เว็บทั้งหมดจะย้ายไปที่ www.2pasa.com แล้วนะครับ ตามไปที่นั่นได้เลย

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้

หมู่บ้านเด็กสองภาษา พ่อแม่สร้างได้ - สองภาษาดอทคอม

เคล็ดลับรักการอ่านของเด็กๆ

คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนมีวิธี กลยุทธ หรืออะไรก้อตามที่ทำให้เด็กๆรัก สนใจการอ่านหนังสือบ้างคะ เพราะตอนนี้เจเจ4.5ขวบแล้วอยากให้ลูกหยิบจับหนังสือมาอ่านบ้าง ที่บ้านทั้งพ่อและแม่ชอบอ่านหนังสือค่ะ (หลายท่านบอกว่าไม่ต้องห่วงลูกหลอกเพราะพ่อแม่ก้อชอบอ่านหนังสือกันอยู่แล้ว เดี๋ยวลูกก้ออ่านได้เอง) แต่ตามประสาแม่ค่ะ ยังไงก้ออดห่วงไม่ได้ค่ะ ที่บ้านมีหนังสือนิทานเยอะค่ะ แต่ไม่เห็นว่าลูกจะสนใจเลยคือตอนนี้ซื้อหนังสือมาเยอะแยะเผื่อว่าเจเจจะสนใจอันไหนเป็นพิเศษ(กว่าแม่จะรู้อาจจะหมดตัวเลยก้อเป็นได้ T_T) เวลาหยิบขึ้นมาอ่านให้แกฟัง เจเจจะชอบเปลี่ยนเรื่องให้ทำอย่างอื่นแทนค่ะ ตอนนี้เลยใช่วิธีถ้าลูกอยากจะนอนแล้วเรามาอ่านหนังสือกันวันละนิดละหน่อย พอให้รู้สึกว่ามันเป็นกิจวัตรที่เราทำกันก่อนนอนน่ะค่ะ ไม่ได้อ่านอะไรกันจริงจังค่ะ ขอคำแนะนำด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

Views: 570

Replies to This Discussion

อ่านหนังสือก่อนนอนเป็นเรื่องที่ถ้าทำได้ทุกคืนก็จะช่วยให้เด็กสนใจและรักการอ่านค่ะ

ตอนแรกๆคุณแม่อาจต้องอ่านให้ฟังนะคะ

ลูกชาย 7 ขวบกว่าแล้ว อ่านหนังสือพอได้แล้วแต่ก็ยังชอบให้แม่อ่านให้ฟังก่อนนอนทุกคืน

บางครั้งลูกก็ไม่สนใจเรื่องที่แม่เลือกให้อ่าน

เลยต้องมีการอ่านสองเล่มทุกคืน เรื่องที่ลูกเลือก กับเรื่องที่แม่เลือก

พาไปห้องสมุดหรือร้านหนังสือก็ช่วยได้เหมือนกันนะคะ

ทุกเดือนหรือสองเดือนจะพาเด็กๆไปร้านหนังสือโดยตั้งงบให้ค่ะ ประมาณ 300-500 บาท ให้เค้าเลือกซื้อเอง

ทำมาตั้งแต่ลูก 3 ขวบ ทุกครั้งที่เค้าเลือกซื้อก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับไดโนเสาร์ เลยทำให้รู้ว่าลูกสนใจเรื่องนี้มากค่ะ

คิดว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่ชอบอ่านหนังสือ ลูกก็จะชอบด้วยแต่อาจยังไม่แสดงออกตอนนี้นะคะ....

ก.เอ๋ยก.ไก่ ทำอย่างไรเด็กจะอ่านหนังสือ ? (1)/ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 มกราคม 2550 14:52 น.

  เมื่อไม่นานมานี้ ผมอ่านข้อมูลเกี่ยวกับวงการวรรณกรรม กล่าวถึงแนวโน้มในพ.ศ. 2550 แทบทุกเจ้ากล่าวว่า หนังสือเด็กน่าจะมาแรง เพราะวงการบ้านเรายังขาดหนังสือประเภทนี้ เด็กเกิดปีละตั้ง 700,000 คน แต่หนังสือกลับมีให้เลือกน้อยมาก เพราะหนังสือเด็กทำยาก ราคาแพง
       
       แต่ยุคปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของคุณลูกมากขึ้น เข้าใจว่าการเรียนรู้ไม่ได้เริ่มต้นเมื่อเด็กน้อยเข้าโรงเรียน แต่เริ่มต้นก่อนหน้านั้น รวมทั้งต้องดำเนินควบคู่กันไป ทั้งในโรงเรียนและในบ้าน คุณพ่อคุณแม่จึงเริ่มลงทุนกับสื่อต่าง ๆ ที่ตัวเองคิดว่า จะมีส่วนช่วยลูกของเราได้ โดยเฉพาะ “หนังสือ” สื่อที่ใครก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องดี
       
       เมื่อความต้องการสูงขึ้น หนังสือเด็กจึงเริ่มมีโอกาสแจ้งเกิด แต่คำว่าหนังสือเด็ก ยังแบ่งออกเป็นช่วงต่าง ๆ ตามอายุ เริ่มตั้งแต่เด็กเล็กวัย 0-3 ขวบ เด็กโตหน่อย 3-6 ขวบ เด็กเริ่มใกล้เข้าวัยรุ่น 7-9 ขวบ แล้วก็เด็กระยะวัยรุ่น ตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไปจนถึงสิบห้าสิบหก
       
       หากลองดูหนังสือตามช่วงอายุ คงต้องยอมรับว่า หนังสือเด็กของเมืองไทยไปเน้นที่กลุ่มวัยรุ่น ในนามของ “วรรณกรรมเยาวชน” ทั้งส่วนที่แปลเค้ามา และส่วนที่พวกเราเขียนเอง เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะหนังสือเหล่านั้นไม่ต้องเน้นภาพประกอบให้มาก สามารถใส่ตัวอักษรได้เยอะ ค่าจัดพิมพ์ถูกลง ยังเป็นหนังสือกลุ่มเป้าหมายกว้าง เพราะผู้ใหญ่หลายคนก็ยังอ่านหนังสือเหล่านั้น รวมผมด้วยหนึ่งราย
       
       ถ้ามามองหนังสือเด็กที่เป็นเด็กจริง ตัวอย่างเช่น หนังสือเด็กเล็ก ประเภทเด็กยังอ่านไม่ออก คุณพ่อคุณแม่เป็นคนอ่านให้ฟัง ผู้เชี่ยวชาญในวงการสรุปตรงกัน หนังสือพวกนี้มีน้อยมาก แต่ละเล่มราคาค่อนข้างแพง จนพ่อแม่หลายคนไม่ยอมสู้ บอกว่าตัวหนังสือมีนิดเดียว ตัวอักษรเท่าหม้อแกง หน้าละสามบรรทัด เล่มหนึ่งมียี่สิบสามสิบหน้า ขายเล่มละสองร้อยสามร้อย เกินไปมั้ง
       
       ผมเป็นคนอยู่ในวงการหนังสือ ความคิดเห็นย่อมเอนเอียงไปทางพวกเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในฐานะพ่อคน ผมก็กลืนน้ำลายเอื๊อก คิดว่าแพงเหมือนกันครับ หนังสือเล่มละสามร้อย ผมอ่านไม่ถึงสามนาที จบเล่ม คิดแล้วนาทีละร้อย โอ๊ย ๆ เสียดายตังค์
       
       แต่คุณแม่บ้านของผมเค้าไม่คิดอย่างนั้น เค้าไม่เสียดายตังค์ เนื่องจากเป็นตังค์ของผม ไม่ใช่ตังค์ของเค้า ตั้งแต่บุตรน้อยเกิด เค้าลงทุนซื้อหนังสือพวกนี้ นำมาอ่านให้เด็กชายธราฟัง นอนอ่านกันจุ๊กจิ๊กสองคนแม่ลูก ปล่อยให้ผมนั่งทำงานหาตังค์ต่อไป
       
       เวลาผ่านไปเรื่อย นานหลายปี เด็กชายธราเติบโต เด็กชายธรรธตามมา คุณแม่ก็ยังนอนจุ๊กจิ๊กอ่านหนังสือให้ธรรธจังฟัง โดยมีเด็กชายธราแอบมาฟังด้วย ภาษาไทยหมดแล้ว ซื้อภาษาอังกฤษมาอ่านบ้างก็ได้ หนังสือนิทานภาษาอังกฤษอ่านง่าย ไม่ต้องทุ่มเวลาเปิดดิกมากนัก
       
       เวลาผ่านไปอีก จนถึงยุคปัจจุบัน ผมเพิ่งเห็นความสำคัญของหนังสือเด็ก เพราะธราเป็นเด็กสมาธิสั้น โรคสุดฮิตสำหรับเด็กยุคใหม่ ธราเป็นหนักถึงขั้นต้องไปหาคุณหมอเป็นประจำ กินยาทุกวัน สิ่งหนึ่งที่ช่วยธราไว้ได้ มาจากคำอธิบายของคุณหมอว่า โชคดีที่ธราเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือมาก เมื่ออ่านหนังสือเมื่อไหร่ เขาจะ “นิ่ง” ไม่หลุกหลิกไม่แสดงอาการสมาธิสั้น
       
       คุณหมอยังบอกต่อ โรคนี้กำลังแพร่ระบาด มีเด็กจำนวนมากมาหาคุณหมอ อาการคล้ายธรา ชั่วแต่ว่าหนักกว่าเยอะ ตรงที่ไม่นิ่งเลย จะให้กินยาหรือให้ทำอะไรก็แทบแก้ไม่ได้ ให้อ่านหนังสือก็ไม่ยอม จะเอาแต่นั่งดูทีวี สมาธิยิ่งกระเจิง รวบรวมความคิดไม่ได้ โดยเฉพาะตอนทำการบ้านหรือตอนสอบ กล่าวโดยสรุป ธราโชคดีเพราะเค้าชอบอ่านหนังสือ
       
       ผมย้อนกลับมาคิดถึงจุดเริ่มต้น จึงพบว่า ธราไม่ได้โชคดีหรอก แต่เป็นเพราะเค้าได้รับความช่วยเหลือจากหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เมื่อคิดถึงเงินที่ลงทุนไปกับหนังสือเด็ก เวลาที่คุณแม่ใช้ไปในการนอนกลิ้งอ่านนิทานให้ลูกฟัง สรุปได้ทันทีว่า “คุ้มค่า” เพราะถ้ารอให้ถึงเวลานี้ วันที่ธราอายุเจ็ดขวบ จะมาบังคับให้เค้าชอบหนังสือ ก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะการอ่านหนังสือเหมือนกับความรัก เราจะบังคับใครให้รักใครไม่ได้หรอก
       
       เมื่อประสบด้วยตัวเอง ค้นพบว่าการอ่านหนังสือเด็กเป็นเรื่องสำคัญ มีส่วนช่วยเด็กน้อยอย่างมากในอนาคต จึงอยากให้แนวคิดกับคุณผู้อ่านไว้บ้าง เผื่อจะลองนำไปดัดแปลงใช้กับตัวเอง
       
       อันดับแรก – อย่าคิดว่าหนังสือแพง ลองคิดถึงอนาคต ยามที่ลูกคุณเกิดปัญหาเช่นเดียวกับธรา คุณจะจ่ายค่ายาเม็ดละห้าร้อย ก็ช่วยเด็กไม่ได้เท่าหนังสือ นั่นเป็นกรณีแรก แต่ถ้าลูกคุณไม่มีปัญหาเรื่องสมาธิ การอ่านหนังสือยังคงเป็นสิ่งที่ดี เป็นหัวใจของการเรียนรู้ทุกอย่าง ลองคิดในทางกลับกัน ส่งลูกเข้าโรงเรียน ค่าใช้จ่ายตั้งแพง พาลูกไปเรียนพิเศษ ยิ่งแพงหนักขึ้น ทำไมเราถึงลงทุนได้ หนังสือเด็กพวกนี้ทำรูปเล่มอย่างดี เก็บไว้ได้นาน สามารถส่งต่อให้ญาติให้เพื่อน นำไปใช้กับลูกหลานต่อ
       
       อันดับสอง – ต้องช่วยลูกอ่าน ตรงนี้สำคัญมากครับ เพราะโรงเรียนสอนภาษา สอนวิทยาศาสตร์ สอนเลขคณิตคิดไว สอนโน่นสอนนี่มีหมด แต่มีไหม...โรงเรียนสอนให้เด็กชอบอ่านหนังสือ ม่ายมี ไม่มีโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับกรณีนี้ คุณทำได้อย่างเดียว ลงแรงลงเวลา
       
       การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง นับเป็นศาสตร์ประการหนึ่ง ต้องอาศัยการฝึกฝนและใจรัก อย่าคิดว่าฝืน อย่าคิดว่าต้องพยายามอ่าน ๆ ให้จบไป เรื่องอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นสนุกเลย เรื่องพวกนี้บอกกันยากครับ ผมเองยังทำไม่ค่อยได้เลย ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนคุณหนูดาว คุณแม่ของเด็กชายธราและเด็กชายธรรธ เธอทำจนเนียนครับ มีการขึ้นเสียงสูงเสียงต่ำเสียงซาวด์ประกอบ จนถึงขั้นไปอ่านนิทานที่โรงเรียนอนุบาล เด็ก ๆ ติดกันเกรียว
       
       ดาวไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านนี้ แต่เธอมีเหตุผลสองประการที่ทำให้อ่านได้เนียน ข้อแรกคือเธอชอบอ่านหนังสือ ข้อสองคือเธอฝึกประจำ ตั้งแต่เด็กชายธราโผล่มาในท้องเธอ ดาวอ่านนิทานให้ลูกในท้องฟังทุกวัน อย่างน้อยวันละสิบนาที จนเมื่อเค้าเกิดมา การอ่านนิทานยังดำเนินต่อไป จนถึงวันนี้ เป็นเวลาแปดปี ถ้าคนเราลองทำอะไรสักอย่างทุกวัน ติดต่อกันแปดปี ไม่เก่งก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วครับ
       
       คำตอบของข้อนี้คือคุณต้องเตรียมตัวสำหรับการอ่านนิทาน ไม่ใช่ง่ายเลยครับ ก่อนอื่นต้องปล่อยใจให้ว่าง ทำสมาธิ สนใจกับสิ่งที่เราจะอ่าน ไม่ใช่สัก ๆ ให้จบไป ความสนใจของผู้ใหญ่กับของเด็กต่างกัน เราต้องเข้าใจในข้อนี้ รวมทั้งต้องยินดีที่จะอ่านนิทานเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก บางเล่มอ่านกันทุกคืนเป็นเดือน เพราะเด็กเค้าชอบอย่างนั้น
       
       อันดับสาม – อย่าวางใจในโปรแกรมสำเร็จรูป การอ่านนิทานเป็นเรื่องระหว่างพ่อแม่กับลูก ปัจจุบันอาจมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีเทปอ่านนิทานสำหรับเด็ก สื่อพวกนั้นใช้ได้ครับ แต่เป็นการเสริม มิใช่วางใจให้สื่อทำงานแทนคุณ ไม่ว่าจะมีโปรแกรมเลิศเลอปานใดก็ตามเถิด คุณยังคงต้องอ่านนิทานให้ลูกต่อไป
       
       ผมเคยลองครับ ซื้อเทปมาให้ธราฟัง เค้าก็ฟัง แต่ฟังหนเดียว ไม่เปิดอีกเลย เพราะไม่ชอบ ธราบอกว่า ถามเทปก็ไม่ได้ จะถามโปรมแกรมคอมพิวเตอร์ ก็ตอบแต่ซ้ำ ๆ ที่สำคัญคือเทปหรือคอมพิวเตอร์มันไม่นิ่ม กอดไม่ได้เหมือนแม่
       
       เพื่อน ๆ ของผมบางคน ไม่มีเวลา ขอให้คนเลี้ยงเด็กอ่านนิทานให้ลูกฟัง แม้จะนิ่มเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ครับ คนเลี้ยงเค้าก็จะอ่านให้จบไป ยิ่งพอต้องอ่านเล่มซ้ำ เพราะเด็กน้อยอยากฟังอีก คราวนี้แหละกลายเป็นบทคัดย่อ อ่านไม่ถึงห้านาทีก็จบ เรื่องเดียวกัน ดาวอ่านให้ลูกฟังนานตั้งครึ่งชั่วโมง
       
       ทั้งหมดนั้นคือความสำคัญของหนังสือเด็ก สื่อไม่สำเร็จรูป แต่เป็นสื่อที่มีความสำคัญสูงสุด เพราะเป็นสื่อกลางเชื่อมต่อระหว่างคุณพ่อคุณแม่และคุณลูกเข้าด้วยกัน
       
       สัปดาห์หน้า อยากจะเขียนถึงเรื่องหนังสือเด็กแบบอื่น ๆ ครับ

 

หลังจากจบบทความก.ไก่เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้รับการติดต่อจากคุณผู้อ่าน บอกว่าน่าสนใจค่ะ จะลองนำไปใช้กับคุณลูกบ้าง ผมก็ได้แต่กระหยิ่มใจ เขียนเรื่องแล้วคนนำไปใช้ย่อมทำให้นักเขียนเป็นสุข จึงอยากขอต่อเรื่องหนังสือเด็กน้อยอีกหนึ่งตอน แต่จะไม่พูดถึงทฤษฎีใดเพราะไม่เคยร่ำเรียนมา เอาภาคปฏิบัติดีกว่า อย่างน้อยก็เคยมีเด็กน้อยผ่านมือถึงสองคน
       
       เริ่มด้วย"หนังสือน่าอ่าน" กติกาข้อแรกคือ หนังสือที่เราคิดว่าดี เด็กอาจคิดว่าแย่ ขอยกตัวอย่างประกอบ ตั้งแต่เด็กชายธรายังอ้อแอ้ คุณแม่ยังสาวฝึกร้องเพลงในคาราโอเกะเป็นประจำ แต่เสียงร้องไร้ทำนอง จึงกลัวลูกโตมาแล้วจะเข้าบ้าน AF ไม่ได้ ต้องไปเข้าบ้าน Big Brother วัน ๆ ต้องทำงานงก ๆ แทนที่จะได้ร้องเล่นเต้นรำและกิน ๆๆ ไปเรื่อย คุณแม่จึงหันมาอ่านกลอนให้หนูน้อยฟัง อย่างน้อยโตแล้วจะได้ชอบกาพย์กลอนโคลงฉันท์ เผลอ ๆ ได้รับรางวัลชนะเลิศยุวกวี จะได้ไปสมัครแข่ง "อัจฉริยะข้ามคืน" ชำระแค้นให้คุณพ่อ
       
       คุณแม่ผู้ไร้เดียงสา จึงนำพระราชนิพนธ์"อิเหนา"มาอ่านให้เจ้าหนูฟัง อ่านไปเรื่อย ๆ จนถึงนางบุษบากำลังจะหนีออกจากบ้าน เด็กชายธราเริ่มรู้ความ สิ่งแรกที่เขาทำคือเอื้อมมือมาปิดหนังสือฉับ
       
       อีกตัวอย่างเกิดจากเด็กชายธรรธ คราวนี้เปลี่ยนมุก อ่านหนังสือรวมฮิตเจ้าฟ้ากุ้ง ตั้งแต่กาพย์เห่เรือชมนกชมไม้ชมปลา คราวก่อนอ่านอิเหนายาวไป ตัวละครเยอะ คราวนี้เป็นเรื่องจบในตอนไม่พลาดแน่ แต่เด็กชายธรรธแม้ปวดท้องแทบตาย ยังอุตส่าห์เอื้อมมือมาปิดหนังสืออีกฉับ
       
       การทดลองจึงเปลี่ยนมาลุยหนังสือเด็ก หนูดาวสะสมหนังสือพวกนี้ไว้ตั้งแต่ครั้งยังสาว เพราะเธอชอบเป็นทุนเดิม แต่ที่ไม่งัดออกมาอ่านให้ลูกฟัง เพราะกลัวหนังสือยับ (แม่ผู้ประเสริฐ) ถึงคราวนี้ไม่อ่านไม่ได้แล้ว เธอจึงขนบางเล่มที่พอทนได้หากยับ นำมาอ่านให้เด็กน้อยทั้งคู่ฟัง
       
       ความชอบของเด็กแต่ละคนย่อมต่างกัน แต่มีหนังสือบางเล่ม เรียกว่าไม้ตายก้นหีบ งัดมาใช้แล้วรับรองเด็กหยุด ได้แก่ The Gingerbread Man ประโยคเด็ดประจำหนังสือคือ Run, run, as fast as you can, You can’t catch me, I’m the gingerbread man !
       
       ผมก็ไม่เข้าใจว่า นิทานที่เริ่มต้นด้วยตุ๊กตาขนมปังขิงทรยศต่อคนทำ วิ่งหนีไปไม่ยอมให้กิน ก่อนลงเอยด้วยการโดนจิ้งจอกเฒ่าหลอกหม่ำ มันสร้างสรรค์สังคมตรงไหน แต่เด็กชอบครับ ลองกับเด็กรอบตัวมาหลายคนแล้ว ทุกเด็กล้วนชอบ โดยเฉพาะท่อน รัน ๆ แอสฟาสต์แอสยูแคน
       
       ยังมีอีกหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้ เช่น The Enormous Turnip ที่เด็กชายธรรธชอบมาก ยิ่งคุณแม่ส่งเสียง ดึง...ดึงงงงงง ธรรธยิ่งชอบใหญ่ เสร็จแล้วก็ถามธรรธ "หลุดหรือยางงงง..." ธรรธจะปิ๊วป๊าว ตอบเสียงดังลั่น ยังไม่หลุด ! เราดึงหัวเทอร์นิปกันอย่างนี้ทุกคืน จนผมพาลเกลียดหัวไชเท้า
       
       สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการหนังสือเล่มนี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะหาได้ที่ไหน เพราะเราไปซื้อตอนลดราคาในงานหนังสือแห่งหนึ่ง ชื่อหนังสือ Five Favourite Nursery Tales พิมพ์โดย Ladybird ลองสอบถามตามร้านหนังสือ อาจพอหาได้ครับ
       
       ถ้าคุณคิดว่า อยากได้หนังสือมีสาระสักนิด อยากแนะนำ What Do People Do All Day ? โดย Richard Scarry’s สำนักพิมพ์ A Random House Book เล่มนี้ดีมากครับ เห็นแล้วผู้ใหญ่ยังชอบ เพราะเป็นเรื่องราวของการทำโน่นทำนี่ เช่นการสร้างบ้าน จะลำดับขั้นตอนมาเลยว่า กว่าจะเป็นบ้าน ต้องทำอะไรบ้าง ทั้งรูปทั้งเรื่องเด็ดขาด เราสามารถชี้ไปเล่าไป หนังสือเล่มนี้มีขายใน Kinokuniya จะสั่งก็ได้ครับ ราคาตอนที่ผมซื้ออยู่ในระดับไม่ถึงเจ็ดร้อยบาท ผ่านมาสี่ปี ราคาอาจขึ้นไปนิดหน่อย แต่ใช้ได้นานมาก เพราะกว่าจะจบหนึ่งหน้า ต้องเล่าเรื่องกันยาวบานตะไท บางหน้าสองสามคืนยังไม่จบ
       
       หนังสืออีกอย่างที่เด็กน้อยชอบมากคือ "หนังสือยักษ์" ทั้งธราทั้งธรรธหลงรักเป็นพิเศษ ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กเล็ก หนังสือพวกนี้เล่มใหญ่มาก ขนาดเกิน A3 อีกครับ เมืองไทยเริ่มมีทำมาแล้ว แต่เราทำเป็นนิทาน เด็กยังไม่ค่อยชอบ ผิดจากเมืองนอกที่เค้าจะทำเป็นตัวเลขหรือสีสัน วางหนังสือบนพื้น เด็กปีนป่ายขึ้นไปชี้ตัวโน้นตัวนี้ เราก็อธิบายให้ลูกฟัง
       
       นอกจากหนังสือฝรั่ง ยังมีหนังสือญี่ปุ่นที่ดีมาก หลายเล่มถูกแปลเป็นภาษาไทย เช่น กุริกุระ "สองเราหนูนา ชื่อว่ากุริกับกุระ สองเราหนูนา ชอบทำอาหารนะ สองเราหนูนา ชอบกินด้วยกันจ้ะ กร๊อบแกร๊บกรุ๊บกรั๊บ กุริกุระ" อ่านแล้วใส่ทำนองตามชอบใจ เล่มนี้ "แพรวเพื่อนเด็ก" แปลมา ลองดูในงานสัปดาห์หนังสือนะครับ (หนังสือมี 2 ภาคหรือกว่านั้น แต่ภาคแรกเจ๋งสุด)
       
       อีกเล่มที่แปลมาแล้วเด็กชอบคือ No, David! โดย David Shannon เป็นเรื่องของเด็กน้อยผู้ซุกซน ทำโน่นทำนี่ไม่ดีเลย แต่ลงเอยด้วยคำพูดที่เด็กกรี๊ดสลบ "เดวิดลูกรัก... แม่รักลูกจ้ะ" (หนูดาวให้ความเห็นว่า ไม่มีพ่อหรอก พ่อไม่เคยโผล่มาในหนังสือนิทานเด็ก ยกเว้นหลัง ๆ อาจมี "วันพิเศษของฉันกับพ่อ" แต่ไม่ติดทอปชาร์ต) โนเดวิดแปลเป็นไทยชื่อ "อย่า ! เดวิด" มีอย่างน้อย 2 เล่ม โดยสำนักพิมพ์ "นานมีบุ๊คส์" มีในแทบทุกร้านหนังสือ อย่าไปซีเรียสกับเนื้อหานะครับ ทั้งเล่มมีตัวอักษรไม่เกิน 100 คำ แต่เด็กชอบจริงจัง
       
       หนังสือฝรั่งเหล่านี้ หากไม่มีแปล จะไปหาเองก็ทำได้นะ ให้ไปที่สวนจตุจักร ตามร้านหนังสือเก่า จะมีหนังสือฝรั่งของดีราคาถูกมาขาย ควรสะสมไว้ตั้งแต่แตกวัยสาว เพราะถึงตอนใกล้มีบุตรหรือมีบุตรแล้ว คุณคงไม่มีเวลามีแรงไปลุยกองหนังสือ
       มาถึงหนังสือไทยทำสำหรับเด็ก ต้องบอกตามตรงว่า เราลองแล้วครับ พยายามสนับสนุนเกือบทุกเล่ม แต่เด็กน้อยยังไม่ติดใจเท่าไหร่ เช่น ข้าวไข่เจียวเดี๋ยวเดียวอร่อยจัง สงครามขนมหวาน ฯลฯ บอกมาเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ของไทยไม่ดีนะครับ แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ผมแนะนำว่า ซื้อไปเถิด สนับสนุนคนไทย แต่ตอนเริ่มฝึกให้เด็กอ่าน คงต้องใช้ของฝรั่งกับญี่ปุ่น พอเด็กเริ่มอ่านหรือเริ่มชอบแล้ว ค่อยใช้ของคนไทยประกอบ
       
       สำหรับคุณที่หวังประหยัด ผมแนะนำให้สมัครเป็นสมาชิก "นิทานเพื่อนรัก" เค้าจะส่งนิทานไทยบ้างแปลบ้าง เล่มละไม่แพงมากนัก ค่าสมาชิกปีละไม่เท่าไหร่ แต่คุณต้องสมัครกับโรงเรียนอนุบาล เค้าจะส่งมาที่โรงเรียนเป็นประจำ เราจะรับต่อจากที่นั่น ลองถามโรงเรียนของคุณลูกนะครับ
       
       มาถึงหนังสือที่เด็กไม่เก็ตบ้าง อย่าตกใจที่อาจตรงกันข้ามกับความเชื่อของคุณ หนังสือที่เด็กเล็กไม่ค่อยสนคือ "นิทานอีสป" ทั้งธราทั้งธรรธต่างส่ายหน้า ม่ายอาวจ้า แม้แต่การ์ตูนดิสนีย์ก็ยังไม่ถึงว่าสุดยอด หนูดาวให้ความคิดเห็นว่า เป็นหนังสือมีไว้ดู ไม่ใช่มีไว้อ่าน ต้องไปดูหนังก่อนแล้วซื้อกลับบ้าน แต่พอผ่านกระแสไปสักนิด หนังสือก็ถูกเก็บไว้ในลัง
       
       ทั้งหมดที่เขียนไป พอสรุปได้ว่า เมื่อคุณอยากให้เด็กอ่านหนังสือ ต้องเลือกหนังสือที่เด็กชอบ ไม่เกี่ยวหรอกว่า หนังสือจะสอนอะไรมั้ย จะดูแล้วมีประโยชน์หรือเปล่า เด็กจะชอบของเด็กเอง เราต้องพยายามเพ่งสมาธิ เน้นให้เด็กชอบหนังสือก่อน พอเค้าชอบแล้ว จะไปอ่านหนังสือที่มีประโยชน์หรือสอนโน่นสอนนี่ค่อยว่ากันไป อย่าหวังจับปลาสองมือ สอนให้เด็กชอบหนังสือ อีกทั้งสอนเด็กเรื่องอื่น ทำยากครับ เอาไปทีละขั้นดีกว่า
       
       เล่ามาทั้งหมดนี้ คุณคงเห็นว่า การสอนให้เด็กรักหนังสือเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น หากคุณพ่อเห็นคุณแม่นอนกระจุ๋งกระจิ๋ง อ่านนิทานให้ลูกฟัง อย่ามีความคิดเห็นเหมือนผมในอดีต ทำอะไรอยู่วุ้ย ไม่ลุกขึ้นมาช่วยกันทำมาหากิน
       
       เพราะการสอนลูกให้รักหนังสือ ถือเป็นงานเหมือนกัน ต้องเตรียมการสอน หาสื่อการสอนที่เหมาะสม ทุ่มแรงและทุ่มเวลา งานนี้ไม่มีเงินเดือน ไม่มีโบนัสประจำปี ประเมินผลก็ไม่ได้
       
       โบนัสจะมาเมื่อลูกคุณอายุเก้าขวบสิบขวบ อยู่ติดบ้าน อ่านหนังสือ ไม่ไปรวมตัวกับเพื่อนที่ร้านเกมส์ ดึกดื่นค่ำคืนมิยอมกลับ พอโตอีกนิดก็ซิ่งไปเรื่อย ไม่เคยรักอยากอยู่บ้าน
       
       มุมมองของแต่ละคนต่างกัน แต่สำหรับผม หนังสือเป็นอีกหนึ่งเดียว นอกเหนือจากความรักในครอบครัว ที่ทำให้เด็กอยากอยู่บ้านครับ...



ขอบคุณมากๆเลยค่ะ จะพยายามต่อไปค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่ วอ

โน๊ตใช้วิธีจัดสภาพแวดล้อมใหม่เลยค่ะ

ตอนแรกห้องตรงกลางรกมากๆทั้ง โต๊ะ เสื้อผ้า ขี้ฝุ่น แล้วโน๊ตก็เปล๊่ยนเป็นมุมอ่านหนังสือ  จัดเป็นมุมเด็ก ปู PLAYMAT ต่อชั้นวางหนังสือ ให้หยิบง่าย....

....จะวางหนังสือไว้เกือบทุกที่เลยค่ะ ที่สำคัญ คือวางไว้บนที่นอนเลย 2-3 เล่มสลับกันไป

แรกๆ ไม่สนใจ โน๊ตก็จะอ่านคนเดียวไปเลย จนต้องหันมาอ่าน มาฟังด้วย ทำแบบนี้ทุกๆคืน ทุกที่ ทุกเวลา เลยค่ะ

แล้วก็ไม่บังคับค่ะ เพราะโน๊ตหวังว่าวันนึงเค้าต้องหยิบมาอ่านด้วยความเต็มใจ

สิ่งที่ได้คือ เมื่อก่อนจะนอนกับยาย จนโน๊ตเริ่มฝึกน้องพุทธแบบ 2Pasa เดี๋ยวนี้มานอนกํบโน๊ตทุกคืน ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แล้วเริ่มหยิบหนังสือที่วางไว้มาให้อ่านบ้าง เอามาอ่านเองบ้าง จริงๆไม่ได้อ่านหรอกค่ะ ยังอ่านไม่ออก ดูรูป แล้วก็จินตนาการเองค่ะ ^_^

 

21:20 12/7/2554

ค่ะโน๊ต พี่ก้อเอาบ้างจัดชั้นใหม่ เอาหนังสือไปวาง แฟลชการ์ด แป้งโดว์ไว้เป็นมุมของเขาเลยเหมือนกันจัดให้มันน่าเล่น แล้วก่อนนอนหยิบหนังสือมาอ่านกันก่อนนอนคนละเล่ม หลังจากซื้อหนังสือมาเป็นลัง พบว่า เจเจชอบเรื่องเกี่ยวกับ สวนสัตว์  การปลูกต้นไม้ และเรื่องในครัวค่ะ หนังสือธรรมดาๆก้อไม่แตะ ต้อง ปิดเิปิดได้ ยกนั่น สอดนี่ ไม่เหมือนเด็กคนอื่นเห็นเป็นหนังสือสีสวยมีการ์ตูนก้อมานั่งรออ่านแล้วค่ะ (กว่าแม่จะหาที่ลูกชอบมาได้จนเลยค่ะ) แต่ทุกอย่างก้อเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆค่ะเดี๋ยวนี้มีหยิบเล่มที่ชอบมาให้อ่านให้ฟัง1-2เล่มแล้วค่ะ คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนมีหนังสือแนะนำก้อช่วยบอกด้วยนะคะ

ของขวัญอ่านให้ลูกฟังทุกคืน ค่ะ จะฟังหรือไม่ฟังก็แล้วแต่ ทำหน้าที่เป็นเครื่องอ่าน จนเค้าชิน ปัจจุบันคนโตฟัง คนเล็กก็ชอบ

ส่วนคนเล็กถ้าจะสอนให้อ่านหนังสือ ตอนนี้สอนอ่าน keyword ของค่ายเต่าทอง (อ่านได้จากความจำเกือบจบเล่มแล้ว) ต้องมีรางวัลให้ในการเป็นเด็กดี

 

   คนเล็กเค้าชอบสติ๊กเกอร์ค่ะ (คนพี่ก็ด้วย) ถ้าเค้าอยากได้ต้องอ่านหนังสือกับแม่ทั้งหัดอ่านไทย และ หัดอ่านภาษาอังกฤษ

ถ้าเค้าทำเสร็จก็รับรางวัลไปจ้า มีความสุขทั้งแม่และลูก คุณวอลองเอาไปใช้ดูนะค่ะ เผื่อได้ผล เค้าก็ได้ความรู้ ความบันเทิงไปเต็มๆค่ะ

ค่ะคุณขวัญ ขอบคุณนะคะ

มาแชร์จ้า พี่โฟล์ก( 7.4ขวบ + เป็นเด็กสมาธิสั้นด้วยค่ะ อยู่ชั้น ป.2) ตอนมีลูกคนเเรกก็ค่อนข้างมีเวลาก็จะอ่านนิทานให้เค้าฟัง ตั้งเเต่ประมาณ 2 ขวบ วันละ 5-10เรื่อง (เรื่องสั้นๆทุกคืนก่อนนอนค่ะ) พอเค้าสามขวบกว่าก็เข้าอนุบาล 1 หลังเลิกเรียน เราก็จะพาเค้าเข้าร้านหนังสือ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์(ทางผ่านกลับบ้านจ้า) อาจจะพาอ่านนิทานซัก1-2 เรื่องที่ร้านเเล้วแต่ความสะดวกค่ะ มีเวลาก็อาจนานหน่อย  ทำเป็นประจำเเรกๆเราก็เลือกหนังสือตามสีสันต์ความน่าสนใจอ่านให้ฟัง  แต่พอเค้าอนุบาล 2 ( 4 ขวบ) เค้าก็ชอบหนังสือประเภทไดโนเสาร์ ก็จะเน้นหนังสือที่เค้าชอบมากขึ้น พออยู่ชั้น ป.1 เค้าเริ่มอ่านหนังสือได้เอง ก็จะให้เค้าเลือกซื้อหนังสือเดือนละ 1 เล่ม ทำเรื่อยมาค่ะ+ มีตู้หนังสือของเค้าเอง ได้ผลดีพอสมควร ตอนนี้ถือว่าเป็นหนอนหนังสือเหมือนกัน (แม่ก็แอบดีใจค่ะ) + ช่วยลดอาการไม่อยู่นิ่งของเค้าได้ดีทีเดียวค่ะ เพราะทุกครั้งที่มีหนังสืออยู่กะตัว แม่ก็วางใจเรื่องซุกซนของเค้าได้เลย ** การที่เด็กรักการอ่านนี้ดีจริงๆ ขอเชียร์ทุกๆคนที่มีลูกสมาธิสั้นนะคะ เพราะเห็นผลกับลูกตัวเองค่ะ**

เมื่อมีน้องฟัว ( 2.8 ขวบ)มาเพิ่มเวลาเริ่มน้อยลงแต่ก็พยายามไปร้านหนังสืออย่างน้อย 1ครั้ง/สัปดาห์ + มีตู้หนังสือให้เค้า พอเค้าเห็นพี่อ่าน เค้าก็จะหยิบของเค้ามาเองอ่าน(อ่านไม่ได้หรอกค่ะ ฮิ-ฮิ แต่จะแต่งเอง ตามรูปที่เห็น) คนนี้ความสนใจไม่เท่าพี่เท่าไหร่ ชอบระบายสี เล่นตุ๊กตา มากกว่าค่ะ ก็คงต้องพยายามปลูกฝังการอ่านต่อไปจ้า 

ขอบคุณนะคะที่มาช่วยแชร์ประสบการณ์ค่ะ คงต้องพยายามต่อไปค่ะ

มารายงานความคืหน้าค่ะ หลังจากให้ความตั้งใจจริงจังกับการอ่านหนังสือก่อนนอนของเจเจประมาณสองอาทิตย์ค่ะ

ตอนนี้เจเจมีหนังสือเล่มโปรดเเล้วค่ะ แบบว่าทำท่าอ่านได้ตลอดเล่ม หนึ่งเล่ม ทำเสียงงึมงำตามได้อีกสองเล่มและสามารถฟังแม่อ่านได้ประมาณสามถึงสี่เล่มต่อคืนค่ะ และหยิบหนังสืออื่นประเภทสติกเกอร์ ลุคแอนด์ฟาวด์ ออกจากชั้นเข้ามาในห้องแล้วเรียกร้องให้แม่มาเล่นด้วย

มหัศจรรย์หนังสือเด็ก!!!!!

มาคิดๆดูก่อนหน้านี่ที่ทำไมไม่สำเร็จพบว่า

แม่คงจริงจังเกินไป โฟกัสที่หนังสือเกินไปแทนที่จะเป็นตัวลูกความสนุกของลูก มิน่าเจเจถึงกระโดดใส่แบบว่าไม่ได้อยากอ่านนะคะแต่แบบว่าทุบ กระทืบหนังสือยังเคยมีค่ะ และก่อนหน้านี้เราพยายามไม่พอค่ะ

ที่เด็กๆรักการอ่านคงเป็นเพราะช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่ใช้กับพ่อแม่ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข เค้าจะมีหนังสือเป็นสัญลักษณ์ของความสุข จึงรักการอ่านค่ะ มันเป็นช่วงเวลาวิเศษมากๆ มาอ่านหนังสือกับลูกกันเถอะนะคะ

ยินดีด้วยคะ

 มีคำพูดประดยคหนึ่งรู้สึกประทับใจคะ

    ถ้าสำรวจดูแล้วว่าหนังสือที่มีอยู่ไม่มีอันตรายใดๆถ้าลูกอยากอ่านให้เขาอ่านไป ขอแค่ลูกเริ่มชอบที่จะอ่าน ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว

ค่ะถ้าลูกได้อ่านหนังสือดีๆตั้งแต่เล็กๆ วันนึงเมื่อเขาโตขึ้นพอที่จะหาหนังสือมาอ่านเองได้แล้ว เราคงไม่ต้องมาห่วงกังวลว่าลูกจะถูกสื่อชักจูงในทางไม่ดีรึเปล่าเพราะเขาคงมีความรู้มากพอที่จะแยกแยะด้วยตัวเองได้ค่ะว่าอะไรดีไม่ดีน่ะค่ะ เมื่อก่อนวอเองก้อไม่ได้อ่านหนังสือค่ะ พอมามีลูกก้อเริ่มอ่าน พอมาเรียนภาษาอังกฤษพร้อมลูกก้อยิ่งอ่าน เดี๋ยวนี้้แค่หยิบมาอ่านก้อจะรู้สึกมีความสุขมากกว่าเมื่อก่อนเยอะเลยค่ะ แล้วติดนะคะเจอต้องอ่านเลยค่ะ เคยอ่านเจอว่าสมองจะสั่งให้เราทำแต่สิ่งที่มีความสุขค่ะ มาทำให้การอ่านเป็นความสุขของเด็กๆกันนะคะ

RSS

--oO--

สแกนโค้ด แอดไลน์ @2pasa แล้วลุ้นของรางวัลรวมคลิปเวิร์กช็อปทั้งหมด

Events

หนังสือในชุดเด็กสองภาษา



© 2024   Created by ผู้ใหญ่บิ๊ก.   Powered by

Badges  |  Report an Issue  |  Terms of Service