังใจลูกในการพูดภาษาอังกฤษและชี้แนะวิธีการพูดที่ถูกต้อง บรรยากาศที่สนุกสนานเพลิดเพลินในการอ่านนิทานหรือดูการ์ตูนร่วมกับลูกจะเป็นกุญแจในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเปิดรับภาษาอังกฤษให้กับลูกน้อยของคุณ
บางคนสงสัยว่าการให้เด็กพูดสองภาษาพร้อม ๆ กัน จะทำให้เด็กสับสน แต่การวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า เด็กที่พูดได้สองภาษาตั้งแต่เล็ก ๆ นอกจากจะไม่สับสนแล้ว ยังจะเป็นคนที่เรียนรุ้อะไรได้เร็ว และมีทักษะในการแก้ปัญหาได้ดีกว่า ศ.เอลเลน ไบลี่ สต็อค ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยยอร์คจากแคนาดา ผู้ศึกษาด้านพัฒนาการทางภาษาในเด็กหลายร้อยคนกว่า 20 ปี
เชื่อว่าการใช้สองภาษาควบกันจะฝึกเด็กรู้จักลำดับความสนใจ เพราะเขาจะต้องหยุดอีกภาษาหนึ่งไว้ขณะที่กำลังใช้อีกภาษาหนึ่ง ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็กสองภาษาและหนึ่งภาษาถูกขอร้องให้แก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิด จะเห็นว่าเด็กที่พูดสองภาษามีลำดับในการคิดแก้ปัญหาที่ดีกว่าและสามารถมองเห็นเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิดนั้น ความคิดของพวกเขาจะก้าวหน้ากว่าเด็กที่พูดภาษาเดียวอย่างน้อย 1 ปี สิ่งที่ตามมาคือทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความเป็นผู้นำและเชื่อมั่นในตัวเองเมื่ออยู่ท่ามกลางเด็กคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีทักษะในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งมักจะพบว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถทำคะแนนวิชาอื่นที่โรงเรียนได้ดีอีกด้วย
นอกจากเรื่องราวของน้องพลับที่เป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กไทยรุ่นใหม่ยุค Multilingual ในคอลัมน์ก่อนหน้านี้แล้ว ครอบครัวของคุณพัชมน ชาวสวน ก็เป็นครอบครัวไทยอีกครอบครัวหนึ่งที่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้ลูก ๆ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เธอมีเทคนิควิธีอย่างไรลองมาอ่านเรื่องราวต่อไปนี้ค่ะ
พ.ต.ต.หญิง พัชมน ชาวสวน และครอบครัวอันประกอบด้วย คุณธนิศร เมฆนริทธิ์ สามี และลูก ๆ 3 คน น้องเอ็นดู อายุ 13 ปี, น้องดีดี – 4 ปี และน้องไพรซ์ – 1 ปีครึ่ง เป็นครอบครัวหนึ่งที่เลือกใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสอนลูก ๆ ตั้งแต่เล็ก เพราะเห็นว่าเด็ก ๆ ในวันหน้าคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตในสังคม คุณพัชมนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ โดยทำหน้าที่เป็นล่ามแปลให้กับ “สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศ ว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย” (International Law Enforcement Academy – Bangkok หรือ ILEA-Bangkok) องค์การระหว่างประเทศซึ่งทำหน้าที่ฝึกอบรมด้านวิชาการให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานในเมืองไทยและนานาชาติ
ก่อนหน้านี้คุณพัชมนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำแผนกองค์การตำรวจสากล กองการต่างประเทศของกรมตำรวจ และเป็นตำรวจหญิงไทยเพียง 1 ใน 2 คนของประเทศ ที่เคยเข้ารับการฝึกอบรมกับองค์กร FBI ประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว เรียกได้ว่าคุณพัชมนใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการทำงานมาตลอด กว่าจะมาเป็นขนาดนี้คุณอาจจะเหนือความคาดหมายเล็กน้อยหากได้ยินเธอยืนยันว่า เธอได้พื้นฐานที่ดีจากการเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนและมหาวิทยาลับในประเทศไทยเรานี้เอง
“ดิฉันเรียนจบจากม.รามคำแหง เอกภาษาศาสตร์ภาษาอังกฤษ โทสื่อสารมวลชน เรียนมัธยมจากโรงเรียนประจำจังหวัดที่ จ.สิงห์บุรี ค่ะ มาจากครอบครัวคนธรรมดาอยู่ต่างจังหวัดไม่ได้ร่ำรวย พ่อแม่ก็ไม่มีการศึกษาสูง สื่อการสอนที่จะช่วยกระตุ้นก็ไม่มี ถึงจะเป็นเด็กเรียนแต่ไม่ได้ขยันเรียนมากไปกว่าคนอื่น แต่ทำไมเราถึงพูด ฟัง และเขียนภาษาอังกฤษได้ดีมากกว่าคนอื่นอีกหลา ย ๆ คนในรุ่นเดียวกันทั้ง ๆ ที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษค่อนข้างช้า คือประมาณ ป.5 เคยนึกย้อนหลังดูก็จับได้ว่าสิ่งที่ต่างจากคนอื่น ๆ อยู่ตรงจุดเริ่มต้นบางจุดคือ ครูที่มาสอนภาษาอังกฤษเราแต่ละขั้นตอนมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน คนแรกที่มาสอน ABCD จะเน้นพูดออกสำเนียงให้ชัดแบบฝรั่งจริง ๆ ไวยกรณ์ไว้ทีหลังก็ได้
ส่วนคนที่สองเน้นเรื่องศัพท์ เป็นคนที่เล่าอะไรสนุก ๆ ทำให้เราอยากรู้ว่าอันนั้นอันนี้แปลว่าอะไร ชอบหากิจกรรมที่ทำให้เด็กท่องศัพท์ได้ ส่วนคนที่สามจะเป็นคนสอนไวยากรณ์ที่เคร่งครัดมาก และบุคลิตของครูสอนภาษาอังกฤษต้องเป็นคนที่ทันสมัย เก๋ ดูคล่องแคล่วว่องไวดึงดูดให้เราชอบ ทำให้คิดว่าถ้าเราพูดภาษาอังกฤษได้เราต้องเก๋อย่างนี้แน่เลย การที่ได้เรียนกับครูเหล่านี้ทำให้เรามีพื้นฐานแน่นและชอบเรียนภาษาอังกฤษไปโดยปริยายค่ะ”
“เห็นเด็กสมัยนี้แล้วอิจฉา…” เพื่อนสาวคนหนึ่งพูดขึ้นลอย ๆ หลังจากเปิดโทรทัศน์ผ่านสถานีเพลง 24 ชั่วโมงสถานีหนึ่งแล้วเห็นพิธีกรหนุ่มสาววัยรุ่นหน้าไทยพูดภาษาอังกฤษกับผู้ชมกันคล่องปรื๋อ ทำให้ผู้เขียนอดถามต่อไปไม่ได้เพราะอยากรู้ว่าคิดอะไรอยู่ แล้วก็ได้คำตอบจากคำปรารภต่อมาที่ว่า “เด็กสมัยนี้พูดภาษาอังกฤษเก่ง ๆ กันทั้งนั้นเลย ไม่ยักเหมือนรุ่นเรา…!!”
ฟังแล้วก็โดนใจค่ะ เพราะปัญหาเรื่องการพูดภาษาอังกฤษให้ดีนั้นเป็นเหมือนหนามยอกอกคนไทยมานานแล้ว ถึงบางคนจะเข้าข้างตัวเองว่าไม่ใช่ภาษาพ่อแม่เรา ไม่จำเป็นต้องพูดให้ดีนักก็ไม่เห็นจะเป็นไร แต่เชื่อเถอะว่าถึงอย่างไรยุคนี้แล้วพูดอังกฤษเก่งไว้ก็ย่อมจะดีกว่า เพราะเห็น ๆ กันอยู่ว่าคนที่เก่งภาษามักจะมีโอกาสดีกว่าแทบทุกด้าน
ไหนจะหน้าที่การงานที่ก้าวเร็วและไกลกว่า เพราะเจ้านายคงเล็งเห็นแล้วว่าจะส่งให้ไปต่อกรกับใครฝรั่งหรือไทยก็สื่อสารกันเข้าใจ ไปอยู่ที่ไหนในโลกก็ไม่ต้องกลัวอดตาย ดูหนัง ฟังเพลง ท่องอินเตอร์เน็ต แม้กระทั่งตำราเรียนระดับสูง ๆ ก็เป็นกาษาอังกฤษทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าภาษาเราดีพอจะเถียงกับฝรั่งได้แล้วล่ะก็ เรื่องมันสมองกับความฉลาดนั้นหายห่วง เพราะพี่ไทยเราก็ไม่ด้อยกว่าใครอยู่แล้ว
มันช่วยไม่ได้ที่ความรู้เรื่องของการเตรียมความพร้อมด้านภาษาในวัยเด็กเล็กเพิ่งจะมีการศึกษาและเผยแพร่กันอย่างจริงจัง เมื่อไม่นานมานี้เอง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ลูกอ่อนสมัยยี่สิบกว่าปีก่อนตั้งตัวไม่ทัน ผิดกันกับคุณพ่อคุณแม่สมัยนี้ยุคที่โรงเรียนนานาชาติเปิดกันแพร่หลาย สมัยก่อนมีไม่กี่โรงเรียนแถมเลือกรับแต่ลูกหลานชาวต่างชาติเข้าเรียน
ถ้าเราไม่ได้เป็นลูกครึ่ง มีคุณพ่อคุณแม่เป็นนักเรียนนอก หรือไปเกิดและโตที่เมืองนอก โอกาสได้พูดอังกฤษตั้งแต่วัยหัดพูดก็น้อยลง อย่างมากที่สุดก็ได้เริ่มเรียน ABC ในชั้นอนุบาล บางโรงเรียนเริ่มที่ชั้น ป.1 หรือโรงเรียนของรัฐให้เริ่มที่ชั้น ป.5 ด้วยซ้ำ คำถามหนึ่งที่ตามมาคือ ฉันก็เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กเหมือนกันแต่ทำไมยังพูดได้ไม่ดีเหมือนเจ้าของภาษาสักทีเล่า?
การศึกษาเกี่ยวกับเด็กที่เรียนรู้สองภาษา (bilingual) หรือหลาย ๆ ภาษาพร้อมกัน (multilingual) พอจะช่วยตอบคำถามนี้ได้ ศ.ดร.แพทริเซีย เค คูห์ล. ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์การพูดและการฟัง และเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาทางจิต สมอง และการเรียนรู้ ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา อธิบายทฤษฎี “Native Language Magnet Theory (NLM)”
ทารกแรกเกิดทุกคนนั้นเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเรียนรู้ภาษาใด ๆ ก็ได้ การวิจัยของดร.คูห์ล แสดงให้เห็นว่า ใน 6 เดือนแรก เด็กทารกจะมีการบันทึกรูปแบบของเสียงที่เขาได้ยินไว้ในสมองขึ้นอยู่กับภาษาที่เปิดรับ เขาสามารถเรียนรู้เสียงและลักษณะของน้ำเสียงที่แตกต่างกัน แล้วจะเริ่มเปล่งเสียงตามภาษาที่ได้ยินออกมา เมื่อครบขวบปีเขาจะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในภาษาที่เขาได้ยินเป็นประจำ (ภาษาแม่) จากนั้นความสามารถในการจำแนกลักษณะที่แตกต่างของเสียงจะค่อย ๆ สิ้นสุดลง จึงหมายความว่า หากเด็กได้ยินสำเนียงภาษามากกว่าหนึ่งภาษาตั้งแต่ช่วงขวบปีแรกจะสามารถเรียนรู้และพูดภาษานั้นตามได้โดยอัตโนมัติประดุจภาษาแม่
ยิ่งหากได้ยินสำเนียงที่แท้แบบเจ้าของภาษามาเอง โอกาสเลียนแบบการพูดที่ถูกต้องก็ยิ่งมีมากขึ้น การเรียนรู้นี้จะเป็นพื้นฐานช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการเรียนภาษาอื่น ๆ ที่หลากหลายได้ในเวลาต่อมา ทฤษฎีนี้ช่วยอธิบายข้อสงสัยที่ว่าทำไมเด็กลูกครึ่งหรือชาวต่างชาติในเมืองไทยบางครอบครัวจึงสามารถพูดได้ทั้งภาษาของชาตินั้นและภาษาไทยตั้งแต่เริ่มหัดพูด
หลายงานวิจัยจิตเวชยืนยันว่าการเรียนภาษาหลาย ๆ ภาษาตั้งแต่เด็กจะง่ายกว่าเรียนเมื่อโตแล้ว การใช้เทคนิคจำลองภาพกิจกรรมของสมองในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงด้วยแรงสั่นสะเทือนของแม่เหล็กโดยนักวิจัยจากศูนย์โรคมะเร็งสโลน-เค็ทเทอร์ริ่งในนิวยอร์ค พบว่าผู้ใหญ่ที่เรียนสองภาษาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ มีการเก็บภาษาทั้งสองไว้ด้วยกันในพื้นที่เดียวกันในสมอง จึงสามารถใช้ภาษาที่สองได้เหมือนกับเป็นภาษาแม่อีกภาษาหนึ่ง
หากคนที่เรียนภาษาที่สองตอนที่โตแล้วจะใช้เนื้อที่สมองคนละส่วนกัน ดังนั้นเขาจึงแนะนำว่าการให้เด็กเรียนรู้ภาษาที่สองหรือสามควรเริ่มตั้งแต่ตอนเป็นเด็กเล็ก ๆ ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะหากเข้าสู้วัยผู้ใหญ่แล้วยิ่งเรียนรู้ได้ยากขึ้น เข้าทำนองไม้อ่อนดัดง่าย ไม่แก้ดัดยาก นั่นเอง
คุณพ่อคุณแม่ครับ หากลูกเราไม่ได้เรียนโรงเรียนนานาชาติ ไม่ได้เรียนโรงเรียนอนุบาลสองภาษา ไม่ได้เป็นญาติกับฝรั่งหรือมีเพื่อนบ้านท่่ี่เป็นชาวต่างชาติ เราก็สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้กับลูกของเราได้ครับ สร้างขึ้นภายในบ้านนี่แหละครับ เพราะวัยที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาก็คือตอนเด็กนี่แหละครับ อย่าให้เด็กๆพลาดโอกาสทองครับ เราลองมาดูวิธีง่ายๆกันครับว่าคุณพ่อคุณแม่ทำอะไรได้บ้าง
1. คุณพ่อคุณแม่หลายคนลืมไปนะครับว่าตัวเองก็พอจะพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง แม้จะงูๆปลาๆก็เถอะ ครับผมกำลังจะบอกว่าพูดภาษาอังกฤษกับลูกบ้าง คำง่ายๆวันละเล็กวันละน้อยในชีวิตประจำวันนี่แหละครับ เพื่อสร้างความคุ้นเคยภาษาอังกฤษให้กับลูกๆ ของเราครับ
2. ซื้อหนังสือนิทานภาษาอังกฤษที่มีภาพสวยงามเก็บเอาไว้ที่บ้านบ้าง เพราะหนังสือเหล่านี้ดึงดูดความสนใจของเด็กครับ แม้ว่าเข้าจะยังอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกก็ตาม แต่เขาก็จะเริ่มซึมซับภาษาอังกฤษโดยอัติโนมัติ และอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่เด็กไม่รู้สึกฝืนใจหรือรู้สึกว่าถูกบังคับให้เรียนครับ
3. เปิดเพลงภาษาอังกฤษสำหรับเด็กให้ลูกฟัง แล้วลูกๆของคุณพ่อคุณแม่จะร้องตามเองแหละครับ เพลงเข้าถึงจิตใจเด็กได้ง่ายมากครับ
4. การ์ตูนภาษาอังกฤษครับ เด็กๆรับได้ง่ายมากหามาให้ลูกดูครับ ถ้าไม่รู้จะหาการ์ตูนที่เป็นภาษาอังกฤษได้จากที่ไหน ก็ติดตามที่ Blog นี้แหละครับ จะมีอะไรดีๆสำหรับการศึกษาอีกมากมานำเสนอครับ
5. สุดท้ายที่พอนึกได้ก็คือเกมที่เป็นภาษาอังกฤษครับ แต่เน้นเกมที่สะอาดหน่อยนะครับ เพราะสมัยนี้มีเกมที่รุนแรงหรือไม่เหมาะสมกับเด็กอยู่มากครับ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าการเรียนภาษาที่สองทำให้สมองพัฒนามากขึ้นนักวิจัยจากมหาวิยาลัยลอนดอนได้ทำการศึกษาการทำงานของสมองจำนวน 105 คน โดย 80 ในกลุ่มผู้เข้ารับการทดสอบนั้นเป็นผู้ที่สามารถพูดได้สองภาษา พบว่า การเรียนภาษาอื่นสามารถพัฒนาสมองส่วนสีเทา ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้ในการประมวลผล คล้ายกับการออกกำลังกายให้กับกล้ามเนื้อ
คนที่เรียนรู้ภาษาที่สองตั้งแต่วัยเด็กนั้นมีสมองส่วนสีเทาพัฒนามากกว่าผู้ที่เริ่มเรียนเมื่อโตขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้ว่าสมองสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัวมันเองเมื่อได้รับการกระตุ้น แต่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การเรียนภาษาเป็นทางหนึ่งในการพัฒนาสมองด้วย
ทีมวิจัยได้ตรวจสอบกลุ่มตัวอย่างชาวอังกฤษจำนวน 25 คนที่ไม่สามารถพูดภาษาที่สองได้ และอีก 25 คนที่สามารถพูดภาษาแถบยุโรปภาษาอื่นก่อนอายุ 5 ปี และอีก 33 คนที่สามารถพูดได้สองภาษาระหว่างอายุ 10-15 ปี
การตรวจสอบพบว่า ในผู้ที่สามารถพูดได้สองภาษานั้น สมองส่วนสีเทาในสมองซีกซ้ายมีความหนาแน่นมากกว่าผู้ที่ไม่ได้พูดภาษาที่สอง โดยผลการตรวจสอบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature
งานวิจัยนี้ได้ทำการตรวจสอบซ้ำในการศึกษาชาวอิตาลีจำนวน 22 คนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองเมื่ออายุ 2 ปีและ 34 ปี
แอนเดรีย มีเชลลิ หัวหน้าหน่วยวิจัยสถาบันทางประสาทวิทยา ที่ UCL กล่าวว่า งานวิจัยนี้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเด็กเล็ก ๆ จึงสามารถเรียนรู้ภาษาที่สองได้เร็วกว่า
งานวิจัยนี้แสงให้เห็นว่า ผู้เรียนภาษาที่มีอายุมากนั้นไม่มีความสามารถในการเรียนเท่ากับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า แต่ คลิต ศูนย์สถาบันภาษาแห่งชาติได้ให้ข้อสงสัยเกี่ยวกับการเรียนภาษาเมื่อวัยเด็กว่า ยังขาดหลักฐานยืนบันการเปรียบเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้นของการศึกษาพื้นฐานของกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ งานวิจัยนี้ทำให้คนเริ่มเรียนภาษาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจากการสำรวจพบว่า คนทำงานในประเทศสหราชอาณาจักรเพียง 1 ใน 10 ที่สามารถพูดภาษาต่างชาติได้ แต่ในปี 2010 นี้โรงเรียนประถมจะมีการบังคับให้เด็กเริ่มเรียนภาษาในโรงเรียน
ผศ.ดร. กุลยา ตันติผลาชีวะ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วารสาร การศึกษาปฐมวัย ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 ตุลาคม 2541 หน้า 28 - 34
"อยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ ควรเริ่มเรียนเมื่อไรดี"
"ตอนนี้ลูกอยู่อนุบาล 3 จะส่งไป Summer Course สำหรับเด็กดีไหมคะ"
"อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนฝรั่ง จะได้เก่งอังกฤษ จริงไหมคะ"
"เด็กเรียน 2 ภาษาจะสับสนไหมครับ"
หลากหลายคำถามของผู้ปกครอง แสดงให้เห็นถึงความห่วงใย และให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ ซึ่งเชื่อว่า เป็นภาษาสำคัญสำหรับการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ การใช้คอมพิวเตอร์ และการศึกษาค้นคว้าตำราซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ นับวันภาษาอังกฤษจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การเตรียมเด็ก การช่วยให้เด็กเรียนรู้และเก่งภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ผู้ปกครอง : ดิฉันอยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ จะส่งลูกเข้าโรงเรียนเซนต์ ต่าง ๆ ก็ไกลมาก เดินทางลำบาก จะให้อยู่หอพักก็สงสารเพราะยังเล็ก เลยให้เรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน ซึ่งคิดว่าดีที่สุด แต่โรงเรียนที่ลูกเรียนนี้ไม่มีสอนภาษาอังกฤษระดับอนุบาล กว่าจะได้เรียนภาษาอังกฤษจริงต้อง ป.5 จะช้าเกินไปไหมคะสำหรับการเรียนภาษา
ตอบ การเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษาใด ๆ ก็ตามของเด็กปฐมวัยไม่จำเป็นต้องเรียนแบบอ่าน คัด เขียน อย่างเป็นระบบวิธีการในโรงเรียน เด็กปฐมวัยสามารถเรียนภาษาได้โดยใช้ประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ตามหลักการเรียนภาษาโดยใช้ประสบการณ์เป็นฐาน (whole language) เป็นวิธีการเรียนภาษาจากพื้นฐานประสบการณ์เดิมของเด็ก แล้วบูรณาการการอ่าน เขียน ฟัง และพูดด้วยการได้เห็น การเข้าไปมีส่วนร่วม การสอนแบบนี้ ครูจะมีรูปแบบของการฝึกภาษา และ การส่งเสริมให้รักการอ่าน จากคำที่เด็กคุ้นเคย ซึ่งผู้ปกครองสามารถสอนเองได้เช่นกันโดยจัดหาอุปกรณ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือที่จูงในให้เด็กอยากเปิดอ่านเองได้ ด้วยตัวของผู้ปกครองเอง แล้วนำคำที่เด็กเคยรู้เคยเห็นมาสอน เช่น Bus, Hotel เป็นต้น
ผู้ปกครองสามารถสอนเด็กได้ง่าย ๆ จากกิจกรรมต่อไปนี้
1. ฝึกเด็กให้รู้จักสังเกตคำที่ปรากฏทั่วไป ชี้ให้ดูพยัญชนะ คำภาษาอังกฤษจากโทรทัศน์ สิ่งของเครื่องใช้ คำ โฆษณา หนังสือพิมพ์ และศัพท์ที่ปรากฏทั่วไป ผู้ปกครองต้องชี้ อ่านให้เด็กฟัง พร้อมแปล แล้วให้เด็กลองออกเสียง อาจร้อง เป็นทำนอง เด็กจะสนุกและเกิดการเรียนโดยอัตโนมัติ ขณะนั่งรถไปตามทางจงใช้โอกาสว่างระหว่างนั่งรถในการสอนภาษาอังกฤษกับเด็กทุกครั้ง เพราะเด็กกำลังตื่นตัวกับประสบการณ์ข้างทาง
2.อ่านให้ฟัง นิทานกับเด็กเป็นของคู่กัน เด็กชอบฟังนิทานและเรียนรู้หลายอย่างจากนิทาน ผู้ปกครองควรอ่านนิทานเป็นภาษาอังกฤษและแปลเป็นไทยให้เด็กฟัง การฟังเป็นประจำทุกวันจะทำให้เด็กจำได้ สนุกทั้งนิทาน และได้เรียนรู้ทั้งภาษาอังกฤษ เวลาเล่านิทานที่เหมาะมาก คือ ก่อนนอน ควรอ่านเรื่องซ้ำ ๆ เด็กไม่เบื่อที่จะฟังนิทานซ้ำเรื่อง โดยเฉพาะ เรื่องที่ประทับใจ การอ่านซ้ำ การเล่าซ้ำจะทำให้เด็กจำเรื่อง จำศัพท์ จำประโยคและสำนวนภาษาเก็บไว้ในใจลึก ๆ ได้ ประการสำคัญเมื่อเล่านิทานจบลง ควรทบทวนศัพท์สัก 2 - 3 คำก่อนจะเลิกเล่า แต่ถ้าเล่าแล้วเด็กหลับไปก่อน ไม่เป็นไร อาจถามทบทวนในวันใหม่ได้ การได้ฟังได้พูดซ้ำ ๆ หลายครั้งเด็กจะจำศัพท์ได้ดี ศัพท์ที่ทวนควรเป็นศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์เด็ก เช่น เล่าเรื่อง หนูกับราชสีห์ ศัพท์ที่ทวน ได้แก่ Rat, Lion, Tree ไม่ใช่ relation, meet ซึ่งไกลประสบการณ์เด็กเว้นแต่คุ้นกับคำง่ายแล้ว จึงเพิ่มเติมคำไกลตัว ข้อสำคัญอย่าสอนสะกดคำหรือคาดคั้นให้เด็กท่องศัพท์ เด็กจะเครียดและเกลียดภาษาอังกฤษในที่สุด เด็กอาจท่องตามท่านเป็นนกแก้ว นกขุนทอง เด็กจะฝังความรู้สึกความไม่ชอบอยู่ภายใน จงให้เด็กได้เรียนแบบสนุก เรียนปนเล่นเหมือน คำว่า Plearn (เพลิน) Play + learn ของศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ สมุทรวานิช เด็กจะเรียนรู้และจำได้อย่างมีความสุข
3.สร้างความคุ้นเคยด้วยการใช้บทสนทนา ทักทายอย่างง่ายเป็นประจำ เมื่อพบเด็ก เช่น
Good morning, How are you?
What is your name?
Where are you going?
ควรถามซ้ำ ๆ การถามซ้ำทำให้จำได้แล้วจึงขยายประโยคต่อไป จากคำตอบนี้ต้องการบอกให้ผู้ปกครองทราบว่าไม่ต้องหาโรงเรียนให้ยุ่งยากใจ ผู้ปกครองสามารถสอนเองได้ สอนที่บ้าน สอนขณะเดินทาง สอนด้วยตนเอง ไม่ช้าเกินไปในการเรียนภาษาอังกฤษ ถ้าผู้ปกครองใส่ใจ แม้เด็กจะเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีการสอนภาษาอังกฤษเลยก็ตาม
ผู้ปกครอง : การเรียนรู้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย ควรปลูกฝังตอนอายุเท่าไรและควรเริ่มสอนอย่างไรลูกจึงไม่สับสน
ตอบ การเรียนรู้ที่มากกว่า 1 ภาษา เป็นส่งจำเป็นหรือเป็นประโยชน์สำหรับคนในโลกปัจจุบัน นอกจากภาษาปากของพ่อแม่แล้ว การได้เรียนภาษาอื่นยิ่งเป็นการดีสำหรับเด็ก โดยเฉพาะการเรียนโดยธรรมชาติจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ลูกไทยในครอบครัวจีน ถ้าอาหม่า อากงจะใช้ภาษาจีนกับลูกก็ควรให้ถือเป็นปกติ และสนับสนุนให้พูด เด็กก็ได้เรียนรู้ อีก 1 ภาษา หากปู่ย่า ตายาย เป็นฝรั่งก็ควรให้ลูกได้ฝึกได้เรียนภาษาฝรั่งไปด้วย แต่หลักการที่สำคัญเมื่อกลับมาใช้ภาษาพ่อ แม่ พ่อแม่ก็ต้องสอนและใช้ภาษาของตนให้ถูกต้อง ถ้าจะกล่าวถึงภาษาอื่นก็ให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน การเรียนภาษาโดยธรรมชาติจากครอบครัวนี้เรียนเมื่ออายุเท่าไรก็ได้ แต่ถ้าเรียนในโรงเรียนควรเริ่มได้ตั้งแต่อนุบาลเด็กเล็ก 3 ขวบขึ้นไป เพราะเป็นวัยของการเรียนรู้ที่งอกงามและรวดเร็ว เด็กจะเริ่มเรียนรู้ภาษาจากศัพท์ ประโยคแล้วตามด้วยเรื่องราวยาว ๆ การได้ฟังการพูดที่ดีถูกต้อง จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้กฎไวยากรณ์ การออกเสียงของเด็กและคำต่าง ๆ มาจากการเลียนแบบการพูดของคนรอบข้าง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ถ้าจะพูดกับเด็กจะต้องตระหนักต่อการใช้ประโยคที่ถูกต้อง มีไวยากรณ์ที่เหมาะสมกับวัยเด็ก ไม่ควรใช้ภาษาไม่สวยกับเด็ก
ผู้ปกครอง : เด็ก 3 ขวบเรียนในโรงเรียนนานาชาติ แต่พอกลับบ้านพ่อแม่สื่อสารด้วยภาษาไทย เด็กจะเกิดความสับสนหรือไม่ วัยนี้เหมาะหรือไม่ถ้าจะเรียนในโรงเรียนนานาชาติ
ตอบ ไม่เป็นปัญหาสำหรับเด็ก เพราะเด็ก 3 ขวบมีวุฒิภาวะที่จะเรียนภาษาได้แล้วเริ่มใช้ประโยคได้ เด็กอาจเก่งภาษาหนึ่งมากกว่าอีกภาษาหนึ่ง หรือเก่งเท่ากันทั้งสองภาษา คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องห่วงเพียงแต่ว่า คุณพ่อคุณแม่ใช้ภาษาของตนให้ถูกต้องก็แล้วกัน กับข้อคำถามว่าวัยนี้เหมาะจะเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ว่าจะให้เรียนเพื่ออะไร ถ้าเป็นเพราะว่าครอบครัวต้องไปต่างประเทศบ่อย หรือมีเจตจำนงค์โดยแท้ว่าต้องการให้ลูกเก่งภาษาที่สองโดยใช้สิ่งแวดล้อมทางภาษาก็อาจให้เข้าเรียนได้ แต่ถ้าให้ลูกเรียนเพื่อสนองความต้องการคุณพ่อคุณแม่เพราะรู้สึกเท่ห์ดี ทัดเทียมเพื่อนบ้าน ไม่ควรให้เรียน เหตุผลเพราะคุณพ่อคุณแม่จะไม่ตระหนักต่อการใช้ภาษาของเด็ก ทำให้เด็กสับสนทางภาษา ไม่มั่นใจตนเอง มีภาพลักษณ์กับตนเองไม่ดี เช่นไปลุ้นให้เด็กใช้ภาษาต่างประเทศมากเกินไป หรือปล่อยปละละเลยภาษาตนเองทำให้ใช้ภาษาสับสนได้
อีกประการหนึ่ง โรงเรียนนานาชาติไม่ใช้โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ แต่โรงเรียนนานาชาติเป็นโรงเรียนที่จัดขึ้นเพื่อให้เด็กต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ที่ต้องมาอาศัยอยู่ ณ ประเทศหนึ่งได้ศึกษา ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่ต่างไปจากตนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางการเรียน ไม่ได้มุ่งให้เรียนภาษาอังกฤษ ดังนี้การเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ จึงไม่ได้ยืนยันถึงการเรียนรู้ทางภาษาอย่างแท้จริง
ความคุ้นเคย ความเคยชินและความสม่ำเสมอในการใช้ภาษาจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ภาษาได้เท่า ๆ กับการเรียนในโรงเรียนจริง ถ้าผู้ปกครองต้องการให้เด็กรักภาษา ไม่จำเป็นต้องให้ลูกไปเข้าโรงเรียนนานาชาติที่ต้องเครียดกับการปรับตัวอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะจะมีเด็กหลากหลายชาติ หลายภาษามาเรียนร่วมกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของพ่อแม่พร้อมที่จะปรับให้เป็นความเพลิดเพลินสำหรับเด็ก ๆ
ผู้ปกครอง : สมัยนี้ภาษาอังกฤษมีความจำเป็น ต้องรู้อ่าน เขียน พูด ดิฉัน คิดว่า คนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง ไม่กล้าพูด เพราะเราไม่คุ้นปากคุ้นหู หรืออาจเป็น เพราะเราเรียนกับครูไทยใช่หรือไม่ สมควรไหมว่า เราควรจ้างฝรั่งมาสอนลูกเสียแต่เล็กเลยจะได้คุ้นกับสำเนียงภาษา
ตอบ : จุดประสงค์ของการเรียนภาษาทุกภาษา มุ่งที่เขียน อ่าน พูด และสื่อสารได้อย่างเข้าใจถูกต้องเหมือนกัน แต่การที่เด็กไทยเรียนภาษาที่สองแล้วยังไม่คล่องนั้นเป็นเพราะการจูงใจในการเรียนมากกว่า มีทฤษฎีการเรียนรู้หลายทฤษฎีที่บอกว่าคนเรียนรู้ได้ เช่น บางทฤษฎีบอกว่า ถ้าถูกวางเงื่อนไข เช่น ขู่บังคับลงโทษต้องท่องให้ได้ จำให้ได้ถ้าไม่ได้ถูกตี แต่บางทฤษฎีบอกว่าการให้รางวัลจะทำให้คนเรียนรู้ดี บางทฤษฎีเน้นการให้กำลังใจ ซึ่งหลากทฤษฎีหลากวิธีการ แต่การเรียนภาษาขึ้นอยู่กับบรรยากาศของการเรียนและความคุ้นเคยมากกว่า เพราะการเรียนภาษาเป็นการเรียนที่เกิดโดยธรรมชาติ หากผู้นั้นสนใจ
การที่เด็กไทยไม่ชอบภาษาอังกฤษ บางคนเขียนได้ อ่านได้ไม่กล้าพูด ขาดความมั่นใจ เป็นเพราะกลวิธีการสอนภาษาอังกฤษของเราส่วนใหญ่เน้นการท่องจำแบบบังคับไม่ใช่จากอยากทำเอง และครูพร่ำว่ายาก ไม่พยายามทำยากให้เป็นง่าย และสุนทรีย์ ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว เด็กเกิดมาพร้อมกับความสามารถที่จะเรียนรู้ภาษา การสร้างประโยค การบอกความหมายคำที่ถูกต้อง เด็กเรียนรู้ภาษาจากครอบครัวอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถฝึกหัดเขียนได้ตามแบบของตน โดยไม่ต้องเข้าเรียน การเรียนภาษาที่ดีต้องให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีต่อภาษาใหม่ที่เรียน การหัด อ่าน เขียน ต้องให้เป็นไป ตามความพร้อมของเด็กซึ่งเด็ก 3 ขวบก็เรียนภาษาได้แล้ว การให้ความรัก ความอบอุ่น สร้างความสนใจ ในการอ่านการเขียน เป็นสิ่งสำคัญ
เรียนภาษาจะสนุกถ้าไม่ทุกข์กับภาษา การเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อยจะดีมาก ไม่จำเป็นต้องให้เจ้าของภาษาสอน สำเนียงภาษาเด็กอาจเรียนรู้และปรับได้เมื่อโตขึ้น เราควรเน้นการสื่อภาษาที่ดีที่สุดมากกว่า พูดภาษาได้สำเนียง เหมือนที่สุด เพราะภาษาที่ 2 ไม่ใช่ภาษาปากของพ่อแม่จึงยากที่จะทำให้เหมือนจริง เว้นแต่อยู่ในบรรยากาศเจ้าของภาษาตั้งแต่แรกเกิด เด็กอาจฝึกได้เมื่อเขาโตขึ้น การสร้างการเรียนรู้ทางภาษา ต้องเริ่มจากการให้เด็กเรียนรู้จากคำที่ใช้พูดในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเป็นคำที่เด็กนึกเป็นภาพได้ และเป็นคำคุ้นตา เด็กจะเข้าใจและสร้างกรอบแนวคิดจากคำได้ เช่น dog cat เป็นต้น ถ้าเด็กสามารถเริ่มเรียนภาษาจากสิ่งที่เด็กพูดออกมาได้อย่างเข้าใจ และเห็นภาพในใจเด็กเป็นรูปธรรม เด็กจะพอใจมาก อยากออกเสียง อยากพูด ข้อสำคัญถ้าเด็กพูดไม่ชัด ไม่ถูกต้อง อย่าล้อเลียน แต่ผู้ปกครองต้องออกเสียงทวนใหม่ให้ถูกต้องชัดเจน เด็กจะฟังและรับรู้ได้
สรุป ข้อความรู้เกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษ ปัญหาการเรียนภาษาที่ 2
ภาษาที่ 2 หมายถึงภาษาอื่นที่มิใช่ภาษาแม่ของบุคคลคนนั้น สำหรับเด็กไทยการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยนับเป็นการเรียนภาษาที่ 2 เมื่อเด็กเข้าชั้นเรียนเด็กจะรู้สึกเครียดด้วยไม่คุ้นเคย อึดอัดกับการเรียน เพราะมีทั้งศัพท์ใหม่ ไวยากรณ์ใหม่ ที่ต้องสร้างความเข้าใจและสื่อสารให้ได้เป็นความกังวลสำหรับเด็กทุกคน การถ่ายทอดความรู้สึกว่ายาก ความน่ากลัวทำให้เป็นปัญหาการเรียนภาษาที่ 2 ของเด็ก ซึ่งไม่แต่ภาษาอังกฤษ อาจเป็นภาษาจีน หรือภาษาอื่น ๆ ด้วย
© 2024 Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก. Powered by
You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!
Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้