เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

เดือนก.ค. นี้ ครอบครัวดิฉันจะกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่เมืองไทย
และดูบรรยากาศไม่รู้ตอนนี้เมืองไทยน่าอยู่เหมือนสมัยก่อนรึเปล่า
เพราะไม่ได้กลับ 2 ปีละ ซึ่งตั้งใจว่า ปีหน้า 2010 จะกลับไทยถาวรซะที
แต่คิดว่าจะประเมินว่ากลับถาวรชัวร์หรือไม่ชัวร์ในการไปเยี่ยมครอบครัวครั้งนี้แหละ

หากกลับไทยปีหน้าแน่นอน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตั้งใจให้ลูกเรียนที่บ้าน
(ลูกอายุตอนนั้นคง 10 ขวบเต็ม) ทำ Home School เราสองคนสามี+ภรรยา
ไม่มีงานทำค่ะ เหอๆๆ สอนลูกอยู่บ้านดีกว่าไปเสียเงินเข้า ร.ร.แพงๆ
และเรามั่นใจว่าเราสามารถสอนได้ หากวิชาใดๆ ที่เราไม่ถนัดค่อยให้ลูกไปเรียน
เพิ่มเติมตามสถาบันต่างๆ นอกบ้าน


ดิฉันจัดโปรแกรมเรียนให้ลูก แบบเรียนในห้องประมาณวันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง
นอกนั้นจะเรียนนอกห้อง หรือนอกสถานที่ เน้นกิจกรรม เรียนปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี
เรียนการใช้ชีวิตจริงๆ ให้เขาใช้ความรู้ความสามารถตามที่เขาถนัดและชอบ


ทีนี้กลับเข้ามาที่คำถาม

อยากรู้ว่ามีสมาชิกท่านใดบ้างที่ทำ Home School ให้ลูก (หาเพื่อนๆแฮะๆ)
และหากเพื่อนๆ สมาชิกที่ไม่ได้ทำ มีความคิดเห็นอย่างไร ด้านบวก ด้านลบ
โพสท์กันมาเลยค่ะ ดิฉันก็ได้แต่คิดในตอนนี้ ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำจริงๆ เลย
ตอนนี้ที่เมืองไทยน่าจะมีคนทำเยอะขึ้นแล้วนะคะ

มีใครสนใจการศึกษาแนวนี้ให้ลูกๆ บ้าง มาคุยกันนะคะ


Views: 13285

Replies to This Discussion

ทำเลยค่ะ ถ้าพ่อแม่มีเวลาได้มากขนาดนี้ ปั้นลูกเองเลยค่ะ โดยส่วนตัวก็อยากทำแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงค่ะ เท่าที่ทราบตอนนี้ในเมืองไทยก็มีพ่อแม่ทำ home school สำหรับลูกวัยอนุบาล แต่สำหรับเด็กประถมโตแล้วไม่ทราบว่ามีพ่อแม่ทำ home school กันบ้างมั้ย หรือมีแต่ก็ไม่ทราบว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน แล้วก็ยังไม่ทราบว่ามีหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ยังไงบ้างค่ะ เพราะ home school ในต่างประเทศนั้นพ่อแม่สามารถพาลูกไปทดสอบความรู้เพื่อเปรียบเทียบชั้นความรู้กับการเรียนตามระบบได้ ส่วนการเรียนต่อในชั้นสูงๆ ขึ้นไปนั้นยังไม่ทราบรายละเอียดอะไรเลยค่ะ ว่าเด็กที่เรียนแลล home school จะมีเส้นทางการเรียนยังไง ยกเว้นไปเรียนต่อต่างประเทศ
น่าสนใจนะคะ เคยเห็นพ่อน้องเบคพูดอยู่เหมือนกันคะ ว่าเขาก็เรียนที่บ้านกันทั้งนั้นแล้วจึงไปต่อสถาบันสูงขึ้นไป 14-16 ปีเขาเข้ามหาลัยแล้วคะ บ้านเขาเรียนเก่งทั้งบ้านคะ เป็นหมอ เป็นวิศวกรทั้งนั้น
แต่ไม่ค่อยเข้าใจคะ งงคะ แต่สนใจคะ
ขอบคุณค่ะ คุณศศสร

ดิฉันหาอ่านข้อมูลตามเว็บมาตั้งแต่ปีที่แล้ว รู้สึกว่าบ้านเรียนทำตั้งแต่อนุบาล
จนถึงป.6 (หรือมัธยมต้น ไม่แน่ใจค่ะ) จากนั้นไปเข้าระบบต่อก.ศ.น.
แล้วต่อมหาวิทยาลัยอีกทีค่ะ

ขอบคุณค่ะ แม่น้องเบค ดิฉันหาบทความมาให้อ่านนะคะ เผื่อสนใจจะทำกัน
ดิฉันว่ามันดีมากๆ สำหรับพ่อแม่ที่มีเวลา

อ่านดูนะคะ อ้างอิงจากที่นี่ค่ะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool02.html

" พ่อแม่ก็เป็นครูได้ บ้านก็กลายเป็นโรงเรียนได้ " นี่เป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในขณะนี้

Home School หรือการสอนลูกเองอยู่กับบ้านโดยไม่ส่งเข้าโรงเรียน ปกตินับเป็นการศึกษาทางเลือกที่ฮือฮามาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ซึ่งเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องนี้กันมาแล้ว แต่อาจยังไม่เข้าใจถึงรูปแบบ ที่แท้จริงของโฮมสคูล รวมถึงบางท่านแม้ทราบแล้วแต่ก็ยังรีๆ รอๆ ไม่กล้าทำจริงทั้งที่อยากจะสร้าง "บ้านแห่งการเรียนรู้" นี้เหลือเกิน

อยากให้ติดตามคอลัมน์นี้กันต่อๆ ไปนะคะ เพราะเราจะนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโฮมสคูล มาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นความรู้และเป็นแนวทางเลือกให้สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจ

โฮมสคูลคืออะไร

โฮมสคูล (Home School) เป็นแนวคิดและรูปแบบการศึกษาทางเลือกที่ให้สิทธิพ่อแแม่ จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โฮมสคูลเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศตะวันตก จนแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีเด็ก ที่เรียนอยู่กับบ้านทั่วโลกราว 2-3 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1.23 ล้านคน และคาดว่าในปี 2008 คืออีก 8 ปี นับจากนี้จะมีเด็กอเมริกันที่เรียนอยู่กับบ้านเป็นจำนวนถึง 6.87 ล้านคนทีเดียว

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้โฮมสคูลเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่

คำตอบก็คือ พ่อแม่เริ่มไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียนห่วงว่าครูจะสอนลูกได้ไม่ดี โรงเรียนไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความสามารถพอที่จะพัฒนาศักยภาพของลูกได้ มิหนำซ้ำสารพัดปัญหาสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่น้อยที่เกิดจากโรงเรียนทั้ง ปัญหายาเสพติด การทำร้ายร่างกาย แม้แต่อาชญากรรมในเด็กด้วยกันเอง

ในอเมริกามีดัชนีที่น่าตกใจมากมายเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน เช่น มีเด็กพกปืนไปโรงเรียนวันนึงๆ ร่วมแสนคน มีทารกซึ่งคลอดจากแม่วัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนปีนึงถึงห้าแสนคน นี่เป็นปัญหาซึ่งใครเป็นพ่อแม่ก็หนาว

บ้านเราก็ดัชนีที่น่าตกใจมากมายไม่แพ้กัน ที่เห็นและเป็นข่าวกันครึกโครมก็คือ เรื่องของยาบ้าและการพนัน แทบไม่น่าเชื่อแม้แต่เด็กประถม 4 ก็เล่นพนันบอลเป็นแล้ว

ปัญหาเล่านี้คือ สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ที่วิตกกังวลและกล้าลองของใหม่เลือกโฮมสคูลให้กับลูก

ข้อได้เปรียบของ Home School ที่มักจะถูกอ้างอิง
พ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูกเต็มที่ ความผูกพันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่ลูกย่อมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
พ่อแม่ผู้ปกครองมีโอกาส "เลือก" และ "ปรับ" แนวทางการจัดหลักสูตร และการสอนให้เหมาะกับแบบแผนชีวิต ความเชื่อตลอดจนความต้องการ และความพร้อมของลูกได้อย่างยืดหยุ่นแทนการส่งลูกไปรับการศึกษาแบบ "เหมาโหล" ที่บังคับให้ลูกต้องเรียนทุกอย่างเหมือนๆ และพร้อมๆ กับเด็กอื่นๆ ในขณะที่ลูกยังอาจไม่สนใจหรือไม่พร้อมที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ
เด็กได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและสิทธิเสรีภาพของตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนใด "ตีตรา" ลูกว่าเป็น "เด็กเรียนช้า" หรือ "เด็กมีปัญหา" เหมือนในโรงเรียน
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดเวลาโดยไม่มี "เปิดเทอม" หรือ "ปิดเทอม" ที่ชัดเจน การเรียนรู้อย่างสนุกสนานต่อเนื่องจะค่อยๆ ปลูกฝังจิตวิญญาณ แห่งการเรียนรู้อยู่เสมอเช่นกัน
และในชีวิตจริงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็ไม่มีเปิดเทอมหรือปิดเทอมเช่นกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ลงมือปฏิบัติจริงเป็นได้ง่ายขึ้นในบรรยากาศของครอบครัว ที่สามารถจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งในบ้านนอกบ้านได้มากมาย แทนที่จะให้เด็กเรียนแต่จาก "หนังสือ" และ "คำบรรยาย" เท่านั้น

โฮมสคูล ทำอย่างไร

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home School ได้บอกถึงหัวใจหลักของโฮมสคูลว่า

" โฮมสคูล จริงๆ มันก็คือโรงเรียนแบบหนึ่งโดยนิยามของมัน ประการแรก การสอนในบ้าน ก็ต้องถูกวางแผนอย่างตั้งใจ แปลว่าคุณจะต้องมีแผน ส่วนจะยืดหยุ่นแค่ไหนแล้วแต่ความเหมาะสม ประการที่สอง โดยที่กิจกรรมการเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน คำว่า "ส่วนใหญ่" แปลว่า พ่อแม่ไม่ต้องสอนในบ้านก็ได้ หลายคนที่ชอบกล่าวหาว่า โฮมสคูลเป็นการเอาลูกไปขังไว้ในบ้าน ลูกไม่ได้มีสังคม ไม่ได้เจอโลกภายนอก ไม่จำเป็น พ่อแม่อาจจะพาลูกไปโรงเรียนร่วมกับเด็กที่อื่นก็ได้ หรืออาจมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกับโรงเรียนก็ได้ ประการที่สาม พ่อแม่เป็นคนสอนหรือควบคุมดูแลการสอน บางเรื่องที่พ่อแม่ไม่ถนัดอาจจ้างครูมาสอนก็ได้ "

ฟังดูแล้ว โฮมสคูลก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแต่ไหนแต่ไรมาพ่อแม่ก็ทำหน้าที่ครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้นเอง

รูปแบบของโฮมสคูลนั้น อาจจัดหลักสูตรที่ไม่มีโครงสร้างตายตัวแต่เน้นความหลากหลาย ให้ลูกเรียนรู้คู่ไปกับการสัมผัสชีวิต นั่นก็คือเป็นไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิตในแต่ละครอบครัว ในแต่ละวันนั่นเอง

คุณแม่ท่านหนึ่งในประเทศอังกฤษเล่าถึงประสบการณ์การทำโฮมสคูลว่า

…ฉันเริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมือนโรงเรียนจริงๆ มีทั้งโต๊ะ กระดานดำ ปากกา หนังสือเรียน ฉันคิดว่าฉันพร้อมและกำลังจะเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ลูกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่เมื่อสิ้นสุดเย็นวันแรก ฉันกลับพบว่าทั้งฉันและลูกแทบจะประสาทเสียไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กๆ ไม่ได้ทำอะไรตามหลักสูตร ที่เตรียมไว้แม้แต่อย่างเดียว และฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการว๊ากพวกเขา ฉันรู้ในบัดนั้นว่า ฉันเดินมาผิดทางแล้ว ฉันกำลังพยายามที่จะทำตัวเป็นโรงเรียนเสียเอง ฉันกำลังพยายามจะทำ ในสิ่งที่ฉันเองคัดค้านก็เพราะความเป็นโรงเรียนมิใช่หรือที่ทำให้ฉันเอาลูกออกมา…

…วันรุ่งขึ้นท่ามกลางความประหลาดใจของเด็กๆ ฉันพาพวกเขาไปปิคนิคเราไปเก็บดอกไม้ ก้อนหิน เดินดูนกและแมลงด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกับใครต่อใครในหมู่บ้านไปตลอดทั้งวันนั้น คืนนั้นหลังจากเด็กๆ เข้านอนแล้วฉันจึงจดบันทึกการสอนของฉันในวันนั้นลงไปว่า …เนื้อหารายวิชาที่ครอบคลุมในวันนี้ ได้แก่พลศึกษา ประวัติศาสตร์ชุมชน ธรรมชาติวิทยา ภูมิศาสตร์และทักษะทางสังคม… เป็นไงล่ะ หลักสูตรของฉัน ต่อมาไม่นานหลักสูตรของฉันก็เริ่มเข้าที่ ถึงแม้ฉันกับลูกจะเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเรียน อ่าน เขียน เรียนคณิตศาสตร์อย่างเด็กตามโรงเรียนทั่วไปบ้าง แต่เราก็ไม่เคยลืมที่จะสนุกกับการเรียนรู้ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การทำกับข้าว ซ่อมจักรยาน ทำสวน แต่งบ้าน เยี่ยมญาติ เล่นเกม ฟังเพลง…และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง…

คุณสมบัติของพ่อแม่โฮมสคูล

พ่อแม่แบบไหนที่สามารถทำโฮมสคูลได้ คำตอบนี้ไม่ยากขอเพียงให้มีความพร้อมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ไม่จำเป็นว่าจะต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงระดับดอกเตอร์

จากการศึกษาภูมิหลังของพ่อแม่กลุ่มที่ทำโฮมสคูล พบว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีรายได้พอกินพอใช้ถึงมากเล็กน้อย และมักมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งระดับการศึกษาเพียงเท่านี้หากบวกกับประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่งก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูล

หัวใจของความสำเร็จของโฮมสคูลคือ ความเอาจริงเอาจังและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในบ้านต้องมีลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ เช่น บ้านต้องเงียบสงบพอที่เด็กจะมีสมาธิในการเรียน หรืออ่านหนังสือ มีหนังสือประเภทต่างๆ ที่หลากหลาย มีสิ่งแวดล้อมที่สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

พ่อแม่ต้องมีระเบียบวินัยในตนเอง ยอมปฏิเสธภาระอื่นที่มารบกวนหรือขัดจังหวะการเรียนรู้ของลูก เพื่อให้มีเวลาสอนลูกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้พ่อแม่ควรขยันหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำมาสอนลูก

ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงรอบข้างก็ควรต้องเห็นด้วย และคอยสนับสนุนเป็นกำลังใจ เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนท้อแท้ เพราะการทำโฮมสคูลถือเป็นภาระหนักระยะยาว ที่มีอนาคตของลูกเป็นเดิมพัน

เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ?

น่าทึ่งที่ผลงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นชี้ว่า เด็กโฮมสคูลมีพัฒนาการและความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการ บุคลิกภาพ และพัฒนาการทางอารมณ์ดีกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน และเด็กโฮมสคูลไม่มีปัญหาในการเข้าสังคมอย่างที่หลายคนห่วงเรื่องนี้ ดร.อมรวิชช์ อธิบายว่า

" ในห้องเรียนเราเรียน 1 ต่อ 40 พออยู่บ้าน เราเรียนตัวต่อตัว หรือ 1 ต่อ 2 เพราะฉะนั้น เรื่องคุณภาพ ความเอาใจใส่มันก็ต่างกัน อีกประการพ่อแม่รักลูก การเรียนส่วนนึงที่มันไม่บรรลุผล เพราะเราบังคับให้เด็กเรียนในเวลาที่เด็กไม่อยากเรียน แต่พออยู่กับพ่อแม่เบื่อแล้วเหรอ อ้าวออกไปเดินเล่น ไป ชอปปิ้ง ไปขี่จักรยานเล่น ฉะนั้นความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กเนี่ย มันก็น้อยลงในรูปแบบโฮมสคูล
แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่พูดถึงเรื่องทักษะทางสังคม บอกว่าเด็กเก็บตัวซึ่งผมเองมองว่า เรื่องนี้มันแล้วแต่พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนเก็บตัวแนวโน้มที่ลูกจะปั้นออกมาเป็นเด็กซึ่งเก็บตัวก็เป็นไปได้ "

และประการสำคัญคือ เด็กโฮมสคูลดูจะมีความสุขกับการเรียนมากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน คำอธิบายที่ยืนยันได้ก็คือความแตกต่างของบรรยากาศของการเรียนรู้นั่นเอง ในขณะที่ในโรงเรียนครูผู้สอน จะยืนเผชิญหน้ากับเด็กอยู่หน้าชั้น แต่บรรยากาศโฮมสคูลครูผู้สอนคือพ่อแม่ไม่ใช่ครูที่ยืนอยู่หน้าชั้น แต่คือคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก

ฉบับหน้าต้องติดตามต่อให้ได้นะคะ เพราะจะมีคำแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ควรจะเตรียมตัวอย่างไร หากเริ่มคิดว่าอยากจะทำโฮมสคูลแล้วล่ะ


อ่านต่อนะคะ http://www.elib-online.com/doctors2/child_homeschool01.html

อันนี้สมาคมเด็กบ้านเรียนค่ะ http://www.thaihomeschool.org/default.php
ลองเซิจข้อมูลในกูเกิลจะมีให้อ่านอีกเยอะเลยค่ะ ทั้งด้านบวกและลบ ก็ควรจะศึกษาทั้งสองด้าน
แต่โดยส่วนตัวแล้วชอบมากค่ะ
ก๊อปปี้มาให้อ่านค่ะ จาก http://baansuan.wordpress.com/2007/02/19/homeschool/


ตั้งใจไว้นานแล้วว่าถ้ามีครอบครัวเป็นเรื่องเป็นราว มีลูกมีเต้าเป็นของตัวเอง ก็จะสอนลูกเอง ซึ่งในระหว่างการเก็บตัวฝึกซ้อมอย่างนี้เลยต้องศึกษา ‘โฮมสคูล’ เอาไว้ก่อน

โฮมสคูลที่ผมเข้าใจ เป็นทางเลือกหนึ่งของการศึกษาที่ให้สิทธิพ่อแม่จัดการศึกษาให้ลูกได้ด้วยตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดูแล้วก็ไม่น่าจะใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะพ่อแม่ก็เป็นครูของลูกอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจังและไม่มีกฎกติกาที่แน่นอนเท่านั้น

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ครอบครัวบางส่วนหันมาใช้แนวทางของโฮมสคูล คิดว่าหลัก ๆ น่าจะมาจากความไม่มั่นใจในระบบการศึกษาในโรงเรียน ทั้งคุณภาพของการศึกษาไปจนถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กจากปัญหาสังคมต่าง ๆ รอบตัวที่คุกคามเข้าไปในโรงเรียนมากขึ้น

ที่ผมสังเกตและประสบกับตนเองมาก็คือ เด็กไม่มีความสุขกับการเรียน หนึ่งคือบรรยากาศในห้องเรียนไม่เอื้อให้อยากเรียน จำได้ไหมครับ? ตอนเราเรียน เรานั่งประจันหน้ากับครูตลอด มันดูเป็นคนละข้างหรือเป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่ข้างเดียวกัน เลยคิดไว้ว่าถ้าเราจะสอนลูก เราจะนั่งลงข้าง ๆ ลูกคอยสั่งสอนและรอให้คำตอบถ้าลูกมีคำถาม ดูแล้วมันน่าเรียนกว่ากันเยอะ

สองคือ การเรียนในโรงเรียนมันเหมือน ‘ชุดสำเร็จรูป’ ที่บังคับให้เราต้องเรียนอะไรเหมือน ๆ กันและพร้อม ๆ กันกับคนอื่น ทั้งที่เรายังไม่พร้อม ยังไม่สนใจ

พัฒนาการการเรียนรู้ควรจะเริ่มจาก ‘ความสนใจ’ ของเด็กก่อนเป็นอันดับแรก สังเกตไหมครับ เด็กส่วนใหญ่จะชอบช่วงปิดเทอมมากกว่าเปิดเทอม เพราะอะไร? ก็ปิดเทอมมัน ‘สนุก’ กว่า ความสนุกสนานนี่เองเป็นตัวกระตุ้นความสนใจเรียนรู้ของเด็ก เมื่อเราสนใจ ‘อะไร’ สักอย่าง เราจะสงสัยและมีคำถามกับสิ่งนั้น ๆ ตามมาเสมอ ถ้าเด็กตั้งคำถามเองได้ กระบวนการอื่น ๆ ก็จะตามมา ถึงตอนนี้ผู้ใหญ่จะสอดแทรกเสริมสร้างอะไร (ที่เป็นประโยชน์) ก็ใส่ได้เต็มที่ นี่ไม่ใช่หรือครับที่เรียกกันว่า ‘child center’

สุดท้าย เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง ๑ ต่อ ๖๐ กับการเรียนแบบตัวต่อตัว คุณภาพและความเอาใจใส่มันจะต่างกันมาก ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทั้งทางสติปัญญาและอารมณ์ของเด็ก

การเรียนที่บ้านหรือที่ไหน ๆ กับพ่อแม่จะไม่มีการแบ่งเด็กเก่งหรือไม่เก่ง จะไม่มีใครมาคอยชี้หน้าว่าเป็นเด็กมีปัญหา (เพราะขัดใจผู้ใหญ่?) เหมือนที่เด็กของเราเจออยู่ทุกวันในโรงเรียน ที่สำคัญคุณภาพทางการศึกษาน่าจะเกิดจาก ‘ความยืดหยุ่น’ ในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการและความพร้อมของเด็ก มากกว่าการเรียนแบบสำเร็จรูปอย่างที่กล่าวในข้างต้น

ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะสอนเก่งกว่าครู แต่พ่อแม่มี ‘ความเอาใจใส่’ มากกว่า และได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันกับลูก นอกจากเสาะหาเรียนรู้เรื่องราวที่จะนำมาสอนลูกแล้ว พ่อแม่ยังได้เรียนรู้ ‘ลูก’ ของตนเองไปด้วย ซึ่งลูกก็เช่นเดียวกัน เวลาที่อยู่ด้วยกันอย่างเต็มที่จะช่วยสร้างความอบอุ่นและความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ถ้าหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมมีความสุข ปัญหาสังคมก็น่าจะบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง

น่าเศร้าใจที่บ้านเราไม่มีงบประมาณในการสร้างและจ้างครูผู้สอนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของอนาคตของชาติทั้งหลาย ก็เพราะรูปแบบการศึกษาแบบเดิม ๆ นี่กระมัง ที่หลอมให้ชนชั้นบริหาร ชนชั้นปกครองทั้งหลายเห็น Hub สำคัญกว่า Human อยู่ร่ำไป

ขอบันทึกความคิดของ อ.สวิง ตันอุด ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ที่ท่านพูดถึงโฮมสคูลไว้ อ่านแล้วตรงและจริงดี

.

“ถ้ากระบวนการเรียนรู้ มันทำให้คนอยู่ได้ แล้วกล้าคิดกล้าเผชิญกับชีวิตได้ ก็ไม่ต้องไปเรียนในโรงเรียนก็ได้ เรียนในชีวิตจริงก็ได้ ผมมั่นใจว่าถ้าเด็กเลือกอะไรสักอย่างหนึ่งที่เขาถนัด แล้วเอาให้จริงจัง เขาจะพึ่งตัวเองได้ เรียกว่าสำเร็จแล้วเรื่องการเรียน”

.

ผมเลือกที่จะเป็นเกษตรกรเพราะมีความสนใจในอาชีพนี้ และมั่นใจว่าสามารถเอาตัวรอดได้จากการประกอบอาชีพนี้ แต่ผมไม่ได้จบเกษตร ผมก็ต้องเริ่มตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบเพื่อชีวิตของผมเอง สถานที่ทุกแห่ง คนทุกคน ที่สามารถชี้แนะให้คำตอบผมได้ ก็นับเป็นครูและโรงเรียนของผมทั้งนั้น

และอยากให้ลูกผมคิดอย่างผมเหมือนกัน

ทั้งนี้ก็ต้องถามเค้าก่อนว่าสนใจจะเรียนโฮมสคูลกับเราไหม? ถ้ายังก็คงต้องให้เข้าไปเรียนรู้กับการศึกษาในระบบก่อน ถ้ามีความสุขกับการเรียนในโรงเรียนก็จะสนับสนุนให้เรียนต่อไป แต่ถ้าเค้ารู้สึกว่าเรียนในโรงเรียนแล้วไม่สนุก ไม่มีความสุข โฮมสคูลก็น่าจะเป็นทางเลือกแรกในการเรียนรู้ร่วมกันของครอบครัวเรา

ซึ่งนี่คงยังไม่ใช่บทสรุปของผมในวันนี้ คงต้องศึกษาและติดตามพัฒนาการของโฮมสคูลในประเทศไทยกันต่อไป แต่ในชั่วโมงนี้ก็ค่อนข้างเห็นด้วยไปแล้วกว่า ๘๐% ถ้าได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมก็จะมาเล่าให้ฟังอีกในโอกาสต่อไป

แต่ที่ยากที่สุดก็คือ ต้องมีลูกก่อนครับ

.

………………

.

เป็นเวลากว่ายี่สิบปีแล้วที่แนวคิดนี้ได้หยั่งรากลงบนสังคมไทย ผลผลิตรุ่นแรกของโฮมสคูลไทยได้เบ่งบานอวดโฉมให้เราได้เห็นกันแล้วครับ ชีวิตน้อยๆ เหล่านี้น่าจะช่วยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่นี้ให้กับเราได้ อยากให้ลองอ่านกันดูครับ

.
โฮมสคูล ทางรอดหรือทางเลือก เขียนโดย วิภานี กาญจนาภิญโญกุล
กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550

.

ช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา โฮมสคูลดูจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่และผู้คนในแวดวงการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผลผลิตของคนกลุ่มนี้ได้ก้าวเข้าสู่สังคมและการเรียนรู้ในระบบ อย่างเต็มตัว พวกเขาเป็นอย่างไร สถานการณ์และแนวโน้มของโฮมสคูลดีขึ้นหรือไม่หลังได้รับสิทธิทางกฎหมายใน ช่วงหลายปีมานี้

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 9 ปีแล้วที่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 12 เปิดโอกาสให้บุคคล องค์กรเอกชน ชุมชน สถาบัน ศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมอื่นๆ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ รวมไปถึงการจัดการศึกษาโดยครอบครัวที่เรียกกันว่า โฮมสคูล (Home School) แต่ในความจริงการศึกษารูปแบบนี้เริ่มมีมานานกว่า 20 ปีโดยพ่อแม่บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนในระบบก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะออกมา

โฮมสคูล หรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หมายถึงการจัดการศึกษาที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โดยพ่อแม่อาจสอนเอง หรือจัดการให้เกิดการเรียนการสอน เช่น จ้างครูสอนพิเศษมาสอนที่บ้านผสมผสานกับการสอนด้วยตัวพ่อแม่เอง หรือมีข้อตกลงในการจัดการศึกษาร่วมกันกับโรงเรียน เช่น สัปดาห์หนึ่งเรียนในโรงเรียน 3 วัน ที่เหลือเรียนกับพ่อแม่ที่บ้าน หรืออาจจะรวมกลุ่มกันหลายครอบครัวเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน

บทบาทของโฮมสคูลในสังคมไทยจึงเริ่มมีภาพรางเลือนให้เห็นอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งปี 2547 ก็ได้มีการออกกฎกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง ‘สิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว’ ซึ่งกำหนดให้ครอบครัวที่ต้องการจะจัดการศึกษาเองมาขออนุญาตที่สำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่ โดยพ่อแม่จะต้องเรียนจบไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เว้นแต่ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้มีความสามารถในการจัดการศึกษา

การจัดการศึกษารูปแบบนี้ ครอบครัวจะต้องวัดผลการเรียนรู้ลูกตามหลักเกณฑ์ของหลักสูตรการศึกษาขั้น พื้นฐาน และจัดทำรายงานการวัดผลส่งที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และให้ทางสำนักงานประเมินผลการเรียนรู้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แล้วจึงจะได้รับหนังสือรับรองการจบการศึกษา

แม้จะมีกฎหมายออกมารองรับอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ยังมีปัญหาในเรื่องความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่เสมอ ระหว่างครอบครัวและภาครัฐ บางครอบครัวถึงกับออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนทำลายระบบโฮมสคูล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจในการเรียนการสอนแบบนี้ จึงทำให้ผู้จัดการศึกษาไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะเรื่องสิทธิ ประโยชน์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ออกมายอมรับว่า แนวปฏิบัติเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน และยังไม่เข้าใจว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร

จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2550 หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ได้รายงานว่า ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม เรื่องที่ ครม.อนุมัติตามที่ ศธ.เสนอ ให้รัฐบาลจัดเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับครอบครัว บุคคล หรือหน่วยงานที่จัดตั้งการศึกษาด้วยตนเอง พร้อมทั้งอนุมัติให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดหย่อนหรือยกเว้น ภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาอีกด้วย

รมว.ศธ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีครอบครัวจัดการศึกษาเองอยู่ 43 ครอบครัว และสถานประกอบการอีก 4 บริษัท ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวต่อปีคือ นักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาคนละ 4,460 บาท ประถมศึกษาคนละ 4,960 บาท ม.ต้นคนละ 6,625 บาท และ ม.ปลายคนละ 7,245 บาท จากงบประมาณทั้งหมด 992,000 บาท ในปี 2550 นี้

ยุทธชัย อุทัยวรรณ ผู้จัดการมูลนิธิแสงอรุณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสมาคมบ้านเรียนไทย ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ของระบบการเรียนแบบโฮมสคูลในเมืองไทยขณะนี้ว่า

“ผมมองว่าการศึกษาแบบบ้านเรียนได้รับการยอมรับมากขึ้น มีคนเข้าใจมากขึ้น มีกฎหมายออกมาทำให้สถานภาพสมบูรณ์มากขึ้น แล้วก็มีการอนุมัติค่าใช้จ่ายมาช่วยเหลือ ในแง่ของความชัดเจนก็มีหน่วยงานอย่าง สพฐ. เข้ามาดูแลรับผิดชอบ ก็เชื่อว่าครอบครัวน่าจะมีกำลังใจมากขึ้น คนที่อยากจัดการศึกษาแบบนี้ก็น่าจะเข้ามาติดต่อมากขึ้น และในปี 2550 นี้ก็น่าจะมีจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งอันนี้เป็นความคิดเห็นในแง่บวก

ในอีกแง่หนึ่งก็คือ สพฐ. มีภาระมากอยู่แล้ว กับการดูแลด้านการศึกษาในระบบ เขามีกรอบและเคยชินกับการจัดการศึกษาในระบบ จึงขาดความชัดเจนและความพร้อมในด้านการศึกษาแบบบ้านเรียน รวมถึงการจัดตั้งสถานประกอบการเรียน หรือศูนย์เรียนรู้ชุมชนก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน และถึงแม้จะมีมติ ครม.ออกมาว่าจะให้เงินอุดหนุนก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน”

เมื่อมองในภาพรวมนั้น ดูเหมือนว่าสังคมจะเปิดใจรับการศึกษาในรูปแบบนี้ได้มากขึ้น จากที่เคยมองอย่างไม่เป็นมิตร แนวโน้มในระยะหลังก็ได้รับความเข้าใจมากขึ้น การ ติดต่อกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตก็ได้รับความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญก็ยังอยู่ที่ตัวเจ้าหน้าที่และครอบครัวที่อาจจะไม่มีความรู้ และความเข้าใจในระบบการเรียนรู้แบบโฮมสคูลอย่างแท้จริง รวมถึงปัญหาหลักคือ ขาดหน่วยงานระดับย่อยที่จะเข้ามาดูแลด้านนี้อย่างจริงจัง

“ถึงจะมีหน่วยงานอย่าง สพฐ. เข้ามาดูแลโดยตรง แต่ก็ไม่มีหน่วยงานรองลงไปเข้ามาดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่หน่วยงานย่อยที่ดูแลด้านการศึกษาในระบบ แต่เท่าที่ผมเห็นก็ได้มีความพยายามเข้ามาดูแลมากขึ้นแล้ว”

จากข้อมูลของสมาคมบ้านเรียนไทยระบุว่า ทุกวันนี้มีครอบครัวที่จัดการศึกษาเองอยู่ทั่วประเทศกว่าร้อยครอบครัว จาก 2 ปีก่อนที่มีอยู่ 78 ครอบครัว แต่มีอยู่เพียง 43 ครอบครัวเท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขตทั่วประเทศ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงฝากชื่อไว้ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเข้าใจจากภาครัฐ อีกทั้งยังขาดการเชื่อมโยงกันในแต่ละครอบครัวที่จัดการสอนด้วยตนเอง แต่ก็คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในหลายด้านสำหรับอนาคตของระบบโฮมสคูล

การจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล Home Schoolในเมืองไทยนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2524 โดย ครอบครัวนายแพทย์โชติช่วง-คุณวิจิตรา ชุตินธร ซึ่งตั้งใจจัดการศึกษาให้กับลูกๆ ที่บ้านอย่างแท้จริงจัดเป็นครอบครัวแรกของสังคมไทยในยุคนั้น และหลังจากนั้นก็มีครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัว อาทิ ครอบครัวยุทธชัย – อุทัยวรรณ เฉลิมชัย, ครอบครัวนายแพทย์พร พันธุ์โอสถ ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2524 ครอบครัวนายแพทย์โชติช่วง-คุณวิจิตรา ชุตินธร จัดการศึกษาให้กับลูกๆ ที่บ้านอย่างแท้จริงจัดเป็นครอบครัวแรกของสังคมไทยในยุคนั้น ลูกๆทั้ง 3 คน ไม่เคยเข้าโรงเรียนอนุบาล หรือโรงเรียนในระบบแต่เรียนที่บ้านที่กรุงเทพและไปสอบที่โรงเรียนหมู่บ้าน เด็กทีจังหวัดกาญจนบุรีทุกเทอมจนจบชั้นประถม 6 นับเป็นครอบครัวแรกในโครงการพิเศษ “บ้านและโรงเรียน” ของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

หลังจากผ่านมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ผลผลิตของเด็กๆ โฮมสคูลเหล่านี้ก็ได้ก้าวเข้ามาอยู่ในสังคมไทยอย่างเต็มตัว คำถามที่หลายฝ่ายเคยตั้งข้อสงสัยว่าเด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ สังคมได้ แปลกแยกจากคนทั่วไป หรือมีความเหมือนและความต่างจากเด็กในระบบอย่างไร

บางทีตัวอย่างผลผลิตโฮมสคูลรุ่นแรกเหล่านี้ อาจเป็นคำตอบบางส่วนก็เป็นได้

“ตั้งแต่เด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็จะอธิบายว่า โฮมสคูลคืออะไร แล้วก็บอกว่าเราไม่ต้องไปโรงเรียนเหมือนคนอื่นๆ แต่คุณพ่อคุณแม่จะสอนเราที่บ้าน เราก็เรียนทุกอย่าง ทั้งภาษาอังกฤษ ขุดดิน เดินป่า ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ฯลฯ คุณพ่อก็พาไปซื้ออุปกรณ์มาต่อเอง ทำทุกอย่างเหมือนเด็กปกติเลยนะ ต่างแค่ว่าเราไม่ต้องเสียเวลาตื่นตอนเช้าไปเรียนตั้งแต่อนุบาลเท่านั้นเอง”

สุนิศา ชุตินธร หรือ ซูซาน ในวัย 26 ปี ลูกสาวคนกลางของครอบครัวนายแพทย์โชติช่วง-วิจิตรา ชุตินธร ซึ่งปัจจุบันเป็นพิธีกรรายการ Thailand Outlook Channel ของสถานีโทรทัศน์ ASTV ย้อนอดีตการเรียนแบบโฮมสคูลที่เธอเคยได้รับในวัยเด็กให้ฟัง

สุนิศาไม่เคยเรียนในระบบเลยจนกระทั่งชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทางบ้านก็ได้ส่งไปเรียนภาษาอังกฤษที่ Church School ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบ Multigrade สอนภาษาอังกฤษอย่างเดียว โดยเรียนจนถึงเกรด 10 (ม. 4) ก็ได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนนานาชาติ จากนั้นจึงสอบเทียบแล้วไปศึกษาต่อที่อเมริกา 1 ปี แล้วกลับมาเรียนปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์อาหาร หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในด้านการสอนของผู้ปกครองนั้น สุนิศา ยกตัวอย่างให้ฟัง อาทิเช่น การเรียนภาษาอังกฤษโดยการออกกฎให้พูดภาษาอังกฤษกับคุณพ่อเท่านั้น เนื่อง จากทั้งพ่อและแม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดี โดยจบการศึกษาจากต่างประเทศทั้งคู่ โดยคุณพ่อจะเน้นการสอนให้ลูกๆ ทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนดี และอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งช่วยทำให้เธอปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้เป็นปกติ

“พอเข้ามาโรงเรียนอินเตอร์ เขาก็รู้ว่าเรามาจากโรงเรียนโบสถ์เล็กๆ เป็นเด็กไม่ทันโลกภายนอก เพื่อนๆ ก็คิดว่าเราเป็นเด็กเรียบร้อยเท่านั้น ด้านวิชาการ เราก็ตามทันเขา เราก็เก่งภาษาอังกฤษ ไม่มีปัญหาอะไร พอเข้ามหาวิทยาลัย เราก็เรียนเลขเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะเราไม่ค่อยเก่ง แล้วพอเข้าเรียนที่มหิดลก็ไม่มีใครรู้นะ มีบางคนรู้ แต่ปกติคนก็ดูไม่ออก ซูก็เป็นคนสนุกสนาน ไม่ได้รู้สึกแตกต่างอะไรกับคนอื่น

“มีความแตกต่างบ้าง ตรงที่ซูจะเป็นคนมองโลกในแง่ดีเยอะ เพราะเราเห็นอะไรดีๆ มาตลอด ไม่ค่อยเจอการแก่งแย่งชิงดีกัน ซูมองว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ต้องไปแย่งกัน จะเป็นคนสบายๆ มากกว่า ไม่ซีเรียส”

ส่วนข้อดีของสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการเรียนโฮมสคูลนั้น มีทั้งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างภาษาอังกฤษที่ใช้ได้ดีจนกระทั่งนำมา ประกอบเป็นอาชีพผู้สื่อข่าวภาคภาษาอังกฤษที่ทำอยู่ทุกวันนี้ รวมถึงวิธีคิดในการใช้ชีวิต การมองโลกในแง่ดีแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงแบบที่หาได้ยากใน หมู่คนรุ่นเดียวกัน

“ซูก็ได้ทุกอย่างมาจากคุณพ่อคุณแม่ เขาเก่งอยู่แล้ว เราก็ซึมซับมาเหมือนที่เขาอยากให้เราเป็น แต่ถ้าถามว่า ดีสุดๆ มั้ย ก็ไม่ เก่งสุดๆ มั้ย ก็ไม่ พูดตรงๆ ก็เป็นคนธรรมดานะ”

สำหรับครอบครัวของ ยุทธชัย-อุทัยวรรณ เฉลิมชัย ก็มีที่มาในการทำโฮมสคูลคล้ายคลึงกันกับครอบครัวแรกคือ ไม่เห็นด้วยกับการสอนในระบบ สานต่อ เฉลิมชัย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่บ้าน หลังจากจบการศึกษาระดับประถมศึกษาว่า

“คุณพ่อชวนผมกับพี่ชายว่าลองมาเรียนกับพ่อมั้ย ผมคิดว่ายังไงก็ได้ พูดถึงโรงเรียนก็ไม่ได้ชอบอะไร แต่ก็ไม่ได้มีปัญหา เรียนต่อก็ได้ แต่พอคุณพ่อพูดแบบนี้ก็ลองดู แล้วพี่ชายก็มาเรียนด้วยกัน”

สานต่อเรียนโฮมสคูลจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้คะแนนเป็นที่ 2 ของชั้นเรียน หลังจากเรียนได้ 1 ปีก็ไปเรียนต่อด้านภาษาที่เมืองจีน 2 ปี แล้วกลับมาศึกษาต่อที่เดิมในสาขากีตาร์คลาสสิก ปัจจุบันเขาศึกษาอยู่ชั้นปี 1 โดยไม่ได้มีปัญหาทั้งในด้านการเรียนและการเข้าสังคมกับเพื่อน

“ตอนเข้า ม.4 ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อนนิดหน่อย แต่พวกเขารู้สึกหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก่อนเพื่อนจะมองว่าผมเป็นคนซีเรียส จริงจัง ไม่ค่อยเล่น แต่ตอนนี้ก็สนิทกัน เขาก็เข้าใจว่าผมเป็นยังไง เพื่อนๆ ที่รู้ว่าเราเรียนโฮมสคูลมา เขาก็ไม่ได้คิดว่าการเรียนแบบนี้ ทำให้ผมเป็นคนแบบนี้ แต่เขาคิดว่า เราแค่เป็นคนแบบนี้เท่านั้น เราไม่ได้เก๊ก แต่แรกๆ จะมีเพื่อนคิดว่า ไอ้นี่ทำเป็นพระเอก ทำเป็นช่วยอาจารย์ถือของ ช่วยจัดอุปกรณ์ในห้องเรียนทุกครั้ง แต่ตอนหลังพวกเขาก็เข้าใจว่าผมเป็นคนยังไง”

ส่วนการเรียนรู้ที่ได้จากบ้านซึ่งคุณพ่อเป็นคนสอนคนเดียว ขณะที่คุณแม่ทำงานประจำนั้น สานต่อเล่าว่า

“พ่อไม่ค่อยสอนวิชาการนะ อย่างภาษาอังกฤษก็เรียนเองมากกว่า แต่ไปต่างจังหวัดกันบ่อย เกือบทุกอาทิตย์ เหมือนเราเดินทางไปด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกันมากกว่า ได้ความรู้มากจากการเดินทาง เรียนจริงๆ ก็แค่ประวัติศาสตร์และภาษาไทย บางวิชาก็มีคนอื่นสอนให้ พ่อจะเน้นสอนอีคิวมากกว่าไอคิว สอนให้เราเป็นคนดี มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและต่อสิ่งแวดล้อม แล้วก็มีสิ่งที่พ่อขอไว้ 3 อย่าง อยากให้ลูกทำได้คือ ว่ายน้ำเป็น พูดภาษาอังกฤษได้ และเล่นดนตรีเป็น”

สิ่งสำคัญที่ได้จากการเรียนรู้ในระบบโฮมสคูลนั้น นอกจากเด็กจะมีเวลามากขึ้นสำหรับอ่านหนังสือ เดินทางและเรียนรู้ตามวัย โดยไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียนแล้ว สานต่อยังเสริมว่า

“ผมคิดว่าเพื่อนๆ ที่เรียนโฮมสคูลด้วยกัน จะไม่เชิงเป็นผู้ใหญ่กว่าเด็กทั่วไป แต่มีความรับผิดชอบ รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร ซึ่งเราจะเป็นกันทุกคน แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนโฮมสคูลเท่านั้นถึงจะเป็นแบบนี้ คนที่ไม่เรียนก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับการสอนของพ่อแม่

ส่วนสิ่งที่เป็นวิชาการหรือตัวหนังสือคงไม่ได้อะไรมากนัก ที่สำคัญน่าจะอยู่ที่การทำให้เราเป็นคนใฝ่รู้ อยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราอยากรู้อะไรด้วยตนเองน่าจะเรียนได้เร็วและดีกว่าการ ที่มีคนมาบอกให้เราเรียน หรือถ้าเกิดเราอยากรู้อะไรขึ้นมา เราก็รู้ว่าจะทำยังไงจึงจะเข้าไปสู่ความรู้อันนั้น”

และจากคำพูดที่ผ่านการเรียบเรียงและกลั่นกรองทางความคิดของ เด็กหนุ่มวัย 19 ปีคนนี้ คงจะเห็นได้ว่า ณ วันนี้คุณพ่อของสานต่อคงจะประสบความสำเร็จกับสิ่งที่คาดหวังไว้แล้ว

แนวโน้มการศึกษาในเมืองไทยขณะนี้ดูจะเปิดกว้างสำหรับการ ศึกษาแบบทางเลือกมากขึ้น นักวิชาการฝ่ายการศึกษาส่วนใหญ่จึงเห็นพ้องต้องกันว่าระบบโฮมสคูลน่าจะเป็น ทางเลือกที่ดี สำหรับหลายครอบครัวที่มีความพร้อม

“ถ้าพูดถึงพื้นฐานวิธีคิดก็แบบโฮมสคูลน่าจะเหมาะกับทุกที่ เป็นทางเลือกที่ดี เพราะเด็กแต่ละคนมีความหลากหลายและมีความสามารถในการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ที่ระบบอาจจะตอบสนองไม่ได้ แต่พ่อแม่บางคนอาจจะให้เวลาสอนได้ดีกว่า แต่พ่อแม่ก็ต้องมีความเข้าใจด้านนี้จริงๆ” อ.ดร.อุบลวรรณ หงษ์วิทยากร คณะครุศาสตร์ ภาควิชานโยบายการจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา จุฬาลงกรณ์ฯ ให้ ความเห็นที่มีต่อโฮมสคูล พร้อมเอ่ยถึงปัญหาการจัดการเรียนแบบนี้ว่า ยังมีปัญหาด้านการดำเนินงาน อีกทั้งยังรู้กันอยู่ในกลุ่มแคบๆ เฉพาะเครือข่ายสมาคมบ้านเรียนไทยเท่านั้น

“โฮมสคูลยังคงเข้ากับสภาพสังคมไทยได้ยาก ยังมีปัญหา เรื่อง ความเข้าใจของคนไทยในด้านนี้ไม่เพียงพอ ความไม่สะดวกในการลงทะเบียน และโครงสร้างทางสังคมไม่ตอบสนอง เพราะพื้นฐานของคนไทยโดยเฉลี่ยการศึกษาไม่สูง รายได้ก็ไม่เพียงพอ ขาดความพร้อมที่จะจัดการศึกษาแบบนี้ อีกทั้งยังขาดความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งในด้านการเอื้อประโยชน์กับผู้จัดและการให้ความรู้ทางด้านนี้กับคนทั่วไป

แต่มองโดยรวมสถานการณ์ก็ดีขึ้นนะ มีกฎหมายออกมาเป็นรูปธรรมเหมือนเป็นการตอกหมุดว่ามีการศึกษาแบบนี้เกิดขึ้น น่าจะช่วยให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น”

ในส่วนของโรงเรียนทางเลือกที่มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ของเด็กและมี ความเอาใจใส่ต่อพัฒนาการชีวิตของเด็กมากกว่าโรงเรียนในระบบ ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ลูกเข้าเรียนใน ระบบ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากร เพื่อการเรียนรู้ โรงเรียนเพลินพัฒนา ให้ความเห็นด้านโฮมสคูลในฐานะหนึ่งในผู้บริหารของโรงเรียนที่ไม่เน้นการ ศึกษาในระบบว่า

“คิดว่าดีนะ เพราะว่าปัจจุบันนี้ พ่อแม่เสียความมั่นใจในการดูแลลูกไปเยอะ ระบบโฮมสคูลที่เกิดมาจากการที่พ่อแม่เห็นสภาพสังคมแล้วเกิดอยากทำ โฮมสคูลขึ้นมา และมาจากการที่เขาประเมินตัวเองแล้วว่า ตัวเองมีทักษะที่จะทำตรงนี้ได้ แล้วนำทักษะที่ตัวเองมีมาใช้จึงเป็นสิ่งที่ดี แต่พ่อแม่ต้องมั่นใจว่าตัวเองทำได้ มีปลายทางการศึกษาที่เชื่อมต่อกับระบบได้จริง เช่น การสอบเทียบที่เหมือนเป็นสถานีให้เราเอาเด็กเข้าไปเชื่อมอยู่กับระบบได้

มีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่เด็กอาจจะมีเพื่อนน้อย ถ้าเขาไม่มีพี่น้องหรือครอบครัวขยายมารองรับ พ่อแม่ก็ต้องหาทางออกด้วยการพาลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ให้เขาได้เจอเด็กคนอื่น และถึงแม้ว่าวิชาการอาจจะไม่กว้างเท่าเด็กที่เรียนในระบบ แต่ในแง่ของความลึกพ่อแม่สามารถสอนได้แน่นอน

เพราะถ้าเด็กมีความสนใจในความรู้ด้านใดด้านหนึ่งอย่างลุ่ม ลึกแล้ว เขาก็จะสามารถเข้าถึงทุกวิชาได้เหมือนกัน แต่ถ้าเน้นเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว เด็กก็จะมีความรู้แบบผิวเผิน แล้วจบออกมาด้วยการเป็นนักเลียนแบบ แต่ไม่ใช่นักเรียนรู้”

ในแง่นี้โฮมสคูลจึงเป็นการเรียนรู้แบบลุ่มลึก โดยสร้างให้เด็กเกิดความอยากที่จะเรียนรู้ก่อน เพื่อเป็นช่องทางเข้าสู่การเรียนรู้ ซึ่งจะเข้าทางไหนก็ได้ ถ้าทำให้เด็กเกิดความอยากที่จะเรียนรู้

ส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับแนวการสอนของโรงเรียนเพลินพัฒนาในปัจจุบัน วิมลศรีอธิบายว่า

“ระบบที่โรงเรียนใช้อยู่ตอนนี้ เป็นการนำเอาศักยภาพของพ่อแม่และของโรงเรียนมารวมกัน คือ ให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนช่วยในการสอน ให้พ่อแม่ทุกคนคิดว่า เด็กทุกคนเป็นลูกของพ่อแม่ เช่น พ่อเป็นสัตวแพทย์ก็มาให้ความรู้เรื่องสัตว์กับเด็กๆ ในขณะที่โรงเรียนก็จะจัดการเรียนการสอนให้เด็กเกิดฉันทะในการเรียนรู้มาก ที่สุด ต่างจากการศึกษาในระบบมองแต่คะแนนสอบเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งที่นี่พ่อแม่และโรงเรียนจะเห็นตรงกันว่า ชีวิตไม่ใช่การสอบ แต่ชีวิตคือ การเรียนรู้”

กับคำถามที่ว่าผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับโรงเรียนทางเลือก ภายหลังจากที่โฮมสคูลมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวันนี้ เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า

“เราก็มองว่าคงไม่มีผลกระทบกับโรงเรียนทางเลือกหรอก เพราะ ถึงแม้ว่าผู้ปกครองจะเชื่อในหลักคิด แต่เขาก็ยังไม่มีความจริงจังในการทำให้เป็นระบบ แล้วส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็จะเชื่อการเรียนในระบบ เขายังไม่มีความมั่นใจว่าปลายทางของระบบโฮมสคูลจะทำให้ลูกเขาเป็นอย่างที่ หวัง ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะมีผลกับเรามากนัก”

ณ วันนี้ การศึกษาแบบโฮมสคูลจึงอยู่ช่วงผลิดอกออกผล และคงจะมีผลผลิตใหม่ๆ ตามมาเรื่อยๆ หากได้รับความเข้าใจจากสังคมที่จะนำพาเด็กๆ ไปสู่แสงสว่างแห่งการเรียนรู้ครั้งใหม่ มิฉะนั้น โฮมสคูลก็อาจเป็นเพียงทางเลือกที่ไม่เคยได้รับเลือกในโลกแห่งการศึกษา

http://baansuan.wordpress.com/2007/02/19/homeschool/
พลอยชมพู เก่งอยู่แล้วค่ะ ได้แน่นอน
ถ้าคุณพ่อ-คุณแม่พร้อม ก็ลุยเลยค่ะ ป้าเชียร์นะคะโฮมสคูลเนี้ย เพียงแต่สภาพสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมเท่านั้นเองค่ะ แถมการวางรากฐานทางการศึกษา สร้างความเชื่อค่านิยมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่ผิด ๆ ทุกวันนี้จึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน (ไม่รู้จะแข่งอะไรกันนักหนา) แต่เมื่อ พรบ. ใหม่เปิดโอกาสแล้ว เชียร์น้องพลอยชมพูนะคะ

ป้าคนหนึ่งละเชื่อว่า จริง ๆ แล้วการเสริมสร้างประสบการณ์ให้เด็ก การคิดบวก มองโลกในแง่ดี รวม ๆ ที่ฝรั่งเรียกซะหรู E.Q นั่นแหละค่ะ สำคัญกว่าการเน้นให้เด็กเก่ง เน้นวิชาการ การยัดเหยียดอัดวิชาการให้เด็กมากเกินไปไม่เป็นผลดีเลยแม้แต่น้อย คนเราต่างกัน ความพร้อมไม่เท่ากัน การเรียนรู้-รับรู้ก็ต้องต่างกัน บางคนอาจเร็ว-บางคนช้า (ซ้ำ ๆ หลายรอบกว่าจะเข้าใจ) ดังนั้นการเรียนการสอน ควรขึ้นอยู่กับความพร้อมของบุคคลมากกว่านะคะ
เปิดบ้าน "หล่อธนกิจ" เจาะประสบการณ์ “พ่อลูกโฮมสคูล”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 กรกฎาคม 2552 17:27 น.

ถ้าพูดถึงการ ศึกษาทางเลือกอย่าง Home School หลายครอบครัวคงคุ้นหูกันมาบ้างแล้ว เพราะเป็นการจัดการศึกษาทางเลือกของครอบครัว ที่มาพร้อมกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ลูกได้ แต่ไม่ใช่ทุกบ้านเสมอไป ที่จะนำแนวทางนี้ไปใช้ได้ เพราะครอบครัวต้องพร้อม และให้เวลากับลูกได้จริง การเรียนในแนวทางนี้ถึงจะสัมฤทธิ์ผล และเป็นไปตามแนวคิดของ “Home School”

สัปดาห์นี้ทีมงาน Life and Family ได้พูดคุยกับคุณพ่อ “รังษี หล่อธนกิจ” และ “น้องอิง-อภิชญา” ลูกสาววัย 16 ปี ที่เลือกใช้ Home School มาจัดระบบการศึกษาให้กับลูก เพราะต้องการช่วยลูก ให้พ้นจากความเครียด และความกดดันจากเพื่อนที่ลูกได้รับจากโรงเรียน เนื่องจากเกิดการแบ่งแยกความเก่ง และความไม่เก่งในกลุ่มเพื่อนร่วมชั้นเดียวกัน แต่ทั้งนี้ตัวเขาไม่ได้โทษที่ระบบการศึกษาในโรงเรียน

* ที่มาของปัญหา นำมาซึ่งจุดเปลี่ยน *


“คุณพ่อรังษี” เล่าให้ฟังถึงที่มาของปัญหาว่า เริ่มสังเกตผลการเรียนของลูกมาตั้งแต่ ป.6-ม.2 ผลปรากฏว่า การเรียนตกต่ำผิดปกติ จนพบคำตอบว่า ลูกไม่เข้าใจวิธีการเรียนในระบบ โดยทุกเย็นหลังกลับจากโรงเรียน ลูกไม่ยอมทำการบ้าน หรือจะหลบ หรือเลี่ยงที่จะทำ จึงเริ่มคุยกับลูกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

กระทั่งขึ้นม.4 “น้องอิง” เริ่มเครียด เนื่องจากกดดันเรื่องเรียน และเพื่อนที่แบ่งแยกความเก่ง และความไม่เก่ง คุณพ่อจึงถามน้องอีกครั้ง เพราะทนกับความทุกข์ของลูกไม่ไหว ทำให้น้องตัดสินใจออกจากการเรียนในระบบ แล้วมาเรียนที่บ้านกับคุณพ่อแทน

เมื่อเริ่มเปลี่ยนจากระบบโรงเรียน มาสู่ระบบการเรียนที่บ้าน คุณพ่อต้องเตรียมความพร้อมด้านเนื้อหา และทบทวนบทเรียนมาก่อนอย่างแม่นยำ โดยเฉพาะวิชาพื้นฐานในระดับชั้นม.ปลาย เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา” คุณพ่อเผยถึงการเตรียมพร้อม

* เข้าสู่การเรียนรู้ โดยใช้ “บ้าน” เป็นโรงเรียน *

เมื่อเข้าสู่ระบบ Home School คุณพ่อเริ่มปรับเปลี่ยนตัวลูก 2 ส่วน คือ พฤติกรรม และความคิด ซึ่งจะทำความตกลงร่วมกันกับลูกว่า “ต่อจากนี้ไปลูกต้องอยู่กับพ่อ โดยพ่อกับลูกต่างเป็นครูเหมือนกัน และมุ่งหน้าสู่การเรียนรู้ร่วมกัน” ซึ่งเวลาสอนคุณพ่อจะเน้นให้น้องได้คิดเอง รวมทั้งใช้ความรู้สึกในการเรียน ไม่ใช่ลูกต้องฟังพ่อเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกด้วย

ซึ่งกว่าจะเปลี่ยนแปลงความคิด และพฤติกรรมของลูกได้นั้น คุณพ่อรังษี ต้องใช้ความพยายาม และความอดทนอย่างสูง เนื่องจากมีบางช่วงที่ลูกกลับมาเป็นเหมือนเดิม เช่น ติดเพื่อน ติดโทรศัพท์ กระทั่งผ่านไป 1 ปี ลูกมีพฤติกรรมและความคิดที่ดีขึ้น เห็นความถูกต้อง และความเหมาะสมในสิ่งต่างๆ มากขึ้น เช่น รู้จักใช้คำพูด รู้จักคุยมากขึ้น จุดตรงนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าไม่จริงจัง จริงใจ และต่อเนื่อง สิ่งที่ถ่ายทอดให้ลูก อาจจะขาดช่วงไปก็ได้

ด้านตารางการเรียนในแต่ละวัน คุณพ่อรังษี จะแบ่งตารางออกเป็น 3 ส่วนคือ 8-8-8 ซึ่งจะแบ่งเป็นเวลาเรียน 8 ชั่วโมง (6 ชม.เรียนที่บ้าน ส่วนอีก 2 ชม.เรียน กศน.) ขณะที่เวลาเล่นจะมี 8 ชั่วโมง และกิจกรรมนอกบ้านอีก 8 ชั่วโมง โดยสอนแบบให้อิสระ แต่ต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสม ซึ่งน้องอิงจะชอบเรียนวิชาชีววิทยา และคณิตศาสตร์เป็นพิเศษ เวลาคุณพ่อไม่อยู่ น้องอิงจะรู้ตัวเองว่า เวลาไหนต้องอ่านหนังสือ หรือเวลาไหนควรจะพักผ่อน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะแบ่งเวลาพักผ่อนส่วนตัว/นอน ออกมาอย่างเหมาะสม

นอกจากเนื้อหาในตำราเรียนแล้ว คุณพ่อบอกว่า ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จริงนอกบ้านให้กับน้องอีกด้วย เช่น กิจกรรมปลูกป่าชายเลน หรือจากธุรกิจครอบครัว เช่น เข้าดูระบบงานในโรงงาน ไม่ว่าจะเรื่องการจัดการ หรือการบริหารงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี คุณพ่อรังษี ไม่ได้ให้ลูกเรียนตามแนวทางแบบ Home School เพียงอย่างเดียว แต่จะให้เรียนลูกเรียน กศน.ควบคู่ไปด้วย เพื่อที่วันข้างหน้า ลูกจะมีความพร้อมที่จะเรียนในระดับอุดมศึกษา เพื่อทำให้ชีวิตมีทางเลือกมากขึ้น

* Home กับ School ความเหมือนที่มีส่วนต่าง *

สำหรับเนื้อหาการเรียนแบบ Home School กับการเรียนในระบบ คุณพ่อรังษีบอกว่ามีความคล้ายคลึงกัน ไม่ได้ต่างกันเลย เพราะสามารถค้นคว้า หรือหาข้อมูลจากห้องสมุด หรืออินเทอร์เน็ตได้ แต่ในส่วนที่ต่างกัน คือ ความรู้และความเข้าใจในเรื่องศีลธรรม มารยาท และวิธีคิดที่ได้จากครอบครัว เด็กจะได้มากกว่าในโรงเรียน โดยเฉพาะประสบการณ์ หรือทักษะชีวิตจริง ที่ได้จากบ้าน และนอกบ้าน

“การ เรียนแบบ Home School บางคนมองว่า เป็นการตัดสังคมของลูก ตรงกันข้ามกับคุณพ่อ เพราะถ้าลูกอยู่ในสังคมที่ตัวเขาเองยังไม่พร้อมเผชิญ สังคมจะเป็นตัวตัดเขา แต่คุณพ่อได้ดึงลูกกลับมาตั้งหลัก ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง โดยเรียนรู้สังคมจากในบ้านก่อน เพื่อสร้างฐานให้มั่นคง และเมื่อไหร่ที่ลูกพร้อม และรู้จักตัวเอง รู้จักหน้าที่ และการวางตัว เขาก็จะมีสังคม และสังคมก็จะต้อนรับเขาเอง” คุณพ่อให้มุมมอง

คุณ พ่อรังษีฝากไว้ว่า “Home School” เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในบางครอบครัว ถ้าลูกอยู่ในระบบโรงเรียนได้ดีอยู่แล้ว ก็ไม่ควรดึงลูกออกมาเรียนที่บ้าน แต่ควรให้ความสำคัญกับเรียนของลูกทุกๆ วันหลังกลับจากโรงเรียน เช่น สอบถามเรื่องการบ้าน หรือให้คำแนะนำลูกเท่าที่คนเป็นพ่อแม่จะทำได้ เพียงเท่านี้ การเรียนของลูกก็จะสัมฤทธิ์ผล และมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องออกมาเรียนที่บ้าน

* จากปากผู้เรียนถึงระบบ Home School *

ด้าน “น้องอิง-อภิชญา” ลูกสาวของคุณพ่อรังษี ผู้เรียนในระบบ Home School บอกถึงความรู้สึกว่า คิดถูกที่เลือกมาเรียนกับพ่อที่บ้าน เพราะก่อนหน้านี้มีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน ซึ่งมีความคิดไม่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องเรียน เพื่อนที่เก่งกว่ามักจะคิดว่าตัวเองเก่ง โดยไม่สนใจเพื่อนที่เรียนไม่เก่ง จนทะเลาะ และมองหน้ากันไม่ติด ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเลือกที่จะเรียนที่บ้านกับครอบครัว ซึ่งตอนแรกปรับตัวอยู่นาน เพราะสังคมที่เคยชินมันได้หายไป

ผ่านไปสักประมาณ 4-5 เดือน เธอเริ่มเข้าใจระบบการเรียนที่คุณพ่อจัดแจงให้ ซึ่งไม่เครียด และกดดันเหมือนกับที่โรงเรียน โดยคุณพ่อจะใช้วิธีการเรียนรู้ร่วมกัน เปิดโอกาสให้คิด และแสดงความคิดเห็น รวมทั้งยังได้เรียนรู้งาน และทักษะบางอย่างจากโรงงานของคุณพ่อ (อุตสาหกรรมสิ่งทอ) เช่น ระบบการจัดการ การวางงาน เป็นต้น

รวมทั้งได้เปิดโลกกว้าง ด้วยการเรียนรู้นอกบ้าน ซึ่งคุณพ่อจะพาไปทัศนศึกษาบ้างตามโอกาส อย่างล่าสุดไปปลูกป่าชายเลนกับทีมงาน Life and Family ซึ่งได้ประสบการณ์เยอะมาก รวมทั้งได้รับความรักความผูกพันกันในครอบครัว ทำให้เธอสามารถควบคุมตัวเอง และเลือกที่จะทำในสิ่งที่เหมาะสมได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เช่น รู้จักวางตัว รู้จักพูด เป็นต้น

“ตอนออก มาเรียนที่บ้าน มีเพื่อนถามเยอะเหมือนกันว่า เรียนที่บ้าน แล้วจะได้อะไรหรอ? ซึ่งก็ตอบแบบงงๆ แต่ตอนนี้บอกได้เลยว่า มันได้อะไรมากกว่าห้องเรียนสี่เหลี่ยมเยอะ เพราะโรงเรียนบางครั้งก็อยู่ในกรอบมากเกินไป บวกกับมีการแข่งขันที่สูง ทำให้เด็กไม่เก่งเกิดความเครียด และความกดดัน และไม่อยากไปโรงเรียน แต่ถ้าคิดมาเรียนมาหนูแล้ว คุณต้องจริงจัง และตั้งใจจริงอย่างมาก ถึงจะสัมฤทธิ์ผล” น้องอิงบอก และให้ความเห็น

คง จะเรียกได้ว่า “Home School” หรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นทางเลือกของสังคมไทยก็จริง แต่คงต้องติดตาม และพิสูจน์กันต่อไปว่า เด็กที่ศึกษาในระบบดังกล่าวนี้ จะมีคุณภาพเท่าเทียมกับเด็กที่ศึกษาในระบบโรงเรียนหรือไม่? อย่างไร?

ที่ สำคัญ พ่อแม่ ต้องมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสอน หรือมีความรู้ โดยเฉพาะพื้นฐานวิชาในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลายที่แน่นพอสมควรด้วย รวมทั้งทำความเข้าใจกระบวนการจัดการเรียนการสอนไว้เป็นอย่างดี ที่สำคัญต้องเอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ไม่ใช้ทำตามกระแสนิยมในสังคมเท่านั้น

*** เรื่องที่นำเสนอนี้ เป็นการแนวทางเฉพาะครอบครัวของบ้าน “หล่อธนกิจ” ที่เลือกใช้แนวคิด Home School มาจัดการศึกษาให้กับลูกที่บ้าน ซึ่งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไปว่า เด็กที่เรียนตามแนวทางดังกล่าว จะมีคุณภาพดีกว่าเด็กที่เรียนในระบบโรงเรียน เป็นเพียงการเรียนรู้เชิงทดลองร่วมกับแนวทางนี้เท่านั้น ***
ขอบคุณมากค่ะคุณแพท ได้ความรู้ดีจัง
สนใจจะจัดการศึกษาระบบ บ้านเรียนเหมือนกัน ่ตอนนี้หาข้อมูลไปเรื่อย เพราะลูกยังเล็กประมาณ 5 เดือน จะคอยติดตามข้อมูลของคุณแม่ไปเรื่อยๆ ค่ะ
ยินดีค่ะ หากได้เรื่องอย่างไร จะมาให้ข้อมูลแน่นอนค่ะ ใจเรายังไงก็ไม่อยากให้ลูกไปร.ร.ทั้งวัน
ที่เยอรมนีเรียนแค่เที่ยง หรือบ่าย 1 โมง กลับมากินข้าวบ้าน ช่วงบ่ายลูกได้เรียนตามอัธยาศัย
อยากเรียนขี่ม้า ก็ได้เรียน อยากเรียนไอซ์สเก็ต ก็ได้ไปเรียน อยากเรียนเต้น ก็ได้เรียน เราไม่
ยอมรับเรื่องที่จะให้ลูกไปเรียนอะไรที่เหมือนยัดเยียด ไม่มีโอกาสเลือกมากนักและการแข่งขันสูง
เด็กเรียนจนเสียสติก็มี คือเครียดมาก ทั้งเรียนวันธรรมดาและเรียนพิเศษ ไม่ได้มีความสุขไปตามวัย
ลูกเราไม่ต้องเรียนเก่ง ไม่ต้องสอบได้ที่ 1 เราให้เขาเรียนไปเรื่อยๆ ค่ะ ให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากหน่อย...
ขอบคุณค่ะคุณ แม่น้อง DW วันนี้เราไปท่องเว็บโฮมสคูลของอเมริกา www.homeschool.com
ได้ยินแว่วๆ ว่าลูกสามารถเข้าระบบของอเมริกันได้ เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต กำลังหาข้อมูลอยู่ค่ะว่าจะเริ่มยังไง
ยังเหลือเวลาอีก 8 เดือน กว่าจะย้ายกลับไทย หากเป็นจริง ก็คงเลือกทางนี้ เพราะมั่นใจในระบบมากกว่า
เรื่องภาษา ไม่ห่วงทั้งไทยและอังกฤษ เพราะมีเทรนเนอร์ประจำตัว คิดว่าสักพักคงคุ้นเคย หากได้เรื่องยังไง
จะมาเล่าให้ฟังเป็นระยะๆ นะคะ

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service