เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

สอนลูกเองก็ได้...ง่ายจัง13 : Floortime เวลาทอง ของครอบครัว



ฉิก : หวัดดีครับ กลับมาต่อกันเรื่องแนะนำหนังสือกันต่อดีกว่า
วันก่อนมีลงรูปหนังสือ floortime เอาไว้
คุณป้อมช่วยบอกนิดนึงซิครับ ว่าเล่มนี้เป็นยังไง

ป้อม : สุโค่ยยยยยยย....จบข่าว

ฉิก : อะไรนะครับ ดูข้อย?

ป้อม : ม่ายช่ายๆ สุโค่ย....ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ยอดเยี่ยมน่ะครับ

ฉิก : งั้นเหรอ ช่วยขยายความเยอะๆหน่อยจะได้มั้ยครับ

ป้อม : อ้าว! ก็เห็นบอกว่า ให้พูดนิดเดียว ปั้ดโธ่!

OK คืองี้ครับ ช่วงหลังๆมานี่ผมเห็นพวกพ่อๆแม่ๆเรานี่ ไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่กับลูกกันซักเท่าไหร่เลย

คิดดูนะครับ วันๆเราต้องไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวกันงกๆๆๆๆๆ ทั้งพ่อทั้งแม่เลย เพราะ หาคนเดียวไม่ค่อยจะพอแล้ว ทีนี้ลูกเราจะอยู่กับใครล่ะ ก็อยู่กับย่าๆยายๆมั่ง อยู่กับพี่เลี้ยงมั่ง อยู่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กบ้าง เช้าๆเราออกไปทำงานตั้งแต่ลูกยังไม่ตื่น กลับมาจากทำงานลูกก็หลับไปซะแล้ว

พอโตขึ้นหน่อยเราก็เอาเข้ารร. ตั้งแต่ชั้นบริบาล อนุบาล จนเข้าชั้นประถม
วันหยุดเสาร์อาทิตย์แทนที่จะได้อยู่กับลูกๆ ก็ต้องให้ลูกไปเรียนขี่ม้า ยิงธนู เอ้ย!!! ไม่ใช่ ต้องไปเรียนกวดวิชา เรียนดนตรี กีฬา ศิลปะ กันสารพัดสารเพ ไม่งั้นเดี๋ยวน้อยหน้าเพื่อนๆซะอีก เวลาว่างที่พอจะมีบ้าง ลูกเราก็ดันอยากพักผ่อนดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เล่นเน็ตซะอีก ไม่รู้ว่าวันๆเราได้มีเวลาได้อยู่กับลูกกันบ้างหรือเปล่า

คือ แบบว่าผมเสียดายนะครับ เวลาช่วงนี้ที่เราจะได้อยู่กับลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ ก็ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกันจริงๆจังๆซักเท่าไหร่

ผมเข้าใจนะครับ ว่าพวกเราเองก็ต้องทำงานสร้างความมั่นคงทางการเงินในช่วงที่ลูกยังเล็กนี่แหล่ะ แต่กว่าเราจะเริ่มสบาย มีเงินมีทองใช้ ลูกเรามันก็โตเป็นวัยรุ่นซะแล้ว และ คราวนี้พอเราเริ่มมีเวลาให้ลูกมากขึ้น ลูกๆมันดันไม่มีเวลาให้เราซะอีก บอกอยากมีเวลาส่วนตัวมั่งล่ะ อยากเที่ยวเล่นกับเพื่อนมั่งล่ะ เฮ้อ! เศร้า...





ฉิก : ผมเห็นคนอื่นเขาก็แบบนี้ทั้งนั้นนิครับ ถ้าไม่ให้ลูกเรียนกวดวิชา มันก็สอบเข้ารร.ดังๆไม่ได้ เดี๋ยวนี้สอบเข้าป.1 นี่ยากจะตายชัก ตอนอนุบาลก็เลยต้องเรียนกันเยอะหน่อย อีกอย่างที่เราทำงานหนักเนี่ยก็เพื่อลูกเองนะครับ

ป้อม : ผมว่าเราต้องกลับมามองกันใหม่แล้วล่ะครับ ว่าเราอยากให้ลูกเราเป็นยังไง และ จะไปทางไหนกันดี

อย่าลืมนะครับว่าคนที่อยากให้เข้ารร.ดังๆน่ะ คือ พวกพ่อแม่เรา ไม่ใช่ตัวลูกเราเองซักหน่อย ถ้าชีวิตในวัยเด็กเขาต้องหายไป เพราะ ต้องมานั่งคร่ำเคร่งกับการเรียน การสอบเข้า การกวดวิชาแต่เพียงด้านเดียว มันก็น่าเสียดายนะครับ

และ ที่เราบอกว่าเราทำงานหนักก็เพื่อลูกเนี่ย จริงๆตัวลูกเราเองก็ไม่ได้ต้องการเงินทองมากมายอะไรเลย เค้าขอแค่เวลาที่ได้อยู่กับพ่อแม่อย่างมีความสุขก็เพียงพอแล้ว

ฉิก : แล้วพอจะมีแนวทางอะไรพอจะช่วยได้มั่งไหมครับ

ป้อม : เรื่องเวลาที่จะมีให้ลูกน่ะ ผมว่ามันต้องพยายามหาๆกันล่ะครับ
ไม่ว่าจะทำงานให้น้อยลง ปรับเปลี่ยนตารางเวลางาน ไปรับไปส่งลูกที่รร.เอง ลดการดูทีวี เรียนกวดวิชาให้น้อยลงหน่อย สอนลูกเองบ้างก็ได้ ลองดูหลายๆแบบ แล้วคุณก็จะพบว่าจริงๆแล้ว มันก็พอมีเวลาที่เราจะอยู่กับลูกตั้งเยอะแยะนะครับ

ฉิก : ทีนี้บางคนบอกว่า เวลาอยู่กับลูกก็ไม่รู้จะทำอะไรดี เลยมักลงเอยด้วยการให้ลูกๆนั่งดูทีวี พ่อแม่นั่งอ่านนสพ.อะไรแบบเนี้ยก็มีนะครับ

ป้อม : นี่ไงครับ พวกเราถึงต้องเรียนรู้ที่จะ"อยู่กับลูก"อย่างสร้างสรรค์ และ มีความสุข ในการใช้ชีวิตร่วมกันแบบพ่อแม่ลูก




ฉิก : หูย.....พูดน่ะมันง่าย ทำจริงๆมันยากนะครับ

ป้อม : ผมถึงแนะนำให้อ่านหนังสือ Floortime ไงครับ

ฉิก : อะไรนะครับ ฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ เนี่ยนะ มันยิมนาสติกไม่ใช่เหรอ

ป้อม : ตูล่ะเบื่อ ตูล่ะเซ็ง

ไม่ใช่ว้อย Floortime มันมาจากคำว่า FLOORที่แปลว่า พื้น + TIME ที่แปลว่า เวลา น่ะครับ

ฉิก : อ๋อ! แปลว่า พ่อแม่ควรมีเวลาสนับสนุนให้ลูกนั่งเล่นกับพื้นใช่มั้ยครับ

ป้อม : ม่ายช่ายๆ มันเป็นการเปรียบเทียบน่ะครับ ว่าเป็นเวลาที่ให้พ่อแม่ต้องลดระดับลงมาจาก"เบื้องบน" มาอยู่ในระดับเดียวกับลูก คือที่ "พื้น" หมายถึง ให้ลูกเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกัน การเล่นกัน ที่ลูกเราชอบหรือสนใจ โดยพ่อแม่เป็นฝ่ายคอยสนับสนุน และ กระตุ้นลูกเป็นระยะๆ โดยใช้เวลาว่างที่มีซักวันละครึ่งชั่วโมงก็ได้แล้ว

ฉิก : พูดง่ายๆว่า ให้ลงมาเล่นกับลูก โดยให้ลูกเป็นฝ่ายเริ่มเองว่างั้นเหอะ

ป้อม : นั่นล่ะครับ เพียงแต่เราต้องไม่คล้อยตามลูกจนเกินไป ในทางตรงกันข้าม ก็ไม่ควรไปคอยบงการลูกให้ทำโน่นทำนี่ตามที่เราต้องการด้วย

ที่ถูกคือ เราต้องพยายามกระตุ้นให้ลูกลองทำเอง และ พยายามแก้ปัญหาเองก่อน พยายามอ่านความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และ ตอบสนองต่อความต้องการของเขาอย่างเหมาะสมด้วย







ฉิก : แล้วมันมีที่มาที่ไปยังไงล่ะครับ ไอ้Floortimeเนี่ย

ป้อม : จริงๆแล้วFloortimeมาจากเทคนิค Developmental Individual -Difference Relationship-base Approach (DIR) โดย Dr. Stanley Greenspan และ คณะ เพื่อใช้ส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น เด็กสติปัญญาล่าช้า

แต่ก็มีคนนำมาปรับใช้ในเด็กปกติ และ พบว่าได้ผลดีมาก พบว่าช่วยให้มีการสื่อสารในครอบครัวได้ดีขึ้น กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้น เด็กมีสติ สมาธิ มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นเหตุเป็นผล มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ

พูดง่ายๆว่า การส่งเสริมพัฒนาการด้วยวิธี Floortimeนี่ คลอบคลุมพัฒนาการอย่างรอบด้าน รวมถึง EQ ของเด็กอีกด้วย


ฉิก : โห...มันดีขนาดนั้นเลยเหรอครับ กะอีแค่การเล่นกับลูกแค่เนี้ยนะ

ป้อม : พูดงี้จะบอกว่าไม่เชื่อใช่มั้ยล่ะ งั้นจะอธิบายให้ฟัง

ต้องบอกว่า เด็กทุกคนจำเป็นต้องมีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นกับพ่อแม่ เพื่อเป็นรากฐานชีวิตที่มั่นคง ก่อนที่ลูกจะสร้างความรัก และ ความผูกพันกับผู้อื่น และหากเขาทำได้ เขาก็จะมีความมั่นใจในการก้าวออกไปเผชิญโลกภายนอกต่อไป ดังนั้น Floortime จึงช่วยได้มากตรงจุดนี้

ลักษณะเฉพาะของ Floortime คือ เน้นการส่งเสริมพัฒนาการจากระดับล่างขึ้นมา เน้นที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ และ ขับเคลื่อนจากความต้องการของเด็กเอง

ผมอยากบอกว่า บางทีพ่อแม่เราก็ตั้งใจที่จะ"ปั้นเด็ก"มากจนเกินไป โดยไปพยายามเน้นที่ "ผลลัพธ์"เป็นหลัก ใช้วิธีที่ให้ผลเร็วทันใจที่สุด โดยการ"บอกให้จำ ท่องจำตามที่ครูสอน" และ เชื่อฟังคำสั่งแบบไม่มีเงื่อนไข

แต่ผลที่ได้น่ะไม่ยั่งยืนหรอกครับ เพราะ คนเราจะให้มาตามบอกตามสอนกันตลอดมันก็ไม่ไหว เด็กพวกนี้มักจะแก้ปัญหาในชีวิตจริงไม่ค่อยได้ ไม่ยืดหยุ่น และ ไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะ ไม่ได้มีโอกาสฝึกการคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ




ฉิก : อืมมมมม....น่าสนใจ พอจะสรุปวิธีทำกิจกรรม Floortime ให้ฟังคร่าวๆบ้างได้ไหมครับ

ป้อม : ในรายละเอียดคงต้องไปหาอ่านในหนังสือกันเอาเองนะครับ ในนั้นมีตัวอย่างกิจกรรม และ วิธีแก้ปัญหามากมาย แต่พอจะสรุปย่อๆดังนี้ครับ

- ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ โดยให้โอกาสลูกได้เลือกทำสิ่งที่ลูกสนใจ หลีกเลี่ยงการชี้นำ และ การรีบด่วนสรุปให้ลูก แต่ให้ใช้การซักถาม ในลักษณะที่พ่อแม่เองก็อยากจะรู้จริงๆ

- ฝึกทักษะที่สำคัญที่สุด คือ "ทักษะการคิด" เพื่อให้รู้เท่าทันความคิด และ จิตใจของตัวเอง

- ให้ความรัก และ ความอบอุ่นลูกด้วยท่าที"ผ่อนคลาย"

- ปรับน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง ให้เหมาะกับการรับรู้ของลูก

- ตอบสนองต่อการแสดงออกทางอารมณ์ของลูกอย่างเหมาะสม

-"เล่น"กันให้สนุก

- ส่งเสริมพัฒนาการของลูกตามระดับขั้น โดยการกระตุ้นให้ลูกเริ่มการสื่อสาร ฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวของลูกเอง ส่งเสริมการเล่นบทบาทสมมติ เชื่อมโยงเหตุและผล

- อย่าเร่งเร้าลูกมากเกินไป อย่าบังคับควบคุมลูกเกินพอดี และ อย่าทอดทิ้งลูกทั้งทางร่างกายและจิตใจ

- ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกโดยดูจาก"มุมมอง"ของเด็ก เห็นใจเขา และ พูดภาษาเดียวกับเขา

ฉิก : อย่าลืมไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันนะครับ ไว้เจอกันใหม่นะครับ หวัดดีคร้าบบบบบบบบบบบ





pomjom.bloggang.com
Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2552

Views: 429

Comment

You need to be a member of หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ to add comments!

Join หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service